ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี

ว่าด้วย  การปฏิบัติและประสานงานกรณีทหารถูกหาว่า
กระทำความผิดอาญา พ.ศ.๒๕๔๔

 


             โดยที่เป็นการสมควรปรับปรุงข้อตกลงระหว่างกระทรวงกลาโหม กับกระทรวงมหาดไทย เรื่องการปฏิบัติ และประสานงานเกี่ยวกับกรณีที่ทหารเป็นผู้เสียหายหรือเป็นผู้ต้องหาในความผิดคดีอาญา เนื่องจากบัดนี้มีการโอนกรมตำรวจจากกระทรวงมหาดไทย ไปจัดตั้งเป็นสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และมีการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายในส่วนที่เกี่ยวกับตำรวจ ทหาร พนักงานฝ่ายปกครอง และวิธีพิจารณาความอาญาใหม่แล้ว ประกอบกับข้อตกลงบางข้อไม่สอดคล้องกับการดำเนินกระบวนการยุติธรรมในเวลาปกติอันมิใช่ภาวะสงคราม จึงสมควรปรับปรุงแก้ไขให้สอดคล้องกับสภาพสังคม และกฎหมายโดยเฉพาะประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย อีกทั้งควรกำหนดระเบียบวิธีปฏิบัติให้ชัดเจน สะดวกต่อผู้ปฏิบัติและสามารถดำเนินการได้รวดเร็วไม่เสียหายต่อรูปคดีโดยคำนึงถึงหลักความสามัคคีปรองดอง และหลักการประสานงานระหว่างตำรวจ ทหารกับพนักงานฝ่ายปกครองในการร่วมมือและอำนวยความสะดวก เพื่อป้องปราม ป้องกันหรือระงับเหตุวิวาทมิให้ลุกลามต่อไป อันจะช่วยรักษาความสงบเรียบร้อยของสังคมได้ประการหนึ่ง ขณะเดียวกันก็คำนึงถึงแบบธรรมเนียมของแต่ละฝ่าย ตลอดจนความจำเป็นขององค์กรในการดูแลรักษาสถานที่ ยานพาหนะ และอาวุธยุทโธปกรณ์ของตนให้ปลอดภัยและปกครองดูแลบุคลากรให้อยู่ในวินัยและได้รับการปฏิบัติอย่างมีศักดิ์ศรี เป็นธรรมตามควรแก่กรณี แต่ทั้งนี้ต้องมิให้กระทบต่อสิทธิเสรีภาพของบุคคลอื่น หรือฝ่าฝืนกฎหมายที่มีเพื่อคุ้มครองบุคคลทั่วไปโดยเสมอกัน อันเป็นการต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

            อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๑๑ (๘) และ (๙) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.๒๕๓๔ นายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี จึงวางระเบียบไว้ดังต่อไปนี้

            ข้อ ๑ ระเบียบนี้เรียกว่า "ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการปฏิบัติและประสานงานกรณีทหารถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดอาญา พ.ศ. ๒๕๔๔"

            ข้อ ๒ ระเบียบนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

            ข้อ ๓ ให้ยกเลิก

                     ๓.๑ ข้อตกลงระหว่างกระทรวงกลาโหมกับกระทรวงมหาดไทย เรื่องการปฏิบัติและประสานงานเกี่ยวกับกรณีที่ทหารเป็นผู้เสียหายหรือเป็นผู้ต้องหาในความผิดอาญา พ.ศ.๒๔๙๘
 
                    ๓.๒ ข้อตกลงระหว่างกระทรวงกลาโหมกับกระทรวงมหาดไทย เรื่องการปฏิบัติกระสานงานเกี่ยวกับกรณ๊ที่ทหารเป็นผู้เสียหายหรือเป็นผู้ต้องหาในความผิดอาญา พ.ศ.๒๔๙๘ (ฉบับที่ ๑) พ.ศ.๒๕๐๗

                     ๓.๓ ข้อตกลงระหว่างกระทรวงกลาโหมกับกระทรวงมหาดไทย เรื่องการปฏิบัติและประสานงานเกี่ยวกับกรณีที่ทหารเป็นผู้เสียหายหรือเป็นผู้ต้องหาในความผิดอาญา พ.ศ.๒๔๙๘ (ฉบับที่ ๒)พ.ศ.๒๕๑๒

                     ๓.๔ ข้อตกลงระหว่างกระทรวงกลาโหมกับกระทรวงมหาดไทย เรื่องการปฏิบัติและประสานงานเกี่ยวกับกรณีที่ทหารเป็นผู้เสียหายหรือเป็นผู้ต้องหาในความผิดอาญา พ.ศ.๒๔๙๘(ฉบับที่ ๓) พ.ศ.๒๕๑๘

                     ๓.๕ ข้อตกลงระหว่างกระทรวงกลาโหมกับกระทรวงมหาดไทย เรื่องการปฏิบัติและประสานงานเกี่ยวกับกรณีที่ทหารเป็นผู้เสียหายหรือเป็นผู้ต้องหาในความผิดอาญา พ.ศ.๒๔๙๘(ฉบับที่ ๔) พ.ศ.๒๕๒๕

                             บรรดาข้อตกลง ข้อบังคับ ระเบียบ หรือคำสั่งอื่นใดในส่วนที่กำหนดไว้แล้วในระเบียบนี้ หรือขัดแย้งกับระเบียบนี้ ให้ใช้ระเบียบนี้แทน

            ข้อ ๔ ในระเบียบนี้

                     "เขตที่ตั้งทหาร" หมายความว่า อาคาร สถานที่หรือบริเวณซึ่งมีหน่วยทหารตั้งอยู่

                     "คณะกรรมการ" หมายความว่า คณะกรรมการว่าด้วยการปฏิบัติและประสานงานกรณีทหารถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดอาญา

                     "ตำรวจ" หมายความว่า ข้าราชการตำรวจตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการตำรวจ

                     "ทหาร" หมายความว่า ข้าราชการทหาร ทหารกองประจำการ และนักเรียนในสังกัดกระทรวงกลาโหม ตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการทหาร

                     "พนักงานฝ่ายปกครอง" หมายความว่า เจ้าพนักงานซึ่งมิใช่ตำรวจและทหาร แต่มีอำนาจหน้าที่ในการรักษาความสงบเรียบร้อยของประชาชนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาหรือกฎหมายอื่น

                     "สิ่งสื่อสาร" หมายความรวมถึง จดหมาย โทรศัพท์ โทรเลข โทรสาร โทรพิมพ์ วิทยุ และการติดต่อสื่อสารส่งข้อความทางอิเล็กทรอนิกส์ทุกชนิด

            ข้อ ๕ ให้นายกรัฐมนตรีรักษาการตามระเบียบนี้
 

                               หมวด 1   คณะกรรมการว่าด้วยการปฏิบัติและประสานงาน
                                      กรณีทหารถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดอาญา

                              หมวด 2    การประสานงานระหว่างทหารกับพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ
                              หมวด 3     การจับกุม การควบคุมและการรับตัวทหารไปควบคุม
                              หมวด 4     การตรวจค้น
                              หมวด 5     การสอบสวน
                              หมวด 6      การส่งสำนวนการสอบสวน

หมวด ๑
คณะกรรมการว่าด้วยการปฏิบัติและประสานงาน
กรณีทหารถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดอาญา

            ข้อ ๖ องค์ประกอบของคณะกรรมการ

                     ให้มีคณะกรรมการว่าด้วยการปฏิบัติและประสานงานกรณีทหารถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดอาญาคณะหนึ่ง ประกอบด้วย
                     (๑) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม                     เป็นประธานกรรมการ
                     (๒) ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ                             เป็นรองประธานกรรมการ
                     (๓) ปลัดกระทรวงกลาโหม                                    เป็นกรรมการ
                     (๔) ปลัดกระทรวงมหาดไทย                                 เป็นกรรมการ
                     (๕) ปลัดกระทรวงยุติธรรม                                    เป็นกรรมการ
                     (๖) ผู้บัญชาการทหารสูงสุด หรือ
                           ผู้บัญชาการเหล่าทัพที่ผู้บัญชาการ
                           ทหารสูงสุดมอบหมาย                                      เป็นกรรมการ
                     (๗) รองอัยการสูงสุดคนหนึ่งตามที่
                           อัยการสูงสุดมอบหมาย                                     เป็นกรรมการ
                     (๘) ข้าราชการตำรวจระดับผู้บัญชาการ
                           ขึ้นไปคนหนึ่งตามที่ผู้บัญชาการ
                           ตำรวจแห่งชาติมอบหมาย                                 เป็นกรรมการ
                     (๙) อธิบดีกรมการปกครอง                                     เป็นกรรมการ
                     (๑๐) เจ้ากรมพระธรรมนูญ                                     เป็นกรรมการและเลขานุการ
           
ข้อ ๗ อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ

                     คณะกรรมการมีอำนาจหน้าที่ ดังนี้
                     (๑) วางมาตรการป้องกัน แก้ไข วินิจฉัย สั่งการหรือให้คำแนะนำแก่เจ้าหน้าที่หรือผู้เสียหายที่ต้องร้องเรียนเมื่อมีปัญหาในทางปฏิบัติอันเกิดจากการใช้ ระเบียบนี้ในกรณีที่เห็นว่าปัญหาใดเป็นเรื่องสำคัญอันควรได้รับคำวินิจฉัยหรือสั่งการให้มีผลเป็นการทั่วไปให้เสนอนายกรัฐมนตรีเพื่อพิจารณา
                     (๒) ออกข้อกำหนดเกี่ยวกับแบบของหนังสือ ขั้นตอนหรือรายละเอียดในการปฏิบัติและประสานงานกรณีทหารถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดอาญา ตลอดจนข้อกำหนดว่าด้วยการประพฤติปฏิบัติตนของทหาร พนักงานฝ่ายปกครอง และตำรวจ ในการรักษาความสงบเรียบร้อยของสังคม ข้อกำหนดดังกล่าวให้มีผลเมื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษา
                     (๓) เสนอนายกรัฐมนตรีให้พิจารณาปรับปรุงแก้ไขกฎ ระเบียบคำสั่ง หรือข้อบังคับ ซึ่งเกี่ยวข้องกับการปฏิบัติและประสานงานกรณีทหารถูกหาว่ากระทำความผิดอาญา
                     (๔) แต่งตั้งคณะอนุกรรมการ คณะทำงาน หรือมอบหมายให้บุคคลใดช่วยในการปฏิบัติงานของคณะกรรมการ
                     บุคคลใดเห็นว่าตนหรือสมาชิกในครอบครัวของตนได้รับความเสียหายหรือความไม่เป็นธรรม เนื่องจากการที่ทหาร พนักงานฝ่ายปกครอง หรือ ตำรวจ อ้างการปฏิบัติตามระเบียบนี้ หรือละเลยการปฏิบัติตามระเบียบนี้ บุคคลนั้นมีสิทธิร้องเรียนต่อคณะกรรมการหรือผู้ที่คณะกรรมการมอบหมายเพื่อแนะนำ วินิจฉัยหรือสั่งการได้ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการกำหนด
 

หมวด ๒
การประสานงานระหว่างทหารกับพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ

            ข้อ ๘ การประสานงานก่อนเกิดเหตุ

                     ให้ผู้บังคับบัญชาของทหาร พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ ส่งเสริมและสนับสนุน ให้เจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายมีความสามัคคีระหว่างกัน และพยายามป้องกันหรือระงับความขัดแย้งเพื่อมิให้เกิดความสงบเรียบร้อยขึ้นโดยเฉพาะในบริเวณนอกเขตที่ตั้งทหารในการนี้ พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจอาจขอให้ฝ่ายทหารจัดส่งสารวัตรทหารหรือเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารไปร่วมรักษาความสงบเรียบร้อยในบางสถานที่หรือบางโอกาสเพื่อ ป้องปรามหรือป้องกันเหตุร้ายได้ตามความจำเป็น

            ข้อ ๙ พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจขอความร่วมมือจากทหาร

                     ในกรณีที่พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจสืบทราบว่าทหารจะกระทำความผิดอาญา ใช้อิทธิพลในทางมิชอบ ก่อเหตุเดือดร้อนรำคาญแก่ประชาชนหรือ จะมีการก่อเหตุวิวาทนอกเขตที่ตั้งทหารไม่ว่าจะเป็นการกระทำโดยฝ่ายทหารทั้งหมดกรือมีทหารร่วมอยู่ด้วย ให้พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจตักเตือนห้ามปรามไปตามอำนาจ หน้าที่ถ้าเกรงว่าจะไม่เป็นผลให้แจ้งเหตุแก่ฝ่ายทหารโดยด่วนเพื่อขอความร่วมมือในการสอดส่องตรวจตรา ระงับยับยั้งหรือป้องกันมิให้มีเหตุร้ายเกิดขึ้น
                     เมื่อมีการร้องขอหรือแจ้งเหตุดังกล่าว ให้ฝ่ายทหารให้ความร่วมมือตามความจำเป็น ทั้งนี้ ทหาร พนักงานฝ่ายปกครอง หรือตำรวจที่ปฏิบัติหน้าที่เพื่อ ระงับเหตุต้องสวมเครื่องแบบ ส่วนจะนำอาวุธไปด้วยหรือไม่ ให้อยู่ในดุลพินิจของผู้บังคับบัญชาผู้เป็นหัวหน้าหน่วยของฝ่ายนั้นๆ แต่มิให้ใช้อาวุธ เว้นแต่จะมีความจำเป็นอัน มิอาจหลีกเลี่ยงได้ หัวหน้าชุดของแต่ละฝ่ายที่จะควบคุมไปต้องเป็นข้าราชการ นายทหาร หรือนายตำรวจชั้นสัญญาบัตร ห้ามมิให้ทหาร พนักงานฝ่ายปกครอง หรือตำรวจที่ มิได้รับคำสั่ง ไปยังสถานที่นั้นเองเป็นอันขาด

            ข้อ ๑๐ ทหารขอความร่วมมือจากพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ

                       เมื่อฝ่ายทหารจับกุมตัวทหารที่ถูกหาว่ากระทำผิดวินัยทหารหรือกระทำความผิดอาญาได้ และประสงค์จะใช้สถานที่ สิ่งสื่อสาร หรือยานพาหนะของพนักงานฝ่าย ปกครอง หรือตำรวจ เพื่อการสอบสวน หรือดำเนินการในส่วนของทหาร ให้ขอความร่วมมือจากพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจได้ตามความจำเป็น

            ข้อ ๑๑ หน่วยประสานงาน

                       การร้องขอ การขอความร่วมมือหรือการแจ้งเหตุใดๆ ต่อฝ่ายทหารตามระเบียบนี้ นอกจากการประสานงานกับผู้บังคับบัญชาต้นสังกัดของทหารผู้เกี่ยวข้องหรือ หน่วยทหารในเขตที่ตั้งทหารซึ่งใกล้ที่สุดกับบริเวณที่เกิดเหตุหรือเชื่อว่าจะเกิดเหตุโดยใช้สิ่งสื่อสารแล้ว พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจอาจประสานโดยใช้สิ่งสื่อสารกับหน่วยทหารอื่นใน พื้นที่ได้ตามความจำเป็น

            ข้อ ๑๒ การรายงานคดี

                       ในกรณีที่นายทหารชั้นสัญญาบัตรประจำการหรือข้าราชการกลาโหมพลเรือนชั้นสัญญาบัตรต้องหาว่ากระทำความผิดอาญาอันมิใช่ความผิดลหุโทษ ความผิดประเภทที่ พนักงานสอบสวนมีอำนาจเปรียบเทียบได้ หรือคดีที่เสร็จสิ้นหรือระงับไปในชั้นพนักงานสอบสวนแล้ว ให้พนักงานสอบสวนรายงานคดีตามลำดับถึงผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติหรือผู้ได้รับ มอบหมายเพื่อแจ้งให้กระทรวงกลาโหมทราบ
 

หมวด ๓
การจับกุม การควบคุมและการรับตัวทหารไปควบคุม

            ข้อ ๑๓ การจับกุมทหาร

                       ในกรณีมีคำสั่งหรือหมายของศาลให้จับทหารผู้ใด ให้พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจแจ้งให้ผู้บังคับบัญชาของทหารผู้นั้นทราบในโอกาสแรก เว้นแต่เป็นการ กระทำความผิดซึ่งหน้า หรือมีเหตุจำเป็นอย่างอื่นที่กฎหมายให้จับได้โดยไม่ต้องมีหมาย หรือมีเหตุอันควรเชื่อว่าทหารผู้นั้นจะหลบหนีการจับกุมตามหมาย
                       ในการจับกุมทหารผู้ใด ให้พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจแจ้งให้ทหารผู้นั้นไปยังที่ทำการของพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ หากไม่ยอมไป ขัดขวาง หรือ มีเหตุอันควรเชื่อว่าจะหลบหนี ให้จับกุมได้ตามประมวล กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และตามรัฐธรรมนูญมาตรา ๒๓๗ โดยอาจร้องขอให้สารวัตรทหารช่วยควบคุมตัวผู้นั้นไปส่งพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจก็ได้ หากทหารมีจำนวนมาก ให้พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจรีบแจ้งให้ฝ่ายทหารทราบโดยเร็วเพื่อมาช่วยระงับเหตุและร่วมมือในการจับกุมทหารผู้กระทำความผิดไปดำนเนินคดี
                       ในการจับกุมตามวรรคหนึ่ง หากทหารผู้นั้นสวมเครื่องแบบอยู่ ให้ปฏิบัติตามข้อ ๑๔ โดยอนุโลม และหลีกเลี่ยงการใช้เครื่องพันธนาการ เว้นแต่มีความจำเป็นอย่างยิ่ง และมิให้ใช้อาวุธระหว่างการจับกุมโดยไม่จำเป็น
                       ถ้าเป็นกรณีทหารและตำรวจหรือพนักงานฝ่ายปกครองกำลังก่อการวิวาทกัน ให้รีบรายงานผู้บังคับบัญชาของแต่ละฝ่ายทราบทันที และให้ผู้บังคับบัญชาที่เกี่ยวข้องรีบออกไประงับเหตุโดยเร็ว ส่วนการดำเนินการขั้นต่อไปให้ปฏิบัติตามความในวรรคก่อน

            ข้อ ๑๔ การควบคุมตัวทหาร

                       การควบคุมตัวทหารที่ถูกหาว่ากระทำความผิดอาญาและถูกจับกุมตัวไปยังที่ทำการของพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ ให้เป็นไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
                       ถ้าทหารที่ถูกจับกุมและควบคุมตัวสวมเครื่องแบบ ให้พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจดำเนินการดังนี้
                       (๑) แนะนำให้ทหารผู้นั้นทราบถึงเกรียติของเครื่องแบบทหาร และขอให้พิจารณาว่าจะถอดเครื่องแบบหรือไม่
                       (๒) ถ้าทหารไม่ยอมถอดเครื่องแบบ ให้แจ้งฝ่ายทหารทราบ เพื่อจัดส่งเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารมาแนะนำให้ถอดเครื่องแบบแล้วดำเนินการตามวรรคแรก หากฝ่ายทหาร ไม่มาภายในระยะเวลาอันสมควรหรือระยะเวลาที่กำหนด หรือดำเนินการใดๆ แล้วไม่เป็นผล ให้พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจมาปฏิบัติตามวรรคแรกได้ และบันทึกเหตุผลไว้ แล้วแจ้งเหตุนั้นให้ฝ่ายทหารทราบ

            ข้อ ๑๕ การปล่อยชั่วคราว

                       การปล่อยชั่วคราวหรือการพิจารณาคำขอประกันทหารผู้ต้องหาให้เป็นไปตามรัฐ ธรรมนูญมาตรา ๒๓๙ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาอาญา และระเบียบปฏิบัติว่าด้วยการนี้เช่นเดียวกับผู้ต้องหาทั่วไป

            ข้อ ๑๖ การรับตัวทหาร

                       เมื่อควบคุมตัวทหารไว้ตามข้อ ๑๔ แล้ว ให้พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจแจ้งการจับกุมให้ฝ่ายทหารที่เป็นผู้บังคับบัญชาของทหารผู้นั้นทราบทางสิ่งสื่อสาร หรือหนังสือโดยไม่ชักช้า และให้ดำเนินการดังต่อไปนี้
                       (๑) หากฝ่ายทหารแจ้งว่าไม่ประสงค์จะรับตัวผู้ต้องหานั้นไปหรือไม่มาขอรับตัวภายในระยะเวลาที่กำหนด ให้พนักงานสอบสวนควบคุมตัวและดำเนินการไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา แต่ฝ่ายทหารอาจ แจ้งขอรับตัวมาภายหลังจากนั้นได้ ในกรณีเช่นนี้ให้ดำเนินการตาม (๒)
                       (๒) หากฝ่ายทหารแจ้งว่าประสงค์จะรับตัวผู้ต้องหาไปจากพนักงานสอบสวนก็ให้นำหนังสือขอรับตัวผู้ต้องหามาแสดงต่อพนักงานสอบสวน ในกรณีนี้ให้พนักงาน สอบสวนทำหนังสือส่งมอบตัว และให้บันทึกเป็นหลักฐานรวมเข้าสำนวนไว้ พร้อมกับลงบันทึกในรายงานประจำวันด้วย
                       (๓) หากพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจเห็นว่ามีความจำเป็นในทางคดีที่จะต้องนำตัวทหารไปดำเนินการเพื่อประโยชน์แก่การรวบรวมพยานหลักฐานนอกจากการสอบปากคำ เช่น การนำชี้สถานที่เกิดเหตุ การชี้ตัว การทำแผนประทุษกรรม อาจขอดำเนินการก่อนที่จะส่งมอบตัวทหาร ผู้ต้องหาให้ฝ่ายทหารรับตัวไปก็ได้ ในกรณีเช่นนี้ถ้าผู้ต้องหาให้ฝ่ายทหาร ทนายความ หรือผู้อื่นซึ่งตนไว้วางใจอยู่ในสถานที่นั้นด้วย ก็ให้อนุญาตตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และรัฐธรรมนูญมาตรา ๒๔๑ และมาตรา ๒๔๒

                       หนังสือขอรับตัวและหนังสือส่งมอบตัวผู้ต้องหาตามข้อนี้ให้เป็นไปตามแบบที่คณะกรรมการกำหนด

                       ในการรับตัวทหารไปจากพนักงานสอบสวน หากพนักงานสอบสวนเห็นควรให้ฝ่ายทหารควบคุมตัวผู้ต้องหาไว้เพื่อประโยชน์ทางคดี ก็ให้แจ้งเป็นหนังสือและให้ฝ่ายทหารดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยธรรมนูญศาลทหาร
                       การรับตัวทหารที่ได้รับบาดเจ็บและถูกควบคุมตัวไว้ ณ สถานพยาบาล ให้ดำเนินาการดังกล่าวข้างต้นแต่ให้พนักงานสอบสวนแจ้งผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้องทราบด้วย

 

หมวด ๔
การตรวจค้น

 

            ข้อ ๑๗ การตรวจค้นตัวบุคคล

                       การตรวจค้นตัวทหาร ให้ผู้มีอำนาจหน้าที่ปฏิบัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

            ข้อ ๑๘ การตรวจค้นสถานที่และที่รโหฐาน

                       การตรวจค้นสถานที่และที่รโหฐานของทหารที่ไม่เกี่ยวกับราชการทหารให้เป็น ไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และรัฐธรรมนูญมาตรา ๒๓๘
                       การตรวจค้นสถานที่และที่รโหฐานอันเป็นเขตที่ตั้งทหารหรือของทางราชการทหาร นอกจากจะต้องปฏิบัติตามวรรคก่อนแล้ว ให้ผู้มีอำนาจหน้าที่ในการตรวจค้นแจ้งให้ผู้บังคับบัญชาหรือผู้รับผิดชอบเขตที่ตั้งทหารนั้นส่งผู้แทนไปอยู่ในการตรวจค้นด้วย

            ข้อ ๑๙ การตรวจค้นยานพาหนะ

                       การตรวจค้นยานพาหนะของทหารไม่ว่าจะเป็นของส่วนตัวหรือทางราชการทหารหรือการค้นตัวทหารที่อยู่ในยานพาหนะนั้นไม่ว่าจะสวมเครื่องแบบหรือไม่ก็ตาม ให้ผู้มีอำนาจหน้าที่ปฏิบัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และรัฐธรรมนูญ และให้ทหารผู้ครอบครองหรือผู้ควบคุมยานพาหนะให้ความร่วมมือและความสะดวกจนกว่าการตรวจค้นจะเสร็จสิ้น
                       การตรวจค้นยานพาหนะของทางราชการทหาร เช่น รถสงคราม เครื่องบิน เรือซึ่งชักธงราชนาวี ขณะปฏิบัติหน้าที่ราชการ และมีนายทหารชั้นสัญญาบัตรควบคุมยานพาหนะนั้นมา ผู้มีอำนาจหน้าที่ตรวจค้นจะตรวจค้นได้ต่อเมื่อมีหนังสืออนุมัติจากผู้บังคับบัญชายานพาหนะนั้น ๆ ตั้งแต่ชั้นผู้บังคับบัญชากองพลหรือเทียบเท่าขึ้นไป
                       การตรวจค้นยานพาหนะของทางราชการทหารอันผู้บังคับบัญชาฝ่ายทหารผู้เป็นหัวหน้าของหน่วยนั้นมีหนังสือรับรองว่าจะเป็นเหตุให้การปฏิบัติการยุทธพึงเสียเปรียบ ให้งดการตรวจค้น

            ข้อ ๒๐ การตรวจค้นสิ่งของราชการลับ

                       ในการตรวจค้น ถ้าได้รับแจ้งจากฝ่ายทหารว่าสิ่งของใดเป็นของราชการลับทางทหาร ให้ดำเนินการ ดังนี้
                       (๑) เมื่อนายทหารชั้นสัญญาบัตรที่เป็นเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้องทำหนังสือรับรองกำกับสิ่งของนั้นและแจ้งให้พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจทราบ ให้ผู้มีอำนาจหน้าที่ตรวจค้นงดเว้นการตรวจเฉพาะสิ่งของดังกล่าว แล้วทำบันทึกเหตุงดเว้นการตรวจค้น พร้อมทั้งลงชื่อรับรองทุกฝ่ายแล้วรีบรายงานผู้บังคับบัญชาทราบ
                       (๒) ถ้าผู้มีอำนาจหน้าที่ตรวจค้นซึ่งมีตำแหน่งตั้งแต่ชั้นปลัดอำเภอหรือหัวหน้าสถานีตำรวจขึ้นไปยังติดใจสงสัยที่จะตรวจค้น ให้ทำเครื่องหมายลงชื่อทุกฝ่ายปิดผนึกหรือกำกับไว้ที่หีบห่อหรือภาชนะบรรจุสิ่งของนั้นแล้วจัดส่งสิ่งของนั้นไปยังสถานที่ปลายทางตามที่ตกลงกัน เพื่อร่วมกันแต่งตั้งคณะกรรมการเปิดตรวจสิ่งของนั้นต่อไป
                       ถ้าสิ่งของใดอาจก่อให้เกิดอันตรายแก่ผู้ตรวจค้นหรือก่อให้เกิดความเสียหายอันจะทำให้ทางราชการได้รับความเสียหาย ไม่ว่าจะเป็นสิ่งของราชการลับหรือไม่ก็ตาม ให้ดำเนินการตามวรรคก่อนโดยอนุโลม
                       การตรวจค้นสิ่งของใดอันผู้บังคับบัญชาฝ่ายทหารผู้เป็นหัวหน้าของหน่วยนั้นมีหนังสือรับรองว่าจะเป็นเหตุให้การปฏิบัติการยุทธพึงเสียเปรียบให้งดการตรวจค้น

            ข้อ ๒๑ การประสานการตรวจค้น

                       ในการตรวจค้นตัวบุคคล สถานที่และที่รโหฐาน ยานพาหนะหรือสิ่งของตามหมวดนี้ ให้กระทำในเวลาและสถานที่อันสมควร โดยใช้ความสุภาพนุ่มนวลตามควรแก่กรณี ถ้ามีสารวัตรทหารอยู่ ณ สถานที่หรือบริเวณที่จะตรวจค้น ให้ผู้มีอำนาจหน้าที่ตรวจค้นประสาน โดยขอสารวัตรทหารมาร่วมเป็นพยานในการตรวจค้นด้วย แต่ถ้าไม่มีหรือมีแต่สารวัตรทหารไม่ยินยอมร่วมเป็นพยานก็ให้บันทึกไว้ และเมื่อผู้มีอำนาจหน้าที่ตรวจค้นดำเนินการเสร็จแล้ว ให้ทำบันทึกพร้อมกับให้ทุกฝ่ายลงชื่อรับรองและต่างยึดถือไว้ฝ่ายละหนึ่งฉบับ

 

หมวด ๕
การสอบสวน

 

            ข้อ ๒๒ การสอบสวนคดีทหาร

                       ฝ่ายทหารจะทำการสอบสวนการกระทำความผิดของทหารตามกฎหมายว่าด้วยธรรมนูญศาลทหารได้เฉพาะกรณีดังต่อไปนี้
                       (๑) คดีที่อยู่ในอำนาจศาลทหารตามกฎหมายว่าด้วยธรรมนูญศาลทหาร
                       (๒) คดีที่ผู้กระทำผิดและผู้เสียหายต่างอยู่ในอำนาจศาลทหารด้วยกันตามกฎหมายว่าด้วยธรรมนูญศาลทหาร ไม่ว่าจะเกิดขึ้นในเขตที่ตั้งทหารหรือไม่ก็ตาม
                       (๓) คดีอาญาทีเกี่ยวด้วยวินัยทหารตามกฎหมายว่าด้วยวินัยทหาร
                       (๔) คดีอาญาที่เกี่ยวด้วยความลับของทางราชการทหาร
                       ในกรณีที่ฝ่ายทหารร้องขอให้พนักงานสอบสวนทำการสอบสวนโดยลำพังหรือร่วมกับฝ่ายทหารหรือช่วยดำเนินการอย่างอื่นเพื่อประโยชน์ในการรวบรวมพยานหลักฐานเช่น การสืบสวน การค้นหรือการจับกุม ให้พนักงานสอบสวนให้ความร่วมมือตามที่ฝ่ายทหารร้องขอ
                       คดีตามวรรคหนึ่ง ถ้าฝ่ายปกครองหรือตำรวจได้รับคำร้องทุกข์หรือคำกล่าวโทษไว้ก่อนแล้ว หรือได้ประสบเหตุและมีความจำเป็นต้องสอบสวน ให้พนักงานสอบสวนทำการสอบสวนแล้วรีบแจ้งให้ฝ่ายทหารทราบ ถ้าฝ่ายทหารไม่มารับตัวและไม่แจ้งข้อขัดข้องให้ทราบ ให้พนักงานสอบสวนดำเนินการสอบสวนต่อไปได้จนเสร็จสิ้น

            ข้อ ๒๓ การสอบสวนคดีอาญา

                       ในกรณีที่ทหารเป็นผู้ต้องหาในคดีอาญา ให้พนักงานสอบสวนแจ้งผู้บังคับบัญชาของทหารผู้นั้นทราบ แล้วดำเนินการสอบสวนไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และให้แจ้งสิทธิของผู้ต้องหาตามรัฐธรรมนูญ ให้ผู้ต้องหาทราบ ดังนี้
                       (๑) สิทธิที่จะขอประกันตัวตามมาตรา ๒๓๙
                       (๒) สิทธิที่จะพบและปรึกษาทนายความเป็นการเฉพาะตัวในกรณีถูกควบคุมหรือคุมขังตามมาตรา ๒๓๙
                       (๓) สิทธิที่จะได้รับการเยี่ยมตามสมควรในกรณีถูกควบคุมหรือคุมขังตามมาตรา ๒๓๙
                       (๔) สิทธิที่จะได้รับการสอบสวนด้วยความรวดเร็ว ต่อเนื่องและเป็นธรรมตามมาตรา ๒๓๙
                       (๕) สิทธิที่จะให้ทนายความหรือผู้ซึ่งตนไว้วางใจ เช่น นายทหารพระธรรมนูญ หรือนายทหารชั้นสัญญาบัตร เข้าฟังการสอบปากคำของตนได้ตามมาตรา ๒๔๑
                       (๖) สิทธิที่จะตรวจหรือคัดสำเนาคำให้การของตนในชั้นสอบสวนหรือเอกสารประกอบคำให้การของตนตามหลักเกณฑ์ของกฎหมาย เมื่อพนักงานอัยการได้ยื่นคำฟ้องคดีต่อศาลแล้วตามมาตรา ๒๔๑
                       (๗) สิทธิที่จะได้รับความช่วยเหลือจากรัฐด้วยการจัดหาทนายความให้ตามหลักเกณฑ์ของกฎหมายตามมาตรา ๒๔๒
                       (๘) สิทธิที่จะไม่ให้ถ้อยคำเป็นปฏิปักษ์ต่อตนเองอันอาจทำให้ตนถูกฟ้องคดีอาญาตามมาตรา๒๔๓
                       (๙) สิทธิที่จะได้รับการเตือนว่าถ้อยคำซึ่งเกิดจากการจูงใจ มีคำมั่นสัญญา ขู่เข็ญ หลอกลวง ถูกทรมาน ใช้กำลังบังคับหรือกระทำโดยมิชอบประการใด ๆ ไม่อาจรับฟังเป็นพยานหลักฐานได้ตามมาตรา ๒๔๓
                       ในกรณีมีเหตุอันควรสงสัยว่าทหารผู้ต้องหาได้กระทำหรือจะกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาทหารหรือกฎหมายว่าด้วยวินัยทหารด้วย ผู้บังคับบัญชาของทหารผู้ต้องหาอาจส่งนายทหารพระธรรมนูญ หรือนายทหารชั้นสัญญาบัตรอื่นใดเข้าฟังการสอบปากคำทหารผู้ต้องหาก็ได้
                       ให้นำข้อ ๑๔ ข้อ ๑๕ และข้อ ๑๖ มาใช้กับการควบคุมตัวและการปล่อยชั่วคราวทหารผู้ต้องหาในระหว่างการสอบสวนโดยอนุโลม ทั้งนี้ ให้คำนึงถึงกำหนดเวลา ควบคุมตัวตามกฎหมายว่าด้วยรัฐธรรมนูญศาลทหาร และประมวลกฎหมาย วิธีพิจารณาความอาญาด้วย ในกรณีที่ฝ่ายทหารเห็นว่าการสอบสวนล่าช้า จะขอให้พนักงานสอบสวนเร่งรัดหรือชี้แจงเหตุผลก็ได้

            ข้อ ๒๔ คดีในอำนาจศาลแขวงและคดีที่เปรียบเทียบได้

                       ถ้าทหารผู้ต้องหาคดีอาญาซึ่งอยู่ในอำนาจศาลแขวงให้การรับสารภาพตลอดข้อหา ให้พนักงานสอบสวนดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง โดยแจ้งให้ฝ่ายทหารทราบการจับกุมและการฟ้องคดีด้วย
                       ถ้าคดีอาญาที่ทหารต้องหาว่ากระทำความผิดนั้นอยู่ในอำนาจของพนักงานสอบสวนที่จะเปรียบเทียบได้ตามกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นคดีที่อยู่ในอำนาจศาลทหารหรือไม่ก็ตาม และทหาร ผู้ต้องหายินยอมให้เปรียบเทียบได้ ให้พนักงานสอบสวนทำการเปรียบเทียบตามอำนาจหน้าที่ ถ้าผู้ต้องหาไม่ยินยอมให้เปรียบเทียบ ก็ให้ส่งสำนวนการสอบสวนไปยังพนักงานอัยการหรืออัยการทหารเพื่อดำเนินการต่อไป

            ข้อ ๒๕ การสอบสวนกรณีทหารและตำรวจก่อการวิวาทกัน

                       ในกรณีที่ทหารและตำรวจก่อการวิวาทกันไม่ว่าจะมีบุคคลอื่นร่วมกระทำความผิดหรือได้รับความเสียหายด้วยหรือไม่ก็ตาม ให้ฝ่ายตำรวจรายงานตามลำดับชั้นถึงผู้บัญชาการตำรวจ นครบาลหากเหตุเกิดในกรุงเทพมหานคร หรือหัวหน้าตำรวจภูธรจังหวัด หากเหตุเกิดในจังหวัดอื่น เพื่อให้แต่งตั้งคณะพนักงานสอบสวนร่วมกันระหว่างฝ่ายตำรวจกับฝ่ายทหารมีจำนวนตามความจำเป็น แห่งรูปคดี โดยให้แต่ละฝ่ายมีจำนวนเท่ากัน เมื่อการสอบสวนเสร็จสิ้น ให้พนักงานสอบสวนฝ่ายตำรวจสั่งคดีไปตามอำนาจหน้าที่ประกอบกับผลการสอบสวนนั้น ให้ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติหรือผู้ได้รับมอบหมายเป็นผู้มีความเห็นทางคดีแล้วส่งสำนวนคดีให้พนักงานอัยการดำเนินการต่อไป
                       หากพนักงานสอบสวนฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดไม่มาร่วมการสอบสวนตามกำหนดนัด ให้คณะพนักงานสอบสวนร่วมกันเท่าที่มีอยู่ดำเนินการสอบสวนต่อไปจนแล้วเสร็จเพื่อมิให้การสอบสวนล่าช้าจนเกิดความเสียหายหรือเป็นผลให้ผู้ต้องหาถูกควบคุมตัวไว้นานทั้งนี้ ให้บันทึกการที่ ฝ่ายใดไม่มาร่วมทำการสอบสวนติดสำนวนไว้ด้วย

                       ในระหว่างรอการแต่งตั้งหรือรอการประชุมคณะพนักงานสอบสวนร่วมกันตามวรรคหนึ่ง ให้พนักงานสอบสวนฝ่ายตำรวจปฏิบัติหน้าที่เท่าที่จำเป็นก่อนได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เพื่อมิให้เสียหายแก่รูปคดีหรือเพื่อประโยชน์แก่ความเที่ยงธรรมของคดี

            ข้อ ๒๖ การชันสูตรพลิกศพ

                       ในกรณีที่ทหารตายโดยการกระทำของเจ้าพนักงานซึ่งอ้างว่าปฏิบัติการตามหน้าที่ หรือตายในระหว่างอยู่ในความควบคุมของเจ้าพนักงานซึ่งอ้างว่าปฏิบัติการตามหน้าที่ให้จัดให้มีการสอบสวนและชันสูตรพลิกศพตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และให้พนักงานสอบสวนแจ้งให้ผู้บังคับบัญชาฝ่ายทหารหรือหน่วยทหารตามข้อ ๑๑ ทราบเพื่อส่งนายทหารสัญญาบัตรเข้าฟังการสอบสวนและร่วมสังเกตการชันสูตรพลิกศพด้วย

 

หมวด ๖
การส่งสำนวนการสอบสวน

      
ข้อ ๒๗ การส่งสำนวนและผู้ต้องหาให้อัยการ

                       เมื่อการสอบสวนเสร็จสิ้นลง ให้พนักงานสอบสวนดำเนินการ ดังนี้
                       (๑) ถ้าเป็นคดีอาญาซึ่งอยู่ในอำนาจศาลทหารตามกฎหมายว่าด้วยธรรมนูญศาลทหาร ให้ส่งสำนวนการสอบสวนไปยังอัยการทหารเพื่อดำเนินการตามหน้าที่ต่อไปส่วนผู้ต้องหานั้น ถ้าได้มอบตัวให้ผู้บังคับบัญชารับไปควบคุมไว้ก่อนแล้วตามข้อ ๑๖ ก็อาจไม่ต้องขอรับตัวมาดำเนินการอีก แต่ให้บันทึกและแจ้งให้อัยการทหารทราบว่าได้มอบตัวผู้ต้องหาให้ผู้บังคับบัญชาผู้ใดรับตัวไปแล้วตั้งแต่เมื่อใด
                       (๒) ถ้าเป็นคดีอาญาซึ่งอยู่ในอำนาจศาลยุติธรรม ให้ส่งสำนวนการสอบสวนพร้อมทั้งตัวทหารผู้ต้องหาไปยังพนักงานอัยการเพื่อดำเนินการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาต่อไป การส่งตัวทหารผู้ต้องหาที่อยู่ในการควบคุมของผู้บังคับบัญชา ให้พนักงานสอบสวนแจ้งให้ผู้บังคับบัญชาเพื่อส่งตัวทหารผู้นั้นมายังพนักงานสอบสวนตามสถานที่และเวลาที่กำหนดเพื่อส่งให้พนักงานอัยการพร้อมกับสำนวน
                       ในกรณีที่พนักงานอัยการสั่งฟ้องไม่ทันในวันนั้น หากมิได้มีการปล่อยชั่วคราว ให้พนักงานอัยการมอบตัวผู้ต้องหาให้อยู่ในความควบคุมของพนักงานสอบสวนสำหรับในกรุงเทพมหานคร ส่วนในจังหวัดอื่นให้ฝากตัวผู้ต้องหาให้เรือนจำควบคุมไว้
           
ข้อ ๒๘ การส่งสำนวนให้อัยการทหาร

                       ให้พนักงานสอบสวนส่งสำนวนการสอบสวนไปยังอัยการทหารเพื่อดำเนินการ ตามกฎหมายว่าด้วยธรรมนูญศาลทหารต่อไป ในกรณีดังต่อไปนี้
                       (๑) คดีอาญาซึ่งพนักงานสอบสวนมีอำนาจเปรียบเทียบได้และเปรียบเทียบเสร็จแล้วหรือทหารผู้ต้องหาไม่ยอมให้เปรียบเทียบตามข้อ ๒๔ วรรคสอง
                       (๒) คดีอาญาซึ่งอยู่ในอำนาจศาลทหารและยังจับตัวทหารผู้ต้องหาไม่ได้
                       (๓) คดีอาญาซึ่งอยู่ในอำนาจศาลทหารและจับตัวทหารผู้ต้องหาได้แต่หลักฐานไม่พอฟ้องหรือพนักงานสอบสวนเห็นควรสั่งไม่ฟ้อง
                       (๔) กรณีมีความตายเกิดขึ้นโดยการกระทำของฝ่ายทหารซึ่งอ้างว่าปฏิบัติการตามหน้าที่
                       (๕) กรณีที่พนักงานสอบสวนทำการสอบสวนคดีทหารตามที่ฝ่ายทหารร้องขอตามข้อ ๒๒ วรรคสอง เสร็จสิ้นแล้ว
                       ในกรณีที่ฝ่ายทหารเป็นผู้ทำการสอบสวนเกี่ยวกับคดีที่ต้องทำการชันสูตรพลิกศพ เมื่อพนักงานสอบสวนชันสูตรพลิกศพตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาเสร็จแล้ว ให้พนักงานสอบสวนส่งสำนวนชันสูตรพลิกศพไปให้เจ้าหน้าที่สอบสวนฝ่ายทหารตามที่ได้รับการร้องขอ
           
ข้อ ๒๙ การแจ้งผลคดีเพื่อการประสานงาน

                       ในคดีอาญาซึ่งทหารเป็นผู้ต้องหาและอยู่ในอำนาจศาลยุติธรรมให้พนักงานสอบสวนและพนักงานอัยการแจ้งผลคดีเพื่อการประสานงาน ดังนี้
                       (๑) เมื่อพนักงานสอบสวนเห็นควรสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้อง ให้หัวหน้าพนักงานสอนสวนหรือหัวหน้าสถานีตำรวจที่เกี่ยวข้องแจ้งความเห็นทางคดีชั้นสอบสวนไปยังฝ่ายทหาร
                       (๒) เมื่อพนักงานอัยการมีคำสั่งฟ้องหรือมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องแล้วให้พนักงานอัยการแจ้งคำสั่งดังกล่าวไปยังฝ่ายทหาร
                       (๓) เมื่อศาลยุติธรรมมีคำพิพากษาประการใด ให้พนักงานอัยการแจ้งคำพิพากษาของทุกชั้นศาลไปยังฝ่ายทหาร
                       (๔) ในกรณีที่ทหารผู้กระทำผิดต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษจำคุกและฝ่ายทหารที่ได้รับแจ้งต้องการที่จะรับตัวทหารผู้กระทำความผิดนั้นต้องคุมขังอยู่ได้ทราบ และให้ผู้บัญชาการเรือนจำแจ้งให้ฝ่ายทหารที่แจ้งการอายัดตัวทราบเมื่อใกล้กำหนดวันเวลาที่จะปล่อยตัวไป
                       (๕) เมื่อจะมีการปล่อยตัวทหารผู้กระทำความผิด หากมีเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารมารับตัว ก็ให้มอบตัวไป แต่ถ้าไม่มีก็ให้ผู้ที่มีอำนาจสั่งปล่อยหรือพนักงานอัยการในกรณีที่ศาลยุติธรรมเป็นผู้สั่งปล่อย แจ้งให้ทหารผู้นั้นไปรายงานตัวต่อผู้บังคับบัญชาต้นสังกัด
                       (๖) ถ้าทหารผู้นั้น ต้องหาในคดีอื่นซึ่งจะต้องนำตัวไปฟ้องยังศาลทหารอีกด้วย หรือผู้บังคับบัญชาฝ่ายทหารต้องการตัว ให้ฝ่ายทหารมีหนังสืออายัดตัวไว้กับพนักงานสอบสวน และให้พนักงานสอบสวนบันทึกไว้ในสำนวนการสอบสวนว่าทางทหารยังต้องการตัว และให้ผู้บังคับบัญชาฝ่ายทหารติดต่อกับพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการเพื่อรับตัวทหารนั้นไป
           
ข้อ ๓๐ การดำเนินคดีกับบุคคลบางประเภท

                       การดำเนินคดีอาญากับบุคคลบางประเภท ให้ดำเนินการดังต่อไปนี้
                       (๑) ในกรณีที่ทหารผู้ต้องหาว่ากระทำผิดคดีอาญาและอยู่ในอำนาจศาลทหารเป็นเด็กหรือเยาวชนตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว ให้พนักงานสอบสวนดำเนินการไปตามกฎหมายนั้นทุกประการ และแจ้งให้ผู้บังคับบัญชาของทหารผู้ต้องหานั้นทราบ
                       (๒) ในกรณีที่ผู้ต้องหาเป็นพลเรือนในสังกัดราชการทหาร แต่การกระทำความผิดคดีอาญาเกิดขึ้นในขณะที่บุคคลนั้นปฏิบัติหน้าที่ยามรักษาสถานที่ราชการทหาร ให้นำความในข้อ ๗ ข้อ ๑๑ และข้อ ๑๖ มาใช้โดยอนุโลม
                       (๓) ในกรณีที่ผู้ต้องหาเป็นอาสาสมัครทหารพรานที่อยู่ในความควบคุมดูแลของทางราชการทหาร และการกระทำความผิดคดีอาญาเกิดในขณะที่บุคคลนั้นยังสังกัดอยู่ในหน่วยอาสาสมัครทหารพราน ให้นำความในข้อ ๗ ข้อ ๘ ข้อ ๙ ข้อ ๑๐ ข้อ ๑๑ และข้อ ๒๓ มาใช้โดยอนุโลม
 

                                 ประกาศ      ณ      วันที่      ๓๐       พฤศจิกายน      พ.ศ.๒๕๔๔

                                                          (ลงชื่อ)   พันตำรวจโท   ทักษิณ    ชินวัตร
                                                                                        ( ทักษิณ    ชินวัตร )
                                                                                            นายกรัฐมนตรี