Proud to be Ex-Pys

Ex-Pys Article : 100 Questions you want to know more about SSEAYP (3)

100 คำถามที่คุณอยากรู้เกี่ยวกับโครงการเรือเยาวชนเอเชียอาคเนย์ 
โดย กมลธรรม  วาสบุญมา (SSEAYP 1991)
อดีตอุปนายกสมาคมเรือเยาวชนเอเชียอาคเนย์แห่งประเทศไทย(ฝ่ายบริหาร)

-สงวนลิขสิทธิ์-

    Question 41         จุดเริ่มต้นการเดินทางของโครงการเรือเยาวชนเอเชียอาคเนย์

แต่ละปีจะมีการเริ่มต้นโครงการแตกต่างกันไปโดยจะเวียนกลุ่มไปในกลุ่มประเทศอาเซียน โดยเรือนิปปอนมารูจะเดินทางออกจากประเทศญี่ปุ่นพร้อมกับ PY ประเทศญี่ปุ่นและทีมงาน เพื่อให้ไปถึงจุดเริ่มต้น (Starting point)ตรงตามกำหนดเวลา เยาวชนจากทุกประเทศจะบินจากประเทศของตนเองเพื่อมารวมกันที่จุดเริ่มต้น เมื่อมาพร้อมกันหมดทุกประเทศแล้วก็จะเริ่มโครงการนับแต่บัดนั้น ยกตัวอย่างเช่นในปี พ.ศ. 2546 โครงการเริ่มที่ประเทศสิงคโปร์ ในวันที่ 9 กันยายน 2546 เรือก็จะออกเดินทางจากประเทศญี่ปุ่นประมาณวันที่ 30 สิงหาคม 2546 เพื่อเดินทางไปยังประเทศสิงคโปร์ต่อไป
 

    Question 42        เยาวชนจากประเทศไทยทุกคนจะเดินทางไปยังจุดเริ่มต้นพร้อมกันใช่หรือไม

สำหรับ PY จะเดินทางออกจากประเทศไทยและบินไปยังจุดเริ่มต้นพร้อมกัน ส่วน NL จะเดินทางไปก่อนประมาณ 1 สัปดาห์โดยจะบินตรงไปยังประเทศญี่ปุ่นเพื่อประชุมหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการเตรียมความพร้อมของโครงการก่อน เช่น ในปี พ.ศ.2546 NL จะออกเดินทางไปประเทศญี่ปุ่นตั้งแต่วันที่ 30 สิงหาคม 2546 และจะเดินทางพร้อมกับเรือมายังจุดเริ่มต้นที่สิงคโปร์ ส่วนเยาวชนคนอื่นๆจะเดินทางไปขึ้นเรือที่ประเทศสิงคโปร์ในวันที่ 9 กันยายน 2546 เป็นต้น
 

    Question 43        ประเทศที่เรือนิปปอนมารูแวะในโครงการ

แต่เดิมกลุ่มประเทศที่ร่วมโครงการมีเพียง 7 ประเทศ โครงการจึงสามารถตัดตารางกิจกรรมและตารางการเดินเรือให้เรือนิปปอนมารูสามารถแวะทำกิจกรรมได้ทุกท่าเรือที่ร่วมกิจกรรมของแต่ละประเทศ (port of call) แต่ในเวลาต่อมามีประเทศเข้าร่วมโครงการมากขึ้น บางประเทศก็ยังไม่มีความพร้อมในการที่จะให้เยาวชนร่วมโครงการในประเทศตนหรือบางประเทศก็ไม่มีชายฝั่งทะเลหรือท่าเรือน้ำลึก เรือจึงไม่สามารถเข้าจอดเทียบท่าได้ทุก port of call โดยจะเลือกจอดเฉพาะบางประเทศ เวียนกันไปในแต่ละปีตามความเหมาะสม เช่นในปี พ.ศ.2546 เรือไม่เข้าจอดเทียบท่าที่ประเทศบรูไนดารุสซาลาม ในปีต่อๆมาก็อาจไม่จอดที่ประทศไทย หรือประเทศมาเลเซีย ฯลฯ เป็นต้น
 

    Question 44        Port of call


 
Port of call คือ ท่าเรือที่แต่ละประเทศกำหนดให้เป็นจุดจอดเรือนิปปอนมารูในโครงการเรือเยาวชนเอเชียอาคเนย์ประจำปีนั้นๆ ซึ่งอาจเป็นท่าเรือเดียวกับปีก่อนหรือไม่ก็ได้ตามความเหมาะสม เช่น ประเทศไทยปกติจะใช้ท่าเรือ OB บริเวณการท่าเรือแห่งประเทศไทย (หรือที่รู้จักกันในนามของท่าเรือคลองเตย) เป็นจุดจอดเรือเพราะมีความลึกและทำเลที่เหมาะสม แต่ในบางปีประเทศไทยเคยใช้ท่าเรือน้ำลึกจังหวัดภูเก็ตเป็น Port of call ของประเทศไทย เป็นต้น การกำหนดให้ท่าเรือใดเป็น port of call จะมีผลต่อการจัดกิจกรรมในประเทศนั้นๆด้วย เช่น หากประเทศไทยจัดให้ท่าเรือน้ำลึกจังหวัดภูเก็ตเป็น port of call ก็จะมีผลให้เยาวชนที่ร่วมโครงการในปีนั้นไม่ได้เข้ามาเยี่ยมชมหรือทำกิจกรรมในกรุงเทพมหานคร 
    Question 45        กิจกรรมในประเทศที่เรือนิปปอนมารูไม่ได้เข้าจอดเทียบท่า

กรณีที่เรือนิปปอนมารูไม่ได้เข้าจอดเทียบท่าในประเทศใด เยาวชนส่วนใหญ่ก็จะไม่ได้เข้าไปทำกิจกรรมในประเทศนั้น แต่อย่างไรก็ดีโครงการเรือเยาวชนเอเชียอาคเนย์ก็จะจัดผู้แทนประกอบด้วยผู้บริหารโครงการ , กัปตัน , NL , YL และทีมงานที่เกี่ยวข้อง บินไปประเทศดังกล่าวเพื่อเยี่ยมคารวะบุคคลสำคัญและทำกิจกรรมในฐานะตัวแทนของเยาวชนทั้งหมดในประเทศนั้น นานประมาณ 2-4 วันตามความเหมาะสม แล้วจึงบินกลับมายังประเทศที่เรือจอดอยู่ ยกตัวอย่างเช่น ในปี พ.ศ.2546 เรือนิปปอนมารูไม่ได้จอดเทียบท่าที่ประเทศบรูไน เมื่อเรือเข้าจอดเทียบท่าที่จาการ์ต้า ประเทศอินโดนีเซีย คณะผู้แทนก็จะบินไปยังประเทศบรูไนเพื่อทำกิจกรรม กรณีดังกล่าวจะเกิดเช่นเดียวกันสำหรับกิจกรรมในประเทศลาว พม่า กัมพูชา และเวียดนาม(ในบางปี)
 

    Question 46        เส้นทางเดินเรือ

เส้นทางการเดินเรือจะถูกรัฐบาลญี่ปุ่นปรับเปลี่ยนไปทุกปีตามความเหมาะสม ขึ้นอยู่กับจุดเริ่มต้นโครงการ ประเทศที่เรือเข้าจอด และปัจจัยความเหมาะสมอื่นๆที่เกี่ยวข้อง แต่โดยปกติจะคล้ายคลึงกัน แตกต่างกันบ้างในรายละเอียดเท่านั้น

    Question 47        ผู้ดูแลควบคุมโครงการเรือเยาวชนเอเชียอาคเนย์เมื่ออยู่บนเรือ

เมื่ออยู่บนเรือนิปปอนมารู และตลอดระยะเวลาของการเข้าร่วมโครงการฯ จะมีคณะกรรมการเรียกว่า Cruise Operation Committee หรือเรียกย่อๆว่า COC เป็นผู้ควบคุมดูแลโครงการในระดับนโยบาย และพิจารณาแก้ไขปัญหาในเรื่องสำคัญต่างๆ COC ประกอบด้วย Administrator ทีมงานระดับกับอาวุโส National Leader ของทุกประเทศ และบุคคลอื่นๆที่เกี่ยวข้อง โดยจะมีการประชุมหารือใน COC แทบทุกวันเพื่อวางมาตรการ แนวทาง ตลอดจนแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นระหว่างโครงการในระดับนโยบาย

เมื่อ COC มีนโยบายในเรื่องต่างๆอย่างไร National Leader ก็จะถ่ายทอดนโยบายนั้นไปสู่ Youth Leader หรือ Assistant Youth Leader เพื่อนำไปขยายผลในทางปฏิบัติ หรือถ่ายทอดไปยัง Group leader และ PY ทุกคนต่อไป เป็นการบริหารงานในระบบกระจายอำนาจที่ชัดเจน

สำหรับตัวบุคคลที่เป็นผู้บริหารสูงสุดของโครงการ คือ Administrator โดยปกติเป็นข้าราชการระดับผู้ใหญ่จากหน่วยงานของประเทศญี่ปุ่นที่รับผิดชอบในกิจกรรมโครงการเรือเยาวชนเอเชียอาคเนย์ตลอดจนโครงการแลกเปลี่ยนอื่นๆ ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันไป แต่บางครั้งก็เป็นซ้ำกัน 2-3 ปี ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมและปัจจัยต่างๆที่เกี่ยวข้อง ถือเป็นหัวหน้าคณะสูงสุดของผู้เข้าร่วมโครงการทุกคน

อย่างไรก็ดี หากไม่นับเรื่องการบริหารจัดการโครงการในส่วนของเนื้อหาแล้ว กัปตัน (Captain) จะเป็นผู้บริหารสูงสุดเกี่ยวกับการเดินเรือ หากมีปัญหาเกี่ยวกับความปลอดภัยหรือกระบวนการใดๆในการเดินเรือ กัปตันจะเป็นผู้เป็นผู้มีอำนาจในการสั่งการ
 

    Question 48        Administrative staffs


 
Administrative staffs คือทีมงานของ Administrator มีหน้าที่บริหารจัดการโครงการในส่วนของเนื้อหาและการปฏิบัติการให้เป็นไปตามนโยบายของ COC โดยปกติจะมีประมาณ 10 คน ส่วนใหญ่จะเป็นชาวญี่ปุ่น บางส่วนเคยเป็น PY มาก่อน บางส่วนมาจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง Administrative staffs จะร่วมเดินทางไปกับคณะ PY ในทุกที่เพื่อช่วย Administrator ในการควบคุม ดูแล กำกับการ อำนวยความสะดวก และแนะนำ ช่วยแก้ไขปัญหาระหว่างโครงการ
    Question 49        บทบาทสำคัญของกัปตัน และลูกเรือ

 

กัปตันถือเป็นผู้มีอำนาจเต็มบนเรือในส่วนที่ไม่เกี่ยวกับการบริหารจัดการโครงการในเนื้อหา จะเป็นผู้ที่มีความรู้ ความสามารถ ประสบการณ์ด้านการเดินเรืออย่างสูง กัปตันทุกคนจะเป็นชาวญี่ปุ่น มีบุคลิกที่สุขุม เยือกเย็น สมเป็นผู้นำในการเดินเรือนิปปอนมารู

ลูกเรือ (Crews) จะประกอบด้วยเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหาร และฝ่ายปฏิบัติการ ซึ่งอาจเป็นเจ้าหน้าที่ประจำอยู่ที่สะพานเดินเรือหลัก (Main Bridge) หรือเป็นเจ้าหน้าที่เทคนิคทั่วไป ตลอดจนพนักงานประจำส่วนงานต่างๆตั้งแต่ดาดฟ้า 1 (Deck 1) ไปจนถึงวิศวกรที่ประจำอยู่ห้องเครื่องชั้นล่างสุด (ต่ำกว่าระดับผิวน้ำ) ระบบการบริหารงานในการเดินเรือเป็นสิ่งที่น่าสนใจมากอย่างหนึ่งที่เยาวชนทุกคนควรหาโอกาสศึกษาและให้ความสนใจ แม้จะไม่ใช่เนื้อหาในส่วนของการเข้าร่วมโครงการ แต่ก็เป็นความรู้และประสบการณ์ที่ไม่อาจหาได้ในที่อื่นๆ

กัปตันและลูกเรือมีหน้าที่สำคัญในการบริหารและจัดการให้การเดินเรือในโครงการเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ปลอดภัย และบรรลุวัตถุประสงค์ของโครงการ ถือเป็นบุคลากรที่สำคัญอย่างยิ่งในโครงการเรือเยาวชนเอเชียอาคเนย์
 

    Question 50        หน่วยบริการทางการแพทย์บนเรือ

ในระหว่างเข้าร่วมโครงการจะมีบริการทางการแพทย์ตามปกติแก่ผู้เข้าร่วมโครงการทุกคนโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย (โดยแพทย์ประจำบนเรือ) โดยจะมีแพทย์ให้บริการในช่วงเวลาเปิดทำการที่แน่นอน หากนอกเวลา ผู้เจ็บป่วยสามารถติดต่อขอรับบริการหรือปรึกษาได้ที่พยาบาลประจำเรือ พยาบาลจะเป็นผู้พิจารณาว่าเป็นกรณีที่สมควรต้องพบแพทย์หรือไม่ หรือหากเป็นกรณีฉุกเฉินเกินความสามารถหรืออุปกรณ์แพทย์บนเรือ ทางโครงการก็จะรีบดำเนินการส่งสถานพยาบาลบนบกโดยด่วนต่อไป โดยประเทศที่เข้าร่วมโครงการจะมีพันธะสัญญาต่อกันในการดูแลรักษาพยาบาลผู้เข้าร่วมโครงการดังกล่าว

อย่างไรก็ดีในปี พ.ศ.2546 เนื่องจากมีวิกฤติการณ์โรค SARS และโรคติดต่อร้ายแรงอื่นๆ รัฐบาลญี่ปุ่นจึงได้กำหนดมาตรการที่ค่อนข้างเคร่งครัดในการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อโรคติดต่อดังกล่าว โดยผู้เกี่ยวข้องทุกคนที่จะขึ้นอยู่บนเรือจะต้องผ่านตรวจเช็คทางการแพทย์ว่ามไม่มีเชือ้โรคติดต่อร้ายแรงดังกล่าว ตลอดจนไม่ได้เพิ่งกลับจากการเดินทางไปยังประเทศที่ WHO กำหนดให้เป็นเขตแพร่ระบาดของโรค หรือเป็นผู้ที่ได้สัมผัสโดยตรงกับผู้ที่เป็นโรคดังกล่าว เช่น เป็นผู้ปฐมพยาบาลผู้ป่วยในครอบครัว ฯลฯ ทุกคนจะต้องต้องวัดอุณหภูมิร่างกายตนองวันละ 2 ครั้งเป็นเวลา 2 สัปดาห์ก่อนขึ้นเรือ หากมีอุณหภูมิสูงเกิน 38 องศาเซลเซียส ก็อาจถือว่ามีความเสี่ยงต่อโรคติดต่อและอาจขาดคุณสมบัติในการเข้าร่วมโครงการ ยกเว้นแต่รัฐบาลของประเทศที่ PY สังกัดจะรับรองว่าปลอดจากเชื้อโรคติดต่อดังกล่าว และเมื่อขึ้นเรือแล้วก็ต้องวัดอุณหภูมิตนเองทุกวันๆละ 2 ครั้ง หากมีแนวโน้มหรือต้องสงสัยว่าจะเป็นผู้ป่วยด้วยโรคติดต่อก็จะต้องถูกกักตัวหรือดำเนินการตามมาตรการทางการแพทย์ตามที่รัฐบาลญี่ปุ่นกำหนดทันที
 

    Question 51        เงื่อนไขด้านความปลอดภัยบนเรือ

ตามระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการเดินเรือ กรณีที่เรือลำใดเดินทางออกสู่ทะเลเกินกว่า 24 ชั่วโมง เรือลำนั้นจะต้องมีการซักซ้อมมาตรการความปลอดภัยให้แก่ผู้โดยสาร กฎนี้ใช้บังคับกับการเข้าร่วมโครงการเรือเยาวชนเอเชียอาคเนย์ด้วยเช่นกัน

ในช่วงวันแรกของการเดินทาง PY และผู้เกี่ยวข้องทุกคนจะต้องซ้อมการสละเรือ ซึ่งเป็นมาตรการบังคับเพื่อเป็นการซักซ้อมในกรณีที่อาจเกิดเหตุฉุกเฉินขึ้น โดยทุกคนจะต้องรู้และศึกษาว่าในห้องพัก (Cabin) ของตนเอง จะมีเสื้อชูชีพจัดเก็บไว้สำหรับผู้เข้าพักแต่ละคน เสื้อชูชีพตัวใดเป็นของตนเอง และเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน จะต้องไปรวมพลที่ใด ลงเรือชูชีพหมายเลขเท่าใด และจะต้องปฏิบัติตนอย่างไรในในเรือชูชีพระหว่างลอยลำในทะเล เพื่อรักษาชีวิตตนเองและผู้อื่นไว้ให้ได้นานที่สุดจนกว่าจะมีเรือลำอื่นมาช่วย

การซักซ้อมมาตรการเพื่อความปลอดภัยดังกล่าวเป็นเรื่องสำคัญมาก แต่เป็นที่น่าเสียดายว่ายังมีเยาวชนอีกมากเห็นเป็นเรื่องเล่น ไม่ได้ใส่ใจเท่าที่ควรในระหว่างการซักซ้อมหรือให้ความรู้โดยทีมงานของเรือ ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่สมควรอย่างยิ่ง เพราะหากเกิดฉุกเฉินขึ้นจริงๆ นอกจากจะเป็นการสร้างความไม่ปลอดภัยให้ตนเองแล้ว ยังก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้อื่นอีกด้วย เยาวชนจึงควรให้ความสำคัญในส่วนนี้ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากิจกรรมอื่นในโครงการ
 

    Question 52        ส่วนบริการด้านเสริมความงามบนเรือ

นิปปอนมารูเป็นเรือเดินสมุทรขนาดใหญ่ที่มันสมัย จึงมีส่วนบริการด้านต่างๆอย่างครบครัน ทั้งสระว่ายน้ำ ห้องฟิตเนส (Fitness room) ห้องอาบน้ำรวม (Grand bath) ห้องเซาน่า (Sauna) ห้องซักรีด (Laundry room)รวมไปถึง Beauty salon ด้วย แต่ส่วนบริการดังกล่าวจะเปิดให้บริการเฉพาะตามช่วงเวลาที่เหมาะสม และไม่คิดค่าบริการ ยกเว้น Beauty salon ที่หากเปิดบริการแล้วจะคิดค่าบริการที่ค่อนข้างแพงมาก อย่างไรก็ดี บริการเสริมความงามใน Beauty salon นี้ถือเป็นบริการฟุ่มเฟือย จึงมักไม่ค่อยเปิดบริการระหว่างโครงการ เยาวชนจึงควรให้ความสนใจกับกิจกรรมในโครงการที่มีกำหนดการค่อนข้างแน่น มากกว่าที่จะเน้นประเด็นความสวยงามมากจนเกินไป
 

กลับไปบทความหน้าแรก

-สงวนลิขสิทธิ์-