Home

?????????? Episode 3 - ????????????????
?????????????????
??????
???????????????
????????????? 1
????????????
???????????
?????????? 2
?????????? Episode 3

คงแปลกใจนะครับว่า ทำไมเตาสนามภาค 3 ถึงได้คลอดออกมาก่อนภาค2 หนูเลม่ายด้ายเมาหรือสับ
สนแต่ประการใด  ก้อแหม..ทีคุณจอร์จ ลูคัส ยังสร้าง Starwar ภาค 4-5 ก่อนตั้งหลายปี แล้วจึงมาทำ
Episode 1 เฉยเลย ผมเองก็ยังรอดูภาค 2-3 ของแกอยู่ (ไม่รู้ว่าจะสร้างหรือเปล่า) แฮ่ แฮ่...ผมไม่กล้า
อาจเอื้อมไปเทียบกับ คุณลูคัส หรอกครับ เพียงแต่ว่ายังหาข้อมูลของประเภทของแก๊สที่ใช้กับเตา
แก๊สกระป๋องไม่ครบและก็ดันไปออกตัวใน Episode 1 ว่าภาค 2 จะเป็นเรื่องของเตาสนามแก๊สกระป๋อง
ก็เลยขอคลอด Episode 3 มาก่อนเลยครับ

ในศตวรรษที่ผ่านมา เราคงไม่สามารถปฏิเสธได้ว่าโลกแห่งวิวัฒนาการทางด้านวัตถุได้หมุนเร็วขึ้นมาก
(แต่วิวัฒนาการด้านจิตใจมนุษย์เราดูเหมือนจะสวนทางกัน) ผลิตภัณฑ์ของใช้ต่างๆ ที่ผ่านการออกแบบ
ที่ลงตัว มีรูปลักษณ์แสนคลาสสิก และใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ เท่านั้นที่จะสามารถอยู่เกิน 100 ปีได้
.... หากท่านผู้อ่านเป็นผู้ชื่นชอบในอาวุธปืน จะพบว่าอีก 9 ปีข้างหน้าเราก็จะได้ฉลองครบรอบอายุ 100 ปี
ของปืน Colt 1911A ซึ่งออกแบบโดย ยอดอัจฉริยะ จอห์น เอ็ม บราวนิง ซึ่งปืน Colt 1911A นี้เป็นที่ยอม
รับว่ามีรูปลักษณ์ที่แสนจะคลาสสิก และลงตัว แม้หลายท่านยังอาจสงสัยว่า บริษัท Colt เจ้าของต้นฉบับ
จะฝ่าวิกฤติพยุงให้รอดเพื่อฉลองวันเกิด 100 ปีของ model 1911A ได้หรือไม่ แต่จากความเป็นพิมพ์นิยม
}ของ model 1911 ทำให้หลายต่อหลายบริษัท ออกมาผลิต model 1911A ขายดิบขายดีทั่วโลกและคงจะ
เป็นพิมพ์นิยมไปอีกนานแสนนานตราบเท่าที่ปืนเลเซอร์ หรือปืนไซโคกันของ Cobra ยังไม่ถูกผลิตออกมา
ในโลกของเตาสนามก็เช่นกันครับ มีเตาตัวหนึ่งที่ได้ถูกประดิษฐ์คิดค้นขึ้นมากว่า 100 ปีแล้ว และได้
กลายเป็นแม่แบบของเตาน้ำมันสนามในทุกวันนี้ แถมทุกวันนี้ก็ยังมีคนผลิตเตาลอกเลียนหน้าตาเหมือน
กับเมื่อร้อยกว่าปีที่แล้วออกวางจำหน่ายอยู่ (แม้ว่าผู้ผลิตเตาต้นแบบจะได้หยุดสายการผลิตไปแล้วเมื่อห
ลายปีก่อน...เอ ไม่รู้ว่าประวัติศาสตร์นี้จะมาซ้ำรอยกับปืน Colt1911 หรือเปล่า) นั่นก็คือเตา "พริมุส"
Primus 1892 แห่งแดนไวกิ้งนั่นเอง

Primus No.1 ปี1935 พิมพ์เดียวกับต้นแบบ Primus1892

เตา Primus 1892
เตาฟู่น้ำมันก๊าดตัวแรกของโลกได้ถูกประดิษฐ์ขึ้นในปี 1892 โดยคุณ Frans Wilhelm Lindqvist ชาว
สวีเดน คุณ Frans ได้หาวิธีแก้ไขปัญหาการเผาไหม้แบบไม่สมบูรณ์ของเตาน้ำมันก๊าดโดยการเพิ่มความ
ดันของไอน้ำมันโดยการปั๊มลมลงในถังน้ำมัน และด้วยหลักการอุ่นน้ำมันก๊าดให้กลายเป็นไอก่อนการเผา
ไหม้และการเพิ่มความดันของไอน้ำมันด้วยปั๊มลมนี่เอง ทำให้เตาสามารถเผาไหม้น้ำมันอย่างสมบูรณ์ไร้
ซึ่งควันเขม่า และแถมให้พลังงานความร้อนสูงกว่าเตาน้ำมันธรรมดาอย่างมาก

หลังจากเปิดตัวเตาฟู่น้ำมันก๊าดเพียงไม่กี่ปี ด้วยการออกแบบที่ลงตัวและยอดขายเตาที่พุ่งกระฉูดทำให้
คุณ Frans ก่อตั้งโรงงานผลิตเตาสัญชาติไวกิ้งชื่อภายใต้ตราสินค้า "Primus" (พรีมุส) ขึ้น และหลังจากอีก
ไม่กี่ปีต่อมา เพื่อนร่วมชาติไวกิ้งอีกกลุ่มก็ได้ก่อตั้ง บริษัทผลิตเตาฟู่น้ำมันก๊าดออกมาขายแข่งภายใต้ยี่ห้อ
 "Optimus" (ออพติมุส) ซึ่งบริษัท Optimus ได้กลายเป็นบริษัทผลิตเตาน้ำมันสนามที่มีชื่อเสียงต่อเนื่อง
ยาวนานที่สุดในโลก หลังจากที่ Primus ได้ถอนตัว ถอนตัว..ยกเลิกสายการผลิตเตาน้ำมันสนามไปเอาดี
ทางแก๊สกระป๋องอยู่ช่วงหนึ่ง

เตาสนาม Primus ได้สร้างชื่อระบือโลก หลังจากที่ คุณ Amundsen ได้หนีบเตา Primus ร่วมเดินทางไป
ทำอาหารบนเส้นทางการพิชิตขั้วโลกใต้เป็นคนแรก และเจ้าเตา Primus อีกนั่นแหล่ะที่เป็นผู้สนับสนุน
อย่างเป็นทางการในการเป็นเตาอุ่นอาหารให้คุณ Hillary ปีนขึ้นไปปักธงบนยอดเขา เอเวอร์เรส เป็นคน
แรก จนทำให้ชื่อ "Primus" กลายเป็นสัญลักษณ์ของเตาสนาม เหมือนกับที่เราเรียกเครื่องถ่ายเอกสารว่า
เครื่อง Xerox อย่างไรอย่างนั้นเลยครับ

เชื่อหรือไม่ครับว่า เฉพาะ Primus เพียงบริษัทเดียวได้ออกแบบเตาฟู่น้ำมันก๊าดพิมพ์ Primus1982 ออก
จำหน่ายมากกว่า 60 รุ่น ซึ่งความแตกต่างของแต่ละรุ่นอยู่ที่ ขนาดของถังน้ำมัน (ใหญ่มาก! - ใหญ่ -
กลาง -เล็ก -จิ๋ว) ชนิดของหัวเตา (แบบ Roarer หรือแบบ Silent Burner) จำนวนหัวเตา ( 1 เตาหรือ 2
เตา) ขารองภาชนะ (สามขา, สามขาแบบมีจานรอง, ขารองเป็นฉากกันลมด้วย) มีวาล์วเร่ง-หรี่ไฟ ฯลฯ
และเตาฟู่น้ำมันก๊าดพิมพ์ Primus1892 ก็ยังได้รับเกียรติในการถูกลอกเลียนแบบและผลิตขายภายใต้ตรา
สินค้ามากมาย จากบริษัทต่างๆทั่วโลกเช่น

เตา Optimus No.45 จากบริษัท Optimus แห่งชาติไวกิ้ง
ผู้ครองแชมป์โลกเตาน้ำมันสนาม

สัญชาติ สวีเดน ยี่ห้อ Optimus, Radius, Primus, Svea
สัญชาติอังกฤษ ยี่ห้อ Monitor, Parasene, Valor, Royal Standard
สัญชาติ โปรตุเกส ยี่ห้อ Hipolito
สัญชาติ ออสเตรียยี่ห้อ Phoebus
สัญชาติสหรัฐอเมริกายี่ห้อ Coleman
สัญชาติสาธารณรัฐเชคยี่ห้อ Meva
สัญชาติเยอรมันยี่ห้อ Petromax
สัญชาติจีน ยี่ห้อ Anchor, Shinabro
สัญชาติฮ่องกงยี่ห้อ Solar
สัญชาติสิงคโปร์ ยี่ห้อ Butterfly

เตาฟู่น้ำมันก๊าดคุณภาพคับกล่อง ยี่ห้อ Hipolito #1 สัญชาติโปรตุเกส

ในปี ค.ศ.1962 ผู้บริหารบริษัท Primus ได้"มองต่างมุม" โดยเห็นว่าเตา และตะเกียง พลังน้ำมันที่เป็น
สายการผลิตหลักของบริษัทนั้น จะไม่มีอนาคตสดใสโชติช่วงชัชวาลย์เท่ากับ พลังงานแก๊ส Primus จึง
ได้ทำการขาย ตราสินค้าและสิทธิในการผลิต เตา/ตะเกียงน้ำมัน "Primus" ให้กับ บ. Optimus  ไป ส่วน
ตัวเองก็มาทุ่มเทวิจัยและผลิต เตาแก๊สสนาม ตะเกียงแก๊สสนาม และ เตาแก๊ส อุตสาหกรรม จนกระทั่ง
เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา ทางบริษัท Optimus ได้เลิกสิทธิ์ในการผลิตและจำหน่ายเตาน้ำมันสนามภายใต้ตรา
"Primus" ลง ทำให้ทาง บริษัท Primus กลับไปเอายี่ห้อของตัวเองมาปัดฝุ่นในการผลิตเตาน้ำมันพร้อมกับ
เข็นเตาสนามสารพัดน้ำมัน+แก๊ส แบบแยกถังออกมาเขย่าวงการชนิดที่ เจ้าตลาดอย่าง MSR (Mountain
Safety Research) หรือ Optimus สะดุ้งเลยทีเดียว

เตา Monitor c11 ปี 1956 จากแดนสิงห์โตคำราม

เป็นที่น่าเสียดายว่า ทั้ง บริษัท Optimus ได้ตัดสินใจยกเลิกสายการผลิต เตาฟู่น้ำมันก๊าดพิมพ์นิยม
Primus 1892 ไปเมื่อปี ค.ศ. 1996 โดยหันไปสนใจผลิตแต่เตาสนามชนิดใช้น้ำมันเบนซิน และเตา
สารพัดเขมือบน้ำมันหลากหลายเท่านั้น ด้วยเหตุผลดังกล่าวทำให้เตาฟู่น้ำมันก๊าด Primus และ Optimus
กลายเป็นของสะสมของผู้ชื่นชอบของเก่าไปเรียบร้อยแล้ว

Svea106 เตาสนามจากแดนไวกิ้งอีกยี่ห้อ
คุณภาพและความงามไม่น้อยหน้าต้นแบบ

เตา "Butterfly"
เตาฟู่น้ำมันก๊าดตัวนี้เป็นเตาที่ตาเกิ้นยกให้ พร้อมกับตะเกียงเจ้าพายุที่ไปซื้อมาพร้อมกัน (แต่หลังจากที่
ตาเกิ้น convert ชุดเตา/ตะเกียงสนามเป็นแก๊สกระป๋องแล้ว หนูเลเลยได้อนิสงค์รับมา อิอิ..) เตาสัญชาติ
สิงค์โปร์ตัวนี้ถ้าดูจากรูปร่างแล้วน่าจะเป็นการลอกเลียนแบบ เตา Optimus Model 45 ครับ สนนราคาของ
ใหม่(ราคาแถวถนนแปลงนาม เยาวราช) ก็อยู่ราวๆพันบาทมีทอน ตัวเตาและหัวเตาซึ่งเป็นแบบหัวเตาฟู่
ทำด้วยทองเหลือง แต่ขาและจานรองทำด้วยเหล็ก ซึ่งถ้าจะออกในงานสนามก็ไม่ควรจะปล่อยรับน้ำฝน
น้ำค้าง ไม่เช่นนั้นสนิมก็จะถามหาเอาได้ครับ

เตา Butterfly รุ่น 2412 ก่อนและหลังประกอบร่าง

เตา Butterfly นั้นสามารถถอดออกเป็นชิ้นๆได้ เพื่อสะดวกในการแบกขนไปแค้มป์กับเรา ใช้เวลาเพียง
ไม่ถึงนาทีก็ประกอบร่างเป็นเตาพร้อมใช้งาน วิธีจุดเตา Butterfly นี้ก็ไม่ได้มีอะไรซับซ้อน โดยมีขั้นตอน
ตามท้ายเรื่องครับ แต่หนูเลขอแนะนำเพื่อนๆที่ไม่เคยใช้เตานี้มาก่อนควรจะลองซ้อมจุดดูครับ หาที่โล่งๆ
และห่างจากวัตถุไวไฟ/ติดไฟง่ายเช่นกลางสนามหญ้า เพราะถ้าอุ่นน้ำมันไม่ได้ที่แล้วเริ่มปั้มลมเข้าไป
น้ำมันก๊าดก็จะพุ่งเป็นสายออกมาแทนละอองน้ำมัน ทำให้ไฟลุกท่วมหัวเตา วิธีแก้ก็คือทำการหมุนปุ่ม
เพื่อเปิดรูที่อยู่เหนือฝาถังน้ำมันให้ความดันอากาศในถังระบายออกมา ไฟก็จะดับไปเอง ที่สำคัญ อย่า!!
 ได้ใช้แอลกอฮอล์ น้ำมันเบนซินหรือน้ำมันประเภทอื่น!! เด็ดขาดนะครับ เดี๋ยวจะหาว่ารูปหล่อไม่เตือน

หลังจากทำการจุดแล้ว ก็ทดสอบความร้อนแรงของเตา Butterfly เพื่อเปรียบเทียบกับเตาอื่น โดยทำการ
ต้มน้ำ 1 ลิตรจากการ้องได้  พบว่าเจ้าเตา Butterfly ตัวนี้สามารถต้มน้ำในกาให้เริ่มเดือดจนกาน้ำเริ่มร้อง
ได้ในเวลา 6 นาที 40 วินาที เรียกว่าแพ้เตาสนามรัสเซียไปแบบหายใจรดต้นคอเลยหล่ะครับ

 นอกจาก Butterfly จะผลิตเตาฟู่น้ำมันก๊าดพิมพ์ Primus 1892 ขายแล้ว Butterfly ผลิตตะเกียงเจ้าพายุ
ลอกเลียนแบบ สุดยอดตะเกียงเจ้าพายุ Petromax ขายอีกด้วยครับ  โดยปัจจุบัน Butterfly มีสัดส่วนครอง
ตลาดตะเกียงเจ้าพายุใหม่ 100% เนื่องจากเป็นตะเกียงเจ้าพายุ(ที่เป็นของใหม่) เพียงยี่ห้อเดียวที่หาซื้อ
ได้ในเมืองไทย...

ข้อดีและข้อเสียของเตาสนามน้ำมันก๊าด
คราวนี้เราลองมาดูข้อดี-ข้อเสีย ก่อนที่ท่านจะตัดสินใจซื้อเตาสนามน้ำมันก๊าดไว้ใช้งานนะครับ

ข้อด
* ราคาถูก และหาได้ทั่วไป เชื่อกันว่าหาน้ำมันก๊าดมีขายทุกแห่งทั่วโลก รวมทั้งใน กอทอมอ ก็ยังหาซื้อ
ได้ที่ปั้ม ปตท.พลังไทยทั่วไทยครับ (โฆษณาให้ไม่คิดสตางค์) ปั้มข้างสำนักงานใหญ่ ปตท. ขายยกปี๊บ
ตกราคาลิตรละ 10 กว่าบาทครับ
* ไวไฟน้อยกว่าน้ำมันเบนซิน นั่นก็หมายความว่าปลอดภัยกว่า ใครไม่เชื่อลองจุดเตาสนามน้ำมันเบนซิน
ดูซิครับ
* ให้พลังงานความร้อนมากกว่าในปริมาณที่เท่ากัน อัตราแลกเนื้อ ..เอ๊ย.. อัตราแลกความร้อนสูงกว่า
* ไม่มีปัญหาในการใช้งานที่อุณหภูมิต่ำหรือบนยอดเขาที่อากาศเบาบาง (แก๊สบิวเทนกระป๋องจะใช้
งานไม่ได้)

ข้อเสีย
* เตาจะมีน้ำหนักกว่าชาวบ้าน.. ไม่เชื่อรอดู"เตาจิ๋ว" เตาแก๊สของผมในภาค 2 ซิครับ แล้วจะรู้ว่า Size
does matter!
* ขั้นตอนการจุดที่ยุ่งยากกว่า ต้องมีการอุ่นน้ำมันด้วย แอลกอฮอล์

วิธีการจุดเตาฟู่น้ำมันก๊าด
1. เติมน้ำมันใส่ถัง "พอสมควร" คือไม่ควรน้อยกว่าครึ่งถัง...จะได้ไม่ต้องเติมบ่อย..แต่อย่าให้เกิน 3/4 ถัง
ปิดฝาถังและวาล์วความดันบนฝาให้เรียบร้อย
2. เทแอลกอฮอล์ลงในถ้วยอุ่นน้ำมันให้เต็มถ้วย ผมย้ำว่าเต็มถ้วยนะครับ ไอ้ใส่แค่ครึ่งถ้วยน่ะผมทำมา
ก่อนแล้ว เพราะผมเป็นพวกขี้เหนียวแอลกอฮอล์ตัวฉกาจ (อยากเก็บไว้บริโภคมากกว่า..อิอิ)  ตอนจุด
ตะเกียงเจ้าพายุก็ไม่ยอมใส่แอลกอฮอล์ให้เต็มถ้วย จุดครั้งแรกไม่เคยติดเลย พอตอนหลังจึงถึงบางอ้อ
เมื่อได้รับความรู้จาก คุณลุงตะเกียง ที่ผมสมัครเป็นลูกค้าและลูกศิษย์  แกบอกว่า "ฝรั่งเค้าคำนวณของ
เค้ามาอย่างดีแล้วหลานเอ๊ย ว่าถ้วยขนาดนี้ใส่(แอล)กอฮอล์เต็มพอจุดไฟก็อุ่นน้ำมันร้อนได้ที่"
3. จุดไฟแอลกอฮอล์ เพื่ออุ่นน้ำมัน นั่งเรื่อยเปื่อยเพื่อรอให้หัวเตาร้อน
4. รอจนแอลกอฮอล์บนถ้วยอุ่นน้ำมันเผาไหม้จนเกือบหมด แล้วจึงเริ่มทำการปั๊มอากาศใส่ถังเตา แรงดัน
จะทำให้ไอน้ำมันพุ่งออกจาก รูนมหนูที่หัวเตาและติดไฟ แต่ถ้าหากไฟในถ้วยอุ่นดับไปก่อนก็ไม่ต้องตก
ใจครับ ให้เอาไฟแช๊คจุดไฟที่ก้านไม้แล้วไปจ่อที่หัวเตา ไฟก็จะติดขึ้นมา
5. หากเปลวไฟที่หัวเตายังไม่ร้อนแรงได้ที่ให้ปั๊มอากาศใส่ถังเพิ่มอีกสัก 15-20 ครั้ง เปลวไฟจะเปลี่ยนเป็น
สีฟ้า ไม่มีควัน คราวนี้เตาก็พร้อมที่จะใช้หุงข้าวแล้วครับ

ใครบอกว่าเตาฟู่น้ำมันก๊าดตัวใหญ่...ลอง
Primus96 ซิครับ เส้นผ่าศูนย์กลางถังแค่
4นิ้วครึ่งเอง

ส่วนใครที่บ่นว่าเตาน้ำมันก๊าดตัวเล็กไป ลองดูพี่ใหญ่ 3 ตัวหลังซิครับ
 ขนาดน้องถังปิคนิคเลยหล่ะ

สุดท้ายนี้หนูเลขอฝากข้อมูลที่มีประโยชน์ต่อชาวแคมปิ้งผู้พกเตาสนามน้ำมันครับ จากโปรฯ Gearguy
บอกว่าปริมาณน้ำมันก๊าด/น้ำมันเบนซิน ที่ใช้ทำอาหาร 3 มื้อต่อคนต่อวัน (ข้อมูลจาก web outside
online, Gearguy room) = 1/4- 1/2 pint  หรือ ระหว่าง 0.14-0.28 ลิตรต่อคนต่อวัน ที่ตัวเลขประมาณ
การห่างกันถึง 2 เท่าเป็นเพราะโปรฯ Gearguy บอกว่าขึ้นกับสภาพภูมิประเทศ (พื้นราบหรือยอดเขา) และ
สภาพอากาศ (อบอุ่นหรือหนาวเย็น) หนูเลว่าสำหรับการแคมปิ้งในป่าเมืองไทยน่าจะอยู่ที่ 0.15 ลิตรต่อ
คนต่อวัน ดังนั้นถ้าตาเกิ้นจะจัดทริปพาคณะ 10 คนไปโมโกจู เดินทางไปกลับ 6 วัน (ไป 2 กลับ 2 พัก 1
หลง อีก1!) ก็ควรจะเตรียมน้ำมันก๊าดไปด้วย 9-10 ลิตรก็น่าจะเพียงพอครับ แต่ใครจะเป็นคนแบกถัง
น้ำมันก็ลองถามท่านตาเกิ้นดูก็แล้วกัน ส่วนหนูเลขอแจ๋วหลบจบภาคนี้ไปก่อนล่ะครับ...

หนูเล
เมษายน 2545

คุยกันรอบกองไฟ

เซ็นสมุดเยี่ยม

 

สมัครสมาชิก Thailand Outdoor ฟรี

กรุณาใส่ email และคลิ๊ก submit
Powered by YourMailinglistProvider.com