พระพิฆเนศวร

พระพิฆเนศวร
พระศิวะ
รูปภาพ
ผู้จัดทำ

พิธีกรรม

พิธีกรรม

การนับถือบูชาพระคเณศในประเทศไทยปรากฏเป็นรูปธรรมอย่างเด่นชัดในสมัยกรุงศรีอยุธยาและกรุงรัตนโกสินทร์ เพราะว่าพระราชพิธีที่สำคัญ ๆ ในราชสำนักจะมีพิธีกรรมที่เกี่ยวกับการบูชาพระคเณศประกอบเข้ามาในพิธีต่าง ๆ ดังกล่าวด้วย ซึ่งพิธีกรรมต่าง ที่มีการบูชาพระคเณศตามคติพราหมณ์ที่ปฏิบัติอยู่ในประเทศไทย
สมัยปัจจุบันก็คือ พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ พระราชพิธีตรียัมปวาย-ตรีปวาย พระราชพิธีบรมราชาภิเษก และ พระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา

พระราชพิธีต่างๆเหล่านี้จะมีการอ่านโคลกสรรเสริญบูชาเทพเจ้าในศาสนาพราหมณ์ โดยจะเริ่มด้วยคาถาบูชาพระคเณศก่อนเป็นอันดับแรกสุด ก่อนจะบูชาพระศิวะเสียอีกทั้งนี้เพื่อให้พระคเณศประทานพรให้สามารถทำพิธีนั้นให้สำเร็จ ได้ด้วยดี

พิธีกรรมที่มีการบวงสรวงบูชาพระคเณศในฐานะเทวรูปประธานในพิธีที่น่าสนใจได้แก่

๑. พระราชพิธีตรียัมปวาย-ตรีปวาย
พระราชพิธีนี้เป็น ๒ พิธีต่อเนื่องกันคือ พิธีตรียัมปวาย กับ พิธีตรีปวายจะกระทำในเดือนยี่ของทุกปีเป็นเวลา ๑๕ วัน พิธีนี้จัดเป็นพิธีใหญ่ของศาสนาพราหมณ์ และ แต่เดิมจะมีการโล้ชิงช้าด้วย ในพิธีดังกล่าวจะมีการอ่านโคลกสรรเสริญ และถวายโภชนาหารแด่เทพพระเจ้า ณ เทวสถานทั้ง ๓ หลัง คือ สถานพระอิศวร สถานพระคเณศ และ สถานพระนารายณ์ เรียงกันไปตามลำดับ มีการอัญเชิญเทวรูปพระอิศวร พระอุมา พระมหาวิฆเนศวร และ พระนารายณ์ ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเจิมแล้วอัญเชิญมาเข้าพิธีโดยรถยนต์หลวง

๒. พิธีจับเชิง
พิธีนี้เป็นการขอขมาโทษต่อช้างสำคัญ ที่สำคัญที่จะได้เป็นใหญ่เป็นโตต่อไป พิธีนี้ต้องมีการผู้มัดช้างเพื่อฝึกสอนช้าง การฝึกบางครั้งต้องดุหรือลงโทษประกอบด้วย จึงต้องขอขมาเสียก่อน และเพื่อเป็นการกล่อมเกลานิสัยช้างป่าที่ดุร้ายให้เชื่องขึ้น พิธีจับช้างนี้ภายในปะรำพิธีตรงข้ามกับเบญจภาคจะจัดตั้งโต๊ะ หมู่บูชาพระมหาวิฆเนศวร์อันประกอบด้วยดอกไม้ ธูปเทียน ขันน้ำมนต์ (ขันสาคร) และ กำหญ้าคา ถัดไปทางซ้ายตั้งโต๊ะเชือกบาศก์ ชะนัก (ขอสับช้าง) และเชือกมะนิลาหุ้มด้วยผ้าขาว พิธีนี้จะมีการบูชาพระรัตนตรัย บูชาพระมหาวิฆเนศวร์โดยกราบตามวิธีรำพัดชากล่าวคำสรรเสริญพระมหาวิฆเนศวร์และขอพรตามแต่ปรารถนา เสร็จแล้วอัญเชิญพระมหาวิฆเนศวร์ลงสรงในขันน้ำมนต์ แล้วอัญเชิญกลับไปโต๊ะหมู่บูชา น้ำสรงในขันสาครนี้จะใช้ประพรมให้ผู้ฝึกช้างทุกคนถือเป็นสวัสดิพิพัฒน์มงคล

๓. พิธีน้อมเกล้าถวายและพระราชพิธีขึ้นระวางสมโภชในวันพระราชพิธีฯ
จะมีการแห่ช้างสำคัญในกระบวนแห่ พราหมณ์จะอัญเชิญพระเทวกรรมเข้าในพิธีด้วย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินมายังโรงพิธี ทรงจุดธูปเทียนบูชาพระพุทธปฏิมาพระชัยหลังช้าง และจุดธูปเทียนบูชาพระเทวกรรม พร้อมกับทรงศีลในตอนท้ายพระราชพิธีนี้ พร้อมทั้งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้พราหมณ์
คู่สวดอ่านฉันท์ดุษฎีสังเวยกล่อมช้างเป็นอันเสร็จพระราชพิธี

๔. พิธีบวงสรวงพระคเณศก่อนการดำเนินการจัดสร้างพระเมรุมาศ
การจัดสร้างพระเมรุมาศเพื่อใช้ในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพของพระมหากษัตริย์และ พระบรมวงศานุวงศ์องค์สำคัญ ๆ ณ บริเวณท้องสนามหลวง ก่อนที่จะดำเนินการจัดสร้างพระเมรุมาศจะต้องประกอบพิธีบวงสรวงพระพิฆเนศวร์เสียก่อน เพื่อความสวัสดีและการจัดสร้างจะได้สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี แต่ในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพจะไม่มีการอัญเชิญพระพิฆเนศวร์มาเข้าพิธี แสดงว่าพระพิฆเนศวร์จะเกี่ยวกับพิธีทางช่างเท่านั้น (พิธีศพไม่เกี่ยว)

๕. พิธีไหว้ครูทางนาฎกรรมและการช่าง
ในทางนาฏกรรมนั้น บรมครูจะปรากฏรูปเคารพในลักษณะของหัวโขนซึ่งจะอัญเชิญมาประกอบวิธีไหว้ครูพร้อมกับเครื่องใช้ในการแสดงต่างๆ หัวโขนที่ใช้ประกอบการแสดงอันได้แก่ ศีรษะของเทพเจ้าในศาสนาพราหมณ์ (เทพเจ้าสูงสุด) คือพระอินทร์ พระคเณศ พระปรคนธรรพ์ และ พระปัญจสีขร ซึ่งเป็นเทพเจ้าฝ่ายดุริยางค์ศิลป์ โดยเฉพาะศีรษะพระคเณศนั้นจะอัญเชิญไปประดิษฐานไว้โต๊ะหมู่บูชาที่จัดไว้โดยเฉพาะแยกจากศีรษะเทพองค์อื่นๆสำหรับการบูชาเป็นพิเศษ
ส่วนศิลปะทางการช่างนั้น แม้จะไม่ได้นับถือพระคเณศเป็นเทพสำคัญโดยตรง เช่นเดียวกับพระวิศวกรรม แต่พระคเณศก็มีบทบาทไม่น้อยในพิธีไหว้ครูศิลปะการช่าง ตามคติดั้งเดิมที่ว่า ในการเล่าเรียนศิลปวิทยาการทั้งปวงต้องมีการสวดบูชาพระคเณศก่อน ซึ่งพระคเณศนั้นทางนาฏศิลป์ถือว่ามีอานุภาพศักดิ์สิทธิ์มาก ผู้ศึกษาทางการนี้จะเชื่อกันว่าครูแรง หากไม่เคารพบูชาหรือทำการใดๆอันไม่เหมาะสมเป็นการลบหลู่ก็มักจะประสบภัยพิบัติ

๖. การไหว้ครูของนักศึกษามหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาลัยช่างศิลป์ นาฏศิลป์
สถาบันต่างๆเหล่านี้มีรูปของพระคเณศเป็นตราสัญลักษณ์ ของสถาบันเมื่อมีการไหว้ครู ก็จะต้องไหว้บรมครูทางงานศิลปะคือพระคเณศเสียก่อน โดยจะมีการประกอบพิธีตามรายละเอียดที่กล่าวไว้แล้วในข้างต้น

๗. การบูชาพระคเณศในพิธีคเณศจตุรถี พิธีคเณศจตุรถีหรือพิธีอุทิศต่อพระคเณศนี้เป็นพิธีที่ชาวฮินดูในประเทศอินเดียกระทำกันในวันขึ้น ๔ ค่ำ เดือน ๑๐ ดังได้กล่าวรายละเอียดไว้แล้ว

๘. การบูชากราบไหว้พระคเณศของคนธรรมดาทั่วๆไป
การบูชาพระคเณศจากคติความเชื่อของพ่อค้าวาณิชในสมัยโบราณ โดยเฉพาะพ่อค้าชาวอินเดีย จะกราบไหว้บูชาพระคเณศในแง่ของเทพผู้อำนวยความสำเร็จทางการค้าและความร่ำรวย จวบจนกระทั่งปัจจุบันคติความเชื่อดังกล่าวกลับมาได้รับความนิยมกันอีก ดังจะเห็นได้จากบรรดาร้านค้าต่างๆ จะมีหิ้งบูชาพระคเณศ เป็นการบูชาพระคเณศเพื่ออำนวยความสำเร็จและความร่ำรวยทางการค้าให้แก่ผู้บูชาโดยจะบูชาทุกวัน ด้วยผลไม้บ้าง ขนมหวานบ้าง อ้อยควั่น ดอกไม้สีแดงสดใส น้ำนมเปรี้ยว น้ำสะอาด ฯลฯ