แผ่นเสียงเพลงพื้นบ้านสมัยแรกเริ่มตอนที่ 2

 

                                        

          เพลงพื้นบ้านเป็นเพลงที่ชาวบ้านเล่นกันในยามว่าง  เมื่อเสร็จจากการงานประจำวันอันเป็นงานเกษตรกรรมที่ทั้งหนักและเหนื่อยแบบหลังสู่ฟ้าหน้าสู้ดิน  หรือบางทีก็ร้องเล่นกันในเทศกาลต่างๆ  โดยยึดเอาหลักการของความเรียบง่ายในการเล่นและหวังผลเป็นความสนุกสนาน  โดยถึงเป้าหมายแห่งการสรวลเสเฮฮาไว้เป็นสำคัญ  เพลงพื้นบ้านจึงยึดเอาคารมคมคายเป็นหลัก  ไม่ต้องใช้ดนตรีดำเนินทำนองนอกจากเครื่องคุมจังหวะ

          ในกระบวนเพลงพื้นบ้านทั้งหลายกว่า  50  ชนิด ที่เอนก  นาวิกมูลรวบรวมไว้ในหนังสือเพลงนอกศตวรรษ  ซึ่งพิมพ์มาแล้วสองครั้งและได้รับรางวัลหนังสือสารคดี  ดีเด่นมาแล้วนั้น อเนกได้ให้ข้อสังเกตุไว้  ว่าเพลงพื้นบ้านมีความเรียบง่ายตรงที่ไม่ต้องการเครื่องดนตรีมาบรรเลงประกอบ  เพียงใช้การปรบมือเป็นจังหวะใช้ปากร้อง  และมีรำประกอบบ้าง  ก็เล่นกันได้แล้ว  ถ้าจะมีเครื่องดนตรีเครื่องดนตรีใช้บ้างก็ใช้ของง่ายๆเช่นฉิ่ง  กลอง  โทน รำมะนา  การแต่งตัวก็แต่งอย่างธรรมดา ไม่ต้องรัดเครื่องอย่างละครไม่ต้องการโรงละคร  เพียงล้อมวงบนพื้นดินหรือลานบ้าน  หรือยกพื้นสักหน่อยก็เล่นเพลงพื้นบ้านได้แล้ว  บทกลอนที่จะร้องเล่นก็ใช้ปฎิภาณคิดเอาทันทีทันควัน  ไม่ต้องแต่งให้ยุ่งยากหรือรจนาเป็นกลอนที่มากด้วยระเบียบแห่งฉันทลักษณ์ ฯลฯ

          ความมีเสน่ห์ของเพลงพื้นบ้านนั้นมีคารมอันคมคาย  ซึ่งฝ่ายชายและหญิงจะต้องร้องแก้กัน  หรือประชันขันแข่งในโวหาร  และเพราะว่าไม่ต้องการพิธีรีตรองมา  หวังให้คนฟังได้เฮฮาในเวลาอันรวดเร็ว  ผู้เล่นเพลงก็จะต้องว่าฝ่ายตรงข้ามให้ถึงใจ  ซึ่งอะไรก็ไม่ดีไปกว่าตั้งเรื่องขึ้นเป็นทำนองชู้สาวบ้าง  เรื่องที่มีการหยิบยกความไม่ดีของอีกฝ่ายหนึ่งมาล้อเล่นหรือเลยไปจนถึงถ้อยความสองง่ามสองแง่ที่พาดพิงไปถึงเรื่องเพศ  ตลอดจนเอาเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้าขึ้นมาว่ากันแบบกระแนะกระแหนก็ทำให้คนฟังถูกใจได้

          เพลงพื้นบ้านนั้น  ผู้ที่ไม่เข้าใจจุดประสงค์ที่แท้จริงของการเล่นเพลงมักจะกล่าหาว่าหยาบคาย  ไม่สุภาพงดงามเช่นการละเล่นของผู้ดีมีเงินในรั้วในวังเขาเล่นกัน  บางครั้งมีการดูถูกเหยียดหยามว่าเป็นเรื่องของไพร่ ไม่เหมาะสมกับผู้ดีซึ่งเป็นการเข้าใจผิด

         สมัยรัชกาลที่ 5 ระหว่างพ.ศ. 2437-2440  อันเป็นระยะแรกที่มีการบันทึกเสียงเพลงลงในกระบอกเสียงแบบเอดิสัน  นั้น เป็นของธรรมดาที่ว่า เครื่องบันทึกเสียงคงมีราคาแพงที่ผู้ดีมีอันจะกินเท่านั้นที่จะสามารถซื้อหามาไว้เล่นประดับเกียรติบารมีของตนได้  แต่ก็มีคนหัวใส  ที่ลงทุนซื้อหามาแล้วยกเครื่องอัดเสียงนั้นออกไปให้ชาวบ้านได้สัมผัส  และเพื่อที่จะให้ชาวบ้านได้สัมผัสตามที่นิยมกัน  ท่านเหล่านั้นก็ให้บันทึกเพลงพื้นบ้านออกไปให้ชาวบ้านฟัง หรือไม่ก็เชิญพ่อเพลงแม่เพลงมาว่าเพลงพื้นบ้านอัดเสียงลงกระบอกไว้  โดยเลือกเอาพ่อเพลงแม่เพลงที่มีคารมดี เป็นที่รู้จักมาอัดเสียงให้ดูต่อหน้า แล้วเปิดกลับให้คนฟังเป็นที่แปลกประหลาดใจ  แล้วก็เก็บเงินค่าชมตามสมควรแก่โอกาสและฐานะ  ดังเช่นเรื่องที่นาย  ต.เง็กชวน  เล่าไว้ในประวัติของท่านเมื่อปี พ.ศ.2473  มีการบันทึกเสียงแม่อินนักร้องเพลงเป๋  หรือเพลงฉ่อยให้ชมที่ตลาดในเมืองฉะเชิงเทรา  ร้องแล้วก็เปิดให้ฟังในทันที  แถมวันรุ่งขึ้นยังเอามาเปิดเก็บสตาค์ได้อีกโดยไม่ต้องจ้างแม่อินมาร้องซ้ำ

          ครั้น  เอดิสันและเบอร์ไลเนอร์คิดแผ่นเสียงชนิดแผ่นแบนๆได้ไทยเราก็มีการบันทึกเพลงพื้นบ้านลงจานเสียง  เช่นเดียวกับที่มีการบันทึกมโหรีปี่พาทย์  แต่ไม่สามารถจะติดตามค้นคว้าได้  ว่าได้บันทึกไว้มากน้อยเพียงใด  เกี่ยวกับแผ่นเสียงเพลงพื้นบ้านนี้ อเนก นาวิกมูลได้ค้นพบบ้างจำนวนหนึ่ง  เป็นแผ่นเสียงตราปืนบ้าง  ตราอับดุลลาบ้าง  ซึ่งเป็นแผ่นเสียงที่อัดมาในสมัยรัชกาลที่ 6  และอเนกก็ได้ตั้งข้อสังเกตว่าแผ่นเสียงเพลงพื้นบ้านมีน้อยเต็มที

          หนังสือเล่มนี้  เสนอภาพของแผ่นเสียงเพลงพื้นบ้านโบราณสมัยรัชกาลที่ 5  ซึ่งเก่ากว่าตราปืนและตราอับดุลลา  สิ่งที่น่าสังเกตคือเป็นการบันทึกเพลงเป๋หรือเพลงฉ่อย  คณะแม่อินผู้ลือชื่อ  มีนายพัน  นายชุ่ม  และแม่ละม่อมร่วมงานกับแม่อินด้วย  ที่พบเป็นสองแบบ  แบบหนึ่งเป็นเพลงเป๋แท้ๆ  อีกแบบหนึ่งเป็นเพลงทรงเครื่องซึ่งประเภทหลังนี้มีพิณพาทย์ประกอบ แถมใช้วงปี่พาทย์เครื่องใหญ่เสียด้วยและเรื่องที่บันทึกก็เป็นเรื่องพระสมุทรกับนางบุษมาลี  ซึ่งเป็นเรื่องราวและเรื่องราวและงานระดับกวีนิพนธ์ทีเดียว

          เหนือไปกว่านั้น  แผ่นที่บันทึกเป็นแผ่นเสียงชนิดแบนรุ่นต้นๆ ของโลกแผ่นเสียง เพราะยังเป็นแบบเบอร์ ไลเนอร์  ซึ่งร่องแผ่นกลับทางคือเล่นที่กลางแผ่นมาจบที่ริมแผ่น  แสดงว่าได้มีผู้สนใจอัดเสียงเพลงพื้นบ้านมาตั้งแต่แรกเริ่ม  มีแผ่นเสียงชนิดแบนกลมกันแล้ว  นับว่าสนใจเอาจริงเอาจังมากโขอยู่  หรืออีกข้อหนึ่งแสดงให้เห็นว่าตลาดเพลงไทยชนิดเพลงพื้นบ้านในสมัยรัชกาลที่ 5 คงจะดีไม่น้อบ จึงมีการอัดแผ่นออกจำหน่ายแล้ว

          อีกอย่างหนึ่งที่ต้องบันทึกไว้  เพราะเป็นแผ่นเสียงตราไก่ของบริษัทปาเต๊ะ  จากประเทศฝรั่งเศส  ระยะนี้เชื่อว่าเป็นสมัยรัชกาลที่ 5 เพราะหมายเลขแผ่นตรงกันคือเลข 47089  เพียงแต่พิมพิ์กระดาษปะรูปวงกลมขึ้นใหม่  และก็นำมาอัดเสียงใหม่จากแผ่นเดิมหรือพูดง่ายๆ ก็ก๊อปปี้กันมาทั้งดุ้น  เชื่อว่าจะขายดีกว่ารุ่นก่อนที่ไม่มีแม้แต่เครื่องพิมพ์ดีดภาษาไทย  อัดใหม่คราวนี้หน้าตารูปร่างของแผ่นดีขึ้นมากและทนทานอีกด้วย

          เห็นจะจริงอย่างคุณเอนก  นาวิกมูล  ได้กล่าวไว้ว่าเพลงพื้นบ้านเราอัดสียงไว้น้อย  จนเมื่อมาถึงสมัยรัชกาลที่ 7  แล้วก็ยังไม่วายนำเพลงเก่าถ่ายมาลงแผ่นใหม่  อาจจะทำเพื่ออนุรักษ์ของเก่าก็ได้

          เพลงพื้นบ้านมีน้อยจริงๆ  เมื่อเปรียบเทียบกับเพลงไทยสากลหรือเพลงไทยเดิมแล้ว  จำนวนการผลิตของเพลงประเภทนี้  เชื่องช้ามาก  เหตุที่เป็นเช่นนี้เพราะเรายังไม่รับรองเพลงพื้นบ้านว่าเป็นของดีนั่นเอง

          มายุคเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้ว  มีการบันทึกเพลงพื้นบ้านเพิ่มขึ้น  ถึงกระนั้นก็ยังน้อยเมื่อเปรียบเทียบกับเพลงไทยสากล  มีงานของผ่องศรี  วรนุช บ้าง ของพร  ภิรมย์ บ้าง ของก้าน  แก้วสุพรรณ บ้าง

          ขณะนี้เป็นยุคของคาสเส็ทออกจำหน่ายมาก  เราก็ได้เห็นเทปคาสเส็ทจำหน่ายเพลงพื้นบ้านบ้าง  แต่ก็น้อยเสียจนเกือบจะหาไม่พบทีเดียวบนแผงขายเทปที่มีอยู่ทั่วกรุงในขณะนี้

          เห็นจะต้องรณรงค์ให้คนไทยรุ่นปัจจุบัน  หันมาสนใจเพลงพื้นบ้านให้จงได้  เพราะเป็นของไทยแท้ๆที่เป็นประโยชน์ หากละเลยไปก็คงจะสูญแน่

 

                                                นายแพทย์พูนพิศ   อมาตยกุล