แผ่นเสียงอ่านหนังสือพระอภัยมณี

 

                                

     ขึ้นชื่อว่าแผ่นเสียงแล้ว  เราจะต้องนึกถึงเพลงเป็นอันดับแรก  เพราะแนเสียงนั้น  เอดิสันกับอีมิลเบอร์ไลเนอร์  ตั้งใจไว้แต่เดิมว่าจะเป็นเครื่องสำหรับบันทึกเสียงเพลงเพื่อความบันเทิง  อันจะต้องมีเพลงร้องและเพลงที่บรรเลงดนตรีเป็นสำคัญ  ต่อมาก็มีผู้คิดผลิตแผ่นเสียงที่เป็นเสียงพูดขึ้น  แรกทีเดียวก็ใช้เป็นของขวัญส่งไปอวยพรวันเกิดหรือสุนทรพจน์สั้นๆจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่ง  โดยให้เปิดฟังเอาที่ปลายทาง

          ในสมัยรัชกาลที่ 5 ระหว่างปี พ.ศ. 2447 ถึง พ.ศ.2453 นั้นเมืองไทยเราบันทึกแผ่นเสียงลงจานครั่งสีดำกันแล้ว  แรกก็อัดเพลงก่อน มีทั้งเพลงที่บรรเลงด้วยวงปี่พาทย์  เครื่องสาย  ต่อมาก็มีการบันทึกเสียงเทศน์  มีทั้งมหาพน  มหาชาติ  ซึ่งไม่ใช่การร้องเพลงแต่เป็นคำพูดที่ร้อยกรองไว้  แล้วนำไปเปิดให้ฟังในที่ห่างไกลด้วยเครื่องเล่นแบบไขลาน

          ในการค้นแผ่นเสียงโบราณสมัยรัชกาลที่ 5 คราวหนึ่งได้พบแผ่นเสียงของห้าง  Beka  Grand  Record  No.25055  แผ่นหนึ่งหน้าสีม่วงแก่ มีตรารูปนกกระยางเหลียวหลัง  หันมามองลำโพงและแผ่นเสียง  ครึ่งล่างของกระดาษพิมพ์ด้วยตัวพิมพ์ขนาดใหญ่  แจ้งว่าเป็นแผ่นเสียงอ่านหนังสือพระอภัยมณี  อ่านโดยนายขวานและนายดำ  ซึ่งส่งเข้ามาขายโดยบริษัท Katz  Brothers  อันเป็นบริษัทที่ตั้งอยู่ในเมืองสิงคโปร์สมัยนั้น  จากขอบล่างของกระดาษกลมกลางแผ่นแสดงว่า  บริษัทนี้เป็นเอเยนต์ใหญ่รับแผ่นเสียงแล้วส่งต่อมาจำหน่ายยังประเทศสยาม  เกาะสุมาตราและเกาะบอร์เนียว

          ได้ทดลองเปิดฟังดูด้วยเครื่องไขลานแบบโบราณ  เสียงอู้อี้มากแต่พอจับได้ว่าเป็นเสียงคล้ายกับการอ่านทำนองเสนาะ แต่ไม่เพราะด้วยเป็นการอ่านด้นไปเรื่อยๆมีเล่นลูกคอคล้ายกับจะแหล่หรือร้อง  ว่ากันตรงๆแล้วไม่สู้จะน่าสนใจเท่ากับเพลงหรือการเทศน์มหาชาติ  และรู้สึกแปลกใจว่าทำไมจึงต้องบันทึกแผ่นเสียงอ่านหนังสือออกขาย  แล้วจะขายดีหรือไม่ประการใด ล้วนเป็นเรื่องน่าศึกษาเป็นอย่างยิ่ง

          ได้เรียนถามท่านผู้เฒ่าถึงเรื่องแผ่นเสียงอ่านหนังสือนี้  ท่านก็อธิบายให้ฟังว่าคนในสมัยรัชกาลที่ 5 นั้น มีอยู่เป็นจำนวนมากที่อ่านหนังสือไม่ออกและเขียนหนังสือไม่ได้  หากจะมีจดหมายถึงใครก็ต้องไปจ้างให้เขาเขียนให้  โดยมีสถานที่รับจ้างอยู่หลายแห่ง  ส่วนมากมักอยู่ในวัด  โดยอาลักษณ์รับจ้างเหล่านี้จะเป็นผู้แต่งจดหมายให้มีข้อความตามที่ผู้จ้างต้องการ  เรื่องรับจ้างเขียนหนังสือนี้จะเป็นผู้แต่งจดหมายให้มีข้อความตามที่ผู้จ้างต้องการ  เรื่องรับจ้างเขียนหนังสือนี้  ผู้เขียนยังเคยเห็นคนจีนรับจ้างเขียนอยู่ที่ปากทางเข้าวัดเล่งเน่ยยี่ (หรือวัดมังกรกมลวาศ) ไม่ทราบว่าปัจจุบันยังมีเหลืออีกบ้างหรือไม่  ส่วนคนอื่นอ่านหนังสือไม่ออกก็มักจะไหว้วานให้ผู้ที่รู้หนังสือช่วยอ่านให้ฟังดังๆ แล้วมานั่งล้อมวงฟังพร้อมๆกันหลายคน  เมื่อฟังหมดตอนแล้วรางวัลผู้อ่าน  เช่น  ให้เป็นขนมนมเนยบ้าง  ให้เป็นเงินบ้าง  ถ้ามีคนนั่งล้อมฟังมากก็จะได้เงินเป็นค่าตอบแทนสูงขึ้น  ส่วนจะเป็นเงินเท่าไรนั้น  ไม่แน่นอน

          อันที่จริงการหนังสือให้ฟังของคนไทยนั้นคงจะมีมานานแล้วและอาจจะเป็นต้นกำเนิดของการขับเสภาก็ได้  เมื่ออ่านธรรมดาไปนานๆก็เบื่อ  จึงต้องยักเยื้องให้เป็นทำนอง  เป็นทำนองเสนาะ  เป็นเสภา  แล้วก็มาเป็นการร้องเพลงในวงดนตรีไทยนั้น  เล่ากันว่า  นักร้องชายหญิงหลายท่านเป็นคนอ่านหนังสือไม่ออกแต่ร้องเพลงยาวๆได้โดยวิธีการต่อเพลงจากครูแล้วจำไว้แต่เพียงอย่างเดียว  มีแต่การจำไม่มีการจดบันทึกเพือกันลืม

          แผ่นเสียงสมัยปลายรัชกาลที่ 5 นั้นท่านไม่ได้มีไว้ฟังแต่ในบ้านเท่านั้นแต่คนที่หัวใสมีวิธีการทำมาค้าขายกับแผ่นเสียงเหล่านี้ได้  โดยยกเครื่องไขลานออกไปนอกเมือง  ไปตามตลาดต่อลำโพงยักษ์ขนาดใหญ่  ชนิดที่ต้องเอาโซ่ดึงห้อยแขวนไว้เข้ากับตัวเครื่อง  เสียงก็ดังไปได้ไกล  แล้วก็เปิดเพลงให้ชาวบ้านร้านตลาดฟัง เก็บเงินค่าฟังกันด้วยคนละเล็กละน้อย  เมื่อฟังเพลงไปนานๆ ก็คงอยากจะฟังอย่างอื่นบ้าง  จึงเปลี่ยนจากเพลงเป็นเทศน์บ้าง  แล้วในที่สุดก็มีการอ่านหนังสือจากแผ่นเสียงปนมาด้วยจะมีความหลากหลายให้ฟัง  ก็ในเมื่อเรื่องพระอภัยมณีของสุนทรภู่มีคนนิยมมากท่านก็เลยบันทึกเสียงอ่านหนังสือสุนทรภู่ลงจานเสียง  ไขออกให้คนบ้านนอกฟัง  เก้บสตางค์มาใช้ได้สะดวกสบายใจ  เพราะชาวบ้านร้านตลาดนอกเมืองที่ห่างไกลนั้นคงจะหาคนอ่านหนังสือออกได้น้อยกว่าในเมืองหนักหนา  เมื่อมีคนเอาเรื่องพระอภัยมณีมาเปิดเสียงให้ฟังก็คงจะมารุมล้อมฟังกันไม่น้อย  ทั้งยังเป็นของแปลก อนึ่ง คนที่เทศนาดีๆอย่างพระสอนกรุงเก่า  ใครๆก็อยากฟังเสียง เมื่อตัวไม่มา เสียงมาในแผ่น คนก็มารุมฟังกัน  นับว่าได้มีการใช้สื่อกระจายเรื่องราวสู่กันให้ทราบได้ดีที่สุดในยุคนั้นซึ่งเป็นเวลาเกือบร้อยปีมาแล้ว

          สำหรับนามของผู้อ่านหนังสือของพระอภัยมณี  ที่ปรากฏบนแผ่นเสียงชื่อนายขวานและนายดำนั้น  ปรากฎว่าชื่อบุคคลทั้งสองนี้ ได้พบเห็นเสมอจากแผ่นเสียงแหล่เทศน์  เพลงพื้นบ้านร่วมกับนายพัน  แม่อิน  แม่ผิว  โดยเฉพาะนายขวานนั้นดูเหมือนว่าจะเป็นดาราเรื่องแหล่เทศน์  เคยเทศน์เรื่องชูชกขึ้นต้นไม้คู่กับนายทองมา  แต่ต้นสมัยรัชกาลที่ 5 และเมื่อเริ่มมีการบันทึกเสียงลงกระบอกเสียงแบบเอดิสัน ก็ได้ รับเลือกให้ " ตรอกเสียง " ลงกระบอกเรื่อยมา  จนเมื่อมีการบันทึกเป็นแผ่นแบนชนิดหน้าเดียว  นายทองกับนายขวานก็ได้บันทึกลงแผ่นทันทีด้วยเช่นกัน  ที่น่าสังเกตคือแผ่นเสียงอ่านหนังสือ  มักใช้ตราเดียวกับแผ่นเสียงเพลงพื้นบ้านเป็นประจำ  คือตราของบริษัท Katz  Brothers  LTD.  แต่มิได้ใช้ตราเป็นรูปนกกระยางเหลียวหลัง  กลายเป็นตราปืนพกแทน  ซึ่งดูตามตัวเลขแผ่นเสียงแล้วเห็นได้ชัดเจนว่า  ตราปืนพกนั้นบันทึกทีหลังตรานกเหลียวหลังหลายร้อยแผ่นนอกจากนี้แผ่นรูปตราปืนยังพัฒนามีคำว่า " อับดุลลา " เป็นภาษาไทยเพิ่มมากขึ้นอีกด้วย

          มีผู้เล่าด้วยวาจามิได้เห็นของจริง  ว่าแผ่นเสียงอ่านหนังสือนี้  มิได้มีแต่เรื่องพระอภัยมณีเท่านั้น  แต่มีเรื่องไกรทอง  เรื่องขุนช้างขุนแผน  เรื่องนี้ผู้เขียนไม่ยืนยัน  แต่เรื่องไกรทองนั้นเป็นการว่าเพลงฉ่อยหรือเพลงทรงเครื่องเห็นจะมีแน่เพราะเคยได้เห็นแผ่น  แต่ที่ว่าอ่านหนังสือไม่เคยพบ  คุณเอนก  นาวิกมูล  เล่าว่านักเก็บสะสมแผ่นเสียงโบราณท่านหนึ่งชื่อคุณพงษ์พัฒน์  ชั้นประเสริฐ  มีเพลงจำนวนพื้นบ้านมาก  อาจจะมีแผ่นอ่านหนังสือบ้างหรือไม่ก็ไม่ทราบ

          บทความฉบับนี้  ออกนอกทางดนตรีไป  แต่มิได้หนีคำว่า " ลำนำแห่งสยาม " เพราะว่าการอ่านหนังสือบันทึกแผ่นเสียง  ก็นับได้ว่าเป็นลำนำอย่างหนึ่งเหมือนกัน  ซึ่งผู้เขียนมีข้อมูลบรรยายเพียงเท่านี้

 

                                    นายแพทย์พูนพิศ   อมาตยกุล