Bmidtoon3.jpg (23348 bytes)

 

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนได้เปิด web site ใหม่ขึ้นมา เนื่องมาจากมีความจำเป็นต้องใช้พื้นที่เพื่อให้การศึกษาเพิ่มมากขึ้น สำหรับพื้นที่ใหม่นี้ จะเน้นในเรื่องของบทความในสาขาวิชาต่างๆ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อสังคมในวงกว้าง และเพื่อสร้างความเข้าใจระหว่างผู้คนในสังคม

Blocalcap2.jpg (15354 bytes)

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน โดยทีมงาน"ทีทรรศน์ท้องถิ่น"ร่วมกับ"โทรทัศน์ช่อง 11"จ.ลำปาง ภูมิใจเสนอรายการการสนทนาเรื่อง"ทุนบ้านนอก" ซึ่งได้มีการถอดเทปเป็นข้อความออกมาเป็นรูปตัวหนังสือ เพื่อขยายสื่อดังกล่าวสู่เครือข่ายในระบบ internet เพื่อให้ผู้ที่พลาดชมและสนใจในหัวข้อดังกล่าวได้มีโอกาสอ่านกันอย่างกว้างขวาง เพื่อสร้างความเข้าใจและเรียนรู้เรื่อง"ทุน"ของสังคมไทยในมิติต่างๆอย่างกว้างขวาง

Bcapital2.jpg (12153 bytes)

ทุนบ้านนอก

ทัศนะของนักวิชาการบ้านนอก ต่อเรื่อง ”ทุนบ้านนอก”

ฉลาดชาย รมิตานนท์ : ปัจจุบัน เวลาที่เราพูดถึงคำว่าทุน เรามักจะใช้นิยามความหมายของนักเศรษฐศาสตร์กันโดยตลอด เมื่อเรามองคำว่าทุนผ่านนิยามความหมายของนักเศรษฐศาสตร์เช่นนี้แล้ว เวลาที่เรามาวิเคราะห์ถึงวิกฤตทางเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมา จนกระทั่งปัจจุบัน เราจึงมองว่าเป็นวิกฤตของทุน ซึ่งจะต้องหาทุนมาจากต่างประเทศเข้ามา. แต่ผมคิดว่าคำว่าทุนในความหมายดั้งเดิมหรือทั่วๆไป ซึ่งไม่เฉพาะสังคมไทยนั้น และรวมทั้งสังคมไทยด้วย “ทุน”หมายความถึงสิ่งที่เรามีอยู่ก่อนแล้ว และไม่ต้องไปกู้ยืมใครมา บางทีเราจะได้ยินคำว่า”ต้นทุน” หรือเราจะได้ยินว่า เรามีแรงงานเป็นทุนอยู่แล้ว เรามีที่ดิน ไร่นาเป็นทุนอยู่แล้ว อันนี้มันมีนัยยะว่าเป็นสิ่งซึ่งเรามีอยู่โดยที่เราไม่ต้องไปกู้ไปยืมใครเขามา ทุนพวกนี้มีอยู่เพื่ออะไร คำตอบคือมีอยู่เพื่อใช้ในการดำรงชีวิต เพราะฉะนั้นทุนในความหมายที่แท้จริง น่าจะเป็นทุนที่กล่าวถึงนี้

คำว่า”ทุน” ในความหมายของนักเศรษฐศาสตร์หรือนักพัฒนาทำให้คำว่า”ทุน”ของเรามีความหมายแคบลง กลายเป็นแต่เพียง”เงิน”. ทั้งๆที่ความหมายที่กว้างของคำว่า”ทุน” น่าจะรวมเอาเรื่องของที่นักเศรษฐศาสตร์แยกเอาว่าเป็นเรื่องที่ดิน แรงงาน เงินทุน และเทคโนโลยีเข้าไปด้วย. ในภาวะที่เรายังต้องเผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจ จะต้องมาตีความคำว่า”ทุน”กันใหม่ เพราะว่าแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจต่อไปนั้นจะต้องหลากหลาย เมื่อหลากหลายแล้วก็จะต้องมาดูว่า คำว่า”ทุน”ดั้งเดิมแล้วมันคืออะไร ? ซึ่งผมคิดว่าในสังคมไทย หรือวัฒนธรรมไทย คำว่าทุนมันมีความหมายที่มากกว่า”เงิน”. ที่นี้เมื่อดูแล้วมันมีความหมายมากกว่าเงิน ผมคิดว่ามันมีวิธีดูง่ายๆ ก็คือดูที่ทุนซึ่งมันเป็นสิ่งของ เป็นวัตถุจับต้องได้ เป็นรูปธรรม ไม่ว่าจะเป็นที่นา ที่สวน หรือเป็นป่า เป็นที่ดิน เป็นแม่น้ำลำห้วย หรือไม่ว่ามันจะเป็นจอบเป็นเสียม เป็นมีมีด เป็นขวาน หรือจะเป็นสายสร้อย เป็นกำไร หรือเครื่องประดับต่างๆ เหล่านี้ผมเห็นว่าเป็น”ทุน” เพราะเรามีอยู่.

ศิลปกรรม สถาปัตยกรรม กวีนิพนธ์ เพลงพื้นบ้าน การละเล่นต่างๆ สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นทุนทั้งนั้น มันช่วยให้เราสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ เพราะการดำรงชีวิตของเรานั้นมันไม่ได้มีเพียงแค่มิติเดียว คือมิติทางด้านเศรษฐศาสตร์เท่านั้น การดำรงชีวิตของเรามีหลายมิติ เช่นการพักผ่อน การชื่นชมในศิลปะ การชื่นชมในธรรมชาติ หรือการชื่นชมในเพื่อนมนุษย์ด้วยกันเอง เหล่านี้มันมีอยู่ และเข้าอยู่ในเรื่องของ”ทุน”ในลักษณะที่สอง คือเป็นทุนที่จับต้องไม่ได้ เป็นนามธรรม. ซึ่งผมคิดว่า เรื่องที่สำคัญที่สุดก็คือเรื่องของ”ความคิด”. บางครั้งเราได้ยินประโยคว่า “เรามีความคิดเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว” เพราะฉะนั้น”ความคิด”ผมคิดว่ามันเป็นทุน. …และถ้ามีเวลาจะคุยกันต่อไปว่า ระบบคิดของสังคมไทยมันถูกทำให้เปลี่ยนไปอย่างไร แล้วเราก็เลยเสียทุนทางความคิดของเราไป.

เรื่องของสติปัญญาก็เป็น”ทุน” เราจะมองว่าเงินเป็นทุนอย่างเดียวไม่ได้. สติปัญญาที่จะคิดแก้ไขปัญหา ในการตัดสินว่าเราจะดำเนินชีวิตอย่างไรถึงจะมีความสุข หรือประสบความสำเร็จ เรื่องของสติปัญญาจะต้องมี และจัดว่าเป็นทุน. ศีลธรรมและจริยธรรมก็เป็นทุน เพราะถ้าเราไม่มีสิ่งเหล่านี้สังคมก็อยู่ไม่ได้ ถ้ามองในระดับครอบครัว ครอบครัวก็อยู่ไม่ได้ หรือถ้ามองในระดับชุมชน ถ้าชุมชนไม่มีศีลธรรมก็อยู่ไม่ได้. ระดับประเทศ ถ้าคนในประเทศ คนในสังคมไทยละทิ้งศีลธรรม-จริยธรรม ก็อยู่ด้วยกันไม่ได้ สังคมก็คงแตก มีทะเลาะเบาะแว้งและเกิดปัญหาขึ้นมากมาย.

เรื่อง”สุนทรียะ”ก็เป็นทุน อันนี้ผมไม่ได้หมายถึงสุนทรียะที่จะไปดูงานศิลปะที่ถูกตีค่าเป็นเงินว่างานชิ้นนี้ 3 แสนนะ หรือ 5 แสนนะ เราถึงจะดูสวย. สุนทรียะในที่นี้หมายถึงมองอะไรทั้งหมดออกไปรอบตัวเรา ไม่ว่าจะเป็นธรรมชาติก็ดีหรือสิ่งซึ่งมนุษย์สร้างขึ้นมาก็ดี แล้วเห็นความสวยความงามของมันและทำให้เกิดความสุขใจ ความพอใจ เกิดความสบายใจเกิดความสงบในตัวเอง รวมทั้งเกิดความสงบที่จะอยู่ร่วมกับคนอื่นหรืออยู่ร่วมกับธรรมชาติ ผมคิดว่ามันเป็น”ทุน”อีกชนิดหนึ่งที่สำคัญมาก และมันไม่ได้ถูกนับรวมเข้าไว้ในทางเศรษฐศาสตร์.

“ภูมิปัญญาชาวบ้าน” อันนี้ก็เป็นทุน. ถ้าจะให้ความหมายของคำว่า”ภูมิปัญญาชาวบ้าน”แล้ว น่าจะหมายถึง ความรู้ที่จะสามารถแก้ปัญหาสิ่งที่เกิดขึ้นกับชีวิตประจำวันได้. เราทำได้สำเร็จและสืบทอดถ่ายทอดกันมาเรื่อยๆ อันนี้คือ”ภูมิปัญญาชาวบ้าน” โดยไม่จำเป็นต้องอธิบายว่า มันเป็นวิทยาศาสตร์หรือไม่เป็นวิทยาศาสตร์ ถ้ามันใช้ได้ก็คือว่าเป็น”ภูมิปัญญาชาวบ้าน”.

เพราะฉะนั้นผมขอสรุปในตอนนี้ว่า เรามีคำว่า”ทุน” หรือ”ต้นทุน” ที่มีความหมายเกินกว่าทุนในทางเศรษฐศาสตร์ ซึ่งทุนในความหมายทางเศรษฐศาสตร์ก็คือเงิน เพราะฉะนั้นเวลาที่เราต้องไปขอกู้ยืมเขามาแล้ว มันก็เกิดภาวะวิกฤต แต่”ทุน”ที่ผมเรียนให้ทราบนี่ เราไม่ต้องไปกู้ เรามีมาแต่เดิม เพราะฉะนั้น ความล้มเหลวของเศรษฐกิจไทยที่เราต้องเผชิญหน้าอยู่ในเวลานี้ก็คือ การที่เราต้องไปพึ่งพาทุนต่างประเทศ เพราะเราไปกู้เขามา. ดังนั้นเราจะเห็นว่า คนไทยแต่ดั้งแต่เดิม เราไม่นิยมกู้หนี้ยืมสิน. เราถือว่า การไปกู้หนี้ยืมสิน เป็นการไม่ประสบความสำเร็จในชีวิต คนที่มีความสุขในชีวิตคือผู้ที่ไม่ต้องเป็นหนี้เป็นสินใคร. แต่เมื่อมีการพัฒนาประเทศเมื่อ 30-40 ปีที่ผ่านมา เราถูกเปลี่ยนความคิดว่า การไปกู้ยืม โดยเฉพาะการกู้ยืมจากสถาบันทางการเงิน หรือจากต่างประเทศก็ดี กลายเป็นของดี. ยิ่งถ้าหากว่ามีหนี้เยอะ บอกว่ามีเครดิตเยอะ ก็บอกว่าเป็นคนที่ประสบความสำเร็จ เป็นนักลงทุนที่ดี. ดังนั้นเราก็เลยพังพินาศสันติโรเมื่อทุนมันไหลออกจากประเทศเรา.

อีกอันหนึ่งซึ่งผมขอออกความเห็นด้วยก็คือ คำว่า”บ้านนอก” ซึ่งรายการทีทรรศน์ท้องถิ่นตอนนี้ใช้คำว่า”ทุนบ้านนอก”. ผมคิดว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่สำคัญ เพราะเราเคยมองว่า”บ้านนอก”เป็นที่ที่อยู่ของคนโง่ เป็นที่ที่อยู่ของคนจน เป็นที่ที่อยู่ของคนซึ่งด้อยพัฒนา เป็นอะไรที่เชยหรือเรื่องอะไรที่ล้าสมัย. เพราะฉะนั้น บ้านนอกจึงมีภาพลบอยู่ตลอดเวลา. ผมคิดว่าเมื่อมาถึงช่วงนี้แล้ว เราคงจะต้องมาดู”บ้านนอก”กันใหม่ ในทัศนะที่ถูกต้องกับความเป็นจริงมากขึ้น.

การพัฒนาของประเทศไทยในรอบ 40 ปี หรือมองเลยย้อนไปถึงยุคประวัติศาสตร์อะไรก็แล้วแต่ เราจะพบว่า ศูนย์กลางของประเทศ ไม่ว่าจะเป็นกรุงเทพหรือที่ไหนก็แล้วแต่ มันเติบโต ร่ำรวย และมีอำนาจขึ้นมาได้ ก็เพราะว่ามันได้ดูดเอาทุนในรูปแบบต่างๆจากบ้านนอกเข้ามา. เมื่อเราต้องมาเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจแบบปัจจุบัน ฟองสบู่แตก บ้านนอกน่าจะต้องถูกมองในฐานะที่เป็นผู้ที่จะมากู้วิกฤต, บ้านนอกน่าจะเป็นตัวแบบ อย่างน้อย ใน 2-3 เรื่องต่อไปนี้ คือ

ในเรื่องของ”การพัฒนาอย่างยั่งยืน”. แนวความคิดนี้พูดกันมา 10-20 ปีแล้ว แต่ว่ามันยังไม่เคยถูกนำมาปฏิบัติ หรือถูกนำมาถกกันให้มันแตก. ผมคิดว่าการพัฒนาอย่างยั่งยืน มันได้ปรากฎในวิธีคิดแบบบ้านนอก หรือในวัฒนธรรมบ้านนอกมานานแล้ว ยกตัวอย่างเช่นเรื่องของการพัฒนาอย่างยั่งยืน จะต้องไปเชื่อมโยงกับการอนุรักษ์ทรัพยากรหรือสิ่งแวดล้อม. ผมคิดว่า คนบ้านนอกหรือคนในชนบท ได้พยายามที่จะอนุรักษ์ดิน,น้ำ,ป่า, มาโดยตลอด แต่ว่าผู้ซึ่งมาทำลายกลายเป็นว่า เป็นนโยบายการพัฒนาที่เราใช้เศรษฐกิจเป็นเครื่องวัดความด้อยหรือไม่ด้อยของการพัฒนา เพราะฉะนั้นเราน่าจะได้ข้อสรุปว่า วิถีชีวิตแบบบ้านนอก การใช้ทรัพยากรแบบบ้านนอกซึ่งคนชนบทเขาทำกันอยู่ แท้ที่จริงแล้วก็คือ การรักษาทรัพยากร รักษาดิน รักษาน้ำ รักษาป่า รักษาความหลากหลายทางชีวภาพ. และนี่ก็คือการพัฒนาอย่างยั่งยืนนั่นเอง. เราไม่สามารถที่จะไปดูตัวแบบของการพัฒนาอย่างยั่งยืนจากในกรุงเทพได้เด็ดขาด, เราไม่สามารถที่จะเอาตัวแบบของการพัฒนาอย่างยั่งยืนจากนโยบายของรัฐหรือหน่วยงานของรัฐได้อย่างเด็ดขาด เพราะเราก็เห็นแล้วว่า กรุงเทพมันพัฒนาอย่างไม่ยั่งยืน.

อีกด้านหนึ่งของการพัฒนาอย่างยั่งยืน ผมคิดว่า “บ้านนอก”น่าจะเป็นคำตอบของ”จริยธรรมของการพัฒนา”. การพัฒนา เรามักไม่ค่อยพูดถึง สิ่งที่เราเรียกว่าอุดมการณ์หรือจริยธรรมที่อยู่เบื้องหลัง เราพูดถึงแต่ว่าการพัฒนามันจะต้องสร้างโน่นสร้างนี่ มันจะต้องมีการเติบโตทางเศรษฐกิจ มีถนน มีเขื่อน มีสิ่งก่อสร้าง หรืออะไรก็แล้วแต่. ด้านนั้นเป็นเพียงด้านเดียว และเราก็พบว่า ถึงแม้ว่าเราจะทำไป มันก็ไม่ได้ช่วยให้มนุษย์มีความสุขขึ้น. การพัฒนาอย่างยั่งยืนนี่ มันจะต้องมีศีลธรรม มีจริยธรรม ซึ่งเราพูดกันตลอดเวลาแต่ก็ไม่เคยทำ เราบอกว่าจะต้องมีการพัฒนาทางจิตใจ ซึ่งสำคัญมาก แต่เอาเข้าจริงก็ไม่ได้ทำ. ผมคิดว่าถ้าเรามองออกนอกกรุงเทพฯมา ไปตามบ้านนอก ไม่ว่าจะเป็นภาคเหนือ ภาคใต้หรือภาคอีสาน เราจะพบว่าวิถีชีวิตของคนบ้านนอก มันยังมีอยู่พอสมควร ก็คือสิ่งที่เราเรียกว่า”ความเจริญทางจิตใจ”หรืออย่างน้อยเราก็เรียกว่า มันยังไม่เสื่อมทรามทางจิตใจมากนัก มันยังคงอยู่. ในส่วนนี้ ผมคิดว่าบ้านนอกน่าจะเป็นตัวแบบของการพัฒนาอย่างยั่งยืนได้.

ทัศนะของพระ, นักวิชาการ, และประชาชน ต่อเรื่อง”ทุนบ้านนอก”

พระภิกษุรูปหนึ่ง / วัดอุโมงค์ : สังคมไทยเรายืดหยุ่นอยู่มากภายใต้วิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นอยู่ในเวลานี้ เป็นเพราะสิ่งที่พุทธศาสนาสอนว่า สังคมเราอยู่ได้ด้วยความสามัคคี หรือความสามัคคีก่อให้เกิดความสุข. การร่วมมือร่วมใจกันในการแก้ไขปัญหาของคนในชุมชน เราเรียกว่าเป็นความสามัคคี. นอกจากนี้สังคมเรายังสอนให้รู้จักเรื่องของ”ทาน”, “ความเมตตา” เป็นการช่วยเหลือเกื้อกูลกันด้วย ทำให้สังคมบรรเทาเบาบางจากทุกข์ที่เราประสบลงไปได้มาก สิ่งต่างเหล่านี้ถือว่าเป็นทุนทางสังคมเช่นเดียวกัน

ในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจนั้น แรงงานจำนวนมากได้ไหลกลับสู่ชนบท และได้รับการรองรับจากคุณธรรมต่างๆเหล่านี้ที่ยังคงมีอยู่ในสังคมไทย สิ่งเหล่านี้ได้ลดเอาความเสียดทานและความคับขันของวิกฤตลงมาได้พอสมควร และเป็นที่มาของข้อสงสัยที่ว่า ทำไมสังคมไทยเมื่อเกิดภาวะวิกฤตทางเศรษฐกิจเช่นนี้แล้ว ทำไมสังคมจึงไม่เกิดความรุนแรง ทั้งนี้เพราะว่าสังคมพุทธเป็นสังคมซึ่งมีความยืดหยุ่น เป็นสังคมซึ่งมีความเห็นอกเห็นใจ เป็นสังคมที่มีการปลอบประโลมจิตใจซึ่งกันและกัน.

ในช่วงที่บ้านเมืองยังไม่พ้นภาวะวิกฤตเศรษฐกิจอยู่ในช่วงเวลานี้ ขอพูดถึงในเรื่องของเศรษฐศาสตร์เชิงพุทธเอาไว้สักเล็กน้อย คือ ในเรื่องของการผลิตก็ดี การบริโภคก็ดี สิ่งต่างๆเหล่านี้ในทางพุทธศาสนาก็คือ เป็นการผลิตเพื่อยังอัตภาพ หรือเพื่ออยู่รอด เพื่อให้สามารถดำรงอยู่ได้เท่านั้น เพื่อกระทำคุณงามความดี ไม่ใช่บริโภคด้วยความลุ่มหลงหรือมัวเมา และการผลิตนั้นก็ต้องทำการผลิตด้วยการทุ่มเทลงไปอย่างมีจริยธรรม มีความขยันหมั่นเพียร มีวิริยะอุตสาหะ มีความพากเพียรพยายาม.

ชาวบ้าน ต.แม่ทา : หลายคนที่ออกจากตำบลหมู่บ้าน เพื่อไปประกอบอาชีพในเมือง ได้หวนกลับมาในช่วงภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ. อีกหลายคนที่อยู่ในพื้นที่ ก็ประสบกับปัญหาเรื่องปากท้อง เผชิญกับปัญหาเกี่ยวกับความแห้งแล้ง และการจัดการทรัพยากร ดิน น้ำ ป่า ทำให้เราชาวบ้านตำบลแม่ทา มารวมกลุ่มกัน. ทั้งนี้เพื่อมาร่วมกันคิดและปรึกษาหารือกัน หลายคนพบว่า มีปัญหาคล้ายๆกัน ก็ได้มารวมตัวเป็นกลุ่มปัญหาต่างๆขึ้น ทั้งนี้เพื่อให้เกิดพลังในการแก้ไขปัญหา.

ถ้าท่ามกลางสิ่งที่เกิดขึ้นอยู่ในเวลานี้ หากทุกคนต่างคนต่างอยู่ ต่างคนต่างเผชิญกับปัญหาลำพัง จะแก้ไขปัญหาไม่ได้ เพราะฉะนั้นจึงเกิดมีการรวมกลุ่มกันขึ้น โดยมีกฎกติกาและเป้าหมายที่ชัดเจน เฉพาะที่ในตำบลแม่ทามีการรวมกลุ่มปัญหากันขึ้นถึง 20 กว่ากลุ่ม แต่บางครั้งพวกเราก็ต้องประสบกับปัญหาที่กลุ่มต่างๆเท่าที่มีอยู่ รวมตัวกันแล้วก็ยังไม่สามารถแก้ปัญหาได้ ก็จะเชื่อมโยงกันกับกลุ่มอื่นๆอย่างเป็นเครือข่ายที่ใหญ่ขึ้น. กลายเป็นชุมชนเครือข่ายทั้งหมดของลุ่มน้ำแม่ทา ซึ่งใหญ่กว่าตำบลมาก. การรวมกลุ่มกันขนาดใหญ่เช่นนี้ทำให้เราสามารถแก้ไขปัญหาได้ใหญ่ขึ้นได้.ปัจจุบันเครือข่ายเหล่านี้ สามารถอนุรักษ์และปกป้องผลประโยชน์ และจัดการทรัพยากรของตัวเองได้ โดยเรามีทุนที่มีอยู่เดิมคือ”ทุนธรรมชาติ” และ”ทุนองค์ความรู้” และ”ภูมิปัญญา”ซึ่งมาจากประสบการณ์ นำเอาสิ่งต่างๆเหล่านี้มาพัฒนาเป็นเครือข่ายการเรียนรู้ร่วมกัน เพื่อนำไปใช้ในการแก้ปัญหา.

การรวมตัวกันเช่นนี้ ได้ประสบผลสำเร็จพอสมควรในหมู่ชาวบ้านตำบลแม่ทา มีหน่วยงานราชการจากกระทรวงเกษตรและกระทรวงมหาดไทยไปดูงานอยู่เสมอ และได้นำเอาสิ่งที่ชาวบ้านทำ มากำหนดเป็นแนวทางการพัฒนา

อ.เครือมาศ วุฒิการ : ดิฉันอยากจะพูดเรื่อง”ทุนบ้านนอก”ในอีกมุมมองหนึ่ง นั่นคือ หากเราจะถามคนเฒ่าคนแก่ว่า บุคคลเหล่านี้มีชีวิตอยู่เพื่ออะไร ? และปรากฏในผลงานของการวิจัยที่ถามในเรื่องนี้ ปรากฏว่าคนเฒ่าคนแก่ตอบว่า “มีชีวิตอยู่เพื่อสั่งสมบารมี”. และคำว่า”บารมี”ในที่นี้ มิได้หมายถึงอำนาจ หรือหมายถึงเงินทองซึ่งเราใช้กันในปัจจุบัน แต่เป็นการบำเพ็ญเพียรตามอย่างสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า โดยปรากฎในชาดกต่างๆหรือเรื่องเล่าที่จำๆกันสืบต่อมา. เราจะพบว่าคนที่เติบโตมาในท่ามกลางปู่ย่าตายาย จะมีวัฒนธรรมของการฟัง ทั้งในชาดกต่างๆที่บันทึกไว้ในคัมภีร์ แล้วก็ถ่ายทอดต่อๆกันมาจากยายสู่หลาน. ดิฉันเองก็เติบโตมาจากยายที่เล่าชาดกให้ฟัง หมาขนคำ(ขนเป็นสีเหลืองทองคำ), นางผมหอม, หงษ์หิน, เต่าน้อยอองคำ เหล่านี้ได้สร้างกรอบที่เป็นรูปแบบพฤติกรรมของคนที่อยู่ในชุมชนนี้มาโดยตลอด. แล้วก็อยู่ในศิลปกรรม อยู่ในผืนผ้า อยู่ในจิตรกรรม อยู่ในวัด ในรูปแบบต่างๆ ทั้ง ช้าง ม้า พญานาคต่างๆ ล้วนมาจากนิทานชาดกทั้งสิ้น.

พื้นฐานของการสั่งสมบารมีนี้ ทำให้เรารู้ว่า เป็นกลไกในการระงับความรุนแรงในสังคม. อย่างเป็นต้นว่า เมื่อ 10 ปีที่แล้ว, ดิฉันเคยขับรถยนต์ไปชนคนๆหนึ่งด้วยความผิดของดิฉันเอง แต่คนที่ถูกชนบอกว่า ไม่ใช่ความผิดของดิฉัน แต่เป็นกรรมของตัวเขาเอง. อันนี้ดิฉันไม่เข้าใจ เข้าใจไม่ได้เลยเมื่อสมัยก่อนเมื่อ 10 ปีที่แล้ว. แต่เริ่มเข้าใจได้เมื่อไม่นานมานี้ ด้วยฐานแห่งการระงับความรุนแรงของคน, เมื่อใจเราไม่โกรธ ดิฉันคิดว่าใครก็ทำร้ายเราไม่ได้. และการสั่งสมบารมีนี่ ของใช้ เครื่องใช้ต่างๆ ทำขึ้นด้วยใจจะผูกพันกัน. อย่างคนที่แม่แจ่ม จะไม่ทิ้งเสื้อผ้าที่เขาทำมากับมือมาเก่าก่อน เขาบอกว่ายังไงๆก็ยังใช้อยู่ ไม่ใช่วัฒนธรรมของการขายของเก่าเมื่อไม่กี่ปีมานี้ ที่มีการเปิดท้ายรถขายของ

วิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจที่เรายังเผชิญหน้าอยู่นี้ “ทุนทางวัฒนธรรมดั้งเดิม” หรือ”ฐานทางวัฒนธรรม”ช่วยแก้ไขปัญหาได้หรือไม่ ? หรือช่วยได้อย่างไร ? ดิฉันคิดว่า จริงๆแล้ว ช่วงนี้เป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อในสังคมบ้านเรา การที่เราเผชิญปัญหา ดิฉันคิดว่ามองในแง่ที่ดีนะคะ เราได้มาถึงจุดเปลี่ยนที่เราจะสามารถ ซึ่งภาษาทางเหนือเราเรียกว่า”มึ้ง”นะคะ คือการหันกลับคืนสู่วัฒนธรรมดั้งเดิมได้ หากว่าเรามีผู้นำประเทศที่ดี สามารถเชิดชูฐานทางวัฒนธรรมของเราได้ ไม่ใช่ยึดติดกับว่าจะพัฒนาอย่างไรให้กลับไปเหมือนเดิม หรือยึดเอาฐานทางด้านเศรษฐกิจเป็นหลัก. ดิฉันคิดว่าที่เราฟื้นตัวกลับมาได้ก็เพราะเรามี”ทุน”เหล่านี้อยู่แล้วในวัฒนธรรมของเราเอง.

เอ็น.จี.โอ. ผู้หญิง : ถ้าเรามามองในเรื่องของทุนทางสังคม อยากจะหมายรวมไปถึงเรื่องของกำลังสมอง และกำลังของบุคลากรและกำลังของคนในสังคมด้วย ในการที่จะร่วมกันทำกิจกรรมอะไรกันบางอย่าง. อย่างในช่วงปัญหาวิกฤตทางเศรษฐกิจ ถ้าถามว่าทุนทางสังคมจะช่วยเหลืออะไรได้นี่ ถ้าเรามองแล้วก็คือว่า, อย่างแรกเลย ถ้าเกิดว่ามีการรวมกลุ่มกันในสังคม แล้วมีการระดมทุนจากสมอง ว่าจะทำอะไรกัน ปัญหาที่เป็นอยู่ก็จะสามารถแก้ได้ เช่น เราตกงาน ในส่วนของสังคมตรงนี้ เราไม่สามารถที่จะหาเงินที่จะมาจุนเจือครอบครัว รวมถึงเศรษฐกิจของครอบครัวตัวเอง. ตรงนี้ก็คือว่า น่าจะมาลองคุยกัน รวมกลุ่มกันสัก 5-10 คน ระดมกำลังสมองกันว่าเราจะทำกิจกรรมอะไรบ้าง ที่จะสามารถมาจุนเจือในครอบครัวได้ เช่นตกลงกันว่า เราจะมาทำเรื่องของพรมเช็ดเท้าที่ทำจากเศษผ้า พอระดมกำลังสมองตรงนี้ได้แล้ว ต่อจากนั้นให้มามองว่าอะไรที่มีความสำคัญต่อมา นั่นก็คือเรื่องของทุนซึ่งเป็นตัวเงิน แล้วก็ตรงนี้ เราอาจจะรวมเงินกันคนละ 50 บาท ที่จะมาทำตรงนี้ เช่น ซื้อเศษผ้าที่จะมาเป็นวัตถุดิบในการทำงาน ถัดจากนั้นก็ผลิตสิ่งที่เราตั้งใจเอาไว้ขึ้นเป็นผลผลิต หลังจากนั้นถ้ามีการรวมกลุ่ม สิ่งที่เราทำได้ต่อไปก็คือว่า อะไรก็ตาม หรือเมื่อไรก็ตามที่เรามีการรวมกลุ่ม กำลังการต่อรองของเราก็จะเพิ่มมากขึ้น. นอกจากนี้ เราอาจมองหาความช่วยเหลือเพิ่มขึ้นจากภายนอกด้วยได้ เช่น ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคฯต่างๆ ซึ่งเขาจะมีเงินทุน มีตลาดที่สนับสนุน และการช่วยเหลือให้คำปรึกษาในเรื่องความรู้และอาชีพ รวมไปถึงการช่วยออกแบบให้ด้วย.

ที่พูดมาทั้งหมดนี้โดยสรุปแล้วก็คือ “ทุน”นั้นไม่ได้หมายความว่าเฉพาะตัวเงิน. “การระดมความคิด” การสามารถ”รวมกลุ่ม”กันได้ สิ่งเหล่านี้คือพลังที่ยิ่งใหญ่ซึ่งสามารถแก้ไขปัญหาใดๆก็ตามได้ ตั้งแต่ปัญหาของตัวเราเองไปจนกระทั่งถึงการแก้ไขปัญหาสังคมด้วย.

ตัวแทนกลุ่ม”ฮักเมืองน่าน” : ผมคิดว่า คนบ้านนอกเราไม่เคย”ขาดทุน”. เวลานี้ ทุกสิ่งทุกอย่างก็ยังอยู่กับเรา ทุกสิ่งทุกอย่างยังคอยที่จะเป็นทุนให้เราริเริ่ม เป็นทุนที่ยังรอเราเข้ามาจัดการ. ผมขอยกตัวอย่าง สิ่งซึ่งเป็นโภคทรัพย์ที่สำคัญของเรา เช่น พันธุ์พืช พันธุ์สัตว์. คนบ้านนอกในสังคมไทยเรา อาชีพหลักคือต้องปลูกข้าว ทำเกษตรเพื่อการยังชีพ. ข้าวถือว่าเป็นหัวใจสำคัญ.

ถ้าจะถามว่าพันธุ์ข้าวว่ามีอยู่กี่ชนิด ? พวกเราทราบไหมครับว่า พันธุ์ข้าวทั่วประเทศ เรามีพันธุ์ข้าวอยู่มากน้อยเพียงใด ? คำตอบก็คือ เรามีพันธุ์ข้าวอยู่มากกว่า 1 หมื่นสายพันธุ์กระจายอยู่เต็มไปหมดทั้งประเทศ. เฉพาะแหล่งที่ผมอยู่เพียงจังหวัดเดียว เราสามารถรวบรวมพันธุ์ข้าวได้มากกว่า 200 สายพันธุ์, และเฉพาะคนที่ปลูกข้าวไร่เท่านั้นมีอยู่มากกว่า 100 สายพันธุ์ อันนี้เฉพาะเขตเดียวหรือพื้นที่เดียวเท่านั้น. ดังนั้นผมจึงเชื่อมั่นว่า ทุนบ้านนอกทั้งประเทศของเรายังมีอยู่มากมาย ดังตัวอย่างเฉพาะเรื่องของพันธุ์ข้าวเท่านั้น.

อีกตัวอย่างหนึ่งก็คือว่า เมื่อหลายปีที่ผ่านมา ผู้คนหลั่งไหลเข้าไปในกรุงเทพฯ ไปในเมืองใหญ่เพื่อไปหางานทำมาจุนเจือครอบครัว แต่ ณ วันนี้ หลายคนต้องหวนกลับบ้านมาเพราะว่า ด้วยเหตุที่มีการถูกเลิกจ้าง หรือด้วยเหตุมีการเลิกกิจการอันเนื่องมาจากภาวะเศรษฐกิจ. อันนี้พบว่าผู้คนจำนวนมากต้องกลับคืนสู่ถิ่นฐานเดิมของเรา พันธุ์ข้าวแต่เพียงรายสองรายซึ่งสู้อุตส่าห์รักษาไว้ ก็ยังกลายเป็นทุนให้พี่น้องได้มาขอหยิบยืม เพื่อนำไปปลูกและนำมาใช้. ที่จังหวัดน่านซึ่งผมอยู่ มีการปลูกข้าว ทั้งข้าวไร่ข้าวนาเพิ่มขึ้น แล้วออกดอกออกผล.

ดังนั้น บ้านนอกของเราไม่เคย”ขาดทุน” เรายังมีอะไรหลายอย่างซึ่งเป็นทุนมากมายไปกว่านี้อีก. เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่าน พวกเราคงได้รับข่าวคราวที่ปรากฎขึ้นในลำน้ำน่าน ชาวบ้านเห็นว่าปลาหายไป ชาวบ้านเห็นว่าพันธุ์สัตว์น้ำหายไป. เราได้รวมตัวกันจัดการใหม่ ได้มีการทำวังปลาขึ้นมาใหม่ ตอนนี้เราได้แบ่งเขตกันชัดเจนว่าตรงไหนเราจะอนุรักษ์ ตรงไหนเราควรจะจับขึ้นมากินได้ ตรงไหนควรจะใช้เป็นแหล่งพักฟื้น. ซึ่งขณะนี้มีถึง 70 กว่าวังปลาตลอดสายน้ำ. และเรามีปลาเป็นล้านๆตัว ถ้าคูณเป็นเงินก็คงจะเยอะ แต่เราไม่อยากจะให้คิดกันตรงนั้น เพียงแต่บอกว่า ปลาในแหล่งน้ำตามธรรมชาติ เป็นทุนสำคัญในการดำรงชีพของพี่น้องในแถบลุ่มน้ำนั้น.

อีกตัวอย่างหนึ่งนะครับก็คือ”ป่า” ซึ่งเป็นแหล่งสำคัญที่ให้น้ำ เป็นแหล่งสำคัญซึ่งใช้เป็นทรัพยากรนำมาใช้ในการปลูกสร้าง เป็นแหล่งสำคัญที่คอยให้อาหารพื้นบ้านแก่พวกเราอีกหลายชนิด. เรามีเครือข่ายชาวบ้านที่ทำหน้าที่ดูแลรักษาป่าอยู่ถึง 39 ป่า ณ เวลานี้. ซึ่งอันนี้ครอบคลุมพื้นที่หลายแสนไร่ และผมก็ได้มีโอกาสรับทราบอีกเหมือนกันว่า ในเขตภาคเหนือตอนบน หลายจังหวัดได้สร้างเครือข่ายขึ้นมาดูแลรักษาป่าเช่นเดียวกัน. จึงมั่นใจได้ว่า”ทุนบ้านนอกไม่เคยขาด” หรือไม่”ขาดทุนเลย”.

พระนิสิตมหาจุฬาฯ : ในหลักการที่เป็นธรรมมะ เราสามารถที่จะนำมาเป็นทุนและนำมาลงทุนได้เพื่อให้เกิดประโยชน์ได้ต่างๆมากมาย. สำหรับในที่นี้ อาตมาอยากจะยกตัวอย่างขึ้นมาใน 3 ประเด็นเท่านั้นเอง.

ประเด็นแรกก็คือในเรื่องของความร่ำรวย ในแง่มุมทางศาสนานั้น เราไม่ได้มองที่แง่มุมของวัตถุ หรือไม่ได้มองที่ทรัพย์สินหรือฐานะเท่านั้น. ส่วนมากคนจะเข้าใจว่า ความร่ำรวยนั้นเกิดจากทรัพย์สิน แต่ว่าการปรับทัศนคติเรื่อง”ความร่ำรวย”ที่มองให้เห็นความร่ำรวยที่แท้ก็คือ ความร่ำรวยทางจิตใจเป็นสิ่งซึ่งสำคัญ. คนที่เคยไปขายแรงงานหรือไปทำงานในเมือง ซึ่งต้องถอยกลับมาในภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ต้องหวนคืนกลับมาสู่ชนบท ถ้าหากว่ายังปรับความคิดเรื่องนี้ไม่ได้ให้ถูกต้อง ยังถือว่าตัวเองยากจน เพราะอยู่ในหมู่บ้านอยู่ในฐานะที่ไม่ดี อะไรอย่างนี้ จะทำให้อยู่ในหมู่บ้านอย่างไม่มีความสุข. แต่หากว่าเราปรับทัศนคติตามทุนทางพุทธศาสนา พุทธศาสนาจะบอกว่าความร่ำรวยคือความร่ำรวย บุญ หรือกุศล หรือศีลธรรม, ร่ำรวยในทางการบำเพ็ญประโยชน์ ทางการช่วยเหลือผู้อื่น ทำตนให้เป็นประโยชน์ในแง่ของอรรถจริยา. ความร่ำรวยตรงนี้มิได้อยู่ที่ฐานะ ไม่ได้อยู่ตรงที่มีบ้านใหญ่โต แต่อยู่ที่ความร่ำรวยทางศีลธรรม ทางการทำความดี บำเพ็ญตนให้เป็นประโยชน์แก่ตนเองและผู้อื่น.

ประเด็นต่อมาก็คือ ระบบชีวิตซึ่งนำการ”ให้”หรือ”ทาน”มาเป็นคุณค่าหรือทุนทางศาสนา เพื่อนำมาใช้. เราจะเห็นว่าวิถีชนบทดั้งเดิมนั้น เราจะได้รับการกล่อมเกลาทางศาสนาในเรื่องของการทำทานอย่างเห็นได้ชัดเจน ในประเด็นที่ว่า การทำทานนั้น ถูกเสี้ยมสอนหรือถูกสั่งสอนให้เป็นตัวนำในการดำเนินชีวิต คือระบบของการทำบุญทำทาน หรือการไปตักบาตรตั้งแต่เช้า เรามีความสุขที่เราได้ให้ เรามีความกระตือรือร้นที่เราได้ให้ตั้งแต่ตื่นนอน หรือตั้งแต่เริ่มชีวิตวันใหม่. อันนี้เราถูกอบรมสั่งสอนให้มีชีวิตด้วย”การให้”.

การดำเนินชีวิตแบบ”การให้” กับการดำเนินชีวิตแบบ”การเอา”เป็นตัวนำ หรือมีความโลภเป็นตัวนำนั้น มันจะมีระบบซึ่งแตกต่างกัน. การดำเนินชีวิตที่มี”การให้”หรือ”ทาน”เป็นตัวนำ มันจะเป็นไปเพื่อการสร้างสรรค์ เพื่อการเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ แบ่งปัน ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน. แต่ว่าระบบที่เอาความโลภเป็นตัวนำ เริ่มตั้งแต่คิดว่า กูจะเอาอะไรเป็นตัวนำ เป็นระบบชีวิตซึ่งดำเนินไปด้วยความเห็นแก่ตัว เป็นไปเพื่อการแก่งแย่งและการทำลาย

อีกประเด็นหนึ่งนั้นก็คือ ในแง่ของ”การทำงาน”. ในทางพุทธศาสนาคือ”สัมมากัมมันตะ”, “สัมมาอาชีวะ” ระบบคิดตรงนี้ในทางพุทธศาสนาได้ชี้ให้เห็นชัดเจนว่า การงานจริงๆแล้ว ขอให้มันเป็นสัมมา ให้มัน”ชอบ”ให้มัน”ถูกต้อง” ไม่ว่าจะเป็นสัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ เราถือว่าการงานเหล่านั้น มีคุณค่ามีความหมาย. การที่คนหลายคนไม่อยากจะกลับมาสู่ชนบท เพราะมีความเข้าใจว่า อาชีพซึ่งตนจะต้องประสบเจอะเจอก็คือ อาชีพทางด้านกสิกรรมก็ดี พาณิชยกรรมในระดับต่ำก็ดี การทำไร่ไถนา จำพวกนี้ถือว่าเป็นการงานที่ต่ำต้อย อันนี้เป็นความเข้าใจโดยทั่วไป. แต่จริงๆแล้วในทางพุทธศาสนานั้น เราให้คุณค่าความหมายของการงานทุกอย่าง. การงานทุกอย่างมีคุณค่าความหมายในตัว. มีพระอาจารย์ท่านหนึ่งกล่าวว่า การทำงานนั่นแหละคือการปฏิบัติธรรม.

อ.สมปอง เพ็งจันทร์ : หากจะพูดถึงเรื่องของทุนบ้านนอก งานหัตถกรรมที่คิดและทำกันขึ้นมาซึ่งสืบทอดติดต่อกันมาเป็นระยะเวลาอันยาวนานนั้น ถือว่าเป็นทุนชนิดหนึ่ง, แม้ว่าจะถูกละเลยกันไปก็ตาม ในช่วงที่ได้มีการพัฒนาอุตสาหกรรมขึ้น และแรงงานเกษตรกรเป็นจำนวนมากได้ไหลเข้าไปในเมือง ดังนั้นเราจะเห็นได้ว่า งานศิลปะหัตถกรรมพื้นบ้านจะมีแต่เพียงคนแก่ หรือคนซึ่งมีอายุ 45 ปีขึ้นไปยังคงรักษาและทำการสืบทอดศิลปหัตถกรรมเหล่านี้กันไว้ต่อๆมา.

การที่หลายคนออกไปทำงานกันตามแหล่งอุตสาหกรรม หรือออกไปทำงานตามร้านค้าหรือห้างสรรพสินค้าต่างๆ ด้วยความรู้สึกที่ว่า งานเหล่านั้นจะทำให้เขามีรายๆได้และความสบายตามมานั้น ปัจจุบันก็ได้พิสูจน์แล้วว่ามันไม่เป็นเช่นนั้น หลายคนถูกเลิกจ้าง ทำให้ต้องหวนคืนกลับมาสู่ชนบท. งานหัตถกรรมที่ยังคงรักษาไว้ได้ด้วยคนแก่ๆได้เข้ามามีส่วนช่วยให้แรงงานที่ไหลกลับจากภาคเมืองเหล่านี้ได้มีงานทำ มีงานที่ยังรองรับอยู่. ประกอบกับแหล่งวัตถุดิบทางธรรมชาติ เช่น ไม้ชนิดต่างๆ ไม่ไผ่ ก็ยังคงมีอยู่, ทำให้สามารถที่จะนำมาใช้เพื่อเป็นวัตถุดิบในการประกอบการทางด้านหัตถกรรม

แต่อย่างไรก็ตาม ต้องไม่ลืมว่า งานหัตถกรรมต่างๆที่ทำขึ้นมาในอดีตนั้น มันมีหน้าที่ใช้สอยสำหรับการดำเนินชีวิตประจำวันในอดีต แต่ปัจจุบันสังคมได้เปลี่ยนแปลงไป การปรับปรุงศิลปหัตถกรรมให้ตรงกันกับประโยชน์ใช้สอยในการดำเนินชีวิตปัจจุบันก็ถือว่าเป็นสิ่งจำเป็น เพราะจะทำให้หาตลาดได้ง่าย เพราะมีผู้ต้องการ. อีกประการหนึ่งซึ่งขอเพิ่มเติมในที่นี้ก็คืองานออกแบบก็เป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งจะต้องมีการออกแบบหรือมีการประยุกต์อยู่อย่างสม่ำเสมอ พร้อมกันไปกับสังคมซึ่งกำลังเปลี่ยนแปลงไป.

ทัศนะของนักวิชาการบ้านนอก ต่อเรื่อง ”ทุนบ้านนอก”(ต่อ)

ฉลาดชาย รมิตานนท์ : เคยมีการพูดคุยกันว่า เราสามารถแยกทุนบ้านนอกต่างๆออกเป็นประเภทๆได้ไหม ? ผมคิดว่าได้ อย่างเช่น จะเป็นทุนทางวัฒนธรรมประเภทแรก, ทุนทางวัฒนธรรมนี้มิได้หมายถึงอย่างที่ ททท.หมายความ, คือเอาศิลปะไปขาย เอาการแสดงไปขาย ผมหมายถึงทุนทางวัฒนธรรมที่มันจะช่วยให้เราสามารถจะดำรงชีวิตอยู่ได้ ในช่วงวิกฤต ไม่ว่าจะเป็นเรื่องทางเศรษฐกิจก็ดี เรื่องทางการเมืองก็ดี. นอกจากจะดำรงชีวิตอยู่ได้แล้ว จะต้องดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างไม่ทุลนทุลายด้วย คือ อย่างมีความสุข อย่างมีสันติ มีความสงบเย็นในจิตใจของตนพอสมควรโดยไม่ต้องไปทำร้ายคนอื่นเขา.

“ทุนทางวัฒนธรรม”นี้ ถ้าจะแยกออกมา ก็จะได้เป็น”ทุนทางศาสนา” ซึ่งความเชื่อทางศาสนาในที่นี้ เราอาจจะตีความศาสนาว่ามันเป็นพุทธศาสนา แต่จริงๆแล้วสังคมไทยนี่ เราไม่ได้นับถือ”พุทธ”แต่เพียงอย่างเดียว เรานับถือ”ผี”ด้วย คนส่วนใหญ่นับถือผี. ดังนั้นถ้าเราพูดถึงต้นทุนบ้านนอก เราจะต้องพูดถึงความเชื่อในเรื่องผี, ซึ่งต้องไม่ใช่ผีที่เที่ยวไปหลอกไปหลอนชาวบ้าน หรือผีที่น่ากลัวซึ่งมาทำเป็นภาพยนตร์หรือละครโทรทัศน์. แต่เป็นผีในความหมายซึ่งเป็นกติการ่วมกันในสังคม เป็นกลไกที่ชุมชนได้ตกลงกันใช้เพื่อสร้างความเป็นเอกภาพก็ดี สร้างความสามัคคีก็ดี หรือรักษาดุลยภาพของสิ่งแวดล้อมก็ดี เหล่านี้ก็คือผีนั่นเอง. ฉะนั้นเราจะเห็นว่าชาวบ้านเขามีผีต้นน้ำ ผีป่า ผีดอยซึ่งคอยดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมต่างๆ ผีรักษาแม่น้ำ ผีรักษาลำห้วย ผีรักษาฝาย รักษานา ซึ่งความเชื่อในเรื่องผีนี้ มันได้มาทำหน้าที่ใน”การอนุรักษ์” ให้ชาวบ้านนอกยังคงรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมาได้ยาวนานนับเป็นร้อยๆปีแล้ว.

ผีอีกประเภทหนึ่งซึ่งทางเหนือเราเรียกว่า”ผีปู่ย่า” ถ้าเป็นภาษาภาคกลางเราก็เรียกว่าเป็นผีบรรพบุรุษ หรือถ้าเป็นทางภาคอีสานเขาก็จะเป็นผีปู่ตา หรือพ่อแก่แม่แก่ อะไรต่างๆนานเหล่านี้. ผีประเภทนี้ก็สำคัญอีกเหมือนกันเพราะได้มาช่วยสร้างสัมพันธภาพที่ดีของคนทำให้คนซึ่งอยู่ในสายสกุลเดียวกัน เป็นญาติพี่น้องกัน ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ทั้งในยามที่ตกทุกข์ได้ยาก ทั้งในยามที่จำเป็นซึ่งต้องมีการระดมแรงงานมาช่วยกัน เช่นการทำไร่ทำนาหรือการเกี่ยวข้าว. ผีจึงมีความสำคัญ, ในทุกชนเผ่าของประเทศไทย มีความเชื่อในเรื่องผีทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นชาวไทยพื้นราบหรือชาวไทยภูเขา ความเชื่อเรื่องผีบวกกับความเชื่อเรื่องพุทธ มันช่วยให้เรารักษาทุน หรือทรัพยากรของเราเอาไว้ได้ ตัวอย่างที่ชัดเจนก็คือเรื่องป่าชุมชน เพราะชาวบ้านมีความเชื่อในเรื่องผี ที่ช่วยดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม

นอกจากเรื่องของสิ่งแวดล้อม ผมคิดว่าต้นทุนทางวัฒนธรรมในเรื่องของความเชื่อทางศาสนา มันยังช่วยทำให้ เรามีความยืดหยุ่นที่เราจะรองรับวิกฤตต่างๆได้. เหมือนกับที่เขาบอกว่า สถาบันทางการเงินบางสถาบันนี่มันล้มนั้น มันล้มบนฟูก. ผมคิดว่าบ้านนอกเรา เรามีฟูกที่ดีกว่านั้นอีก ก็คือ”ฟูกทางวัฒนธรรม” เราล้มแล้วไม่เจ็บ. ลูกหลานที่เข้าไปทำงานในเมือง ไปรับจ้างอะไรต่างๆ แล้วตกงานกลับมา มันยังมี”ฟูกทางวัฒนธรรม”ที่รองรับไม่ต้องให้เขาบอบช้ำมากจนเกินไป. สายสัมพันธ์ทางเครือญาติ ในทางเหนือนี่ การนับถือผีปู่ย่า การนับถือบรรพบุรุษ การนับถือผู้ใหญ่ ถึงปีเขาก็จะต้องกลับมาในพิธีเลี้ยงผีปู่ย่า ก็เป็นการประสานความสัมพันธ์ทางเครือญาติ ที่จะต้องช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ถึงปีเขาจะต้องกลับมาดำหัวพ่อแม่ ในตอนปีใหม่หรือสงกรานต์. ในทางภาคอีสานก็มีธรรมเนียมในทางเดียวกัน. ดังนั้น เราจะเห็นได้ว่า พอถึงเทศกาลเหล่านี้ คนจะหายไปจากกรุงเทพฯเยอะมากเลย นั่นก็คือเขาได้ไปทำให้ฟูกของเขานั้นมันยังคงอยู่ต่อไป. ทีนี้เมื่อเจอสภาวะวิกฤตนี้แล้ว กลับไปเข้าก็ยังมี พ่อแม่พี่น้อง เครือญาติ ซึ่งยังคอยดูแลเอาใจใส่ คอยถามเรื่องทุกข์สุขต่างๆ มีความเอื้อเฟื้อเกื้อกูล มีข้าวกิน มีบ้านอยู่อะไรต่างๆพวกนี้. และที่สำคัญยิ่งไปกว่านี้ก็คือ ความเชื่อทางศาสนานั้นมันทำให้เกิดความเกื้อกูลกัน ไม่ละทิ้งกัน. และยิ่งประกอบกันเป็นเครือญาติด้วยแล้ว มันก็จะยิ่งมีน้ำหนักมากขึ้น

“ทุนทางทรัพยากร”ก็เป็นอีกอย่างหนึ่งซึ่งเพิ่มขึ้นมาต่อจากทุนวัฒนธรรม. ทรัพยากรนี้ก็มีทั้งดิน มีทั้งน้ำ มีทั้งป่า ซึ่งดิน,น้ำ,ป่านี่ ชาวบ้านจะมองเป็นภาพรวม ไม่แยกออกจากกัน. แต่ถ้าเป็นทางเศรษฐศาสตร์หรือผู้วางแผนการพัฒนาก็ดี ก็จะแยกดินก็เป็นที่ดินไป น้ำก็เป็นน้ำ, ดังนั้น ที่ดินก็จัดการโดยกรมที่ดิน ป่าก็จัดการโดยกรมป่าไม้ น้ำก็จัดการโดยกรมชลประทาน. แต่ว่า ชาวบ้านเขามองภาพรวมทั้งหมด ดิน,น้ำ,ป่านี่ มันคือที่มาของชีวิตของเขา. ที่ดินหมายถึงที่สำหรับทำไร่ทำนา ที่สำหรับทำการผลิต และที่อยู่อาศัย, ป่าเป็นที่มาของน้ำ ซึ่งนำมาใช้ในการทำไร่ทำนา นำมาใช้เพื่อการบริโภค ป่าเป็นที่มาของอาหาร, หน้าฝนก็ไปเก็บหน่อไม้ ไปเก็บเห็ด ไปเก็บผักต่างๆ ซึ่งจริงๆแล้วก็เก็บกันได้ทุกๆฤดูตลอดปี. สมุนไพรก็หาได้ในป่า ก็ยังคงมีอยู่มากพอสมควรในบ้านของเรา. วัสดุที่ใช้ในการก่อสร้าง เช่น ทำรั้ว ทำเสา อะไรต่างๆพวกนี้ วัสดุมุงหลังคา หญ้าคาที่เรามองเห็นกันว่าเป็นวัชพืช ชาวบ้านนำมาใช้ประโยชน์ได้เป็นอย่างดีในการมุงหลังคา. ไม้ในป่าก็สามารถนำมาใช้ทำเครื่องมือในการผลิตได้ เช่นทำด้ามจอบ ด้ามเสียมอะไรต่างๆ. เชื้อเพลิงในการหุงต้มก็มาจากป่า และที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งก็คือ ชาวบ้านเขาใช้ป่าเป็นที่เลี้ยงสัตว์ อย่างในภาคเหนือนี่ เนื่องจากที่พื้นราบนี่มันถูกเปลี่ยนเป็นไร่เป็นนา และถูกใช้ตลอดปี ที่สำหรับเลี้ยงสัตว์มันไม่ค่อยมีแล้ว ชาวบ้านเขาก็เลยใช้วิธีการปล่อยเข้าป่า ป่าก็เลยเป็นที่เลี้ยงสัตว์ไป. ดังนั้น ดิน,น้ำ,ป่า มันจึงเป็นทรัพยากรที่สำคัญ และในยามที่เศรษฐกิจทรุดนี่ ชาวบ้านก็เซ แต่อย่างที่พูดเอาไว้ เขายังมี”ฟูกทางทรัพยากร”ซึ่งเขาดูแลรักษากันไว้รองรับอยู่ ก็ยังสามารถทำให้มีชีวิตอยู่รอดต่อไปได้.

ทุนอีกชนิดหนึ่ง อาจจะเรียกว่าเป็น”ทุนทางสังคม”ก็ได้. ทุนทางสังคมนี่มันก็จะมีทั้งที่เป็นนามธรรมและเป็นรูปธรรม. ด้านที่เป็นนามธรรมก็คือ สิ่งที่เราเรียกว่า”ภูมิปัญญาชาวบ้าน”. ภูมิปัญญาชาวบ้านนี้มิได้หมายถึงภูมิปัญญาในการสานแห สานตะข้อง หรือทำกระบวยเท่านั้น แต่ว่าภูมิปัญญาชาวบ้านมันน่าจะหมายถึงเรื่องที่กว้างกว่านั้น รวมทั้งโลกทัศน์ที่ว่า โลกนี้คืออะไร ชีวิตนี้คืออะไร ? โลกทัศน์ ชีวทัศน์มันเป็นอย่างไร ? ความสุขในชีวิตเป็นอย่างไร ความสำเร็จในชีวิตเป็นอย่างไร ? ผมคิดว่าภูมิปัญญาชาวบ้านเหล่านี้ ด้านหนึ่งมันก็เป็นผลผลิตของพุทธศาสนา แต่อีกด้านหนึ่งมันก็เป็นสิ่งซึ่งเราสืบทอดกันมานานแล้ว นั่นก็คือ ชาวบ้านไม่ต้องการสะสมความมั่งคั่งในทางเศรษฐกิจ. จะสังเกตุเห็นว่า สมัยก่อนการพัฒนา ชาวนาไทยถูกมองว่าเป็นชาวนาที่ขี้เกียจ เพราะฉะนั้นประเทศไทยก็เลยด้อยพัฒนา. ชาวนาไทยถูกวิเคราะห์โดยนักวิชาการต่างประเทศว่า เป็นพวกที่ไม่ทำการผลิตอย่างเต็มที่ เพราะฉะนั้นจึงเป็นพวกที่ขี้เกียจสันหลังยาว ใช้เวลาว่างไม่เกิดประโยชน์ เช่นว่าไปดักปลา ตีไก่ เล่นการพนัน เพราะฉะนั้น ก่อนมีการพัฒนาได้มีการประเมินลักษณะประจำชาติของชาวนาไทยหรือคนไทยว่า ไม่กระตือรือร้นในทางเศรษฐกิจ

ปัญหาของการพัฒนาในช่วงนั้น เมื่อ 40 ปีที่แล้ว ก็คือ ทำอย่างไรถึงจะเปลี่ยนระบบคิดของชาวนาไทยให้ได้. เปลี่ยนระบบคิดของชาวนาไทยให้เป็นระบบคิดแบบทุนนิยม คือมองอะไรเป็นเงินไปหมด ทำให้เกิดความอยาก เช่น อยากได้โน่นอยากได้นี่ อยากได้ทุกสิ่งทุกอย่าง คือพูดง่ายๆ สร้างความโลภ. แต่ในขณะที่ต้นทุนทางวัฒนธรรมของเรา ต้นทุนทางสังคมของเรา เราบอกว่าอย่าโลภ อยู่พอมีพอกิน อยู่อย่างช่วยเหลือเกื้อกูล อยู่อย่างเจือจานคนอื่น อยู่อย่างรู้จักให้ทาน. แต่การพัฒนาแบบใหม่นี้บอกว่า”ต้องโลภ” ซึ่งอันนี้มันตรงข้ามกันเลยทีเดียว.

ทีนี้มาดูกันที่ภูมิปัญญาชาวบ้านในทาง”การจัดการ” อันนี้ก็มี. เรานึกว่า”การจัดการ”นี่จะมีก็แต่เฉพาะการเรียนการสอนในมหาวิทยาลัย เช่น วิชาการบริหารธุรกิจ วิชาการบริหารรัฐกิจ หรือการบริหารอะไรก็แล้วแต่ คือวิชาการจัดการ แต่ความจริงแล้วชาวบ้านนี่มีการจัดการของเขา. การจัดการเรื่องที่ดิน การจัดการเรื่องน้ำ ภาคเหนือนี่เด่นมากในเรื่องของการจัดการเรื่องน้ำ เรามีระบบชลประทานที่ชาวบ้านทำเอง อันนี้สืบย้อนหลังไปได้ 300-400 ปีเลยทีเดียว เราเรียกว่าระบบเหมืองฝาย. และอีกอย่างหนึ่งซึ่งเราค้นพบเมื่อไม่นานมานี้ก็คือ”ป่าชุมชน” ซึ่งชาวบ้านได้เข้ามาจัดการป่า จัดการดิน จัดการน้ำเองมาโดยตลอด เพราะฉะนั้นเราจึงมีป่าเหลืออยู่จำนวนหนึ่งซึ่งชาวบ้านช่วยกันดูแล. ในภาคอีสานก็มีป่าชุมชนเช่นเดียวกัน.

นี่คือ”ภูมิปัญญาในด้านของการจัดการ”. ที่เราเห็นเป็นรูปธรรมของการจัดการก็คือ จะมีคณะกรรมการหมู่บ้าน คณะกรรมการดูแลในเรื่องป่า คณะกรรมการที่จะจัดการเรื่องเหมืองฝาย ซึ่งในทางเหนือนี่ใหญ่มากเพราะมันกินพื้นที่เป็นหมื่นๆไร่ และก็เกี่ยวข้องกับชีวิตผู้คนเป็นแสน ดังนั้น องค์กรของชาวบ้านจึงใหญ่มาก และก็มีประสิทธิภาพ คงทน ถาวร ยืนนานมาเป็นร้อยๆปี.

“วิทยาศาสตร์ของชาวบ้าน”ก็มี แต่ว่าวิทยาศาสตร์ของชาวบ้านไม่จำเป็นต้องมาเข้าห้องแล็บพิสูจน์หรือทดลองนะครับ มันเกิดจากการใช้ที่ใช้ได้ผลมาเป็นระยะเวลานาน อันนี้ก็ใช้กันมาเลย เช่นเวลาเขาดูดิน เขาจะรู้ว่าตรงนี้ปลูกข้าวดี ไม่ต้องมาแยกออกว่ามันมี NPK เท่าไหร่ แต่เขารู้จากสีของมัน หรือรู้จากต้นไม้ซึ่งขึ้นในบริเวณนั้น แล้วก็บอกได้ว่าดินตรงนั้นดี. ในบางท้องที่ถึงกับชิมดู และรู้ว่าดินนั้นดี เหมาะที่จะปลูกพืชชนิดนั้นชนิดนี้. (หรือเรื่องของการปลูกต้นฝรั่ง ชาวบ้านก็สังเกตุว่า ถ้าปลูกต้นฝรั่งตรงๆ มันก็จะสูงขึ้นไปเรื่อยๆ ไม่ค่อยแตกกิ่งก้านสักเท่าไหร่ เมื่อกิ่งก้านมีไม่มาก ผลฝรั่งที่จะติดก็มีไม่มาก ชาวบ้านก็เลยปลูกต้นฝรั่งเอียงเพื่อให้มันได้กิ่งมาก จะได้ติดผลได้มาก เหล่านี้เป็นวิทยาศาสตร์ของชาวบ้านในการเพิ่มผลผลิต). เรื่องของเมล็ดพันธุ์ เช่น ข้าวหรือผักต่างๆ ชาวบ้านก็มีวิธีการคัดพันธุ์ของเขามาโดยตลอด อันไหนไม่ดีเขาก็จะเลิกใช้ จะใช้แต่พันธุ์ที่ดี. ยกตัวอย่างข้าว เวลาเขาจะเกี่ยวข้าว เมื่อเขาเกี่ยวข้าวแล้ว เขาจะเลือกเอาที่รวงใหญ่ที่สุด หรือเม็ดดีที่สุดเพื่อเก็บเอาไว้ ทั้งนี้เพื่อใช้ในการทำพันธุ์ในปีต่อไป อย่างนี้เป็นต้น

ดังนั้นทั้งหมดนี้เท่าที่เวลาอันจำกัด ผมจึงสรุปได้ว่าทุนบ้านนอกนั้น มีอยู่หลายชนิดหรือหลายประเภทด้วยกัน และเป็นสิ่งที่มีอยู่ เป็นต้นทุนของสังคมไทยเรา

นิธิ เอียวศรีวงศ์ : สรุป

จากการที่เราได้ดูรายการนี้ จะเห็นว่า ทุนซึ่งเรามีอยู่ในท้องถิ่นหรือในบ้านนอกที่ว่านี้มีอยู่เป็นจำนวนมากทีเดียว นอกจากจะมีอยู่เป็นจำนวนมากแล้ว มันมีความหลากหลายของทุนด้วย เพราะฉะนั้นผมคิดว่า นอกจากเราจะมีทุนอยู่ของตัวเราเองจำนวนมากแล้ว ทำให้เราเห็นได้ชัดว่าเราไม่จำเป็นที่จะต้องพึ่งคนอื่นเขา ในเวลาเดียวกัน ก็ไม่จำเป็นต้องรอว่าเศรษฐกิจของโลกดีขึ้น หรือไม่ดีขึ้น ถ้าเราให้ความสำคัญกับประเภทของทุนที่เรามีอยู่จำนวนมากเหล่านี้.

จากหลายๆท่านที่ได้พูดไปแล้วนั้น จะเห็นได้ว่า ทุนเหล่านี้เป็นทุนซึ่งทุกคน หรือคนจำนวนมากในท้องถิ่นในประเทศไทยมีอยู่ ครอบครองอยู่ มันกระจายกันอยู่ทั่วไปทั้งประเทศ ไม่ใช่การกระจุกตัวของทุนแบบปัจจุบันที่มีอยู่กับคนเพียงไม่กี่คน ฉะนั้นถ้าเราให้ความสำคัญกับการพัฒนาทุนเหล่านี้ขึ้นมา จะมีผลประโยชน์ไปถึงผู้คนเป็นจำนวนมากมาย แทนที่จะเป็นการพัฒนาที่กระจุกตัวอยู่กับคนที่ได้รับการพัฒนาเพียงไม่กี่คน. ผมถึงมีความสงสัยว่านักการเมืองหรือใครก็ตาม หรือผู้บริหารในหน่วยราชการใดๆก็ตาม หรือผู้นำของสังคมเรา ทำไมจึงให้ความสำคัญกับทุนประเภทนี้น้อยเหลือเกิน จริงๆแล้ว เรามีโอกาสที่จะพัฒนาทุนเหล่านี้ไปได้อีกไกลมากๆ และเป็นหนทางที่จะช่วยให้ประเทศไทยเรานี่เอาตัวรอดได้ในภาวะเศรษฐกิจอย่างที่เป็นอยู่ในทุกวันนี้

คำถามที่อยากจะทิ้งไว้ในที่นี้ก็คือว่า เมื่อไหร่พวกเราจึงจะให้ความสำคัญหรือให้ความสนใจพัฒนาทุนที่เรามีอยู่แล้วให้มากขึ้น