Shakespeare

.

จุลสารศิลปศาสตร์สำนึก

Liberal Thoughts

Volume 1, Number 6 * Cover Date: November, 2001



เสรีภาพทางวิชาการ

โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์ ภารโรงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

แอบคัดลอกจากหนังสือพิมพ์มติชน ฉบับวันที่ 12 ตุลาคม 2544



ผมได้ยินคำว่า ‘เสรีภาพทางวิชาการ’ ครั้งแรกเมื่อยังเป็นนักศึกษาอยู่ ยอมรับครับว่าขนลุกเลย เพราะซาบซึ้งประทับใจเป็นอย่างยิ่ง ก็ตอนนั้นเราไม่มีเสรีภาพอะไรสักอย่างเดียว รวมทั้งเสรีภาพทางการเมืองด้วย จึงดูเหมือนว่า ‘วิชาการ’ กำลังจะให้บารมีแก่การบุกเบิกเสรีภาพด้านอื่นๆ

แต่หลังจากนั้นมาจนบัดนี้ ผมก็ได้ยินการอ้าง ‘เสรีภาพทางวิชาการ’ กันในหมู่อาจารย์มหาวิทยาลัยบ่อยมาก ยิ่งได้ยินก็ยิ่งรู้สึกเอียน จนหลังๆ มานี้ขึ้นมาจุกคอหอยทีเดียว จะอ้วกน่ะครับ เพราะความหมายของมันถูกทำให้ตื้นเขินเพียงเพื่อพิทักษ์ปกป้องผลประโยชน์ส่วนตัวของคนที่เรียกตัวเองว่านักวิชาการเท่านั้น

แม้แต่อ้างว่าไม่ส่งคะแนนสอบของนักศึกษาตามกำหนดว่าเป็น ‘เสรีภาพทางวิชาการ’ ผมยังเคยได้ยินมาแล้วเลย

อันที่จริง ‘เสรีภาพทางวิชาการ’ มีความหมายว่า การไต่สวนศึกษาค้นคว้าทางวิชาการ (ไม่ว่าจะทำโดยคนที่ประกาศตัวเป็นนักวิชาการหรือไม่) ย่อมมีอิสระเสรีที่จะทำได้โดยไม่ถูกขัดขวาง ขยายความให้ชัดขึ้นไปอีกก็คือประเด็นหรือคำถามที่อยากจะไต่สวนศึกษานั้นเป็นประเด็นอะไรก็ได้

จะใช้วิธีในการศึกษาอย่างไรก็ได้ แต่แน่นอนว่าต้องไม่ผิดศีลธรรมและละเมิดสิทธิเสรีภาพของคนอื่น และเพื่อประกันว่าเสรีภาพนี้จะถูกใช้ไปในทางที่สังคมอาจตรวจสอบได้ ผลของ การศึกษาทางวิชาการจึงต้องเป็นสมบัติสาธารณะคือไม่ปิดบัง อำพราง พร้อมจะเปิดเผยเพื่อการวิพากษ์วิจารณ์ตรวจสอบของ วงวิชาการและสังคมในวงกว้างเสมอ

หลักการนี้ถือกำเนิดในวงวิชาการฝรั่งตั้งแต่ปลายสมัยกลาง เพื่อเอาไว้ต่อต้านการบังคับควบคุมของศาสนจักรและอาณาจักรในสมัยนั้น เราควรยอมรับว่านี่เป็นหลักการสากล สำหรับวงวิชาการทั้งโลกหรือไม่ คงเถียงกันได้แต่ในเมืองไทยมีประเด็นปัญหาที่นักวิชาการไม่กล้าถามอยู่ไม่น้อย ก็รู้ๆ กันอยู่ว่าเรื่องอะไรบ้าง ฉะนั้นเมื่อใครท่องมนตร์ ‘เสรีภาพทางวิชาการ’ ก็ควรนึกถามตัวเองด้วยว่า ‘มึงเอาจริงแน่หรือ’ ไว้ด้วย อย่างน้อยก็เป็นความซื่อสัตย์ต่อตนเองน่ะครับ

‘เสรีภาพทางวิชาการ’ ที่สร้างความรู้ปิดลับ เป็นเสรีภาพที่ขาดความรับผิดชอบ เอาแต่ได้ฝ่ายเดียว ผมไม่เห็นนักวิชาการหรือสถาบันของนักวิชาการเดือดร้อนเรื่องนี้เท่าไร เช่น รายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการขนาดใหญ่ทั้งหลายนั้น กฎหมายวางกลไกให้นายทุนเป็นฝ่ายจ้างนักวิชาการเสนอขึ้นมาให้รัฐพิจารณา ฉะนั้นรายงานผลกระทบจึงถูกบริษัทต่างๆ มองเหมือนงานศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ กลายเป็นความลับทางธุรกิจที่ต้องปิดตาย และหลีกเลี่ยงการตรวจสอบของสังคม เพราะรู้ว่ารัฐนั้นไม่มีกึ๋นจะตรวจสอบได้อยู่แล้ว

นักวิชาการที่พากันไปหาสตางค์เป็นหลายๆ ล้านจากการรับจ้างทำรายงานผลกระทบ แก่โครงการต่างๆ มักอ้างเสมอว่าทำงานอย่างเป็นกลางแต่ประหลาดไหมที่รายงานผลกระทบ แต่ละโครงการจะประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมของโครงการไว้ในลักษณะที่เอื้อให้ทำโครงการได้เสมอ

ผมไม่ได้ยินใครรับเงินนายทุนไปหลายสิบล้านบาท แล้วกลับมาบอกนายจ้างว่า อย่าทำเลย มันจะเกิดความเสียหายใหญ่

แม้นักวิชาการจะฟุดฟิดฟอไฟศัพท์แสงทางวิชาการ หรือแม้แต่เขียนรายงานด้วยภาษาอังกฤษ (เพราะเจ้าของโครงการจริงคือองค์กรเงินกู้ระหว่างประเทศของญี่ปุ่นหรือฝรั่ง หรือโลก) แต่นักวิชาการก็ไม่รู้สึกเดือดร้อนที่รายงานนั้นจะถูกปิดลับ ไม่ยอมให้ใครตรวจสอบนอกจากหน่วยงานของรัฐซึ่งก็รู้ๆ กันอยู่ว่าไม่มีกึ๋นจะตรวจ ยิ่งกว่าไม่เดือดร้อน ยังลงนามในสัญญาจ้างที่บอกอย่างตรงไปตรงมาว่า งานศึกษาของเขาจะต้องไม่ถูกเปิดเผย จนกว่าจะได้รับการยินยอมจากนายจ้าง

ทำงานทางวิชาการด้วยคำถามของนายจ้าง โดยมีธงคำตอบของนายจ้างปักข้างๆ ถุงเงินหลายสิบหลายร้อยล้าน พร้อมทั้งคำสัญญาว่าได้ผลงานออกมาแล้วก็ไม่ใช่สมบัติสาธารณะ แล้วยังเรียกงานเหล่านี้ว่างาน ‘วิชาการ’ อยู่ได้หน้าตาเฉย เพื่อขอบารมี ‘เสรีภาพทางวิชาการ’ มาคุ้มครอง

นี่เป็นกางเกงในตัวแรกที่โปะอยู่บนหัวนักวิชาการ

งานที่ติดป้ายในตลาดว่า ‘วิชาการ’ เหล่านี้ ได้เคยถูกสังคมโดยเฉพาะชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบฉีกออกเป็นชิ้นๆ มาแล้ว อย่างที่ชาวบ้านกรูดติดป้ายเอาไว้ว่า ‘ปะการังก้อนเบ้อเริ่ม มึงยังมองไม่เห็น แล้วจะเห็นฝุ่นละอองของถ่านหินได้อย่างไร’

‘เสรีภาพทางวิชาการ’ ในเมืองไทยจึงถูกนักวิชาการและสถาบันของเขาเองนั่นแหละคุกคามมากที่สุด

เพราะเป็นเสรีภาพที่ไม่รู้จักความรับผิดชอบอะไรเลย ผมไม่เคยเห็นสถาบันวิชาการที่ไหนออกมาตำหนิหรือวิพากษ์นักวิชาการของตัวที่ทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมอย่างชุ่ยๆ หรือออกมาต่อสู้ร่วมกับชาวบ้านในการขอสิทธิตรวจสอบงาน ‘วิชาการ’ เหล่านี้สักที ลุกขึ้นมาสู้แต่ละที ก็จะเอาแต่ ‘เสรีภาพทางวิชาการ’ ที่บิดเบี้ยวฉ้อฉล คือเอาแต่ได้ฝ่ายเดียวโดยไม่กล้าถูกตรวจสอบโดยสังคม

คนเล่นปาหี่เหล่านี้ไม่รู้สึกอายบ้างหรือครับที่ออกมาแสดงในชุดกางเกงในโปะหัวอย่างนี้

สถานการณ์ ‘เสรีภาพทางวิชาการ’ เช่นนี้น่าเป็นห่วงมากขึ้น เมื่อมหาวิทยาลัยกำลังถูกขายทอดตลาดอยู่ในเวลานี้นักวิชาการไทยมีประสบการณ์และความสามารถในการรักษา เสรีภาพของตัวจากรัฐ แต่นักวิชาการไทยมักอ่อนปวกเปียกเมื่อต้องเผชิญกับเงิน ในตลาดนั้นรัฐเล็กแต่เงินใหญ่ นักวิชาการจะสามารถรักษา ‘เสรีภาพทางวิชาการ’ให้เป็นคุณประโยชน์ ต่อสังคมได้ละหรือ?

ใครจะเป็นคนตั้งคำถามทางวิชาการ? ไม่ว่าจะเป็นการศึกษาของบุคคล, ขององค์กรหรือรวมทั้งการจัดการเรียนการสอน ล้วนมาจาก ‘คำถาม’ อันใดอันหนึ่งทั้งสิ้น ในตลาด ใครเป็นคนตั้งคำถาม ตัวนักวิชาการเองหรือผู้ซื้อ

ผมคิดว่ามีสัญญาณที่พอจะมองเห็นได้แล้วว่า มหาวิทยาลัยต่างๆ รวมทั้ง ‘นักวิชาการ’ เอง มอบอำนาจการตั้งคำถามให้แก่ผู้ซื้อ จนเกือบจะหมดตัวเสียแล้ว เท่าที่ผม ได้ยินมา บางมหาวิทยาลัยถือเป็นบรรทัดฐานว่า การเสนอเปิดหลักสูตรใหม่ใดๆ ต้องสามารถพิสูจน์ได้ด้วยว่า หลักสูตรนั้นจะมีความ ‘คุ้มทุน’ และวิธีคำนวณหาความ ‘คุ้มทุน’ ก็เป็นวิธีง่ายๆ คือใช้ระบบต้นทุน-กำไรที่เป็นตัวเงิน เหมือนอย่างที่แม่ค้าขายปลาคำนวณนั่นเอง

เมื่อผู้ซื้อตั้งคำถามแก่นักวิชาการให้ศึกษาความเป็นไปได้ของการทำฟาร์มทะเลหรือปศุสัตว์ทางทะเล

คำถามไม่อาจจำกัดอยู่แต่เพียงความเป็นไปได้ทางธุรกิจ และทางธรรมชาติเท่านั้น เพราะโครงการเช่นนี้กระทบต่อคนอื่นๆ กว้างขวางมาก ยังเหลืออำนาจต่อรองอะไรแก่นักวิชาการอีกบ้างที่จะปรับคำถามให้กว้างขึ้น เช่น จำเป็นต้องศึกษาเปรียบเทียบ กับทะเลธรรมชาติว่าผลิตอะไรขึ้นมาอีกบ้าง ให้แก่ความยั่งยืนของทะเลเท่าไร ให้แก่เศรษฐกิจชุมชน,วัฒนธรรมชุมชนอีกเท่าไร เปิดฟาร์มแล้วใครเป็นเจ้าของฟาร์ม ใครเป็นแค่ลูกจ้าง และชีวิตลูกจ้างกับชีวิตประมงอิสระ อย่างไหนดีกว่ากัน ฯลฯ เป็นต้น

แต่นักวิชาการคนเดียวเผชิญกับถุงเงินหลายสิบล้านเบื้องหน้า ถึงเขาไม่ยอมให้เช่า ‘บารมี’ ของเขาแก่โครงการนี้ ก็ยังมีนักวิชาการอื่นที่พร้อมจะให้เช่า ‘บารมี’ อีกมาก เขายัง มีอำนาจต่อรองอะไรเหลืออยู่และมหาวิทยาลัยหรือสถาบันทางวิชาการจะร่วมมือกันในการเพิ่มอำนาจต่อรองแก่เขาได้มากน้อยแค่ไหน

หรือสถาบัน และด๊อกตีน(พหูพจน์ของด๊อกเตอร์ครับ) เหล่านี้ไม่ถนัดจะทำอย่างนั้นเท่ากับรวมหัวกันทะเลาะกับชาวบ้านตัวเล็กๆ ผมไม่เคยได้ยินว่ามีมหาวิทยาลัยอะไรที่กำลังจะเข้าสู่ตลาดเวลานี้ เตรียมการสำหรับการรักษา ‘เสรีภาพทางวิชาการ’ ซึ่งกำลังจะถูกคุกคามโดยตลาดเอง ร้ายไปกว่านั้นผมมีความประทับใจว่า มหาวิทยาลัยลืมภารกิจของตนที่มีต่อสังคมไปโดยสิ้นเชิงแล้วด้วยซ้ำ ฉะนั้น ‘เสรีภาพทางวิชาการ’ จึงไม่ได้มีนัยะอะไรถึงผลประโยชน์โดยรวมของสังคมเลย กลายเป็นเสรีภาพที่จะหาคำตอบให้แก่คำถามของนายทุนเท่านั้น

นับเป็นตลกที่เจ็บแสบมากเมื่อนักวิชาการซึ่งรับจ้างทำ ของให้นายทุนมาตลอดเรียกร้องหา ‘เสรีภาพทางวิชาการ’ ผม ขอจบบทความนี้ด้วยการยกเอาคำกล่าวของ ดร.จินตนา แก้วขาว (วุฒิป.4) ผู้นำคนหนึ่งของบ้านหินกรูดขึ้นมาปิดท้าย

‘เราไม่เคยต่อต้านเสรีภาพทางวิชาการ แต่เราอยากเห็น เสรีภาพที่ไม่อยู่บนพื้นฐานของอำนาจเงิน และต้องคำนึงถึง ผลประโยชน์ของชาวบ้าน’


Home