ยิ น ดี ต้ อ น รั บ สู่   " โ ห ม โ ร ง ไ อ ที "   เ ว ป ข อ ง ค น รั ก ด น ต รี ไ ท ย โ ด ย คุ ณ ค รู นุ ช ค่ ะ
 
+ โหมโรงห้องดนตรี
     - ดีด
     - สี
     - ตี
     - เป่า

+ โหมโรงนาฏศิลป์
     - โขน
     - การประสมวง

+ โหมโรงรอบรู้
     - การไหว้ครูและครอบครู
     - ครูดนตรีไทย

     - หอสมุดดนตรี            พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  รัชกาลที่ 9    

 

 

ranadake.jpg (11306 bytes)       

ระนาดเอก

         ระนาดเอกเป็นเครื่องตีชนิดหนึ่ง ที่วิวัฒนาการมาจากกรับ แต่เดิมคงใช้กรับสองอันตีเป็นจังหวะ ต่อมาก็เกิดความคิดว่าถ้าเอากรับหลายๆอันวางเรียงราดลงไป แล้วแก้ไขประดิษฐ์ให้มีขนาดลดหลั่นกัน แล้วทำรางรองอุ้มเสียง
และใช้เชือกร้อยไม้กรับขนาดต่างๆกันนั้นให้ติดกัน และขึงไว้บนรางใช้ไม้ตีให้เกิดเสียง นำตะกั่วผสมกับขี้ผึ้งมาถ่วงเสียงโดยนำมา ติดหัวท้ายของไม้กรับนั้น ให้เกิดเสียงไพเราะยิ่งขึ้น เรียกไม้กรับที่ประดิษฐ์เป็นขนาดต่างๆกันนั้นว่า “ลูกระนาด” เรียกลูกระนาดที่ผูกติดกันเป็นแผ่นเดียวกันว่า “ผืน” ลูกระนาดนี้ทำด้วยไม้ไผ่บง หรือไม้แก่น เช่นไม้ชิงชัน ไม้มะหาดไม้พะยุงก็ได้ โดยนำมาเหลาให้ได้ตามขนาดที่ต้องการ แล้วทำรางเพื่ออุ้มเสียงเป็นรูปคล้ายลำเรือ ให้หัวและท้ายโค้งขึ้นเรียกว่า รางระนาด แผ่นไม้ที่ปิดหัวท้ายรางระนาดเราเรียกว่า “โขน” ระนาดเอกในปัจจุบันมีจำนวน 21 ลูก ลูกต้นมีขนาด39 ซม กว้างราว 5 ซม และหนา 1.5 ซม มีขนาดลดหลั่นลงไปจนถึงลูกที่ 21 หรือลูกยอดที่มีขนาด 29 ซม เมื่อนำผืนระนาดมาแขวนบนรางแล้ว หากวัดจากโขนหัวรางข้างหนึ่งไปยังโขนหัวรางอีกข้างหนึ่ง จะมีความยาวประมาณ 120 ซม มีเท้ารองรางเป็นเท้าเดี่ยว รูปคล้ายกับพานแว่นฟ้า

ranadtommuk.jpg (12688 bytes)

ระนาดทุ้ม

        เป็นเครื่องดนตรีที่สร้างขึ้นมาในรัชกาลที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เป็นการสร้างเลียนแบบระนาดเอก ใช้ไม้ชนิดเดียวกันกับระนาดเอก ลูกระนาดทุ้มมีจำนวน 17 หรือ 18 ลูก ลูกต้นยาวประมาณ 42 ซม  กว้าง 6 ซม และลดหลั่นลงมาจนถึงลูกยอดที่มีขนาดยาว 34 ซม กว้าง 5 ซม รางระนาดทุ้มนั้นประดิษฐ์ให้มีรูปร่างคล้ายหีบไม้ แต่เว้าตรงกลางให้โค้ง โขนปิดหัวท้ายเพื่อเป็นที่แขวนผืนระนาดนั้น ถ้าหากวัดจากโขนด้านหนึ่งไปยังโขนอีกด้านหนึ่ง รางระนาดทุ้มจะมีขนาดยาวประมาณ 124 ซม ปากรางกว้างประมาณ 22 ซม มีเท้าเตี้ยๆรองไว้ 4 มุมราง

ranad_lek1x1.jpg (10155 bytes)

ระนาดเอกเหล็กหรือระนาดทอง

       ระนาดเอกเหล็ก เป็นเครื่องดนตรีที่ประดิษฐ์ขึ้นในรัชกาลที่ 4 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ แต่เดิมลูกระนาดทำด้วยทองเหลืองจึงเรียกกันว่าระนาดทอง ในเวลาต่อมาได้มีการประดิษฐ์ลูกระนาดด้วยเหล็ก ระนาดเอกเหล็กมีจำนวน 20 หรือ 21 ลูก โดยวางไว้บนรางที่มีไม้ระกำวางพาดไปตามของราง หากไม่มีไม้ระกำ ก็อาจใช้ผ้าพันไม้แล้วนำมารองลูกระนาดก็ได้ ลูกต้นของระนาดเอกเหล็กมีขนาด 23.5 ซม กว้างประมาณ 5 ซม ลดหลั่นขึ้นไปจนถึงลูกยอดที่มีขนาด 19 ซม กว้างประมาณ 4 ซม รางของระนาดเอกเหล็กนั้น ทำเป็นรูปสี่เหลี่ยม มีเท้ารองรับไว้ทั้ง 4 ด้านหรืออาจใส่ลูกล้อเพื่อสะดวกในการขนย้ายก็ได้

ranad_tum_lek1x1.jpg (10432 bytes)

ระนาดทุ้มเหล็ก

           ระนาดทุ้มเหล็กเป็นเครื่องดนตรีที่พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ในรัชกาลที่ 4 มีพระราชดำริให้สร้างขึ้น ลูกระนาดทำอย่างเดียวกับระนาดเอกเหล็ก ระนาดทุ้มเหล็กมีจำนวน 16 หรือ 17 ลูก ลูกต้นยาวประมาณ 35 ซม กว้างประมาณ 6 ซมและลดหลั่นลงไปจนถึงลูกยอดซึ่งยาวประมาณ 29 ซม กว้างประมาณ 5.5 ซม ตัวรางระนาดยาวประมาณ 1 เมตร ปากรางกว้างประมาณ 20 ซม มีชานยื่นออกไปสองข้างราง ถ้านับส่วนกว้างรวมทั้งชานทั้งสองข้างด้วย รางระนาดทุ้มเหล็กจะกว้างประมาณ 36 ซม มีเท้ารองติดลูกล้อ 4 เท้า เพื่อให้เคลื่อนที่ไปมาได้สะดวก ตัวรางสูงจากพื้นถึงขอบบนประมาณ 26 ซมระนาดทุกชนิดที่กล่าวมานั้น จะใช้ไม้ตี 2 อัน สำหรับระนาดเอกทำไม้ตีเป็น 2 ชนิด ชนิดหนึ่งทำหัวไม้ตีให้แข็ง เมื่อตีจะมีเสียงดังเกรียวกราว เมื่อนำเข้าผสมวงจะเรียกว่า “วงปี่พาทย์ไม้แข็ง” อีกชนิดหนึ่ง ซึ่งเกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 ประดิษฐ์ไม้ตีให้อ่อนนุ่ม เมื่อตีจะเกิด เสียงนุ่มนวล เวลานำระนาดเอกที่ใช้ไม้ตีชนิดนี้มาผสมวง จะเรียกว่า “วงปี่พาทย์ไม้นวม”

ไม้ระนาด

          ลักษณะไม้ตีระนาดมีดังนี้

(1) ไม้แข็ง ปลายไม้ระนาด พอกด้วยผ้าชุบน้ำรักจนแข็ง

(2) ไม้นวม ปลายไม้ระนาด ใช้ผ้าพันแล้วถักด้วยด้ายจนนุ่ม

(3) ไม้ตีระนาดทุ้ม ปลายไม้ระนาด ใช้ผ้าพันพอกให้โต และนุ่ม เพื่อตีให้เกิดเสียงทุ้ม

(4) ไม้ตีระนาดเหล็ก ปลายไม้ตีทำด้วยแผ่นหนังดิบ ตัดเป็นวงกลมเจาะรูตรงกลาง แล้วเอาไม้เป็นด้าม
สำหรับถือมีขนาดใหญ่กว่าไม้ตีระนาดเอกธรรมดา

(5) ไม้ตีระนาดทุ้มเหล็ก ทำลักษณะเดียวกับไม้ตีฆ้องวง แต่ปลายไม้พันด้วยหนังดิบ เพื่อให้แข็งเวลาตี จะเกิดเสียงได้

kongwong_yai1x1.jpg (13403 bytes)

ฆ้องวงใหญ่

          เป็นเครื่องดนตรีที่คิดประดิษฐ์ขึ้นมาจากฆ้องเดี่ยว ฆ้องคู่ และฆ้องราว วงฆ้องใช้ต้นหวายโป่งทำเป็นร้าน สูงประมาณ 24 ซม ระหว่างหวายเส้นนอกกับหวายเส้นในห่างกันประมาณ 14 – 17 ซม ดัดให้โค้งเป็นวงรอบตัวคนนั่งตี เปิดช่องด้านหลังคนตีเป็นทางเข้า ระยะห่างประมาณ 20 – 30 ซม วงฆ้องต้องดัดให้พอดีสำหรับคนเข้าไปนั่งตีได้ไม่อึดอัด ลูกฆ้องวงหนึ่งมี 16 ลูกลูกต้นวัดผ่านศูนย์กลางประมาณ 17 ซม อยู่ทางซ้ายมือด้านหลังผู้ตี ลูกยอดวัดผ่านศูนย์กลางประมาณ 12 ซม อยู่ทางขวามือด้านหลังผู้ตี ไม้ตีทำด้วยแผ่นหนังดิบ ตัดเป็นวงกลมเจาะกลางสอดด้ามไม้สำหรับถือ

kongwong_lek1x1.jpg (11835 bytes)

ฆ้องวงเล็ก

        เป็นเครื่องดนตรีที่สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ มีขนาดย่อมกว่าฆ้องวงใหญ่ วัดจากขอบวงในด้านซ้ายมือถึงของวงในด้านขวา กว้างประมาณ 80 ซม เรือนฆ้องสูง 20 ซม ฆ้องวงเล็กมีทั้งหมด 18 ลูก ลูกต้นวัดผ่านศูนย์กลางประมาณ 13 ซม ลูกยอดมีขนาดประมาณ 9.5 ซม ใช้บรรเลงร่วมในวงปี่พาทย์ ในวงปี่พาทย์วงหนึ่งๆนั้น จะใช้ฆ้อง 2 วง คือ ฆ้องวงใหญ่ และ ฆ้องวงเล็ก

klongmol1x1.jpg (15557 bytes)

ฆ้องมอญ

         ฆ้องมอญ เป็นฆ้องวงที่ตั้งโค้งขึ้นไปทั้งสองข้าง ไม่วางราบไปกับพื้นเหมือนกับฆ้องไทย วงฆ้องส่วนที่โค้ง
ขึ้นไปนั้น แกะสลักเป็นลวดลายปิดทองประดับกระจกอย่างงดงาม ส่วนมากมักแกะเป็นรูปกินนร เรียกกันว่าหน้าพระ
ตอนกลางโค้งแกะเป็นกระหนกใบเทศปิดทองประดับกระจกเช่นกัน มีเท้ารองตรงกลางเหมือนกับเท้าของระนาดเอก ฆ้องมอญวงหนึ่งๆมีจำนวน 15 ลูก สำหรับใช้บรรเลงในวงปี่พาทย์
รามัญ หรือปี่พาทย์มอญ วงฆ้องมอญมี 2 ชนิดเช่นเดียวกับฆ้องไทย คือมีฆ้องมอญใหญ่ และ ฆ้องมอญเล็ก

tapol21x1.jpg (16012 bytes)

ตะโพน

            ตะโพนเป็นเครื่องดนตรีที่ขึงด้วยหนัง ตัวตะโพนทำด้วยไม้สักหรือไม้ขนุน เรียกว่า “หุ่น” ขุดแต่งให้เป็นโพรงภายใน ขึ้นหนัง 2 หน้า ดึงด้วยสายหนังโยงเร่งเสียงเรียกว่า “หนังเรียด” หน้าใหญ่มีความกว้างประมาณ 25 ซม เรียกว่าหน้า “เท่ง” ติดหน้าด้วยข้าวสุกบดผสมกับขี้เถ้าเพื่อถ่วงเสียง อีกหน้าหนึ่งเล็กกว่ามีขนาดประมาณ 22 ซม เรียกว่า “หน้ามัด” ตัวกลองยาวประมาณ 48 ซม รอบๆขอบหนังที่ขึ้นหน้า ถักด้วยหนังที่ตีเกลียวเป็นเส้นเล็กๆ เรียกว่า “ไส้ละมาน” แล้วจึงเอาหนังเรียดร้อยในช่วงของไส้ละมานทั้งสองข้าง โยงเรียงไปโดยรอบจนมองไม่เห็นไม้หุ่น มีหนังพันตรงกลางเรียกว่า “รัดอก” ข้างบนรัดอกทำเป็นหูหิ้วและมีเท้ารองให้ ตัวตะโพนวางนอนอยู่บนเท้า ใช้ฝ่ามือซ้ายขวาตีได้ทั้งสองหน้า ใช้สำหรับบรรเลงผสมอยู่ในวงปี่พาทย์ ทำหน้าที่กำกับจังหวะหน้าทับต่างๆ

             ตะโพนนี้ ถือเป็นบรมครูทางดุริยางคศิลป์ นับว่าพระประโคนธรรพ เป็นครูตะโพน เมื่อจะเริ่มการบรรเลง จะต้องนำดอกไม้ธูปเทียน บูชาตะโพนก่อนทุกครั้ง และถือเป็นประเพณีสืบต่อกันมา เหตุที่ต้องกราบไหว้บูชาก็เพราะ ตะโพนเป็นเครื่องดนตรีที่บรรเลงร่วมกับ สังข์ บัณเฑาะว์ และ มโหระทึก ซึ่งเป็นเครื่องดนตรีประจำองค์ของเทพเจ้า และสมมุติเทพ ดังนี้คือ สังข์ประจำพระองค์พระนารายณ์ และพระอินทร์บัณเฑาะว์ ประจำองค์พระอิศวร มโหระทึก เป็นเครื่องดนตรีบรรเลงประกอบพระอิศริยยศองค์พระมหากษัตริย์
ซึ่งถือเป็นสมมุติเทพส่วนตะโพนนั้นเป็นกลองที่พระคเณศได้เป็นผู้ตี
เป็นคนแรก ดังนั้น ตะโพนเมื่อนำมาร่วมบรรเลงในวงปี่พาทย์ จึงถือเป็นบรมครู และทำหน้าที่กำกับหน้าทับต่างๆทั้งหมด

klong_kae1x1.jpg (11814 bytes)

กลองแขก

        กลองแขกเป็นเครื่องดนตรีประเภทตีที่มีรูปร่างยาวเป็นรูปทรงกระบอก ขึ้นหนังสองข้างด้วยหนังลูกวัวหรือหนังแพะหน้าใหญ่กว้างประมาณ 20 ซม เรียกว่า “หน้ารุ่ย” ส่วนหน้าเล็กกว้างประมาณ17 ซม เรียกว่า“หน้าด่าน” ตัวกลองแขกทำด้วยไม้แก่น เช่นไม้ชิงชันหรือไม้มะริดการขึ้นหนังใช้เส้นหวายผ่าซีกเป็นสายโยงเร่งเสียง โยงเส้นห่างๆในปัจจุบันอาจใช้เส้นหนังแทนเนื่องจากหาหวายได้ยาก กลองแขกสำหรับหนึ่งมี 2 ลูกลูกเสียงสูงเรียก “ตัวผู้” ลูกเสียงต่ำเรียก “ตัวเมีย”
ตีด้วยฝ่ามือทั้งสองข้างให้สอดสลับกันทั้งสองลูก

klong_tud1x1.jpg (10780 bytes)

กลองทัด

           กลองทัดเป็นกลองสองหน้าขนาดใหญ่ขึ้นหน้าทั้งสองข้างด้วยหนังวัวหรือหนังควาย ตรึงด้วยหมุด หุ่นกลองทำจากไม้เนื้อแข็ง กลึงคว้านข้างในจนเป็นโพรง ป่องตรงกลางนิดหน่อยหมุดที่ตรึงหนังเรียกว่า”แส้”ทำด้วยไม้หรืองาหรือกระดูกสัตว์ตรงกลางหุ่นกลองมีห่วงสำหรับแขวน เรียกว่า “หูระวิง”กลองทัดมีขนาดหน้ากว้างเท่ากันทั้งสองข้าง วัดเส้นผ่าศูนย์กลางได้ประมาณ46 ซม ตัวกลองยาวประมาณ 41 ซม กลองทัดมี 2 ลูก ลูกที่มีเสียงสูงดัง “ตุม” เรียกว่าตัวผู้ และ ลูกที่มีเสียงต่ำตีดัง “ต้อม” เรียกว่าตัวเมีย ใช้ไม้ตี 1 คู่ มีขนาดยาวประมาณ 54 ซม


 

ching1x1.jpg (7671 bytes)

ฉิ่ง

           เป็นเครื่องดนตรีไทยประเภทตี ทำด้วยทองเหลือง หล่อหนา ปากผายกลม 1 ชุด มี 2 ฝา ฉิ่งมี 2 ชนิดคือ ฉิ่งสำหรับวงปี่พาทย์ และ ฉิ่งที่ใช้สำหรับวงเครื่องสาย และวงมโหรี ฉิ่งสำหรับวงปี่พาทย์มีขนาดที่วัดฝ่านศูนย์กลาง จากขอบข้างหนึ่งไปสุดขอบอีกข้างหนึ่ง กว้างประมาณ 6 – 6.5 ซม เจาะรูตรงกลางสำหรับร้อยเชือก เพื่อให้จับสะดวกขณะตี ส่วนฉิ่งสำหรับวงเครื่องสายและวงมโหรีนั้น มีขนาดเล็กกว่า วัดผ่านศูนย์กลางได้ขนาดประมาณ 5.5 ซม เนื่องจากการตีฉิ่ง ต้องเอาขอบของฝาข้างหนึ่งกระทบกับอีกฝากหนึ่ง แล้วยกขึ้น ก็จะมีเสียงดังกังวานยาวดัง “ฉิ่ง” แต่ถ้าเอาทั้ง 2 ฝานั้นกระทบและประกบกันไว้ จะได้ยินเสียงดังสั้นๆดัง “ฉับ” ดังนั้นการเรียกชื่อเครื่องดนตรีชนิดนี้ว่า ฉิ่ง ก็เพราะเรียกตามเสียงที่เกิดขึ้นนั่นเอง


 

charb_big_small1x1.jpg (12289 bytes)

ฉาบ
ฉาบเป็นเครื่องดนตรีประเภทตี ทำด้วยโลหะเมือนกันคล้ายฉิ่ง แต่หล่อให้บางกว่า ฉาบมี 2 ชนิดคือ“ฉาบเล็ก” และ “ฉาบใหญ่”ฉาบเล็กมีขนาด ที่วัดผ่านศูนย์กลางประมาณ 12 –14 ซมส่วนฉาบใหญ่มีขนาดที่วัดผ่าน ศูนย์กลางประมาณ 24 –26 ซม เวลาบรรเลงใช้ 2ฝามาตีกระทบกัน ให้เกิดเสียงตามจังหวะ เมื่อฉาบทั้งสองข้างกระทบกันขณะตีประกบกันก็
จะเกิดเสียง “ฉาบ” แต่ถ้าตีแล้วเปิดเสียงก็จะได้ยินเป็น แฉ่ง แฉ่ง แฉ่งเป็นต้น


 

klub_pung1x1.jpg (8162 bytes)           klub_saepa1x1.jpg (8390 bytes)
กรับ
         เครื่องดนตรีที่เรียกว่า กรับนั้นมีอยู่ 3 ชนิดด้วยกัน คือ กรับคู่ กรับพวง และ กรับเสภา กรับคู่นั้น ทำด้วยไม้ไผ่ผ่าซีก เหลาให้เรียบและเกลี้ยงอย่าให้มีเสี้ยน มีรูปร่างแบนตามซีกไม้ไผ่ หนาตามขนาดของเนื้อไม้ยาวประมาณ 40 ซม ทำเป็น 2 อันหรือเป็นคู่ ใช้ตีให้ผิวกระทบกันทางด้านแบนเกิดเป็นเสียง “กรับ”กรับพวง เป็นกรับชนิดหนึ่งตอนกลางทำด้วยไม้บางๆหรือแผ่นทองเหลืองหรืองาหลายๆอันและทำไม้แก่น 2 อันเจาะรูตอนหัวร้อยเชือกประกบไว้ 2 ข้างเหมือนด้ามพัด เวลาตีใช้มือหนึ่งถือตรงหัวทางเชือกร้อย แล้วฟาดลงไปบนอีกฝ่ามือหนึ่ง เกิดเป็นเสียงกรับขึ้นหลายเสียง จึงเรียกว่ากรับพวงใช้เป็นอานัตสัญญานเช่นในการเสด็จออกในพระราชพิธีของพระเจ้าแผ่นดิน เจ้าพนักงานจะ “รัวกรับ”และใช้กรับพวงตีเป็นจังหวะ ในการขับร้อง เพลงเรือ ดอกสร้อยและใช้บรรเลงขับร้องในการแสดง นาฎกรรมด้วย กรับเสภา ทำด้วยไม้แก่น เช่นไม้ชิงชัน ยาวประมาณ 20 ซม หนาประมาณ 5 ซม เหลาเป็นรูป 4 เหลี่ยมแต่ลบเหลี่ยม ออกเพื่อมิให้บาดมือและให้สามารถกลิ้งตัวของมันเองกลอก กระทบกันได้โดยสะดวก ใช้บรรเลงประกอบในการขับเสภา เวลาบรรเลงผู้ขับเสภาจะใช้กรับเสภา 2 คู่ รวม 4 อัน ถือเรียงกันไว้บนฝ่ามือของตนข้างละคู่ กล่าวขับเสภาไปพลาง มือทั้ง 2 ข้างก็ขยับกรับแต่ละข้างให้กลอกกระทบกันเข้าจังหวะ กับเสียงขับเสภา จึงเรียกกรับชนิดนี้ว่า “กรับเสภา”

 

 

 

 

แนะนำ ติ-ชม หรือหากคุณมีข่าวสารที่น่าสนใจต้องการนำเสนอ E-mail มาที่ homrong_it@yahool.com
copyright 2004 www.oocities.org/homrong_it Allrights reserved*