ปรีดี พนมยงค์
ปรีดี พนมยงค์ > ชีวประวัติ
 
  ชีวประวัติ
  งานหนังสือ
  ปาฐกถา
  ในความคิดของคนอื่น
เกิด

ลูกชายชาวนาผู้นี้ ถือกำเนิดในวันศุกร์ที่ ๑๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๔๓ ในเรือนแพหน้าวัดพนมยงค์ อำเภอกรุงเก่า จังหวัดพระนครศรีอยุธยา มารดาชื่อนางลูกจันทร์ บิดาชื่อนายเสียง เป็นจีนแต้จิ๋ว เชื้อสายทางปู่นับเนื่องเกี่ยวข้องกับพระเจ้าตากสิน ทางย่านั้นสืบเชื้อสายจากพระนมของกษัตริย์อยุธยาที่ชื่อว่า ประยงค์ ซึ่งเป็นผู้สร้างวัดเล็ก ๆ แห่งหนึ่ง ข้างกำแพงพระราชวัง ต่อมาเรียกกันว่า วัดพระนมยงค์ หรือ วัดพนมยงค์นั่นเอง

ครั้นเมื่อประกาศใช้พระราชบัญญัตินามสกุลในปี พ.ศ. ๒๔๕๖ จึงได้ใช้ พนมยงค์ เป็นนามสกุลของตระกูล

เรียน

ช่วงนั้นสยามกำลังอยู่ในยุคหัวเลี้ยวหัวต่อของการเปลี่ยนแปลง ลัทธิล่าอาณานิคมกำลังคืบคลานเข้ามารอบด้าน สยามได้สูญเสียเอกราชทางการค้าจากการถูกบังคับเซ็นสนธิสัญญาบาวริง สูญเสียดินแดนบางส่วน ตลอดจนสิทธิสภาพนอกอาณาเขต อาชีพชาวนานั้นประกอบไปด้วยความยากจนและถูกเอารัดเอาเปรียบอย่างยิ่ง

ได้เรียนโรงเรียนมัธยมในกรุงเก่านั้นเอง เห็นเพื่อนชาวจีนตัดหางเปียทิ้ง และได้รับคำอธิบายว่าที่เมืองจีนมีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง จากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช มาเป็นการปกครองแบบสาธารณรัฐ เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๕๔ การตัดหางเปียเป็นสัญลักษณ์ของการมีอิสรภาพ และมีอนารยะทัดเทียมชาวตะวันตก ครูที่โรงเรียนก็เล่าเพิ่มเติมว่า ในโลกนี้ เหลือเพียง จีน รัสเซีย และสยาม เท่านั้น ที่มีการปกครองระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชอยู่ และล้วนแต่เป็นประเทศล้าหลัง แต่ขณะนั้นระบอบนี้ในจีนได้ถูกล้มล้างไปแล้ว

หลังจากจบมัธยมหก ได้มีโอกาสเข้าไปเรียนที่โรงเรียนสวนกุหลาบหกเดือน ก่อนจะกลับมาช่วยที่บ้านทำนาเป็นเวลาหนึ่งปี และกลับไปเรียนในโรงเรียนกฎหมาย ของกระทรวงยุติธรรม ระหว่างนั้นมีเหตุการณ์กบฏ ร.ศ. ๑๐๓ (พ.ศ. ๒๔๖๐) ที่นายทหารกลุ่มหนึ่งเตรียมยึดอำนาจเปลี่ยนแปลงการปกครอง แต่ความลับรั่วไหล จึงถูกจัีบเสียก่อน ถัดมาอีกปีก็มีเหตุการณ์กลุ่มบอลเชวิคได้ยึดอำนาจจากพระเจ้าซาร์ในรัสเซีย

ระหว่างที่ศึกษาวิชากฎหมายอยู่นี้ นายปรีดีพบว่ากฎหมายหลายฉบับที่ไม่เป็นธรรม ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายสิทธิเสรีภาพนอกอาณาเขต ที่ให้สิทธิชาวต่างชาติเหนือชาวสยาม หรือกฎหมายที่ปฏิบัติกับเจ้าและไพร่แตกต่างกัน พร้อมกันนั้นก็ได้ศึกษา ติดตามความเป็นไปเกี่ยวกับบ้านเมือง และตั้งปณิธาณว่าจะก่อตั้งระบอบประชาธิปไตยให้เกิดขึ้นในประเทศให้ได้ แม้ยังไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรก็ตาม

ในปีพ.ศ. ๒๔๖๒ จึงสอบไล่ได้เนติบัณฑิต แต่เนื่องจากอายุยังน้อย คือ ๑๙ ปี จึงยังไม่ได้เป็นผู้พิพากษา ปีรุ่งขึ้นจึงได้เป็นสมาชิกเนติบัณฑิตยสภา และสอบชิงทุนไปศึกษาต่อที่ประเทศฝรั่งเศส

ปารีสในยุคนั้นอบอวลไปด้วยแนวคิดทฤษฎีการเมืองแบบใหม่ นักปฏิวัติหรือนักคิดทั้งหลายล้วนเคยมาใช้ชีวิตอยู่ในปารีสช่วงหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นมาร์กซ์ เลนิน เองเกลส์ เติ้งเสี่ยวผิง โจวเอินไหล โฮจิมินห์ เป็นต้น นายปรีดีศึกษาจนจบปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยปารีส ในปี พ.ศ. ๒๔๖๙ และสอบได้ประกาศนียบัตรการศึกษาชั้นสูงด้านเศรษฐกิจ

ผู้ที่ต้องการเปลี่ยนแปลงการปกครองนั้นมีอยู่หลายคน แต่ยังไม่มีใครตัดสินใจลงมือทำสักที นายปรีดีได้พบปะพูดคุยกับ รท. ประยูร ภมรมนตรี หลายครั้ง และเห็นว่า น่าจะใช้วิธีพูดคุยกับเพื่อนสนิทที่ไว้ใจได้ แล้วค่อยชักชวนกันมา

ดังนั้นในเดือนกุมภาพันธ์ ปีเดียวกับที่เขาสำเร็จการศึกษา ได้มีการประชุมกันที่หอพักนักศึกษา ถนน Rue de Summerard ผู้เข้าร่วมประชุมหนนั้นประกอบด้วยนักศึกษาไทยที่กำลังศึกษาอยู่ในอังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมัน และสวิสเซอร์แลนด์ บุคคลเหล่านี้มีความเห็นว่าระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชในประเทศ เป็นอุปสรรคปัญหาในการพัฒนา เหล่าขุนนางชั้นผู้ใหญ่ก็เต็มไปด้วยคนประจบสอพลอ ชนชั้นล่างและคนส่วนใหญ่ยังคงเดือดร้อน ยากจน การพัฒนาประเทศให้ก้าวหน้าจะทำให้สยามมีเอกราชอย่างแท้จริง ไม่ต้องถูกเอารัดเอาเปรียบจากสนธิสัญญาจากต่างชาติ ทั้งหมดได้ตกลงกันว่า หากทำการล้มเหลว ก็ให้แนบ พหลโยธิน ซึ่งมีฐานะดีที่สุด เป็นผู้ดูแลครอบครัวของเพื่อน ในกรณีถูกจำคุกหรือตาย

 

นายปรีดี เดินทางกลับจากฝรั่งเศส เมื่ออายุได้ ๒๖ ปี เป็นดุษฎีบัณฑิตคนไทยคนแรก จากมหาวิทยาลัยปารีส ได้รับตำแหน่งผู้พิพากษา กระทรวงยุติธรรม และได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นหลวงประดิษฐ์มนูญธรรม

นอกจากนี้ เขายังรับหน้าที่เป็นอาจารย์สอนกฎหมายที่โรงเรียนสอนกฎหมาย และรับสอนทบทวนวิชากฎหมายที่บ้านสีลม โดยไม่คิดเงิน และเปิดโรงพิมพ์นิติสาส์น เพื่อเผยแพร่งานเขียน ยิ่งทำให้ชื่อเสียงของอาจารย์หนุ่มทางกฎหมายขจรขจาย และยังทำให้เขามีโอกาสได้เผยแพร่แนวคิดทางการเมืองให้กับนักเรียนกฎหมายอีกด้วย

วันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๕ คณะราษฎร์ได้ทำการยึดอำนาจได้สำเร็จ ด้วยการจับพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นผู้ใหญ่เป็นตัวประกัน นายปรีดีเป็นผู้ร่างประกาศคณะราษฎร์ด้วยตนเอง และพิมพ์เผยแพร่ไปทั่ว พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวในขณะนั้น เสด็จแปรพระราชฐาน อยู่พระราชวังไกลกังวล จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ยินยอมที่จะมอบพระราชอำนาจ และกลับคืนสู่กรุงเทพฯ พร้อมกับลงพระปรมาภิไธยในพระราชบัญญัติธรรมนูญปกครองแผ่นดินสยาม ๒๔๗๕ ที่นายปรีดีเป็นผู้ร่าง สยามได้เข้าสู่ยุคการปกครองระบอบประชาธิปไตยนับแต่บัดนั้น

หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เขาได้เสนอชื่อพระยามโนปกรณ์นิติธาดาให้เป็นนายกรัฐมนตรี เป็นอนุกรรมการร่างรัฐธรรมนูญฉบับ ๑๐ ธันวาคม ๒๕๗๕ และพระราชบัญญัติการเลือกตั้ง ๒๔๗๕ ที่ให้สตรีมีสิทธิ์เลือกตั้งได้ทัดเทียมบุรุษ นับว่าก้าวหน้ากว่าการปฏิวัติอื่นในโลกด้วยซ้ำ

งานสำคัญของนายปรีดีชิ้นถัดมาก็คือการเสนอเค้าโครงร่างทางเศรษฐกิจ ซึ่งหลักการใหญ่ก็คือการประกันสังคม และการกระจายทรัพย์สิน ทั้งยังเสนอตั้งธนาคารชาติ และกองสลากกินแบ่งรัฐบาล แต่ความเห็นของนายปรีดี ถูกโจมตีว่าเป็นคอมมิวนิสต์ เป็นอันตราย เพราะเป็นการเปลี่ยนโครงสร้างทางเศรษฐกิจ ที่เจ้าและขุนนางต้องเสียผลประโยชน์ นายปรีดีจึงต้องเดินทางออกนอกประเทศไปฝรั่งเศสในวันที่ ๑๒ เมษายน ๒๔๗๖ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองไม่ถึงปี

ต่อมาพระยาพหลพลพยุหเสนาได้ยึดอำนาจจากพระยามโนปกรณ์นิติธาดา และได้โทรเลขเชิญนายปรีดีกลับมาร่วมรัฐบาลอีกครั้งหนึ่ง พร้อมกับตั้งคณะกรรมการสอบสวนกรณีนายปรีดีถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ ผลสอบสอนปรากฎว่านายปรีดีบริสุทธิ์ จากนั้นจึงได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทย

ระหว่างที่เป็นรัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทยนี้ นายปรีดีได้พยายามออกกฎหมายอันเป็นหลักของการกระจายอำนาจการปกครอง เพื่อให้ท้องถิ่นและภูมิภาคมีอำนาจปกครองตนเอง ก่อตั้งคณะกรรมการกฤษฎีกา วางรากฐานเรื่องศาลปกครอง ที่มีหน้าที่พิจารณาข้อพิพาทระหว่างราษฎรกับรัฐ ซึ่งความคิดนี้มาสำเร็จเป็นจริงหลังจากนั้นในอีกเจ็ดสิบกว่าปีถัดมา เดินทางไปเจรจากับต่างประเทศเพื่อขอลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ แทนที่จะเก็บภาษีและดุลคนออกจากราชการ ดังที่ผู้ปกครองในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชได้ใช้เป็นวิธีการแก้ปัญหา การเจรจากับแต่ละประเทศล้วนประสบผลสำเร็จเป็นอย่างดี

นอกจากนี้เขายังได้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง เพื่อให้ราษฎรมีโอกาสเข้าถึงการศึกษาอย่างเต็มที่ เพราะในขณะนั้นสยามมีประชากร ๑๒ ล้านคน มีนักเรียนนักศึกษาเพียงแปดแสนคน จบระดับอุดมศึกษาเพียงสองพันกว่าคน ทั้งนี้ ก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง มหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณ์ผลิตนักศึกษาออกมา ๖๘ คน เท่านั้น ในปีแรกที่เปิดรับสมัคร มีผู้สมัครเข้าเรียนถึงเจ็ดพันกว่าคน ทำให้สามารถกระจายการศึกษาระดับอุดมศึกษาได้มาก

สองปีถัดมานายปรีดีขอย้ายมารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งเป็นกระทรวงเล็ก มีข้าราชการประจำเพียงร้อยกว่าคน เขาได้เจรจาแก้ไขสนธิสัญญาที่ไม่เป็นธรรมกับต่างประเทศ ในนามของสนธิสัญญาทางไมตรีและพาณิชย์ในยุคสมบูรณาญาสิทธิราช รวม ๑๒ ประเทศ จนได้มาซึ่งเอกราชทางเศรษฐกิจและศาลอย่างแท้จริง

ในปีพ.ศ. ๒๔๘๑ นายปรีดีรับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้ยกเลิกการจัดเก็บภาษีที่ไม่เป็นธรรม ก่อตั้งธนาคารชาติ และเปลี่ยนการเก็บเงินทุนสำรองจากปอนด์เป็นทองคำแท่ง เพื่อป้องกันความผันผวนของค่าเงิน อันเป็นสิ่งที่คาดการณ์ไว้ว่าจะเกิดขึ้นหากเกิดสงครามโลกครั้งที่ ๒

ก่อนที่สงครามโลกครั้งที่ ๒ อุบัติ นายปรีดีผู้เชื่อในวิถีแห่งสันติภาพ ได้แสดงจุดยืนของประเทศไทยต่อนานาประเทศ โดยการจัดทำภาพยนตร์ พระเจ้าช้างเผือก เป็นภาพยนตร์เสียงภาษาอังกฤษในฟิล์ม และเผยแพร่ไปยังต่างประเทศตั้งแต่ปีพ.ศ. ๒๔๘๒ แต่แม้ประเทศไทยจะประกาศตัวเป็นกลาง และมีพระบรมราชโองการปฏิบัติความเป็นกลางประกาศไว้ในปีพ.ศ. ๒๔๘๔ เมื่อญี่ปุ่นยกพลขึ้นบก และรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงครามได้ลงนามสนธิสัญญาเป็นพันธมิตรร่วมกันกับญี่ปุ่น และประกาศสงครามกับฝ่ายพันธมิตร ญี่ปุ่นได้พยายามบีบคั้นให้นายปรีดีต้องออกจากอำนาจการเมือง นายปรีดีได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน และได้ปฏิเสธที่จะลงนามในประกาศสงครามนั้น

ภายใต้ชื่อ รูธ นายปรีดีได้ปฏิบัติหน้าที่หัวหน้าขบวนการเสรีไทยในเมืองไทยอย่างเข้มแข็ง และเสี่ยงอันตรายอย่างยิ่ง เพราะต้องพยายามแสดงจุดยืนของไทยว่าอยู่ฝ่ายพันธมิตรอย่างจริงใจ ในตอนปลายสงครามโลกครั้งที่ ๒ หลังจากที่ทางอเมริกาได้ทิ้งระเบิดปรมาณูถล่มเมืองฮิโรชิมาและนางาซากิ ญี่ปุ่นได้ยอมแพ้ จีนได้เสนอตัวที่จะมาปลดอาวุธทหารญี่ปุ่นในอินโดจีน นายปรีดีเกรงว่าจะเกิดเหตุการณ์แบ่งแยกประเทศ จึงแจ้งรัฐบาลอเมริกันว่า เสรีไทยในประเทศจะขอเป็นผู้ปลดอาวุธทหารญี่ปุ่นเอง ทางฝ่ายอเมริกายินยอม ทางอังกฤษก็ส่งจดหมายมาให้ไทยออกแถลงการณ์ ประกาศความเป็นโมฆะของการประกาศสงคราม ของรัฐบาลจอมพล ป. ทำให้กองทัพไทยไ่ม่ต้องถูกปลดอาวุธ

ภายหลังสงคราม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลทรงบรรลุนิติภาวะ และนิวัติประเทศไทย นายปรีดีได้รับการแต่งตั้งให้เป็นรัฐบุรุษอาวุโส และยังดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เพราะสภาพบ้านเมืองไม่ปรกติ รับหน้าที่เจรจากับอังกฤษให้ยกเลิกการยึดเงินฝากของไทยในต่างประเทศ และขอให้ซื้อข้าวไทยแทนการปรับเป็นค่าปฏิกรรมสงคราม เมื่อทรงพระราชทานรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ นายปรีดีจึงได้ลาออกจากตำแหน่ง เพื่อให้เป็นไปตามวิถีทางของรัฐธรรมนูญ แต่รัฐสภาก็มีมติเป็นเอกฉันท์ให้กลับมาดำรงตำแหน่งอีกครั้ง ในวันที่ ๘ มิถุนายน ๒๔๘๖

วันรุ่งขึ้นก็มีข่าวร้าย เืมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอาันันทมหิดลสวรรคต ณ พระที่นั่งบรมพิมาน นายปรีดีและคณะรัฐมนตรีได้ขอความเห็นชอบต่อสภา ในการเชิญสมเด็จพระอนุชาขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์องค์ต่อไป สภาก็มีมติเห็นชอบ จากนั้นนายปรีดีก็ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ด้วยเหตุผลที่ว่าพระมหากษัตริย์ที่แต่งตั้งนายกรัฐมนตรีได้สวรรคตเสียแล้ว

หลังจากนั้น ศัตรูทางการเมืองของนายปรีดี ได้วางแผนโค่นล้มอำนาจของนายปรีดี โดยการกล่าวหาว่า "ปรีดีฆ่าในหลวง" นายปรีดีได้ลาออกจากตำแหน่งทางการเมืองทั้งหมด และเดินทางไปรอบโลกในฐานะทูตสันถวไมตรี ตามคำเชิญของประเทศต่าง ๆ

เมื่อกลับมาที่เมืองไทยได้ไม่ถึง ๑๐ เดือน ก็เกิดรัฐประหารขึ้นในวันที่ ๘ พฤศจิกายน ๒๔๙๐ ทำเนียบท่าช้างอันเป็นที่พัก ก็ถูกรถถังของฝ่ายรัฐประหารยิงปืนกราดเข้าไป นายปรีดี และหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ จำเป็นต้องหลบหนีออกนอกประเทศ โดยทีแรกจะเดินทางไปอเมริกา แต่เจ้าหน้าที่ซีไอเอได้ขีดฆ่าวีซ่าอเมริกาของนายปรีดาออก และปฏิบัติตัวอย่างหยาบคาย เพราะขณะนั้นรัฐบาลอเมริกันให้ความสนับสุนฝ่ายรัฐประหาร ทั้งที่เคยมอบเหรียญอิสริภรณ์สดุดีให้ ทำให้นายปรีดีไม่เคยคิดที่จะขอลี้ภัยไปอยู่อเมริกาเลย และได้เดินทางไปจีนแทน

นับแต่นั้นจึงเป็นการปิดฉากทางการเมืองของคณะราษฎร์ และเริ่ิมเข้าสู่ยุคเผด็จการทหาร โดยพรรคประชาธิปัตย์ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้าน ได้รับหน้าที่เป็นรัฐบาล อันเป็นผลจากการรัฐประหาร

นายปรีดีได้กลับเข้าเมืองไทยอีกครั้ง และได้ร่วมกับพรรคพวกกลุ่มหนึ่งพยายามยึดอำนาจคืน ในวันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ ๒๔๙๒ เรียกว่ากบฏวังหลวง แต่ประสบความล้มเหลว นายปรีดีต้องหนีกลับไปจีนอีกครั้ง ขณะที่อยู่ปักกิ่ง ท่านผู้หญิงพูนศุขและลูกชาย ปาล พนมยงค์ ได้ถูกจำคุก เมื่อต่อสู้จนพ้นข้อหาจึงได้เดินทางออกจากประเทศไทย เพราะเกรงปัญหาเรื่องความปลอดภัย ท่านผู้หญิงได้พาลูก ๆ นั่งรถไฟสายไซบีเรียผ่านฝรั่งเศสและรัสเซีย ไปพบนายปรีดีที่เมืองจีนได้สำเร็จ

ครอบครัวพนมยงค์ใช้ชีวิตอยู่ในจีนเป็นเวลากว่ายี่สิบปี จนกระทั่งในปีพ.ศ. ๒๕๑๓ จึงได้ย้ายมาอยู่ที่อองโตนี ชานเมืองปารีส เพื่อที่จะได้ติดต่อกับญาติมิตรง่ายขึ้น ในช่วงนั้นก็ได้เป็นโจทย์ฟ้องศาลกรณีสำนักพิมพ์สยามรัฐ อันมี มรว. คึกฤทธิ์ ปราโมช และพรรคพวก ได้หมิ่นประมาทนายปรีดีกรณีสวรรคต และได้ชนะทุกคดี

ในขณะลี้ภัยการเมืองในต่างประเทศนั้น นายปรีดียังคงใส่ใจสภาพความเป็นไปของบ้านเมือง และเสนอหลักการของสันติภาพ การอยู่ร่วมกันอย่างสันติของทั้งฝ่ายซ้ายและฝ่ายขวา ผ่านทางข้อเขียน บทความ หนังสือ และปาฐกถา อย่างสม่ำเสมอ

และในวันที่ ๒ พฤษภาคม ๒๕๒๖ ๑๑ นาฬิกา นายปรีดีก็ได้ถึงแก่กรรม ด้วยอาการหัวใจวาย และฟุบลงสิ้นใจอย่างสงบ ขณะกำลังเขียนหนังสือที่โต๊ะทำงานในบ้านที่ฝรั่งเศส

 

ครอบครัว

สมรสกับท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์

ข้อมูลอื่น

ช่วงหนึ่งแห่งชีวิต ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์

ปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษอาวุโส

ภารกิจและผลงานของนายปรีดี พนมยงค์

 


หน้าแรก
| ปัญญาชนสยาม | หนุ่มสาวดัดจริต | กังวานเกี่ยวข้อง | ข้าวตอกดอกมะเขือ | กลับสู่ด้านบน

เว็บไซต์นี้จัดทำด้วยความกระตือรือล้นของใครหลายคน(นั้น)
ก้อนหิน และหรือดอกไม้ กรุณาหารือกับนักการ
พยายามปรับปรุงข้อมูลครั้งล่าสุด เมื่อวันที่
๑๑ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๗