ถ้อยคำเก่า ในมุมมองใหม่

www.sakulthai.com

 

มีถ้อยคำและสำนวนในภาษาไทยที่เราคุ้นเคยมานาน แต่เมื่อมาทบทวนดูอีกครั้ง ก็ได้เห็นมุมมองใหม่ที่น่าคิดไม่น้อย

คำแรกที่คิดว่าน่าจะเป็นคำไทยแท้ๆ และเขียนตรงไปตรงมาปราศจากตัวการันต์ นั่นคือคำว่า “เม้า” ซึ่งผู้เขียนไม่เชื่อว่ามาจากภาษาอื่น จนต้องสะกดว่า “เม้าท์” หรือ “เม้าธ์” อย่างที่พวกที่เป็นทาสภาษาอังกฤษคิดเทียบกับคำว่า mouth ซึ่งแปลตรงๆว่า “ปาก”

จริงอยู่ที่พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานไม่มีคำวา “เม้า” ที่คนไทยทั่วไปรู้มา แต่เมื่อไรไม่รู้ว่ามีความหมายในเชิง “พูดคุยแบบไม่รู้จักยับยั้งว่าจะเกิดผลดีหรือร้ายแก่ใครๆ พูดไปเรื่อยๆไม่มีสาระ ช่างพูด” (อย่างที่ชาวบ้านเรียกว่าพูดแบบไม่มีหูรูด” หรือ “ฆ้องปากแตก” พูดไปเรื่อยเฉื่อยโดยไม่คำนึงว่าจะกระทบคนอื่นอย่างไร

ถ้าไม่ใช่คำไทยเก่าแก่แล้ว จะมีคนชื่อเล่นมากมายว่า “เม้า” ที่คนโบราณเรียกกันมาแสนนานว่าโดยความเอ็นดูปนหมั่นไส้ได้อย่างไร เช่น “ยายเม้าปากปลาร้า ยายเม้าฆ้องปากแตก” หรือที่ร้ายกว่านั้น “ยายเม้าปากหมา” ก็มี (ขออภัยท่านที่ชื่อเม้าผู้น่ารักมากมาย แม้ที่เป็นเพื่อนสนิทก็หลายคน!)

คำที่สอง ก็เป็นคำที่ออกเสียง “มุก” เจ้าปัญหา ที่มีผู้ถกเถียงกันมากว่าควรสะกดเป็น “มุก” หรือ “มุข”

ผู้เขียนเคยเขียนไว้ในบางที่มาแล้วหลายครั้ง โดยเชื่อว่า คำนี้น่าจะเป็นคำไทยแท้ ด้วยเหตุหลายประการ

ประการแรก เป็นคำพยางค์เดียวโดดๆ

ประการที่สอง สะกดตรงตามมาตรา คือ “มุก” แม่กก

ประการที่สาม เมื่อพูดถึง “มุก” พูดออกมาแล้วเข้าใจได้ในทันที คือเข้าใจกันได้ทันทีว่าหมายถึงแนวคิดหรือคำพูดที่คิดขึ้นมา เช่น “มุกตลก” ซึงหมายถึงแนวคิดหรือคำพูดที่ใครคิดแล้วพูดหรือแสดงออกมาให้คนเห็นคนได้ยินได้ฟังแล้วรู้สึกขำหรือขันตามไปด้วย

ไม่ต้องแปลอีกชั้นหนึ่งอย่างคำที่มาจากภาษาต่างประเทศ เช่น “มุข” ที่แปลว่า “หน้า ปาก ทาง หัวหน้า ส่วนของตึกหรือเรือนที่ยื่นออกมาจากส่วนใหญ่ อยู่ด้านหน้า” แถมยังมีที่แปลความหมายทำนองเดียวกัน เช่น “มุขยประโยค” (ชื่อ-คำในหลักภาษาหรือไวยากรณ์ ที่หมายความว่าข้อความที่เป็นส่วนหรือประโยคที่สำคัญ ไม่ใช่ข้อความหรือประโยคที่มีความสำคัญรองลงไปทีเรียกว่า “อนุประโยค” หรือประโยคน้อยหรือประโยคตาม

นอกจากนี้ยังมีคำอื่นที่ดูอย่างไรก็เป็นคำที่มาจากภาษาอื่น เช่น มุขกระสัน (มุขที่เชื่อมระหว่างพระที่นั่งองค์หนึ่งกับอีกองค์หนึ่ง) มุขเด็จ (มุขที่ยื่นออกมาจากหน้ามุขใหญ่) มุขบาฐ หรือ มุขปาฐะ (ปากพูด การพูดต่อปากกันมา) มุขมนตรี (ที่ปรึกษา ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่) มุขลด (มุขที่ลดลงมาเป็นชั้นๆ) มุโขโลกนะ (อ่าน มุ-โข-โล-กะ-นะ) ภาษาบาลี แปลว่า เห็นแก่หน้า

เดิมในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานฉบับก่อน ไม่ได้เก็บคำ “มุก” ไว้ เพราะยังหาหลักฐานและคำจำกัดความให้ชัดเจนถึงที่ไปที่มาโดยที่ราชบัณฑิตยยังตกลงไม่ได้ ครั้นพจนานุกรมฉบับปัจจุบัน เก็บเอา “มุกตลก” ไว้ด้วย แต่ไม่มีคำอธิบายที่ชัดเจนเพียงพอ จึงมีผู้รู้บางคน รวมทั้ง “พจนานุกรมฉบับมติชน” เก็บคำ “มุข” ไว้ โดยให้คำที่พวกตลกคิดขึ้นมานำเสนอตลกให้คนเห็นขำ-ขัน ยืนยันว่าใช้ “มุขตลก”

แต่ใครที่ได้อ่าน “มติชน” รายวันฉบับวันที่ ๔ พฤศจิกายนที่ผ่านจะได้พบจดหมายเปิดผนึกจาก ศาสตราจารย์พิเศษจำนงค์ ทองประเสริฐ (ความจริงท่านก็คงปิดผนึกมิดชิด เมื่อหนังสือพิมพ์มติชนได้รับและนำมาลงพิมพ์เผยแพร่ ผู้เขียนก็เลยเรียกว่าเปิดผนึกเสียเลย) ท่านอธิบายและยืนยันว่าราชบัณฑิตได้ประชุมกัน พิจารณาเรื่องมุกหรือมุขหลายครั้ง และมีมติว่า “มุก (ตลก)” นั้น ท่ายืนยันเอกสารเก่าๆว่าต้องเขียน “มุก” (เนื่องจากข้อเขียนของท่านยาว แต่เห็นว่าเป็นประโยชน์มาก ผู้เขียนขอเวลา ขออนุญาตท่านเสียก่อนให้เรียบร้อย ถ้าท่านกรุณาอนุญาตก็จะนำมาลงพิมพ์เผยแพร่ ให้ได้เห็นเหตุผลและได้ความรู้ที่ควรจะเป็นต่อไป

ส่วนนักวิชา (ขาดๆ) เกิน (ๆ) อย่าง “สุดสงวน” ขอยืนยันว่าจะเขียน “มุก” ตามนิสัยอันดื้อดึงของตนและสหาย “ยามภาษา” ร่วมสมัชชากาแฟของเราต่อไป (เฉกเช่นที่เรายืนยันเขียน “สั-ง-สั-น-ท-น์” ให้เสมือน “สั่งสนทนา” คำดั้งเดิมในภาษาของเขา แม้ไอ้เจ้าคอมพิวเตอร์ที่พิมพ์อยู่นี้ มันจะดึงดันแก้เป็น “สังสรรค์” ของมันตลอดเวลาก็ตาม

คำที่สามคือคำที่ออกเสียงว่า “ไน” (ที่หมายถึง เหล็กไน = อวัยวะแหลมที่ก้นผึ้งหรือแมลงมีพิษ ซึ่งผู้เขียนยืนยันว่าต้องเขียนเป็น “ไน” ไม่เห็นด้วยที่ราชบัณฑิตยสถานหรือใครจะให้เขียน “เหล็กใน” เพราะว่ามันซ่อนอยู่ในก้นของผึ้งหรือแมลงที่ต่อยด้วยเดือยแหลมที่ซ่อนอยู่ในก้นของมัน

ที่ผู้เขียนยืนยันตลอดมาว่า “ไน” ปั่นด้ายหรือฝ้ายก็ดี “เหล็กไ-น” ที่ซ่อนอยู่ในก้นของผึ้งหรือแมลงก็ดี และหมาป่าชนิดหนึ่งที่ชาวบ้านเรียกหมาไนก็ดี ควรที่ราชบัณฑิตจะได้เก็บไว้เป็นพวกเดียวกัน

ทั้งนี้เพราะผู้เขียนสังเกตจากภาษาญ้อ (แถวอำเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนม บ้านของผู้เขียน จะออกเสียง ไนปั่นฝ้าย เหล็กไ-น และหมาไน เป็น “เสียงไอ” ทั้งสิ้น ในขณะที่ออกเสียง “ไน” แต่สะกดด้วย “ใ-ไม้ม้วน” นั้น คนญ้อ (และภูไท หรือผู้ไท) จะออกเสียงสระเออเป็น “เนอ” (หมายถึงข้างในหรือที่ตรงข้ามกับนอก) เช่นเดียวกับคำที่สะกดด้วย ใ-ไม้ม้วนทั้งหลาย เช่น เจอ (หัวใจ จิตใจ) เสอ (ใส เช่น น้ำใส แต่ผลักไส ก็ยังออกเสียงว่า ไส) เต้อ (ใต้ ที่ตรงข้ามกับเหนือหรือบน แต่ไต้ที่หมายถึงชุดที่จุดไฟ ก็คงออกเสียงไต้อย่างเดิม เหม่อ (ใหม่ แต่ผ้าไหม ก็ออกเสียงไหม เป็นเสียงไออย่างเดิม) เยอ (ใยที่เป็นเส้นเล็ก แต่ ลำไย ก็คงออกเสียงไอ) ลูกเภ้อ (ลูกสะใภ้) เส่อ (ใส่) เหลอ หลงใหล หลับใหล ละเมอ) ฯลฯ เป็นเช่นนี้ทุกตัวในคำที่สะกดด้วย ใ-ไม้ม้วน นี่น่าจะเป็นข้อสรุปได้แน่นอนว่า คำไทยที่ผสมด้วย ใ-ไม้ม้วนนั้น มี ๒๐ คำจริงๆ.