กระบอกเสียงบันทึกเพลงงิ้วและเพลงเป๋

          ทอมัส  เอลวา  เอดิสัน  ตายไปแล้วตั้งแต่ปีพ.ศ. 2474 แต่การอัดเสียงเก็บไว้แล้วนำมาเปิดฟังใหม่ได้นั้น  ได้อุบัติขึ้นในโลกนี้ด้วยฝีมือของเขามาเป็นเวลาร่วมร้อยปีเศษแล้วเมื่อวันที่ 15  สิงหาคม  พ.ศ.2420 ณ เมืองเล็กๆ ชื่อเม็ลโลปาร์คมลรัฐนิวเจอร์ซี่ สหรัฐอเมริกา  ซึ่งตรงกับสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอลเกล้าเจ้าอยู่หัวของไทยเราครองราชสมบัติ ได้ประมาณ 9 ปี เพลงแรกที่บันทึกเสียงร้องของนายเอดิสันเองในเพลงที่ชื่อว่า  Mary  had  A  Little  Lamb  ตามที่เล่ามาแล้ว

           เอดิสันใช้เวลาค้นคว้าต่อมาอีก  10  ปี  จนถึงพ.ศ.2430  จึงได้ทำเครื่องบันทึกเสียงและเครื่องเล่นหีบเสียงออกจำหน่าย  โดยบันทึกไว้บนผิวของรูปทรงกระบอกเรียกว่า               " กระบอกเสียงของเอดิสัน " เมื่อกระบอกเสียงเหล่านี้ส่งมาขายเมืองไทยและมันปล่อยเสียงออกมาได้  คนไทยก็เรียกมันว่า      " กระบอกเสียง "

           กระบอกเสียงเพลงฝรั่งที่เอดิสันทำขายนี้จะมาถึงเมืองไทยเมื่อไหร่นั้นผู้เขียนไม่ทราบ  สืบได้แต่เพียงว่าเมื่อปี  พ.ศ. 2437  ได้มีผู้นำกระบอกเสียงมาไขเล่นประชันกับลิเกและละครรำที่ตลาดบนในเขตตำบลบ้านใหม่  เมืองฉะเชิงเทรา

          แสดงให้เห็นว่า  ประเทศไทยนั้นเป็นลูกค้าชั้นดีของอเมริกา  พอมีของแปลกใหม่ออกขายไม่เท่าไร  ไทยก็สั่งกระบอกของอเมริกาข้ามน้ำข้ามทะเลมาเปิดเล่นกันแล้ว  ไม่ได้เล่นกันในกรุงเทพฯ หรือตามบ้านคนมีอันจะกินเท่านั้น  แต่มีคนเอาไปเล่นถึงต่างจังหวัด  คือที่ฉะเชิงเทราทีเดียว

          หลักฐานที่กล่าวมานี้  นาย  ต.เง็กชวนเจ้าของร้านขายแผ่นเสียงตรากระต่ายแห่งย่านบางลำพูได้บันทึกไว้  เมื่อประมาณพ.ศ. 2490 โดยเล่าว่าท่านเห็น " กระบอกเสียง " นี้เป็นครั้งแรกเมื่อท่านอายุได้ห้าขวบ  ( นาย  ต.เง็กชวน  เกิดที่ฉะเชิงเทรา เมื่อพ.ศ. 2432)

          กระบอกเสียงที่นาย  ต.เง็กชวน เห็นเป็นครั้งแรกนั้น  บันทึกเพลงจากการแสดงงิ้ว  ซึ่งนาย  ต.เง็กชวนเรียกว่า  " เพลงงิ้วหน้าดำหน้าแดงปรากฎว่าการเล่นกระบอกเสียงที่ฉะเชิงเทราครั้งนั้น  เรียกร้องความสนใจจากคนมากจนถึงกับชนะการประชัน  คือ มีคนสนใจดูลิเกกับละครรำน้อยเต็มที  แต่มามุงดูกระบอกเสียงกันอย่างหนาแน่น  จนนาย  ต.เง็กชวน ซึ่งยังเด็กเล็กๆนั้นต้องปีนลูกกรงขึ้นไปยืนดู

          การเล่นแพลงจากกระบอกเสียงครั้งนั้น  นาย  ต.เง็กชวนเล่าว่านอกจากจะมีเพลงงิ้วหน้าดำหน้าแดงแล้ว  ยังมีแหล่เทศน์  เพลงไทยร้องส่ง-รับปี่พาทย์  เครื่องสาย  มโหรี  เรื่องจันโครพ  เรื่องลักษณวงศ์  เรื่องมะโดดหนีบวช  เสภาเรื่อง  ขุนช้างขุนแผน  และที่สำคัญยิ่งสำหรับข้อเขียนในวันนี้คือมีเพลง " เป๋ " รวมอยู่ด้วย

          เพลงเป๋  คือเพลงพื้นเมืองที่ปัจจุบันนี้เรียกว่า " เพลงฉ่อย "(เขียนตามคำบอกเล่าของนาย  ต.เง็กชวน) เป็นเพลงแก้กัน ระหว่างคนร้องขายและหญิงที่มีลูกคู่ร้องรับว่า "เอ่  ชา  เอ๊  ช้า  ชา  ฉ่าชา  หน่อยแม่  "

          ก็เป็นอันสรุปได้ตอนนี้ว่าได้มีการบันทึกเสียงเพลงฉ่อยกันแล้วตั้งแต่พ.ศ.2437  ที่ฉะเชิงเทราสมัยนั้น  มีคนวาเพลงฉ่อยเก่งอยู่คนหนึ่ง  ชื่อว่า  " แม่อินทร์"เป็นที่นิยมชมชอบของชาวจังหวัดฉะเชิงเทรามาก   ปรากฎว่าเจ้าของเครื่องกระบอกเสียงได้ว่าจ้างให้แม่อินทร์ผู้นี้มาบันทึกเพลงฉ่อยเก็บไว้บนผิวของกระบอกเสียงในปี พ.ศ.2437  นั้นเอง โดยบันทึกเสียงที่ตลาดบ้านใหม่  อำเภอเมือง  จังหวัดฉะเชิงเทรา

          การบันทึกเสียงไม่ได้ทำในห้องเก็บเสียงอย่างในปัจจุบัน  แต่ใช้เวลากลางคืนที่คนไม่พลุกพล่าน   วางเครื่องบันทึกเสียงนี้ที่ร้านขายของแห่งหนึ่ง  หันลำโพงให้ตรงกับปากคนร้อง   เมื่อเสียงผ่านลำโพงเข้าไปก็จะไปสั่นปลายเข็มให้ขูดขี้ผึ้งซึ่งฉาบอยู่บนผิวของโครงโลหะรูปทรงกระบอก  โดยขีดเป็นเส้นวนไปตามแนวรอบวงของรูปทรงกระบอก  นาย  ต.เง็กชวนเขียนเล่าว่ากว่าจะจบชุดเพลงฉ่อยที่แม่อินทร์ร้องต้องใช้กระบอกขี้ผึ้งถึง  20  กว่ากระบอก เมื่อบันทึกเสียงแล้วก็เอามาลองเปิดฟังได้ทันทีหากไม่พอใจก็ขูดขี้ผึ้งบนรูปทรงกระบอกทิ้งแล้วเริ่มอัดใหม่ได้จนเป็นที่พอใจ

          การอัดเสียงลงบนกระบอกเสียงสมัยนั้นใช้เครื่องไขลาน  ไม่มีไฟฟ้าใช้เสียงที่บันทึกลงไปจึงไม่ครบทุกความถี่ของเสียงธรรมชาติ  เสียงที่ไขลานเล่นกลับออกมาจึงไม่เหมือนของจริงนัก  นอกจากจะแต่งความเร็วของเครื่องให้หมุนเร็วขึ้น  เล่ากันว่า  กระบอกเสียงแบบนี้ใช้กันมาจนถึง  พ.ศ.2457  พอจบสงครามโลกครั้งที่ 1 แล้วก็เลิกกันไป  หันมาใช้แบบที่เป็นแผ่นแบนๆ อย่างที่เห็นกันอยู่ทุกวันนี้  ( ซึ่งเรียกว่าจานเสียงหรือแผ่นเสียง)

          ย้อนกลับมาหาเพลงที่เคยบันทึกลงบนกระบอกเสียงตามที่นาย  ต.เง็กชวน  เล่าไว้นั้น   ปรากฎว่าเมื่อแผ่นเสียงแบบเบนๆ  เริ่มอัดได้ ในเมืองไทยแล้วก็ได้มีการบันทึกเพลงชุดที่เคยอัดไว้บนกระบอกเสียงนั้นลงบนจานเสียงบ้างเหมือนกันที่ผู้เขียนเคยเห็นและบางแผ่นก็ยังมีเหลืออยู่หลายเรื่อง  เช่น  แหล่พระชินวร  แหล่พระสุริเย  เรื่องจีนไหหลำลักษณวงศ์  และเรื่องมะโดดหนีเมียไปบวช  เป็นต้น  แต่ฟังเกือบจะไม่เป็นคำ  เพราะเก่าคร่ำคร่าเต็มที

          บทความลำนำแห่งสยามตอนนี้  บันทึกไว้เพื่อกันลืมว่า  คนไทยเราเคยบันทึกเสียงเพลงพื้นเมืองมาแล้วตั้งแต่ก่อนพ.ศ. 2540  เป็นเวลาถึงหนึ่งร้อยกับสามปี   เสียดายที่กระบอกเสียงเหล่านั้นไม่สามารถเก็บเสียงไว้ได้นานเพราะชำรุดง่าย   อนุชนรุ่นหลังจึงมิได้มีโอกาสฟังคารมเพลงฉ่อยของแม่อินทร์แห่งเมืองฉะเชิงเทรา

          หากกระบอกเสียงเหลานั้นยังคงลงเหลืออยู่บ้างก็อาจจะหาเครื่องเล่นไม่ได้ แต่ก็ไม่แน่นักอาจจะมีใครสักคนยังเก็บไว้เป็นของเก่าก็ได้   ถ้ายังมีหลงเหลืออยู่จริง   บางทีคุณเอนก  นาวิมูล  คงดีใจและเขียนหนังสือเรื่อง  "เพลงนอกศตรรษคืนชีพ " เป็นตอนต่อไปอีกก็ได้

                                                                       นายแพทย์พูนพิศ   อมาตยกุล