การป้องกันอันตรายจากรังสี
	การทำงานเกี่ยวข้องกับรังสีและสารกัมมันตรังสี มีหลักการเพื่อป้องกันอันตรายจากรังสีที่ต้องถือ
ปฏิบัติโดยเคร่งครัด ประกอบด้วย
	ก. การปฏิบัติงานทางรังสีจะต้องมีวัตถุประสงค์ที่ชัดเจนและการปฏิบัติงานนั้นต้องก่อให้เกิด
ประโยชน์ที่แจ้งชัดทั้งต่อผู้ปฏิบัติและต่อสาธารณชน
	ข. การปฏิบัติงานทางรังสีทุกประเภทต้องยึดหลัก "ให้ผู้ปฏิบัติและสาธารณชนได้รับรังสีน้อยที่สุด
เท่าที่จะสามารถกระทำได้ ทั้งนี้โดยคำนึงถึงความเป็นไปได้ทางเศรษฐกิจและสังคมด้วย"
	ค. ไม่ว่าด้วยกรณีใด ๆ ผู้ปฏิบัติงานสาธารณชนแต่ละคนจะต้องไม่รับรังสีสูงกว่าเกณฑ์ระดับ
ความปลอดภัยทางรังสีที่กำหนดไว้ กล่าวคือ
ระดับความแรงรังสี ผู้ปฏิบัติงานทางรังสี ประชาชนทั่วไป
ความแรงรังสีรวม 20 มิลลิซีเวิร์ต ต่อปี 1 มิลลิซีเวิร์ต ต่อปี
เลนส์ตา 150 มิลลิซีเวิร์ต ต่อปี 15 มิลลิซีเวิร์ต ต่อปี
ผิวหนัง 500 มิลลิซีเวิร์ต ต่อปี 50 มิลลิซีเวิร์ต ต่อปี
มือ เท้า 500 มิลลิซีเวิร์ต ต่อปี 50 มิลลิซีเวิร์ต ต่อปี

อนึ่ง การดำเนินการเพื่อลดระดับรังสีสำหรับผู้ปฏิบัติงานทางรังสีนั้น อาศัยกลยุทธ์ ดังต่อไปนี้ 1. ใช้เวลาปฏิบัติงานให้สั้นที่สุด ปริมาณรังสีที่ผู้ได้รับนั้นขึ้นกับเวลา เช่น ถ้าผู้ปฏิบัติงานอยู่ในห้อง ที่มีรังสี 2 ชั่วโมง ย่อมได้รับรังสีสูงเป็น 2 เท่าของผู้ที่เข้าไปอยู่เพียง 1 ชั่วโมง เป็นต้น ดังนั้นวิธีป้องกันประการ แรกคือ อย่าเข้าใกล้สารกัมมันตรังสี หรือบริเวณที่มีรังสีเป็นเวลานาน ๆ แต่ถ้าจำเป็นต้องเข้าไปทำงาน ควรใช้ เวลาสั้นที่สุด 2. รักษาระยะทางให้ห่างจากต้นกำเนิดรังสีให้มากที่สุด การอยู่ห่างก็เท่ากับอาศัยอากาศเป็นกำแพง กำบังรังสี เช่น รังสีแอลฟาจะถูกกั้นจนหมดไปด้วยอากาศหนาเพียงไม่กี่เซนติเมตร ถือเป็นกฎได้ว่า ถ้าระยะห่าง เพิ่มอีกเท่าหนึ่ง ปริมาณรังสีที่ได้รับจะลดลงไปเหลือเพียงครึ่งหนึ่งของปริมาณเดิม 3. จัดให้มีเครื่องกำบังรังสีให้เหมาะสม รังสีมีหลายอย่าง จึงจำเป็นต้องเลือกเครื่องกำบังรังสีให้ เหมาะสม เช่น ถ้าจะกั้นรังสีบีตา แกมมา รังสีเอกซ์ นิยมใช้คอนกรีต ตะกั่ว แต่ถ้าจะกำบังอนุภาคนิวตรอน นิยม ใช้น้ำและพาราฟิน เป็นต้น กลยุทธ์ทั้ง 3 อย่างนี้เป็นหัวใจของการป้องกันรังสี ผู้ที่เข้าใจและปฏิบัติถูกต้องย่อมปลอดภัย แม้จะ ถูกรังสีบ้างก็ไม่ถึงขั้นที่จะเป็นอันตรายใด ๆ เลย
อาจใช้คาถา 3 ย หรือ 3 ห ตามข้อความข้างล่างนี้ก็ได้
สามยอ
  1. อย่าปนเปื้อน - อย่าเข้าใกล้ให้ชิดติดรังสี
  2. อย่าป้วนเปี้ยน - อย่าคลุกคลีมั่วงานอยู่นานหลาย
  3. อย่าเปลือยเปล่า - เสื้อ ถุงมือตะกั่วกั้นป้องกันกาย อันตรายน้อยใหญ่จะไม่มี

สามหอ
หลักป้องกันรังสีมีสามอย่าง
หนึ่งจัดแจงระยะทางห่างไว้หนา : ห้ามเคล้าเคลีย
สองทำงานต้องกำหนดลดเวลา : ห้ามคลุกคลี
สามจัดหาเครื่องกำบังรังสีไว้ : หาเครื่องคลุม

วัสดุกำบังรังสี (Shielding) แม้รังสีที่ก่อให้เกิดการแตกตัว จะมีหลายชนิด แต่รังสีที่สำคัญที่จะก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้ปฏิบัติ- งานขณะที่ต้นกำเนิดรังสีอยู่นอกร่างกายมีอยู่สองชนิด คือ รังสีแกมมาและนิวตรอน สำหรับรังสีแกมมาจาก สารกัมมันตรังสีนั้น ถ้าเป็นรังสีที่มีพลังงานประมาณ 1 MeV ไม่ว่าวัสดุใดก็ตามถ้ามีน้ำหนักเท่ากันแล้วก็จะกั้น ได้ดีพอ ๆ กัน แต่ทั่วไปนิยมใช้กระปุกตะกั่วเพราะตะกั่วมีความหนาแน่นสูงเป็นวัสดุหนักที่ไม่เทอะทะนัก ความจริงทองคำหนักกว่าตะกั่วแต่ก็ไม่นิยมใช้กระปุกทองคำเพราะคงต้องระมัดระวังผู้คนมาหยิบฉวยไปใช้งาน อย่างอื่น ยูเรเนียมเองเป็นธาตุที่หนักกว่าทองคำสามารถกั้นรังสีได้ดีกว่าทองคำแต่เป็นวัสดุกัมมันตรังสี ที่ต้อง ขออนุญาตมีไว้ในการครอบครองจึงมีการใช้อยู่บ้าง ไม่มากนัก ถ้าสร้างเป็นอาคารจะไม่ใช้ตะกั่วแต่ใช้คอนกรีตเพราะราคาจะถูกกว่ามากผนังอาคารจะหนา เป็นเมตร ถ้าสร้างตรงไปตรงมา ประตูก็คงจะหนาเป็นเมตร และคนงานคงจะลาออกเรื่อย ๆ เพราะเปิดประตู ไม่ไหว ถ้าหาวิธีบังไม่ให้รังสีพุ่งตรงมายังประตูจากแหล่งกำเนิด คือ ให้รังสีสะท้อนฝาเสีย 1-2 ครั้งแล้วจึงมา ถึงประตู รังสีก็จะอ่อนกำลังไปบ้าง และใช้ประตูที่เบากว่าผนัง (แต่อาจต้องใช้ตะกั่วช่วย) ก็สามารถกันรังสีได้ การใช้น้ำเป็นเครื่องกำบังรังสีจะแพงกว่าและถ้าเกิดการรั่วไหลหรือแห้งไป ก็คงจะไม่ดีนัก แต่ก็มีการใช้น้ำใน บ่อเครื่องปฏิกรณ์ปรมาณูวิจัย เพราะสามารถใช้ประโยชน์อื่นได้อีกเช่นเป็นตัวทำให้เย็นและตัวหน่วงนิวตรอน เป็นต้น แต่ถ้าเป็นรังสีแกมมาพลังงานต่ำหรือรังสีเอกซ์ที่ใช้ในการเอกซเรย์ปอด รังสีพวกนี้มีพลังงานไม่ถึง 0.1 MeV วัสดุหนักจะขวางกั้นรังสีได้ดีมากเป็นพิเศษ เช่น ใช้ตะกั่วหนาเท่าแฮมหรือไส้กรอกที่ผ่านเป็นแผ่น ๆ มีขายอยู่ในท้องตลาดจะกั้นได้หมด ซึ่งผนังอิฐของอาคารกั้นไม่ได้ ถ้าเป็นอาคารธรรมดา สำหรับนิวตรอนนั้น โดยทั่วไปมักเป็นนิวตรอนเร็ว น้ำเป็นสิ่งที่กั้นนิวตรอนได้ดีมาก ตัวสำคัญคือ ไฮโดรเจน ซึ่งจะทำให้นิวตรอนเร็วกลายเป็นนิวตรอนช้าได้ง่ายกว่าธาตุอื่น เครื่องปฏิกรณ์ฯ จึงอาศัยน้ำเป็น ตัวขวางกั้นนิวตรอน หรืออาจใช้คอนกรีตก็ได้ เพราะคอนกรีตมีไฮโดรเจนอยู่ด้วย ธาตุหนักอาจมีส่วนช่วยได้บ้าง เพราะนิวตรอนเร็วเมื่อชนกับธาตุหนักอาจเกิดปฏิกิริยาคายพลังงาน ให้ธาตุหนักและมีความเร็วลดลงได้เหมือนกัน แต่ธาตุหนักโดยลำพังก็ใช้ไม่ได้ต้องมีน้ำช่วยด้วย ในโรงไฟฟ้า นิวเคลียร์อาจใช้เหล็กกับน้ำช่วยกัน การขวางกั้นในเครื่องปฏิกรณ์ฯ ต้องคำนึงถึงทั้งนิวตรอน และรังสีแกมมา ในกระบวนการจัดการกากกัมมันตรังสีนั้น ก็มีแนวคิดเรื่องเครื่องกำบังรังสีเช่นเดียวกัน โดยคำนึง ว่ากากกัมมันตรังสีเป็นสิ่งของที่มิได้ใช้การอีกต่อไปแล้ว จึงดำเนินการโดยแยกกากกัมมันตรังสีให้ห่างออกไป จากผู้คนและสิ่งแวดล้อมของสิ่งมีชีวิต (biosphere) โดยการเก็บฝังกากไว้ใต้ผิวดินหรือฝังไว้ใต้ภูเขาโดย ใช้แผ่นดินและแผ่นหินเป็นเครื่องกำบังรังสีที่มีประสิทธิภาพสูง