ความนำ

          สภาพการณ์ทางสังคม การเมือง เศรษฐกิจ ในช่วงก่อนเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 กล่าวได้อย่างสังเขปว่า ในแง่สังคมนั้น พลังมวลชนกลุ่มต่างๆ ที่ถูกคุมขังอยู่ในกรอบของการเมืองได้พวยพุ่งออกมาแสดงข้อเรียกต่างๆ ปัญหาที่มีการเรียกร้องต่อระบบการเมืองมีทั้งเรื่องความยุติธรรมในด้านสังคมและเศรษฐกิจ การถูกเอารัดเอาเปรียบ การถูกข่มเหงรังแก ในแง่เศรษฐกิจนั้น การขึ้นราคาน้ำมันก่อให้เกิดความเดือดร้อนทั่วไป สินค้าขึ้นราคา ปัญหา ดังกล่าวออกมาในแง่ของการแสดงออกทางการเมือง ในด้านการเมืองนั้น ความพยายามในการวางรากฐาน ประชาธิปไตยก็ดำเนินไปอย่างเข้มข้น มีการร่างรัฐธรรมนูญมีการเผยแพร่ประชาธิปไตย การอภิปรายปัญหาบ้านเมือง การรวมตัวของกลุ่มต่างๆ เช่น สหภาพเพื่อสิทธิเสรีภาพประชาชน (สสส.) และประชาธิปไตยเพื่อประชาชน เป็นต้น ความตื่นตัวทางการเมืองและสภาวะพลวัตมีอยู่ทั่วไป คละกันไปกับปัญหาต่างๆ ทางสังคมเศรษฐกิจ ซึ่งในแง่หนึ่ง เป็นระยะหัวเลี้ยวหัวต่อที่ค่อนข้างจะสับสนและเสมือนกับจะเป็นพยากรณ์ให้เห็นความยุ่งยากในอนาคต

           ในช่วงนี้ทหารและตำรวจต่างก็สงวนบทบาทท่าที คอยเฝ้าดูพัฒนาการต่างๆอย่างสงบ แต่ก็เริ่มมีการส่อ ให้เห็นการเตรียมตัวเพื่อเผชิญกับปัญหาที่กำลังจะตามมา กลุ่มนิสิตนักศึกษาก็เริ่มมีรอยร้าวเกิดขึ้น มีการแยกตัว  ออกเป็นสองกลุ่ม คือศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย และสหพันธ์นักศึกษาเสรีแห่งประเทศไทย กลุ่มหลังเป็นกลุ่มที่แตกออกไปจากลุ่มแรก เพราะเริ่มมีความคิดในทางการเมืองต่างกันและบางพวกก็ไปสังกัด กลุ่มจัดตั้งซึ่งได้รับการสนับสนุนจากองค์กรของรัฐและมีกิจกรรมที่ถ่วงดุลกลุ่มนิสิตนักศึกษา

          ส่วนทางด้านการเมืองรัฐบาลของม.ร.ว. คึกฤทธิ์บริหารประเทศด้วยการใช้นโยบายให้ผู้มีรายได้น้อย ขึ้นรถเมล์ฟรีและรักษาพยาบาลฟรี มุ่งให้คนมีงานทำทั่วถึงภายในห้าปี โครงการเงินผัน ๒,๕๐๐ ล้านบาทและให้ทหาร สหรัฐฯ ถอนตัวออกจากประเทศไทยภายในเวลาหนึ่งปี ในส่วนสถานการณ์ของประเทศเพื่อนบ้านนั้น ในเดือนพฤษภาคม ๒๕๑๘ ข่าวการปลดปล่อยอินโดจีนด้วยชัยชนะของคอมมิวนิสต์ได้เขย่าขวัญรัฐบาลและชนชั้นปกครองของไทย ความกลัวและเกลียดคอมมิวนิสต์ในหมู่คนไทยเป็นอย่างแผ่กว้างและลึกซึ้งรัฐบาลของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์เดินทางไป กรุงปักกิ่งเพื่อเปิดสัมพันธ์ทางการทูตกับรัฐบาลจีนเป็นครั้งแรกนับแต่จีนเปลี่ยนแปลงการปกครองและได้รับการต้อนรับ จากนายเติ้งเสี่ยวผิงอย่างดียิ่ง นายรัฐมนตรีของไทยได้เข้าพบและสนทนากับประธานเหมาเจ๋อตงนานกว่าหนึ่งชั่วโมง จนนายแพทย์จีนต้องขอยุติการสนทนา

          บรรยากาศในเมืองไทยนั้น ฝ่ายอำนาจเก่าได้โฆษณาชวนเชื่อว่า ผู้อื่นที่ไม่ใช่พวกของตนเป็นพวก ที่ต้องการ ต่อต้านและล้มล้างสถาบันกษัตริย์ หรือ “ไม่ใช่คนไทย” ในขณะเดียวกันก็ปรากฏ “ขบวนการขวาพิฆาตซ้าย” ผู้นำนักศึกษาชาวนาชาวไร่ และกรรมกรหลายคนถูกลอบสังหารในช่วงเดือนสิงหาคม ได้เกิดเหตุการณ์ทหารพราน บุกบ้าน ม.ร.ว. คึกฤทธิ์

           เดือนมกราคมปี ๒๕๑๙ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ประกาศยุบสภา โดยอ้างว่าถูก ส.ส. กดดันมากการเลือกตั้งทั่วไป ถูกกำหนดขึ้นในวันที่ ๔ เมษายน ๒๕๑๙ ซึ่งนับเป็นการเลือกตั้งที่มีความรุนแรง ชั่วเวลาสามเดือนที่หาเสียงเลือกตั้ง มีการฆ่ากันตายถึงกว่า ๓๐ ศพ และมีผู้ได้รับบาดเจ็บเป็นจำนวนมาก บ่อยครั้งที่การปราศรัยหาเสียงถูกขัดจังหวะ ด้วยระเบิด พรรคการเมืองฝ่ายซ้ายถูกโจมตีมากที่สุด หัวคะแนนของพรรคของพรรคฝ่ายก้าวหน้าถูกลอบฆ่าตาย ในเขตนอกเมืองที่ทำการของพรรคพลังใหม่ซึ่งเป็นพรรคที่ต้องการปฏิรูปถูกวางระเบิด และเหตุการณ์ที่รุนแรง สะเทือนขวัญผู้คนมากเกิดขึ้นเมื่อวันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๙เมื่อคนร้ายลอบสังหาร ดร. บุญสนอง บุณโยทยาน

           ผลการเลือกตั้งวันที่ ๔ เมษายน ๒๕๑๙ พลิกความคาดหมาย เพราะ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ผู้ประกาศยุบสภาเพื่อ หวังเพิ่มที่นั่งของพรรคกิจสังคม กลับไม่ได้รับเลือกตั้ง พรรคที่ได้รับเลือกตั้งมากที่สุดคือพรรคประชาธิปัตย์ ทำให้ ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช มีโอกาสได้เป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้งหนึ่ง นักวิชาการวิเคราะห์สถานการณ์การเมืองช่วงนี้ว่า ผู้มีสิทธิ์ลงคะแนนเลือกตั้งได้แสดงความเป็นอนุรักษ์นิยมตามประเพณีดั้งเดิมและพอใจในความปลอดภัยและ ความเป็นระเบียบร้อยมากกว่าความเปลี่ยนแปลงที่ควบคุมไม่ได้ ทำให้พรรคประชาธิปัตย์และพรรคการเมืองฝ่ายขวา อื่นๆ ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้ง ในขณะที่พรรคฝ่ายซ้ายพ่ายแพ้อย่างหมดรูป โดยที่นั่งของพรรคสังคมนิยมสองพรรค และพรรคพลังใหม่ลดลงจาก ๓๗ ที่นั่งเหลือเพียง ๖ ที่นั่ง หรือจากร้อยละ ๑๕ มาเป็น ร้อยละ ๒ ของจำนวนที่นั่ง ทั้งหมดในสภา

Next>>


หน้าที่1 : หน้าที่2 : หน้าที่3

กลับสู่    หน้าหลัก

จัดทำโดย  NeoFreeEnergy Group

Last changed: มกราคม 24, 2546