การผลิตเมล็ดพันธุ์พืชไร่

 

Field  Crops  Seed  Production

 

 

 

รศ.ดร. ชยพร  แอคะรัจน์

วท.บ. , M.S. , D.Sc.

 

www.oocities.org/university2u

สารบัญ

 

 

บทที่ 1 หลักการผลิตเมล็ดพันธุ์พืชไร่     ..........…………………………….    4

 

บทที่ 2 ขั้นตอนในการผลิตเมล็ดพันธุ์พืชไร่     ……………………………….    19

 

บทที่ 3 การรับรองเมล็ดพันธุ์     ………..………………………………………..   32

 

บทที่ 4 การผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว     ……………….………………………………   42

 

บทที่ 5 การผลิตเมล็ดพันธุ์ถั่วเหลือง-ถั่วลิสง     …………………….……….   47

 

บทที่ 6 การผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวโพด-ข้าวฟ่าง     …………………….…..….    65

 

บทที่ 7 การผลิตเมล็ดพันธุ์ทานตะวัน-งา     …………………..………….…     79

 

 

                                     

-----------------------------------


บทที่ 1

หลักการผลิตเมล็ดพันธุ์พืชไร่

 

1.1 ความสำคัญของการผลิตเมล็ดพันธุ์

     1.ทำให้เกิดการว่าจ้างแรงงาน

     2.เป็นการนำรายได้เข้าประเทศ

     3.เป็นการยกระดับทางพันธุกรรมของพืช

 

1.2 ประเภทของการผลิตเมล็ดพันธุ์

     1.การผลิตเมล็ดพันธุ์ผสมเปิด

     2.การผลิตเมล็ดพันธุ์ลูกผสม

 

1.3 ข้อดี-ข้อเสียของการผลิตเมล็ดพันธุ์

     ข้อดี

          1.กำไรมาก เนื่องจากมีราคาขายสูงกว่า

          2.มีความเสี่ยงทางตลาดน้อย เนื่องจากมีตลาดตกลงรับซื้อแน่นอน

     ข้อเสีย

          1.ต้องทำงานอย่างประณีต เอาใจใส่สูงกว่าการปลูกพืชตามปกติ

          2.อาจจะได้รับเงินช้า เพราะต้องคอยผลการตรวจสอบคุณภาพเมล็ดพันธุ์ก่อน

 

__________________________

บทที่ 2

                                      ขั้นตอนในการผลิตเมล็ดพันธุ์พืชไร่

2.1 การเลือกพื้นที่ปลูก

     1.ดินบริเวณนั้น ต้องมีสภาพดี

     2.ไม่เป็นแหล่งระบาดของโรคแมลงศัตรูพืช

     3.เป็นที่ที่ไม่ได้ปลูกพืชชนิดนั้นมาก่อน ถ้าเคยปลูกมาแล้วจะต้องปลูกพืชชนิดอื่นก่อน อย่างน้อย 1 รุ่น เช่น เป็นนาข้าวมาก่อน เป็นต้น

     4.ห่างจากแปลงอื่นๆที่ปลูกพืชชนิดเดียวกัน ในระยะห่างที่ได้กำหนดไว้ ในแต่ละชนิดของพืช

     5.อยู่ใกล้แหล่งน้ำ  หรือ สามารถให้น้ำได้ง่าย

     6.อยู่ใกล้ที่พัก หรือ เป็นที่ที่สามารถติดตาม  เอาใจใส่ดูแลพืชที่ปลูก ได้อย่างสะดวก

     7.ควรเป็นพื้นที่ที่ใกล้เคียงกันเป็นแปลงขนาดใหญ่ประมาณ100ไร่ขึ้นไป

     8.ควรมีการคมนาคม สะดวก

2.2 การเลือกระยะเวลาปลูก

     ปลูกปลายฤดูฝนหรือต้นฤดูหนาว เพื่อจะได้เก็บเกี่ยวในฤดูแล้ง    

2.3 การเตรียมดิน

     1.กำจัดวัชพืชออกให้หมด

     2.ไถ คราด ย่อยดิน ปรับที่ให้ได้ระดับ และร่วนซุย

     3.ควรโรยปูนขาว เพื่อปรับระดับความเป็นกรด-ด่างของดินให้เหมาะสม

     4.ควรนำปุ๋ยคอก หรือปุ๋ยหมัก มาโรยเป็นปุ๋ยรองพื้น

2.4 การปลูก

     1.ปลูกด้วยระยะปลูกที่กำหนดไว้ ของพืชชนิดนั้นๆ

     2.ปลูกด้วยอัตราการใช้เมล็ดพันธุ์ที่เหมาะสม

2.5 การดูแลรักษาพืชปลูก

     การป้องกันกำจัดวัชพืช

     1.โดยการใช้แรงงานคน

     2.โดยใช้เครื่องทุ่นแรง

     3.โดยการใช้สารเคมีปราบวัชพืช

     การให้ปุ๋ย

     1.ใช้สูตรปุ๋ย ให้ถูกต้องตามคำแนะนำ ของพืชชนิดนั้นๆ

     2.ดูชนิดของดินในพื้นที่ปลูกของตนเอง

     3.ให้ในอัตราที่เหมาะสม

     4.ให้ในระยะเวลาที่ถูกต้อง

     5.ใส่ตรงบริเวณแนวชายพุ่มของต้นพืช อย่าใกล้โคนต้น หรือห่างมากเกินไป

     6.กำจัดวัชพืชก่อนใส่ปุ๋ย เมื่อใส่ปุ๋ยแล้ว ทำรุ่นพูนโคนต้นพืช

     การให้น้ำ

     ให้ตามระยะการเจริญเติบโตของพืช

          1.ช่วงแรก พืชเริ่มงอก                             -ต้องให้น้ำอย่างเพียงพอ

          2.ช่วงที่พืชเป็นต้นกล้าอ่อน                      -ต้องให้น้ำอย่างเพียงพอ

          3.ช่วงที่พืชเริ่มแทงช่อดอก                       -ต้องให้น้ำน้อยลง แต่ห้ามขาดน้ำ

          4.ช่วงที่พืชกำลังติดฝัก,ติดเมล็ด                -ต้องให้น้ำอย่างเพียงพอ

          5.ช่วงที่เมล็ดพืชกำลังจะแก่                     -ห้ามให้น้ำ

     การป้องกันกำจัดศัตรูพืช

     1.ดูแนวโน้มก่อนว่า ปลูกพืชชนิดนี้แล้ว จะต้องพบกับปัญหาโรคพืชอะไรบ้าง แมลงศัตรูพืชตัวไหนบ้าง จะพบช่วงไหนของการเจริญเติบโตของพืช จะได้เตรียมตัว แรงงาน อุปกรณ์ สารเคมี และวิธีการต่างๆ ที่จะป้องกันกำจัดไว้ได้อย่างพร้อมเพรียงเสียตั้งแต่เนิ่นๆ

     2.หมั่นตรวจแปลงอยู่เสมอๆ ด้วยความละเอียด ถี่ถ้วน และเอาใจใส่ตลอดทั่วทั้งแปลงปลูก

     3.พยายามวินิจฉัย ให้ทราบแน่ชัดว่า ถ้าเป็นโรคจะเป็นโรคอะไร ถ้าเป็นเพราะแมลง จะเป็นแมลงอะไร  ถ้าเป็นเพราะปัญหาอย่างอื่น ปัญหานั้นคืออะไร  ถ้าไม่ทราบแน่จริง ก็ให้ปรึกษาท่านผู้รู้ท่านอื่นๆ

     4.ถ้าพบในช่วงแรก ที่มีปริมาณน้อยๆ ควรใช้วิธีค้นหา จับทำลาย ถอน เด็ดทิ้ง

     5.ถ้าต่อมาพบว่าเริ่มระบาดมาก ไม่สามารถใช้แรงงาน ค้นหา จับทำลายได้แล้ว จึงจะใช้สารเคมี มาควบคุม ป้องกัน กำจัด ศัตรูพืช

2.6 การกำจัดพันธุ์ปน      

     _การถอนพันธุ์ปนออกจากแปลงปลูก

     1.ให้เริ่มถอนต้นพืชที่ไม่ต้องการออกจากแปลงปลูก เท่าที่จะสามารถจำแนกได้ว่าแตกต่างกัน

     2.ควรกระทำให้เสร็จ ก่อนที่พืชจะออกดอก

     3.ถ้าถอนไม่ได้ ให้ใช้วิธีตัดทำลาย

     4.ต้นพืช ที่จะต้องได้รับการ ถอนทิ้ง ได้แก่

          1.)ต้นพืชที่เป็นพันธุ์อื่น

          2.)ต้นที่กลายพันธุ์

          3.)ต้นวัชพืช

          4.)ต้นพืชชนิดอื่นๆ

          5.)ต้นที่สูง หรือ ต่ำกว่า ต้นปกติทั่วไป

          6.)ต้นที่ออกดอกเร็ว หรือ ช้ากว่า ต้นปกติทั่วไป

          7.)ต้นที่มีลักษณะอ่อนแอ ไม่สมบูรณ์

          8.)ต้นที่เป็นโรค หรือ ถูกแมลงมาทำลายมากผิดปกติ

     5.ประสานงาน กับเจ้าหน้าที่ตรวจไร่นาและแปลงปลูก อย่างใกล้ชิดอยู่เสมอ

2.7 การเก็บเกี่ยวเมล็ดพันธุ์

     ปัจจัยที่ต้องคำนึงถึงในการเก็บเกี่ยว

     1.ความชื้นของเมล็ด(Seed moisture contents) -ความชื้นสูงเกินไป จะมีปัญหาในการลดความชื้นหลังการเก็บเกี่ยวเช่น การตาก การนวด แต่ถ้าความชื้นต่ำเกินไป จะมีปัญหาในระหว่างการเก็บเกี่ยว เช่น เมล็ดร่วงหล่นมาก เป็นต้น

     2.วิธีการเก็บเกี่ยว(Seed harvesting methods)

          ถ้าใช้แรงงานคน -ใช้กับเมล็ดพันธุ์ที่มีราคาแพง พื้นที่การผลิตไม่มากนัก 

          ถ้าใช้เครื่องจักรกล -ใช้กับเมล็ดพันธุ์ราคาไม่แพง พื้นที่การผลิตมีมาก

     3.ช่วงเวลาในการเก็บเกี่ยว -ควรเก็บเกี่ยวในช่วงเช้า เพราะเมล็ดยังมีความชื้นสูงไม่มีปัญหาเรื่องเมล็ดร่วงหล่น และจะได้นำมาลดความชื้นในตอนกลางวันได้ดี เช่นการนำมาตากที่ลานตากเมล็ดพันธุ์ เป็นต้น

2.8 การปรับสภาพเมล็ดพันธุ์

     วัตถุประสงค์ของการปรับสภาพเมล็ดพันธุ์

          1.เพื่อคัดแยกสิ่งเจือปนออกจากเมล็ดพันธุ์(Removing contaminants)

          2.เพื่อคัดขนาดเมล็ดพันธุ์(Sizing)

          3.เพื่อปรับปรุงคุณภาพของเมล็ดพันธุ์ให้ดีขึ้น(Upgrading)

          4.เพื่อคลุกสารเคมีป้องกันกำจัดโรคแมลงศัตรูเมล็ดพันธุ์(Treating)

      ขั้นตอนการปรับสภาพเมล็ดพันธุ์

        1.การพักเมล็ดพันธุ์ (Bulk storage)

        2.การตาก หรือลดความชื้น (Seed drying)

        3.การทำความสะอาดเบื้องต้น (Conditioning and  precleaning)

        4.การทำความสะอาด (Cleaning)

        5.การคัดแยก และการคัดเกรด (Seperating  and Upgrading)

        6.การคลุกสารเคมี และการบรรจุหีบห่อ (Treating and Packing  หรือ Bagging)

        7.การขนส่ง และการเก็บรักษา (Shipping  and Storage)

2.9 การเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์

     ต้องเก็บในสถานที่ซึ่งมีลักษณะดังนี้ คือ

          1.แห้งและเย็น

          2.สะอาด

          3.อากาศถ่ายเทได้สะดวก

          4.สามารถป้องกันแดดและฝนได้

          5.สามารถป้องกันนก หนู ปลวก มด และแมลงต่างๆ ไม่ให้มากัดกินเมล็ดพืชได้

          6.การเก็บเมล็ดพันธุ์ ต้องไม่เก็บรวมกับปุ๋ย สารเคมี น้ำมันเชื้อเพลิง และของเหลวต่างๆ

2.10 การตรวจสอบคุณภาพเมล็ดพันธุ์

     คุณสมบัติของเมล็ดพันธุ์ที่ดี - เมล็ดพันธุ์ที่มีคุณภาพดี จะต้องมีคุณสมบัติดังนี้ คือ

     1.ตรงตามพันธุ์

     2.มีความงอกสูง

     3.มีความบริสุทธิ์สูง

     4.ปราศจากโรคแมลงศัตรูพืช

     5.มีอายุการเก็บรักษาที่ยาวนาน

     ชนิดของการตรวจสอบคุณภาพของเมล็ดพันธุ์(Types of seed testing)

     การตรวจสอบและวิเคราะห์คุณภาพเมล็ดพันธุ์ แบ่งออกได้เป็น 9 การตรวจสอบ คือ

          1.การตรวจสอบความบริสุทธิ์ของเมล็ดพันธุ์ (Purity test)

          2.การทดสอบความงอกของเมล็ดพันธุ์ (Germination test)

          3.การทดสอบความแข็งแรงของเมล็ดพันธุ์ (Seed vigor test)

          4.การตรวจสอบความชื้นของเมล็ด (Seed moisture test)

          5.การทดสอบความมีชีวิตของเมล็ดพันธุ์โดยชีวเคมี (Biochemical test for seed viability)

          6.การตรวจสอบสุขภาพของเมล็ดพันธุ์ (Seed health test)

          7.การทดสอบพันธุ์แท้ของเมล็ดพันธุ์ (Varietal purity test)

          8.การหาค่าน้ำหนักของเมล็ดพันธุ์ (Seed weight determination)

          9.การตรวจสอบความเสียหายของเมล็ดพันธุ์ (Seed damage determination)

 

 

__________________________

บทที่ 3

การรับรองเมล็ดพันธุ์

3.1 ความสำคัญของกฎหมายเมล็ดพันธุ์ (Seed laws)

     หลักการ หรือ เหตุผลอันสำคัญ ของการมีกฎหมายเมล็ดพันธุ์ก็คือ การป้องกันและคุ้มครองผู้บริโภคให้ได้ใช้เมล็ดพันธุ์ที่ดี มีลักษณะตรงตามที่แจ้งหรือระบุไว้ที่ป้าย เช่น ความบริสุทธิ์ของเมล็ดพันธุ์, ความงอก และความชื้นของเมล็ดพันธุ์เป็นต้น

     การกำหนด หรือร่างกฎหมายเมล็ดพันธุ์ ตลอดจนการควบคุมการใช้กฎหมายให้สัมฤทธิ์ผลนั้น เป็นหน้าที่โดยตรงของรัฐบาล

3.2 โครงสร้างหรือองค์ประกอบของกฎหมายเมล็ดพันธุ์

     ในการดำเนินการให้กฎหมายเมล็ดพันธุ์สัมฤทธิ์ผลนั้น อาจจะแบ่งโครงสร้างของกฎหมายเมล็ดพันธุ์ออกเป็น 2 ส่วนด้วยกันได้แก่

          1.หน่วยงานที่ทำหน้าที่ออกกฎหมายหรือระเบียบข้อบังคับต่างๆ  หน่วยงานนี้ มักเป็นหน่วยงานของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์หรือหน่วยงานอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับการเกษตร มีหน้าที่ออกระเบียบข้อบังคับต่างๆทางด้านกฎหมาย แล้วตราเป็นพระราชบัญญัติขึ้นใช้

          2.หน่วยงานที่ทำหน้าที่ควบคุมดูแล เพื่อให้กฎหมายเมล็ดพันธุ์บรรลุผลตามที่กำหนดไว้ หน่วยงานนี้เรียกว่า หน่วยบังคับควบคุมกฎหมายเมล็ดพันธุ์(Enforcement agency) ซึ่งประกอบด้วยบุคลากรที่สำคัญคือสารวัตรเมล็ดพันธุ์(Seed inspector) ทำหน้าที่สอดส่องดูแลการจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ ให้เป็นไปตามกฎหมายเมล็ดพันธุ์ระบุไว้ คือมีสิทธิ์และหน้าที่ที่จะไปสุ่มเก็บตัวอย่างเมล็ดพันธุ์ที่จำหน่ายอยู่ในท้องตลาดหรือในโรงเก็บเมล็ดพันธุ์ แล้วนำมายังห้องปฏิบัติการเมล็ดพันธุ์กลาง หากผลการตรวจสอบพบว่า เมล็ดพันธุ์ที่สุ่มเก็บมานั้น ต่ำกว่ามาตราฐานที่กฎหมายระบุไว้ สารวัตรเมล็ดพันธุ์มีสิทธิที่จะยึดเมล็ดพันธุ์กองนั้น(Seed lot)ไว้ หรือสั่งห้ามจำหน่าย จนกว่าจะได้นำกลับไปปรับปรุงสภาพ(Seed conditioning)ใหม่ ให้มีคุณภาพดีขึ้น และแสดงคุณภาพของเมล็ดพันธุ์ให้ตรงตามความเป็นจริง

3.3 การติดป้ายฉลากเมล็ดพันธุ์ (Labeling)

          กฎหมายเมล็ดพันธุ์ที่ใช้กันทุกๆประเทศนั้น  ต่างก็ได้กำหนดให้ผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ติดป้ายระบุคุณภาพของเมล็ดพันธุ์ไว้ที่ภาชนะทุกชนิดและทุกๆภาชนะด้วย คุณภาพของเมล็ดพันธุ์ที่จะต้องระบุหรือแจ้งไว้บนป้ายนี้นั้น อาจจะมีความแตกต่างกันไปบ้างในแต่ละประเทศ แต่โดยทั่วไปแล้วจะต้องระบุถึงสิ่งต่อไปนี้ ได้แก่

          1.ชื่อของบริษัท หรือหน่วยงานที่ผลิตเมล็ดพันธุ์(Name)

          2.สถานที่ตั้งของหน่วยงานที่ผลิตเมล็ดพันธุ์(Address)

          3.ชนิดพืช(Kind)

          4.พันธุ์(Variety)

          5.หมายเลขกอง(Lot number)

          6.เปอร์เซนต์ความงอก(% Germination)

          7.สิ่งเจือปน(% Inert materials)

          8.เมล็ดแข็ง(% Hard seed)

          9.เมล็ดพืชชนิดอื่น(% Other crop seed)

         10.ความบริสุทธิ์ของเมล็ดพันธุ์(% Purity)

         11.เมล็ดวัชพืช(% Weed seed)

         12.เปอร์เซนต์ความชื้น(% Moisture content)

         13.วันที่ทำการทดสอบ(Testing date)

         14.แหล่งผลิต(Origin)

         15.การคลุกสารเคมี(Seed treatment)

         16.น้ำหนักสุทธิ(Net content หรือ weight)

         17.จำนวนถุง หรือจำนวนภาชนะที่บรรจุ(Number of bags)


3.4 กฎหมายเมล็ดพันธุ์ในประเทศไทย(National seed laws)

 

เจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติพันธุ์พืช พ.ศ. 2518

       ประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม ฐานะทางเศรษฐกิจของประเทศและของประชาชนจึงขึ้นอยู่กับการเกษตรเป็นสำคัญ และเนื่องจากคุณภาพและผลผลิตต่อไร่ของเกษตรกรน้อยกว่าที่ควรจะได้รับ ทำให้เสียเปรียบในการแข่งขันกับตลาดต่างประเทศทั้งในด้านราคาและคุณภาพ เมล็ดพันธุ์เป็นปัจจัยสิ่งแรกที่เกษตรกรต้องใช้ในการเพาะปลูก หากเมล็ดพันธุ์ที่ใช้ในการเพาะปลูกไม่ได้คุณภาพ ก็จะส่งผลต่อปริมาณการเก็บเกี่ยวของผลผลิตและคุณภาพของผลิตผล ประกอบกับประเทศไทยยังขาดการส่งเสริมและการควบคุมการใช้พันธุ์พืชที่ดี ทั้งยังปล่อยให้มีการประกอบการค้าพันธุ์พืชเสรี ไม่มีการควบคุมกำกับดูแลแต่ประการใด ดังนั้น เพื่อให้เกษตรกรได้รับความคุ้มครองอย่างเพียงพอ และเพื่อให้ผู้ประกอบการค้าเมล็ดพันธุ์สามารถดำเนินการไปได้ด้วยดี จึงต้องตราพระราชบัญญัติพันธุ์พืช พ.ศ.2518

เนื้อหาสาระของพระราชบัญญัติพันธุ์พืช พ.ศ. 2518

        สาระสำคัญของพระราชบัญญัติพันธุ์พืช พ.ศ. 2518 และแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535

แบ่งออกเป็น 5 ส่วน คือ

       1. การควบคุมคุณภาพเมล็ดพันธุ์

       2. การรับรองเมล็ดพันธุรับรอง

       3. พืชสงวน

       4. การขึ้นทะเบียนและรับรองพันธุ์พืช

       5. พืชอนุรักษ์ (กองคุ้มครองพันธุ์พืชเป็นผู้ปฏิบัติงานในส่วนนี้)

1. การควบคุมคุณภาพเมล็ดพันธุ์

       ในการควบคุมคุณภาพเมล็ดพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ออกประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกำหนดชนิดและชื่อพันธุ์ของเมล็ดพันธุ์ให้เป็นเมล็ดพันธุ์ควบคุม ตามพระราชบัญญัติพันธุ์พืช พ.ศ. 2518 ซึ่งขณะนี้ได้กำหนดเมล็ดพันธุ์ที่เป็นเมล็ดพันธุ์ควบคุมมีทั้งหมด 29 ชนิด โดยแบ่งออกเป็นเมล็ดพันธุ์พืชไร่ 9 ชนิด ได้แก่ ข้าวเปลือกเจ้า ข้าวฟ่าง ข้าวโพด ถั่วเขียว ถั่วเขียวเมล็ดดำ ถั่วเหลือง ฝ้าย ข้าวโพดหวาน ทานตะวัน เมล็ดพันธุ์พืชผัก 20 ชนิด ได้แก่ คะน้า แตงกวา ถั่วลันเตา ผักกาดขาว ผักกาดเขียว ผักกาดหัว ผักบุ้งจีน พริก มะเขือเทศ ถั่วฝักยาว กะหล่ำปลี กะหล่ำดอก บรอคโคลี ผักกาดกวางตุ้ง ผักกาดหอม หอมหัวใหญ่ แตงโม กระเทียมใบ ผักชี ปาล์มน้ำมัน ขณะเดียวกันก็ได้ออกประกาศกระทรวงฯ กำหนดมาตรฐานคุณภาพด้านอัตราความงอกและเมล็ดบริสุทธิ์ของเมล็ดพันธุ์ควบคุม ดังนั้น เมล็ดพันธุ์ควบคุมที่นำเข้า รวบรวมหรือจำหน่ายเพื่อการค้า ต้องมีมาตรฐานคุณภาพไม่ต่ำกว่าที่กำหนดไว้ในประกาศกระทรวง

สำหรับผู้ประกอบธุรกิจเมล็ดพันธุ์ควบคุมเพื่อการค้า จะต้องมีใบอนุญาตของแต่ละประเภทกิจกรรม เช่น ต้องมีใบอนุญาตนำเข้าซึ่งเมล็ดพันธุ์ควบคุมเพื่อการค้า หรือใบอนุญาตรวบรวมเมล็ดพันธุ์ควบคุมเพื่อการค้า หรือใบอนุญาตขายเมล็ดพันธุ์ควบคุม และเมล็ดพันธุ์ควบคุมที่จำหน่ายในท้องตลาดต้องมีฉลากเป็นภาษาไทยด้วย เป็นต้น ซึ่งในส่วนนี้จะมีเจ้าหน้าที่ของรัฐในการช่วยสอดส่องดูแลผู้ประกอบการเหล่านี้ โดยเจ้าหน้าที่จะทำการสุ่มเก็บตัวอย่างเพื่อตรวจสอบคุณภาพของเมล็ดพันธุ์ให้ได้มาตรฐานตามที่กำหนด

ดังนั้น เมื่อเกษตรกรต้องการซื้อเมล็ดพันธุ์ควบคุมไปเพาะปลูก สิ่งแรกที่เกษตรกรต้องดูคือ ฉลากของเมล็ดพันธุ์ โดยเฉพาะเดือนปีที่ระบุสิ้นอายุใช้ทำพันธุ์ และวันเดือนปีที่ทำการทดสอบ เพราะจะเป็นข้อมูลเบื้องต้นในการที่เกษตรกรจะใช้ตัดสินใจในการเลือกซื้อเมล็ดพันธุ์นั้น ๆ

2. การรับรองเมล็ดพันธุ์รับรอง

       การรับรองเมล็ดพันธุ์รับรองเป็นขบวนการหนึ่งของการรับรองคุณภาพเมล็ดพันธุ์ การรับรองเมล็ดพันธุ์รับรองเป็นการอาสาสมัครในการขอการรับรอง แบ่งออกเป็น 2 ลักษณะ คือ

       - การรับรองเมล็ดพันธุ์รับรองในแปลงปลูก เป็นขบวนการรับรองเมล็ดพันธุ์ตั้งแต่เริ่มขบวนการผลิตเมล็ดพันธุ์ มีการตรวจสอบแปลงปลูกเป็นระยะ ๆ จนกระทั่งเก็บเกี่ยวเมล็ดพันธุ์ ซึ่งต้องอยู่ในการควบคุมกำกับดูแลของคณะอนุกรรมการรับรองเมล็ดพันธุ์ หลังจากเก็บเกี่ยวเมล็ดพันธุ์แล้ว ต้องทำการปิดผนึกภาชนะที่เก็บเมล็ดพันธุ์ทั้งหมด ทำการสุ่มเก็บตัวอย่างเพื่อนำไปตรวจสอบคุณภาพในห้องปฏิบัติการ โดยต้องได้มาตรฐานคุณภาพที่กำหนด

       - การรับรองเมล็ดพันธุ์รับรองในห้องปฏิบัติการ เป็นขบวนการที่ผู้ขอต้องการให้กรมวิชาการเกษตรออกหนังสือรับรองเมล็ดพันธุ์รับรองในห้องปฏิบัติการ โดยนำเมล็ดพันธุ์ที่ต้องการรับรองมาให้ห้องปฏิบัติการตรวจสอบคุณภาพความงอกและเมล็ดบริสุทธิ์ แล้วออกใบรายงานผลการตรวจสอบ ในกรณีที่เป็นเมล็ดพันธุ์ควบคุมก็จะต้องออกใบรับรองเมล็ดพันธุ์รับรอง ด้วย การรับรองเมล็ดพันธุ์รับรองในห้องปฏิบัติการยังแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ

       ก. การรับรองเมล็ดพันธุ์เฉพาะตัวอย่าง เป็นการรับรองโดยผู้ขอต้องนำเมล็ดพันธุ์ในปริมาณไม่น้อยกว่าที่กำหนดไว้ในท้ายประกาศ

       ข. การรับรองเมล็ดพันธุ์ทั้งกอง เป็นการรับรองเมล็ดพันธุ์โดยเจ้าหน้าที่กรมวิชาการเกษตรทำการสุ่มเก็บตัวอย่างจากเมล็ดพันธุ์ทั้งกองเพื่อเป็นตัวแทนของเมล็ดพันธุ์ทั้งหมดในการนำไปตรวจสอบในห้องปฏิบัติการ

3. พืชสงวน

       กฎหมายพันธุ์พืช ได้ออกประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กำหนดพืชไว้ 11 ชนิดเป็นพืชสงวน ได้แก่ ทุเรียน ส้มโอ องุ่น ลำไย ลิ้นจี่ มะขาม มะพร้าว กวาวเครือ ทองเครือ สละ และสับปะรด ซึ่งพันธุ์พืชเหล่านี้ห้ามส่งออก สงวนให้ใช้เพาะปลูกภายในประเทศ เนื่องจากเกรงว่าหากพันธุพืชที่ดีเหล่านี้ถูกนำไปปลูกในต่างประเทศแล้ว ก็จะกลับมาเป็นคู่แข่งทางการค้าได้ จึงห้ามส่งออก หากเกษตรกรผู้ใดทราบแหล่งว่ามีการลักลอบส่งออกพืชสงวน ก็ขอให้แจ้งเจ้าหน้าที่ของกรมวิชาการเกษตร และถ้าหากเป็นเพื่อนเกษตรกรด้วยกันก็ขอให้แนะนำหรือชี้แจงถึงผลเสียที่จะตามมาในอนาคต

4. การขึ้นทะเบียนและรับรองพันธุ์พืช

       การขึ้นทะเบียนพันธุ์พืช เป็นการตรวจสอบว่าพันธุ์พืชที่ขอขึ้นทะเบียนเป็นพันธุ์พืชใหม่ แตกต่างจากพันธุ์พืชที่มีอยู่ทั่วไปในพืชชนิดเดียวกัน โดยขบวนการตรวจสอบ DUS (Distinctness, Uniformity and Stability) ได้แก่ การตรวจสอบความแตกต่างอย่างเด่นชัด ความสม่ำเสมอและความคงตัวในลักษณะประจำพันธุ์ ในกรณีที่ต้องการเป็นพันธุ์พืชรับรอง พันธุ์พืชนั้นต้องผ่านการขึ้นทะเบียนพันธุ์พืชเสียก่อน หมายความว่าผ่านขบวนการตรวจสอบ DUS จากนั้นจึงตรวจสอบว่าพันธุ์พืขนั้นมีคุณค่าด้านการเพาะปลูกและการใช้ประโยชน์ ซึ่งเป็นลักษณะดีเด่นทางการเกษตร

ประโยชน์ของกฎหมายที่เกษตรกรพึงได้รับ

       1. คุ้มครองเกษตรกรให้ได้ใช้เมล็ดพันธุ์ที่มีคุณภาพในการเพาะปลูก

       2. ป้องกันไม่ให้พันธุ์พืชที่ดีถูกส่งออกไปเพาะปลูกในต่างประเทศ ซึ่งจะมีผลต่อการแข่งขันทางการค้า

การบริการ

       ฝ่ายพันธุ์พืช สำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร ให้บริการตรวจสอบคุณภาพเมล็ดพันธุ์ควบคุม โดยตรวจสอบหาอัตราร้อยละของความงอกและอัตราร้อยละของเมล็ดบริสุทธิ์ เพื่อให้ทราบว่าเมล็ดพันธุ์ควบคุมนั้นมีคุณภาพตามกำหนดหรือไม่

สถานที่ติดต่อปรึกษาปัญหา

       1. ฝ่ายพันธุ์พืช สำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร กรมวิชาการเกษตร เขตจตุจักร กรุงเทพฯ 10900 หมายเลขโทรศัพท์และโทรสาร 0-2579-0229

       2. เจ้าหน้าที่ในสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขต 1-8 หรือศูนย์วิจัย หรือสถานีทดลอง ที่อยู่ใกล้กับท้องที่ของเกษตรกร

       3. เจ้าหน้าที่กรมส่งเสริมการเกษตร ได้แก่ เกษตรอำเภอ เกษตรจังหวัด ที่อยู่ในท้องที่ของเกษตรกร

ตัวอย่างฉลากเมล็ดพันธุ์ควบคุม

       เมล็ดพันธุ์ควบคุม

       ชื่อพืช................ ชื่อพันธุ์..................

      

       น้ำหนักสุทธิ ..... กรัม

       เมล็ดบริสุทธิ์ร้อยละ...................................................

       อัตราความงอกร้อยละ.........ทดสอบ(วัน/เดือน/ปี)..............

       สิ้นอายุใช้ทำพันธุ์ (เดือน/ปี)..........................................

       รวบรวม/นำเข้า (เดือน/ปี)............................................

       หมวดหมายเลข (Lot No.) ..........................................

       ผู้รวบรวม/ผู้นำเข้า.....................................................

       เลขที่.... ตรอก/ซอย.................ถนน.............................

       ตำบล/แขวง...................อำเภอ/เขต..............จังหวัด......

       ชื่อแหล่งรวบรวม.......................................................

 

----------------------------------------------

http://www.doa.go.th/oard5/06act/act-10.html

 

 

     ประเทศไทย ได้มีกฎหมายเมล็ดพันธุ์ในรูปของ พระราชบัญญัติพันธุ์พืช ซึ่งได้ตราออกใช้เป็นครั้งแรก ในปี พ..2518   ต่อมาในปีพ..2524 จึงได้มีการประกาศของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (ฉบับที่1) และประกาศเพิ่มเติมอีกเป็นฉบับที่2  เมื่อปี พ..2527 ซึ่งได้กำหนดชนิดของพันธุ์พืชให้เป็นพืชควบคุมรวมแล้ว 25 ชนิด    ดังได้แสดงไว้ ในตารางที่ 3.1

 

ตารางที่ 3.1 ค่าความงอกและความบริสุทธิ์ ของเมล็ดพันธุ์พืชควบคุม ตามพระราชบัญญัติพันธุ์พืช พ..2527 (ประกาศเพิ่มเติม)

----------------------------------------------------------------------------------

                                    ความงอก                     เมล็ดบริสุทธิ์

        ชนิดพืช           ไม่ต่ำกว่าร้อยละ                 ไม่ต่ำกว่าร้อยละ

---------------------------------------------------------------------------------

     1.ข้าวเปลือกเจ้า            80                           98

     2.ข้าวฟ่าง                    75                           96

     3.ข้าวโพด                    75                           98

     4.ถั่วเขียว                              75                           98

     5.ถั่วเขียวเมล็ดดำ                    75                           98

     6.ถั่วเหลือง                  65                           97

     7.ฝ้าย                         70                           98

     8.ข้าวโพดหวาน                      60                           96

     9.คะน้า                                 70                           98

     10.แตงกวา                  75                           98

     11.ถั่วลันเตา                 70                           98

     12.ผักกาดขาวปลี                    70                           98

     13.ผักกาดเขียวปลี                  70                           98

     14.ผักกาดหัว              75                           96

     15.ผักบุ้งจีน                 50                           94

     16.พริก                       55                           97

     17.มะเขือเทศ               65                           98

     18.ถั่วฝักยาว                70                           98

     19.กะหล่ำปลี                70                           98

     20.กะหล่ำดอก             70                           98

     21.บรอคโคลี่                70                           98

     22.ผักกาดกวางตุ้ง                  70                           98

     23.ผักกาดหอม                       65                           95

     24.หอมหัวใหญ่                      70                           98

     25.แตงโม                    70                           98

---------------------------------------------------------------------------------

 

3.5 การรับรองเมล็ดพันธุ์

     1.ความหมายของการรับรองเมล็ดพันธุ์

     การรับรองเมล็ดพันธุ์ คือระบบ หรือขบวนการ ในการควบคุมคุณภาพของเมล็ดพันธุ์ที่ผลิตขึ้นมานั้น ให้มีคุณภาพที่ดี ตรงตามสายพันธุ์ และยังเป็นการรับรองว่า เกษตรกรผู้ใช้เมล็ดพันธุ์นั้น จะได้ใช้เมล็ดพันธุ์ที่ดีดังกล่าวด้วย

     การรับรองเมล็ดพันธุ์  จะดำเนินการโดยหน่วยงานซึ่งทำงานทางด้านการรับรองเมล็ดพันธุ์(Certifying agency) เมล็ดพันธุ์ที่ผ่านการรับรองแล้วเรียกว่าเมล็ดพันธุ์รับรอง(Certified seed) หรือเมล็ดพันธุ์จำหน่าย(Extension seed)

     นอกจากนี้ การรับรองเมล็ดพันธุ์ ก็มิใช่ การรับรองพันธุ์ เนื่องจากการรับรองพันธุ์นั้น เป็นการรับรองว่า พืชพันธุ์ใดพันธุ์หนึ่ง มีคุณสมบัติตรงตามข้อเสนอในการรับรองพันธุ์ พันธุ์ที่ผ่านการรับรองพันธุ์แล้วเรียกว่า พันธุ์รับรอง(Approved variety) ในกรณีของพันธุ์รับรองนี้ หากหน่วยงานและสถาบันที่เกี่ยวข้องกับการใช้เมล็ดพันธุ์พิจารณาแล้ว เห็นว่าพันธุ์รับรองดังกล่าว เกษตรกรสมควรที่จะนำไปใช้เพาะปลูกได้ ก็จะกำหนดให้เป็นพันธุ์ส่งเสริม(Recommended variety)

     2.ชั้นต่างๆของเมล็ดพันธุ์รับรอง(Classes of certified seed)

     แบ่งออกได้เป็น 4 ชั้น ตามชั่วอายุของพืช(Generation) ดังนี้ คือ

          1.เมล็ดพันธุ์คัด (Breeder seed)  คือเมล็ดพันธุ์ที่ผลิตขึ้น โดยนักปรับปรุงพันธุ์พืช จะมีปริมาณน้อย มีราคาแพงมาก ใช้สำหรับเป็นแม่พันธุ์เพื่อการขยายพันธุ์ต่อไป

          2.เมล็ดพันธุ์หลัก (Foundation seed) เป็นลูกชั่วแรกของเมล็ดพันธุ์คัด มีปริมาณมากขึ้น แต่ยังคงอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของหน่วยงานปรับปรุงพันธุ์พืชนั้นอยู่

          3.เมล็ดพันธุ์ขยาย  (Registered  seed)เป็นลูกชั่วแรกของเมล็ดพันธุ์หลัก ผลิตโดยหน่วยงานรับรองเมล็ดพันธุ์ เพื่อรักษาลักษณะทางพันธุกรรม เพิ่มปริมาณ และรักษาคุณภาพของเมล็ดพันธุ์ไว้

          4.เมล็ดพันธุ์จำหน่าย(Certified  seed)  เป็นลูกชั่วแรกของเมล็ดพันธุ์ขยาย ผลิตภายใต้การควบคุมของหน่วยงานรับรองเมล็ดพันธุ์  เพื่อนำเมล็ดที่ได้ไปจำหน่าย หรือส่งเสริมให้เกษตรกรใช้เพาะปลูก ต่อไป

          ในกรณีของพันธุ์พืชลูกผสม (F1 Hybrid) นั้น   การรับรองเมล็ดพันธุ์จะมีเพียงชั่วเดียว คือ เมล็ดพันธุ์รับรองลูกผสม(Certified hybrid seed)

     เมล็ดพันธุ์ในแต่ละชั้นการรับรองจะย้อนนำไปใช้เป็นเมล็ดพันธุ์ในชั้นก่อนหน้านี้ไม่ได้ ยกเว้นในกรณีจากเมล็ดพันธุ์หลัก อาจจะถูกนำไปใช้เป็นเมล็ดพันธุ์คัดได้บ้างหากมีความจำเป็น แต่จะต้องอยู่ภายใต้การคัดเลือกดูแลควบคุมของนักปรับปรุงพันธุ์โดยเคร่งครัด ทั้งนี้เพื่อมิให้ลักษณะต่างๆทางพันธุกรรม(Genetics  characteristics)  เสื่อมถอยหรือกลายพันธุ์ไปจากเดิมที่เคยได้ผ่านการรับรองไว้แล้ว

 

3.6 กระบวนการรับรองเมล็ดพันธุ์ (Certification procedure)

     เมื่อมีผู้เสนอเมล็ดพันธุ์ให้รับรอง หน่วยงานรับรองเมล็ดพันธุ์(Certifying agency) จะดำเนินงานตามขั้นตอนต่างๆดังนี้ คือ

     1.การตรวจไร่(Field inspection) ซึ่งจะตรวจสอบเกี่ยวกับ

          1.)ประวัติการใช้ที่ดิน

          2.)ระยะห่างจากแปลงพืชอื่นๆ(Isolation)

          3.)ชนิดของพันธุ์พืชอื่นๆและวัชพืช

          4.)โรคแมลงศัตรูพืชที่เกิดขึ้น

     2.การตรวจสอบเมล็ดพันธุ์(Seed inspection)

     3.การออกใบรับรอง(Labeling)

                      

 

3.7 มาตรฐานเมล็ดพันธุ์จำหน่าย

 

    1. เมล็ดพันธุ์ผัก

ชนิดพืชผัก

เมล็ดพันธุ์สุทธิ
ต่ำสุด (%)

เมล็ดอื่น ๆ 
สูงสุด (%)

สิ่งเจือปน
สูงสุด (%)

ความชื้น-สูงสุด (%)

ความงอก
ต่ำสุด (%)

บรรจุหีบห่ออากาศผ่านได้

บรรจุหีบห่ออับอากาศ

1. ผักกาดหัว

98

0.5

2

10

5

75

2. ผักกาดกวางตุ้ง

98

0.5

2

10

5

75

3. ผักคะน้า

98

0.5

2

10

5

75

4. ผักกาดหอม

98

0.5

2

10

5.5

75

5. กะหล่ำดอกอิตาเลียน

98

0.5

2

10

5

80

6. ผักบุ้งจีน

98

0.5

2

10

6

60

7. พริก

98

0.5

2

10

6

60

8. มะเขือเทศ

98

0.5

2

10

5.5

75

9. มะเขือยาว

98

0.5

2

10

6

70

10. ถั่วฝักยาว

98

0.5

2

11

7

75

11. ถั่วลันเตา

98

0.5

2

11

7

75

12. แตงโม

98

0.5

2

10

6

75

13. แตงกวา

98

0.5

2

10

6

75

14. ข้าวโพดหวาน

98

0.5

2

10

8

75

15. ถั่วเหลืองฝักสด

97

0.50

3

12

8

60

16. กระเจี๊ยบเขียว

98

0.50

2

10

8

60

17. มะเขือเปราะ

98

0.50

2

10

6

70

 หมายเหตุ   เมล็ดพันธุ์ข้าวโพดฝักอ่อน ให้ใช้ตามมาตรฐานของข้าวโพดไร่ หรือข้าวโพดหวานที่ผลิตข้าวโพดฝักอ่อนแล้วแต่กรณี

 

    2. เมล็ดพันธุ์พืชไร่

ชนิดพืช

เมล็ดพันธุ์สุทธิ
ต่ำสุด (%)

เมล็ดอื่น ๆ
สูงสุด (%)

สิ่งเจือปน
สูงสุด (%)

ความชื้น
สูงสุด (%)

ความงอก
ต่ำสุด (%)

1. ข้าว

98

0.20

2

14

80

2. ข้าวโพด

98

0.20

2

13

75

3. ข้าวฟ่าง

97

0.20

3

13

75

4. ข้าวสาลี

98

0.20

2

14

80

5. ถั่วเขียว

98

0.20

2

12

75

6. ถั่วเหลือง

97

0.50

3

12

70

7. ถั่วลิสงทั้งฝัก

95

0.20

5

10

70

8. ฝ้าย

98

0.20

2

12

70

9. ปอ

98

0.20

2

11

70

10. งา

97

1.20

3

8

70

11. ถั่วหรั่งทั้งฝัก

95

0.20

5

14

70

 หมายเหตุ    

1.     เมล็ดพันธุ์ข้าว ให้มีข้าวแดงปนได้ไม่เกิน 0.20%

2.     เมล็ดพันธุ์ถั่วลิสง ให้มีเปอร์เซ็นต์กะเทาะไม่ต่ำกว่า 60%

3.     เมล็ดพันธุ์งา ให้มีเมล็ดพันธุ์งาต่างสีปนได้ไม่เกิน 0.20% เมล็ดพันธุ์งาต่างพันธุ์สีเดียวกันไม่เกิน 1.0% และเมล็ดพืชอื่น ๆ ไม่เกิน 0.20 %

4.     เมล็ดพันธุ์ถั่วหรั่ง ให้มีเปอร์เซ็นต์กะเทาะไม่ต่ำกว่า 68%

    3. พืชปุ๋ยสด

ชนิดพืช

เมล็ดพันธุ์สุทธิ
ต่ำสุด (%)

เมล็ดอื่น ๆ
สูงสุด (%)

สิ่งเจือปน
สูงสุด (%)

ความชื้น
สูงสุด (%)

ความงอก
ต่ำสุด (%)

1. โสนอัฟริกัน

98

0.20

2

14

60

2. ถั่วพร้า

98

0.20

2

14

80

                    ทั้งนี้ โดยให้นิยามรายละเอียดมาตรฐานต่าง ๆ ดังนี้ คือ

  1. เมล็ดพันธุ์สุทธิ (% โดยน้ำหนัก) หมายถึง ปริมาณเมล็ดพันธุ์พืชพันธุ์ตามที่ระบุคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ของน้ำหนักทั้งหมด ตัวอย่างเช่น   มีเมล็ดถั่วเหลือง สจ 4 จำนวน 24.5 กิโลกรัม ปนอยู่กับสิ่งเจือปน เช่น ดิน หิน กรวด ทราย และเมล็ดพืชอื่นหรือพันธุ์อื่น ๆ 0.5 กิโลกรัม แสดงว่ามีเมล็ดพันธุ์สุทธิ 98% โดยน้ำหนัก เป็นต้น
  2. เมล็ดอื่น ๆ (% โดยน้ำหนัก) หมายถึง เมล็ดวัชพืช เมล็ดพันธุ์อื่น ๆ และเมล็ดพืชพันธุ์อื่นอันมิใช่พืชพันธุ์ที่ระบุ เช่น เมล็ดหญ้า เมล็ดข้าว และเมล็ดถั่วเหลือง สจ 1 ซึ่งปะปนอยู่ในตัวอย่างเมล็ดพันธุ์ถั่วเหลือง สจ 4 เป็นต้น
  3. สิ่งเจือปน (% โดยน้ำหนัก) หมายถึง ดิน หิน กรวด ทราย และสิ่งอื่น ๆ เช่น เศษใบ เศษกิ่ง รวมทั้งเมล็ดแตกหักซึ่งมีขนาดเล็กกว่าครึ่งหนึ่งของเมล็ดเดิม และเมล็ดพืชตระกูลถั่ว ซึ่งเปลือกหุ้มเมล็ดหลุดออกไปทั้งหมด หรือใบเลี้ยงข้างใดข้างหนึ่งหายไป
  4. ความชื้น หมายถึง ความชื้นซึ่งอยู่ในเมล็ดและคำนวณได้จากสูตรดังต่อไปนี้
          % ความชื้น = (น้ำหนักสด –น้ำหนักแห้ง) X 100
                                        น้ำหนักสด
  5. ความงอกหมายถึงเปอร์เซ็นต์ของเมล็ดซึ่งเมื่อเพาะแล้วจะงอกเป็นต้นอ่อนที่มีส่วนประกอบต่างๆ ครบบริบูรณ์อันบ่งว่าต้นอ่อนดังกล่าวจะสามารถ เจริญเติบโตไปเป็นต้นพืชที่ปกติได้ภายในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม รวมทั้งเมล็ดที่มีลักษณะเป็นเมล็ดแข็งตามกฎเกณฑ์การทดสอบความงอก
  6. เปอร์เซ็นต์การกะเทาะหมายถึงอัตราส่วนของน้ำหนักเมล็ดต่อน้ำหนักทั้งฝักซึ่งคิดเป็นเปอร์เซ็นต์และคำนวณได้จากสูตรดังต่อไปนี้
           % การกะเทาะ = น้ำหนักเมล็ด X 100
                                     น้ำหนักทั้งฝัก
  7. ตามมาตรฐานนี้น้ำหนักปุยฝ้ายซึ่งติดอยู่กับเมล็ดที่ซื้อคืนจากแปลงขยายพันธุ์นับเป็นน้ำหนักทั้งเมล็ด
  8. ตามมาตรฐานนี้น้ำหนักเปลือกถั่วลิสงซึ่งมีเมล็ดอยู่ภายในนับเป็นน้ำหนักเมล็ดยกเว้นในการคำนวณหาเปอร์เซ็นต์การกะเทาะซึ่งกำหนดให้ "น้ำหนักเมล็ด" หมายถึงน้ำหนักเมล็ดซึ่งได้กะเทาะเปลือกแล้ว

-------------------------------------------

http://seed.doae.go.th/data_seeds/seedstd.htm

 

__________________________


บทที่  4

การผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว

4.1 ประเภทของข้าว

     ข้าวที่ใช้ปลูกเป็นอาหารของมนุษย์มีอยู่ 2 ชนิด คือ ข้าวที่ใช้ปลูกอยู่ในอาฟริกาตะวันตก มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Oryza glaberrima และข้าวที่ปลูกในเอเชีย มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Oryza sativa ข้อแตกต่างที่เห็นชัดเจนของข้าวทั้งสองชนิดนี้คือ ข้าวอาฟริกา จะไม่มีการแตกระแง้ที่สอง จากระแง้ที่หนึ่งของรวงข้าว ในปัจจุบันนี้ ข้าวเอเชียเป็นที่รู้จักและยอมรับกันอย่างกว้างขวาง มีการนำไปปลูกแทนที่ข้าวอาฟริกากันมากขึ้น ข้าวเอเชีย แบ่งออกเป็น 3 พวก ได้แก่

     1.ข้าวอินดิก้า(Indica) ปลูกกันทั่วไปในเขตร้อนของทวีปเอเชีย เช่น ไทย อินเดีย ฟิลิปปินส์ เป็นต้น พันธุ์ข้าวพวกนี้ส่วนมากเป็นพันธุ์ข้าวต้นสูง แตกกอมาก ใบกว้าง มีสีเขียวอ่อน ลำต้นค่อนข้างอ่อน เมล็ดยาวเรียว ถึงยาวปานกลาง ขนที่เปลือกบางและสั้น เมล็ดร่วงง่าย

     2.ข้าวจาปอนิก้า(Japonica) ปลูกกันทั่วไปในเขตกึ่งร้อนหรืออบอุ่น เช่น ญี่ปุ่น เกาหลี และจีนตอนเหนือ เป็นต้น พันธุ์ข้าวพวกนี้ส่วนมากเป็นข้าวต้นเตี้ย หรือค่อนข้างเตี้ย แตกกอปานกลาง ถึงแตกกอมาก ใบแคบ สีเขียวเข้ม ลำต้นแข็ง เมล็ดข้าวสั้น ป้อม และมีปริมาณอไมโลสต่ำ เมล็ดร่วงยาก ทนต่ออากาศหนาวเย็น

     3.ข้าวจาวานิก้า(Javanica) ปลูกกันมากในประเทศอินโดนีเซีย และพม่า เป็นพันธุ์ข้าวที่มีลักษณะอยู่ระหว่างพวกอินดิก้าและจาปอนิก้า พันธุ์ข้าวพวกนี้ส่วนมากเป็นพันธุ์ข้าวต้นสูง แตกกอน้อย ใบกว้าง สีเขียวอ่อน ลำต้นแข็ง เมล็ดข้าวค่อนข้างป้อมและอ้วน เมล็ดร่วงยาก ขนที่เปลือกเมล็ดยาว

4.2 พันธุ์ข้าว

     ปลูกนาปี ได้แก่  กข6, กข8, กข13, กข15, ขาวดอกมะลิ105, นางพญา132, เหนียวสันป่าตอง

     ปลูกได้ทั้งปี ได้แก่  กข7, กข10, กข21, กข23, กข25

     ข้าวขึ้นน้ำ ได้แก่  ปิ่นแก้ว56, เล็บมือนาง 111

     ข้าวไร่ ได้แก่  ซิวแม่จัน, กู้เมืองหลวง

4.3 ระยะการเจริญเติบโตของข้าว (พันธุ์ 120 วัน)

     ระยะการเจริญเติบโต                 จำนวนวัน หลังปลูก

1.หว่านเมล็ด - เมล็ดงอก                                  0 - 9

2.ตกกล้า                                             20

3.แตกกอ                                                      21 - 50

4.เริ่มสร้างรวง                                       51 - 60

5.สร้างรวง                                                     61 - 70

6.ออกดอก                                                    71 - 80

7.สร้างแป้ง                                                    81 - 90

8.เมล็ดแก่เต็มที่                                     91 - 100

9.เก็บเกี่ยว                                           101 - 120

 

     _ข้าวนาปี เช่น เหนียวสันป่าตอง, ขาวดอกมะลิ, กข6, 8, 15  มีวันเก็บเกี่ยวคือ 26, 20, 21, 23, 10 พฤศจิกายน จึงควรปลูกประมาณเดือนกรกฎาคมของปี

     _ข้าวนาปีและนาปรังที่ควบคุมน้ำได้ เช่น กข 5,7, 9, 10, 11, 21, 23, 25  มีอายุเก็บเกี่ยวคือ 140, 122-130, 115-125, 130, 135, 120-130, 120-130, 100 วันตามลำดับ เนื่องจากเป็นข้าวไม่ไวแสง จึงควรกำหนดปลูกโดยการนับถอยหลังจากวันเก็บเกี่ยวที่น้ำลดแห้งลงแล้ว เป็นต้น 

     ทั้งนี้เนื่องจาก ข้าวต้องการระยะกล้า 20-30 วัน, ระยะแตกกอ 30 วัน, ระยะสร้างดอกอ่อน(ตั้งท้อง)จนถึงผสมเกสรแล้ว 30 วัน และระยะสุกแก่อีก 30 วัน รวมแล้วประมาณ 120 วัน นั่นเอง

     _อายุกล้า   ควรจะประมาณ   25-30   วัน ถ้าใช้กล้าอายุมากกว่านี้ไปปักดำ จะได้กล้าที่ย่างปล้อง ต้นข้าวแตกกอน้อย ได้ผลผลิตต่ำ

    _พวกข้าวไวแสง(ข้าวนาปี) ส่วนใหญ่จะมีต้นสูง มีการตอบสนองต่อปุ๋ยต่ำ ถ้าใส่ปุ๋ยมากจะมีการหักล้มสูง ส่วนพวกข้าวไม่ไวแสง(ข้าวนาปี-นาปรัง)ส่วนใหญ่จะมีต้นเตี้ย ตอบสนองต่อปุ๋ยสูง จึงใส่ปุ๋ยได้มากกว่า

4.4 ผลผลิตเมล็ดพันธุ์เฉลี่ย

     นาปี 300-400 กก./ไร่, นาปรัง 500-600 กก./ไร่

4.5 ข้อมูลบางประการเกี่ยวกับข้าว

     -ชาวนา 1 คนต่อควาย 1 ตัว ไถนาได้ 1-1.5 ไร่

     -ชาวนา 1 คน ต่อควาย 2 ตัว คราดได้ 6 ไร่

     -ชาวนา 1 คน ถอนกล้าได้ 200-300 กำต่อวัน

     -ต้นกล้า 100 กำ ปักดำได้ 1 ไร่

     -ต้นกล้า 1 กำ มีต้นข้าว 1,000 ต้น

     -ชาวนา 1 คน ดำนาได้ 1 งานต่อวัน (เทือกดีและทำงาน 8 ชั่วโมง)

     -ชาวนา 1 คน ทำนาได้ปีละ 20 ไร่ (ต่อ 1 ฤดูปลูก)

     -ชาวนา 1 คน เก็บเกี่ยวได้ 2 งาน ถึง 1 ไร่ต่อวัน

     มาตราส่วน

     ข้าวเปลือก 1 เกวียน = 100 ถัง = 1,010 กิโลกรัม = 2,000 ลิตร

     ข้าวเปลือก 1 ถัง = 10.1 กิโลกรัม = 20 ลิตร

     ข้าวสาร 1 ถัง = 15 กิโลกรัม = 20 ลิตร

 

ตารางที่ 4.1 การปฏิบัติงาน ในการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว

-----------------------------------------------------------------------------------------------

อายุ(วัน)                                                การปฏิบัติ

-----------------------------------------------------------------------------------------------

ในแปลงเพาะกล้า

ก่อนหว่านเมล็ดพันธุ์ 7 วัน     _ไถดะ ไถแปร คราด พื้นที่นาข้าวที่จะใช้สำหรับเป็น

แปลงเพาะกล้าข้าว

อายุ 0 วัน                          _หว่านเมล็ดพันธุ์ข้าว

                                      -อัตราการใช้เมล็ดพันธุ์  แบบปักดำ  5 กก./ไร่,

แบบหยอด 8-10 กก./          ไร่, แบบหว่านสำรวย 15-20 กก./

ไร่, แบบหว่านน้ำตม 10-15 กก./ไร่

อายุ 25 วัน                        _หว่านปุ๋ยเคมี สูตร 46-0-0 อัตรา 25 กิโลกรัมต่อไร่

                                      _ตรวจพันธุ์ปนครั้งที่ 1

อายุ 30 วัน                        _ถอนกล้าปลูก เตรียมต้นกล้าข้าวให้พร้อมสำหรับการ

ปักดำ

ในนาข้าว

ก่อนปักดำ 7 วัน                           _ไถดะ ไถแปร คราด พื้นที่นาข้าวที่จะใช้สำหรับเป็น

แปลงปลูกข้าว

ก่อนปักดำ 2 วัน                           _หว่านปุ๋ยเคมีสูตร 16-16-8 (นาดินทราย) หรือ

16-20-0(นาดินเหนียว) อัตรา 25 กิโลกรัมต่อไร่

อายุ 0 วัน                                   _ปักดำข้าว ด้วยระยะปลูก 25 x 25 เซนติเมตร

อายุ 20 วัน                        _ข้าวแตกกอ

                                      _ตรวจพันธุ์ปน ครั้งที่ 2

อายุ 30 วัน                        _ข้าวเกิดช่อดอก

อายุ 30-60 วัน                   _ข้าวตั้งท้อง

                                      _หว่านปุ๋ยเคมีสูตรเดิม อัตรา 25 กิโลกรัมต่อไร่

อายุ 60 วัน                        _ข้าวออกดอก

                                      _ตรวจพันธุ์ปน ครั้งที่ 3

อายุ 60-90 วัน                   _ข้าวสร้างเมล็ด

                                      _เมื่อข้าวโน้มรวง ตรวจพันธุ์ปน ครั้งที่ 4

                                      _เมื่อข้าวเริ่มสุกแก่ ตรวจพันธุ์ปน ครั้งที่ 5

อายุ 90 วัน                        _เริ่มเก็บเกี่ยวเพื่อเอาเมล็ดพันธุ์

-----------------------------------------------------------------------------------------------

 

 

__________________________

บทที่  5

การผลิตเมล็ดพันธุ์ถั่วเหลือง-ถั่วลิสง

 

การผลิตเมล็ดพันธุ์ถั่วเหลือง

 

5.1การปลูกเหลือง

 

ถั่วเหลือง เป็นพืชที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศพืชหนึ่ง สามารถขึ้นได้ดีในสภาพดินฟ้าอากาศของ ประเทศไทย ทั้งฤดูฝนและฤดูแล้งเป็นพืชที่ให้โปรตีนสูง และราคาถูกเมื่อเทียบกับเนื้อสัตว์

แหล่งปลูกในประเทศไทย ได้แก่ ภาคเหนือ และภาคกลาง เช่น สุโขทัย เชียงใหม่ เพชรบูรณ์ พิจิตร พิษณุโลก แพร่ ลำปาง ตาก กำแพงเพชร ลพบุรี สระบุรี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง กาญจนบุรี ปราจีนบุรี ฉะเชิงเทรา ซึ่งเป็นแหล่งที่มีสภาพดินฟ้าอากาศเหมาะสม สามารถกระจายเนื้อที่ปลูกให้กว้างออกไปได้อีก

        ส่วนจังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ จังหวัดเลย นครราชสีมา ขอนแก่น อุดรธานี อุบลราชธานี มหาสารคาม หนองคาย ซึ่งเป็นแหล่งที่มีน้ำสำหรับปลูกถั่วเหลืองในฤดูแล้งได้ หรือจะปลูกในฤดูฝน โดยใช้เป็นพืชหมุนเวียนกับพืชชนิดอื่น เช่น ปอ ข้าวโพด ข้างฟ่าง ฯลฯ

        สำหรับภาคใต้เนื่องจากมีฝนตกชุก การปลูกถั่วเหลืองเพื่อเก็บฝักแห้ง อาจมีปัญหาในระหว่างการเก็บเกี่ยวและนวด แต่ถ้าปลูกเพื่อรับประทานฝักสดก็ได้ผลดี

        เนื่องจากถั่วเหลืองเป็นพืชที่ตลาดภายในประเทศมีความต้องการมาก ประกอบกับสามารถใช้เป็นพืชบำรุงดินได้ดี ฉะนั้นควรจะส่งเสริมการปลูกให้แพร่หลายมากยิ่งขึ้น โดยขยายเนื้อที่ปลูก ใช้เมล็ดพันธุ์ดี มีการใช้เชื้อไรโซเบียมคลุกเมล็ดพันธุ์ก่อนปลูก รวมทั้งการปฏิบัติดูแลรักษาที่ดี จะเป็นการเพิ่มผลผลิตได้มาก

ประโยชน์ของถั่วเหลือง

        ถั่วเหลืองเป็นพืชที่มีประโยชน์ต่อมนุษย์มาก เมล็ดถั่วเหลืองมีโปรตีนสูงถึงร้อยละ 40 นำมาประกอบเป็นอาหารได้หลายชนิด เช่น ฝักสดใช้ต้มรับประทานเป็นถั่วแระซึ่งมีขายทั่วไป ส่วนเมล็ดที่แก่แล้วใช้แปรรูปเป็นอาหาร เช่น เต้าหู้ เต้าเจี้ยว เนื้อเทียม (เนื้อเกษตร) และทำนถั่วเหลือง เป็นต้น นอกจากนั้นยังสามารถนำมาสกัดเอาน้ำมัน สำหรับประกอบอาหารแทนน้ำมันสัตว์ได้ น้ำมันถั่วเหลืองใช้ในอุตสาหกรรมทำเนยเทียม สบู่ ผ้าน้ำมัน หมึกพิมพ์ และอุตสาหกรรมยาปฏิชีวนะต่างๆ เมล็ดที่สกัดเอาน้ำมันออกแล้วยังใช้เป็นอาหารสัตว์ได้เป็นอย่างดี

        แป้งถั่วเหลืองซึ่งทำการกากถั่วเหลือง อาจใช้ผสมกับแป้งข้าวสาลี (ประมาณ 20%) ใช้ทำขนมต่างๆได้หลายชนิด เป็นการเพิ่มโปรตีนให้กับผลิตภัณฑ์ดีกว่าการใช้แป้งสาลีเพียงอย่างเดียว

        ผลพลอยได้ในพื้นที่หลังจากปลูกถั่วเหลือง คือ ทำให้ดินมีความสมบูรณ์ดีขึ้น จากผลการศึกษาพบว่าเมื่อปลูกถั่วเหลือง 1 ไร่ จะมีปุ๋ยไนโตรเจนตกค้างในดินในรูปของสารประกอบ ซึ่งรากพืชสามารถดูดเอาไปใช้ได้ประมาณ 50 กิโลกรัมต่อไร่ ถ้าปลูกพืชชนิดอื่นหลังจากปลูกถั่วเหลืองแล้ว จะทำให้พืชที่ปลูกตามมาเจริญงอกงามดี และให้ผลผลิตสูง เกษตรกรจึงนิยมปลูกถั่วเหลืองเป็นพืชสลับ หรือหมุนเวียนกับการปลูกข้าว ข้าวโพด ฝ้าย ปอ เป็นต้น

พันธุ์ถั่วเหลือง

        พันธุ์ที่แนะนำให้ปลูกมีหลายพันธุ์ ได้แก่

        สจ. 2 ลำต้นไม่ทอดยอด ต้นไม่ล้ม เจริญเติบโตได้ดี และให้ผลผลิตสูงในปลายฤดูฝนและฤดูแล้ง ฝักไม่แตกง่าย อายุเก็บเกี่ยว 95 วัน ไม่ต้านทานโรคราสนิม ตาเมล็ดสีน้ำตาลแดง (ชาวบ้านเรียกพันธุ์ตาแดง)

        สจ. 4 ให้ผลผลิตสูงกว่า สจ.2 คุณภาพของเมล็ดดี ปลูกได้ผลดีทั้งฤดูแล้งและฤดูฝน ต้านทานต่อโรคราสนิม อายุเก็บเกี่ยว 99 วัน ตาเมล็ดสีน้ำตาลอ่อน

        สจ. 5 ทนทานต่อโรคราสนิม และโรคใบด่างดีกว่า สจ. 4 ผลผลิตในฤดูแล้งดีกว่า สจ. 4 แต่ในฤดูฝนให้ผลผลิตใกล้เคียงกัน อายุเก็บเกี่ยว 98 วัน ตาเมล็ดสีน้ำตาลอ่อน เป็นที่ต้องการของตลาด

        เชียงใหม่ 60 ทนทานต่อโรคราสนิมได้ดีกว่า สจ. 4และ สจ. 5 เป็นพันธุ์ที่มีกิ่งน้อย แต่ในจำนวนฝักมาก สามารถเพิ่มจำนวนต้นต่อไร่ได้อีก และผลผลิตจะเพิ่มสูงขึ้นด้วย ตอบสนองต่อปุ๋ยอัตราต่ำได้ดีกว่า สจ. 5 ปลูกได้ทั้งฤดูแล้งและฤดูฝน โดยให้ผลผลิตใกล้เคียงกับ สจ.4 และ สจ. 5 อายุเก็บเกี่ยว 97 วัน

        นครสวรรค์ 1 (โอซีบี) เป็นพันธุ์อายุสั้นประมาณ 75 วัน เมล็ดโตกว่าทุกพันธุ์ที่กล่าวมา ตาเมล็ดสีเหลืองอ่อน เป็นที่ต้องการของตลาด แต่ต้องหลีกเลี่ยงการปลูกในแหล่งที่มีโรคราสนิมราน้ำค้าง และแอนแทรกโนส เหมาะสำหรับปลูกในฤดูฝนในเขตภาคกลางก่อน หรือตามหลังพืชไร่อื่นๆ สามารถปลูกได้ทั้งฤดูฝนและฤดูแล้ง

        สุโขทัย 1 เป็นพันธุ์ที่เหมาะสำหรับปลูกในภาคเหนือตอนล่าง เช่น สุโขทัย กำแพงเพชร เป็นต้น ให้ผลผลิตสูงเมื่อปลูกในฤดูฝน อายุเก็บเกี่ยว 96 วัน ตาเมล็ดสีเหลืองฟางข้าว เป็นพันธุ์ที่เกิดโรคเมล็ดสีม่วงค่อนข้างมากกว่าพันธุ์อื่นๆ แต่ต้านทานต่อโรคใบด่างและใบจุดนูน (ชาวบ้านเรียกว่าพันธุ์ผักบุ้งเพราะมีใบคล้ายผักบุ้ง และต้นทอดยอด)

พันธุ์ถั่วเหลือง ที่นิยมใช้เพาะปลูกโดยทั่วไปในปัจจุบัน (เพิ่มเติม-ชยพร)  ได้แก่

     1. สจ.4 -รับรองพันธุ์เมื่อปีพ..2519 มีดอกสีม่วง อายุออกดอก 30-36 วัน อายุเก็บเกี่ยว 93-103 วัน ผลผลิตจากแปลงทดสอบ 250-320 กิโลกรัมต่อไร่

     2. สจ.5 -รับรองพันธุ์เมื่อปีพ..2523 มีดอกสีม่วง อายุออกดอก 31-37 วัน อายุเก็บเกี่ยว 93-107 วัน ผลผลิตจากแปลงทดสอบ 250-335 กิโลกรัมต่อไร่

     3. สุโขทัย 1 -รับรองพันธุ์เมื่อปีพ..2529 มีดอกสีม่วง อายุออกดอก 30-36 วัน อายุเก็บเกี่ยว 83-107 วัน ผลผลิตจากแปลงทดสอบ 300-370 กิโลกรัมต่อไร่

     4. นครสวรรค์ 1 -รับรองพันธุ์เมื่อปีพ..2529 มีดอกสีม่วง อายุออกดอก 27-33 วัน อายุเก็บเกี่ยว 69-87 วัน ผลผลิตจากแปลงทดสอบ 250-320 กิโลกรัมต่อไร่

     5. เชียงใหม่ 60 -รับรองพันธุ์เมื่อปีพ..2530 มีดอกสีขาว อายุออกดอก 30-36 วัน อายุเก็บเกี่ยว 93-108 วัน ผลผลิตจากแปลงทดสอบ 280-360 กิโลกรัมต่อไร่

     6. สุโขทัย 2 -รับรองพันธุ์เมื่อปีพ..2538 มีดอกสีม่วง อายุออกดอก 33-39 วัน อายุเก็บเกี่ยว 84-96 วัน ผลผลิตจากแปลงทดสอบ 250-350 กิโลกรัมต่อไร่

     7. เชียงใหม่ 2 -รับรองพันธุ์เมื่อปีพ..2541 มีดอกสีม่วง อายุออกดอก 25-31 วัน อายุเก็บเกี่ยว 65-85 วัน ผลผลิตจากแปลงทดสอบ 250-350 กิโลกรัมต่อไร่

 

ฤดูปลูก

        ปลูกได้ 3 ฤดู คือ

        ก. ฤดูแล้ง เป็นการปลูกในนาหลังเก็บเกี่ยวข้าวแล้ว เริ่มปลูกในเดือนธันวาคม-ต้นเดือนมกราคม จะให้ผลผลิตสูง ส่วนมากปลูกกันแถบจังหวัดภาคเหนือ เพราะเป็นดินร่วนปนทราย สามารถใช้น้ำจากกรมชลประทานได้ดีกว่า จังหวัดอื่น ๆ อย่างไรก็ตาม ในภาคอื่นๆ ที่มีน้ำเพียงพอก็สามารถปลูกถั่วเหลืองในฤดูแล้งได้

        ข. ต้นฤดูฝน เป็นการปลูกบนที่ดอน ส่วนใหญ่จะเริ่มปลูกระหว่างต้นเดือนพฤษภาคม ข้อสำคัญจะต้องกะเวลาให้ ถั่วแก่ เก็บเกี่ยวได้ในระยะฝนหมดพอดี จึงจะได้เมล็ดที่สวยงามเป็นที่ต้องการของตลาด

        ค. ปลายฤดูฝน โดยทั่วไปจะปลูกระหว่างเดือนกรกฎาคมถึงสิงหาคม ซึ่งในบางท้องที่นิยมปลูกถั่วเหลืองหลังการ เก็บเกี่ยวพืชหลัก เช่น หลังเก็บเกี่ยวข้าวโพด หรือปลูกระหว่างร่องแถวข้าวโพด ในขณะที่ข้าวโพดฝักแก่ก่อนการเก็บเกี่ยว

การเลือกพื้นที่ปลูก

        ถั่วเหลืองขึ้นได้ในดินเกือบทุกชนิดที่มีการระบายน้ำได้ดี ตั้งแต่ดินร่วนปนทรายจนกระทั่งดินเหนียวที่มีความอุดม สมบูรณ์พอควรความเป็นกรดด่างของดินประมาณ 5.5 - 6.5 ไม่ชอบดินทรายจัด และสภาพดินที่เป็นเกลือหรือ กรดจัด ที่เหมาะสมคือดินร่วน, ดินร่วนเหนียว พื้นที่ที่เป็นดินกรด (ดินเปรี้ยว) ก่อนจะปลูกถั่วเหลืองควรใส่ปูนขาวตามค่าวิเคราะห์ดินเพื่อปรับระดับความเป็น กรด-ด่างของดินให้เหมาะสม

ในฤดูฝนต้องทำการระบายน้ำ เพราะถั่วเหลืองไม่ชอบน้ำขังแฉะ ส่วนในฤดูแล้งต้องเลือกพื้นที่ที่มีน้ำเพียงพอตลอด ระยะเวลาการปลูกที่นาควรอยู่ในที่สูงพอควร และอยู่ในส่วนต้นหรือกลางคลอง สามารถส่งน้ำจากคลองชลประทาน เข้าไปในแปลงปลูกได้ ควรเลี่ยงแปลงที่อยู่ในที่ลุ่มหรือปลายคลองหรือติดกับแปลงปลูกข้าวนาปรัง ทั้งนี้เพราะจะมี น้ำไหลซึมเข้าไปท่วมขัง ในแปลงถั่วเหลืองได้ในภายหลัง

        ควรรีบปลูกถั่วเหลืองให้เร็วที่สุดทันทีที่เก็บเกี่ยวข้าวเสร็จ ระหว่างรอให้ฟ่อนข้าวแห้งก่อนนวด ควรรีบปลูกถั่วทันที เพื่อที่จะเก็บเกี่ยวได้ก่อนที่ฝนต้นฤดูจะตก ทำให้ผลผลิตเสียหาย ลำบากต่อการเก็บเกี่ยวและนวด และเป็นการเลี่ยงการเข้าทำลายของแมลงศัตรูและโรคได้มาก การปลูกช้าจะทำให้ต้นถั่วออกดอกและติดฝักในช่วงปลายฤดูแล้ง ซึ่งน้ำชลประทานอาจขาดแคลนได้ ทำให้ได้ผลผลิตไม่สูงเท่าที่ควร

วิธีการเตรียมดินและปลูก

        การปลูกถั่วเหลืองในฤดูฝน การเตรียมดินเหมือนกับพืชไร่อื่นๆ คือ ไถแล้วพรวน 1-2 ครั้ง ขึ้นกับสภาพดิน และให้มีความลึกประมาณ 15-20 เซนติเมตร ปรับระดับหน้าดินให้สม่ำเสมอไม่ให้มีน้ำขัง และมีการขุดร่องโดย รอบแปลงปลูกเพื่อระบายน้ำได้สะดวก ในขณะปลูกดินควรจะมีความชื้นที่ดีเพื่อให้เมล็ดงอกอย่างรวดเร็ว ดินที่จับตัวเป็นแผ่นแข็งที่หน้าดินหลังฝนตกหนักและแห้ง จะทำให้ต้นกล้าไม่สามารถงอกทะลุผิวดินขึ้นมาได้ ทำให้ความงอกไม่สม่ำเสมอ ดังนั้นดินที่เป็นดินเหนียว ดินร่วนปนเหนียวจึงไม่ควรเตรียมดินให้ละเอียดนัก

        การปลูกมีหลายวิธี เช่น โรคเมล็ดเป็นแถว และหยอดเป็นหลุม ให้ลึก 2-3 เซนติเมตร แต่ที่ให้ผลดี คือหยอดเมล็ด ในหลุมที่เตรียมไว้ โดยมีระยะระหว่างแถวและระหว่างต้น ที่พอเหมาะกับการเจริญเติบโต คือ 50x20 เซนติเมตร ปลูกหลุมละ 3-4 เมล็ด ใช้เมล็ดพันธุ์ประมาณ 7 กิโลกรัมต่อพื้นที่ปลูก 1 ไร่ หากเมล็ดพันธุ์มีความงอกต่อจะต้องเพิ่ม ปริมาณหยอดเมล็ดต่อหลุมให้มากขึ้น

        พื้นที่ที่ไม่เคยปลูกถั่วเหลืองมาก่อน หรือดินที่เป็นกรดหรือด่างมากเกินไปเหล่านี้ ควรปรับสภาพดินให้เหมาะสมก่อน และคลุกเมล็ดพันธุ์ด้วยเชื้อไรโซเบียมก่อนปลูก จะทำให้เพิ่มผลผลิตได้มาก

การปลูกถั่วเหลืองฤดูแล้ง

        เนื่องจากสภาพขอดินแต่ละแหล่งแตกต่างกัน ดังนั้น วิธีการเตรียมดินจึงแตกต่างกัน เช่น ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หรือแหล่งปลูกที่มีสภาพดินเป็นดินร่วนปนทราย หรือดินปนทรายที่มีการระบายน้ำและสภาพดินร่วนซุย การปลูกถั่วเหลืองตามหลังข้าวที่นิยมทำกัน คือ ปลูกในตอซังข้าวโดยไม่มีการไถพรวนดิน วิธีนี้ต้องตัดตอซังข้าวให้สั้น เพื่อจะสะดวกต่อการปลูก จะเผาตอซังในนาข้าวหรือไม่เผาก็ได้

        วิธีปลูก ใช้ไม้ปลายแหลมเจาะดินชิดบริเวณตอซังให้เป็นรู แล้วหยอดเมล็ดถั่วเหลืองลงหลุม การเจาะดินให้เป็นหลุมควรจะลึก 3-5 เซนติเมตร ระยะระหว่างแถวของตอซังเป็นเกณฑ์ในการแทงหลุม และใช้ระยะระหว่างหลุม 20-25 เซนติเมตร หยอดหลุมละ 3-4 เมล็ด แล้วใช้ฟางข้าวคลุก เพื่อลดอัตราการระเหยของน้ำในดิน แล้วระบายน้ำเข้าพอให้ดินเปียกชุ่ม แล้วระบายน้ำออกทันที ประมาณ 5-7 วัน ถั่วจะเริ่มงอก เพื่อให้รับสภาพอากาศและการปล่อยน้ำชลประทาน ควรปลูกให้เสร็จก่อนกลางเดือนมกราคม ถ้าปลูกช้ากว่านี้ปริมาณน้ำอาจมีไม่พอ และการเก็บเกี่ยวจะตรงกับช่วงฝนในเดือนพฤษภาคม

        การปลูกถั่วเหลืองทันทีหลังการเก็บเกี่ยวข้าว และในสภาพที่มีตอซังอยู่วิธีการที่รักษาความชุ่มชื้นของดินให้พอ เหมาะกับการเจริญเติบโตของถั่วเหลือง แต่การเตรียมดินนอกจากทำให้ดินร่วนซุยแล้ว ยังเป็นเการกำจัดวัชพืช เป็นการปรับที่สำหรับส่งน้ำเข้าแปลง และระบายน้ำออก และยังทำให้ปลูกถั่วได้ง่ายขึ้น

        การไถก่อน 1 ครั้ง แล้วยกร่องให้สันร่องกว้างประมาณ 1 เมตร พอที่จะปลูกถั่วเหลืองได้ 2 แถวบนสันร่อง จะทำให้สะดวกในการส่งน้ำเข้าไปตามร่อง ตลอดทั้งการปฏิบัติดูแลรักษาและเก็บเกี่ยว

        การเตรียมดินในภาคกลาง หรือแหล่งปลูกที่มีสภาพดินเป็นดินเหนียว ต้องไถพรวนให้ดินแตกเป็นก้อน ขนาด 1-2 นิ้ว ไม่ควรให้ดินแตกจนละเอียด เพราะเมื่อปล่อยน้ำเข้าแล้วดินจะจับเป็นแผ่นอีก ควรมีการยกแปลงและทำร่องน้ำสำหรับส่งน้ำเข้าแปลงได้ ร่องน้ำควรลึกประมาณ 30 เซนติเมตร หลังแปลง หรือสันร่องไม่ควรกว้างเกิน 1.5 เมตร เพราะถ้ากว้างเกินไปทำให้น้ำซึมเข้าไปถึงกลางแปลงได้น้อย ระวังอย่าให้น้ำท่วมหลังร่อง เพราะจะทำให้ดินแน่นและแฉะได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระยะแรกๆ เมื่อหยอดเมล็ดพันธุ์ลงไปเมล็ดจะเน่าเสียหาย

        การเตรียมดินในภาคตะวันออก เมื่อเก็บเกี่ยวข้าวแล้ว ควรเกี่ยวให้ชิดดินแล้วเผาตอซังในนา เพื่อเป็นการกำจัดวัชพืช โรค แมลงบางชนิด ขี้เถ้าที่ได้จากการเผาตอซังช่วยลดความเป็นกรดเป็นดิน และให้ธาตุโปตัสเซียมเล็กน้อย แล้วขุดร่องน้ำรอบบริเวณที่ปลูก หลังจากนั้นจึงแบ่งแปลงปลูกให้เป็นแปลงย่อย กว้างประมาณ 1 เมตร เพื่อสะดวกในการปฏิบัติดูแลรักษาและสามารถให้น้ำได้อย่างทั่วถึง

        หลังจากนั้นจึงปล่อยน้ำท่วมแปลงขังไว้ 1 คืน แล้วจึงระบายน้ำออกทิ้งไว้ 2-3 วัน พอดินหมาด ใช้เชือกขึงตรงเป็นแนวปลูก แล้วใช้ไม้เคี่ยวหรือไม้คู่กระทุ้งเตรียมหลุมปลูกโดยใช้ระยะระหว่างต้น 20-25 เซนติเมตร ระหว่างแถว 40-50 เซนติเมตร โดยหยอดเมล็ดลึก 2-3 เซนติเมตร

การปฏิบัติดูแลรักษา

        1. การให้น้ำ ในฤดูแล้งควรให้น้ำประมาณ 5-6 ครั้งตลอดฤดูปลูกโดยให้ครั้งแรกก่อนปลูก ครั้งต่อๆไปให้ทุก 10-14 วัน อีก 4-5 ครั้ง แล้วแต่ความชุ่มชื้นของดิน เนื่องจากความสามารถในการอุ้มน้ำของดินแตกต่างกันไป ควรจะสังเกตใบถั่วเหลืองประกอบด้วย เช่น โดยปกติใบถั่วจะเหี่ยวใบตอนบ่าย และจะคืนตัวเป็นปกติในตอนเย็น หากเห็นว่าในตอนเย็นหรือตอนเช้า ใบถั่วยังมีอาการเหี่ยวไม่เป็นปกติ ก็ควรจะให้น้ำได้

        การให้น้ำควรให้พอดี ไม่ควรให้น้ำท่วมแปลงถั่วเหลืองเกิน 1-2 วัน ถ้าให้มากเกินไป หรือดินชั้นล่างแฉะ จะสังเกตเห็นใบเริ่มเปลี่ยนเป็นสีเหลือง ก้านใบและเส้นใบจะเปลี่ยนเป็นสีม่วง ให้รีบระบายน้ำออกทันที และลดการให้น้ำครั้งต่อไปให้น้อยลง หรือยืดช่วงเวลาให้น้ำครั้งต่อไปนานกว่าเดิม ควรระวังอย่าให้ขาดน้ำในช่วงที่ออกดอกและติดฝัก หยุดให้น้ำเมื่อฝักเริ่มเปลี่ยนจากสีเขียวเป็นเหลือง

        2. การพรวนดินและดายหญ้า ควรทำอย่างน้อย 2 ครั้ง ในระยะที่ต้นถั่วอายุไม่เกิน 30 วัน หลังจากนี้แล้วถั่วจะเริ่มออกดอก การพรวนดินจะกระเทือนระบบรากและอาจทำให้ดอกร่วงได้ และในระยะที่ถั่วออกดอก ต้นถั่วจะแผ่กิ่งก้านมากพอที่จะปกคลุมดิน ป้องกันวัชพืชเจริญเติบโตได้

ปัญหาที่พบมากในการปลูกถั่วเหลืองฤดูแล้งในนาข้าว คือ วัชพืช โดยเฉพาะหญ้าและลูกข้าวจะงอกขึ้นมาเมื่อ ได้รับน้ำ จึงควรกำจัดพืชอย่างน้อย 2 ครั้ง ตามความจำเป็น หากอายุเกิน 30 วันแล้วไมควรทำอีก

การดูแลแปลงปลูกถั่วเหลืองในระยะ 1 เดือนแรก ให้ปลอดจากวัชพืชรบกวนได้ นับว่าสำคัญที่สุดในการเพิ่มผลผลิต ถั่วเหลือง

        3. การบำรุงดิน ในดินที่อุดมสมบูรณ์แล้ว เมื่อใส่ปุ๋ยไนโตรเจนลงไปอาจทำให้ถั่วเหลืองเฝือใบได้ และเป็นการเพิ่มต้นทุนการผลิตโดยไม่จำเป็น แต่ในดินที่มีความอุดมสมบูรณ์ต่ำจะต้องใช้ปุ๋ยเคมีช่วย และควรให้ปุ๋ยถูกต้องกับความต้องการของถั่วเหลืองด้วย

        ในดินที่ได้ทำการเกษตรกรรมมานาน ปริมาณธาตุอาหารในดินย่อมลดน้อยลง โดยเฉพาะไนโตรเจนและฟอสฟอรัส ส่วนโปแตสเซียมพื้นที่ส่วนใหญ่จะมีปริมาณเพียงพอ แต่ถ้าดินขาดธาตุโปแตสเซียมแล้ว ถั่วเหลืองจะมีอาการตอบสนองต่อปุ๋ยได้ง่าย โดยเฉพาะในดินทรายถึงร่วนปนทรายพบว่าในดินที่ขาดธาตุโปแตสเซียม ถ้ามีการให้ปุ๋ยโปแตสเซียมช่วยแล้ว จะให้ผลดียิ่งขึ้น ผลผลิตจะเพิ่มและเปอร์เซนต์น้ำมันในเมล็ดจะเพิ่มขึ้นด้วย

        นอกจากความอุดมสมบูรณ์ของดินแล้ว ปฏิกิริยาความเป็นกรดหรือเป็นด่างของดิน ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่มีผลต่อ ความเจริญเติบโตของถั่วเหลืองและ ประสิทธิภาพของการใช้ปุ๋ย ถั่วเหลืองจะเจริญเติบโตได้ดี ในดินที่มีความเป็นกรดและด่างของดินประมาณ 5.5-6.5

        สำหรับดินปนทรายในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ การใส่ปุ๋ยไนโตรเจนสูงหรือต่ำไม่ช่วยให้เพิ่มผลผลิตสูงได้ เนื่องจากการสูญเสียไนโตรเจนไปอย่างรวดเร็ว แต่การใช้เชื้อไรโซเบี่ยมคลุกเมล็ดก่อนปลูกจะมีผลดีกว่าการ ใช้ปุ๋ยไนโตรเจน

สูตรปุ๋ย

        1. การปลูกในดินนาหลังเก็บเกี่ยวข้าว

            ดินร่วนปนทราย ใช้ปุ๋ยเคมี สูตร 12 - 24 - 12 อัตรา 25 กิโลกรัมต่อไร่

            ดินเหนียว ใช้ปุ๋ยเคมี สูตร 0 - 40 - 0 อัตรา 15 กิโลกรัมต่อไร่ หรือสูตร 0-40-0 อัตรา 13 กิโลกรัมต่อไร่

        2. การปลูกในดินไร่

            ใช้ปุ๋ยเคมี สูตร 12-24-12 อัตรา 25 กิโลกรัมต่อไร่ หรือสูตรใกล้เคียง เช่น 6-24-24 หรือ 15-15-15 หรือ 16-20-0 อัตราเดียวกัน

            วิธีการใส่ปุ๋ย ควรใส่ปุ๋ยทั้งหมดก่อนปลูกหรือพร้อมการปลูก โดยหยอดก้นหลุมหรือก้นร่องแถวปลูกกลบดินบางๆ แล้วจึงหยอดเมล็ด หรือใส่ปุ๋ยหลังปลูกโดยการเปิดร่องตื้นๆ แล้วโรยปุ๋ยตามแนวร่องห่างจากโคนต้นถั่งเหลืองประ มาณ 10 เซนติเมตร ( 1 ฝ่ามือ) แล้วไถกลบ พร้อมกับการกำจัดวัชพืชครั้งแรก เมื่อถั่วเหลืองอายุ 15-20 วัน

การกำจัดวัชพืช

        1. วิธีกล โดยกำจัดวัชพืชที่ขึ้นแล้ว การกำจัดจะมีประสิทธิภาพ ประหยัดเวลาและแรงงาน ควรกระทำเมื่อวัชพืชมีขนาดเล็กยังไม่ออกดอก เพื่อไม่ให้วัชพืชแพร่พันธุ์เพิ่มปริมาณ ซึ่งมีวิธีปฏิบัติดังนี้

            1.1 การเผา ใช้เผาทำลายวัชพืชหรือตอซังในนาหลังเก็บเกี่ยวข้าว ทั้งวิธีปลูกโดยมีการเตรียมดินหรือ ปลูกในตอซัง การเผาอาจทำลายวัชพืชที่มีอยู่ในไม่หมดหากวัชพืชไม่แห้ง หรือ มีฝางที่ใช้เผาน้อย จึงปรากฏมีวัชพืชงอกขึ้นมาภายหลัง

            1.2 การทำรุ่น หมายถึงการกำจัดวัชพืชโดยใช้เครื่องมือต่าง ๆ คือ

              ก. จอบ ใช้จอบดายวัชพืชในระหว่างแถวและต้น

              ข. คราดซี่ ใช้คราดซี่ซึ่งประดิษฐ์ขึ้นเอง ลากเข้าไปในระหว่างแถว คราดให้วัชพืชหลุดจากดิน วิธีนี้ทำได้ดีในสภาพดินค่อนข้างแห้งร่วนและวัชพืชยังเล็ก

            1.3 การเกี่ยว โดยใช้เคียวหรือแว้งตัดส่วนของวัชพืชที่อยู่เหนือดิน วิธีนี้ใช้กันมากในแหล่งปลูกที่มีฝนตกชุกจนเข้าไปดายหญ้าไม่ได้ หรือในสภาพการปลูกถั่วเหลือง ที่ไม่มีการกำจัดวัชพืชมาตั้งแต่ระยะแรก จึงเกี่ยวกับวัชพืชไปเลี้ยงสัตว์

            1.4 การใช้วัสดุคลุมดิน ใช้ฟางข้าว ตอซังพืช คลุมผิวดินบนแปลงให้หนาประมาณ 1-2 นิ้ว ในระยะหลังอาจมีวัชพืชใบกว้างขึ้นมาก็ต้องเก็บด้วยมือ

        2. การใช้ระบบปลูกพืช โดยปลูกเป็นพืชแซม หรือพืชหมุนเวียนหรือพืชร่วมกับพืชอื่น

        3. การใช้สารเคมีป้องกันกำจัดวัชพืช เนื่องจากอุปสรรคของวิธีใช้แรงงาน คือปัญหาขาดแคลนแรงงาน ค่าจ้างแรงงานสูง หรือภาวะฝนชุกไม่สารมารถเข้าไปปฎิบัติงานได้ ดังนั้นจึงต้องเปลี่ยนแปลงการกำจัดวัชพืช ยับยั้งการเจริญเติบโตของต้นกล้าวัชพืช

        สารป้องกันกำจัดวัชพืชที่ใช้กับถั่วเหลือง ประเภทเลือกทำลายเฉพาะวัชพืช ซึ่งมีคุณสมบัติต่าง ๆ คือ ป้องกันการงอกของเมล็ดวัชพืชยับยั้งการเจริญเติบโตของต้นกล้าวัชพืช

        การปลูกถั่วเหลืองในตอซังหลังนาโดยไม่มีการเตรียมดิน ต้องใช้สารเคมีประเภทไม่เลือกทำลายมาสมทบอีก เพื่อจำกัดวัชพืชที่ขึ้นอยู่แล้วหรือข้าวที่ขึ้นจากตอซัง

โรคถั่วเหลือง

        1. โรคราสนิม

        อาการของโรค อาการจะปรากฏบนใบจริงคุ่แรกของต้นถั่วเหลืองที่มีอายุตั้งแต่ 2 สัปดาห์ หรือเมื่อเริ่มออกดอก โดยพบแผลลักษณะเป็นจุดสีน้ำตาลเล็กๆ ทางด้านใต้ใบ ต่อมาจุดสีน้ำตาลนี้จะขยายนูนขึ้นมา ดูคล้ายขุยผงสีน้ำตาลหรือสีสนิม เมื่อถึงระยะนี้เชื้อโรคจะแพร่ระบาดอย่างรวดเร็ว ทำให้ใบแสดงอาการจุดเล็กๆ ทั่วทั้งใบ ใบที่เป็นโรคจะร่วงก่อนแก่ ฝักที่มีอยู่อาจเล็กผิดปกติหรือลีบไม่มีเมล็ด

        การป้องกันกำจัด

            1.ใช้พันธุ์ต้านทานโรค คือ เชียงใหม่ 60

            2. ปลูกพืชหมุนเวียนอื่น ๆ ยกเว้นมันแกว

3. ใช้เมล็ดพันธุ์ที่สมบูรณ์ปราศจากเชื้อโรค

            4. ฉีดด้วยสารเคมี แมนเซท-ดี หรือไดเทนเอ็ม-45 อัตรา 30-40 กรัมผสมน้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่นให้ทั่วโดยเฉพาะตรงใบล่างๆ ตั้งแต่อายุ 40 วัน และฉีดหลังจากนี้อีก 2 ครั้ง ห่างกัน 7 วัน ถ้าไม่ปรากฏอาการของโรคก็ไม่ต้องฉีด

        2. โรคราน้ำค้าง

        สาเหตุ เกิดจากเชื้อรา เกิดทั่วๆ ไปในแหล่งที่ปลูกที่มีอากาศค่อนข้างเย็น ผลผลิตเสียหายได้ทั้งใบและเมล็ด

        อาการของโรค ขึ้นแรกจะเห็นเป็นจุดขนาดเล็กสีเขียวอ่อนทางด้านบนของใบ ต่อมาจะเปลี่ยนเป็นสีเทา-น้ำตาล หรือเป็นแผลสีน้ำตาล-ดำ โดยมีขอบแผลสีเหลืองเขียวใต้ใบ ในตอนเช้า ๆ ที่มีน้ำค้าง แผลจะมีกลุ่มของเส้นใยสีเทาอ่อนและสีเทา-ม่วงขึ้นปกคลุม ใบที่เป็นโรคมากจะเหลืองและกลายเป็นน้ำตาล และร่วง โรคนี้เกิดกับฝักได้ ภายในฝักและเมล็ดจะห่อหุ้มอย่างแน่หนาด้วยเชื้อราสีเทาอ่อน เมล็ดถั่วเหลืองเหล่านี้เมื่อนำไปปลูกจะเป็นโรคได้อีก โดยจะสังเกตใบที่งอกใหม่อายุ 2 สัปดาห์จะเห็นจุดขนาดใหญ่บนใบคู่แรกและใบคู่ที่ 2 และต้นกล้าจะตายไป

        การป้องกันกำจัด

            1. ใช้เมล็ดพันธุ์ที่สะอาดปราศจากโรค

            2. ทำลายซากพืชที่เป็นโรคหลังการเก็บเกี่ยว

            3. ใช้สารเคมีคลุกเมล็ดพันธุ์เช่น แคปแทน หรือ ไดโฟลา-แทน ในอัตรา 1-2.5 กรัม ต่อเมล็ดพันธุ์ 1 กิโลกรัม หรือใช้เอพรอน ในอัตรา 7 กรัมคลุกเมล็ดพันธุ์ 1 กิโลกรัม จะลดปริมาณของเชื้อโรคลงได้ลง

        3. โรคใบจุดนูนหรือแบคทีเรียพัสตูล

        สาเหตุ เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย

        อาการของโรค อาการเริ่มแรกเกิดเป็นจุดสีเหลืองแกมเขียว และมีรอยนูนเล็ก ๆ ขึ้นมาตรงกลางแผล พบอาการทั้งด้านใต้ใบและบนใน ต่อมาจะพบเป็นรอยแผล เป็นกลุ่มกระจายทั่วไปและมีสีน้ำตาลแดง มีรอยสีเหลืองซีดล้อมเป็นวงรอบแผล เมื่อแผลแห้งจะตกสะเก็ดเป็นรอยบุ๋มลึกลงไปกลางแผล แผลอาจเกิดเป็นรอย ติดต่อกันเป็นสีน้ำตาล เข้มขนาดใหญ่ และมีรอยสีเหลืองล้อมรอบ แผลอาจมีการฉีกขาดออกไปได้ง่าย โรคนี้จะระบาดมากในฤดูฝน

        การป้องกันกำจัด

            1. ใช้เมล็ดพันธุ์ที่สะอาดปราศจากโรค

            2. ใช้พันธุ์สุโขทัย 1 นครสวรรค์ 1 ซึ่งต้านทานโรคใบจุดนูน

            3. ป้องกันแมลงไม่ให้ทำแผลบนส่วนต่าง ๆ ของพืช

        4. โรคเน่าคอดินและโรครากเน่า

        สาเหตุ เกิดจากเชื้อราหลายชนิดที่ติดมาในเมล็ด อยู่ในดิน เศษซากพืช หรืออื่น ๆ

        อาการของโรค ที่เห็นชัดคือต้นถั่วเหลืองไม่งอก โดยที่เมล็ดเน่าก่อนงอก หรือต้นเน่าก่อนโผล่ออกมาเหนือดิน หรือเมื่องอกโผล่พ้นผิวดินรากและโคนต้นกล้าเน่าทำให้ลำต้นหักพับตาย บางครั้งอาจพบเส้นใยเชื้อรา สีขาวขึ้นตรงบริเวณระดับดินเกิดเป็นหย่อน ๆ บริเวณดินที่มีการระบายน้ำไม่ได้ น้ำขัง

        การป้องกันกำจัด

            1. เตรียมดินให้มีการระบายน้ำดี

            2. ใช้เมล็ดพันธุ์ที่สมบูรณ์ปราศจากโรค มีเปอร์เซนต์ความงอกสูง

            3. คลุกเมล็ดก่อนปลูกโดยใช้สาร แคปแทน หรือไดโฟลาแทน อัตรา 1-2.5 กรัม/น้ำหนักเมล็ด 1 กิโลกรัม การคลุกเมล็ดต้องคลุกให้ทั่วถึง

        5. โรคใบโกร๋นหรือแอนแทรกโนส

        สาเหตุ เกิดจากเชื้อรา

        อาการของโรค อาการบนใบ ก้านใบ กิ่ง ก้านฝักและฝัก พบ

        ลักษณะเป็นจุดแผลสีน้ำตาลเข้ม อาจพบมีวงสีเหลืองล้อมรอบหรือไม่ก็ได้ ขนาดของแผลมีได้ตั้งแต่จุดเล็กขนาด 1-2 มิลลิเมตร ถึง 5-10 มิลลิเมตร ขึ้นอยู่กับพันธุ์ของถั่วเหลือง

อาการบนกิ่งก้านและลำต้น พบจุดสีดำเล็ก ๆ เกิดขึ้นทั่วไปบนผิวชั้นนอกของกิ่งก้านและทุกส่วนของลำต้น

อาการบนฝัก พบจุดสีดำเล็ก ๆ บนฝักทั่วไปทั้งฝัก หรือแสดงลักษณะของวงสีดำซ้อนกันเป็นชั้น ๆ เมล็ดในฝักมักลีบหรือย่น เป็นรอยแผลสีน้ำตาล และทำให้เปอร์เซนต์ความงอกลดลงอย่างมาก

        การป้องกันกำจัด

            1. คลุกเมล็ดพันธุ์ก่อนปลูกด้วยสารเคมีกำจัดเชื้อรา

            2. ปลูกพืชหมุนเสียน

            3. ใช้เมล็ดพันธุ์ที่สะอาดปราศจากโรคและมีความงอกสูง

            4. ทำความสะอาดแปลงปลูก โดยการเก็บเศษซากต้นถั่วเหลืองเผาไฟ

            5. ในแหล่งที่มีโรคนี้ระบาดไม่ควรปลูกถั่วเหลืองในฤดูฝน หรือพยายามวางแผนการปลูก ให้ช่วงที่ถั่วเหลืองติดฝักจนเก็บเกี่ยวไม่มีฝนตกมากนัก

            6. ระยะฝักอ่อนหากมีโรคระบาดใช้สารเคมีแมนโคเซบ หรือแคปแทนฉีดพ่น

        6. โรคที่เกิดจากเชื้อรา

        อาการใบหด ย่น หรือหงิก ต้นถั่วเหลืองแสดงอาการต้นเตี้ย กิ่งข้อและก้านใบสั้น แคระแกร็น ใบย่นเป็นคลื่น ใบแคบ ขอบใบม้วนลง มักมีสีเขียวเข้มกว่าปกติ บางครั้งใบอ่อนที่แตกมาใหม่ ๆ ใบจะย่น เส้นใบสีเหลืองซีดถึงสีขาว ต้นถั่วที่เป็นโรคนี้จะไม่ค่อยติดฝัก โรคนี้มีแมลงหวี่ขาวเป็นแมลงพาหะ

        อาการใบด่าง ต้นถั่วเหลืองแสดงอาการใบด่าง เป็นดวง แคระแกร็น ใบไม่ย่น อาการที่ปรากฏมักเห็นชัดเจนในใบอ่อน บางครั้งใบอ่อนที่แสดงอาการต่างอาจย่นเล็กน้อย อาการที่พบจะมากเมื่อถั่วเหลืองเริ่มออกดอก ในพันธุ์ที่อ่อนแอ นอกจากอาการใบด่างแคระแกร็นแล้ว ยังทำให้ยอดแห้งตายอีกด้วย ต้นเป็นโรคจะออกดอกตามปกติ แต่มีจำนวนน้อยและเมล็ดไม่สมบูรณ์ โรคนี้มีเพลี้ยอ่อนเป็นแมลงพาหะ

การป้องกันกำจัด

            1. นำต้นที่เป็นโรคไปเผาทิ้ง

            2. พ่นสารฆ่าแมลงที่เป็นพาหะของโรค เช่น มาลาไธออน, ไดเมทโธเอท

            3. หลังการเก็บเกี่ยว ควรทำลายต้นพืชที่หลงเหลืออยู่ในแปลงปลูก เพื่อทำลายแหล่งอาศัยของแมลงพาหะ

            4. ปลูกพืชหมุนเวียน

 

แมลงศัตรูถั่วเหลือง

        1. หนอนแมลงวันเจาะต้นถั่ว

        แมลงวันจะวางไข่ในเนื้อเยื่อของใบ เมื่อฟักเป็นตัวหนอนจะไชชอนลงไปสู่โคนต้น แล้วกัดกินเนื้อเยื่อที่โคนต้นจนโตเต็มที่ แล้วเข้าดักแด้ในดิน ถ้าระบาดมากต้นถั่วจะตาย หากพ้นระยะต้นกล้าแล้ว จะมีหนอนแมลงวันอีกชนิดหนึ่งคอยเจาะกิ่งอ่อนทำให้ต้นแคระแกร็น

        การป้องกันกำจัด ใช้คาร์โบฟูแรน 3% จี รองก้นหลุมก่อนปลูก อัตรา 4-6 กก./ไร่

        2.หนอนกระทู้ผัก

        หนอนชนิดนี้จะกัดกินผิวใบ โดยแทะกินผิวใบพืชด้านล่าง เหลือไว้แต่ผิวใบด้านบน ทำให้ผิวใบแห้งมองเห็นเป็นสีขาว มักจะทำลายในเวลาเช้า เย็น และเวลากลางคืน ส่วนเวลากลางวันจะหลบอยู่ตามโคนต้น ตัวหนอนมีสีเขียวอ่อนหรือสีนวล มีจุดสีเข้มที่ข้างนอกปล้องแรกข้างละจุด ตัวโตเต็มที่ยาวประมาณ 3.5-5 เซนติเมตร

        การป้องกันกำจัด

            2.1 ทำความสะอาดแปลงรวมทั้งพรวนดินด้วย เพื่อทำลายดักแด้ของหนอนชนิดนี้ในดิน

            2.2 ถ้าหนอนอยู่ในระยะที่แยกกลุ่มแล้ว ถ้าใบเสียหายโดยเฉลี่ย 30% ควรพ่นด้วยแลนเนท 90%เอสพี, อะโซดริน 56% ดับบลิว เอส ซี, หรือลอสแบน 20% อีซี, พ่น 1-2 ครั้ง ทุก 7 วัน

        3. หนอนเจาะฝัก

        ซึ่งเป็นหนอนชนิดเดียวกันกับที่เจาะฝักข้าวโพด และเจาะสมอฝ้าย พบระบาดเสมอ ฉะนั้น ควรจะต้องหมั่นตรวจแปลงอยู่เสมอ โดยเฉพาะเมื่อถั่วเหลืองเริ่มติดฝัก หากพบให้รีบดำเนินการกำจัดทันที ทั้งนี้เพราะหนอนที่ฟักออกจากไข่ในระยะแรก จะสามารถกำจัดได้ง่ายกว่าหนอนเมื่อใกล้จะโตเต็มวัย

        การป้องกันกำจัด ถ้าพบหนอนระบาด 20 คัว ต่อ 100 ต้น ให้พ่นด้วยแลนเนท 90% เอสพี, อะโซดริน 56% ดับบลิว เอส ซี, ลอสแบน 20% อีซี พ่น 1-2 ครั้ง ห่างกัน 7-10 วัน

        4. หนอนม้วนใบ

        หนอนชนิดนี้ทำให้ใบถั่วเหลืองม้วนเข้าหากัน และหนอนกัดกินอยู่ภายใน เริ่มระบาดตั้งแต่ต้นถั่วอ่อนจนแก่เป็นฝัก ตัวหนอนมีสีเขียวหัวสีดำ หรือน้ำตาล ตัวยาวประมาณ 1/2 นิ้ว

        5. หนอนชอนใบ

        ถ้าพบระบาดในระยะต้นถั่วกำลังเจริญเติบโต จะทำให้ต้นแคระแกร็น ผลผลิตลดลงกว่า 50% หากฝนแล้งการระบาดจะรุนแรง หนอนที่ฟักออกจากไข่จะเจาะเข้าไปในใบพืช กัดกินเนื้อเยื่อของใบเหลือไว้แต่ผิวใบด้านล่างและด้านบน ต่อมาจะแห้งเป็นสีขาว สังเกตได้ง่าย

        การป้องกันกำจัด ถ้าพบใบถูกทำลายถึง 30% ให้พ่นด้วยไดเมธโธเอท 40%อีซี, อะโซดริน 56% ดับบลิว เอส ซี, ทามารอน 60%แอลซี, ฮอสตาไธออน 40% อีซี.

        6. เพลี้ยอ่อน

        มักจะพบดูดกินน้ำเลี้ยงจากยอดอ่อน กิ่งอ่อนของถั่วเหลือง แมลงชนิดนี้ระบาดและแพร่พันธุ์ได้รวดเร็วมาก ฉะนั้น ควรจะต้องหมั่นตรวจแปลงอยู่เสมอ ๆ หากพบแมลงชนิดนี้ ให้รีบกำจัดเสียในระยะแรก สารเคมีที่ใช้ได้ผลดี เช่น ไดเมทโธเอท 40%อีซี, อะโซดริน 56% ดับบลิว เอส ซี, โฟลิแมท 50% อีซี. พ่น 1-2 ครั้ง ทุก 10 วัน

        7. มวนเขียว

        ทำลายโดยดูดกินน้ำเลี้ยงจากใบ ลำต้นและฝักอ่อน ทำให้ถั่วไม่ติดฝัก หรือเมล็ดเหี่ยวย่น เมล็ดลีบ

        การป้องกันและกำจัด ถ้าถั่วอยู่ในระยะออกดอกและพบเห็นมวนเขียวประมาณ 3 ตัว ใบแถวถั่วยาว 1 เมตร ควรพ่นด้วยอะโซดริน 56% ดับบลิว เอส ซี, ไดเมธโธเอท 40% อีซี, ทามารอน 60%แอลซี, อย่างใดอย่างหนึ่ง และพ่นซ้ำเมื่อตรวจพบในปริมาณดังกล่าวอีก

การเก็บเกี่ยวถั่วเหลือง

        การเก็บเกี่ยวจะแตกต่างกันไปตามฤดูกาล คือ ถ้าปลูกฤดูฝนเก็บได้ เมื่อถั่วเหลืองอายุ 95-110 วัน ถ้าปลูกในฤดูแล้งหรือปลายฤดูฝน เก็บเกี่ยวได้เมื่ออายุ 90-95 วัน การเก็บเกี่ยวในฤดูฝนและฤดูแล้งแตกต่างกันมาก เพราะฤดูแล้งนวดถั่วได้ง่าย ส่วนในฤดูฝนจะต้องเก็บเกี่ยวในเดือนสิงหาคม ซึ่งยังมีฝนตกหนักอยู่ จึงมักประสบกับปัญหาการตากและนวดยาก ทำให้เมล็ดถั่วเหลืองขึ้นราและเสียหายได้ง่าย

        ถ้าปลูกถั่วเหลืองปลายฤดูฝน และสามารถเก็บเกี่ยวได้ในราวเดือนพฤศจิกายน หรือธันวาคม ควรเก็บเกี่ยวเมื่อใบเหลืองเริ่มร่วง ประมาณ 2 ใน 3 ของต้นและฝักเริ่มเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล ถ้าเก็บเกี่ยวในระยะที่ฝนตกชุก การนำไปผึ่งแดดให้ฝักและเมล็ดแห้งนั้นทำได้ยาก จึงควรเก็บเกี่ยวต้นถั่วเมื่อแก่เต็มที่แล้ว โดยสังเกตได้จากใบจะเหลืองหมดทั้งต้นและร่วงหมด สีของฝักจะเปลี่ยนสีจากสีเขียวสดเป็นสีเหลืองและสีน้ำตาล ใช้มีดหรือเคียวตัดโคนต้น นำมามัดเป็นฟ่อนตั้งเป็นกองทิ้งไว้ โดยเอาด้านโคนต้นลงดิน จนกระทั่งใบร่วง ถ้ายังไม่พร้อมที่จะนวดก็ควรนำไปเก็บไว้ในโรงเรียน โดยกองให้โปร่งอากาศถ่ายเทได้สะดวกเพื่อให้ฝักแห้งมากที่สุดจะสะดวกในการนวดต่อไป

        การนวดมีอยู่หลายวิธีแตกต่างกันออกไปคือ

        1. นวดโดยการใช้ไม้ฟาดให้เมล็ดร่วงออกจากฝักเสียก่อน แล้วกวาดเอาลำต้นและเปลือกฝักออก จากนั้นก็นำเมล็ด ไปทำความสะอาด เสร็จแล้วนำเมล็ดผึ่งแดดเอาไว้จนแห้งสนิท แล้วก็นำไปเก็บไว้ขายหรือใช้ทำพันธุ์ต่อไป

        2. ใช้เครื่องนวดถั่วเหลือง ที่ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีความรวดเร็วในการทำงาน นวดได้ 500-600 กิโลกรัมต่อชั่วโมง มีเมล็ดแตกหักน้อย และได้เมล็ดที่สะอาด มีสิ่งเจือปนเพียง 1% รูปร่างของเครื่องนวดก็กระทัดรัด ทำให้การทำงานเป็นไปอย่างคล่องตัว และไม่เกิดความเมื่อยล้าสำหรับผู้ป้อนถั่วเข้าเครื่อง

-------------------------------------------

http://school.obec.go.th/bpr/sub1/901.05.4.htm

 

 

ตารางที่ 5.1 การปฏิบัติงาน ในการผลิตเมล็ดพันธุ์ถั่วเหลือง

-----------------------------------------------------------------------------------------------

อายุ(วัน)                            การปฏิบัติ

-----------------------------------------------------------------------------------------------

ก่อนปลูก 7 วัน         _ไถดะ แล้วใส่ปุ๋ยคอกอัตรา 3 ตันต่อไร่ และโรยปูนขาว

อัตรา 200 กิโลกรัมต่อไร่

                             _ไถพรวน เพื่อพรวนกลบปุ๋ยคอกและปูนขาวลงไปในดิน

         _ไถยกร่องเป็นแปลงปลูก สำหรับปลูกพืชด้วยระยะปลูก 20 x 50

เซนติเมตร

อายุ 0 วัน                _หยอดเมล็ดพันธุ์ ในอัตรา 3-4 เมล็ดต่อหลุม

อายุ 14 วัน              _ถอนแยกให้เหลือ 2 ต้นต่อหลุม

                             _ใส่ปุ๋ยเคมี สูตร 12-24-12 อัตรา 50 กิโลกรัมต่อไร่

อายุ 35 วัน              _ตรวจพันธุ์ปนครั้งที่ 1

_ตรวจอายุการออกดอก, สีของดอก, ความสูงของลำต้น,   ตำแหน่งของดอกที่ออกตามลำต้น

อายุ 63 วัน              _ตรวจพันธุ์ปนครั้งที่ 2

_ตรวจอายุการติดฝัก, สีของฝัก, ลักษณะของฝัก, ความสูงของ

ลำต้น, ตำแหน่งของฝักที่ออกตามลำต้น

                             _ใส่ปุ๋ยเคมี สูตร 15-15-15 อัตรา 50 กิโลกรัมต่อไร่

อายุ 90 วัน              _เริ่มเก็บเกี่ยวฝักแก่เพื่อเอาเมล็ดพันธุ์

-----------------------------------------------------------------------------------------------

 

 

 

การผลิตเมล็ดพันธุ์ถั่วลิสง

 

5.2.การปลูกถั่วลิสง

 

ถั่วลิสงเป็นพืชน้ำมันที่มีอายุสั้น ใช้ประโยชน์ในรูปเมล็ดสดและเมล็ดแห้ง พื้นที่ปลูกส่วนใหญ่อยู่บริเวณภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย

สภาพแวดล้อมที่เหมาะสม

ดินที่เหมาะสำหรับการปลูกถั่วลิสงควรเป็นดินหน้าลึก การระบายน้ำดีไม่มีน้ำขัง หน้าดินไม่ควรแน่นหรือแข็งเมื่อแห้ง โดยเฉพาะเมื่อถึงเวลาเก็บเกี่ยวเพราะจะทำให้ฝักขาดค้างอยู่ในดินมาก อุณหภูมิเฉลี่ยที่เหมาะสำหรับการเจริญเติบโตประมาณ ๓๐ องศาเซลเซียส หากอุณหภูมิต่ำกว่านี้ถั่วลิสงจะงอกช้ากว่าปกติ การขาดน้ำในระยะที่ถั่วลิสงอยู่ระหว่างการแทงเข็มและสร้างฝัก จะมีผลกระทบต่อผลผลิตมากที่สุด

พันธุ์

 

สข.๓๘ เก็บเกี่ยวฝักสดเมื่ออายุ ๘๕ - ๙๐ วัน อายุถึงวันเก็บเกี่ยวฝักแก่เต็มที่ ๙๕ - ๑๐๕ วัน เส้นลายบนฝักและจะงอยฝักเห็นได้ชัดเจนเยื่อหุ้มเมล็ดสีแดง ใช้ประโยชน์ในรูปฝักสด

ไทนาน ๙ อายุเก็บเกี่ยว ๙๕ - ๑๑๐ วัน เส้นลายบนฝักไม่ชัด (ฝักเรียบ) จะงอยฝักเห็นได้ชัดเจนมีเยื่อหุ้มเมล็ดสีชมพู ผลผลิต (ฝักแห้ง) ในฤดูฝน ๒๓๖ กก./ไร่ และฤดูแล้ง ๒๙๓ กก./ไร่ ใช้ประโยชน์จากเมล็ดแห้งกะเทาะเปลือกและฝักต้มอบ

          ขอนแก่น ๖๐ - ๑ อายุเก็บเกี่ยว ๙๕ - ๑๐๕ วัน เส้นลายบนฝักเห็นได้ชัดเจน แต่จะงอยฝักไม่เด่นชัด ผลผลิต ๒๕๐ กก./ไร่ ในฤดูฝนและ ๓๐๓ กก./ไร่ ในฤดูแล้ง ใช้ประโยชน์จากเมล็ดแห้งกะเทาะเปลือก

          ขอนแก่น ๖๐ - ๒ อายุเก็บเกี่ยวฝักสด ๘๕ - ๙๐ วัน อายุถึงวันเก็บเกี่ยวฝักแก่เต็มที่ ๙๕ - ๑๐๕ เส้นลายบนฝักและจะงอยฝักเห็นได้ชัดเจน สำหรับต้มสด ผลผลิตฝักสด ๕๗๒ กก./ไร่ ฝักแห้ง ๒๖๖ กก./ไร่

          ขอนแก่น ๖๐ - ๓ เก็บเกี่ยวได้เมื่ออายุ ๑๑๐ - ๑๒๐ วัน เมล็ดมีการพักตัวประมาณ ๖๐ วันหลังเก็บเกี่ยว เยื่อหุ้มเก็บเกี่ยว เยื่อหุ้มเมล็ดสีชมพูและส้มอ่อนผลผลิตฝักแห้ง ๓๗๘ กก./ไร่ ใช้ประโยชน์จากเมล็ดแห้งกะเทาะเปลือก

          ขอนแก่น ๔ อายุเก็บเกี่ยว สำหรับต้มฝักสด ๘๕ - ๙๕ วัน อายุเก็บเกี่ยวสำหรับฝักแห้งและกะเทาะเปลือก ๙๕ - ๑๐๐ วัน เยื่อหุ้มเมล็ดสีชมพูเข้ม เห็นเส้นลายฝักได้ชัดเจน ผลผลิตฝักสด ๕๖๘ กก./ไร่ผลผลิตฝักแห้ง ๒๗๐ กก./ไร่ ใช้ประโยชน์ทั้งในรูปฝักต้ม ฝักอบ และเมล็ดแห้งกะเทาะเปลือก

          ขอนแก่น ๕ อายุเก็บเกี่ยว ๘๕ - ๑๑๕ วัน เห็นเส้นบนลายฝักชัดเจน เยื่อหุ้มเมล็ดสีชมพูเข้ม ผลผลิตฝักแห้ง ๓๐๔ กก./ไร่ ใช้ประโยชน์จากเมล็ดแห้งกะเทาะเปลือก

พันธุ์ถั่วลิสง (เพิ่มเติม-ชยพร)

     1.ขอนแก่น 60-1

     เดิมมีชื่อว่า ถั่วลิสงพันธุ์โมเก็ต(Mo-krt) กรมวิชาการเกษตรนำมาจากประเทศฟิลิปปินส์เมื่อพ..2517 นำมาทดลองเปรียบเทียบผลผลิต พบว่ามีลักษณะเด่นคือ ให้ผลผลิตสูง เมล็ดมีขนาดโต ฝักสวย ต้านทานต่อโรคได้ดี

     ลักษณะประจำพันธุ์_ต้นเป็นทรงพุ่ม ลำต้นและใบสีเขียว ออกดอกเมื่ออายุประมาณ27-30 วัน ฝักมีขนาดใหญ่ มีลายสวย ชัดเจน มีจำนวนฝักต่อต้นประมาณ 10-13 ฝัก เมล็ดใหญ่ เยื่อหุ้มเมล็ดสีชมพู  น้ำหนักต่อ100เมล็ดประมาณ 45.9 กรัม มีเปอร์เซนต์การกะเทาะประมาณ 69 เก็บเกี่ยวเมื่ออายุ 95-100 วัน

     ผลผลิตต่อไร่ประมาณ 274-335 กิโลกรัม ต้านทานต่อโรคราสนิม โรคใบจุด เมล็ดมีเปอร์เซนต์น้ำมัน 49และเปอร์เซนต์โปรตีน 30

     2.ขอนแก่น 60-2

     เดิมมีชื่อว่า TMV3 หรือ KAC118 ได้จากการรวบรวมและศึกษาพันธุ์ถั่วลิสง พบว่ามีลักษณะดีเด่นเหมาะสำหรับปลูกเพื่อใช้บริโภคในรูปถั่วต้ม ให้ผลผลิตสูง มีจำนวนเมล็ดต่อฝักมาก ต้านทานโรคโคนเน่าได้ดี

     ลักษณะประจำพันธุ์_ต้นเป็นทรงพุ่ม ลำต้นและใบสีเขียว ออกดอกเมื่ออายุประมาณ 27-30 วัน ฝักมีขนาดใหญ่ ยาวประมาณ 3-4 เซนติเมตร จำนวนฝักต่อต้นประมาณ 19 ฝัก ลายบนฝักเห็นชัดเจน ฝักหนึ่งมี 3-4 เมล็ด เมล็ดมีขนาดใหญ่ เยื่อหุ้มเมล็ดสีชมพู น้ำหนักต่อ100เมล็ดประมาณ 40.7 กรัม เปอร์เซนต์การกะเทาะ 61.5 เก็บเกี่ยวเมื่ออายุ 96-100 วัน

     ผลผลิตต่อไร่ประมาณ 572 กิโลกรัม ผลผลิตฝักแห้งประมาณ 254 กิโลกรัมทนทานต่อโรคโคนเน่าได้ดี มีเปอร์เซนต์น้ำมัน 47.2 เปอร์เซนต์โปรตีน 29.14

     3.ไทนาน 9

     กรมวิชาการเกษตรได้นำเมล็ดพันธุ์นี้มาจากประเทศไต้หวันในปีพ..2515 มาปลูกทดลองครั้งแรกที่สถานีพืชไร่กาฬสินธุ์ ต่อจากนั้นก็นำไปทดลองเปรียบเทียบพันธุ์ตามแหล่งปลูกถั่วลิสงต่างๆพบว่าเป็นพันธุ์ที่ให้ผลผลิตสูง มีเปอร์เซนต์น้ำมันสูง จึงใช้เป็นพันธุ์แนะนำเรื่อยมา

     ลักษณะประจำพันธุ์_ทรงต้นเป็นพุ่ม ลำต้นสีเขียว ใบใหญ่ แตกกิ่งประมาณ 4-6 กิ่ง ออกดอกเมื่ออายุประมาณ 35 วัน ฝักจะออกเป็นกระจุกที่โคนต้น เปลือกฝักบาง ลายบนฝักค่อนข้างเรียบ จงอยฝักไม่ชัดเจน ฝักหนึ่งมีประมาณ 2 เมล็ด เมล็ดใหญ่กว่าพันธุ์สข. 38 และพันธุ์ลำปาง เยื่อหุ้มเมล็ดสีชมพู มีเปอร์เซนต์การกระเทาะประมาณ 71 น้ำหนักต่อ100เมล็ด 49 กรัม เก็บเกี่ยวเมื่ออายุ 110-120 วัน

     ผลผลิตต่อไร่ในฤดูฝน 402 กิโลกรัม ในฤดูแล้ง 428 กิโลกรัม มีเปอร์เซนต์น้ำมัน 40 มีเปอร์เซนต์โปรตีน 34

     4.สข. 38

     หรือชื่อพันธุ์สุโขทัย 38 ได้มาจากการรวบรวมพันธุ์ถั่วลิสงจากทั่วประเทศ เมื่อพ..2502 แล้วนำมาเปรียบเทียบพันธุ์จนพบว่า พันธุ์นี้ให้ผลผลิตสูง และเมล็ดมีขนาดโตกว่าพันธุ์อื่นๆที่ปลูกในขณะนั้น

     ลักษณะประจำพันธุ์_ต้นเป็นทรงพุ่ม มีการแตกกิ่งประมาณ 4-5 กิ่ง ลำต้นสีม่วง ใบมีขนาดใหญ่ สีเขียวจัด ออกดอกเมื่ออายุประมาณ 37 วัน ฝักจะออกเป็นกระจุกที่โคนต้น เปลือกฝักค่อนข้างหนา จงอยฝักแหลม ลายบนฝักชัดเจน มีจำนวนฝักต่อต้นประมาณ 15-20 ฝัก ฝักละ 2-3 เมล็ด เมล็ดมีขนาดใหญ่ มีเยื่อหุ้มเมล็ดสีแดง เปอร์เซนต์การกระเทาะประมาณ 74 น้ำหนักต่อ100เมล็ด 46 กรัม เก็บเกี่ยวเมื่ออายุ 100-110 วัน

     ผลผลิตต่อไร่ในฤดูฝน 347 กิโลกรัม ในฤดูแล้ง 392 กิโลกรัม ถั่วลิสงพันธุ์สข. 38 นี้อ่อนแอต่อโรคโคนเน่า มีเปอร์เซนต์น้ำมัน 46 มีเปอร์เซนต์โปรตีน 24-25

     5.ลำปาง

     ได้นำเข้ามาพร้อมกับถั่วลิสงพันธุ์สข. 38 ผลผลิตสูง และเมล็ดมีขนาดใหญ่เช่นเดียวกัน

     ลักษณะประจำพันธุ์_ต้นเป็นทรงพุ่ม ลำต้นสีเขียว ใบมีขนาดใหญ่ สีเขียว ออกดอกเมื่ออายุ 37 วัน ฝักออกเป็นกระจุกที่โคนต้น จงอยฝักแหลม ลายเส้นบนฝักชัดเจน ฝักหนึ่งมีเมล็ดประมาณ2-3 เมล็ด เมล็ดมีขนาดใหญ่ เยื่อหุ้มเมล็ดมีสีขาวอมชมพู น้ำหนักต่อ100เมล็ด 46 กรัม มีเปอร์เซนต์การกระเทาะประมาณ 73 เก็บเกี่ยวเมื่ออายุ 100-110 วัน

     ผลผลิตต่อไร่ในฤดูฝน 358 กิโลกรัม ในฤดูแล้ง 365 กิโลกรัม มีเปอร์เซนต์น้ำมัน 48-52 มีเปอร์เซนต์โปรตีน 24-25

การเตรียมดิน

 

          ควรไถพรวนดินก่อนปลูกเพื่อกำจัดวัชพืชและทำให้ดินร่วนซุยเหมาะต่อการงอก โดยไถดินลึกประมาณ ๑๐ - ๒๐ ซม. แล้วพรวนย่อยดินให้เหมาะต่อการปลูก

          การปลูกถั่วลิสงในฤดูแล้งโดยใช้น้ำชลประทาน ควรยกร่องปลูกเพื่อสะดวกในการให้น้ำ ความกว้างของสันร่องขึ้นอยู่กับเนื้อดิน ถ้าเนื้อดินแน่นควรใช้ร่องแคบ สันร่องกว้างประมาณ ๖๐ - ๙๐ ซม. ปลูกถั่วลิสงได้ ๒ แถว หากดินระบายน้ำดีอาจขยายขนาดร่องให้กว้างขึ้นได้ถึง ๑.๕ ม.

          การปลูกหลังนาโดยอาศัยความชื้นในดินและไม่มีการให้น้ำนั้นเงื่อนไขคือ ต้องมีระดับน้ำใต้ดินอยู่ตื้นและมีปริมาณพอต่อการเจริญเติบโตตลอดอายุ การเตรียมดินจะทำหลายครั้งเพื่อให้หน้าดินละเอียด เพื่อลดการระเหยน้ำจากดิน และเหมาะแก่การลงเข็มของถั่วลิสง

การเตรียมเมล็ดพันธุ์

          เมล็ดพันธุ์ที่ใช้ควรมีความงอกไม่ต่ำกว่า ๗๐% ควรกะเทาะเมล็ดแล้วปลูกภายใน ๑ เดือน เมล็ดที่ใช้สำหรับปลูกในสภาพอาศัยความชื้นในดิน ควรเป็นเมล็ดไม่เพราะต้องแช่น้ำก่อนปลูก ๔ - ๕ ซม. ให้งอกติ่งรากก่อนจึงใช้ปลูก จะช่วยให้เมล็ดงอกเร็วขึ้นและสม่ำเสมอดีกว่าใช้เมล็ดไม่ได้แช่น้ำก่อน การปลูกสภาพนี้ใช้เมล็ดมาก ควรคลุมเมล็ดด้วยสารป้องกันกำจัดเชื้อราแมนโคแซบ (ไดเทน M ๔๕) อัตรา ๓ กรัม/เมล็ด ๑ กก. หรือ เบโนมิล ( เบนเลท ) ผสมคาร์บอกซิน (ไวตาแวคซ์ ) อัตรา ๓+๔ กรัม/เมล็ด ๑ กก. หรือริโดมิล MZ ๗๒ อัตรา ๓ กรัม/เมล็ด ๑ กก. การคลุกเมล็ดไม่ควรใช้สารชนิดเดียวกันติดต่อกันหลายฤดูเพราะเชื้อราจะดื้อยาได้ ตามปกติอัตราเมล็ดพันธุ์กะเทาะแล้วที่ใช้ปลูกประมาณ ๑๕-๒๐ กก./พื้นที่ ๑ ไร่

          สำหรับพันธุ์ขอนแก่น ๖๐-๓ เมล็ดระยะพักตัวประมาณ ๖๐ วันหลังจากเก็บเกี่ยว ก่อนปลูกจึงต้องคลุกเมล็ดพันธุ์ด้วยสารอีเทรล ๓๙.๕% จำนวน ๒ ซีซี. ผสมน้ำ คลุกเมล็ด ๓๐-๓๕ กก. ทิ้งไว้ ๑๘ ซม.

ฤดูปลูก

          ๑.ต้นฤดูฝน ประมาณเดือนเมษายน-พฤษภาคม เก็บเกี่ยวประมาณเดือนกรกฎาคม - สิงหาคม

          ๒.ปลายฤดูฝน ปลูกตั้งแต่เดือนกรกฎาคม-สิงหาคม เก็บเกี่ยวเดือนตุลาคม - พฤศจิกายน

          ๓.ฤดูแล้ง

-ปลูกโดยอาศัยน้ำชลประทาน ปลูกในเดือนธันวาคม-ต้นเดือนมกราคา เก็บเกี่ยวในเดือนเมษายน-พฤษภาคม

-ปลูกโดยอาศัยความชื้นที่เหลือในดิน ปลูกในเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม เก็บเกี่ยวในเดือนกุมภาพันธ์-เมษายน

การปลูก

          เพื่อให้เมล็ดงอกอย่างสม่ำเสมอ ควรฝังเมล็ดลึกประมาณ ๒ นิ้วการปลูกระยะแถวห่าง ๓๐ ซม. ต้นถั่วจะคลุมพื้นที่ได้เร็วและแข่งขันกับวัชพืชได้ดีกำจัดวัชพืชครั้งเดียวก็พอ หากมีวัชพืชมากต้องกำจัดวัชพืช ๒ ครั้ง ซึ่งทำได้ไม่สะดวก ควรปลูกระยะแถวห่างขึ้นคือ ๔๐-๕๐ ซม.ช่วยให้กำจัดวัชพืชได้สะดวกขึ้น ระยะระหว่างหลุม ๒๐ ซม. จำนวน ๒-๓ ต้น/หลุม

          สำหรับการปลูกโดยอาศัยความชื้นในดิน ระยะระหว่างรอยไถ ๒๕-๓๐ ซม. หยอดเมล็ดในร่องไถห่างกัน ๑๐-๑๕ ซม.

การกำจัดวัชพืช

          การกำจัดวัชพืชด้วยแรงงานคนโดยใช้จอบดายหญ้า ควรรีบทำขณะที่วัชพืชยังเล็กอยู่ในช่วง ๑๕-๒๐ วัน หลังจากนั้นถ้ามีวัชพืชงอกขึ้นมาอีกควรกำจัดวัชพืชอีกครั้งในช่วง ๓๐-๔๕ วัน ในระยะนี้ต้องปฏิบัติอย่างระมัดระวังมิให้กระทบกระเทือนกับการลงเข็ม

          สำหรับการใช้สารเคมี อาจใช้สารฟลูอาซิฟอบ-พารา-บิวทิล (วันไซด์ซูเปอร์), คลีโธดิม (ซีเลคท์), อิมาเซททาพอร์ (เปอร์ซูท) พ่นหลังถั่วลิสงและวัชพืชงอกแล้วโดยพ่นขณะที่วัชพืชมีใบจริง ๒-๖ ใบและไม่ควรพ่นเมื่อถั่วลิสงมีใบจริงเกิน ๓ ใบ

การใส่ปุ๋ย

          ถ้าดินเป็นกรด pH ต่ำกว่า ๕.๕ ควรมีการใส่ปูนขาวเพื่อปรับสภาพดินก่อน โดยทั่วไปดินทรายใช้ปูนขาวอัตรา ๑๐๐-๑๐๕ กก./ไร่ และ ๒๐๐-๕๐๐ กก./ไร่ ในดินเหนียว โดยใส่ก่อนปลูก ๑-๒ สัปดาห์แล้วพรวนดินกลบ ปูนขาวนอกจากจะช่วยปรับสภาพความเป็นกรด-ด่างของดินแล้วยังให้ธาตุแคลเซียม ซึ่งทำให้ถั่วลิสงมีเมล็ดโตและสมบูรณ์นอกจากปูนขาวแล้วอาจใช้ยิปซัมเป็นแหล่งให้ธาตุแคลเซียมก็ได้ โดยใช้ในอัตรา ๕๐-๑๐๐ กก./ไร่ โดยใส่ข้างแถวปลูกในระยะที่ถั่วลงเข็ม (๔๐-๔๕ วันหลังงอก)

          การใส่ปุ๋ยเคมีให้พิจารณาจากชนิดดิน ดังนี้

          -ดินเหนียวหรือดินร่วนเหนียวใช้ปุ๋ยสูตร ๐-๖-๐ หรือ ๓-๙-๐

          -ดินร่วนหรือดินร่วนปนทราย ใช้ปุ๋ยสูตร ๓-๖-๓ หรือ ๓-๙-๖ หากจะหาซื้อจากท้องตลาดก็ควรใช้สูตร ๑๒-๒๔-๑๒ อัตรา ๒๕ กก./ไร่

การป้องกันและกำจัดโรค

โรคที่สำคัญและทำลายผลผลิตของถั่วลิสงมีดังนี้

          เมล็ดเน่า โคนเน่าขาด ใช้แคปตาโฟล (ไดโฟลาแทน) หรือไธแรม (เทอร์ซาน) ๒ ช้อนชา คลุกเมล็ด ๑ กก.

          ใบจุดและราสนิม แนะนำให้ใช้คลอโรธาโลนิล (ดาโคนิล) หรือใช้เดลซีน -MX (สารผสมเบโนมิล กับ แมนโคเซ็บ) ๒-๓ ช้อนแกงผสมน้ำ ๒๐ ลิตร ฉีดพ่นทุก ๗-๑๔ วัน หากพบว่าโรคใบจุดดื้อยาให้เปลี่ยนใช้สารเคมีชนิดอื่น

          ฝักเป็นแผล เป็นหูดจากไส้เดือนฝอย แนะนำให้ใช้ เท็มมิค ๑๐ G (อัลดิคาร์บ) หรือ คาร์โบฟูราน (ฟูราดาน ๓ G) โรยก้นหลุมหรือรอบหลุมแล้วคราดกลบ สารทั้ง ๒ ชนิดนี้อาจทำให้ขอบใบพืชไหม้แต่อาการดังกล่าวจะหายไปเอง

การป้องกันและกำจัดแมลง

          แมลงศัตรูที่สำคัญและนำความเสียหายอย่างรุนแรงสำหรับถั่วลิสงได้แก่

          เสี้ยนดินและปลวก พ่นระหว่างแถวถั่วลิสงเมื่อถั่วลงเข็ม และพ่นอีกครั้งหลังจากนั้น ๒ สัปดาห์ ด้วยสารฆ่าแมลง คลอร์ไพริฟอส( ลอร์สแบน ๔๐ EC) หรืออาจใช้คารโบฟูราน ( ฟูราดาน ๓ % G ) โรยพร้อมกับปุ๋ยข้างแถวถั่ว หลังดายหญ้าครั้งที่ ๒ หรือเมื่ออายุ ๓๐-๓๕ วัน ควรแบ่งใส่ ๒ ครั้ง ครั้งแรกเมื่ออายุ ๓๐-๓๕ วัน และครั้งที่ ๒ เมื่อถั่วลิสงอายุ ๖๐-๖๕ วัน

         

การเก็บเกี่ยว

          ในกรณีที่เก็บฝักแห้ง ถั่วลิสงที่เมล็ดแก่จัด สีของผนังเปลือกฝักด้านในจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลและน้ำตาลดำ เปลือกหุ้มเมล็ดมีสีตามพันธุ์สุ่มถอนต้นถั่วจากหลายจุดในแปลงเมื่อพบฝักแก่ ๖๐-๘๐% ก็เก็บเกี่ยวได้ ควรถอนและปลิดฝักให้เสร็จเป็นแปลง ๆ หลังปลิดฝักแล้วรีบทำให้แห้ง ควรนำฝักไว้ในที่โปร่ง อากาศถ่ายเทได้ โดยเทฝักลงบนผ้าพลาสติกหนา เกลี่ยฝักแต่ละกองให้บางที่สุด หากปลิดไม่ทันในวันที่ถอนให้เรียงต้นถั่วถอนขึ้นมาไว้เป็นแถว หงายด้านฝักขึ้น ไม่กองสุมต้นถั่วที่ยังไม่ปลิดฝักเพราะจะทำให้เกิดเชื้อราที่ฝัก ได้เมล็ดมีคุณภาพต่ำ

การเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์

          หลังจากลดความชื้นเมล็ดให้อยู่ในระดับ ๗-๘ % แล้ว ถั่วลิสงควรจะเก็บรักษาไว้ในสภาพฝักและจะกะเทาะเมล็ดก่อนปลูก ๑ เดือน อายุการเก็บรักษาในสภาพไม่มีการควบคุมอุณหภูมิและความชื้นสัมพัทธ์จะขึ้นอยู่กับคุณภาพเบื้องต้นของเมล็ดพันธุ์ หากความงอกเริ่มต้นของเมล็ดหลังเก็บเกี่ยวอยู่ในระดับต่ำ เปอร์เซ็นต์ความงอกของเมล็ดชุดนั้นจะลดลงอย่างรวดเร็ว

 --------------------------------------------

http://www.rakbankerd.com/agriculture/in_agricultural/sub_agricultural_1.html?sub_id=938&head=การปลูกถั่วลิสง&click_center=1

 

ตารางที่ 5.2 การปฏิบัติงาน ในการผลิตเมล็ดพันธุ์ถั่วลิสง

 

-----------------------------------------------------------------------------------------------

อายุ(วัน)                            การปฏิบัติ

-----------------------------------------------------------------------------------------------

ก่อนปลูก 7 วัน         _ไถดะ แล้วใส่ปุ๋ยคอกอัตรา 3 ตันต่อไร่ และโรยปูนขาว

อัตรา 200 กิโลกรัมต่อไร่

                             _ไถพรวน เพื่อพรวนกลบปุ๋ยคอกและปูนขาวลงไปในดิน

                             _ไถยกร่องเป็นแปลงปลูก สำหรับปลูกพืชด้วยระยะปลูก 20 x 50

เซนติเมตร

อายุ 0 วัน                _หยอดเมล็ดพันธุ์ ในอัตรา 3-4 เมล็ดต่อหลุม

อายุ 14 วัน              _ถอนแยกให้เหลือ 2 ต้นต่อหลุม

                                      _ใส่ปุ๋ยเคมี สูตร 12-24-12 อัตรา 50 กิโลกรัมต่อไร่

อายุ 35 วัน              _ตรวจพันธุ์ปนครั้งที่ 1

_ตรวจอายุการออกดอก, สีของดอก,

ความสูงของลำต้น,    ตำแหน่งของดอกที่ออกตามลำต้น

อายุ 63 วัน              _ตรวจพันธุ์ปนครั้งที่ 2

_ตรวจอายุการติดฝัก, สีของฝัก, ลักษณะของฝัก, ความสูงของ

ลำต้น, ตำแหน่งของฝักที่ออกตามลำต้น

                             _ใส่ปุ๋ยเคมี สูตร 15-15-15 อัตรา 50 กิโลกรัมต่อไร่

อายุ 90 วัน              _เริ่มเก็บเกี่ยวฝักแก่เพื่อเอาเมล็ดพันธุ์

-----------------------------------------------------------------------------------------------

 

 

 

__________________________

บทที่  6

การผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวโพด-ข้าวฟ่าง

 

การผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวโพด

 

     6.1.การปลูกข้าวโพด

 

สภาพแวดล้อมที่เหมาะสม (เพิ่มเติม-ชยพร)

     ข้าวโพดในที่นี้หมายถึงข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ชนิดหัวแข็ง(Flint corn,Zea mays variety indurata)หรือข้าวโพดไร่ ซึ่งข้าวโพดไร่นั้น สามารถขึ้นได้ดีในดินแทบทุกชนิด แต่ชอบดินร่วนโปร่ง มีค่าพีเอช(pH)อยู่ในช่วง6.0-6.5 มีความชื้นในดินสูงพอสมควร ได้รับแสงแดดตลอดวัน อุณหภูมิที่เหมาะสมประมาณ 25-30 องศาเซลเซียส

     ควรปลูกเพื่อการผลิตเมล็ดพันธุ์ในปลายฤดูฝน คือประมาณเดือนสิงหาคม ซึ่งจะทำให้สามารถเก็บเกี่ยวเมล็ดพันธุ์ได้ในประมาณเดือนพฤศจิกายน

     ผลผลิตเมล็ดพันธุ์(เมล็ดที่กะเทาะแล้ว)ประมาณ 500-800 กิโลกรัมต่อไร่

 

การปลูกข้าวโพด

ชื่อสามัญ                Maize, Corn

ชื่อวิทยาศาสตร์        Zea  mays L.

แหล่งปลูก                เพชรบูรณ์  นครราชสีมา  เลย  ลพบุรี  นครสวรรค์  ปราจีนบุรี

          ข้าวโพดเป็นพืชไร่เศรษฐกิจที่สำคัญของไทยชนิดหนึ่งซึ่งทำรายได้ให้ประเทศปีละกว่าหมื่นล้านบาท ปลูกมากในภาคเหนือ คิดเป็นพื้นที่กว่าครึ่งหนึ่งของพื้นที่ที่ปลูกข้าวโพดทั้งหมดของประเทศ รองลงมาคือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง ซึ่งในแต่ละปีจะมีพื้นที่ปลูกข้าวโพด ทั้งประเทศ ประมาณ ๘ - ๙ ล้านไร่ โดยได้ผลผลิตเฉลี่ยประมาณ ๔๗๐ กิโลกรัม/ไร่

          ผลผลิตของข้าวโพดที่ผลิตได้ ยังไม่พอเพียงกับความต้องการใช้ภายในประเทศ อันเนื่องมาจากการขยายตัวอย่างรวดเร็ว ของอุตสาหกรรมเลี้ยงสัตว์ จึงต้องมีการนำข้าวโพดจากต่างประเทศเข้ามาอย่างน้อย ปีละ ๕๒,๐๐๐ ตัน ดังนั้น การเพิ่มผลผลิตให้สูงขึ้น จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ ปัจจัยหลายอย่างในการเพิ่มผลผลิต เช่น พันธุ์ สภาพดินฟ้าอากาศที่ เหมาะสมปริมาณน้ำฝน การดูแลรักษาที่ถูกวิธี มีข้อแนะนำดังต่อไปนี้

สภาพดินฟ้าอากาศที่เหมาะสม

          ข้าวโพดปลูกได้ในดินแทบทุกชนิด แต่จะขึ้นได้ดีในดินร่วนปนทรายที่มีการระบายน้ำดี ดินมีความเป็นกรดหรือด่าง (pH) ระหว่าง ๕.๕ - ๘ ต้องการปริมาณน้ำฝนน้อยตลอดฤดูปลูกเพียง ๓๕๐ - ๔๐๐ มิลลิเมตร (นาปรังใช้น้ำถึง ๘๐๐ มิลลิเมตร) และ อุณหภูมิที่ปลูกข้าวโพดได้มีช่วงกว้างระหว่าง ๑๐ - ๔๐ องศาเซลเซียส ดังนั้นจึงปลูกข้าวโพดได้ตลอดปี และ เกือบทุกภาคของประเทศไทย

ความต้องการน้ำ

          ในระยะเวลาของการเจริญเติบโต ข้าวโพดต้องการน้ำเพียงเล็กน้อยแต่จะค่อย ๆ เพิ่มขึ้นตามอายุ และต้องการน้ำสูงสุดในช่วงออกดอก และ ช่วงระยะของการสร้างเมล็ดแล้วค่อย ๆ ลดลงอีก

          ดังนั้นถ้าขาดน้ำในช่วงออกดอก จะทำให้ผลผลิตลงมาก จึงต้องคาดคะเนวันปลูก เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้ข้าว โพดกระทบแล้งในช่วงออกดอก

พันธุ์

          พันธุ์ข้าวโพดที่หน่วยงานต่าง ๆ ของรัฐบาลทั้งของกรมวิชาการเกษตร และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ทั้งพันธุ์ผสมเปิดและลูกผสมที่ให้ผลผลิตสูง และแนะนำส่งเสริมแก่การเกษตรกร มีหลายพันธุ์ ดังนี้

          ๑.นครสวรรค์ ๑ พัฒนาโดยศูนยวิจัยพืชไร่นครสวรรค์ กรมวิชาการเกษตร เป็นพันธุ์ผสมเปิด รับรองพันธุ์โดยกรมวิชาการเกษตร เมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๒

          มีลักษณะเด่น คือ

อายุเก็บเกี่ยว     ๑๐๐ - ๑๑๐ วัน

ผลผลิต            ๕๐๐ - ๘๐๐ กิโลกรัม/ไร่

ต้านทานโรคราน้ำค้างได้ดี

เมล็ดกึ่งหัวแข็ง สีเหลืองส้ม

          ๒.สุวรรณ ๕ เป็นข้าวโพดพันธุ์ผสมเปิดที่ให้ผลผลิตสูงมาก และ เหมาะที่จะปลูกเพื่อตัดต้นสดไปเลี้ยงสัตว์ได้อีกด้วย เพราะให้ผลผลิตต้นสดสูงและมีคุณภาพดี

ลักษณะเด่น คือ

ลำต้นสูง           ๒๑๐ - ๒๔๐ เซนติเมตร

อายุเก็บเกี่ยว      ๑๑๐ - ๑๒๐ วัน

ผลผลิต             ๙๑๐ - ๙๕๐ กิโลกรัม/ไร่

ต้านทานโรคราน้ำค้าง และโรคทางใบได้ดี

เมล็ดสีส้มเหลือง

          ๓.สุวรรณ ๓๖๐๑ เป็นพันธุ์ลูกผสมเดี่ยว ให้ผลผลิตสูงมาก

ลักษณะเด่น คือ

ลำต้นสูง            ๒๑๐ - ๒๓๐ เซนติเมตร

อายุเก็บเกี่ยว       ๑๑๐ - ๑๒๐ วัน

ต้านทานโรคราน้ำค้างได้ดีมาก และต้านทานการหักล้มดี

ผลผลิตสูงกว่า    ๘๕๐ - ๑,๐๐๐ กิโลกรัม/ไร่

ฤดูปลูก

          ต้นฤดูฝน           ระหว่าง เมษายน - พฤษภาคม

          ปลายฤดูฝน        ระหว่าง กรกฎาคม - สิงหาคม

          ในเขตชลประทาน สามารถปลูกข้าวโพดได้ตลอดปี โดยทั่วไปการปลูกต้นฤดูฝน มักจะได้ผลดีกว่าปลูกปลายฤดูฝน แต่มีข้อเสียคือ ในระยะเก็บเกี่ยวจะมีฝนชุก ทำให้ข้าวโพดชื้น จะเกิดปัญหาสารอะฟลาทอกซิน เพราะตากข้าวโพดไม่แห้ง

          แต่ปลูกปลายฤดูฝน จะมีปัญหาเตรียมดินไม่สะดวก เพราะฝนชุกและโรคต้นกล้าเน่า

การเตรียมดิน

          ควรเตรียมดินใกล้ ๆ ก่อนจะปลูก หลังฝนตกแล้ว ควรไถดิน ๑ - ๒ ครั้ง ไถดะให้ลึก ๒๐ - ๓๐ เซนติเมตร ตากดินไว้ ๑๐ - ๑๕ วัน เพื่อทำลายวัชพืชและศัตรูพืชในดินบางชนิด แล้วไถแปรหรือพรวนอีก ๑ - ๒ ครั้ง เพื่อให้ดินร่วนเหมาะแก่การเจริญของต้นข้าวโพด

การปลูกแบบไม่ไถพรวน

          การปลูกแบบไม่ไถพรวนหรือพรวนเฉพาะบริเวณแถวที่จะปลูกเท่านั้นก็ได้ การปลูกแบบนี้จะมีผลดีต่อเมื่อมีการใช้สารเคมีกำจัดวัชพืชโดยมีสารเคมีหลัก คือ กรัมมอกโซน หรือ พาราควอท ควบคู่กับ อาทราซีน อะลาคลอร์ การปลูกแบบนี้จะมีเศษซากพืชคลุมดิน ซึ่งจะช่วยในการซับน้ำและ เก็บรักษาความชื้นในดิน รวมทั้งลดความเสียหายจากการ ชะล้างพังทลายของหน้าดินได้ดี โดยเฉพาะในที่ที่ลาดเทสูง

การปลูกข้าวโพดในพื้นที่นา

          การปลูกข้าวโพดในพื้นที่นาในฤดูแล้ง จะแบ่งช่วงการปลูกเป็น ๒ ช่วง ดังนี้

          ๑.การปลูกช่วง พฤศจิกายน - ธันวาคม เป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมที่สุด ของการปลูกข้าวโพด เนื่องจากช่วงอุณหภูมิโดยทั่วไป จะอยู่ระหว่าง ๒๐ - ๒๕ C ซึ่งเป็นอุณหภูมิที่เหมาะสม รวมไปถึงเมื่อเช้าสู่การเก็บเกี่ยวเป็นระยะที่อากาศร้อนและแห้งแล้ง จึงสะดวกในการเก็บเกี่ยว และสามารถตากห้งได้ดี (ยกเว้นบางปีที่อุณหภูมิต่ำมาก ๆ ทำให้พืช ชะงักการเจริญเติบโต)

          ๒.การปลูกช่วง มกราคม - กุมภาพันธ์ สภาพอากาศค่อนข้างเย็นแล้ว หลังจากนั้นอากาศจะร้อนขึ้น ทำให้ต้นข้าวโพดมีอาการใบเหี่ยวแม้ความชื้นในดินจะมีเพียงพอ

          ดินนาส่วนมากเป็นดินเหนียวถึงเหนียวจัด เมื่ออากาศแห้งแล้งมักจะเกิดการแตกระแหงของผิวหน้าดิน ทำให้กระทบกระเทือนต่อรากนอกจากนี้การที่อุณหภูมิสูงมาก จะเป็นอันตรายต่อการผสมเกสรและการสร้างเมล็ดด้วย

          หมายเหตุ การปลูกในเดือนมีนาคม ไม่เหมาะสมที่จะปลูกข้าวโพดเพราะอากาศจะร้อน ต้นข้าวโพดจะเจริญช้า และต้องให้น้ำบ่อยกว่าช่วงอื่นจึงไม่แนะนำให้ปลูกในช่วงเดือนมีนาคม

การเตรียมดินปลูกข้าวโพดในพื้นที่นา

          ควรไถโดยใช้ผานเจ็ด ไถดินในขณะที่ดินยังมีความชื้นปานกลางหลังจากนั้นจะต้องยกร่องลูกฟูก ให้สันลูกฟูกห่างกันประมาณ ๗๕ เซนติเมตร เพื่อที่จะให้ปลูกข้าวโพดบนบนสันร่องนี้ หรือจะยกร่องหว้าง ๑๕๐ เซนติเมตร แล้วปลูกข้าวโพดบนร่อง ๒ แถวก็ได้ การที่ต้องยกร่องในการปลูกข้าวโพด ก็เพื่อประโยชน์ในการน้ำตามร่องลูกฟูกนี้ การยกร่องจะช่วย ไม่ให้รากข้าวดพดแช่น้ำนานเกินไป เพราะข้าวโพดไม่ชอบน้ำขัง (หากพื้นที่นา ไม่สามารถยกร่อง ได้ ไม่ควรปลูกข้าวโพด)

          การปลูก ระยะปลูก การดูแลรักษา การใส่ปุ๋ย การป้องกันโรคแมลง และการเก็บเกี่ยว ทำเช่นเดียวกับการปลูกในสภาพไร่ ยกเว้นการกำจัดวัชพืช ควรใช้วิธีกลเท่านั้น เพราะสารเคมี ในการควบคุมวัชพืชจะเป็นอันตรายต่อข้าวที่จะปลูกตามในภายหลังได้

การปลูกและระยะปลูก

          ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ใช้ระยะ ๗๕ x ๗๕ เซนติเมตร หยอดเป็นหลุมหลุมละ ๔ เมล็ด กลบดินหนา ประมาณ ๕ เซนติเมตร ให้แน่นพอประมาณเมื่อข้าวโพดอายุประมาณ ๑๕ วัน ควรถอนต้นที่ไม่แข็งแรงทิ้ง เหลือไว้ หลุมละ ๓ ต้น

          หรือ ใช้ระยะ ๗๕ x ๕๐ เซนติเมตร หยอดหลุมละ ๓ เมล็ด ถอนให้เหลือหลุมละ ๒ ต้น

          ถ้าใช้เครื่องจักรปลูก ควรใช้ระยะ ๗๕ x ๕๐ เซนติเมตร โดยให้มีจำนวนต้นข้าวโพดประมาณ ๘,๕๐๐ ต้น/ไร่ ซึ่งใช้เมล็ดพันธุ์ ๓ - ๔ กิโลกรัม/ไร่

          ข้าวโพดหวานหรือข้าวโพดเทียน ใช้ระยะปลูกเดียกัน แต่ปลูกให้มีจำนวนต้น/ไร่ มากกว่าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์อีก ๒๕ - ๕๐ %

การใส่ปุ๋ย

          ผลจากการวิเคราะห์พบว่า ผลผลิตข้าวโพดทุก ๆ ๑๐๐ ืกิโลกรัมจะสูญเสียธาตุอาหารหลักไปกับเมล็ด คือ ไนโตรเจน ๑.๕๙ กิโลกรัม ฟอสฟอรัส ๐.๓๘ กิโลกรัม โพแทสเซียม ๐.๕๑ กิโลกรัม ส่วนใดตอซังจะสูญเสีย ไนโตรเจน ๐.๗๗ กิโลกรัม ฟอสฟอรัส ๐.๑๑ กิโลกรัม โพแทสเซียม ๑.๖๒ กิโลกรัม ดังนั้นจึงไม่ควรเผาต้นหรือนำตอซังไปทิ้ง ควรไถกลบลงดินเป็นปุ๋ยพืชสด

          การให้ปุ๋ยข้าวโพด พิจารณาจากดินที่ปลูก ดังนี้

          ดินเหนียวสีแดง

          ใส่ปุ๋ยยูเรีย อัตรา ๑๓ กิโลกรัม/ไร่ (หรือปุ๋ยแอมโมเนียมซัลเฟต อัตรา ๕๐ กิโลกรัม/ไร่ ร่วมกับปุ๋ยเคมี ๑๖ - ๒๐ - ๐ อัตรา ๒๕ กิโลกรัม/ไร่ ควรใส่ปุ๋ย ๑๖-๒๐-๐ ก่อนปลูกเล็กน้อยหรือพร้อมปลูก และใส่ปุ๋ยยูเรียเมื่อข้าวโพดอายุ ๑ เดือน

          ดินเหนียวสีดำ

          ใส่ปุ๋ยยูเรีย ๒๒ กิโลกรัม/ไร่ (หรือปุ๋ยแอมโมเนียมซัลเฟต อัตรา ๕๐ กิโลกรัม/ไร่) ควรใส่เมื่อข้าวโพดมีอายุได้ ๑ เดือน

          ดินปนทราย

          ใส่ปุ๋ยเคมี สูตร ๑๖-๑๖-๘ อัตรา ๕๐ - ๗๕ กิโลกรัม/ไร่ ใส่ปุ๋ยครั้งเดียวเมื่อข้าวโพดอายุ ๒๐ - ๓๕ วัน หรือมีความสูงเท่าเข่า และดินมีความชื้นเพียงพอ พร้อมกับการกำจัดวัชพืชครั้งแรก การใส่ปุ๋ยที่ถูกต้องและประหยัดมากที่สุดนั้น คือใส่ปุ๋ยเฉพาะเท่าที่จำเป็น โดยนำดินไปวิเคราะห์หาว่ามีธาตุอาหารอยู่มากหรือน้อยเพียงใด แล้วใส่ธาตุ อาหารเฉพาะที่ขาดแคลนเท่านั้น

การกำจัดวัชพืช

          ช่วงวิกฤตที่ข้าวโพดอ่อนแอต่อวัชพืชที่สุดคือ ระยะ ๑๓ - ๒๕ วัน หลังงอก ระยะนี้ถ้ามีวัชพืชรบกวนจะทำให้ผลผลิต ข้าวโพดเสียหายสูงสุด ดังนั้นการปลูกข้าวโพดให้ได้ผลผลิตสูง จึงต้องให้แปลงปลอดวัชพืช ตลอดช่วง ๑ เดือนแรกตั้งแต่ปลูก โดยเลือกวิธีการกำจัดวัชพืชที่เหมาะสมกับสภาพการณ์ ดังนี้

          ๑.การไถและพรวนดิน ก่อนปลูกข้าวโพด โดยไถและพรวนดินหลังวัชพืชงอก จะช่วยทำลายกล้าวัชพืชให้ตายได้ ส่วนกล้าและเหง้าวัชพืชที่ตายยาก ควรตากดินนาน ๑๐ - ๑๕ วัน เพื่อให้วัชพืชพืชตาย ก่อนปลูกข้าวโพด

          ๒.การทำรุ่น เป็นการพรวนดิน ดายหญ้า หลังข้าวโพดงอกแล้วแต่ก่อนจะถึง ระยะวิกฤตโดยใช้เครื่องมือกลต่าง ๆ เช่น จอบ ไถ รถไถและรถแทรกเตอร์ ฯลฯ อย่างไรก็ตาม การใช้ไถพูนโคนมักมีวัชพืช ในแถวหลงเหลืออยู่จึงต้องใช้ขอบดายตามอีกครั้ง

          ๓.การใช้สารเคมี อาจใช้ทันทีหลังปลูกข้าวโพดหรือพ่นกำจัดวัชพืชฟลังข้าวโพดและวัชพืชงอกแล้ว การใช้สารเคมีเป็นวิธีที่สะดวกและประหยัด แต่ต้องระมัดระวัง เพราะอาจเป็นอันตรายต่อคน พืชอื่น ๆ และสิ่งแวดล้อม ควรฉีดพ่นขณะที่ดินยังมีความชื้นอยู่ สารเคมีที่แนะนำมีดังนี้

          อาทราซีน (ชนิดผง ๘๐%) ใช้ก่อข้าวโพดงอก อัตรา ๕๐๐ กรัม/ไร่ ถ้าเป็นดินเหนียวให้ใช้เพิ่มขึ้นอีก ใช้ควบคุมวัชพืชใบกว้างและแคบได้ดีเป็นพิษต่อผักและพืชตระกูลถั่ว ดังนั้น ถ้าจะปลูกถั่วตามหลังข้าวโพด ไม่ควรใช้อาทราซีน

          อะลาคลอร์ ใช้ฉีดพ่นวัชพืชก่อนข้าวโพดงอก ใช้อัตรา ๕๐๐ - ๑,๐๐๐ ซีซี/ไร่ กำจัดวัชพืชใบแคบได้ดี เป็นพิษต่อข้าวฟ่าง ดังนั้นถ้าจะปลูกข้าวฟ่างตามหลังข้าวโพด ไม่ควรใช้อะลาคลอร์

          หมายเหตุ การใช้สารกำจัดวัชพืช จะได้ผลดีถ้าปฏิบัติถูกต้อง แต่มีข้อควรระวัง คือ ต้องผสมน้ำและฉีดพ่นขณะที่ดินยังชื้นอยู่ และไม่แนะนำให้ปลูกข้าวฟ่างตามหลังข้าวโพด เพราะทั้ง ๒ พืชมีระบบรากคล้ายกันและใช้ธาตุอาหารคล้ายกัน ดินจะเสื่อมเร็ว ควรปลูกพืชหมุนเวียนชนิดอื่น

โรค-แมลงศัตรูข้าวโพด

          ๑.โรคราน้ำค้าง เชื้อรานี้จะเข้าทำลายตั้งแต่ระยะต้นกล้าจนถึงอายุประมาณ ๒ เดือน ใบจะเป็นทาง ซีดขาวหรือเขียวอ่อนจากฐานใบถึงปลายใบ ถ้าเป็นมากจะทำให้ต้นแห้งตาย เชื้อนี้ปลิวไปในอากาศหรืออาจติดไปกับเมล็ดได้

          การป้องกันกำจัด

          ๑.ปลูกพันธ์ต้านทานในแหล่งที่โรคระบาด

          ๒.คลุกเมล็ดด้วยสารเคมี เมตาแล็กซีล เช่น เอพรอน ๓๕ SD อัตรา ๗ กรัม/เมล็ดพันธุ์ ๑ กิโลกรัม

          ๓.เมื่อพบเห้นต้นข้าวโพดแสดงอาการ รีบถอนแล้วเผาทำลาย

          ๒.โรคใบไหม้ แผลเล็ก

          ลักษณะอาการ ต้นข้าวโพดจะเกิดแผลบนใบขนานไปตามเส้นใบ ขอบแผลสีน้ำตาล ตรงกลางแผลกว้าง ๖ - ๑๒ มิลลิเมตร ยาว ๖ - ๒๗ มิลลิเมตร ถ้าเกิดกับต้นกล้าจะแห้งตายทั้งต้น หากเป็นกับต้นโต จะ เป็นที่ใบล่าวก่อน แล้วลามไปทั้งต้น

          การป้องกันกำจัด

          ๑.ใช้เมล็ดพันธุ์จากแหล่งที่ไม่เป็นโรค

          ๒.ถอนต้นที่เป็นโรคแล้วเผา

          ๓.เมื่อเริ่มเป็นโรคใช้สารเคมี ไซเนบ มาเนบ อัตรา ๒-๓ ช้อนแกง/น้ำ ๒๐ ลิตร ฉีดพ่น ๗-๑๐ วัน/ครั้ง จำนวน ๔ ครั้ง

          ๔.เผาทำลายพืชอาศัยของโรค เช่น หญ้าเดือย ซากข้าวโพดซากข้าวฟ่าง ฯลฯ

          ๓.โรคต้นเน่า

          ลักษณะอาการ ถ้าเกิดจากเชื้อดิโพลเดีย จะเกิดบริเวณโคนต้นโดยเกิดเป็นแผลสีซีด ตามความยาวของลำต้น ต่อมาแผลจะเปลี่ยนเป็นสีดำ ถ้าเป็นรุนแรง ลำต้นจะแตกหรือฉีกออกทำให้ต้นหักล้มง่าย

          ลักษณะอาการ ถ้าเกิดจากเชื้อฟิวซาเรียม เกิดบริเวณโคนต้นแผลสีน้ำตาลอ่อนถึงเข้ม บริเวณแผลจะแห้ง ลำต้นแตกหรือฉีกขาดบางครั้งพบเส้นใยของเชื้อราสีขาว ปกคลุมบริเวณแผลทำให้ต้นหักล้มง่าย

          การป้องกันกำจัด

          ๑.ใช้พันธุ์ต้านทาน

          ๒.อย่าใช้ปุ๋ยไนโตรเจนมากเกินไป

          ๓.อย่าปลูกข้าวโพดแน่นมากเกินไป

          ๔.โรคฝัก-เมล็ดเน่า

          ลักษณะอาการ ถ้าเกิดจากเชื้อโพลเดีย เชื้อจะเข้าทำลายเมื่อข้าวโพดติดฝัก ข้าวโพดจะเริ่มขาวซีด แล้วเปลี่ยนเป็นสีเทา หรือน้ำตาลแล้วฝักจะเน่าในที่สุด

          ลักษณะอาการ ถ้าเกิดจากเชื้อฟิวซาเรียม ระยะแรกตรงหัวของเมล็ดจะมีสีขาวซีด ต่อมาจะเปลี่ยนเป็นสีชมพู หรือสีน้ำตาลแดง ขึ้นอยู่กับความชื้นของเมล็ด ถ้าสภาพแวดล้อมเหมาะสม จะพบเส้นใยสีขาวหรือสีชมพู เจริญอยู่บนเมล็ดที่เป็นโรคหรือปกคลุมทั้งฝักข้าวโพด

          ลักษณะอาการ ถ้าเกิดจากเชื้อเพนนิซิเลียม หรือแอสเปอร์จิลลัส ฝักข้าวโพดจะมีเชื้อรา ซึ่งมีลักษณะเป็นผงสีเขียวเจริญอยู่ระหว่างเมล็ดข้าวโพด มักเกิดตรงปลายฝัก

          การป้องกันกำจัด

          ๑.พ่นสารเคมี ป้องกันกำจัดแมลงเจาะฝัก

          ๒.อย่าปล่อยข้าวโพดที่แก่จัดไว้คาแปลงนานเกินไป

          ๓.ตากฝักให้แห้งสนิทก่อนนำไปกะเทาะ

          ๔.คัดฝักที่เป็นโรคทิ้ง

          ๕.ตากเมล็ดให้แห้งสนิทมากที่สุด (ความชื้นไม่เกิน ๑๕%) ก่อนนำไปเก็บ

          ๕.มอดดิน

          ลักษณะอาการ จะออกทำลายข้าวโพดในเวลาค่ำ

          การป้องกันกำจัด

          ๑.ใช้สารฆ่าแมลงคลุกเมล็ดก่อนปลูก เช่น คาร์โบซัลแฟน (พอสส์) อัตรา ๒๐ กรัม/เมล็ดพันธุ์ ๑ กิโลกรัม

          ๒.เมื่อมอดดินระบาด ใช้ พอสส์ อัตรา ๓๐ ซีซี/น้ำ ๒๐ ลิตร ฉีดพ่นเมื่อข้าวโพดอายุ ๑๐ - ๑๒ วัน

          ๖.เพลี้ยไฟข้าวโพด

          ลักษณะอาการ มักระบาดในระยะที่ต้นกล้ายังเล็กและฝนแล้ง

          การป้องกันกำจัด

          ๑.ใช้สารเอ็นโดซัลเฟน (ธีโอดาน ๓๕% EC) อัตรา ๑๕ ซีซี/น้ำ ๒๐ ลิตร พ่นเมื่อพบเพลี้ยไฟระบาด

          ๗.หนอนเจาะลำต้นข้าวโพด

          ลักษณะอาการ หนอนจะทำลายโดยเจาะลำต้น ทำความเสียหายทั้งข้าวโพดไร่ และข้าวโพดฝักสด

          การป้องกันกำจัด

          ๑.ระยะข้าวโพดออกไหม ใช้สารไตรฟูมูรอน (อัลซิทิน) อัตรา ๓๐ กรัม/น้ำ ๒๐ ลิตร ฉีดพ่น

          ๘.หนอนกระทู้ข้าวโพด

          ลักษณะอาการ ทำลายข้าวโพดในระยะที่ใบยอดใกล้จะคลี่และในระยะที่ กำลังออกไหม หนอนจะกัดกินยอดและใบทำให้แหว่งวิ่น ถ้าระบาดรุนแรง ใบจะถูกกัดกินเหลือเพียงก้านใบ

          การป้องกันกำจัด

          ๑.ใช้สารฆ่าแมลงคาร์บารีล (เซพวิน) อัตรา ๔๕ กรัม/น้ำ ๒๐ ลิตร ฉีดพ่นเมื่อพบหนอน ทำลายข้าวโพด เฉลี่ย ๓-๔ ตัว/ต้น

          ๙.หนอนเจาะฝักข้าวโพด

          ลักษณะอาการ หนอนจะทำลายข้าวโพดโดยกัดกินไหม และเจาะเข้าไปที่ปลายฝัก

          การป้องกันกำจัด

          ๑.ใช้สารเมโทมิล (แลนเนท) พ่นเฉพาะที่ฝัก อัตรา ๒๕ กรัม/น้ำ ๒๐ ลิตร

          ๑๐.มอดข้าวโพด

          ลักษณะอาการ มอดจะกัดกินเมล็ดทั้งเมล็ด

          การป้องกันกำจัด

          ๑.ทำความสะอาดเมล็ดก่อนเก็บ

          ๒.ลดความชื้นเมล็ดให้ต่ำที่สุด ต่ำกว่า ๙.๕% มอดจะไม่ทำลาย

          ๓.เก็บในภาชนะที่ปิดสนิท

          ๔.ทำความสะอาดยุ้งฉากก่อนใช้เก็บข้าวโพด โดยการพ่นมาลาไธออน ๓% อัตรา ๙.๕ ลิตร ต่อเนื้อที่ ๑,๐๐๐ ตารางฟุต

การเก็บเกี่ยวและการตาก

          ควรเก็บเมื่อข้าวโพดแก่จัดและแห้งสนิท โดยปล่อยข้าวโพดทิ้งคาต้นไว้ให้แห้งที่สุด ควรเก็บเฉพาะฝัก แล้วนำไปตากแดด ๒-๓ วัน ก่อนที่จะนำไปเก็บยุ้งฉางหรือกะเทาะเมล็ด

          ในการเก็บรักษาฝักต้องระวังอย่าให้ถูกฝน หรือมีความชื้นสูงมิฉะนั้นจะเกิดเชื้อรา ซึ่งอาจเป็นพิษต่อคน หรือสัตว์กินเข้ไปได้

การกะเทาะเมล็ด

          ข้าวโพดที่เก็บมาใหม่ ๆ ควรตากให้แห้งสนิทมากที่สุด จึงนำไปกะเทาะเมล็ด เมื่อกะเทาะแล้ว ต้องตากแดดให้แห้งแล้งสนิทมากจริงๆ จึงนำไปเก็บ มิฉะนั้นเมล็ดจะเน่าเสีย เกิดเชื้อรา ซึ่งเป็นพิษ ต่อคนหรือสัตว์ที่กินเข้าไป

คุณภาพเมล็ดหลังการเก็บเกี่ยว

          ปัญหาที่สำคัญที่สุดคือ ความสูญเสียอันเนื่องมาจากเชื้อรา ซึ่งเป็นอันตรายต่อคนและสัตว์ที่กินเข้าไป

          สารพิษอะฟลาทอกซิน (Aflatoxin) เกิดจาเชื้อราแอสเปอร์จิลลัสฟลาวัส หรือราเขียว และยังมีเชื้อราอีกหลายชนิด ที่สามารถสร้างสารพิษในข้าวโพดได้

          สารพิษนี้ เป็นปัญหาสำคัญของการส่งข้าวโพดไปต่างประเทศเพราะสารพิษนี้ มักปะปน ในผลผลิตและผลิตภัณฑ์ข้าวโพดหลายชนิดบางครั้งพบเชื้อราบนข้าวโพด แต่ไม่ใช่สารพิษอะฟลาทอกซิน หรือบางครั้งพบสารพิษแต่ไม่เห็นเชื้อราเจริญอยู่ สารพิษนี้ทนทานต่อความร้อนได้สูงถึง ๒๕๐ C เมื่อเกิดการปนเปื้อนสารพิษในผลผลิตการเกษตร จะก่อให้เกิดความสูญเสียอย่างมากมายเมื่อกินเข้าไป ยังเป็นสาเหตุที่ทำ ให้เกิดมะเร็งที่ร้ายแรงที่สุดได้สารหนึ่ง

          สาเหตุที่ทำให้ข้าวโพดเกิดเชื้อรานั้นมีหลายประการ แต่ที่สำคัญ คือ ความชื้นสูงจะง่ายต่อการเข้าทำลายของเชื้อรา

          ระดับความชื้นที่ปลอดภัยของเมล้ดข้าวโพดที่กะเทาะจากฝักแล้วคือ ๑๓% ส่วนข้าวโพดที่ใช้เป็นอาหาร คือ ๑๑% และแสงแดดช่วยทำลายการปนเปื้อนของสารพิษได้บ้าง โดยป้องกันไม่ให้เชื้อราเจริญบนเมล็ดแต่แสงแดดไม่สามารถฆ่า เชื้อที่ทำให้เกิดสารพิษให้ตายได้

วิธีการป้องกัและกำจัดสารพิษอะฟลาทอกซิน

          เนื่องจากการเข้าทำลายของเชื้อรา และการสร้างสารพิษเริ่มขึ้นได้ทุกๆ ช่วงตั้งแต่ในไร่ก่อนการเก็บเกี่ยว ขณะเก็บเกี่ยว ขณะทำให้แห้งระหว่างการเก็บรักษา และการขนส่ง ดังนั้น ควรมีการป้องกันกำจัดเป็นขั้นตอนดังนี้

          ๑.ก่อนการเก็บเกี่ยว

                   ๑.๑เลือกช่วงการเพาะปลูก เพื่อหลีกเลี่ยงการเข้าทำลายของเชื้อรา คือ หลีกเลี่ยงการเก็ยเกี่ยวในช่วงที่ฝนตกชุก

                   ๑.๒กำจัดทำลายวัชพืชในแปลงปลูกให้สะอาดตลอดจนทำลายเศษซากพืชที่ เป็นโรคโดยการนำไปเผาทิ้งเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อรา

                   ๑.๓ควรปลูกพืชอย่างอื่นที่เป็นพืชหมุนเวียนด้วย จะช่วยป้องกันไม่ให้เชื้อราสะสมอยู่ในแปลงปลูก หรืออาจปลูกข้าว, พริก, มะเขือเทศ,ถั่วเขียว ฯลฯ ตามหลังข้าวโพดก็ได้

                   ๑.๔เมื่อข้าวโพดออกฝัก ควรพ่นยาป้องกันแมลงทำลายฝักเพราะเชื้อราจะเกิดตามแผลที่แมลง เข้าทำลาย และเจริญเข้าไปในฝักได้

                   ๑.๕อย่าปลูกถี่หรือแน่นเกินไป จะทำให้ต้นข้าวโพดอ่อนแอและเกิดเชื้อราบนฝักได้ง่าย

          ๒.เก็บเกี่ยว

                   ๒.๑ควรเก็บเกี่ยวเมื่อข้าวโพดแก่จัด และเก็บในช่วงที่อากาศแห้งถ้ามีฝนตก ควรงดการเก็บเกี่ยวเพราะ ราเขียวจะขึ้นบนฝักที่ชื้นได้รวดเร็วมาก

                   ๒.๒ไม่ควรเก็บเกี่ยวข้าวโพดก่อนกำหนด ถ้าต้องการพื้นที่ปลูกเพื่อปลูกพืชรุ่น 2 ก็สามารถตัดยอดข้าวโพดออก ปล่อยให้ฝักข้าวโพดห้งบนต้นได้ การตัดยอดและใบข้าวโพดออกเป็นการเปิดหน้าดินให้พืชรุ่น ๒ ได้รับแสงแดดโดยไม่ต้องรีบเก็บเกี่ยวก่อนกำหนด การตัดยอดข้าวโพดหลังจากข้าวโพดออกไหม้แล้ว ๑ เดือน เป็นต้นไป ไม่ทำให้ผลผลิตลดลง

                   ๒.๓ถ้าข้าวโพดไม่แก่เต็มที่ ความชื้นจะยังสูง ทำให้กะเทาะเมล็ดยาก เกิดบาดแผลได้ง่าย จึงควรปล่อย ให้ข้าวโพดแห้งคาต้นก่อนจึงเก็บเกี่ยวโดยหักฝักข้าวดพดให้หัวห้อยลง วิธีจะป้องกันการเข้าทำลายของแมลงทางปลายฝักได้ และสามารถป้องกัน ความชื้นหรือน้ำที่ปลายฝักได้

                   ๒.๔ข้าวโพดที่หักมาแล้ว ควรคัดฝักเสียออกไป เช่นฝักที่มีหนอนแมลงเจาะทำลายหรือฝักที่มีเชื้อราขึ้น จะทำให้เชื้อราไม่แพร่ระบาดไปยังฝักที่ดี แล้วจึงนำฝักที่ดีไปตากให้แห้งโดยเร็ว

          ๓.การทำให้แห้ง

                   ระยะนี้เป็นช่วงที่สำคัญมาก และมีผลโดยตรงต่อคุณภาพของเมล็ดที่จะนำไปเก็บรักษาโดยต้องรีบทำให้แห้ง สู่ระดับความชื้นที่ปลอดภัยโดยเร็วที่สุด ควรตากบนพื้นที่สะอาด คอยกลับและเกลี่ยอยู่เสมอหรืออาจตากบนแคร่เตี้ย ๆ ยกสูงจากพื้นดินและเคลื่อนย้านได้สะดวก ถ้าฝนตกต้องมีผ้าใบคลุมกันฝน

          ๔.ขณะเก็บรักษา

                    การเก็บเป็นฝัก จะได้รับความเสียหายจากนก หนู แมลง และ เชื้อราน้อยกว่าการเก็บเป็นเมล็ด โดย

                   ๔.๑เก็บรักษาฝักข้าวโพดไว้ในโรงเก็บที่อากาศถ่ายเทได้สะดวกหากเก็บไว้นาน ต้องสามารถที่จะป้องกัน นก หนู และแมลงที่จะเข้าทำลายได้ดี

                   ๔.๒ถ้าเก้บไว้เป็นระยะเวลานาน ควรรมกองข้าวดพดด้วยสารฆ่าแมลงและสารฆ่าเชื้อราเป็นระยะ ๆ

                   ๔.๓ถ้าเก็บเกี่ยวข้าวโพดแล้วทำให้แห้งโดยเร็วไม่ได้ ต้องรีบส่งข้าวโพดไปยังโซโลที่มีเครื่องอบแห้ง ถ้าไม่ส่งไซโล ต้องพ่นสาร หรือคลุกสารบางอย่าวเพื่อชะลอการเกิดสารพิษ โดยอาจรมด้วยก๊าซคาร์บอนไดอ๊อกไซด์ หรือไนโตรเจน อัตรา ๐.๕ กิโลกรัม/เมล็ดข้าวโพด ๑ ตันจะทำให้สามารถยืดเวลาไปได้ประมาณ ๕ วัน

                   ๔.๔หากข้าวโพดฝักเสียหรือมีสารพิษ ควรนำไปเผาทำลายทันที

          ๕.การขนส่ง

                   ควรมีการทำความสะอาดภาชนะบรรจุเมล็ดที่ใช้ในการ ขนส่งและต้องระวังเรื่องความชื้นให้มาก เพราะเมล็ดที่แห้งจัดสามารถดูดความชื้นจากอากาศ ทำให้เกิดเชื้อราได้

การปฏิบัติเพื่อป้องกันการเกิดสารอะฟลาทอกซิน

แนวทางปฏิบัติในระดับไร่

          ๑.เก็บเกี่ยวข้าวโพดเมื่อฝักแก่จัด

          ๒.อย่าเก็บเกี่ยวขณะฝนตก

          ๓.แยกฝักเสียและเป็นราออกจากฝักดี

          ๔.อย่ากองฝักข้าวโพดบนพื้นดิน

          ๕.เก็บฝักที่แห้งแล้งเท่านั้นเข้ายุ้งฉาง

          ๖.ยุ้งฉางควรยกสูงจากพื้นดิน ประมาณ ๑ เมตร หลังคากันฝนและน้ำค้างได้ ใช้สังกะสีพันขายุ้งกันหนูและสัตว์อื่น ๆ

          ๗.ทำความสะอาดยุ้งฉางก่อนเก็บข้าวโพด

          ๘.ควรมีการระบายถ่ายเทอากาศได้ดีในยุ้งฉาง

แนวทางปฏิบัติระดับผู้ค้าท้องถิ่น

          ๑.หลังจากสีข้าวโพดแล้ว ต้องทำให้แห้งภายใน ๒ วัน

          ๒.ถ้าไม่มีแสดงแดดหรือแดดไม่ดี ให้ส่งไซโลหรือใช้เครื่องอบแห้งทันทีหลังจากสีข้าวโพด

          ๓.ควรแยกข้าวโพดเป็นกลุ่มตามระดับความชื้น

          ๔.อย่านำข้าวโพดที่เป็นราผสมกับข้าวโพดดี

          ๕.กำจัดสิ่งสกปรก และสิ่งเจือปนออกจากเมล็ดข้าวโพด

          ๖.ในการขนส่งให้มีผ้าใบคลุมกันฝนและน้ำค้าง

          ๗.หากเก็บนาน ต้องทำความสะอาดและรมสารฆ่าแมลงและ เชื้อราก่อนเก็บเป็นระยะ ๆ

          ๘.ต้องมีการระบายถ่ายเทอากาศภายในโรงเก็บได้ดี

          ๙.จัดวางกระสอบข้าวโพดเป็นกอง ๆ ละ ๒๐ - ๒๕ กระสอบให้มีช่องระหว่างกอง และผนังพื้นโรงเรือน ถ้าต้องการวางกระสอบสูงขึ้นไปอีก ควรมีวัสดุกั้นให้ระบายอากาศได้ อย่าวางติดผนังและพื้นโรงเก็บ

-----------------------------------------------------------

http://www.rakbankerd.com/agriculture/in_agricultural/sub_agricultural_1.html?sub_id=938&head=การปลูกข้าวโพด&click_center=1

 

 

 

ตารางที่ 6.1 การปฏิบัติงาน ในการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวโพด

-----------------------------------------------------------------------------------------------

อายุ(วัน)                                              การปฏิบัติ

-----------------------------------------------------------------------------------------------

ก่อนปลูก 7 วัน         _ไถดะ แล้วใส่ปุ๋ยคอกในอัตรา 3 ตันต่อไร่ และโรยปูนขาวใน

อัตรา 200 กิโลกรัมต่อไร่

                             _ไถพรวน เพื่อพรวนกลบปุ๋ยคอกและปูนขาวลงไปในดิน

                             _ไถยกร่องเป็นแปลงปลูก สำหรับปลูกพืชด้วยระยะปลูก 25 x 75

เซนติเมตร

อายุ 0 วัน                _หยอดเมล็ดพันธุ์ ในอัตรา 2-3 เมล็ดต่อหลุม

อายุ 14 วัน              _ตรวจพันธุ์ปน ครั้งที่ 1

                             _ถอนแยกเหลือ 1 ต้นต่อหลุม

                             _ใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 อัตรา 50 กิโลกรัมต่อไร่

อายุ 50-55 วัน         _ข้าวโพดเริ่มออกไหม

                             _ตรวจพันธุ์ปน ครั้งที่ 2

อายุ 120 วัน            _เก็บเกี่ยวฝักแก่ เพื่อเอาเมล็ดพันธุ์

-----------------------------------------------------------------------------------------------

 

การผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวฟ่าง

 

6.2.การปลูกข้าวฟ่าง

 

แบ่งออกได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ

        1. ข้าวฟ่างลูกผสม

        มีลักษณะดีเด่นหลายประการคือ ให้ผลผลิตสูงออกดอกเร็ว อายุเก็บเกี่ยวสั้น ต้นเตี้ยเก็บเกี่ยวได้ง่ายต้านทานโรค-แมลงได้ดี แต่เมล็ดพันธุ์มีราคาแพง และไม่สามารถเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้ปลูกในฤดูต่อไป ได้แก่ พันธุ์เคยู 8501 และพันธุ์จากบริษัทเอกชนอีกหลายพันธุ์

        2. ข้าวฟ่างพันธุ์แท้

        เป็นข้าวฟ่างที่มีความคงตัว คือรุ่นลูกจะมีลักษณะคล้ายรุ่นพ่อ-แม่ ในธรรมชาติแล้ว ข้าวฟ่างจะเป็นพันธุ์แท้เกือบทั้งหมด ข้าวฟ่างพันธุ์แท้ที่ดีให้ผลผลิตสูง ต้านทานต่อโรคและแมลงได้ดี มีทั้งพันธุ์หนักและพันธุ์เบา

        พันธุ์ที่ศูนย์วิจัยข้าวโพด-ข้าวฟ่างแห่งชาติแนะนำทั้งพันธุ์แท้และลูกผสมมีดังนี้

        1. พันธุ์อู่ทอง 1 (ดีเอ 80)

        เป็นพันธุ์แท้ เมล็ดสีขาวเป็นมัน เมล็ดค่อนข้างใหญ่ ได้จากการคัดเลือกพันธุ์โดยกรมวิชาการเกษตร

        ลักษณะเด่น คือ ลำต้นเตี้ย อายุออกดอกและอายุเก็บเกี่ยวสั้นเป็นพันธุ์เบา ช่อค่อนข้างเปิด เมล็ดโต คุณภาพแป้งดี มีปริมาณสารแทนนินต่ำไม่ไวต่อช่วงแสง แต่ไม่เหมาะที่จะปลูกในช่วงต้นฤดูฝน เพราะจะสุกแก่ในช่วงปลายฤดูฝน ซึ่งจะทำให้เกิดความเสียหาย อันเนื่องมาจากโรคราบนช่อข้าวฟ่างได้เมื่อมีความชื้นสูง

        2. พันธุ์สุพรรณบุรี 60

        เป็นพันธุ์แท้ เมล็ดสีแดง เกษตรกรสามารถเก็บเมล็ดไว้ทำพันธุ์ได้

        ลักษณะเด่น คือ ลำต้นเตี้ย ออกดอกเร็ว อายุการเก็บเกี่ยวสั้น ช่อรูปทรงกรวยค่อนข้างกลม แต่เปิดบานออก ไม่ไวต่อช่วงแสง ข้อเสีย คือ ลำต้นหักล้มง่าย

        3. พันธุ์เคยู 439

        เป็นพันธุ์แท้ เมล็ดสีขาว โครงการปรับปรุงพันธุ์ข้าวฟ่าง มหาวิทยาลัยวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ส่งเสริมให้ปลูกตั้งแต่ พ.ศ. 2526 เป็นต้นมา

        ลักษณะเด่น คือ ลำต้นแข็งแรง ต้านทานต่อโรคทางใบ ให้ผลผลิตสูง ช่อทรงกระบอกค่อนข้างแน่น เมล็ดโต เป็นพันธุ์หนักอายุเก็บเกี่ยวประมาณ 110 วัน

        4. พันธุ์เคยู 630

        เป็นพันธุ์แท้ เมล็ดสีแดง เกษตรกรสามารถเก็บเมล็ดไว้ทำพันธุ์ได้ โครงการปรับปรุงพันธุ์ข้าวฟ่าง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ส่งเสริมให้ปลูกตั้งแต่ พ.ศ. 2530 เป็นต้นมา

        ลักษณะเด่น คือ อายุเก็บเกี่ยวสั้นประมาณ 90 วัน ผลผลิตสูง มีลำต้นสูงปานกลาง มีสารเทนนินในเมล็ดต่ำประมาณ 0.16% เมล็ดกระเทาะออกจากรวงได้ง่าย และไม่มีเปลือกติดเมล็ด

        5. พันธุ์ เคยู 8501

        เป็นพันธุ์ลูกผสม เมล็ดสีแดง โครงการปรับปรุงพันธุ์ข้าวฟ่าง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ส่งเสริมได้ปลูกตั้งแต่ พ.ศ. 2528 เป็นต้นมา

        ลักษณะเด่น คือ ให้ผลผลิตสูง เมล็ดโต ต้นเตี้ย เป็นพันธุ์หนัก อายุเก็บเกี่ยวประมาณ 115 วัน

การปลูก

        ฤดูปลูก

        เกษตรกรนิยมปลูกข้าวฟ่างเป็นพืชรองหลักจากปลูกพืชหลักไปแล้ว โดยทั่วไปจะปลูกข้าวฟ่างในช่วงปลายฤดูฝน (ระหว่างเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม) เพื่อให้ข้าวฟ่างสุกแก่และเก็บเกี่ยวในฤดูหนาว ซึ่งมีสภาพอากาศแห้ง ปลอดจากฝน ช่วยให้เมล็ดข้าวฟ่างแห้งดี ไม่มีเชื้อราเข้าทำลายเมล็ดข้าวฟ่าง

        การเตรียมดิน

        ควรไถดินครั้งแรกด้วยไถผาน 3 ให้ลึก 5-6 นิ้ว ตากดินไว้ 7-10 วัน แล้วจึงพรวนด้วยไถผาน 7 เพื่อย่อยดิน ซึ่งจะช่วยให้ต้นอ่อนข้าวฟ่างงอกพ้นดินได้ง่ายและเจริญเติบโตดี มีวัชพืชรบกวนน้อย

วิธีปลูก

        1. หยอดเป็นหลุม ให้ระยะระหว่างแถวห่างกัน 60 เซนติเมตร ระยะระหว่างหลุมห่างกัน 30 เซนติเมตร หยอด 3 เมล็ด/หลุม

        2. โรยเป็นแถว โดยโรยเป็นแถวในร่องที่ลึก 2-3 เซนติเมตร แล้วกลบเมล็ด เมื่อต้นอ่อนอายุ 14-15 วัน ก็ถอนแยกออกให้ระยะระหว่างต้นห่างกัน 10 เซนติเมตร ระยะระหว่างแถว 60 เซนติเมตร

        3. ปลูกแบบยกร่อง โดยใช้รถไถร่องให้ระยะระหว่างร่องห่างกัน 60 เซนติเมตร หยอดเป็นหลุมหรือโรยเป็นแถว แล้วถอนแยกออกเหมือนหยอดหลุมหรือโรยแถวก็ได้

        ถ้าดินมีความอุดมสมบูรณ์ดีอยู่แล้วไม่จำเป็นต้องใส่ปุ๋ย แต่ถ้าดินขาดธาตุอาหารอาจจะใส่ปุ๋ยคอก หรือปุ๋ยเคมีเป็นปุ๋ยรองพื้น เช่น สูตร 16-20-0 อัตรา 30-50 กิโลกรัม/ไร่ แต่ถ้าต้นข้าวฟ่างยังเจริญเติบโตไม่ดี อาจใส่ปุ๋ยไนโตรเจนพวกแอมโมเนียมซัลเฟต ในอัตรา 30 กิโลกรัม เมื่อข้าวฟ่างอายุได้ 25 วัน

          เมล็ดพันธุ์ข้าวฟ่างที่จะใช้ปลูก ควรซื้อจากแหล่งที่เชื่อถือได้ หรือซื้อเมล็ดพันธุ์ที่ผ่านการรับรองคุณภาพ เพราะเมล็ดจะมีความงอกสูง และมีความสม่ำเสมอ

          การกำจัดวัชพืช ควรทำก่อนที่ข้าวฟ่างจะตั้งท้อง และถ้าพืชแสดงอาการขาดธาตุอาหาร ควรใส่ปุ๋ยแต่งหน้าโดยเฉพาะช่วงระยะ 25-30 วัน ซึ่งเป็นระยะที่ข้าวฟ่างมีการสร้างตาดอก

แมลงศัตรูข้าวฟ่าง

        แมลงศัตรูที่สำคัญที่พบระบาดเป็นประจำในฤดูปลูกข้าวฟ่างมีดังนี้

        1. หนอนแมลงวันเจาะยอดข้าวฟ่าง

        ตัวเต็มวัยมีลักษณะคล้ายแมลงวันบ้าน แต่มีขนาดเล็กและสีอ่อนกว่า ตัวเมียจะวางไข่เป็นฟองเดี่ยว ๆ ใต้ใบข้าวฟ่าง โดยไข่จะมีสีขาวรูปทรงกระบอก ปลายไข่ทั้ง 2 ข้างเรียวมน ขนาด 0.25 x 1.20 มิลลิเมตร เมื่อหนอนฟักออกจากไข่ จะอาศัยกัดกินบริเวณจุดเจริญเติบโตของข้าวฟ่าง ทำให้ข้าวฟ่างแสดงอาการยอดเหี่ยวและไม่ให้ผลผลิต เป็นแมลงศัตรูที่สำคัญที่สุดของข้าวฟ่าง ทำลายข้าวฟ่างตั้งแต่เริ่มงอกจนอายุประมาณ 6 สัปดาห์

        วัชพืชหลายชนิด เช่น หญ้าตีนนก หญ้าตีนติด หญ้าตีนกา และหญ้าขจรจบ เป็นพืชอาศัยของหนอนชนิดนี้และมีพืชอาศัยอีกหลายชนิด ดังนั้น การเผาตอซังข้าวฟ่างและวัชพืชก่อนปลูก จึงเป็นการลดการทำลายของหนอนชนิดนี้

        การป้องกันและกำจัด

        1.1 ปลูกข้าวฟ่างพันธุ์แท้ที่แนะนำโดยปลูกแบบเป็นแถว จะให้ผลผลิตสูงกว่าพันธุ์เฮกการี่ ทั้งในสภาพที่มีและไม่มีการระบาดของหนอนแมลงวันเจาะยอดข้าวฟ่างนี้

        1.2 กำหนดวันปลูกข้าวฟ่างในแต่ละท้องถิ่นให้ใกล้เคียงกัน เพราะข้าวฟ่างที่ปลูกล่าจะถูกหนอนแมลงรุ่นที่สองทำลายอย่างรุนแรง เพราะแมลงชนิดนี้มีวงจรชีวิตสั้นประมาณ 3 สัปดาห์เท่านั้น

        1.3 ควรเผาทำลายตอซังและวัชพืชก่อนปลูกข้าวฟ่าง

        1.4 ใช้เมล็ดพันธุ์ให้มากกว่า 2 กิโลกรัมต่อไร่ เพื่อชดเชยความเสียหาย โดยถอนต้นที่ถูกทำลายเอาไปเผาทิ้งเมื่อต้นกล้าอายุ 2 สัปดาห์ แต่ถ้าไม่ถอนต้นข้าวฟ่างที่ถูกทำลาย ควรพ่นสารฆ่าแมลงคาร์โบซัลแฟน อัตรา 0.1% ของสารออกฤทธิ์ เมื่อข้าวฟ่างอายุ 1 สัปดาห์ หรือเมื่อมี 4-5 ใบ

        1.5 ใช้กับดักปลาป่นไม่สกัดน้ำมัน (อาหารไก่) ดักจับตัวเต็มวัยก่อนฤดูปลูก เพื่อลดปริมาณในฤดูปลูกต่อไป

        1.6 ควรปลูกพืชอื่นหมุนเวียนที่มิใช่พืชอาศัยของหนอนแมลงชนิดนี้

        2. เพลี้ยอ่อนอ้อย

        ตัวอ่อนและตัวเต็มวัยดูดกินน้ำเลี้ยงตามส่วนต่างๆ ของข้าวฟ่างตั้งแต่อายุ 40 วัน จนถึงระยะออกช่อและติดเมล็ด ชอบดูดกินน้ำเลี้ยงบริเวณค่อนข้างแก่ โดยเฉพาะใต้ใบโคนต้นข้าวฟ่าง

การระบาดจะรุนแรงมากขึ้นถ้าเกิดสภาวะฝนแล้งหรือฝนทิ้งช่วง ทำให้ต้นข้าวฟ่างชะงักการเจริญเติบโต

        การป้องกันและกำจัด ในสภาพแห้งแล้งหรือฝนทิ้งช่วงนาน ถ้าพบเพลี้ยอ่อนอ้อยระบาดรุนแรง ในระยะที่กำลังออกช่อและเริ่มติดเมล็ด ควรใช้สารฆ่าแมลงไตรอะโซฟอส อัตรา 48 กรัม หรือคาร์โบซับแฟน อัตรา 24 กรัม ของเนื้อสารออกฤทธิ์ต่อไร่ อย่างใดอย่างหนึ่งเพียงครั้งเดียว โดยพ่นบริเวณโคนต้นที่พบการระบาด เพื่อลดค่าใช้จ่าย และหลีกเลี่ยงการทำลายแมลงศัตรูธรรมชาติ เช่น ด้วงเต่า

        3. หนอนกระทู้คอรวง

        จะกัดกินยอดและใบข้าวฟ่างในตอนกลางคืน โดยทำลายข้าวฟ่างอายุตั้งแต่ 1 เดือนถึงระยะออกช่อ ลักษณะใบที่ถูกทำลายคล้ายกับการกัดกินของตั๊กแตนมาก โดยจะพบมูลและหนอนตามยอดและซอกกาบใบ ถ้าระบาดรุนแรงในช่วงข้าวฟ่างจะออกช่อ ทำให้ผลผลิตลดลงอย่างเห็นได้ชัด

        การป้องกันกำจัด

        ถ้าพบหนอนกระทู้คอรวงทำลายข้าวฟ่างอย่างรุนแรง ตั้งแต่อายุ 40 วัน จนถึงระยะออกช่อ ควรใช้สารฆ่าแมลง อะซินฟอสเมทธิน หรือคาร์บาริล หรือเมทโธมิล ชนิดใดชนิดหนึ่ง ฉีดพ่น

        4. หนอนเจาะสมอฝ้าย

        จะกัดกินดอกและเมล็ดในช่อข้าวฟ่าง การทำลายจึงมีผลต่อผลผลิตโดยตรง โดยเฉพาะข้าวฟ่างพันธุ์ที่มีช่อรวงใหญ่และแน่นกาบใบชิดช่อรวง เพราะหนอนสามารถใช้เป็นที่อาศัยกัดกิน และหลบซ่อนตัวได้หลายตัว ช่อมูลของหนอนที่ถ่ายทิ้งไว้ในช่อ เมื่อมีเชื้อราต่าง ๆ มาขึ้น ทำให้คุณภาพของเมล็ดลดลง

  การป้องกันกำจัด

        1. ควรปลูกข้าวฟ่างพันธุ์ที่ช่อรวงไม่แน่นมากนัก

        2. ถ้าพบหนอนจำนวนน้อยควรเก็บทำลาย

        3. ถ้าพบหนอนระบาดรุนแรงในช่อข้าวฟ่าง ที่กำลังเริ่มติดเมล็ดควรใช้สารฆ่าแมลง ไธโอไดคาร์บ อัตรา 90 กรัม หรือเมทโธมิล อัตรา 72 กรัมของสารออกฤทธิ์ พ่นเพียงครั้งเดียว เฉพาะช่อข้าวฟ่างบริเวณที่พบหนอนทำลาย

การเก็บเกี่ยว

        เมื่อข้าวฟ่างสุกแก่ เมล็ดจะมีสีเข้มขึ้นแห้งและแข็ง ถ้าใช้แรงงานคนตัด เมื่อตัดเสร็จควรนำไปตากบนลานที่สะอาด ตากไว้จนเมล็ดแห้งแล้วจึงนำไปนวดหรือสี ซึ่งส่วนใหญ่มักจะใช้เครื่องสี แล้วบรรจุกระสอบส่งไปจำหน่าย

        ถ้าจะเก็บเมล็ดไว้ทำพันธุ์เอง ควรตากให้แห้งสนิทแล้วคลุกสารกันราและแมลง แล้วเก็บในภาชนะปิดเก็บไว้ในที่แห้งและเย็น ที่มีอากาศถ่ายเทได้ดี ข้อควรระวังมีดังนี้

        1. ไม่ควรปลูกพืชอื่นตามหลังข้าวฟ่างทันที เพราะมีผลตกค้างจากข้าวฟ่าง ทำให้พืชที่ปลูกตามมาไม่เจริญงอกงาม

        2. ไม่ควรนำต้นข้าวฟ่างที่มีอายุต่ำกว่า 1 เดือน ไปเลี้ยงสัตว์ เพราะมีกรดไฮโดรไซยานิคที่เป็นพิษต่อสัตว์

------------------------------------------

http://school.obec.go.th/bpr/901.01.2.htm

 

 

ตารางที่ 6.2 การปฏิบัติงาน ในการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวฟ่าง

-----------------------------------------------------------------------------------------------

อายุ(วัน)                                                        การปฏิบัติ

-----------------------------------------------------------------------------------------------

ก่อนปลูก 7 วัน         _ไถดะ แล้วใส่ปุ๋ยคอกในอัตรา 3 ตันต่อไร่ และโรยปูนขาวใน

อัตรา 200 กิโลกรัมต่อไร่

                             _ไถพรวน เพื่อพรวนกลบปุ๋ยคอกและปูนขาวลงไปในดิน

                             _ไถยกร่องเป็นแปลงปลูก สำหรับปลูกพืชด้วยระยะปลูก 10 x 60

เซนติเมตร

อายุ 0 วัน                _หยอดเมล็ดพันธุ์ ในอัตรา 2-3 เมล็ดต่อหลุม

                             _อัตราการใช้เมล็ดพันธุ์ 2-3 กก./ไร่

อายุ 14 วัน              _ตรวจพันธุ์ปน ครั้งที่ 1

                             _ถอนแยกเหลือ 1 ต้นต่อหลุม

                             _ใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 อัตรา 50 กิโลกรัมต่อไร่

อายุ 45-50 วัน         _ข้าวฟ่าง เริ่มออกดอก

                             _ตรวจพันธุ์ปน ครั้งที่ 2

อายุ 90-110 วัน        _เก็บเกี่ยวฝักแก่ เพื่อเอาเมล็ดพันธุ์

-----------------------------------------------------------------------------------------------

 

 

 

__________________________

บทที่  7

การผลิตเมล็ดพันธุ์ทานตะวัน-งา

การผลิตเมล็ดพันธุ์ทานตะวัน

 

7.1.การปลูกทานตะวัน

 

ทานตะวัน เป็นพืชน้ำมันที่มีความสำคัญพืชหนึ่ง น้ำมันที่ได้จากการสกัดจากเมล็ดทานตะวันจะมีคุณภาพสูง ที่ประกอบด้วยกรดไขมันที่ไม่อิ่มตัว เช่น กรดลิโนเลนิค หรือกรดลิโนเลอิค ที่จะช่วยลดโคเลสเตอร์รอลที่เป็นสาเหตุของโรคไขมัน อุดตันในเส้นเลือด นอกจากนี้น้ำมันจากทานตะวันยังประกอบด้วยวิตามิน เอ ดี อี และเคด้วย ผลผลิตส่วนใหญ่อยู่ในเขตอบอุ่น เช่น สหภาพโซเวียต อาร์เจนตินา และประเทศในแถบยุโรปตะวันออก สำหรับประเทศไทย ได้มีการส่งเสริมให้มีการปลูกทานตะวันเป็นอาชีพเสริมมากขึ้น เพื่อเพิ่มผลผลิตให้เพียงพอกับอุตสาหกรรมพืชน้ำมัน และความต้องการของผู้บริโภค ทั้งนี้ เพราะทานตะวันเป็นพืชที่มีอายุสั้นระบบรากลึก มีความทนทานต่อสภาพแห้งแล้งได้ดีกว่าพืชอื่น ๆ แหล่งปลูกที่สำคัญได้แก่ จังหวัดลพบุรี เพชรบูรณ์ และสระบุรี

สภาพแวดล้อม

 

ทานตะวันเป็นพืชที่มีการปรับตัวเข้ากับสภาพของเขตร้อนได้ดีพอสมควรไม่ไวต่อแสง สามารถออกดอกให้ผลได้ทุกสภาพช่วงแสง ปลูกได้ในบริเวณที่มีการปลูกข้าวโพด ข้าวฟ่าง เมื่อทานตะวันตั้งตัวได้แล้ว จะมีความทนทานต่อสภาพแห้งและร้อนได้พอสมควร และจะเริ่มเติบโตทันทีเมื่อมีฝน นอกจากนี้ทานตะวันยังมีความทนทานต่อสภาพอากาศเย็นจัดได้ดีกว่าข้าวโพด ข้าวฟ่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระยะต้นกล้า ทานตะวันขึ้นได้กับดินหลายประเภท แต่จะขึ้นได้ดีในสภาพดินที่มีผิวดินหนาและอุ้มความชื้นไว้ได้ดี สามารถทนต่อสภาพความอุดมสมบูรณ์ต่ำ ตลอดจนสภาพดินเกลือและเป็นด่างจัดได้พอสมควร ซึ่งดินเหล่านี้จะมีอยู่เป็นจำนวนมากในเขตแห้งแล้งทั่ว ๆ ไป

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

 

ทานตะวันเป็นพืชในตระกูลเดียวกันกับเบญจมาส คำฝอย ดาวเรือง เป็นพืชล้มลุกที่มีปลูกกันมากในเขตอบอุ่น การที่มีชื่อเรียกว่า "ทานตะวัน" เพราะลักษณะการหันของช่อดอกและใบจะหันไปทางทิศของดวงอาทิตย์ คือ หันไปทางทิศตะวันออกในตอนเช้า และทิศตะวันตกในตอนเย็น แต่การหันจะลดน้อยลงเรื่อย ๆ หลังจากมีการผสมเกสรแล้วไปจนกระทั่งถึงช่วงดอกแก่ ซึ่งช่อดอกจะหันไปทิศตะวันออกเสมอ

ราก เป็นระบบรากแก้วหยั่งลึกลงไปประมาณ 150-270 เซนติเมตร มีรากแขนงค่อนข้างแข็งแรงแผ่ขยายไปด้านข้างได้ยาวถึง 60-150 เซนติเมตร เพื่อช่วยค้ำจุนลำต้นได้ดี และสามารถใช้ความชื้นระดับผิวดินได้อย่างมีประสิทธิภาพ

          ลำต้น ส่วนใหญ่ไม่มีแขนง แต่บางพันธุ์มีการแตกแขนง ขนาดของลำต้น ความสูง การแตกแขนงขึ้นอยู่กับพันธุ์และสภาพแวดล้อม ความสูงของต้นอยู่ระหว่าง 1-10 เซนติเมตร การโค้งของลำต้นตรงส่วนที่เป็นก้านช่อดอกมีหลายแบบ แบบที่ต้องการคือแบบที่ ส่วนโค้งตรงก้านช่อดอกคิดเป็นร้อยละ 15 ของความสูงของลำต้น พันธุ์ที่มีการแตกแขนง อาจมีความยาวของแขนงสูงกว่าลำต้นหลักแขนงอาจแตกมาจากส่วนโคนหรือยอด หรือตลอดลำต้นก็ได้

ใบ เป็นใบเดี่ยวเกิดตรงกันข้าม หลังจากที่มีใบเกิดแบบตรงกันข้ามอยู่ 5 คู่แล้ว ใบที่เกิดหลังจากนั้นจะมีลักษณะวน จำนวนใบบนต้นอาจมีตั้งแต่ 8-70 ใบ รูปร่างของใบแตกต่างกันตามพันธุ์ สีของใบอาจมีตั้งแต่เขียวอ่อน เขียว และเขียวเข้ม ใบที่เกิดออกมาจากตายอดใหม่ ๆ ก้านใบจะอยู่ในแนวตั้งจนกระทั้งใบมีความยาว 1 เซนติเมตร ปลายยอดจะค่อย ๆ โค้งลงจนเมื่อใบแก่แล้วก็จะโค้งลงมาเป็นรูปตัวยู (U) การสร้างใบจะมีมากจนกระทั่งดอกบาน หลังจากนั้นการสร้างใบจะลดน้อยลง

ดอก เป็นรูปจาน เกิดอยู่บนตายอดของลำต้นหลัก หรือแขนงลำต้นมีเส้นผ่าศูนย์กลางของดอกอยู่ระหว่าง 6-37 เซนติเมตร ซึ่งขึ้นกับพันธุ์และสภาพแวดล้อม ดอกมีลักษณะเป็นแบบช่อดอก ประกอบด้วยดอกย่อยเป็นจำนวนมาก ซึ่งแบ่งเป็น 2 ชนิด คือ

1.ดอกย่อยที่อยู่รอบนอกจานดอก เป็นดอกที่ไม่มีเพศ (เป็นหมัน) มีกลับดอกสีเหลืองส้ม

2.ดอกย่อยที่อยู่ในจานดอก เป็นดอกสมบูรณ์เพศ มีเกสรตัวผู้ที่พร้อมจะผสมได้ก่อนเกสรตัวเมีย และสายพันธุ์ผสมเปิดส่วนใหญ่ผสมตัวเองน้อยมาก

ในแต่ละจานดอกจะมีดอกย่อยอยู่ประมาณ 700-3,000 ดอก ในพันธุ์ที่ให้น้ำมัน ส่วนพันธุ์อื่น ๆ อาจมีดอกย่อยถึง 8,000 ดอก การบานหรือการแก่ของดอกจะเริ่มจากวงรอบนอกเข้าไปสู่ศูนย์กลางของดอก ดอกบนกิ่งแขนงจะมีขนาดเล็ก แต่ถ้าเป็นแขนงที่แตกออกมาตอนแรก ๆ ดอกจะมีขนาดใหญ่เกือบเท่ากับดอกบนลำต้นหลัก ส่วนใหญ่พันธุ์ที่ปลูกเป็นการค้า มักจะเลือกต้นชนิดที่มีดอกเดี่ยว เพื่อความสมบูรณ์ของดอก และให้เมล็ดที่มีคุณภาพดี

เมล็ด (หรือผล) ประกอบด้วยเนื้อใน ซึ่งถูกห่อหุ้มไว้ด้วยเปลือกที่แข็งแรง เมื่อผลสุกส่วนของดอกที่อยู่เหนือรังไข่จะร่วง ผลที่มีขนาดใหญ่จะอยู่วงรอบนอก ส่วนผลที่อยู่ข้างในใกล้ ๆ กึ่งกลางจะมีผลเล็กลง

          เมล็ดทานตะวัน แบ่งเป็น 3 ประเภทใหญ่ คือ

1.เมล็ดใช้สกัดน้ำมัน จะมีเมล็ดเล็ก สีดำ เปลือกเมล็ดบางให้น้ำมันมาก

2.เมล็ดใช้รับประทาน จะมีเมล็ดโตกว่าพวกแรก เปลือกหนาไม่ติดกับเนื้อในเมล็ด เพื่อสะดวกในการกะเทาะแล้วใช้เนื้อในรับประทาน โดยอบหรือปรุงแต่งขนมหวาน หรือทำเป็นแป้งประกอบอาหาร หรือใช้เมล็ดคั่วกับเกลือแล้วแทะเปลือกออกรับประทานเนื้อข้างในเป็นอาหารว่างเช่นเดียวกับเมล็ดแตงโม

3.เมล็ดใช้เลี้ยงนก ใช้เมล็ดเป็นอาหารเลี้ยงนก หรือไก่โดยตรง

สภาพแวดล้อมที่เหมาะสม

 

ทานตะวันชอบอากาศอบอุ่นในเวลากลางวันและอากาศเย็นในเวลากลางคืน อุณหภูมิที่เหมาะสมคือ อยู่ระหว่าง 18-25 องศาเซลเซียส สภาพความเป็นกรด-ด่าง ของดินประมาณ 5.7-8 สามารถขึ้นได้ในดินแทบทุกประเภท แต่ที่ขึ้นได้ดีคือดินที่มีหน้าดินลึกที่อุ้มน้ำได้ดี แต่ไม่ชอบน้ำขังและไม่ชอบดินที่มีลักษณะเป็นกรด หากดินที่ปลูกมีความชื้นต่ำ ผลผลิตของเมล็ดจะต่ำลงมาก

พันธุ์

ทานตะวันมี 3 สายพันธุ์ พันธุ์ผสมเปิด ซึ่งเป็นพันธุ์เดิมที่ใช้ปลูก ซึ่งในดอกจะมีจำนวนเรณูที่ติดอยู่ที่ก้านชูเกสรตัวเมียน้อย ทำให้การติดเมล็ดด้วยการผสมตัวเองต่ำ ต้องอาศัยแมลงช่วยในการผสมเกสร จึงจะทำให้ติดเมล็ด การปลูกจึงไม่ประสบผลสำเร็จเพราะได้เมล็ดลีบ ผลผลิตต่ำเนื่องจากไม่ค่อยมีแมลงช่วยผสมเกสร แต่ปัจจุบันมีพันธุ์ลูกผสมสามารถติดเมล็ดได้ดี โดยไม่ต้องอาศัยแมลงช่วยผสมเกสร เพราะในดอกมีละอองเรณูที่ติดอยู่ก้านชูเกสรตัวเมียมากกว่าพันธุ์ผสมเปิด 3-4 เท่า จึงทำให้การติดเมล็ดด้วยการผสมตัวเองดีกว่าสายพันธุ์ผสมเปิด

ปัจจุบันยังไม่มีการผลิตเมล็ดทานตะวันลูกผสมในประเทศไทย ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ ได้แก่ พันธุ์ไฮซัน 33 และพันธุ์เอส 101 ซึ่งมีลักษณะของจานดอกค่อนข้างใหญ่ กลีบดอกสีเหลืองสดใส และให้ปริมาณน้ำมันสูง

          สายพันธุ์สังเคราะห์ซึ่งยังไม่มีการส่งเสริมในปัจจุบัน แต่ในขณะนี้อยู่ระหว่งการวิจัยของหน่วยงานวิจัย

สำหรับทานตะวันที่ส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกในขณะนี้คือสายพันธุ์ลูกผสม

          ลักษณะดีเด่นของพันธุ์ลูกผสม ได้แก่

          1.ผลผลิต เฉลี่ย 254.82 กิโลกรัมต่อไร่

          2.การติดเมล็ด เฉลี่ยร้อยละ 76.3

          3.เส้นผ่าศูนย์กลาง เฉลี่ย 15.4 เซนติเมตรของจานดอก

          4.ความสูงของต้น เฉลี่ย 168.9 เซนติเมตร

          5.อายุเก็บเกี่ยว เฉลี่ย 90-100 วัน

          6.ปริมาณน้ำมัน เฉลี่ยร้อยละ 48

(ที่มา : 1-4 การเปรียบเทียบพันธุ์ทานตะวันในท้องถิ่น จำนวน 5 พันธุ์ ฤดูแล้ง ปี 2529 ศูนย์วิจัยพืชไร่เชียงใหม่, 5-6 บริษัทแปซิฟิค เมล็ดพันธุ์ จำกัด)

ลักษณะที่ดีของพันธุ์ลูกผสม คือ สามารถผสมเกสรภายในดอกเดียวกันได้สูง การติดเมล็ดค่อนข้างดี การหาผึ้งหรือแมลงช่วยผสมเกสรจึงไม่จำเป็นมากนัก แต่ถ้ามีแมลงช่วยผสมก็มีลักษณะประจำพันธุ์ที่มีผลต่อการดึงดูดแมลง เช่น กลีบดอกสีสดใส กลิ่นของเรณู ปริมาณและคุณภาพของน้ำหวานก็ดีกว่าพันธุ์ผสมเปิด ทนทานต่อการโค่นล้มและต้านทานต่อโรคราสนิม

 

พันธุ์ของทานตะวัน (เพิ่มเติม-ชยพร)

     1.พันธุ์ไฮซัน33 หรือแปซิฟิค33 - เป็นพันธุ์ลูกผสมที่นำเข้าจากต่างประเทศ ใช้ปลูกกันในประเทศไทยอย่างแพร่หลาย เป็นพันธุ์ที่มีความสามารถในการผสมตัวเอง มีเปอร์เซนต์เมล็ดที่ผสมติดสูงกว่า70 % ต้านทานต่อโรคราสนิม มีอายุสุกแก่ 95 วัน  ผลผลิตเฉลี่ย 270 กิโลกรัมต่อไร่ เกษตรกรไม่สามารถเก็บเมล็ดไว้เป็นพันธุ์ปลูกในฤดูต่อไปได้

     2. พันธุ์ SF-CM-Synthetic เบอร์ 1 - เป็นพันธุ์ของกรมวิชาการเกษตร สามารถปรับตัวได้ดีในสภาพแวดล้อมที่กว้าง เกษตรกรเก็บเมล็ดเป็นพันธุ์ปลูกในปีต่อไปได้ อายุสุกแก่ 95-110 วัน ผลผลิตเฉลี่ย 240 กิโลกรัมต่อไร่ น้ำหนัก 100 เมล็ด 49 กรัม มีขนาดเมล็ดใกล้เคียงกับพันธุ์ไฮซัน 33

 

ข้อมูลทางด้านเมล็ดพันธุ์ (เพิ่มเติม-ชยพร)

_น้ำหนักต่อ100เมล็ด     4.20   กรัม

     พันธุ์ Sinshwekya-2_วิเคราะห์โดยกองเกษตรเคมี

_เปอร์เซนต์ความชื้นเมล็ด      6.65

_เปอร์เซนต์น้ำมัน           43.09

_เปอร์เซนต์โปรตีน          20.22

_ในน้ำมันนั้นประกอบด้วย

                   _เปอร์เซนต์Palmitic acid   5.18

                   _เปอร์เซนต์Stearic acid    2.47

                   _เปอร์เซนต์Oleic acid     58.88

                   _เปอร์เซนต์Linoleic acid  33.58 (ช่วยลดโคเรสเตอรอล)   

ฤดูปลูก

          ทานตะวันเป็นพืชที่สามารถเจริญเติบโตได้ในทุกฤดูกาล เพราะเป็นพืชที่ไม่ไวต่อช่วงแสง อย่างไรก็ตามการปลูกในบางท้องที่อาจไม่มีความเหมาะสม เช่น ในที่ลุ่มภาคกลาง ในฤดูฝนจะมีน้ำขังแฉะเกินไป หรือที่ดินในฤดูแล้งที่ไม่มีน้ำชลประทาน ดังนั้นฤดูที่เหมาะสมที่สุดมี 2 ฤดูคือ

          1.ปลายฤดูฝน ในสภาพพื้นที่ที่เป็นดินร่วนเหนียว ควรปลูกทานตะวันในปลายฤดูฝน คือ ตั้งแต่เดือนกันยายน-พฤศจิกายน แต่ถ้าสภาพพื้นที่ที่ปลูกเป็นดินร่วนทราย ควรปลูกในเดือนสิงหาคม-ตุลาคม ซึ่งเป็นช่วงกลางฤดูฝน

          2.ฤดูแล้ง ถ้าในแหล่งปลูกนั้นสามารถใช้น้ำจากชลประทานได้ก็สามารถปลูกเป็นพืชเสริมได้ โดยปลูกในช่วงเดือนพฤศจิกายน - กุมภาพันธ์ ซึ่งเป็นช่วงหลังจากเก็บเกี่ยวข้าวแล้ว

          เนื่องจากพันธุ์ลูกผสมนี้ ดอกค่อนข้างใหญ่ เวลาเมล็ดแก่จานดอกจะห้อยลงมาและ ด้านหลังของจานดอกจะมีลักษณะเป็นแอ่งเหมือนกระทะก้นแบน เมื่อฝนตกลงมาน้ำฝนจะขังในแอ่งดังกล่าว จะทำให้เกิดโรคเน่าได้มากและทำให้เมล็ดเน่าเสียหาย ดังนั้นจึงควรปลูกในปลายฤดูฝน หรือในฤดูแล้ง แลถ้ามีฝนตกน้ำขังในแอ่งของจานดอก ให้เขย่าต้นเพื่อทำให้น้ำไหลออกให้หมด

การเตรียมดิน

          การเตรียมดินก่อนปลูก ควรไถดินให้ลึกในระดับ 30 เซนติเมตรหรือลึกกว่านั้น เพราะว่าเมื่อฝนตกดินจะสามารถรับน้ำให้ซึมซับอยู่ในดินได้มากขึ้น การไถดินลึกจะช่วยทำลายการอัดแน่นของดินในชั้นไถพรวน ทำให้น้ำซึมลงในดินชั้นล่างได้มากขึ้น ควรกำจัดวัชพืชในแปลงให้สะอาด และไถย่อยดินครั้งสุดท้ายให้ร่วนซุย หากมีการใส่ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักลงไปพร้อมกับการย่อยดินครั้งสุดท้ายจะช่วยเสริมธาตุอาหารต่าง ๆ เพื่อให้พืชนำไปใช้ประโยชน์

การปลูก

          หลังจากเตรียมดินเสร็จแล้ว ควรทำร่องสำหรับหยอดเมล็ดโดยให้แต่ละร่องห่างกัน 70-75 เซนติเมตร และให้หลุมปลูกในร่องห่างกัน 25-30 เซนติเมตร หยอดหลุมละ 2 เมล็ด แล้วกลบดินโดยให้เมล็ดอยู่ลึก 5-8 เซนติเมตร เมื่อพืชงอกได้ 10 วัน หรือมีใบจริง 2-4 คู่ให้ถอนแยกเหลือไว้เฉพาะต้นที่แข็งแรงเพียงหลุมละ 1 ต้น และถ้าหากดินมีความชื้นต่ำควรใช้ระยะปลูกกว้างขึ้น

          การยกร่องนี้ เพื่อเป็นการสะดวกในการให้น้ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปลูกในฤดูแล้งที่ต้องการน้ำมาก ส่วนการปลูกในฤดูฝน ถ้าเป็นดินที่มีการระบายน้ำดีก็ไม่จำเป็นต้องยกร่องและใช้ระยะปลูกเช่นเดียวกับยกร่อง

          การปลูกวิธีนี้ ต้องใช้เมล็ดพันธุ์ลูกผสมจำนวน 0.7 กิโลกรัมต่อไร่ และปลูกตามระยะที่แนะนำนี้จะได้จำนวนต้น 6,400-8,500 ต้นต่อไร่

การใส่ปุ๋ย

          ทานตะวันเป็นพืชที่ให้โปรตีน และแร่ธาตุสูง จึงควรใส่ปุ๋ยในปริมาณที่พืชต้องการตามสภาพดินที่ปลูกด้วยสำหรับปุ๋ยเคมีที่เหมาะสมที่แนะนำคือสูตร 15-15-15 หรือ 16-16-8 อัตรา 30-50 กิโลกรัมต่อไร่ โดยใส่รองพื้นพร้อมปลูกและใช้ปุ๋ยยูเรีย 46-0-0 อัตรา 20-30 กิโลกรัมต่อไร่ เมื่อทานตะวันอายุได้ 30 วัน หรือมีใบจริง 6-7 คู่ ซึ่งเป็นระยะกำลังจะออกดอก หากมีการตรวจวิเคราะห์ดินก่อนปลูก จะช่วยให้การใช้ปุ๋ยมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นและในกรณีที่เป็นดินทรายและขาดธาตุโบรอน ควรใส่ผงโบแรกซ์ประมาณ 2 กิโลกรัมต่อไร่ จะทำให้เพิ่มผลผลิตได้มากและทำให้คุณภาพของเมล็ดทานตะวันดีขึ้น

การให้น้ำ

          น้ำเป็นปัจจัยหนึ่งที่มีผลกระทบต่อการผลิตทานตะวัน หากความชื้นในดินมีน้อยก็จะทำให้ผลผลิตลดลงด้วย การให้น้ำที่เหมาะสมแก่ทานตะวันจึงจะทำให้ได้รับผลผลิตดีด้วย ดังนั้นการให้น้ำควรปฏิบัติดังนี้

          ครั้งที่ 1 หลังจากปลูกเสร็จแล้วรีบให้น้ำทันที หรือควรทำการปลูกทันที หลังฝนตกเพื่อใช้ความชื้นในดินให้เต็มที่โดยไม่ต้องรดน้ำ

          ครั้งที่ 2 ระยะมีใบจริง 2 คู่ หรือประมาณ 10-15 วัน หลังงอก

          ครั้งที่ 3 ระยะเริ่มมีตาดอก หรือประมาณ 30-35 วัน หลังงอก

          ครั้งที่ 4 ระยะดอกเริ่มบาน หรือประมาณ 50-55 วัน หลังงอก

          ครั้งที่ 5 ระยะกำลังติดเมล็ด หรือประมาณ 60-70 วัน หลังงอก การให้น้ำควรให้น้ำอย่างเพียงพอให้ดินชุ่ม แต่ไม่ต้องถึงกับแฉะและน้ำขังการให้น้ำควรคำนึงถึงความชุ่มชื้นในดินด้วย ไม่ควรปล่อยให้ดินแห้งมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงแรกของการเจริญเติบโตจนถึงระยะติดเมล็ด

การกำจัดวัชพืช

          ควรกำจัดวัชพืชอย่างน้อย 2 ครั้ง ครั้งแรกเมื่อทานตะวันมีใบจริง 2-4 คู่ ซึ่งการทำรุ่นครั้งแรกนี้ ทำพร้อมกับการถอนแยกต้นพืชให้เหลือ 1 ต้นต่อหลุม เป็นการสะดวกสำหรับเกษตรกรในการปฏิบัติ และครั้งที่สองทำพร้อมกับการใส่ปุ๋ยครั้งที่สอง เมื่อทานตะวันมีใบจริง 6-7 คู่ ทำรุ่นพร้อมกับใส่ปุ๋ยและพูนโคนต้นไปด้วย

          ในแปลงที่มีปัญหาวัชพืชขึ้นรบกวน ควรทำการกำจัดวัชพืชเพื่อป้องกันการแย่งอาหารและความชื้นในดิน ตั้งแต่ต้นยังเล็กหรือใช้สารเคมีคุมกำเนิดหรือใช้สารเคมีคุมกำเนิดพวกอะลาคลอร์ หรือเมโธลาคลอร์ฉีดพ่นหลังหยอดเมล็ดก่อนที่จะงอกในอัตรา 300-400 ซีซี ผสมน้ำ 4 ปิ๊บ สำหรับฉีดพ่นในเนื้อที่ปลูก 1 ไร่ โดยฉีดให้สม่ำเสมอกันสามารถคุมการเกิดวัชพืชได้นานถึง 2 เดือน และควรใช้แรงงานคน สัตว์ หรือเครื่องทุ่นแรง ทำรุ่นได้ตามความจำเป็น

ข้อควรระวัง

         

ห้ามใช้สารเคมีกำจัดวัชพืชอะทราซีนในทานตะวันโดยเด็ดขาด

การเก็บเกี่ยว

          ทานตะวันจะมีอายุการเก็บเกี่ยวแตกต่างกันไป ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับพันธุ์ที่ปลูก (พันธุ์ลูกผสม อายุเก็บเกี่ยว 90-100 วัน) วิธีการเก็บเกี่ยวนั้นให้สังเกตจากด้านหลังของจานดอกจะเปลี่ยนเป็น สีเหลืองซึ่งเป็นช่วงการสร้างน้ำมันในเมล็ดจะเริ่มลดลง และจะหยุดสร้างน้ำมันเมื่อจานดอกเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลก็เริ่มเก็บเกี่ยวได้ หลังจากนั้นให้นำไปผึ่งแดดจัด ๆ 1-2 แดด โดยแขวนให้หัวห้อยลงและหมั่นกลับช่อดอก เพื่อให้ดอกแห้งอย่างสม่ำเสมอ ถ้าเก็บเกี่ยวในช่วงที่ยังมีฝนชุกให้นำมาผึ่งในร่มหลาย ๆ วันจนแห้งสนิท แล้วจึงรวบรวมไปนวด อาจใช้แรงคนหรือสัตว์ หรือใช้เครื่องนวดเมล็ดถั่วเหลืองหรือถั่วลิสงก็ได้ เสร็จแล้วนำไปทำความสะอาดแล้วเก็บไว้ในยุ้งฉางที่ป้องกันแดด-ฝน และแมลงศัตรูได้ เพื่อรอจำหน่าย (ความชื้นของเมล็ดที่จะเก็บรักษาไว้ ควรไม่เกิน 10%)

การให้ผลผลิต

          การปลูกทานตะวันในพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ มีการบำรุงรักษาดีจะให้ผลผลิตไม่ต่ำกว่า 300 กิโลกรัมต่อไร่ แต่โดยเฉลี่ยประมาณไม่ต่ำกว่า 200 กิโลกรัมต่อไร่

โรคของทานตะวัน

โรคใบและลำต้นไหม้อัลเทอร์นาเรีย

          ลักษณะอาการ

          โรคนี้มีชื่อเรียกแตกต่างกันเช่นอาจเรียกว่า โรคใบและลำต้นจุด หรืออาจเรียก โรคใบจุด หรือโรคลำต้นไหม้ โดยโรคนี้สามารถเข้าทำลายทานตะวันได้ทุกระยะตั้งแต่เป็นต้นกล้าถึงระยะเก็บเกี่ยว โดยจะสามารถสังเกตอาการไดัดังนี้

          -ใบ จะพบแผลสีน้ำตาลเข้ม ถ้าพืชมีอายุน้อยจะพบบริเวณสีเหลืองล้อมรอบแผล มักพบอาการที่บริเวณใบแก่ (ใบล่าง) มากกว่าใบอ่อน (ใบส่วนบน) ถ้าสภาพอากาศเหมาะสม เช่น ฝนตก อากาศชื้น จะทำให้แผลขยายใหญ่ไหม้ลุกลามติดกัน ทำให้ใบแห้งตาย

          -ลำต้น แผลที่ลำต้นมักจะบุ๋มลึกลงไปและทำให้ลำต้นเกิดรอยแตกแยกตรงกลางแผนเหล่านั้น

          -ก้านใบ จะทำให้ก้านใบหักพับเสียหาย

          -ระยะออกดอก ทำให้กลีบดอกเกิดจุดแผลกลมเล็ก ฉ่ำน้ำ สีน้ำตาลเข้ม ซึ่งต่อมาแผลจะขยายยาวเป็นรูปกระสวย ทำให้กลีบดอกเน่าและร่วงก่อนกำหนด

          -ฐานรองดอก จะเกิดเป็นจุดแผลมีลักษณะทั้งค่อนข้างกลมและรีแผลเหล่านี้จะบุ๋มลึกลงไปในเซลล์พืช ทำให้เกิดอาการเน่าสีน้ำตาลเข้มไปทั้งจานดอก รวมทั้งเมล็ดจะเกิดเป็นโรค เมล็ดเน่าหรือจานดอกเน่า

          การป้องกันกำจัด

          1.ควรจัดเลือกเฉพาะเมล็ดพันธุ์ที่ดีที่เก็บเกี่ยวได้จากต้นแม่พันธุ์ที่ไม่เป็นโรค เพื่อนำไปใช้ทำเป็นเมล็ดพันธุ์ปลูก

          2.ควรคลุกเมล็ดพันธุ์ด้วยสารเคมีก่อนปลูกทุกครั้ง เช่น แคปแทน, อิโพรไดออน, อิมาซาลิล อัตราสารออกฤทธิ์ประมาณ 0.2% ต่อเมล็ด 1 กิโลกรัม

          3.ควรหลีกเลี่ยงการให้น้ำแบบพ่นฝอยกับพืช และอย่าปลูกให้ระยะแน่นเกินไป

          4.ถ้าหากสภาพแวดล้อมเหมาะสมต่อการเกิดโรค ควรฉีดพ่นสารเคมีป้องกันกำจัดเชื้อราทุก 7-20 วันควบคู่ไปด้วย สารเคมีที่ใช้ได้ผลดีหรืออิโพรไดออน, อิมาซาลิล และแมนโคเซบ อย่างใดอย่างหนึ่ง โดยในการใช้ให้ใช้สารเคมีชนิดใดชนิดหนึ่งใน 2 ชนิดแรกผสมกับแมนโคเซบ หรือแยกฉีดพ่นสลับกันไปแต่ละชนิดจะให้ผลดีในการลดความรุนแรงของโรคได้

โรคโคนเน่าหรือลำต้นเน่า

          ลักษณะอาการ

          พบว่ามีการเข้าทำลายทานตะวันได้ทุกระยะ และจะพบมากกับต้นที่โตเต็มที่มากกว่าต้นอ่อน หากดินมีความชื้นสูงโรคจะทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น ทำให้ระบบรากถูกทำลายจนกระทั่งเหี่ยวแห้งตาย เชื้อโรคนี้มีการแพร่ระบาดทางดินเป็นหลัก ดังนั้นจึงพบการเข้าทำลายตามบริเวณรากและโคนต้น โดยโรคทำให้เนื้อเยื่อบริเวณนั้นเน่าแห้งเป็นสีดำและเนื้อเยื่อยุบตัวลง ใบเหลืองจะแสดงอาการเหี่ยวก่อนที่จะตายไปทั้งต้น หากสังเกตบริเวณโคนต้น จะมีเส้นใยสีขาวหบายเจริญแทรกอยู่ระหว่างอณูของดินแล้วลุกลาม ไปจับตามรากเมื่อถอนต้นที่เป็นโรคขึ้นมารากจะหลุดแยกออกจากโคนต้น และเห็นรอยเน่าลงไปถึงรากได้ชัดเจน

          การป้องกันกำจัด

          1.เมื่อทำการเก็บเกี่ยวแล้วควรไถกลบหน้าดินให้ลึก

          2.ควรปลูกพืชหมุนเวียนที่ทนทานต่อเชื้อราชนิดนี้ เช่น ข้าวโพด ข้าวฟ่าง

          3.ปลูกทานตะวันให้มีระยะเหมาะสมเพื่อไม่ให้เกิดร่มเงาครึ้มตามบริเวณโคนต้น และจะช่วยให้มีลมพัดผ่านระหว่างต้นพืชทำให้ผิวดินแห้งยากต่อการติดเชื้อ นอกจากนี้โอกาสที่จะแพร่ไปสู่ต้นอื่นก็ยากขึ้นด้วย

          4.ใช้สารเคมีคลุกเมล็ดก่อนปลูก เพื่อป้องกันการเข้าทำลายระยะต้นอ่อน

แมลงศัตรูทานตะวัน

หนอนเจาะสมอฝ้าย

          ลักษณะอาการ

          หนอนจะกัดกินบริเวณจานดอกมากกว่าส่วนของใบ โดยจะกัดกินกลีบดอกกลีบเลี้ยงทำให้ไม่มีกลีบดอกสีเหลืองในการช่วยดึงดูดแมลง เช่น ผึ้งมาผสมเกสรจึงทำให้การติดเมล็ดลดลงและมีเมล็ดลีบมากขึ้น นอกจากนั้นหนอนยังกัดกินส่วนของเมล็ดด้วย ทำให้ผลผลิตลดลงอย่างมาก

          การป้องกันจำกัด

          1.ควรหลีกเลี่ยงการปลูกทานตะวันตามหลังพืชที่เป็นอาหารของหนอนเจาะสมอฝ้ายเช่น ฝ้ายหรือข้าวโพด หากจำเป็นต้องปลูกควรทำการไถกลบเศษซากพืชให้ลึกก่อนปลูก

          2.ควรหมั่นตรวจดูแลไร่ทานตะวันอยู่เสมอ หากพบว่ามีแมลงศัตรูธรรมชาติไม่ควรฉีดพ่นสารเคมี

          3.เมื่อมีความจำเป็น ควรฉีดพ่นด้วยสารเคมีดังต่อไปนี้ ซิฮาโลตรินแอล, ไตรอะโซฟอส, โคลปิไรฟอส อย่างใดอย่างหนึ่ง

หนอนกระทู้ผัก

          ลักษณะอาการ

          หนอนที่ฟักออกจากไข่ใหม่ ๆ จะอยู่รวมกันเป็นกลุ่มและแทะกินเฉพาะผิวใบพืช เหลือไว้แต่เส้นใบเมื่อผิวใบแห้งแล้วจะเห็นเป็นสีขาว ๆ สังเกตได้ง่ายมาก ซึ่งเป็นลักษณะการเริ่มทำลายของหนอนกระทู้ผัก และเมื่อหนอนโตขึ้นจะกัดกินใบพืชได้ปริมาณมากและรวดเร็ว ทำให้ใบขาดเป็นรู ๆ ทั่วทั้งต้น นอกจากนั้นยังพบว่าหนอนชอบทำลายส่วนของกลีบดอกและใบเลี้ยง ทำให้ไม่เป็นที่ดึงดูดของแมลงช่วยผสมเกสร เป็นผลทำให้เมล็ดลงลงและเมื่อ ทานตะวันติดเมล็ดแล้วหนอนวัยโตจะเจาะกินเมล็ดในจานดอกอีกด้วยหนอนกระทู้ผัก นี้มักจะหลบลงดินหาที่ซ่อนตัวในเวลากลางวัน

          การป้องกันกำจัด

          1.ควรหมั่นตรวจดูแลไร่อยู่เสมอ ถ้าพบลักษณะการทำลายของหนอนที่ฟักออกจากไข่ใหม่ ๆ ซึ่งยังรวมกันเป็นกลุ่มก็ให้เก็บทำลายเสีย

          2.ควรทำความสะอาดแปลงและพรวนดิน เพื่อทำลายวัชพืชและดักแด้ของหนอนชนิดนี้ซึ่งอาศัยอยู่ในดิน

          3.เมื่อพบว่าใบถูกทำลายประมาณ 50% ในระยะออกดอกและติดเมล็ด ควรพ่นด้วยสารกำจัดแมลงดังต่อไปนี้ ไตรโซฟอส, ซิฮาโลตริน แอลเมธามิโดฟอส หรือ เอนโตซัลแฟน อย่างใดอย่างหนึ่ง เนื่องจากสารเคมีดังกล่าวข้างต้นมีพิษร้ายแรง จึงควรใช้ด้วยความระมัดระวัง

หนอนมวนใบส้ม

          ลักษณะอาการ

          ถ้ามีระบาดในระยะต้นกล้าจะทำให้ต้นกล้าตายได้ แต่ถ้าระบาดในระยะที่พืชโตแล้วจนถึงระยะออกดอก จะทำให้ชะงักการเจริญเติบโต ผลผลิตลดลง หนอนเมื่อฟักออกจากไข่ใหม่ ๆ จะอยู่รวมกันเป็นกลุ่มโดยชักใยบาง ๆ คลุมตัวไว้แล้วกัดกินผิวใบ เมื่อหนอนโตขึ้นจึงกระจายตัวกันออกไปเพื่อหาม้วนใบพืชหรือชักใยดึงเอาหลาย ๆ ใบมาห่อรวมกัน แล้วอาศัยกินอยู่ในใบที่ม้วนนั้นจนเหลือแต่เส้นใบ เสร็จแล้วหนอนก็จะเคลื่อนย้ายไปม้วนใบอื่นต่อไปนอกจากนั้นยังทำลายตากิ่งหรือตาดอกอีกด้วย

          การป้องกันกำจัด

          1.เมื่อพบว่ามีหนอนอาศัยกัดกินใบที่ม้วนนั้น ปริมาณไม่มากนักก็ให้เก็บทำลายเสีย

          2.เมื่อตรวจพบว่ามีการทำลายมากจำเป็นต้องใช้สารเคมีก็ให้ ใช้สารเคมีเช่นเดียวกับหนอนเจาะสมอฝ้าย

หนอนเจาะลำต้นข้าวโพด

          ลักษณะอาการ

          โดยหนอนเจาะลำต้นข้าวโพดจะเจาะเข้าทำลายลำต้นทานตะวันตั้งแต่ยังไม่ออกดอก หนอนชนิดนี้จะเจาะทำลายตั้งแต่ 1-5 รูต่อต้น ทำให้จานดอกเล็กลง ในระยะออกดอกติดเมล็ดจะพบเข้าทำลายบริเวณใกล้ ๆ กับจานดอกทำให้ก้านดอกหัก หรือเจาะทำลายส่วนหลังของจานดอก โดยตรงทำให้ดอกไม่ติดเมล็ดและจานดอกเน่าเสียหายมาก ซึ่งจะทำให้ผลผลิตลดลง

          การป้องกันกำจัด

          1.การปลูกทานตะวันตามหลังข้าวโพดควรเก็บทำลายเศษซากต้นข้าวโพดหลังการเก็บเกี่ยว เพื่อไม่ให้เป็นแหล่งอาศัยและระบาดของหนอนเจาะลำต้นข้าวโพด

          2.ใช้ศัตรูธรรมชาติควบคุมประชากรของหนอนเจาะลำต้นข้าวโพด หรือถ้าสำรวจพบกลุ่มไข่ของหนอนผีเส้นชนิดนี้ ซึ่งมีลักษณะเป็นกลุ่ม ๆ ละ ประมาณ 20-30 ฟอง วางซ้อนเรียงกันคล้ายเกล็ดปลา ผิวเรียบเป็นมัน จำนวน 15 กลุ่มต่อ 100 ต้นให้ฉีดพ่นด้วยสารกำจัดแมลง ซัลโปรฟอส, เดลตาเมทริน, ไตรฟลูมูรอน ฯลฯ

สัตว์ศัตรูทานตะวัน

          นก หนู และอื่น ๆ นับว่าเป็นศัตรูสำคัญอีกประการหนึ่งที่จะทำความเสียหายให้แก่ทานตะวัน โดยเฉพาะในแหล่งปลูกใหญ่ ๆ ฉะนั้นเกษตรจะต้องหมั่นออกสำรวจตรวจแปลง เสมอเมื่อพบว่ามีการระบาดก็ให้รีบทำการป้องกันกำจัด โดยวิธีกลคือการวางกับดัก การล้อมตี เป็นต้น

ประโยชน์ของทานตะวัน

          แต่เดิมทานตะวันเป็นเพียงไม้ดอกไม้ประดับเท่านั้น ต่อมาได้นำเมล็ดมาเป็นของขบเคี้ยว และสกัดเป็นน้ำมัน จึงทำให้กลายเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญพืชหนึ่ง การใช้ประโยชน์จากทานตะวันมีหลายลักษณะดังนี้

          1.เมล็ด ใช้บริโภคโดยตรง เพื่อเป็นแหล่งโปรตีนแทนเนื้อสัตว์ได้ในเมล็ดมีธาตุเหล็กสูง ไม่แพ้ธาตุเหล็กจากไข่แดงและตับสัตว์เมื่อบดทำแป้งจะได้แป้งสีขาว มีไขมันสูง มีโปรตีนมากกว่าร้อยละ 50 ของปริมาณแป้ง

          2.เปลือกของลำต้น มีลักษณะเหมือนเยื่อไม้ นำมาทำกระดาษสีขาวได้คุณภาพดี ลำต้นใช้ทำเชื้อเพลิงได้ เมื่อไถกลบจะเป็นปุ๋ยเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ให้แก่ดินได้ดี

          3.ราก ใช้ทำแป้งเค้ก สปาเก็ตตี้ ในรากมีวิตามินบี 1 และธาตุอีกหลายชนิด แพทย์แนะนำให้ใช้รากทานตะวันประกอบอาหารสำหรับผู้ป่วยเป็นโรคเบาหวาน

          4.น้ำมัน น้ำมันที่สกัดจากเมล็ดจะให้ปริมาณน้ำมันสูงถึงร้อยละ 35 และได้น้ำมันที่มีคุณภาพสูง ประกอบด้วยกรดไขมันที่ไม่อิ่มตัวเช่น กรดลิโนเลอิค หรือกรดลิโนเลนิค สูงถึงร้อยละ 60-70 ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อร่างกายในการช่วยลดคลอเรสเตอรอลที่เป็นสาเหตุของโรคไขมันอุดตันในเส้นเลือดได้ และยังประกอบด้วยไวตามิน เอ ดี อี และเค ซึ่งคุณภาพของไวตามินอีจะสูงกว่าในน้ำมันพืชอื่น ๆ เมื่อเก็บไว้เป็นเวลานานจะไม่เกิดกลิ่นหืน ทั้งยังทำให้สีกลิ่น และรสชาติไม่เปลี่ยนแปลง นอกจากใช้เป็นน้ำมันพืชแล้วยังนิยมใช้ในอุตสาหกรรม ทำเนยเทียม สี น้ำมันชักเงา สบู่ และน้ำมันหล่อลื่นเครื่องยนต์

          5.กาก กากที่ได้จากการสกัดน้ำมันออกแล้ว จะนำไปใช้เป็นส่วนผสมของอาหารสัตว์ได้ ในกากเมล็ดทานตะวันที่กะเทาะเปลือกและบีบน้ำมันออกแล้ว จะมีโปรตีนร้อยละ 42 และใช้เป็นแหล่งแคลเซียมสำหรับปศุสัตว์ได้ดีแต่จะมีปริมาณกรดอะมิโนอยู่เล็กน้อย และขาดไลซีน จึงต้องใช้อย่างรอบคอบ เมื่อจะเอาไปผสมเป็นอาหารสัตว์ที่มิใช่สัตว์เคี้ยวเอื้อง

ตารางที่ 7.1 แสดงประมาณกรดไขมันในน้ำมันพืชที่สำคัญ

รายการ

กรดไขมันไม่อิ่มตัว

กรมไขมันอิ่มตัว

กรดลิโนเลอิค

น้ำมันดอคำฝอย
น้ำมันข้าวโพด
น้ำมันเมล็ดทานตะวัน
น้ำมันถั่วเหลือง
น้ำมันรำข้าว
น้ำมันงา
น้ำมันเมล็ดฝ้าย (นุ่น)
น้ำมันถั่วลิสง
น้ำมันปาล์ม

87
84
83
80
80
80
71
76
49

8
10
12
15
16
14
25
18
45

72
53
63
52
37
42
50
29
8

ที่มา : เสาวนีย์ จักรพิทักษ์ หลักโภชนาการปัจจุบัน ไทยวัฒนพานิช 2526 หน้า 63

 

7.2.งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง

     วันปลูกที่ต่างกัน  ไม่มีอิทธิพลต่อเปอร์เซนต์น้ำมันในเมล็ด แต่มีอิทธิพลต่อเปอร์เซนต์โปรตีน และปริมาณของน้ำมันหรือโปรตีน เมื่อคำนวณเป็น กิโลกรัมต่อไร่

     _ทานตะวันที่ปลูกในสภาพดินร่วนปนทราย มีน้ำมันเฉลี่ย 46.8 % โปรตีน 15.9 %

     _ทานตะวันที่ปลูกในสภาพดินเหนียวสีแดง มีน้ำมันเฉลี่ย 43.6 % โปรตีน 18.6 %

     ดังนั้น  การปลูกในสภาพดินเหนียวสีแดง  มีอินทรีย์วัตถุค่อนข้างสูง จะให้ผลผลิตน้ำมันและโปรตีนสูงกว่าการปลูกในสภาพดินร่วนปนทรายที่มีอินทรีย์วัตถุต่ำ

     ควรปลูกในช่วงเดือนกันยายนดีที่สุด ซึ่งสามารถให้ผลผลิตที่คิดเป็นปริมาณน้ำมันได้ 128-147 กิโลกรัมต่อไร่

     การปลูกทานตะวันในฤดูแล้ง  สามารถปลูกได้ตั้งแต่เดือน  พฤศจิกายน ถึงเดือนธันวาคมซึ่งจะให้ผลผลิตสูงสุด ซึ่งถ้าหากปลูกล่าช้ากว่านี้ จะให้ผลผลิตค่อนข้างต่ำ เนื่องจากทานตะวันจะออกดอกในช่วงที่มีอุณหภูมิสูง อาจจะมีผลกระทบต่อการผสมเกสร สำหรับอุณหภูมิที่เหมาะสมสำหรับการผสมเกสร อยู่ระหว่าง 20-30 องศาเซลเซียส

 

7.3.ราคารับซื้อเมล็ดทานตะวัน ในโครงการส่งเสริมการปลูกทานตะวันแบบครบวงจร

     ทานตะวันเป็นพืชรุ่นที่ 2 ที่เกษตรกรนิยมปลูกหลังจากการปลูกข้าวโพดรุ่นแรก โดยเฉพาะเขตภาคกลางและภาคเหนือตอนบน อันเป็นการสร้างเสริมรายได้แก่เกษตรกรและเกื้อหนุนอุตสาหกรรมอาหารสัตว์และอุตสาหกรรมการผลิตน้ำมันพืชของไทยได้เป็นอย่างดี ในช่วงที่ผ่านมาเกษตรกรไทยยังขาดความรู้และการใช้เทคโนโลยีการผลิตที่เหมาะสม ซึ่งส่งผลเสียแก่เกษตรกรผู้ผลิต ทำให้ผลผลิตต่อไร่ต่ำกว่าเกณฑ์มาตราฐานที่ควรจะเป็น ดังนั้น ทั้งภาครัฐและเอกชนจำเป็นต้องร่วมมือ  ร่วมแรง  ร่วมใจ ในการพัฒนาการผลิตแก่เกษตรกรในการใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมเพื่อเพิ่มผลผลิตต่อไร่ให้สูงขึ้น เพื่อเพิ่มพูนรายได้และสามารถแข่งขันกับนานาชาติได้ในอนาคต

     สำหรับการปลูกทานตะวันในประเทศไทย เมื่อปี 2545 บริษัท แปซิฟิคเมล็ดพันธุ์ จำกัด ส่งพันธุ์แปซิฟิค 33 และแปซิ

ฟิค 44 วางตลาด และในปี 2546 บริษัทมีการทดสอบพันธุ์ใหม่พร้อมวางตลาดในชื่อพันธุ์ แปซิฟิค 55 ที่ผ่านมาประเทศไทยมีพื้นที่ปลูกทั้งสิ้น 13 จังหวัด อยู่ในจังหวัดหลักๆได้แก่ สระบุรี ลพบุรี นครสวรรค์ เพชรบูรณ์ ฯลฯ สำหรับเขตภาคเหนือตอนบน ได้แก่ เชียงราย พะเยา  และอุตรดิตถ์ มีพื้นที่ปลูกรวมทั้งสิ้น 473,000 ไร่ ผลผลิตโดยรวมประมาณ 85,000 ตัน  ผลผลิตเฉลี่ยประมาณ  180-200 กิโลกรัมต่อไร่ นับว่าประสบผลสำเร็จเป็นอย่างดี สามารถเพิ่ม  รายได้ให้แก่เกษตรกร  อย่างไรก็ตาม การปลูกทานตะวันยังไม่เพียงพอต่อการใช้ภายในประเทศ  การส่งเสริมการปลูกทานตะวันในโครงการร่วมกับภาคราชการ     ในรูปโครงการครบวงจรทั่วประเทศก็ได้รับการสนับสนุนจากบริษัท  น้ำมันพืชไทย  จำกัด(มหาชน) ในการประกันราคารับซื้อเมล็ดทานตะวัน    จุดรับซื้อที่จังหวัดสระบุรี  หรือจังหวัดลพบุรี  ในราคาไม่ต่ำกว่ากิโลกรัมละ     

8.00  บาท และ ณ หน้าโรงงาน บริษัท น้ำมันพืชไทย จำกัด(มหาชน) จังหวัดนครปฐมในราคาไม่ต่ำกว่ากิโลกรัมละ 8.50 บาท ทั้งนี้คุณภาพของเมล็ดทานตะวันต้องเป็นไปตามมาตราฐาน ดังนี้

     1.ความชื้นในเมล็ด         ไม่เกินร้อยละ            10.00           โดยน้ำหนัก

     2.สิ่งเจือปน                  ไม่เกินร้อยละ 1.50             โดยน้ำหนัก

     3.เมล็ดลีบและเมล็ดเสีย  ไม่เกินร้อยละ   8.00            โดยน้ำหนัก

     4.เมล็ดเป็นรา                ไม่เกินร้อยละ            1.00             โดยน้ำหนัก

 

ตารางที่ 7.2 การปฏิบัติงาน ในการผลิตเมล็ดพันธุ์ทานตะวัน

-----------------------------------------------------------------------------------------------

อายุ(วัน)                                                        การปฏิบัติ

-----------------------------------------------------------------------------------------------

ก่อนปลูก 7 วัน                   _ไถดะ แล้วใส่ปุ๋ยคอกในอัตรา 3 ตันต่อไร่ และโรยปูนขาวใน

อัตรา 200 กิโลกรัมต่อไร่

                             _ไถพรวน เพื่อพรวนกลบปุ๋ยคอกและปูนขาวลงไปในดิน

                             _ไถยกร่องเป็นแปลงปลูก สำหรับปลูกพืชด้วยระยะปลูก 45 x 75

เซนติเมตร

อายุ 0 วัน                _ใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 เป็นปุ๋ยรองพื้นก่อนปลูก ในอัตรา

30-40 กิโลกรัมต่อไร่

                             _หยอดเมล็ดพันธุ์ ในอัตรา 2-3 เมล็ดต่อหลุม

อายุ 21-25 วัน         _ใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 46-0-0 อัตรา 10-15 กิโลกรัมต่อไร่

                             _ตรวจพันธุ์ปน ครั้งที่ 1 (พืชมีใบจริง 2-3 คู่)

                             _ถอนแยกให้เหลือ 1 ต้นต่อหลุม

อายุ 28-30 วัน         _กำจัดวัชพืชครั้งที่ 1

อายุ 42-49 วัน         _พืชเริ่มออกดอก

                             _ตรวจพันธุ์ปน ครั้งที่ 2

                             _กำจัดวัชพืช ครั้งที่ 2

อายุ 90-100 วัน        _เก็บเกี่ยวดอกแก่ เพื่อเอาเมล็ดพันธุ์

-----------------------------------------------------------------------------------------------

 

การผลิตเมล็ดพันธุ์งา

 

การปลูกงา

 

          งาเป็นพืชน้ำมันที่สำคัญทางเศรษฐกิจพืชหนึ่งของประเทศ และมีแนวโน้มที่จะทวีความสำคัญขึ้นทุกปี เนื่องจากเป็นพืชที่มีศักยภาพในการผลิตและการตลาดสูง สามารถปลูกขึ้นง่าย ลงทุนน้อย ทนต่อสภาพความแห้งแล้งได้ดี เกษตรกรนิยมปลูกงาก่อนและหลังการทำนา หรือหลังจากการเก็บเกี่ยวพืชหลัก การปลูกงามีทั้งในสภาพไร่และสภาพนา ขึ้นอยู่กับสภาพพื้นที่ของแต่ละท้องถิ่น เมล็ดงาและน้ำมันงามีคุณค่าทางด้านโภชนาการสูง เมล็ดงาประกอบด้วยน้ำมัน โปรตีน คาร์โบไฮเดรต วิตามิน และแร่ธาตุต่าง ๆ ที่จำเป็นหลายชนิดในเมล็ดงาจะมีน้ำมันงาประมาณร้อยละ 47-60 มีกรดไขมันไม่อิ่มตัวสูง จึงเหมาะที่จะนำมาใช้บริโภคเพราะช่วยกันรักษาระดับโคเลสเตอรอลในร่างกาย ป้องกันไม่ให้เกิดหลอดเลือดแข็งตัวหรือเส้นเลือดอุดตัน ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งของโรคหัวใจขาดเลือด

          การผลิตงาของประเทศไทยพบว่ามีพื้นที่ปลูกงาประมาณ 381,000 ไร่ ผลผลิตรวม 35,000 ตัน โดยผลผลิตส่วนใหญ่ร้อยละ 55 ส่งออกไปต่างประเทศมูลค่าประมาณ 400 ล้านบาทส่วนที่เหลืออีกร้อยละ 45 ใช้ภายในประเทศ การผลิตงาของประเทศไทย ยังไม่เพียงพอกับความต้องการของตลาด ทั้งภายในและต่างประเทศ ซึ่งมีความต้องการเพิ่มมากขึ้นทุกปี 

สภาพดินฟ้าอากาศที่เหมาะสม

        สภาพภูมิศาสตร์

        งาเป็นพืชเขตร้อนชอบอากาศร้อนและแดดจัด อุณหภูมิที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโต ประมาณ 27-30 องศาเซลเซียส ไม่ชอบอากาศหนาวเย็น ถ้าอุณหภูมิต่ำกว่า 20 องศาเซลเซียส การงอกจะช้าลง หรือ อาจจะชะงักการเจริญเติบโต แต่ถ้าอุณหภูมิสูงกว่า 40 องศาเซลเซียสจะทำให้การผสมเกสรติดยาก การสร้างฝักช้า

        ดิน

        งาสามารถขึ้นได้ดีในดินแทบทุกชนิด แต่จะขึ้นได้ดีที่สุดในดินร่วนทราย ที่มีความอุดมสมบูรณ์พอสมควร มีการระบายน้ำดีและมีความเป็นกรดเป็นด่าง ระหว่าง 6.0-6.5 ไม่ทนต่อสภาพน้ำขัง ถ้าปลูกในดินเค็มรากของงาจะชงักการเจริญเติบโต ทำให้ผลผลิตลดลง 

        น้ำ

        งาเป็นพืชที่ค่อนข้างทนแล้งได้ดี ปลูกได้ในเขตที่มีปริมาณน้ำฝนตั้งแต่ 300 ถึง 1,000 มิลลิเมตร หรือปริมาณน้ำฝนปานกลางถึงฝนตกชุก แต่ไม่เปียกแฉะหรือน้ำท่วมขังในฤดูปลูก งาสามารถเจริญเติบโตอยู่ได้ถ้าฝนแล้งในช่วงสั้น ๆ อัตราการใช้น้ำของงาหลังจากการงอกจะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนถึงช่วงระยะออกดอกเป็นช่วงที่งาใช้น้ำมากที่สุด ดังนั้น การขาดน้ำในระยะนี้จะมีผลกระทบต่อผลผลิตของงาเป็นอย่างมาก หลังจากระยะออกดอกจนถึงเก็บเกี่ยวแล้ว อัตราการให้น้ำจะลดลง

        โดยปกติในฤดูฝนจะมีความชื้นเพียงพอ สำหรับการเจริญเติบโตของงาตลอดฤดูกาลปลูก แต่ถ้าปลูกในฤดูแล้งถึงแม้ว่าจะชอบอากาศร้อน และทนต่อสภาพแห้งแล้งได้ดีพอสมควร หากจะให้ได้ผลผลิตสูงจะต้องอาศัยน้ำชลประทานเข้าช่วย เพราะการให้น้ำที่พอเหมาะไม่มากหรือน้อยจนเกินไป จะมีผลต่อการเจริญเติบโตของงา 

ชนิดพันธุ์งาและแหล่งปลูก

        งาที่ปลูกในประเทศไทยแบ่งตามสีของเมล็ดได้ 3 ชนิด ดังนี้

        1.งาดำ ที่ใช้ปลูกกันทั่วไปมี 4 พันธุ์ ได้แก่

            1.1 งาดำบุรีรัมย์ เป็นพันธุ์พื้นเมืองมีลักษณะฝัก 4 กลีบ 8 พู เมล็ดมีขนาดใหญ่ สีค่อนข้างดำสนิท อายุเก็บเกี่ยว 90-100 วัน ผลผลิต 60-130 กิโลกรัมต่อไร่

            1.2 งาดำนครสวรรค์ เป็นพันธุ์พื้นเมืองที่ปัจจุบันเป็นพันธุ์ส่งเสริม มีการแนะนำให้ปลูกในพื้นที่หลายจังหวัดมี ลักษณะการเจริญเติบโตแบบทอดยอด เมล็ดมีสีดำขนาดใหญ่และเต่ง ลักษณะฝักเป็นแบบ 4 กลีบ 8 พู ฝักแตกง่ายเมื่อสุกแก่ ลำต้นค่อนข้างสูง แตกกิ่งก้านมาก ใบมีขนาดใหญ่ค่อนข้างกลม มี 1 ฝักต่อ 1 มุมใบ การเกิดฝักจะเวียนสลับ รอบลำต้น 1 ข้อ มี 1 ฝัก อายุเก็บเกี่ยว 95-100 วัน ผลผลิต 60-130 กิโลกรัมต่อไร่ นิยมปลูกมากในท้องที่จังหวัดบุรีรัมย์ ศรีสะเกษ สุรินทร์ นครราชสีมา มหาสารคาม ชัยภูมิ สระบุรี ลพบุรี เพชรบูรณ์ พิษณุโลก อุตรดิตถ์ นครสวรรค์ สุพรรณบุรี กาญจนบุรี ปราจีนบุรี และสุราษฎร์ธานี

            1.3 งาดำ มก.18 เป็นพันธุ์แท้ที่มีการปรับปรุงพันธุ์ โดยมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งได้คัดเลือกพันธุ์โดยวิธีจดประวัติ จากคู่ผสมระหว่าง col.34 กับงาดำนครสวรรค์ในระหว่างปี 2528-2530 มีการทดสอบผลผลิตในสถานีทดลองและในสภาพไร่เกษตรกรในปี 2534 งาดำพันธุ์ มก.18 มี ลักษณะการเจริญเติบโตแบบทอดยอด ใบสีเขียวเข้ม ลำต้นไม่แตกกิ่งก้านและค่อนข้างสูง เมล็ดมีสีดำสนิท ลักษณะฝัก 2 พู ฝักเกิดตรงกันข้าม ดังนั้น 1 ข้อจะมี 2 ฝัก การเรียงตัวของฝักจะเป็นแบบเวียนสลับรอบลำต้น ความยาวปล้องสั้นทำให้จำนวนของฝักต่อต้นสูง น้ำหนักเมล็ด 3 กรัม ต่อ 1,000 เมล็ด อายุเก็บเกี่ยวปลายฤดูฝน 85 วัน ต้นฤดูฝน 90 วัน ผลผลิต 60-148 กิโลกรัมต่อไร่ ทนทานต่อโรคราแป้ง และทนต่อการหักล้ม ในปีการเพาะปลูก 2538/39 กรมส่งเสริมการเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บริษัทคาเนมัสซุ บริษัทนานาพรรณเอ็นเตอร์ไพรร์จำกัด และสมาคมพ่อค้าข้าวโพด และพืชพันธุ์ไทย ส่งเสริมการปลูกงาดำ มก.18 ในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมาและกาญจนบุรี เพื่อส่งออกไปยังประเทศญี่ปุ่น ซึ่งมีความต้องการงาพันธุ์ มก.18 สูงถึงปีละ 10,000 - 30,000 ตัน

        1.4 งาดำ มข.2 เป็นพันธุ์ทีมหาวิทยาลัยขอนแก่นปรับปรุงและคัดเลือกพันธุ์มาจากงาดำพันธุ์ ซีบี 80 ของจีน ลักษณะฝักเป็นแบบ 4 พู เมล็ดสีดำสนิท ไม่ไวต่อช่วงแสงแตกกิ่ง 3-4 กิ่งต่อต้น ต้นสูง 105-115 เซนติเมตร น้ำหนักเมล็ด 2.77 กรัมต่อ 1,000 เมล็ด ปลูกได้ดีทั้งต้นฝนและปลายฤดูฝน มีอายุเก็บเกี่ยวสั้น 70-75 วัน ผลผลิต 80-150 กิโลกรัมต่อไร่ ต้านทานต่อโรคเน่าดำและทนแล้งได้ดี เขตส่งเสริมการปลูก ได้แก่ จังหวัดบุรีรัมย์ และมหาสารคาม

          2.งาขาว ที่ใช้ปลูกกันทั่วไปมี 6 พันธุ์ ได้แก่

            2.1 พันธุ์เมืองเลย มีขนาดเมล็ดเล็ก เรียกว่า งาไข่ปลา ลักษณะฝัก 2 กลีบ 4 พู แตกกิ่งก้านมาก ตอบสนองต่อช่วงแสง อายุเก็บเกี่ยว 110-120 วัน ผลผลิต 60-90 กิโลกรัมต่อไร่ เป็นพันธุ์ที่ตลาดต้องการ เพราะนำไปสกัดน้ำมันมีกลิ่นหอม ปลูกมากที่จังหวัดเลยและบริเวณชายแดนไทย-ลาว ช่วงจังหวัดเลยถึงอุตรดิตถ์

            2.2 พันธุ์เชียงใหม่ มีลักษณะฝัก 2 กลีบ 4 พู มีขนาดเมล็ดเล็ก แต่ใหญ่กว่าพันธุ์เมืองเลยเล็กน้อย เมล็ดมีรูปร่างคล้ายหัวใจ ไวต่อช่วงแสง อายุเก็บเกี่ยว 110-120 วัน ผลผลิต 60-90 กิโลกรัมต่อไร่ ปลูกมากที่จังหวัดแม่ฮ่องสอนและเชียงใหม่

            2.3 พันธุ์ชัยบาดาลหรือสมอทอด มีลักษณะฝัก 2 กลีบ 4 พู เมล็ดมีขนาดปานกลาง อายุเก็บเกี่ยว 80-85 วัน ผลผลิต 50-80 กิโลกรัมต่อไร่ ปลูกมากที่จังหวัดเพชรบูรณ์และลพบุรี แต่ปัจจุบันมีปริมาณน้อยมาก

            2.4 พันธุ์ร้อยเอ็ด 1 เป็นพันธุ์ที่กรมวิชาการเกษตรปรับปรุงคัดเลือกพันธุ์ สีเมล็ดขาวสม่ำเสมอ ลำต้นตรงไม่แตกกิ่ง ลักษณะฝัก 4 กลีบ 8 พู เมล็ดมีขนาดปานกลางอายุเก็บเกี่ยว 70-75 วัน ผลผลิต 50-120 กิโลกรัมต่อไร่ เหมาะสำหรับปลูกเป็นแถว ไม่ต้านทานต่อหนอนห่อใบงาและหนอนผีเสื้อหัวกะโหลก ฝักแตกง่าย จะต้องเก็บเกี่ยวทันที ที่ครบอายุเก็บเกี่ยว

            2.5 พันธุ์มข.1 เป็นพันธุ์ที่มหาวิทยาลัยขอนแก่นปรับปรุงมาจากงาขาวซีดับบลิว 103 ของจีน ลักษณะฝักเป็นแบบ 2 พู ไม่ไวต่อแสงช่วงแสง ไม่แตกกิ่งก้าน ฝักมีการเรียงตัว เป็นแบบตรงกันข้าม ฝักดก 3-7 ฝักต่อซอกใบ เมล็ดสีขาวค่อนข้างใหญ่ น้ำหนักเมล็ด 2.79 อายุเก็บเกี่ยว 70-75 วัน ผลผลิต 80-150 กิโลกรัมต่อไร่ ไม่ต้านทานหนอนห่อใบงาและหนอนผีเสื้อกะโหลก

            2.6 พันธุ์มหาสารคาม 60 เป็นพันธุ์ที่กรมวิชาการเกษตรปรับปรุงพันธุ์จากพันธุ์ที-85 ของประเทศอินเดียลักษณะฝัก 2 กลีบ 4 พู ต้นโปร่ง ไม่แตกกิ่งฝักมีการเรียงตัวเป็นแบบตรงกันข้าม มี 1ฝักต่อ 1 ซอกใบ ขนาดเมล็ดโตสีขาว น้ำหนัก 2.90 กรัมต่อ 1,000 เมล็ด อายุเก็บเกี่ยว 80-85 วัน ผลผลิต 107 กิโลกรัมต่อไร่ ไม่ต้านทานโรคราแป้ง เขตางเสริมการปลูก ได้แก่ จังหวัดสระบุรี ลพบุรี เพชรบูรณ์ พิษณุโลก และกาญจนบุรี

       3.งาดำ-แดง หรือเรียกกันโดยทั่วไปว่า งาเกษตร ที่ใช้ปลูกมี 3 พันธุ์ ได้แก่

            3.1 พันธุ์พื้นเมืองพิษณุโลก และพันธุ์พื้นเมืองสุโขทัย ลักษณะฝักมี 2 กลีบ 4 พู แตกกิ่งก้านมาก ขนาดเมล็ดโต สีของเมล็ดมีทั้งสีดำและสีน้ำตาลแดงปนอยู่ด้วยกันอายุเก็บเกี่ยว 80-85 วัน ผลผลิต 60-90 กิโลกรัมต่อไร่ ปลูกมากที่จังหวัดเพชรบูรณ์ นครสวรรค์ พิษณุโลก สุโขทัย ลพบุรี สระบุรี อุตรดิตถ์ แพร่ และน่าน

            3.2 งาแดงอุบลราชธานี 1 คัดเลือกและปรับปรุงพันธุ์โดยกรมวิชาการเกษตร จากงาพันธุ์ นานนี 25/160/85-9 ของประเทศพม่า ได้รับการรับรองพันธุ์เมื่อ 19 มกราคม 2536 มีขีดเมล็ดโตสม่ำเสมอ น้ำหนักเมล็ด 3.16 กรัมต่อ 1,000 เมล็ด ลักษณะฝักเป็นแบบ 2 พู ต้นแตกกิ่ง 3-5 กิ่ง อายุเก็บเกี่ยว 80-85 วัน ผลผลิต 141 กิโลกรัมต่อไร่ ต้านทานโรคเหี่ยวหนอนห่อใบงา ไรขาว และมวนฝิ่น ใช้เป็นพันธุ์แนะนำให้เกษตรกรปลูกแทนพันธุ์พื้นเมือง

            3.3 งาแดงพันธุ์ มข.3 คัดเลือกและปรับปรุงพันธุ์โดยมหาวิทยาลัยขอนแก่น จากงาพันธุ์นานนี ของประเทศพม่า ลักษณะฝักเป็นแบบ 2 พู เมล็ดโตสีแดง น้ำหนักเมล็ด 3.12 กรัมต่อ 1,000 เมล็ด แตกกิ่ง 4-6 กิ่งต่อต้น ต้นสูง 130-150 เซนติเมตร อายุเก็บเกี่ยว 80-85 วัน ผลผลิต 100-180 กิโลกรัมต่อไร่ ปลูกได้ทั้งต้นฝนและปลายฤดูฝนเหมาะที่จะปลูกแบบหว่าน ค่อนข้างต้านทานโรคและแมลง 

การปลูก

        ฤดูปลูก

        1. ต้นฤดูฝน เริ่มปลูกตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์-เมษายน และเก็บเกี่ยวได้ตั้งแต่ปลายเดือนเมษายน-มิถุนายน ส่วนใหญ่จะปลูกในพื้นที่นาก่อนการปลูกข้าว มีพื้นที่ปลูกประมาณร้อยละ 70 ของพื้นที่ปลูกงาทั้งประเทศ แหล่งปลูกงาต้นฤดูฝนได้แก่ จังหวัดอุบลราชธานี ศรีสะเกษ บุรีรัมย์ สุรินทร์ นครราชสีมา สระบุรี ลพบุรี นครสวรรค์ เพชรบูรณ์ สุโขทัย ลำพูน น่าน และสุราษฎร์ธานี

        2. ปลายฤดูฝน เริ่มปลูกตั้งแต่เดือนกรกฎาคม-สิงหาคม และเก็บเกี่ยวได้ตั้งแต่ปลายเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม ส่วนใหญ่จะปลูกในสภาพพื้นที่ไร่หรือที่ดอน ปลูกหลังการเก็บเกี่ยวพืชไร่ มีพื้นที่ปลูกประมาณร้อยละ 30 ของพื้นที่ปลูกงาทั้งประเทศ แหล่งปลูกงาปลายฤดูฝนที่สำคัญ ได้แก่ จังหวัดกาญจนบุรี พิษณุโลก สพรรณบุรี เพชรบูรณ์ อุตรดิตถ์ และเลย

        การพิจารณาเลือกพื้นที่ปลูกงา

        1. เป็นดินร่วนปนทราย มีการระบายน้ำดี และมีความอุดมสมบูรณ์พอสมควร

        2. เป็นพื้นที่ดอนหรือสูง สามารถระบายน้ำได้สะดวกไม่มีน้ำขังแฉะ

        3. ความเป็นกรด-ด่างของดิน ควรอยู่ระหว่าง 5.5-6.5 ไม่เป็นดินเปรี้ยวหรือดินเค็ม

        4. ไม่เป็นพื้นที่ที่มีการปลูกงาติดต่อกันมาเป็นเวลานานหลายๆ ปี เพราะจะทำให้งาเกิดโรคระบาดได้ง่าย

การเตรียมดิน

        การเตรียมดินเป็นปัจจัยที่สำคัญในการปลูกงา เนื่องจากเมล็ดงามีขนาดเล็ก ควรมีการเตรียมดินให้ร่วนซุย จะช่วยให้งางอกได้ดีและมีความสม่ำเสมอ การไถพรวนจะมากหรือน้อยครั้ง ขึ้นอยู่กับโครงสร้างและชนิดของเนื้อดิน ถ้าเป็นดินร่วนทรายจะไถ 1-2 ครั้ง ส่วนดินเหนียวจะต้องไถมากครั้งกว่าดินร่วนโดยไถ 1-2 ครั้ง ส่วนดินเหนียวจะต้องไถมากครั้งกว่าดินร่วน โดยไถ 2-3 ครั้ง เพื่อย่อยดินให้ละเอียด จะให้ผลผลิตสูงกว่าไถเพียงครั้งเดียว

        การปลูกงาต้นฤดูฝนโดยอาศัยน้ำฝน ช่วงเดือนกุมภาพันธุ์-มีนาคม ปริมาณความชื้นในดินมีน้อย จะต้องรอให้ในตกเสียก่อนจึงไถเตรียมดินปลูก สังเกตได้โดย เมื่อฝนตกทำให้ดินเปียกชื้นลึกลงไปจากผิวดินประมาณ 20 เซนติเมตร หรือลองใช้จอบขุดลึกลงไปจากผิวดินประมาณ 20 เซนติเมตร หรือลองใช้จอบขุดลึกลงไปประมาณ 1 หน้าจอบ และพบดินยังมีความเปียกชื้นอยู่ สามารถไถพรวนปลูกงาให้เสร็จได้ภานใน 3 วัน โดยไถดะ 1 ครั้ง แล้วหว่านเมล็ดงา และคราดกลบทันทีจะเป็นผลดีกับการปลูกงา เพราะว่าหลังจากนั้นดินจะแห้งเร็วความชื้นจะไม่เพียงพอที่จำทำให้งางอกได้

           การปลูกงาช่วงกลางฤดูฝน-ปลายฝน ปริมาณน้ำฝนมีเพียงพอทำให้เตรียมดินได้สะดวก โดยไถประมาณ 2-3 ครั้ง ก่อนการหว่านเมล็ดงาหลังจากนั้นจังไถกลบอีก 1 ครั้ง จะทำให้งางอกได้สม่ำเสมอ แต่วิธีนี้จะใช้เมล็ดพันธุ์มากกว่าการไถหว่าน-คราดกลบ ประมาณ 2 เท่าตัว สำหรับในเขตที่มีแหล่งน้ำหรือในเขตชลประทาน ใช้วิธีปล่อยน้ำเข้าในแปลงปลูก ดินร่วนทรายปล่อยทิ้งไว้ 2 คืน ดินเหนียวทิ้งไว้ 1 คืน ตากดินไว้ 1-3 แดด แล้วจึงไถเตรียมดินปลูกต่อไป

        การเตรียมดินปลูกงาหลังจากไถพรวนดินดีแล้ว ควรแบ่งพื้นที่ปลูกแปลงย่อย กว้างแปลงละ 3-5 เมตร เพื่อให้สามารถเดินเข้าไปปฎิบัติดูแลรักษาได้สะดวก และช่วยระบายน้ำ เมื่อมีฝนตกชุกจะช่วยลดความเสียหายจากน้ำท่วมขัง ทำให้ผลผลิตต่อไร่สูงขึ้น 

วิธีปลูกงา

           วิธีการปลูกงามี 2 วิธี คือ

        1. การปลูกแบบหว่าน เกษตรกรส่วนใหญ่นิยมปลูกงาด้วยวิธีนี้ โดยหลังจากเตรียมดินดีแล้ว จะใช้เมล็ดงาหว่านให้กระจายสม่ำเสมอ ในแปลงปลูก แล้วคราดกลบทันทีเพราะถ้ารอจนหน้าดินแห้ง หรือเมล็ดถูกแดดเผานานๆ เมล็ดงาจะตกมัน ทำให้ไม่งอกหรืองอกไม่สม่ำเสมอ สำหรับเมล็ดพันธุ์ที่หว่านจะใช้ประมาณ 1-2 กิโลกรัมต่อไร่ ขึ้นอยู่กับสภาพการเตรียมดินและความเคยชินของเกษตรกร ในการหว่านอาจใช้ทรายละเอียด ขี้เถ้า แกลบ หรือมูลสัตว์ ผสมในอัตร 1:1 เพื่อช่วยให้เมล็ดงากระจายสม่ำเสมอมากขึ้น

        ปัจจุบันมีการนำเครื่องปลูกงาแบบหว่าน มาใช้ในเขตจังหวัดลพบุรี เป็นเครื่องปลูกที่ใช้ติดท้ายรถแทรกเตอร์ ตัวเครื่องประกอบด้วยผาน 4 ผาน ถ้าบรรจุเมล็ดพันธุ์และมีช่องปล่อยเมล็ดพันธุ์ให้งาออก ตามอัตราที่กำหนดไว้ เมื่อเมล็ดงาตกลงพื้นดินผานทั้ง 4 ผานจะไถดินตาม ทำให้เมล็ดถูกกระจายออกและถูกดินกลบ ต้นงาที่งอกขึ้นมาจะกระจายตัวคล้าย ๆ กับการหว่าน เครื่องปลูกงา เมื่อพ่วงกับรถไถเดินตามขนาดเล็ก จะใช้เวลาปลูกประมาณ 20 นาทีต่อไร่ หากพ่วงกับรถไถขนาดใหญ่จะใช้เวลาเพียง 10 นาที ต่อไร่

           2. การปลูกแบบโรยเป็นแถว ในการทำร่องสำหรับโรยเมล็ด ส่วนใหญ่ใช้คราดกาแถว จะช่วยให้ทำแถวปลูกได้เร็วขึ้น ระยะแถวปลูก 50x10 เซนติเมตร หรือใช้เครื่องปลูกชนิด 4 แถว ระยะปลูก 30x10 เซนติเมตร หรือในแถวยาว 1 เมตร ให้มีต้นงา 10-20 ต้น หลังจากปลูกแล้ว 15-20 วัน ให้ทำการถอนแยกให้ได้ระยะต้นตามความต้องการ อัตราเมล็ดพันธุ์ที่ใช้ประมาณ 2-3 กิโลกรัมต่อไร่ การปลูกด้วยวิธีนี้จะใช้เมล็ดพันธุ์มากกว่าวิธีหว่าน เสียเวลาและแรงงานมากต้องกำจัดวิชพืชระหว่างแถวปลูก แต่จะสะดวกในการพ่นสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืช การปลูกแบบเป็นแถวนี้จะให้ผลผลิตสูงกว่าการปลูกด้วยวิธีหว่าน

        การใส่ปุ๋ย

        ปุ๋ยเคมีที่ใช้กับงา ในดินทรายหรือดินร่วนทรายที่มีความอุดมสมบูรณ์ต่ำ ให้ใช้ปุ๋ยสูตร 15-15-15 ในอัตรา 20-30 กิโลกรัม/ไร่ สำหรับดินร่วนปนดินเหนียว ใช้ปุ๋ยสูตร 20-20-0 ในอัตรา 20-25 กิโลกรัม/ไร่ การใส่ปุ๋ยในโตรเจนควรใส่ขณะที่งาจะออกดอกในปริมาณที่ไม่มากเกินไป เพราะปุ๋ยในโตรเจนจะทำให้งาแก่ข้า และปริมาณน้ำมันในเมล็ดลดลง

        วิธีการใส่ปุ๋ยเคมีให้แก่งา พิจารณาจากวิธีการปลูกดังนี้

        1. ปลูกแบบหว่าน ให้ใช้ปุ๋ยหว่านแล้วคราดกลบก่อนปลูก

        2. ปลูกแบบโรยเป็นแถว ให้ใช้ 2 วิธี คือ

            2.1 โดยใช้ปุ๋ยทั้งหมดโรยก้นร่องแถวปลูกก่อนปลูก

            2.2 โดยแบ่งให้ 2 ครั้ง ครั้งละเท่า ๆ กัน

        ครั้งแรก : โรยก้นร่องของแถวปลูกก่อนปลูก ครั้งที่สอง : โรยข้างแถวปลูกเมื่องาอายุไม่เกิน 15 วัน หลังจากงอก ควรมีการใส่ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก หรือไถกลบปุ๋ยพืชสด ในดินในช่วงเตรียมดินก่อนปลูก งาจะทำให้ได้ผลผลิตสูง เพราะงาตอบสนองต่อการใส่ปุ๋ยอินทรีย์ได้ดีกว่าปุ๋ยเคมี

การดูแลรักษา

        งาเป็นพืชที่ต้องการการดูแลรักษาน้อยกว่าพืชชนิดอื่น เพียงแต่เตรียมดินให้ถูกวิธีและเหมาะสม และปลูกงาให้งอกอย่างสม่ำเสมอ ก็สามารถจะให้ผลผลิตพอสมควรแล้ว ส่วนใหญ่เกษตรกรที่ปลูกงาเมื่อหว่านเมล็ดงาแล้ว ก็ปล่อยทิ้งจนถึงเก็บเกี่ยว อย่างไรก็ตาม หากได้มีการปฏิบัติดูแลรักษาบ้าง ก็จะช่วยให้ผลผลิตสูงขึ้น ทั้งนี้ควรจะเริ่มจากการปลูกงาเป็นแปลงใหญ่ ๆ ขนาด 3-5 เมตร ให้มีร่องระหว่างแปลงเพื่อจะได้ตรวจแปลงได้สะดวก เมื่อมีโรคและแมลงระบาด สามารถที่จะป้องกันกำจัดได้ง่ายและรวดเร็ว

การเก็บเกี่ยว

        การสังเกตระยะสุกแก่ของงา เมื่องาเจริญเติบโตเต็มที่ถึงระยะสุกแก่จะต้องรีบเก็บเกี่ยว เนื่องจากฝักงาโคนต้นที่แก่ก่อนจะแตกออก ทำให้เมล็ดร่วงเสียหาย การสุกแก่ของงาสามารถสังเกตได้ดังนี้

        1. ดอก เมื่อถึงอายุเก็บเกี่ยวดอกสุดท้ายจะร่วง

        2. ใบ จะมีสีเหลืองและร่วงเกือบหมด

        3. ฝัก เปลี่ยนจากสีเขียวเป็นสีเหลือง ประมาณ 1 ใน 4 ของต้น

        4. เมล็ด มีลักษณะค่อนข้างเต่งตึงและเปลี่ยนสีตามพันธุ์ สำหรับงาดำให้แกะฝักที่ 3 จากยอดออกมาดู ถ้าเมล็ดมีสีน้ำตาลแสดงว่าแก่เก็บเกี่ยวได้

        5. อายุ โดยนับอายุของงาแต่ละพันธุ์ เช่น งาขาว พื้นเมืองเลย อายุ 110-120 วัน งาขาวพื้นเมืองพันธุ์ชัยบาดาลอายุ 80-85 วัน งาขาวพันธุ์ร้อยเอ็ด 1 อายุ 70-75 วัน งาขาว พันธุ์มหาสารคาม 60 อายุ 80-85 วัน งาดำนครสวรรค์ อายุ 95-100 วัน งาดำ มก.18 อายุ 85-90 วัน งาดำ มข.2 อายุ 70-75 วัน งาแดงพันธุ์อุบลราชธานี 1 มข.3 พิษณุโลก และสุโขทัย อายุ 80-85 วัน เป็นต้น         การพิจารณาอายุของงานี้ จะต้องพิจารณาความชื้นของอากาศขณะนั้น ประกอบด้วยถ้าฝนตกชุกอากาศมีความชื้นสูงงาจะสุกแก่ช้า แต่ถ้าอากาศแห้งจะเก็บเกี่ยวได้เร็วกว่าอายุจริง 5-10 วัน เช่น งาขาวพันธุ์ร้อยเอ็ด 1 ถ้าอากาศแห้งแล้งจะเก็บเกี่ยวได้เมื่ออายุประมาณ 60-65 วัน เป็นต้น

        วิธีการเก็บเกี่ยวงา

        การเก็บเกี่ยวใช้เคียวหรือมีดเกี่ยวต่ำกว่าฝักล่างเล็กน้อย ถ้าปลูกในดินทรายหรืองาต้นเล็กจะใช้วิธีถอนทั้งต้นก็ได้ ทั้งนี้พยายามอย่าให้ดินทรายเกาะติดต้นงา เพราะจะปนอยู่กับเมล็ดมากเวลาเคาะ ทำให้คุณภาพของงาลดลง ปัจจุบันมีเครื่องเกี่ยวงาแบบวางราย ทำให้เกี่ยวได้สะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้น

        วิธีการบ่มงา

        หลังจากการเก็บเกี่ยวงาแล้วนำมาบ่ม โดยนำต้นงามากองรวมกัน หันปลายยอดเข้าหากัน วางซ้อนเป็นชั้น ๆ ขึ้นไปเรื่อย ๆ ให้ฝักปลายยอดเหลื่อมกันเล็กน้อย (กองบ่มทั่วไปมีขนาดกว้าง x ยาว x สูง ประมาณ 2 x 3 x 1 เมตร) กองบ่มควรอยู่ในที่กลางแจ้งและที่สูงในแปลงปลูก เพื่อป้องกันน้ำท่วมและอากาศถ่ายเทสะดวก เมื่อกองเรียบร้อยแล้วนำฟางข้าว ใบไม้ ใบหญ้า ปิดทับกองประมาณ 5-7 วัน ถ้าอากาศแห้งเกินไปควรรดน้ำกองบ่มบ้าง หลังจากการบ่มแล้วฝักจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองหรือน้ำตาลปนดำเสมอกัน ส่วนใบจะเปลี่ยนเป็นสีดำและหลุดร่วงไป จากนั้นจึงทำการมัด ตาก เคาะ และทำความสะอาดเมล็ดต่อไป

        ข้อดีของการบ่มงา

        1. การปลูกงาจำนวนมาก ๆ ถ้าเก็บเกี่ยวช้าฝักจะแตกเมล็ดร่วงเสียหาย การบ่มจะช่วยให้เกษตกรมีเวลาเก็บเกี่ยวงาได้มากขึ้น สามารถเก็บเกี่ยวพร้อม ๆ กัน ได้ในพื้นที่ขนาดใหญ่

        2. การบ่มงาทำให้ใบร่วง สะดวกต่อการมัดเป็นกำและตั้งตากได้ง่าย

        3. การบ่มทำให้สามารถเคาะได้เร็วขึ้น เพราะงาที่บ่มจะแห้งเร็ว เนื่องจากใบร่วงหมด และใช้เวลาตากน้อยประมาณ 1-2 วันก็สามารถเคาะได้ แต่งาที่ไม่บ่มต้องใช้เวลาตากถึง 4-5 วัน

        4. การบ่มช่วยให้ฝักงาส่วนโคนต้นและส่วนปลายอ้าออกพร้อมกัน จึงประหยัดเวลาแรงงานในการเคาะ โดยเคาะเพียง 1-2 ครั้งก็ได้เมล็ดงาเกือบทั้งหมด แต่ถ้าไม่บ่มจะต้องเคาะ 3-4 ครั้ง เนื่องจากฝักงาอ้าออกไม่พร้อมกัน

        5. การบ่มงาช่วยลดความเสียหาย อันเนื่องจากมีฝนตกในขณะตากงา เพราะการบ่มงาจะใช้เวลาตากน้อยกว่าไม่บ่ม

           การบ่มงานี้จะทำการบ่มเฉพาะงาดำและงาดำแดง ส่วนงาขาวมีสีหมองคล้ำคุณภาพเมล็ดต่ำ สำหรับงาที่จะนำไปบริโภคเป็นอาหารไม่ควรบ่ม เช่น งาดำพันธุ์ มข.18 เพราะจะทำให้มีกลิ่นดิน เศษพืชติดไปกับเมล็ดงา หากเกษตรกรเก็บเกี่ยวงาครบอายุเก็บเกี่ยว ให้นำไปตาก 3-4 แดด แล้วเคาะนวดได้ทันที การมัด ตาก เคาะ และทำความสะอาดเมล็ดงา หลังจากบ่มแล้ว ทำการเคาะให้ใบร่วงออกหมด เหลือแต่ฝักและต้นงา ใช้ตอกหรือเชือกฟางมัดงาเป็นกำ ๆ ขนาดกำมือแล้วนำงา 3 กำ มามัดที่ปลายต้นงารวมเป็นมัดเดียวกันแล้วนำไปตั้งตาก ซึ่งจะแยกมัดงาเป็น 3 ขา ช่วยพยุ่งไม่ให้มัดงาล้มเวลาตั้งตาก หรือจะใช้วิธีการทำราวตากโดยมัดงาเป็นกำขนาดใหญ่ แล้วแบ่งครึ่ง แขวนตากไว้บนราว

        หลังจากตากไว้ 2-3 วัน ก็นำไปเคาะ โดยนำมัดงาที่ตากจนฝักแห้งและปลายฝักอ้าออก แล้วคล่ำมัดงาลงภาชนะที่เตรียมไว้ ใช้ไม้เคาะมัดงาเบาๆ เมล็ดงาก็จะร่วงลงบนภาชนะโดยง่าย นำไปตากแดดอีก 1-2 แดด แล้วนำไปเคาะใหม่อีกครั้งหนึ่ง จากนั้นทำความสะอาดเมล็ดงา โดยฝัดแยกเอาสิ่งเจือปนออกแล้วบรรจุลงกระสอบ นำไปเก็บหรือจำหน่ายต่อไป

การเก็บเมล็ดพันธุ์

        โดยปกติเมล็ดพืชน้ำมันจะเสื่อมความงอกในช่วงระยะเวลาอันสั้น แต่เมล็ดงานั้นสามารถเก็บรักษาไว้ได้นาน จากการทดสอบพบว่า เมล็ดงาสามารถเก็บไว้ได้นานถึง 17 เดือน โดยเก็บไว้ในถุงพลาสติกชนิดหนา ปิดปากถุงด้วยความร้อน เมล็ดยังมีความงอกถึง 82 เปอร์เซ็นต์ และเก็บใส่ถุงปุ๋ย ถุงผ้า และถุงกระดาษ นาน 8 เดือน เมล็ดงายังมีความงอกมากกว่า 80 เปอร์เซ็นต์

        เมล็ดงาที่จะเก็บเป็นเมล็ดพันธุ์ ควรเป็นเมล็ดที่มีคุณภาพดี ที่ได้จากการเคาะเคาะครั้งแรก เพราะเมล็ดจะแก่และสมบูรณ์เต็มที่ จากนั้นนำไปตากให้แห้งก่อนเก็บในภาชนะปิดที่มีความชื้นต่ำ

โรคของงา

           1. โรคเน่าดำ

        เชื้อสาเหตุ เชื้อรา

        ระยะการระบาด โรคนี้ระบาดได้ตั้งแต่ระยะกล้าจนถึงเก็บเกี่ยว

        ลักษณะอาการ ใบเริ่มเหลืองซีดลงกว่าปกติ ต้นจะเหี่ยวยืนต้นตาย รากและลำต้นเน่าสีน้ำตาล เปลือกติดแน่นกับลำต้น ฉีกดูภายในจะกลวงแฟบ บริเวณแผลมีเมล็ดสีดำคล้ายผงถ่านกระจายอยู่ทั่วไป

        การป้องกันกำจัด

        1. คลุกเมล็ดด้วยสารเคมีก่อนปลูก ได้แก่ใช้เบนเลท คาเบนดาซิม เดลซีน เอ็ม เอ็กซ์ ในอัตรา 0.1-0.3 เปอร์เซ็นต์ ของน้ำหนักเมล็ด

        2. เลือกปลูกพันธุ์เมล็ดสีแดง

        3. ปลูกพืชหมุนเวียนที่ไม่เป็นโรคนี้สลับกับการปลูกงา หรือย้ายพื้นที่ปลูก โดยปลูกซ้ำที่เดิมไม่เกิน 3 ปี

        4. ใช้ปุ่ยคอกหรือปุ๋ยที่มีฟอสฟอรัสค่อนข้างสูง

        5. เผาทำลายเศษซากพืชที่เป็นโรค

        2. โรคใบไม้และลำต้นเน่า

        เชื้อสาเหตุ เชื้อรา

        ระยะการระบาด ระบาดทำความเสียหายกับเงาในระยะเติบโตถึงเก็บเกี่ยว

        ลักษณะอาการ ใบไม้โดยเฉพาะเมื่อมีความชื้นสูงฝนตกชุก อาการไหม้จะลุกลามสู่ก้านใบ ลำต้น และในที่สุด ทำให้ต้นหักพับ เหี่ยวตาย

        การป้องกันกำจัด

        1. ปลูกพันธุ์ต้านทาน เช่น มหาสารคาม 60

        2. ปลูกงาในช่วงที่มีฝนน้อย เช่น ปลายฤดูฝน

        3. อย่าปลูกในระยะชิดมากเกินไป

        4. ปลูกพืชหมุนเวียนที่ไม่เป็นโรคนี้สลับกับการปลูกงา

        5. ใช้สารเคมีพวกแคปเทน หรือไทแรม 0.3 เปอร์เซ็นต์ คลุกเมล็ดก่อนปลูก หรอืใช้ริโดมิลฉีดพ่น 1-2 ครั้ง เมื่อพบการระบาดของโรค

           3. โรคเหี่ยวจากแบคทีเรีย

        เชื้อสาเหตุ เชื้อแบคทีเรีย

        ระยะการระบาด ระบาดทำความเสียหายกับเงาในระยะเติบโตถึงเก็บเกี่ยว

        ลักษณะอาการ ยอดเหี่ยวมีรอยประสีขาวใสเล็ก ๆ กระจายตามความยาวของลำต้น เมื่อผ่าลำต้นตามขวางดูจะมีสีน้ำตาลบริเวณรอยต่อของเปลือกกับแกน เมื่อบีบจะพบน้ำเยิ้มสีขาวขุ่น ต้นงาจะเหี่ยวและยืนต้นตายโดยที่รากยังปกติอยู่

        การป้องกันกำจัด

        1. ใช้พันธุ์ต้านทาน ได้แก่ งาแดงพันธุ์อุบลราชธานี 1

        2. ไม่ควรใช้สารเคมีเพราะไม่คุ้มทุน

        4. โรคยอดฝอย

        เชื้อสาเหตุ เชื้อไมโครพลาสมา โดยมีเพลี้ยจั๊กจั่นเป็นแมลงพาหะ

        ระยะการระบาด ระบาดในระยะต้นกล้าถึงระยะเจริญเติบโต

        ลักษณะอาการ งาที่เป็นโรคจะชงักการเจริญเติบโต ใบมีขนาดเล็ก ยอดแตกเป็นพุ่มฝอย ดอกเปลี่ยนเป็นสีเขียวคล้ายใบ ไม่ติดฝัก

        การป้องกันกำจัด

        1. ถอนและเผาทำลายต้นที่เป็นโรค

        2. ปลูกให้เร็วขึ้น และหลีกเลี่ยงการปลูกในช่วงฤดูฝน

        3. ใช้สารเคมีป้องกันกำจัดแมลง เช่น เซฟวิน อโซดริน ไดเมธโรเอท ในอัตรา 40-50 ซีซี ต่อน้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่นในระยะก่อนออกดอก 1-2 ครั้ง ห่างกันประมาณ 7-10 วัน

        4. หลีกเลี่ยงการปลูกงาติดต่อกันบริเวณหนึ่งบริเวณใด ซ้ำกันหลาย ๆ ปี

แมลงศัตรูงา

        แมลงศัตรูงาที่สำคัญมีลักษณะการทำลาย และการป้องกันกำจัด ดังนี้

        1. หนอนห่อใบงา

        เป็นแมลงศัตรูที่สำคัญที่สุดของงา โดยจะเข้าทำลายในทุกส่วนของงา และในทุกระยะการเจริญเติบโต เริ่มตั้งแต่งางอกพ้นผิวดินจนถึงระยะติดดอกออกฝัก ถ้าทำลายระยะต้นอ่อน ต้นงาจะเหี่ยวแห้งตายหมด โดยลักษณะการทำลายนั้น ตัวหนอนจะชักใยดึงเอาใบที่ส่วนยอดมาห่อหุ้มตัวไว้ และกัดกินอยู่ภายใน แต่ละยอดอาจจะมีตัวหนอน 1-5 ตัวระยะออกดอกจะกินดอกทำให้ดอกร่วง ส่วนระยะติดฝักจะเจาะเข้าไปกัดกินอยู่ภายในฝัก

        การป้องกันกำจัด

        1. ใช้พันธุ์ต้านทาน เช่น พันธุ์มหาสารคาม 60, ชัยบาดาล นครสวรรค์ บุรีรัมย์ และอุบลราชธานี 1

        2. ใช้สารสกัดสะเดาเข้มข้น 50-20 พีพีเอ็ม อัตรา 50 มิลลิลิตร ต่อน้ำ 20 ลิตร

        3. ใช้สารเคมีป้องกันกำจัดแมลง ได้แก่ โมโนโครโตฟอส (อโซดริน, นูราครอน) คาร์โบซัลแฟน (พอสซ์) ฉีดพ่นเมื่อพบหนอน 2 ตัวต่อแปลงยาว 1 เมตร เมื่องาอายุ 5, 20 และ 40 วัน

        2. หนอนผีเสื้อหัวกะโหลก

        เป็นแมลงศัตรูที่สำคัญของงาและพืชหลายชนิด เช่น ถั่วต่าง ๆ มะเขือ และยาสูบ เป็นต้น เกษตรกรเรียกหนอนชนิดนี้ว่า "หนอนแก้ว" สามารถทำความเสียหายให้แก่ต้นงาได้มากและรวดเร็ว เนื่องจากเป็นหนอนผีเสื้อขนาดใหญ่ หนอนจะกัดกินใบงาเหลือแต่ก้านและต้นเห็นได้อย่างชัดเจน โดยทำลายตั้งแต่งาเริ่มแตกใบจริงจนกระทั่งติดดอกออกฝัก เมื่อกินใบของต้นหนึ่งหมดก็จะเคลื่อนย้ายไปกินต้นอื่น ตัวหนอนชอบหลบอยู่ใต้ใบทำให้สังเกตได้ยาก เพราะมีสีเขียวคล้ายต้นงา การระบาดทำลายของหนอนชนิดนี้ จะก่อให้เกิดความเสียหายรุนแรง ในบางท้องที่และบางฤดูกาลเท่านั้น

        การป้องกันกำจัด

        1. ใช้พันธุ์ต้านทาน เช่น พันธุ์มหาสารคาม 60 ชัยบาดาล นครสวรรค์ บุรีรัมย์ และอุบลราชธานี 1

        2. ใช้สารสกัดสะเดาเข้มข้น 100 พีพีเอ็ม อัตรา 50 มิลลิลิตร ต่อน้ำ 20 ลิตร

        3. ไม่ทำลายแมลงวันก้นขน ซึ่งเป็นศัตรูธรรมชาติของหนอนผีเสื้อหัวกะโหลก

        4. ใช้สารเคมีป้องกันกำจัดแมลง ได้แก่ เมทามิโดฟอส (ทารารอน) ฉีดพ่น เมื่องพบหนอน 1 ตัว ต่อแถวงายาว 1 เมตร เมื่องาอายุ 5, 20 และ 40 วัน

        3. แมลงกินูนเล็ก

        แมลงชนิดนี้จะทำความเสียหายให้กับต้นงาได้อย่างรวดเร็ว การระบาดขึ้นอยู่กับสภาพภูมิอากาศและสภาพพื้นที่ มักทำลายต้นงาในระยะติดฝักในเวลากลางคืน ส่วนกลางวันจะหลบอยู่ตามต้นไม้ใหญ่รอบ ๆ แปลงปลูก ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ถ้าพบแมลงกินูนระบาด จะดักจับมาเป็นอาหารหรือจำหน่าย ซึ่งเป็นวิธีการกำจัดแมลงที่ได้ผลดีวิธีหนึ่ง

        การป้องกันกำจัด

        ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ปลูกงาต้นฤดูฝน (เมษายน-กรกฎาคม) ควรพ่นสารป้องกันกำจัดแมลงไว้ก่อน เพราะแมลงชนิดนี้จะเข้าทำลายใบช่วงกลางคืน และกัดกินอย่างรวดเร็ว โดยใช้สารเคมีป้องกันกำจัดแมลงที่ใช้ ได้แก่ ไมโนโครโตฟอส (อโซดริน, นูวาครอน) เมทามิโดฟอส ฉีดพ่นเมื่อพบการทำลายประมาณ 5-7 ครั้ง ทุก 7-10 วัน

        4. เพลี้ยจั๊กจั่น

        ตัวอ่อนและตัวเต็มวัย จะอาศัยดูดกินน้ำเลี้ยงตามใบและยอดอ่อนของงา นอกจากนี้เพลี้ยจั๊กจั่นยังเป็นแมลงพาหะนำโรคยอดฝอยมาสู่งาอีกด้วย ทำให้งาแสดงอาการยอดแตกเป็นพุ่มฝอยไม่ติดฝัก โดยช่วงที่เหมาะสมต่อการเกิดโรคคือ เมื่องามีอายุ 30-60 วัน

        การป้องกันกำจัด

        ใช้สารเคมีป้องกันกำจัดแมลง ได้แก่ เบโนมิล (เซฟวิน) โมโนโครโตฟอส (อะโซดริน) ฉีดพ่นในระยะก่อนออกดอก 1-2 ครั้ง ห่างกัน 7-10 วัน

        5. มวนเขียวข้าว

        พบมีการระบาดทั่วไปในแหล่งปลูกงา โดยเฉพาะการปลูกงาตามหลังข้าว จะเกิดการระบาดอย่างต่อเนื่องและรุนแรง เพราะเป็นแมลงศัตรูที่สำคัญของข้าว ตัวอ่อนฟักใหม่ๆ จะอยู่รวมกลุ่มกันดูดกินน้ำเลี้ยง งาบางต้นจะมีสีดำตลอดบริเวณยอด เนื่องจากตัวอ่อนของมวนเขียวข้าวรวมตัวกันดูดกินน้ำเลี้ยง เมื่อมวนโตขึ้นลำตัวขะเปลี่ยนเป็นสีเขียว แล้วจะเริ่มแยกไปดูดกินน้ำเลี้ยงตามต้นอื่น ๆ ขณะที่งาเริ่มออกดอกและติดฝัก หากถูกมวนเขียวข้าวทำลายอย่างรุนแรงจะทำให้มีการติดฝักน้อยลง

        การป้องกันกำจัด

        ใช้สารเคมีป้องกันกำจัดแมลง ได้แก่ ไตรอะโซฟอสอัตรา 50 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่นเมื่องาอายุ 1 เดือน

        6. มวนฝิ่น

        เป็นแมลงปากดูดขนาดเล็ก ตัวอ่อนมีสีเขียว ตัวเต็มวัยมีสีเหลืองหรือน้ำตาลอมดำ ทำลายโดยการดูดกินน้ำเลี้ยงจากยอด ใบอ่อน ดอก และฝักอ่อน ใบอ่อนที่ถูกทำลายจะมีการเจริญเติบโตช้า ใบที่โตขึ้นมีลักษณะเรียวเล็ก บิดงอมีสีเหลืองและมีรูโหว่ ทำให้ใบขาดเป็นรูกระจายโดยทั่วไปถ้าทำลายมาก ๆ ต้นงาจะแสดงอาการเหี่ยวเฉาได้

        การป้องกันกำจัด

        1. ใช้พันธุ์ต้นทาน เช่น พันธุ์นครสวรรค์และอุบลราชธานี 1

        2. ใช้สารสกัดสะเดาเข้มข้น 100 พีพีเอ็ม อัตรา 50 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่นทุก 7 วัน

        3. ใช้สารเคมีป้องกันกำจัดแมลง ได้แก่ ไตรอะโซฟอส (ฮอสตาธิออน) โมโนโครโตฟอส (อะโซดริน) ฉีดพ่นเหมือนการป้องกันกำจัดหนอนห่อใบงา

-----------------------------------------------

http://school.obec.go.th/bpr/901.02.5.htm

 

 

พันธุ์ของงา (เพิ่มเติม-ชยพร)

     1._งาดำ ได้แก่ งาดำนครสวรรค์, งาดำพิษณุโลก

     2._งาขาว ได้แก่ งาขาวเลย, งาขาวสมอทอด, งาขาวชัยบาดาล, งาขาวร้อยเอ็ด 1, งาขาวมหาสารคาม60

ข้อมูลทางด้านเมล็ดพันธุ์ (เพิ่มเติม-ชยพร)

     พันธุ์ อุบลราชธานี1

          _สี   แดง

          _น้ำหนักต่อ1,000 เมล็ด  3.16   กรัม

          _เปอร์เซนต์น้ำมัน       50.3

     พันธุ์ มหาสารคาม60

          _สี   ขาว

          _น้ำหนักต่อ1,000 เมล็ด  2.90   กรัม

          _เปอร์เซนต์น้ำมัน       46.3

     พันธุ์ ร้อยเอ็ด1

          _สี   ขาว

          _น้ำหนักต่อ1,000 เมล็ด  2.47   กรัม

          _เปอร์เซนต์น้ำมัน       43.8

ฤดูการปลูก (เพิ่มเติม-ชยพร)

     1. ปลูกในช่วงต้นฤดูฝนคือเดือน มีนาคม ถึงเดือน เมษายน จะเก็บเกี่ยวได้ในเดือนมิถุนายน

     2. ปลูกในช่วงปลายฤดูฝน  คือเดือน กรกฎาคม ถึงเดือน สิงหาคม จะเก็บเกี่ยวได้ในเดือน ตุลาคม ถึงเดือนพฤศจิกายน

     3. ปลูกในฤดูแล้ง คือเดือนธันวาคม ถึงเดือนมกราคม จะเก็บเกี่ยวได้ในเดือน มีนาคม

ผลผลิตเมล็ดพันธุ์ (เพิ่มเติม-ชยพร)

     90-120 กก./ไร่

 

ตารางที่ 7.3 การปฏิบัติงาน ในการผลิตเมล็ดพันธุ์งา

-----------------------------------------------------------------------------------------------

อายุ(วัน)                                                        การปฏิบัติ

-----------------------------------------------------------------------------------------------

ก่อนปลูก 7 วัน         _ไถดะ แล้วใส่ปุ๋ยคอกในอัตรา 3 ตันต่อไร่ และโรยปูนขาวใน

อัตรา 200 กิโลกรัมต่อไร่

                             _ไถพรวน เพื่อพรวนกลบปุ๋ยคอกและปูนขาวลงไปในดิน

อายุ 0 วัน                _ใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 เป็นปุ๋ยรองพื้นก่อนปลูก ในอัตรา

30-40 กิโลกรัมต่อไร่

                             _โรยเมล็ดพันธุ์เป็นแถว ด้วยระยะปลูก10 x 50 เซนติเมตร

                             _อัตราปลูก 1 ต้น/หลุม มีจำนวนต้น 32,000 ต้น/ไร่ 

                             _อัตราการใช้เมล็ดพันธุ์ 1-1.5 กิโลกรัม/ไร่ 

อายุ 21-25 วัน         _ใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 46-0-0 อัตรา 10-15 กิโลกรัมต่อไร่

                             _ตรวจพันธุ์ปน ครั้งที่ 1 (พืชมีใบจริง 2-3 คู่)

                             _ถอนแยกให้เหลือ 1 ต้นต่อหลุม

อายุ 28-30 วัน         _กำจัดวัชพืชครั้งที่ 1

อายุ 42-49 วัน         _พืชเริ่มออกดอก

                             _ตรวจพันธุ์ปน ครั้งที่ 2

                             _กำจัดวัชพืช ครั้งที่ 2

อายุ 90-100 วัน        _เก็บเกี่ยวโดยการตัดต้นบ่มและนวด

-----------------------------------------------------------------------------------------------

 

 

                                      __________________________

 

(เรียบเรียงโดย  รศ.ดร.ชยพร   แอคะรัจน์   www.oocities.org/university2u )