ULTRA Q
ปฐมเหตุแห่งอุลตร้า


รายละเอียดโดยสังเขปในตอนต่างๆของ Ultra Q

 

ก่อนที่จะมีอุลตร้าแมนที่พวกเรารู้จัก Tsuburaya ได้สร้างภาพยนต์ทางโทรทัศน์ชุด Ultra Q ขึ้นมาก่อนเมื่อปี พ.ศ.2509 เพื่อเป็นการลองเชิงการสร้างภาพยนต์แนววิทยาศาสตร์ ซึ่งเป็นแนวคิดหลักของการสร้างภาพยนต์ในยุค 60 เลยทีเดียว
อุลตร้า Q ออกอากาศครั้งแรกเมื่อวันที่ 2 มกราคม พ.ศ.2509 จนกระทั่งถึงวันที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ.2509 รวมทั้งสิ้น 28 ตอน และเป็นภาพยนต์สำหรับฉายโรงภาพยนต์อีก 1 ตอน โดยมีตัวเอกของเรื่อง คือ
1.Jun Manjome พระเอกของเรื่อง เป็นนักบินของสายการบินโฮชิกาว่า และเป็นนักเขียนนิยายเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์
2.Ippei Togawa ผู้ช่วยนักบินของสายการบินโฮชิกาว่า รองจากพระเอก เป็นคนมีอารมย์ขัน สร้างความครึกครื้นให้กับพระเอก
และนางเอกในเรื่องอยู่เสมอ
3.Yuriko Edogawa นางเอก เป็นช่างภาพหนังสือพิมพ์ Mainichi และเป็นคนรักของพระเอก แสดงโดยฮิโรโกะ ซากุระอิ ซึ่งได
้แสดงเป็นอากิโกะ ฟูจิ หนึ่งในเจ้าหน้าที่หน่วย “วิทยะ” แห่งภาพยนต์อุลตร้าแมนชุดแรกในเวลาต่อมา
4.ศาสตราจารย์ Icshi-no-Tani นักวิทยาศาสตร์ที่มีชื่อเสียง ผู้ซึ่งตัวเอกของเรื่องอุลตร้า Q มักจะมาปรึกษาเวลาประสบปัญหาอยู่เสมอ

อุลตร้า Q ถูกสร้างตามสูตรสำเร็จของหนังผจญภัยแนววิทยาศาสตร์ทั่วไป พระเอกต้องเป็นคนเก่ง (ซึ่งในยุคหนึ่งใช้ความเป็น “นักบิน”
เป็นสื่อแสดงให้เห็นถึงความเก่ง โดยอนุมานเอาว่า คนเป็นนักบินได้ต้องเป็นคนเก่ง เป็นฮีโร่ เด็กๆในยุคนั้นจึงพากันอยากขับเครื่องบิน
กันทุกคน) มีนางเอกเป็นสาวเก่ง คล่องแคล่วว่องไว และต้องมีตัวตลกคนหนึ่งคอยติดตามพระเอก(หรือนางเอก) เพื่อเพิ่มสีสันให้กับภาพยนต์ เพราะตัวพระเอกนางเอกจะมาทำเป็นตลกไม่ได้ เดี๋ยวเสียความเป็นฮีโร่หมด ต้องเก๊กไว้เสมอ ตัวตลกจึงมักคอยแสดงมุขในช่วงที่ภาพยนต์
ถึงตอนเครียด โดยไม่มีใครถือสาแม้ว่าจะค่อนข้างผิดกาละเทศะ แต่ความเป็นตลกก็เป็นข้อยกเว้นในเรื่องปลีกย่อยเล็กน้อยนั้นได้เสมอ
รายสุดท้ายก็ต้องมี “นักวิทยาศาสตร์” ซึ่งถือเป็นมันสมองของทีม เป็นตัวละครที่คอยอธิบายเหตุผลของเรื่องให้คนดูเข้าใจ เพราะ
พระเอกนางเองจะเก่งแอ๊คชั่นอยู่แล้ว จะให้มีมันสมองฉลาดกว่าคนอื่นมาคอยอธิบายให้คนดูฟังก็ดูจะโอเว่อร์เกินไป ภาพยนต์แนว
นี้จึงต้องหา “ใครสักคน” มาเป็นคนฉลาดคอยอธิบาย ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะต้องเป็นนักวิทยาศาสตร์ แก่หรือหนุ่มก็ได้แตกต่างกันไป และเป็นแนวคิดที่ปรากฏในภาพยนต์อุลตร้าแมนในยุคต่อๆมา

ภาพยนต์ซีรี่ส์ชุดอุลตร้า Q เป็นภาพยนต์นำร่องให้แก่ “อุลตร้าแมน” ในยุคสมัยต่อมา มีรูปแบบเป็นหนังขาว-ดำคล้าย Twilight Zone
ของฝรั่ง ซึ่งเป็นที่นิยมขณะนั้น ด้วยการปฏิวัติภาพยนต์แนววิทยาศาสตร์โดยมีตัวละครเป็นสัตว์ประหลาดผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกัน
ไปทุกตอน แต่ยังไม่มีซูเปอร์ฮีโร่ร่างยักษ์ปรากฏในภาพยนต์ช่วงนี้ เนื่องจากแนวคิดยังพัฒนาไปไม่ถึง แต่ก็ไม่ได้ไกลเกินไปนัก เพราะ
ในอีกไม่นาน ยักษ์สีเงินก็โบยบินมาจากฟากฟ้า ตามแนวทางของอุลตร้า Q ซึ่งเปรียบเสมือนบรรพบุรุษของภาพยนต์อุลตร้าแมนใน
เวลาต่อมา แต่สำหรับอุลตร้า Q ในยุคนี้ แนวของเรื่องยอดนิยมจึงเป็นไปตามยุคสมัยของยุค 60 คือ ตัวเอกหรือชาวบ้านประสบกับปรากฏการณ์ที่เกิดจากความไม่สมดุลในแนวทางที่เหนือธรรมชาติ

ในภาพยนต์โทรทัศน์ชุด อุลตร้า Q วลียอดนิยมในช่วงเริ่มต้นคือ “และในอีก 30 นาทีต่อจากนี้ นัยน์ตาของท่านจะแยกออกมาจากร่างกาย และผ่านเข้าสู่มิติอันมหัศจรรย์นี้…” ซึ่งนับเป็นการเรียกน้ำย่อยสำหรับผู้ชมในยุคนั้นได้เป็นอย่างดี ซึ่งมีความคล้ายคลึงกับภาพยนต์โทรทัศน์ Twilight Zone เป็นอย่างยิ่ง

สัตว์ประหลาดหลายตัวในอุลตร้า Q ถูกนำมาใช้อีกในภาพยนต์ซีรี่ย์ชุดอุลตร้าแมน ซึ่งเป็นเรื่องปกติด้วยเหตุผลทางงบประมาณและการรีไซเคิล หากเราสังเกตจึงพบว่าสัตว์ประหลาดหลายตัวในชุดอุลตร้าแมนซีรี่ย์มีการรีไซเคิลมาดัดแปลงใหม่หลายตัว บางตัวก็เคยเป็นดาราโด่งดังในตัวเอง
ในเวลาก่อนหน้านั้น เช่น ก๊อดซิลล่า ซึ่งนำมาดัดแปลงเป็นสัตว์ประหลาด Gomess ในตอนที่ 15 ฯลฯ อย่างไรก็ดี แม้ว่าจะใช้วิธีรีไซเคิลมากมาย แต่การสร้างภาพยนต์โทรทัศน์อุลตร้า Q ก็เป็นไปอย่างพิถีพิถันมากกว่าปกติธรรมดา จะเห็นได้จากภาพยนต์ทั้งหมดจำนวน 28 ตอน ใช้เวลา
สร้างถึง 15 เดือน ซึ่งนานเกินกว่าที่ควรจะเป็นอยู่มากสำหรับภาพยนต์โทรทัศน์ในสมัยนั้น

หลังจากที่อุลตร้า Q ฉายที่ญี่ปุ่นเมื่อ พ.ศ.2510 อีกประมาณ 23 ปีต่อมา คือ พ.ศ.2533 ภาพยนต์ชุดนี้ก็ถูกสร้างอีกครั้งเป็นภาพยนต์
สำหรับฉายทางโรงภาพยนต์ และคราวนี้อุลตร้า Q ไม่ใช่ภาพยนต์ขาวดำอีกต่อไป แต่เป็นภาพยนต์สีอย่างสมบูรณ์

ดังที่ได้กล่าวมาแล้วว่า ฮิโรโกะ ซากุระอิ นักแสดงสาวผู้รับบทนางเอกในภาพยนต์ชุดอุลตร้า Q ได้ปรากฏตัวอีกครั้งในบทบาทของ
อากิโกะ ฟูจิ เจ้าหน้าที่สาวแห่งหน่วย “วิทยะ” (Science Patrol) ซึ่งผู้สร้างมีการเล่นมุขบางประการกับบทของนางเอกสาวคนนี้
 (หรืออาจจะเป็นเพราะคิดมุขไม่ออก เลยเอามุขเดิมมารีไซเคิลกระมัง) กล่าวคือในภาพยนต์ อุลตร้า Q ตอนหนึ่ง ฮิโรโกะ ถูกย่อส่วน
เหลือเพียงขนาด 1/8 ต่อมาเมื่อมีการสร้าง “อุลตร้าแมน” ผู้สร้างได้นำเรื่องนี้มาทำเป็นมุขตลกแบบต่อเนื่อง(สำหรับผู้ที่ติดตามชม
ภาพยนต์อุลตร้า Q และอุลตร้าแมนมาโดยตลอด) คือ ให้มนุษย์ดาว Mefilas ใช้ฤทธิ์เดชขยายร่างของฮิโรโกะ (หรือฟูจิ) ให้มีขนาด
ยักษ์ ออกมาทำลายบ้านเมือง แต่หากผู้ชมไม่ได้เป็นผู้ที่ติดตามอุลตร้า Q และอุลตร้าแมนมาโดยตลอดก็คงไม่ได้รับรู้มุขลึกๆเช่นนี้
แต่อย่างใด

ฉากเปิดเรื่องอุลตร้า Q เป็นภาพของภาพคล้ายกับของเหลวที่หมุนวนและกลายเป็นตัวหนังสือเขียนว่า “อุลตร้า Q” เป็นภาษาญี่ปุ่น
 (ปนภาษาอังกฤษ) ซึ่งเทคนิคนี้ถูกนำมารีไซเคิลใช้อีกครั้งในฉากเปิดเรื่องของอุลตร้าแมนในเวลาต่อมา โดยหลังจากที่ภาพของเหลว
ที่กลายเป็นตัวอักษร “อุลตร้า Q” ปรากฏแก่สายตาผู้ชม ภาพก็จะเปลี่ยนไป กลายเป็นตัวอักษรภาษาญี่ปุ่น “อุลตร้าแมน” บนพื้น
หลังสีแดงขึ้นมาแทนที่ แสดงให้เห็นถึงความต่อเนื่องและความเกี่ยวพันของภาพยนต์ทั้ง 2 ชุดได้เป็นอย่างดี ภาพของเหลวหลากส
ีหมุนวนเป็นตัวหนังสือนี้ ถูกนำมาใช้อีกหลายครั้งในภาพยนต์โทรทัศน์อุลตร้าแมนตัวต่อๆมาอีกหลายชุด เช่น อุลตร้าแมน 80 ,
อุลตร้าแมนไกอา ฯลฯ ซึ่งล้วนมาจากแนวคิดของผู้สร้างในยุค 60 ทั้งสิ้น

นอกจากฉากเปิดเรื่องแล้ว สัตว์ประหลาดในอุลตร้า Q หลายตัวกลับมาปรากฏในภาพยนต์ชุดอุลตร้าแมนอีก เช่น Kemur-jin
กลับมาเป็นมนุษย์ดาว Mephilas , Ragon , Peguila, Chandler , Garamon ฯลฯ ซึ่งบางตัวอาจเปลี่ยนชื่อเสียงเรียงนามหรือเปลี่ยนรูปร่างไปบ้างเล็กน้อย(ด้วยเหตุผลการรีไซเคิลและงบประมาณ) แต่บางตัวก็
ไม่ได้ถูกปรับเปลี่ยนเลย แม้แต่มนุษย์ดาวบัลตั้น (Baltan)คู่ปรับตัวสำคัญของอุลตร้าแมนในทุกยุคทุกสมัย ก็มีต้นแบบมาจาก
ของเดิม จะมีสักกี่คนที่รู้ว่า ชุดแสดงของมนุษย์ต่างดาวบัลตั้นนั้น ดัดแปลงมาจากชุดของ Locus man ในอุลตร้า Q นั่นเอง

สัตว์ประหลาดบางตัว ถูกรีไซเคิลต่อมาในอนาคตนานถึงกว่า 30 ปี เช่น Kanegon ในภาพยนต์ Ultraman Zearth ภาค 2
ถูกรีไซเคิลมาจาก Kanegon ในอุลตร้า Q แม้จะมาใหม่ในรูปแบบของดิจิตอลก็ตาม

ก่อนจะมีอุลตร้า Q : Woo และ Unbalance

แม้ว่าอุลตร้า Q ถือได้ว่าเป็นต้นแบบของอุลตร้าแมนในเวลาต่อไป แต่ในความเป็นจริงแล้ว มิใช่ว่าอยู่ดีๆ แนวคิดเกี่ยวกับอุลตร้า Q
นี้จะเกิดขึ้นมาได้เองในทันใด แต่ย่อมเกิดมาจากแนวคิดหลายๆแนวมาปรับรวมกันในรูปแบบที่เหมาะสมที่สุด ซึ่งก่อนที่จะมีอุลตร้า Q
นั้น Tsuburaya ก็มีไอเดียเกี่ยวกับเรื่อง “พรรค์อย่างนี้” เช่นกัน

แนวคิดดังกล่าว มาจากโครงการที่ชื่อว่า “Woo” ในยุค 1960 ก่อนมีอุลตร้า Q เอจิ ซึบุรายา ปรมาจารย์ผู้ให้กำเนิดอุลตร้าแมนและ
เป็นเจ้าของ Tsuburaya มีแนวคิดและวิสัยทัศน์เกี่ยวกับภาพยนต์แนวแฟนตาซี หลังจากที่เขาได้สร้างก๊อดซิลล่าให้กับโลกภาพยนต์
แนวคิดเรื่อง “Woo” เกิดขึ้นหลังจากที่ฟูจิ เทเลวิชั่น (Fuji Television) ได้หารือกับเอจิ ซึบุรายา เกี่ยวกับรายการโทรทัศน์ที่คล้ายคลึงกับนิยายวิทยาศาสตร์และเรื่องลึกลับที่โด่งดังมาก่อนหน้านี้ เช่น The Outer Limits หรือ
The Twilight Zone โดยทั้งคู่ให้ความสนใจรูปแบบรายการที่สามารถจบได้ในแต่ละตอน

จากแนวคิดดังกล่าว พลอตเรื่องจึงเกิดขึ้น Woo เป็นสิ่งมีชีวิตที่มาจากดาว Woo ในกาแลกซี่แอนโดรเมด้า หลังจากดาวของเขาถูกทำลายลงจากการชนกันกับดาวเคราะห์ดวงอื่น Woo ก็เดินทางมายังโลก และเป็นมิตรกับมนุษย์ เขากลายเป็นผู้ปกป้องโลกให้พ้นจากภัยจากอวกาศ เช่น สัตว์ประหลาด , เหตุการณ์ประหลาด และการรุกรานของมนุษย์ต่างดาว
 ซึ่งจากแนวคิดดังกล่าว Woo มีความคล้ายคลึงกับอุลตร้าแมนมาก หลังจากนั้นอีก 4-6 เดือน ก็มีการวางแผนว่าจะสร้างภาพยนต์
ต่อจาก Woo อีก 2 ภาค คือ Rappa และ Space Horse

ในขณะเดียวกัน ในฤดูร้อนของปี พ.ศ.2506 Tsuburaya Production ก็ได้นำเสนอแนวคิดเกี่ยวกับภาพยนต์ใหม่สำหรับออก
อากาศทางโทรทัศน์ต่อสถานีโทรทัศน์ TBS มีชื่อว่า Unbalance ซึ่งเป็นเรื่องจินตนาการเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นเมื่ออะไรหลายๆอย่างบนโลกกลับกลายเป็นตรงกันข้าม เช่น มนุษย์ถูกปกครองโดยสัตว์และถูกฝึกให้คุ้นเคยกับอารยธรรมที่สันติไร้การต่อต้านดังกล่าว และอะไรจะเกิดขึ้นเมื่อระบบนี้ถูกทำลายลง
 หากจุลชีพมีขนาดใหญ่ยักษ์ ต้นไม้สามารถเดินได้ …อารยธรรมมนุษย์จะยังอยู่ได้หรือไม่ถ้าอยู่ในสภาวะที่เรียกว่า Unbalance
 เช่นนั้น อย่างไรก็ดี แนวคิดดังกล่าวทั้งหมดเกี่ยวกับ Woo และ Unbalance ก็ไม่ได้ถูกสร้างขึ้นเป็นภาพยนต์เนื่องมาจากติดขัดกับ
ปัญหาด้านงบประมาณ

ในขณะนั้น Tsuburaya ได้ตัดสินใจที่เช่าซื้อ Optical printer ที่แสนแพง ซึ่งมีอยู่เพียง 2 ตัวในโลก เนื่องมาจากเขาต้องการ
ที่จะมีอุปกรณ์ชั้นยอดในการสร้างภาพยนต์ แต่เขาก็ไม่มีเงินพอจะจ่ายทั้งหมดได้ โชคดีที่ TBS ตกลงจะซื้อต่อจากเขา และใช้ร่วมกันในการสร้างภาพยนต์ซีรี่ย์ในเวลาต่อมาจำนวน 3 เรื่อง ได้แก่

เรื่องที่ 1 Mammoth Flower เป็นเรื่องเกี่ยวกับต้นไม้ยักษ์ที่งอกขึ้นมาในย่านดาวน์ทาวน์ของโตเกียว
เรื่องที่ 2 Transformation เนื้อเรื่องเกี่ยวกับปฏิกิริยาของหญิงสาวเมื่อคนรักของเธอกลับกลายเป็นมนุษย์ยักษ์ที่น่าเกลียด
เรื่องที่ 3 Devil Child วิญญาณชั่วร้ายได้สะกดจิต Lily เพื่อครอบครองโลก

TBS ไม่ชอบชื่อเรื่อง Unbalance ดังนั้นจึงตัดสินใจเปลี่ยนชื่อเรื่องใหม่เป็น Ultra Q โดยมีที่มาจากกีฬาโอลิมปิคกรุงโตเกียว
ซึ่งจัดขึ้นในปี พ.ศ. 2507 ในการแข่งขันยิมนาสติก มีท่าหนึ่งที่ทำได้ยากมากชื่อว่า “Ultra C” เขาจึงตั้งชื่อภาพยนต์ชุดใหม่ว่า
 Ultra Q ซึ่งหมายถึงคำถามที่ยากมาก หรือ
ปริศนาอันลึกลับ

รายละเอียดโดยสังเขปในตอนต่างๆของ Ultra Q