พัฒนาการนโยบายรัฐบาล
เกี่ยวกับจังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส
 
   
   
เอกสารเชิงหลักการ
ความเป็นมาและความสำคัญ
          จังหวัดชายแดนภาคใต้ตอนล่าง ซึ่งประกอบด้วย จังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส ประชาชนส่วนใหญ่ มีวัฒนธรรม ประเพณีและวิถีชีวิต ที่มีอัตลักษณ์เฉพาะของตนเอง ในส่วนของรัฐบาล ได้มีนโยบายเฉพาะพื้นที่ ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1 จนถึงปัจจุบัน ขณะนี้ ปี 2544 การพัฒนาหลายด้าน ยังเข้าไม่ถึงประชาชน ประชาชนยังต้องประสบกับปัญหา ความไม่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ปัญหาของประชาชนหลายเรื่อง ยังถูกละเลยและคิดกันว่า เป็นปัญหาปกติ
          กระบวนการพัฒนาในปัจจุบัน และแนวทางแห่งรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 ได้เน้นให้ประชาชนมีส่วนร่วม ในการนำเสนอแนวทางแก้ปัญหา และรับผิดชอบ ต่อการแก้ปัญหาร่วมกัน
          ดังนั้นในสังคมแห่งการเรียนรู้ นอกจากจะให้รัฐ เป็นฝ่ายกำหนดนโยบายแล้ว การศึกษาวิจัย โดยให้ประชาชนได้มีส่วนร่วม ในการนำเสนอปัญหาของตนเอง โดยใช้กระบวนการมีส่วนร่วม ของประชาชน ในการกำหนดประเด็นปัญหา น่าจะเป็นแนวทางหนึ่ง ของการแก้ปัญหาดังกล่าว ได้ถูกต้องยิ่งขึ้น รวมทั้งเพื่อนำไปกำหนดกรอบ เพื่อใช้ในการวิจัยพัฒนา นโยบายรัฐ ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ตอนล่าง ต่อไปในอนาคต

วัตถุประสงค์
          1. เพื่อประมวลเหตุการณ์ ความไม่ปลอดภัย ในชีวิตและทรัพย์สิน ของประชาชนในจังหวัดปัตตานี ยะลา และจังหวัดนราธิวาส ในช่วงระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา (พ.ศ. 2535 – 2544)
          2. ให้ประชาชน จังหวัดชายแดนภาคใต้ตอนล่าง ซึ่งประกอบด้วย จังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส ได้มีส่วนร่วม ในการนำเสนอปัญหาของตนเอง และวิเคราะห์ ปัญหาร่วมกัน ซึ่งจะทำให้มีความเข้าใจปัญหา รู้วิธีแก้ปัญหาร่วมกัน มองเห็นอนาคตมากขึ้น เมื่อมีการแก้ปัญหาถูกวิธี
          3. ใช้ปัญหาของประชาชน เป็นโจทย์เพื่อนำไปสู่การวิจัย เพื่อพัฒนานโยบายรัฐบาล ที่เหมาะสมในระยะ 10 – 30 ปีข้างหน้า

ขั้นตอนการดำเนินงาน
          1. ประมวลเหตุการณ์ความไม่ปลอดภัย ในชีวิตและทรัพย์สิน ของประชาชน ในพื้นที่จังหวัดปัตตานี ยะลา และจังหวัดนราธิวาส ใน 2 ลักษณะคือ
                    1.1 ประมวลเหตุการณ์ ความไม่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ของประชาชนในช่วงระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา (พ.ศ. 2535 – 2544)
                    1.2 ทำการรวบรวมข้อมูลเชิงลึก เกี่ยวกับกรณีเหตุการณ์ ความไม่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ของประชาชนที่สำคัญๆ รวม 10 เหตุการณ์ ในรอบ 10 ปี ที่ผ่านมา เช่น กรณีการเผาโรงเรียน การยิงเจ้าหน้าที่ตำรวจ การยิงราษฏร เป็นต้น
          2. จัดเวทีประชุมชาวบ้าน เพื่อนำเสนอและวิเคราะห์ปัญหาของตนเอง มี 3 ระดับคือ
                    2.1 เวทีประชุมเพื่อนำเสนอปัญหาและวิเคราะห์ปัญหาร่วมกันของชาวบ้านในระดับอำเภอ โดยดำเนินการดังนี้
                              ขั้นตอนที่ 1 คัดเลือกตัวแทนชาวบ้าน ที่เข้าร่วมประชุม โดยคัดเลือกจากตำบลต่างๆ ให้ครอบคลุมทุกตำบล ในแต่ละอำเภอ รวม 60 คน/อำเภอ ประกอบด้วย
                                        - ตัวแทนจากองค์การบริหารส่วนตำบล 20 คน
                                        - กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน 10 คน
                                        - ชาวบ้าน 30 คน
                              ขั้นตอนที่ 2 จัดเจ้าหน้าที่ออกไปพบปะตัวแทนชาวบ้าน ที่จะเข้าร่วมประชุม เพื่อชี้แจงเกี่ยวกับความสำคัญ ของตัวแทนชาวบ้าน ที่จะเข้าร่วมประชุม วัตถุประสงค์ และความสำคัญ ของการประชุม
                              ขั้นตอนที่ 3 เวทีประชุมเพื่อนำเสนอปัญหา และวิเคราะห์ปัญหาร่วมกับชาวบ้าน รวม 9 อำเภอ ประกอบด้วย
                                        จ.ปัตตานี รวม 3 อำเภอ ประกอบด้วย อ.สายบุรี อ.หนองจิก อ.ยะรัง
                                        จ.ยะลา รวม 3 อำเภอ ประกอบด้วย อ.เบตง อ.บันนังสตา อ.รามัน
                                        จ.นราธิวาส รวม 3 อำเภอ ประกอบด้วย อ.ตากใบ อ.สุไหงปาดี อ.ระแงะ
                    2.2 เวทีระดับกลุ่มอำเภอ ประกอบด้วย
                              ครั้งที่ 1 จัดประชุมตัวแทนชาวบ้านที่ อำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานี โดยเชิญชาวบ้านจากอำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานี , อำเภอเบตง จังหวัดยะลา , อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส เข้าร่วมจำนวน 60 คน
                              ครั้งที่ 2 จัดประชุมตัวแทนชาวบ้าน ที่อำเภอรามัน จังหวัดยะลา โดยเชิญชาวบ้านจากอำเภอรามัน จังหวัดยะลา อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี อำเภอสุไหงปาดี จังหวัดนราธิวาส เข้าร่วมจำนวน 60 คน
                              ครั้งที่ 3 จัดประชุมตัวแทนชาวบ้าน ที่อำเภอระแงะ จังหวัดนราธิวาส โดยเชิญชาวบ้าน จากอำเภอระแงะ จังหวัดนราธิวาส อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี อำเภอบันนังสตา จังหวัดยะลา เข้าร่วมจำนวน 60 คน
                    2.3 จัดสัมมนาตัวแทนชาวบ้าน จากเวทีระดับกลุ่มอำเภอ และผู้ทรงคุณวุฒิ เพื่อร่วมกันพัฒนาโจทย์วิจัย
          3. สรุปและรายงานผล

ผลที่คาดว่าจะได้รับ
          1. สรุปกรณีเหตุการณ์สำคัญ และเหตุการณ์ความไม่ปลอดภัย ในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ในช่วงระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา (พ.ศ. 2535 – 2544)
          2. รายงานสรุปผลการจัดเวทีชาวบ้าน ทั้ง 3 ระดับ
          3. ข้อเสนอโครงการวิจัย เพื่อพัฒนานโยบายรัฐ ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ตอนล่าง

ระยะเวลาดำเนินการ
          เดือนมกราคม – เมษายน 2545 รวม 4 เดือน