กลับหน้าหลัก | ไปหน้าสารบัญธรรมะ


ชฎิล 3 พี่น้อง

ย่อความจากพระไตรปิฎก : พระวินัยปิฎก เล่ม 4
มหาวรรค ภาค 1 อาทิตตปริยายสูตร

[๕๕] ครั้นพระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ตำบลอุรุเวลา ตามพระพุทธาภิรมย์แล้ว เสด็จจาริกไปโดยมรรคาอันจะไปสู่ตำบลคยาสีสะ พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ ๑๐๐๐ รูป ล้วนเป็นปุราณชฎิล. (ภิกษุทั้ง ๑๐๐๐ รูปนี้ เดิมเป็นนักบวชลัทธิหนึ่ง สวมชฎาทรงสูงอย่างรูปปั้นฤาษีทั่วไป บูชาไฟ เรียกกันว่าชฎิล โดยมีอาจารย์ 3 คน ซึ่งเป็นพี่น้องกัน คือ อุรุเวลกัสสป มีลูกศิษย์ประมาณ ๕๐๐ คน นทีกัสสป มีลูกศิษย์ประมาณ ๓๐๐ คน คยากัสสป มีลูกศิษย์ประมาณ ๒๐๐ คน คำว่าปุราณชฎิล คือ เมื่อก่อนเคยเป็นชฎิล - ธัมมโชติ)

ได้ยินว่า พระองค์ประทับอยู่ที่ตำบลคยาสีสะ ใกล้แม่น้ำคยานั้น พร้อมด้วยภิกษุ ๑๐๐๐ รูป. ณ ที่นั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งกะภิกษุทั้งหลาย ว่าดังนี้:-

ดูกรภิกษุทั้งหลาย สิ่งทั้งปวงเป็นของร้อน ก็อะไรเล่าชื่อว่าสิ่งทั้งปวงเป็นของร้อน?
ดูกรภิกษุทั้งหลาย จักษุเป็นของร้อน รูปทั้งหลายเป็นของร้อน วิญญาณอาศัยจักษุเป็นของร้อน สัมผัสอาศัยจักษุเป็นของร้อน ความเสวยอารมณ์ เป็นสุขเป็นทุกข์ หรือมิใช่สุขมิใช่ทุกข์ ที่เกิดขึ้นเพราะจักษุสัมผัสเป็นปัจจัย แม้นั้นก็เป็นของร้อน

ร้อนเพราะอะไร?
เรากล่าวว่าร้อน เพราะไฟคือราคะ เพราะไฟคือโทสะ เพราะไฟคือโมหะ ร้อนเพราะความเกิด เพราะความแก่ และความตาย ร้อนเพราะความโศก เพราะความรำพัน เพราะทุกข์กาย เพราะทุกข์ใจ เพราะความคับแค้น.

โสตเป็นของร้อน เสียงทั้งหลายเป็นของร้อน ...
ฆานะเป็นของร้อน กลิ่นทั้งหลายเป็นของร้อน ...
ชิวหาเป็นของร้อน รสทั้งหลายเป็นของร้อน ...
กายเป็นของร้อน โผฏฐัพพะทั้งหลายเป็นของร้อน ...

มนะเป็นของร้อน ธรรม (หมายถึงธัมมารมณ์ หรือธัมมายตนะ คือความคิด ความรู้สึกต่างๆ กรุณาดูเรื่องอายตนะ 12 และเรื่องขันธ์ 5 ในหมวดธรรมทั่วไป ประกอบ - ธัมมโชติ) ทั้งหลายเป็นของร้อน วิญญาณอาศัยมนะเป็นของร้อน สัมผัสอาศัยมนะเป็นของร้อน ความเสวยอารมณ์เป็นสุข เป็นทุกข์หรือมิใช่ทุกข์มิใช่สุข ที่เกิดขึ้นเพราะมโนสัมผัสเป็นปัจจัย แม้นั้นก็เป็นของร้อน

ร้อนเพราะอะไร?
เรากล่าวว่าร้อน เพราะไฟคือราคะ เพราะไฟคือโทสะ เพราะไฟคือโมหะ ร้อนเพราะความเกิด เพราะความแก่ และความตาย ร้อนเพราะความโศก เพราะความรำพัน เพราะทุกข์กาย เพราะทุกข์ใจ เพราะความคับแค้น.

ดูกรภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกผู้ได้ฟังแล้วเห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในจักษุ ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในรูปทั้งหลาย ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในวิญญาณอาศัยจักษุ ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในสัมผัสอาศัยจักษุ ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในความเสวยอารมณ์ ที่เป็นสุข เป็นทุกข์ หรือมิใช่ทุกข์มิใช่สุข ที่เกิดขึ้นเพราะจักษุสัมผัสเป็นปัจจัย

ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในโสต ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในเสียงทั้งหลาย ...
ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในฆานะ ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในกลิ่นทั้งหลาย ...
ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในชิวหา ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในรสทั้งหลาย ...
ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในกาย ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในโผฏฐัพพะทั้งหลาย ...

ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในมนะ ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในธรรมทั้งหลาย ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในวิญญาณอาศัยมนะ ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในสัมผัสอาศัยมนะ ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในความเสวยอารมณ์ ที่เป็นสุข เป็นทุกข์ หรือมิใช่ทุกข์มิใช่สุข ที่เกิดขึ้นเพราะมโนสัมผัสเป็นปัจจัย.

เมื่อเบื่อหน่าย ย่อมสิ้นกำหนัด เพราะสิ้นกำหนัด จิตก็พ้น (จากความยึดมั่นถือมั่นในสิ่งทั้งปวง - ธัมมโชติ) เมื่อจิตพ้นแล้ว ก็รู้ว่าพ้นแล้ว อริยสาวกนั้นทราบชัดว่าชาติสิ้นแล้ว (ชาติ = การเกิด : สิ้นแล้วคือไม่ต้องเกิดอีกแล้ว - ธัมมโชติ) พรหมจรรย์ได้อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำได้ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นอีกเพื่อความเป็นอย่างนี้ไม่มี.

ก็แล เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสไวยากรณภาษิตนี้อยู่ จิตของภิกษุ ๑๐๐๐ รูปนั้น พ้นแล้วจากอาสวะทั้งหลาย เพราะไม่ถือมั่น.(อาสวะ = กิเลสที่หมักหมม นอนเนื่อง หรือดองอยู่ในสันดาน, พ้นแล้วจากอาสวะทั้งหลาย คือบรรลุเป็นพระอรหันต์ - ธัมมโชติ)

จบอาทิตตปริยายสูตร

ผู้รวบรวม
ธัมมโชติ
25 สิงหาคม 2544