ประวัติ
พระเทพโมลี(กลิ่น)

 
 

         พระเทพโมลี (กลิ่น) ท่านเกิดเมื่อประมาณปีพระพุทธศักราช ๒๒๘๓ รัชสมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ มีเชื้อสายรามัญ ท่านบรรพชา-อุปสมบท วัดตองปุ อยุธยา สมัยพระเจ้าเอกทัศน์

        เมื่อกรุงศรีอยุธยาล่มสลาย ท่านพระมหาศรี พระขุน พระเทพโมลี ครั้งเป็นพระกลิ่น หลบภัยข้าศึก ล่องลงมาทางใต้ ถึงสมัยรัตนโกสินทร์ ท่านและคณะกลับมาอยู่วัดกลางนา(วัดตองปุ หรือวัดชนะสงคราม)กรุงเทพฯ

        ต่อมาทราบข่าวพระอาจารย์สุก มาสถิตวัดพลับ เป็นที่พระญาณสังวรเถร ทั้งสามท่านจึงตามมาอยู่วัดพลับ เรียนขอเล่าเรียน พระกัมมัฏฐานมัชฌิมา แบลลำดับด้วย

        ประมาณปีพระพุทธศักราช ๒๓๒๘ พระมหากลิ่น และคณะ ทราบว่าพระอาจารย์สุก มาสถิตวัดพลับ ทรงเชี่ยวชาญวิปัสสนากัมมัฏฐาน ท่าน และคณะซึ่งเป็นเชื้อสายรามัญ จึงได้เข้าไปกราบนมัสการขออนุญาต พระมหาสุเมธาจารย์เป็นเจ้าอาวาส วัดกลางนา(วัดตองปุ หรือวัดชนะสงคราม) ซึ่งเป็นพระสงฆ์นิกายรามัญ เพื่อมาศึกษาพระกัมมัฏฐาน ในสำนักพระญาณสังวรเถร(สุก)

         เมื่อได้รับอนุญาติแล้ว ท่านได้ร่วมเดินทางมากับ คณะของท่านพระอาจารย์มหาศรี พระขุน มาขึ้นพระกัมมัฏฐานที่วัดพลับ กลับไปนั่งบำเพ็ญพระกัมมัฏฐาน ที่วัดตองปุ(ชนะสงคราม) มาแจ้งพระกัมมัฏฐานที่วัดพลับ ไป-กลับดังนี้ คณะของท่านเห็นว่าไม่สะดวก จึงขออนุญาต กราบลาเจ้าอาวาส วัดตองปุ(ชนะสงคราม) ขอมาอยู่วัดพลับเลย

        ชั้นแรกนั้น พระญาณสังวรเถร(สุก) ทรงเห็นว่า พระมหากลิ่นยังมีจิตใจสับสนวุ่นวายอยู่ระหว่าง การเจริญสมาธิ กับการศึกษาพระบาลีมูลกัจจายน์ จิตใจของท่านจึงสับสนลังเลอยู่ สมาธิไม่อาจตั้งได้

         พระญาณสังวรเถร (สุก) พระองค์ท่านทรงทราบด้วย เจโตปริยะญาณ คือการกำหนดใจผู้อื่นได้ จึงยังไม่ให้ท่านเจริญภาวนาพระกัมมัฏฐาน แต่ให้ท่านกลับไปตั้งสติเขียนอักขระขอมพระบาลีมูลกัจจายน์มาก่อน เมื่อจิตสงบเป็นสมาธิดีแล้ว จึงจะให้มาศึกษาทางเจริญภาวนาพระกัมมัฏฐานมัชฌิมา แบบลำดับกับพระองค์ท่าน

        กาลต่อมาเมื่อใจของท่านหายสับสนวุ่นวาย มีจิตใจมั่นคงสงบดีแล้ว ท่านก็ได้ขึ้นพระกัมมัฏฐาน กับพระญาณสังวรเถร(สุก) ขึ้นแล้วพระญาณสังวรเถร ให้ท่านไปแจ้งสอบอารมณ์พระกัมมัฏฐาน กับพระพรหมมุนี(ชิต) หรือท่านเจ้าคุณหอไตรบ้าง กับพระครูวินัยธรรมกันบ้าง ท่านศึกษาด้านภาวนาอยู่ประมาณสองปีเศษ ท่านก็จบสมถะวิปัสสนากัมมัฏฐานมัชฌิมา แบบลำดับ ท่านได้เที่ยวออกสัญจรจาริกรุกขมูลครั้งแรก ไปกับหมู่คณะสงฆ์วัดราชสิทธาราม ต่อมาท่านก็ธุดง แต่องค์เดียว

         ต่อมาท่านได้ ไม้เถาอริยะ มาทำไม้เท้าเบิกไพร แผ่เมตตา แหวกทางเปิดทาง ป้องกันสัตว์ร้ายต่างๆ เวลาออกสัญจรจาริกธุดงค์ ไม้เท้าเถาอริยะนี้ กาลต่อมาได้ตกทอดมาถึง พระสังวรานุวงศ์เถร(เอี่ยม) เจ้าอาวาสวัดราชสิทธาราม ปัจจุบันไม้เท้าเถาอริยะของพระเทพโมลี(กลิ่น) เก็บรักษาอยู่ที่พิพิธภัณฑ์พระกัมมัฏฐาน คณะ ๕ วัดราชสิทธาราม

         สมัยต่อมาท่านได้นำเอาประสพการณ์ การออกสัญจรจาริกธุดงค์ การเดินป่า มาแต่งวรรณกรรม มหาเวศสันดรชาดก กัณฑ์มหาพน จนมีชื่อเสียงโด่งดัง

          ด้านการศึกษา พระปริยัติธรรม พระบาลีมูลกัจจายน์นั้น เบื้องต้นท่านได้ศึกษา กับพระมหาศรี วัดราชสิทธาราม(พลับ) ต่อมาพระมหาศรี ย้ายไปเป็นเจ้าอาวาสวัดโมลีโลกยารามแล้ว ท่านก็ได้ศึกษาพระบาลีมูลกัจจายน์ กับพระสมุห์ฮั่น เปรียญ (พระวินัยรักขิต) วัดราชสิทธาราม(พลับ) จนจบพระบาลีมูลกัจจายน์เบื้องต้น ที่วัดราชสิทธาราม(พลับ)ต่อมาพระสมุห์ฮั่น พระอาจารย์ของท่าน ได้ส่งท่านไปศึกษาพระบาลีมูลกัจจายน์ชั้นสูงเพิ่มเติมต่อที่ วัดสลัก หรือวัดมหาธาตุ กับพระพนรัต (ศุก) ต่อมาท่านได้เป็นเปรียญเอก ในรัชกาลที่ ๑

          ปีพระพุทธศักราช ๒๓๕๐ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงบำเพ็ญพระราชกุศล เทศมหาชาติ ทรงให้พระเจ้าหลานเธอกรมขุนสุนทรภูเบศร์ รับกัณฑ์มหาพน โปรดเกล้าฯให้ มหากลิ่น เปรียญเอก วัดราชสิทธาราม สำแดง คัมภีร์เทศมหาพน ท่านรจนาเอง จารเอง และสำแดงเอง การแต่งนั้นท่านใช้พระคัมภีร์มหาเวศสันดรชาดก จากต้นฉบับภาษาบาลี ของพระวินัยรักขิต(ฮั่น) พระอาจารย์ของท่านมอบให้

         ปีต่อมาท่านได้รับ เทศกัณฑ์มหาพนอีก และท่านก็ได้ปรับปรุงแก้ไขเรื่อยมา ปัจจุบันต้นฉบับแก้ไขปรับปรุง คัมภีร์ใบลานเทศมหาพน ที่ท่านแต่งเอง จารเอง เก็บรักษาอยู่ที่พิพิธภัณฑ์พระกัมมัฏฐาน คณะ ๕ วัดราชสิทธาราม ท่านมีต้นฉบับกัณฑ์เทศมหาพนหลายผูกหลายฉบับ เนื่องจากมีการปรับปรุงแก้ไขบ่อยครั้ง

              ปีพระพุทธศักราช ๒๓๕๑ พระมหากลิ่นได้แต่ง คัมภีร์เวสสันดรชาดกขึ้น ๑๓ กัณฑ์ โดยเฉพาะกัณฑ์มหาพน ของพระเทพโมลี(กลิ่น) ต่อมามีชื่อเสียงมาก

           ในปีนั้นเอง ประมาณเดือน ๑๐ แรม ๑๓ ค่ำ ท่านได้คัดลอก คัมภีร์โยชนามูลกัจจายน์ ขึ้นอีก ๑๔ ผูกเขียนไว้ให้ พระภิกษุสามเณรได้ใช้ศึกษาเล่าเรียนกันที่วัดราชสิทธาราม(พลับ) ปัจจุบันพระคัมภีร์นี้อยู่ที่ พิพิธภัณฑ์พระกัมมัฏฐาน คณะ ๕ วัดราชสิทธาราม(พลับ)

             ปีพระพุทธศักราช ๒๓๕๘ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย โปรดเกล้าฯให้ประชุมนักปราชญ์ราชบัณฑิต แต่งมหาชาติคำหลวง ของพระบรมไตรโลกนาถ แห่งกรุงศรีอยุธยา ปรากฏว่าหลังจากเสียกรุงแล้วมหาชาติคำหลวงได้สูญหายไป ๖ กัณฑ์คือ หิมพานต์ ทานกัณฑ์ จุลพน มัธทรี สักบรรพ ฉกษัตริย์ ปรากฏว่า พระมหากลิ่น ท่านได้แต่งเทศมหาชาติ คำฉันท์ ทานกัณฑ์ ท่านแต่งเชิงพรรณาโวหาร ดีเยี่ยม จะหาผู้ใดแต่งดีกว่าท่านนั้นยากเต็มที เพราะท่านแต่งใช้ถ้อยคำ ศัพท์แสง เข้ากับภาษาครั้งกรุงศรีอยุธยา ได้อย่างเหมาะเจาะหน้าพิศวง ทั้งในเชิงกวีก็ไพเราะไม่น้อย กัณฑ์ ของท่านได้รับเลือก ตั้งแต่นั้นมา คนทั้งหลายก็นิยมนับถือว่าท่าน เป็นกวีสงฆ์ พระนักปราชญ์ องค์หนึ่งในต้นกรุงรัตนโกสินทร์

          สมเด็จพระมหาสมณะเจ้ากรมพระปรมานุชิตชิโนรส ซึ่งเป็นกวีเอกสงฆ์ อีกพระองค์หนึ่งของกรุงรัตนโกสินทร์ ทรงนิพนธ์มหาชาติไว้ถึง ๑๐ กัณฑ์ แต่ไม่ทรงแต่งอยู่ ๓ กัณฑ์คือ มัธทรี ชูชก มหาพน ส่วนไม่ทรงแต่งกัณฑ์มหาพนนั้น รับสั่งว่า ถึงจะแต่งก็สู่ของ พระเทพโมลี(กลิ่น) ไม่ได้ เพราะของพระเทพโมลี(กลิ่น) มีลักษณะดีพร้อม ทั้งเนื้อความ ทั้งคำ ทั้งเชิงกวี ความรู้ในด้านค้นคว้าเช่น อ้างราชสีห์มี ๔ จำพวก ชนิดไหนมีลักษณะอย่างไร กินอาหารอย่างไร อากัปกิริยา เป็นเช่นไร หรือต้นไม้ชนิดใด มีรส คุณวิเศษ อย่างไร อันเป็นประโยชน์ แก่ผู้ใช้สมุนไพร สำนวนพรรณาที่เรียกว่า แหล่ เขา สระ นา ไม้ สัตว์ ก็ไพเราะเพราะพริ้งทราบซึ้งยิ่งนัก จึงทำให้นึกเห็นภาพ เกิดความเป็นจริง เกิดขึ้นในใจ อีกทั้งสมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ ทรงนับถือ พระเทพโมลี(กลิ่น) ว่าเป็นพระอาจารย์องค์หนึ่ง ของพระองค์ท่านด้วย

            ปีพระพุทธศักราช ๒๓๕๙ วันพฤหัส เดือน ๙ แรม ๗ ค่ำ ปีชวด ในรัชกาลที่ ๒ พระมหากลิ่น ได้รับพระราชทานสมณะศักดิ์ เป็นพระราชาคณะฝ่ายคันถธุระที่ พระรัตนมุนี เมื่ออายุได้ ๖๙ ปี เป็นปีที่ตั้ง สมเด็จพระสังฆราช(มี)วัดราชบูรณะ

           ปีพระพุทธศักราช ๒๓๖๓ วันพฤหัส เดือนอ้าย ขึ้น ๙ ค่ำ ปีมะโรง ในสมัยรัชกาลที่ ๒ ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณะศักดิ์เป็นพระราชาคณะผู้ใหญ่ที่ พระเทพโมลี พระคณาจารย์เอก ฝ่ายคันถธุระ เมื่ออายุได้ ๗๓ ปี เมื่อคราวสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช ไก่เถื่อน มีราชทินนามปรากฏดังนี้

         ให้พระรัตนมุนี เป็นพระเทพโมลี ศรีปิฏกธรา มหาคณฤศร บวรสังฆาราม คามวาสี สถิต ณ วัดราชสิทธาวาส พระอารามหลวง รับพระราชทานนิจพัจ ๔ ตำลึง มีถานานุศักดิ์ ควรตั้งถานานุกรมได้ ๔ รูป มีพระครูปลัด ๑ พระครูสมุห์ ๑ พระครูใบฏีกา ๑ พระครูสังฆวิชิต ๑

                ครั้งตั้ง พระเทพโมลี(จี่) วัดประยูรวงศาวาส มีสร้อยราชทินนามว่า มหาคณฤศร ทรงเปลี่ยนสร้อยราชทินนามเป็น มหาธรรมกถึกคณฤศร

        ครั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีตำแหน่ง พระเทพโมฬี จัดเป็นตำแหน่งของพระสงฆ์ฝ่ายสมถะวิปัสสนา ครองวัดสมณโกฎ อยู่ในการปกครองบังคับบัญชาของ พระพุฒาจารย์ เจ้าคณะกลางฝ่ายอรัญวาสี สถิตวัดโบสถ์ราชเดชะ

           ในรัชกาลที่ ๓ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดปรานวิชากาพย์กลอนมาก ทั้งยังได้ทรงเลื่อมใสในพระเทพโมลี(กลิ่น) ถึงกับพระราชทานแท่นฝนหมึกขนาดใหญ่ให้กับท่าน ปัจจุบันแท่นฝนหมึกพระราชทาน เก็บรักษาอยู่ที่พิพิธภัณฑ์พระกัมมัฏฐาน คณะ ๕ วัดราชสิทธาราม(พลับ)

        เมื่อคราวปฏิสังขรณ์ วัดพระเชตุพนฯ โปรดเกล้าฯให้ช่างรวบรวมตำรับตำรา ของนักปราชญ์ราชบัณฑิต ทั้งนักปราชญ์ฝ่ายสงฆ์ ฝ่ายฆราวาส ทั้งที่สิ้นชีพตักษัยไปแล้ว และที่ยังมีชีวิตอยู่ และโปรดเกล้าฯให้ประชุมกันแต่ง โคลง ฉันท์ กาพย์กลอน จารึกใส่แผ่นศิลาประดิษฐานไว้ที่วัดพระเชตุพนฯ โดยในครั้งนั้นได้ทรง นำเอากวีนิพนธ์ ที่พระเทพโมลี(กลิ่น)แต่ง เช่น โครงฤาษีดัดตน โคลงบาทกุญชร โคลงกลบท และบรรดาวรรณจิตรที่ท่านแต่ง ล้วนไพเราะเพราะพริ้งเป็นอย่างยิ่ง จัดเป็นเอก ทั้งเชิงกระบวนกลอน กระบวนความ ทางราชการได้นำเอากวีนิพนธ์ของท่านไปจารึก หลังจากท่านได้มรณะภาพลงแล้ว

          ปีพระพุทธศักราช ๒๓๖๘ พระพรหมมุนี(ชิต) หรือท่านเจ้าคุณหอไตร ได้มรณะภาพลง พระญาณวิสุทธิ์เถร (เจ้า) ได้รักษาการเจ้าอาวาส เนื่องจากพระเทพโมลี(กลิ่น) ขณะนั้นยังอาพาธอยู่

           ปีพระพุทธศักราช ๒๓๖๘ ต่อปีพระพุทธศักราช. ๒๓๖๙ พระเทพโมลี(กลิ่น) หายจากโรคาพาธ ท่านได้รับโปรดเกล้าฯแต่งตั้งให้เป็นเจ้าอาวาสวัดราชสิทธาราม ท่านดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดราชสิทธารามเวลานั้น ท่านก็ชราทุพพลภาพมากแล้ว เดินไปมาข้างไหนก็ไม่ค่อยสะดวก พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่๓ จึงทรงพระราชทานแคร่คานหาม ให้เอาไว้ใช้ในเวลาเดินทางไปไหนมาไหน จะไปได้โดยสดวก โดยเฉพาะใช้ในการไปลงทำสังฆกรรม เช่น ลงพระปาฎิโมกข์ เป็นต้น

          ครั้งที่ท่านได้รับแต่งตั้งเลื่อนสมณะศักดิ์เป็นที่ พระเทพโมลี และเป็นเจ้าอาวาสแล้ว ก็มีบรรพชิต และพระบรมวงศานุวงศ์ ที่เลื่อมใสในเชิงกวีของท่าน มาสมัครเป็นลูกศิษย์ฝึกแต่งโคลงฉันท์ กาพย์กลอนกับท่าน และได้ช่วยกันทะนุบำรุงวัดราชสิทธาราม(พลับ) ให้เจริญรุ่งเรือง จนท่านเป็นที่รู้จักกว้างขวางในวงศ์ เจ้านาย และข้าราชการผู้ใหญ่ ผู้น้อย เป็นอย่างดี

การศึกษาสมัย พระเทพโมลี(กลิ่น) ครองวัดราชสิทธาราม

          การศึกษาด้านพระปริยัติธรรม พระบาลีมูลกัจจายน์ พระเทพโมลี(กลิ่น) เป็นพระอาจารย์ใหญ่ พระอาจารย์ผู้ช่วยคือ พระปิฏกโกศลเถร(แก้ว) ๑ พระมหาทัด ๑ พระมหาเกิด ๑

         ด้านการศึกษาพระวิปัสสนาธุระมี พระครูวินัยธรรมกัน สัทธิวิหาริกของสมเด็จพระญาณสังวร(สุก)เป็นพระอาจารย์ใหญ่ พระอาจารย์มหาทัด ๑เป็นผู้ช่วย เมื่อพระครูวินัยธรรมกัน มรณะภาพลงแล้ว พระญาณสังวรเถร(ด้วง) รับหน้าที่เป็นพระอาจารย์ใหญ่ พระอาจารย์ผู้ช่วยคือ พระอาจารย์คำ พระครูศีลวิสุทธิ์(รุ่ง) พระครูศีลสมาจารย์(บุญ) พระปลัดมี พระปลัดเมฆ

           ปีพระพุทธศักราช ๒๓๖๙ ท่านครองวัดราชสิทธาราม(พลับ)มาประมาณ ๑ ปี ท่านก็มรณะภาพลงในปลายปีนั้นด้วยโรคชรา เมื่อสิริอายุได้ ๘๖ ปี สมัยท่านครองวัดราชสิทธาราม ท่านเป็นผู้มีชื่อเสียง ผู้คนนับถือมาก ท่านเป็นพระสงฆ์นักปราชญ์องค์ ต้นๆของกรุงรัตนโกสินทร์ หลังจากพระเทพโมลี(กลิ่น) ได้มรณะภาพลงแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๓ ทรงมีพระราชคำริว่า บทกวีนิพนธ์ต่างๆ ของพระเทพโมลี(กลิ่น)นั้น ต่อไปจะกระจัดกระจายสูญหาย หายาก จึงโปรดเกล้าฯให้ เจ้ากรมอาลักษณ์เก็บรวบรวม บทกวีนิพนธ์ต่างๆของท่านไว้ เมื่อถึงคราวปฏิสังขรณ์ วัดพระเชตุพนฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ จึงให้รวบรวมนักปราชญ์ ราชบัณฑิตย์ แต่งบทกวีนิพนธ์ต่างๆ โปรดให้ช่างจารึกลงแผ่นศิลาไว้ที่วัดพระเชตุพนฯ ในครั้งนั้นได้โปรดเกล้าฯให้นำเอาบทกวีนิพนธ์ต่างๆ ของพระเทพโมลี(กลิ่น) จารึกลงแผ่นศิลาไว้ด้วย

        แคร่คานหาม ที่ได้พระราชทานให้ พระเทพโมลี(กลิ่น)ในครั้งนั้น ก็ได้เก็บรักษาไว้ที่วัดราชสิทธาราม พร้อมด้วยไม้เท้าเถาอริยะ ไม่มีผู้ใดกล้านำเอามาใช้เพราะเป็นของพระราชทานสงฆ์เฉพาะองค์ จนกระทั้ง ๘๐ ปีเศษผ่านมา ถึงปีพระพุทธศักราช ๒๔๕๐ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ก็ได้พระราชทาน แคร่คานหาม ที่เก็บรักษาไว้ที่วัดราชสิทธารามให้แก่ พระสังวรานุวงศ์เถร(เอี่ยม) ได้ใช้สืบมาเป็นองค์ที่สอง เพราะเวลานั้นพระสังวรานุวงศ์เถร (เอี่ยม)ท่านชราทุพพลภาพ ปัจจุบันแคร่คานหามนี้ ได้เก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์พระกัมมัฏฐาน คณะ ๕ วัดราชสิทธาราม

ผลงานของพระเทพโมลีกลิ่น

       ๑. ร่ายยาวมหาเวศสันดรชาดก กัณฑ์มหาพน แต่งประมาณ พ.ศ.๒๓๕๐

      ๒. คัมภีร์โยชนามูลกัจจายณ์ แต่ง พ.ศ. ๒๓๕๑

      ๓. มหาชาติ คำหลวง ทานกัณฑ์ แต่งพ.ศ. ๒๓๕๘

      ๔. โครงนิราศ ตลาดเกรียบ

      ๕. โครงกระทู้เบ็ดเตล็ด

      ๖. โครงฤาษีดัดตน

      ๗.โครงบาทกุญชร

      ๘. โครงกลบท

      ๙.โครงลวงผึ้ง