Proud to be Ex-Pys

Ex-Pys Article : 100 Questions you want to know more about SSEAYP

100 คำถามที่คุณอยากรู้เกี่ยวกับโครงการเรือเยาวชนเอเชียอาคเนย์ 
โดย กมลธรรม  วาสบุญมา (SSEAYP 1991)
อดีตอุปนายกสมาคมเรือเยาวชนเอเชียอาคเนย์แห่งประเทศไทย(ฝ่ายบริหาร)

คำถามที่

1-20 | 21-40 | 41-52 | 53-65 | 66-76 | 77-83 | 84-88 |  89-100

-สงวนลิขสิทธิ์- 

     Question 1          โครงการเรือเยาวชนเอเชียอาคเนย์คืออะไร
 
โครงการเรือเยาวชนเอเซียอาคเนย์(The Ship for Southeast Asian Youth program - SSEAYP) เป็นโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลของประเทศญี่ปุ่น และกลุ่มประเทศอาเซียน (ASEAN countries)  โครงการถูกเริ่มต้นขึ้นในปี ค.ศ.1974 ซึ่งขณะนั้นกลุ่มประเทศอาเซียนมีเพียง 5 ประเทศคือ อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ และไทย โดยมีประเทศญี่ปุ่นเป็นเจ้าภาพหลัก และแต่ละประเทศที่ร่วมโครงการจะรับผิดชอบกิจกรรมในส่วนของประเทศตนเอง

ในเวลาต่อมาได้มีประเทศในกลุ่มอาเซียนเพิ่มขึ้น ทำให้โครงการเรือเยาวชนเอเชียอาคเนย์มีประเทศสมาชิกเพิ่มขึ้นด้วยตามลำดับ กล่าวคือ
ค.ศ. 1984 ประเทศบรูไน ดารุสซาลาม
ค.ศ.1995 ประเทศเวียดนาม
ค.ศ.1997 ประเทศกัมพูชา ลาว และพม่า
ในปัจจุบันจึงมีประเทศที่เข้าร่วมโครงการเรือเยาวชนเอเซียอาคเนย์รวมทั้งสิ้น 11 ประเทศ ได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ ไทย บรูไน เวียดนาม กัมพูชา ลาว พม่า และประเทศญี่ปุ่น

ประเทศสมาชิกจะส่งเยาวชน (Participating youth) และ National Leader อีก 1 คน  ร่วมเดินทางไปกับเรือเดินสมุทรลำใหญ่ชื่อ Nippon Maru เพื่อทำกิจกรรมร่วมกันทั้งบนบกของแต่ละประเทศและบนเรือ  โดยจุดเริ่มต้นของโครงการจะเปลี่ยนหมุนเวียนกันไปในแต่ละปี  ใช้ระยะเวลาดำเนินโครงการนานประมาณ 50 วัน ในช่วงเดือนกันยายน-ตุลาคมของทุกปี

โครงการมีชื่อเป็นภาษาอังกฤษคือ The Ship for Southeast Asian Youth Program หรือเรียกโดยย่อว่า SSEAYP (ออกเสียงว่า “เซียพ”) ได้ดำเนินโครงการอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี ค.ศ.1974 จนถึงปัจจุบัน (พ.ศ.2546 หรือ ค.ศ.2003) รวมทั้งสิ้น 30 รุ่น มีเยาวชนไทยผ่านการเข้าร่วมโครงการนี้นับพันคนจากทั่วประเทศ
 

   Question 2      วัตถุประสงค์และกิจกรรมสำคัญของโครงการมีอะไรบ้าง 

วัตถุประสงค์ของโครงการ คือ
1.ส่งเสริมและสนับสนุนมิตรภาพและความเข้าใจอันดีระหว่างประเทศญี่ปุ่นและกลุ่มประเทศอาเซียน
2.เพื่อแลกเปลี่ยนแนวคิดที่หลากหลายทั้งในด้านสังคม เศรษฐกิจ การเมือง วัฒนธรรม ฯลฯ รวมไปถึงพิจารณาแนวทางการแก้ไขปัญหาในระดับเยาวชนร่วมกัน
3.ส่งเสริมและสนับสนุนประเพณีและวัฒนธรรมอันดีของแต่ละประเทศ
4.ฝึกฝนเยาวชนให้สามารถอยู่ร่วมกันและสร้างสรรค์ประโยชน์ที่ดีงามร่วมกัน

โครงการเรือเยาวชนเอเชียอาคเนย์ มีรูปแบบกิจกรรมสำคัญที่หลากหลาย เช่น การ Discussion ในประเด็นที่เป็นประโยชน์ , Club activities ที่เชิญชวนเพื่อนชาวต่างชาติให้มาทำกิจกรรมตามวัฒนธรรมของตนเอง , Exhibition การจัดนิทรรศการ , Sport & Recreation กิจกรรมกีฬาและนันทนาการ , Courtesy call เข้าเยี่ยมคารวะบุคคลสำคัญของประเทศ , Institutional visit  เยี่ยมชมสถานที่สำคัญ , Study tour ทัศนศึกษา และ Homestay การพักอาศัยเพื่อศึกษาวัฒนธรรมกับครอบครัวของทุกประเทศ

เนื่องจากในปี ค.ศ.2003 นี้ เป็นปีที่โครงการได้ดำเนินมาครบรอบ 30 ปี จึงถือเป็นโอกาสสำคัญที่กลุ่มอดีตเยาวชนผู้เข้าร่วมโครงการ จะได้จัดกิจกรรมพิเศษเพื่อเป็นการเฉลิมฉลองโอกาสอันน่ายินดีนี้  สำหรับในประเทศญี่ปุ่นจะมีกิจกรรมเฉลิมฉลอง เรียกว่า The Commemorate of the 30th SSEAYP Anniversary  จัดขึ้นที่โรงแรมนิวโอตานิ กรุงโตเกียว

หน่วยงานราชการของประเทศไทยที่มีหน้าที่รับผิดชอบโครงการเรือเยาวชนเอเชียอาคเนย์ในปัจจุบันคือ สำนักงานส่งเสริมและพิทักษ์เด็ก เยาวชน คนพิการ ผู้ด้อยโอกาส และผู้สูงอายุ (Bureau of Children ,Youth , Person with disability , Vulnerable group and Older age - BPP) หรือเรียกชื่อย่อว่า “ส.ท.” ตั้งอยู่ที่ 618/1 ถนนนิคมมักกะสัน เขตราชเทวี กทม.10400 โทรศัพท์ 02-6516974

   Question 3      ประเทศที่เข้าร่วมโครงการเรือเยาวชนเอเชียอาคเนย์มีกี่ประเทศ อะไรบ้าง

ประเทศที่เข้าร่วมโครงการฯ ในปัจจุบันมีทั้งหมด 11 ประเทศ คือ

1.กลุ่มประเทศอาเซียน (Association of Southeast Asia Nations-ASEAN) จำนวน 10 ประเทศ ได้แก่

1.1 อินโดนีเซีย เข้าร่วมโครงการเมื่อ ค.ศ.1974
1.2 มาเลเซีย เข้าร่วมโครงการเมื่อ ค.ศ.1974
1.3 ฟิลิปปินส์  เข้าร่วมโครงการเมื่อ ค.ศ.1974
1.4 สิงคโปร์ เข้าร่วมโครงการเมื่อ ค.ศ.1974
1.5 ประเทศไทย เข้าร่วมโครงการเมื่อ ค.ศ.1974
1.6 บรูไน ดารุสซาลาม เข้าร่วมโครงการเมื่อ ค.ศ.1984
1.7 เวียดนาม เข้าร่วมโครงการเมื่อ ค.ศ.1995
1.8 ลาว เข้าร่วมโครงการเมื่อ ค.ศ.1997
1.9 กัมพูชา เข้าร่วมโครงการเมื่อ ค.ศ.1997
1.10 พม่า เข้าร่วมโครงการเมื่อ ค.ศ.1997
     
2.ประเทศญี่ปุ่น                                          เข้าร่วมโครงการเมื่อ ค.ศ.1974
       
    Question 4       เยาวชนผู้เข้าร่วมโครงการ ต้องมีคุณสมบัติอย่างไรบ้าง

สำหรับประเทศไทย หน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบในการคัดเลือกเยาวชนผู้เข้าร่วมโครงการ คือ สำนักงานส่งเสริมและพิทักษ์เด็ก เยาวชน คนพิการ ผู้ด้อยโอกาส และผู้สูงอายุ 

ุผู้มีสิทธิสมัครรับการคัดเลือกเข้าร่วมโครงการเรือเยาวชนเอเชียอาคเนย์ไว้ดังต่อไปนี้
1. อายุระหว่าง 18-30 ปี
2. สามารถเข้าร่วมกิจกรรมได้ตลอดโครงการ
3. มีความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษในการเข้าร่วมกิจกรรมทั้งบนเรือและในประเทศที่เข้าร่วมโครงการได้เป็นอย่างดี
4. มีสุขภาพดี ทั้งร่างกายและจิตใจ
5. สามารถใช้ชีวิตและร่วมทำกิจกรรมกับผู้อื่นได้เป็นอย่างดี
6. มีความเข้าใจและสนใจในประเทศที่เข้าร่วมโครงการ
 

   Question 5      รายละเอียดเกี่ยวกับเรือนิปปอนมารู
 
เรือนิปปอนมารู
เป็นเรือเดินสมุทรขนาดใหญ่ของบริษัท Misui O.S.K. Lines ประเทศญี่ปุ่น ใช้ในโครงการเรือเยาวชนเอเชียอาคเนย์มาแล้ว จำนวน 3 ลำ คือ ลำแรกใช้ในช่วงปี ค.ศ.1974 -1976 ลำที่ 2 ใช้ในช่วงปี ค.ศ.1977-1989 และลำที่ 3 ใช้ตั้งแต่ปี ค.ศ.1990-ปัจจุบัน

สำหรับเรือนิปปอนมารูลำปัจจุบัน จดทะเบียนที่โตเกียว ประเทศญี่ปุ่น มีระวางขับน้ำ 21,903 ตัน ขนาดเครื่องยนต์ 10,450 PS จำนวน 2 เครื่อง ความเร็วปกติ ในการให้บริการ 18 น๊อต ความยาวลำเรือ 166.6 เมตร กว้าง 24 เมตร และกินน้ำลึก 6.6 เมตร แยกเป็นชั้นให้บริการถึง 7 ชั้น (deck) มีสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน นอกจากนี้เรือนิปปอนมารูยังมีอุปกรณ์การเดินเรือและคอมพิวเตอร์นำร่อง ตลอดจนระบบการรักษาความปลอดภัยที่ทันสมัย สามารถนำคณะผู้เข้าร่วมโครงการ ทีมงานและลูกเรือเพื่อดำเนินกิจกรรมในโครงการได้อย่างปลอดภัย

 
   Question 6     ศัพท์ทางเทคนิค ที่มักใช้ในโครงการเรือเยาวชนเอเชียอาคเนย์(SSEAYP technical words)ที่ควรทราบ

ในการเข้าร่วมโครงการเรือเยาวชนเอเชียอาคเนย์นี้มีศัพท์เทคนิค และคำย่อที่ควรรู้สำหรับผู้ที่สนใจเข้าร่วมโครงการ และท่านผู้อ่านทั่วไปอยู่มากมายพอสมควร ซึ่งพอจะนำเสนอเป็นตัวอย่างได้ เช่น

Administrator ผู้บริหารโครงการ LPY  Laotian Participating Youth
Administrative staffs ทีมงานบริหารโครงการ NL National Leader
Attire เครื่องแต่งกายของเยาวชนผู้เข้าร่วมโครงการ Night Patrol การลาดตระเวนตรวจรอบเรือหลังเวลา 22.00 น.ของ 
AYL  Assistant Youth Leader Administrative staffs และเจ้าหน้าที่อาวุโส 
BPY Brunei Participating Youth เนื่องจากหลังเวลา 22.00 น.เป็นช่วงเวลา Light-out 
Cabin ห้องพักบนเรือ ที่เยาวชนทุกคนต้องกลับเข้าพักในเคบิน ห้ามออกมา
Captain กัปตันเรือนิปปอนมารู ภายนอกเด็ดขาด ยกเว้นแต่มีเหตุจำเป็นตามสมควร
COC Cruise Operation Committee OBSC On Board the Ship Conference
Contingent  กลุ่มเยาวชนจำแนกตามชาติ SG Solidarity group
CPY Cambodian Participating Youth TPY  Thai Participating Youth
Dolphin hall ห้องโถงใหญ่บนเรือนิปปอนมารู(ลำปัจจุบัน) ลักษณะ YL Youth Leader
เป็นห้อง ประชุม ห้องรวมพล หรือใช้จัดการแสดงฯลฯ
GL Group leader

   Question 7      เส้นทางการเดินเรือของโครงการฯ

เนื่องจากในปัจจุบันมีประเทศที่เข้าร่วมโครงการมากถึง 11 ประเทศ ในขณะที่ช่วงเวลาดำเนินโครงการมีจำนวนจำกัดเพียงประมาณ 50 วัน ดังนั้นเรือนิปปอนมารูจึงไม่สามารถแวะเข้าเทียบท่าได้ทุกประเทศในโครงการแต่ละปี นอกจากนี้ยังมีบางประเทศที่ไม่มีชายฝั่งทะเล เช่น ประเทศลาว เป็นต้น

จุดเริ่มต้นของโครงการจะผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนไปในแต่ละปีและหากประเทศใดที่ปีนั้นเรือไม่ได้เข้าจอดเทียบท่า โครงการก็จะส่งคณะผู้แทน ประกอบด้วยทีมงานบริหารและผู้แทนคณะเยาวชนจากทุกประเทศ(โดยปกติคือ Administrator , Captain , National Leader , Youth Leader และ Staffs บางส่วน) เดินทางไปเยือน โดยเดินทางด้วยเครื่องบิน และทำกิจกรรมในประเทศดังกล่าว

 

   Question 8      มีโครงการอื่นของญี่ปุ่นในลักษณะเดียวกันกับโครงการเรือเยาวชนเอเชียอาคเนย์บ้างหรือไม่

นอกจากโครงการเรือเยาวชนเอเชียอาคเนย์แล้ว รัฐบาลญี่ปุ่นยังมีโครงการในลักษณะเดียวกันนี้ แต่จัดขึ้นสำหรับกลุ่มเป้าหมายนอกเหนือไปจากกลุ่มประเทศอาเซียน กล่าวคือ โครงการเรือเยาวชนโลก หรือ The Ship for World Youth (SWY) ซึ่งจะมีรูปแบบกิจกรรมที่คล้ายคลึงกัน แต่กลุ่มเยาวชนที่ร่วมโครงการมาจากกลุ่มประเทศต่างๆทั่วโลก นอกเหนือไปจากกลุ่มประเทศอาเซียน ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันไป โดยมีเยาวชนจากประเทศญี่ปุ่นประเทศเจ้าภาพเป็นกลุ่มเป้าหมายประจำยืนพื้น เส้นทางเดินเรือของโครงการ SWY นี้ตามปกติจะไม่ผ่านประเทศไทย บางปีจะเริ่มต้นที่ประเทศสิงคโปร์ซึ่งเป็นจุดเสร็จสิ้นโครงการเรือเยาวชนเอเชียอาคเนย์(ในปีนั้น) แต่ในปี ค.ศ.2001 เป็นกรณีพิเศษที่โครงการ SWY ได้แวะเวียนมาที่ประเทศไทยเพื่อให้เยาวชนของโครงการได้มีโอกาสเรียนรู้และเข้าใจเกี่ยวกับประเทศไทยและวัฒนธรรมของไทย ถือเป็นครั้งแรกที่โครงการ SWY ได้เข้ามาทำกิจกรรมในประเทศไทยของเรา

นอกจากนี้ก็มีโครงการแลกเปลี่ยนอื่นๆที่น่าสนใจของประเทศญี่ปุ่นอีก เช่น The Friendship program for the 21st Century ฯลฯ ซึ่งเยาวชนผู้สนใจสามารถสอบถามข้อมูลได้ที่สำนักงาน ส.ท.
 

   Question 9      การสมัครเข้าร่วมโครงการเรือเยาวชนเอเชียอาคเนย

เป็นเรื่องปกติธรรมดาที่มีผู้สนใจเข้าร่วมโครงการเป็นจำนวนมาก ในขณะที่แต่ละปีประเทศไทยสามารถส่งเยาวชนเข้าร่วมโครงการได้เพียง 20 กว่าคนเท่านั้น จึงจำเป็นต้องมีการสอบคัดเลือกเพื่อสรรหาผู้ที่มีความเหมาะสมที่สุดเข้าร่วมโครงการ

หน่วยงานราชการที่รับผิดชอบโครงการเรือเยาวชนเอเชียอาคเนย์ คือ สำนักงานส่งเสริมและพิทักษ์สิทธิเด็ก เยาวชน ผู้ด้อยโอกาส คนพิการ และผู้สูงอายุ (หรือ ส.ท.) จะเป็นผู้รับผิดชอบในการคัดเลือกเยาวชนเข้าร่วมโครงการเรือเยาวชนเอเชียอาคเนย์ โดย สท.จะมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารโครงการเรือเยาวชนเอเชียอาคเนย์(ในแต่ละปี) คณะอนุกรรมการคัดเลือก คณะอนุกรรมการฝึกอบรม คณะกรรมการต้อนรับ คณะกรรมการครอบครัวเจ้าภาพ และคณะอนุกรรมการชุดอื่นๆที่เกี่ยวข้อง ฯลฯ

คณะอนุกรรมการคัดเลือกจะประกอบด้วยผู้แทนของหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการจัดกิจกรรมโครงการแลกเปลี่ยนระหว่างประเทศ เช่น กระทรวงศึกษาธิการ กรมอาเซียน ทบวงมหาวิทยาลัย ฯลฯ รวมทั้งผู้แทนจากสมาคมเรือเยาวชนเอเซียอาคเนย์แห่งประเทศไทย โดยจะมีหน้าที่และความรับผิดชอบในการคัดเลือกเยาวชนผู้เหมาะสมเข้าร่วมโครงการเรือเยาวชนเอเชียอาคเนย์ในแต่ละปี นับตั้งแต่การกำหนดคุณสมบัติ ประกาศรับสมัคร ตรวจสอบคุณสมบัติ จัดให้มีการสอบทั้งข้อเขียน และสอบสัมภาษณ์ จนกระทั่งประกาศผลสอบทั้งในส่วนของเยาวชนผู้เข้าร่วมโครงการตัวจริงและตัวสำรอง (ในกรณีที่เยาวชนผู้ได้รับคัดเลือกสละสิทธิ หรือไม่สามารถเข้าร่วมโครงการได้) หลังจากนั้นคณะอนุกรรมการฝึกอบรมก็จะเข้ามารับช่วงในการฝึกอบรมให้เยาวชนมีความพร้อมที่จะเข้าร่วมโครงการต่อไป

ดังนั้นผู้สนใจเข้าร่วมโครงการเรือเยาวชนเอเชียอาคเนย์ จะต้องติดตามตรวจสอบข้อมูลรายละเอียดการรับสมัครจาก ส.ท. ซึ่งจะปิดประกาศบนบอร์ดเพื่อรับสมัครเยาวชนเข้าร่วมโครงการในช่วงต้นปีของทุกปี สำหรับในต่างจังหวัด ส.ท.จะส่งหนังสือไปถึงทุกจังหวัดเพื่อปิดประกาศที่ศาลากลางจังหวัด และ/หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเยาวชน ดังนั้นเยาวชนที่กำลังศึกษาหรือทำงานอยู่ในต่างจังหวัด ก็สามารถตรวจสอบข้อมูลได้จากบอร์ดปิดประกาศที่ศาลากลางจังหวัด หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เช่นเดียวกัน

หน่วยงานหลักของทางราชการที่รับผิดชอบในการคัดเลือกเยาวชนเข้าร่วมโครงการเรือเยาวชนเอเชียอาคเนย์คือสำนักงานส่งเสริมและพิทักษ์สิทธิเด็ก เยาวชน ผู้ด้อยโอกาส คนพิการ และผู้สูงอายุ (หรือที่เรียกย่อๆว่า ส.ท.) ซึ่งจะเป็นผู้กำหนดหลักเกณฑ์ คุณสมบัติ จัดการสอบ และประกาศผล ตลอดจนการฝึกอบรมเยาวชนให้มีความพร้อมในการเข้าร่วมโครงการ 

นอกจากนี้ยังมีหน่วยงานอื่นๆที่เกี่ยวข้องในการออกข้อสอบข้อเขียนภาษาอังกฤษ และสอบสัมภาษณ์ ซึ่ง ส.ท.จะได้เชิญเข้ามาเป็นคณะอนุกรรมการชุดต่างๆอีกหลายหน่วยงาน เช่น สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงมหาดไทย ทบวงมหาวิทยาลัย กระทรวงศึกษาธิการ ฯลฯ ผลัดเปลี่ยนกันไป รวมไปถึงสมาคมเรือเยาวชนเอเซียอาคเนย์แห่งประเทศไทย ซึ่งจะส่งผู้แทนเข้าร่วมเป็นกรรมการสอบสัมภาษณ์เป็นประจำทุกปีมาโดยตลอด
 

   Question 10      เอกสารประกอบการสมัคร

ในการสมัครเข้าร่วมโครงการเรือเยาวชนเอเชียอาคเนย์นั้น ผู้สนใจจะต้องกรอกใบสมัครของ ส.ท.ให้ครบถ้วน โดยอาจขอรับในสมัครได้ที่ ส.ท. หรือหน่วยงานในต่างจังหวัดที่ปิดประกาศรับสมัคร โดยสามารถถ่ายสำเนาเอกสาร หรือพิมพ์ใหม่ทั้งฉบับได้ หรืออาจ download ได้จากเว็บไซต์ของ ส.ท. หรือเว็บไซต์ของสมาคมเรือเยาวชนเอเซียอาคเนย์แห่งประเทศไทย ในช่วงที่มีการประกาศรับสมัคร

รายละเอียดที่ผู้สมัครจะต้องกรอกในใบสมัครเข้าร่วมโครงการจะประกอบด้วย
1.รายละเอียดส่วนตัว ครอบครัว ที่อยู่ ที่ทำงาน หมายเลขโทรศัพท์ติดต่อ ความมุ่งหวังในการสมัครเข้าร่วมโครงการ ความสามารถพิเศษด้านต่างๆ
กิจกรรมเยาวชนที่เคยทำมาในอดีต และรายละเอียดอื่นๆที่จำเป็น
2.หนังสือยินยอมจากผู้ปกครอง กรณียังเป็นผู้เยาว์
3.หนังสือยินยอมจากสถานศึกษา หรือหน่วยงานที่เยาวชนสังกัด
4.หนังสือรับรองกิจกรรมเยาวชนจากหน่วยงานที่รับผิดชอบ (ถ้ามี)
5.ภาพถ่ายหน้าตรง ตามแบบที่ ส.ท.กำหนด
6.เอกสารอื่นๆ ที่คณะอนุกรรมการคัดเลือกเห็นสมควร

ผู้สนใจสมัครควรตรวจสอบรายละเอียดการสมัครและเอกสารประกอบการสมัครในแต่ละปีจากประกาศรับสมัครเยาวชนเข้าร่วมโครงการเรือเยาวชนเอเชียอาคเนย์ของ ส.ท. หรือสอบถามได้จากสมาคมเรือเยาวชนเอเชียอาคเนย์แห่งประเทศไทย 

   Question 11      จะยื่นใบสมัครได้ที่ใด

ผู้สมัครในประเภทเยาวชนทั่วไปสามารถยื่นใบสมัครได้ด้วยตนเองได้ที่สำนักงาน ส.ท. เลขที่ 618/1 ถนนนิคมมักกะสัน เขตราชเทวี กทม. 10400 หรือส่งมาทางไปรษณีย์ภายในระยะเวลาที่กำหนดในประกาศรับสมัครของ ส.ท. โดยแนบภาพถ่ายและสำเนาเอกสารตามที่ ส.ท.กำหนดให้ครบถ้วนพร้อมรับรองสำเนาถูกต้องมาด้วย คณะอนุกรรมการคัดเลือกจะพิจารณาจากวันที่ซึ่งประทับบนตราไปรษณียากรเป็นสำคัญ

ในส่วนของเยาวชนที่หน่วยงานราชการเป็นผู้ส่งเข้ารับการคัดเลือก จะต้องผ่านกระบวนการคัดเลือกของหน่วยงานนั้นก่อน และหน่วยงานเป็นผู้ส่งใบสมัครมายัง ส.ท.โดยตรง

สำหรับในปัจจุบัน (พ.ศ.2546) นอกจากการส่งผู้แทนร่วมเป็นคณะอนุกรรมการคัดเลือกแล้ว สมาคมเรือเยาวชนเอเซียอาคเนย์แห่งประเทศไทยยังมิได้มีบทบาทในการรับสมัครเยาวชนเพื่อเข้าร่วมโครงการฯโดยตรง ดังนั้นเยาวชนทั่วไปจึงยังไม่สามารถสมัครเข้าร่วมโครงการโดยส่งใบสมัครมาที่สมาคมฯได้ จึงขอให้เยาวชนผู้สนใจระมัดระวังในส่วนนี้ด้วย
 

   Question 12      คุณสมบัติทั่วไปในการสมัครเข้าร่วมโครงการ

คุณสมบัติของผู้มีสิทธิสมัครเข้าร่วมโครงการเรือเยาวชนเอเชียอาคเนย์จะเป็นไปตามประกาศของคณะอนุกรรมการคัดเลือก หรือประกาศรับสมัครเยาวชนผู้เข้าร่วมโครงการของ ส.ท. อย่างไรก็ดีโดยทั่วไปแล้วเยาวชนผู้สนใจสมัครเข้าร่วมโครงการต้องมีคุณสมบัติดังต่อไปนี้

1.อายุระหว่าง 18-30 ปี ซึ่งเป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยเยาวชนของประเทศไทย
2.สามารถเข้าร่วมกิจกรรมได้ตลอดโครงการ หากหน่วยงานหรือสถานศึกษาของผู้สมัครไม่อนุญาตให้เข้าร่วมทั้งโครงการ (รวมทั้งในส่วนของการสมัคร สอบ ฝึกอบรม หรือเข้าร่วมโครงการทั้งหมด) ก็จะไม่สามารถสมัครเข้าร่วมโครงการนี้ได้
3.มีความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษในการเข้าร่วมกิจกรรมทั้งบนเรือและในประเทศที่เข้าร่วมโครงการได้เป็นอย่างดี เนื่องจากการเข้าร่วมโครงการแลกเปลี่ยนในลักษณะนี้ ภาษากลางที่ใช้คือภาษาอังกฤษ ซึ่งใช้ทั้งในการสื่อสารกับเยาวชนชาติอื่นและในกิจกรรมต่างๆตลอดโครงการ ดังนั้น หากเยาวชนผู้สมัครไม่สามารถใช้ภาษาอังกฤษได้ ย่อมขาดคุณสมบัติในการเข้าร่วมโครงการนี้
4. มีสุขภาพดี ทั้งร่างกายและจิตใจ เนื่องจากเป็นกิจกรรมที่ใช้ระยะเวลานานกว่า 50 วัน มีทั้งกิจกรรมบนบก ในเรือ และกิจกรรมกลางแจ้ง ต้องใช้ชีวิตร่วมกับผู้อื่นที่อาจไม่คุ้นเคยเป็นเวลานาน ตลอดจนต้องอยู่ร่วมกับผู้อื่นในลักษณะของการทำงานเป็นกลุ่ม ดังนั้นเยาวชนจึงต้องมีความพร้อมทั้งร่างกายและจิตใจ
5. สามารถใช้ชีวิตและร่วมทำกิจกรรมกับผู้อื่นได้เป็นอย่างดี
6. มีความเข้าใจและสนใจในประเทศที่เข้าร่วมโครงการ
7.ไม่เคยเข้าร่วมโครงการแลกเปลี่ยนของ ส.ท. (หรือ สยช.ในอดีต) มาก่อน หากเคยเข้าร่วมโครงการ จะต้องกลับมาแล้วไม่ต่ำกว่า 2 ปี

อย่างไรก็ดี เพื่อให้ทราบข้อมูลที่ถูกต้องและทันสมัย เยาวชนผู้สนใจควรตรวจสอบคุณสมบัติและเงื่อนไขการสมัครจากประกาศรับสมัครของ ส.ท.ในแต่ละปี หรือจากเว็บไซต์ของสมาคมเรือเยาวชนเอเซียอาคเนย์แห่งประเทศไทยด้วย
 

   Question 13     การสอบคัดเลือกเข้าร่วมโครงการ

เพื่อให้เกิดความยุติธรรมต่อเยาวชนผู้สนใจ การคัดเลือกเยาวชนเข้าร่วมโครงการเรือเยาวชนเอเชียอาคเนย์ จะใช้วิธีการสอบเพื่อคัดเลือกผู้เหมาะสมที่สุด โดยในส่วนของเยาวชนทั่วไป หลังจากผ่านขั้นตอนการรับสมัครและตรวจสอบคุณสมบัติแล้ว ส.ท. จะประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิสอบข้อเขียนเพื่อคัดเลือกเข้าร่วมโครงการฯ ณ บอร์ดประกาศของ ส.ท. เยาวชนผู้สนใจสามารถตรวจสอบรายชื่อได้โดยตรง

ส.ท.จะประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิสอบคัดเลือก วัน เวลา และสถานที่ในการสอบ เยาวชนผู้สมัครจะต้องตรวจสอบข้อมูลการสอบของตนเองให้ถูกต้องครบถ้วน มิฉะนั้นอาจเสียสิทธิในการสอบได้ การสอบคัดเลือกเข้าร่วมโครงการเรือเยาวชนเอเชียอาคเนย์จะมีทั้งภาคข้อเขียนภาษาอังกฤษ และภาคสัมภาษณ์เพื่อความเหมาะสม ในส่วนของเยาวชนทั่วไป และเยาวชนที่หน่วยงานเป็นผู้ส่ง ผู้ที่จะมีสิทธิได้รับการพิจารณาคัดเลือก จะต้องผ่านการสอบทั้งภาคข้อเขียนและภาคสัมภาษณ์เพื่อความเหมาะสมทั้งสิ้น

ในส่วนของเยาวชนต่างจังหวัด ในปัจจุบัน (พ.ศ.2546) ส.ท.ยังมอบให้จังหวัดเป็นผู้กลั่นกรองคัดเลือก จึงยังไม่มีการสอบข้อเขียนที่เป็นมาตรฐานเดียวกันเหมือนเช่นเยาวชนทั่วไป โดยผู้ที่ได้รับการคัดเลือกจากแต่ละจังหวัด จะต้องเข้ามาสอบสัมภาษณ์ที่ ส.ท.ตามวันเวลาที่กำหนด พร้อมกับเยาวชนทั่วไปที่ผ่านการพิจารณาจากการสอบข้อเขียนแล้ว
 

   Question 14      การสอบข้อเขียน

เนื่องจากภาษาอังกฤษเป็นคุณสมบัติสำคัญในการเข้าร่วมโครงการฯ ดังนั้นการสอบข้อเขียนเข้าร่วมโครงการเรือเยาวชนเอเชียอาคเนย์จึงเป็นการวัดความสามารถทางภาษาอังกฤษของผู้สมัคร ซึ่งโดยปกติแล้วข้อสอบจะประกอบด้วยภาค (part) ต่างๆดังต่อไปนี้

1.English Structure / Grammar
2.Check error / เติมคำในช่องว่าง
3.Comprehension
4.Translation Thai-English / English-Thai
5.เรียงความภาษาอังกฤษตามหัวข้อที่กำหนด ยาวประมาณ 2 หน้ากระดาษ

โดยจะมีหลายหน่วยงาน รับผิดชอบในการออกข้อสอบแต่ละภาค เพื่อให้เกิดความยุติธรรมแก่ทุกฝ่ายในการคัดเลือก

ในการสอบข้อเขียน เยาวชนควรเตรียมดินสอที่มีความเข้มมากๆและยางลบดินสอไปด้วย เพราะจะต้องใช้ฝนช่องในกระดาษคำตอบที่ตรวจและให้คะแนนด้วยคอมพิวเตอร์ ส่วนเรียงความให้ใช้ปากกาสีดำหรือน้ำเงินในการเขียน

ระยะเวลาในการสอบข้อเขียนจะนานประมาณ 3 ชั่วโมง เยาวชนควรรักษาสุขภาพในช่วงที่สอบให้ดีเพื่อให้มีสุขภาพสมบูรณ์ อันจะทำให้การคิดและตอบข้อสอบเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
 

   Question 15     การเตรียมตัวในการสอบสัมภาษณ์

เมื่อหน่วยงานที่ออกข้อสอบได้ตรวจกระดาษคำตอบของเยาวชนทุกคนหมดแล้ว ก็จะนำส่งผลคะแนนต่อคณะอนุกรรมการคัดเลือกเพื่อพิจารณาประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิสอบสัมภาษณ์ต่อไป เยาวชนสามารถตรวจสอบรายชื่อผู้มีสิทธิสอบสัมภาษณ์ได้จากประกาศของ ส.ท. หรือเว็บไซต์ของสมาคมเรือเยาวชนเอเซียอาคเนย์แห่งประเทศไทย

โดยปกติ ส.ท.จะกำหนดวันสอบสัมภาษณ์ไม่นานจากวันประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิสอบสัมภาษณ์มากนัก ซึ่งมักจะเป็นสัปดาห์ถัดไป เยาวชนจึงต้องเตรียมตัวให้พร้อมอยู่เสมอ การสอบสัมภาษณ์จะสอบทั้งภาษาอังกฤษและภาษาไทย เยาวชนจึงต้องเตรียมความพร้อมเกี่ยวกับภาษาอังกฤษในส่วนของ Speaking และ listening ให้มาก ควรเตรียมการแนะนำตนเอง การศึกษา หน้าที่การงาน ความมุ่งหวังในการเข้าร่วมโครงการ และอื่นๆที่เห็นว่าเหมาะสม นอกจากนี้สิ่งที่เยาวชนควรให้ความสนใจคือข่าวสารบ้านเมืองและความเป็นไปของโลกปัจจุบัน ประเด็นสำคัญที่เป็นที่สนใจ เพื่อให้มีข้อมูลในการตอบคำถามที่อาจมีขึ้นในส่วนที่เกี่ยวกับความรู้ทั่วไป หากเยาวชนเคยทำกิจกรรมเกี่ยวกับเยาวชนหรือโครงการแลกเปลี่ยนมาบ้างแล้วในอดีต ก็สามารถที่จะนำผลงานหรือหลักฐานที่แสดงว่าตนเองเคยมีประสบการณ์ดังกล่าวมาแสดงต่อคณะกรรมการสอบสัมภาษณ์ได้ เช่น วุฒิบัตร ประกาศนียบัตร ภาพถ่าย ผลงาน ฯลฯ นอกจากนี้ ในส่วนของการแสดงความสามารถพิเศษ หากเยาวชนประสงค์จะนำเสนอต่อคณะกรรมการสอบสัมภาษณ์ ก็อาจนำเอาอุปกรณ์ประกอบการแสดงความสามารถไปได้ เช่น เครื่องดนตรี อุปกรณ์ศิลปะประดิษฐ์ ฯลฯ แต่ควรมีขนาดที่ไม่ใหญ่เกินไป หรือก่อให้เกิดความยากลำบากมากเกินไป
 

   Question 16     สถานที่สอบสัมภาษณ

โดยปกติ ส.ท.จะกำหนดให้สอบสัมภาษณ์ที่ห้องประชุม ชั้น 3 ของสำนักงานส่งเสริมและพิทักษ์สิทธิเด็ก เยาวชน ผู้ด้อยโอกาส คนพิการ และผู้สูงอายุ ตั้งอยู่ที่ถนนนิคมมักกะสัน เขตราชเทวี กทม.10400

การสอบสัมภาษณ์จะใช้เวลาทั้งหมดนานประมาณ 2-3 วันขึ้นอยู่กับจำนวนเยาวชนที่ ส.ท.ประกาศให้มีสิทธิสอบสัมภาษณ์ โดยจะแบ่งออกเป็น 2 ห้องสอบ ได้แก่ กลุ่มเยาวชนทั่วไป (ที่มีการสอบข้อเขียนภาษาอังกฤษ) และกลุ่มเยาวชนที่ผ่านการคัดเลือกเบื้องต้นจากจังหวัด เพื่อให้เกิดมาตรฐานและความยุติธรรมแก่เยาวชนทั้ง 2 กลุ่มที่เข้ามาสอบสัมภาษณ์

การสอบสัมภาษณ์แต่ละวันจะเริ่มตั้งแต่ 09.00 น.จนกระทั่งถึงเวลาประมาณ 17.00 น. หรือจนกว่าจะหมดรายชื่อผู้เข้าสอบสัมภาษณ์ในวันนั้น เยาวชนผู้มีสิทธิสอบสัมภาษณ์แต่ละคนจะถูกกำหนดช่วงเวลาสอบสัมภาษณ์ไว้อย่างชัดเจน จึงไม่ควรเดินทางไปถึงสถานที่สอบเกินกว่าช่วงเวลาที่กำหนด มิฉะนั้นอาจเสียสิทธิในการเข้าสอบสัมภาษณ์ได้

โดยเฉลี่ยแล้ว จะใช้เวลาในการสอบสัมภาษณ์ประมาณ 10-15 นาทีสำหรับเยาวชนผู้เข้าสอบสัมภาษณ์แต่ละคน
 

   Question 17     กรรมการสอบสัมภาษณ์

 กรรมการสอบสัมภาษณ์เพื่อคัดเลือกเยาวชนเข้าร่วมโครงการเรือเยาวชนเอเชียอาคเนย์ จะได้รับการแต่งตั้งจาก ส.ท. โดยมาจากผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงศึกษาธิการ ทบวงมหาวิทยาลัย กระทรวงการต่างประเทศ ฯลฯ รวมทั้งผู้แทนจาก ส.ท. และผู้แทนสมาคมเรือเยาวชนเอเซียอาคเนย์แห่งประเทศไทย ซึ่งร่วมเป็นคณะกรรมการสอบสัมภาษณ์ในทั้ง 2 ห้อง โดยแต่ละห้องสอบจะมีกรรมการสอบสัมภาษณ์ประมาณ 5-6 คน
 

   Question 18      เกณฑ์การสอบสัมภาษณ์

ในการสอบสัมภาษณ์เพื่อคัดเลือกเยาวชนตัวแทนประเทศไทยเข้าร่วมโครงการเรือเยาวชนเอเชียอาคเนย์นั้น จะวางหลักเกณฑ์การให้คะแนนที่เป็นมาตรฐานเหมือนกันสำหรับผู้เข้าสอบทุกคน โดยจะเน้นที่การพูดและฟังภาษาอังกฤษ ซึ่งมีคะแนนเต็มมากถึง 25% เนื่องจากภาษาอังกฤษเป็นเงื่อนไขสำคัญในการเข้าร่วมโครงการเพราะเยาวชนจะต้องใช้ภาษาอังกฤษในการสื่อสารและทำกิจกรรมเป็นส่วนใหญ่ จะใช้ภาษาไทยก็เฉพาะกับเยาวชนไทยด้วยกันเท่านั้น นอกจากนั้นจะเป็นการพิจารณาในหัวข้อเกี่ยวกับความรู้รอบตัว บุคลิกภาพ เจตคติและความคาดหวังของเยาวชนในการเข้าร่วมโครงการ ประสบการณ์ในกิจกรรมเยาวชน และความสามารถพิเศษอีกอย่างละ 15%

เป็นที่น่าเสียดายว่า ในการสอบสัมภาษณ์เพื่อคัดเลือกเยาวชนเข้าร่วมโครงการเรือเยาวชนเอเชียอาคเนย์แต่ละปี เยาวชนมักจะกังวลและให้ความสำคัญกับการแสดงความสามารถพิเศษมากเกินไป จนทำให้ละเลยการเตรียมตัวในหัวข้ออื่นๆไป ทั้งๆที่การแสดงความสามารถพิเศษ เป็นการทดสอบการกล้าแสดงออกในทางที่ถูกที่ควร แต่มีคะแนนให้เพียง 15% จึงทำให้เสียคะแนนในหัวข้ออื่นไปอย่างน่าเสียดาย ดังนั้นในการสอบสัมภาษณ์ เยาวชนจึงควรเตรียมตัวโดยให้ความสำคัญกับหัวข้อที่สำคัญที่สุดก่อนและเฉลี่ยการให้ความสำคัญและเตรียมตัวในหัวข้ออื่นๆให้เท่าเทียมกัน ก็จะสามารถทำคะแนนได้ดีในการสอบสัมภาษณ์ต่อไป
 

   Question 19     ประกาศผลการสอบสัมภาษณ์ได้ที่ใด

ส.ท.จะประกาศผลการสอบสัมภาษณ์เพื่อคัดเลือกเยาวชนเข้าร่วมโครงการเรือเยาวชนเอเชียอาคเนย์ภายในไม่เกิน 1 สัปดาห์หลังจากเสร็จสิ้นการสอบสัมภาษณ์ โดยติดประกาศที่บอร์ดประชาสัมพันธ์ของ ส.ท. เยาวชนสามารถโทรศัพท์มาสอบถามที่ ส.ท.ได้ที่หมายเลข 02-6516974 ในเวลาราชการ 

การประกาศรายชื่อผู้ผ่านการสอบสัมภาษณ์นั้น ส.ท.จะประกาศทั้งผู้ที่ผ่านการคัดเลือกตัวจริง และผู้ผ่านการคัดเลือกสำรองจำนวนหนึ่ง โดยผู้ผ่านการคัดเลือกสำรองจะมีสิทธิเข้าร่วมอบรมทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติร่วมกับผู้ผ่านการสอบคัดเลือกตัวจริง หากมีกรณีที่ผู้ผ่านการคัดเลือกตัวจริงสละสิทธิเข้าร่วมโครงการหรือไม่สามารถเข้าร่วมโครงการได้ ส.ท.ก็จะเรียกผู้ผ่านการคัดเลือกสำรองที่ขึ้นบัญชีไว้ตามลำดับ ขึ้นเป็นเยาวชนผู้ร่วมโครงการในทันที
 

  Question 20    เมื่อผ่านการสอบสัมภาษณ์แล้ว ต้องทำอย่างไรต่อไป

เมื่อผ่านการคัดเลือกแล้ว เยาวชนจะต้องไปรายงานตัวกับ ส.ท.ตามวัน เวลา และสถานที่ ที่กำหนดในประกาศโดยเคร่งครัด หากในประกาศระบุว่าเยาวชนคนใดยังขาดส่งเอกสารหรือต้องดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งให้ครบถ้วนก่อน เยาวชนก็จะต้องจัดการส่งเอกสารหรือดำเนินการนั้นๆโดยด่วนที่สุด มิฉะนั้นอาจเสียสิทธิในการเข้าร่วมโครงการได้

หลังจากรายงานตัวแล้ว ส.ท.ก็จะจัดการปฐมนิเทศในเบื้องต้นแก่เยาวชนผู้เข้าร่วมโครงการทั้งตัวจริงและตัวสำรอง มีการประชุมกลุ่ม แนะนำตัวเอง สร้างความคุ้นเคยในกลุ่มเยาวชนด้วยกัน ดำเนินการด้านเอกสารต่างๆเช่น VISA เอกสารด้านสุขภาพ และเอกสารอื่นๆที่เกี่ยวข้อง ฯลฯ รายละเอียดต่างๆ จะเป็นไปตามที่ ส.ท.กำหนด

ในวันรายงานตัวและปฐมนิเทศดังกล่าว สมาคมเรือเยาวชนเอเซียอาคเนย์แห่งประเทศไทย จะส่งผู้แทนซึ่งเป็นกรรมการบริหารสมาคมฯ และบรรดาอดีตผู้ร่วมโครงการในปีก่อนๆ มาให้การต้อนรับอย่างอบอุ่น และแนะนำในสิ่งที่เป็นประโยชน์ในการร่วมโครงการต่อไป

-สงวนลิขสิทธิ์-