กลับหน้าหลัก | ไปหน้าสารบัญธรรมะ


พระโสณะ

ย่อความจากพระไตรปิฎก : พระวินัยปิฎก เล่ม ๕
มหาวรรค ภาค ๒ จัมมขันธกะ

เศรษฐีบุตรโสณโกฬิวิสะเข้าเฝ้าพระเจ้าพิมพิสาร

[๑] โดยสมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ ภูเขาคิชฌกูฏ เขตพระนครราชคฤห์.

..... ก็สมัยนั้น ในเมืองจัมปา มีเศรษฐีบุตรชื่อโสณโกฬิวิสโคตร เป็นสุขุมาลชาติ ที่ฝ่าเท้าทั้งสองของเขามีขนงอกขึ้น .....

เศรษฐีบุตรโสณโกฬิวิสะออกบวช

[๒] ครั้งนั้น เศรษฐีบุตรโสณโกฬิวิสะได้มีความปริวิตกดังนี้ว่า ด้วยวิธีอย่างไรๆ เราจึงจะรู้ทั่วถึงธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงแล้ว อันบุคคลที่ยังครองเรือนอยู่ จะประพฤติพรหมจรรย์นี้ให้บริบูรณ์โดยส่วนเดียว ให้บริสุทธิ์โดยส่วนเดียว ดุจสังข์ที่ขัดแล้ว ทำไม่ได้ง่าย ไฉนหนอ เราพึงปลงผมและหนวด ครองผ้ากาสายะ ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต

..... เศรษฐีบุตรโสณโกฬิวิสะได้รับบรรพชา อุปสมบทในพุทธสำนักแล้ว ก็แลท่านพระโสณะอุปสมบทแล้วไม่นาน ได้พำนักอยู่ ณ ป่าสีตวัน ท่านปรารภความเพียรเกินขนาด เดินจงกรมจนเท้าทั้ง ๒ แตก สถานที่เดินจงกรมเปื้อนโลหิต ดุจสถานที่ฆ่าโค ฉะนั้น.

ครั้งนั้น ท่านพระโสณะไปในที่สงัดหลีกเร้นอยู่ ได้มีความปริวิตกแห่งจิตเกิดขึ้นอย่างนี้ว่า บรรดาพระสาวกของพระผู้มีพระภาค ที่ปรารภความเพียรอยู่ เราก็เป็นรูปหนึ่ง แต่ไฉนจิตของเราจึงยังไม่หลุดพ้นจากอาสวะทั้งหลาย เพราะไม่ถือมั่นเล่า สมบัติในตระกูลของเราก็ยังมีอยู่ เราอาจบริโภคสมบัติและบำเพ็ญกุศล ถ้ากระไร เราพึงสึกเป็นคฤหัสถ์แล้วบริโภคสมบัติ และบำเพ็ญกุศล

ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบความปริวิตกแห่งจิตของท่านด้วยพระทัยแล้ว .....

..... คราวนั้น พระองค์พร้อมด้วยภิกษุเป็นอันมาก เสด็จเที่ยวจาริกตามเสนาสนะ ได้เสด็จเข้าไปทางสถานที่เดินจงกรมของท่านพระโสณะ ได้ทอดพระเนตรเห็นสถานที่เดินจงกรมเปื้อนโลหิต ครั้นแล้วจึงตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายมารับสั่งถามว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย สถานที่เดินจงกรมแห่งนี้ของใครหนอ เปื้อนโลหิต เหมือนสถานที่ฆ่าโค ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า ท่านพระโสณะปรารภความเพียรเกินขนาด เดินจงกรมจนเท้าทั้ง ๒ แตก สถานที่เดินจงกรมแห่งนี้ของท่านจึงเปื้อนโลหิต ดุจสถานที่ฆ่าโค ฉะนั้น พระพุทธเจ้าข้า.

ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคได้เสด็จเข้าไปทางที่อยู่ของท่านพระโสณะ ครั้นแล้วประทับนั่งเหนือพุทธอาสน์ที่จัดไว้ถวาย แม้ท่านพระโสณะก็ถวายบังคมพระผู้มีพระภาค แล้วนั่งเฝ้าอยู่.

ตั้งความเพียรสม่ำเสมอเทียบเสียงพิณ

พระผู้มีพระภาคได้ตรัสถามท่านพระโสณะผู้นั่งเฝ้าอยู่ว่า ดูกรโสณะ เธอไปในที่สงัด หลีกเร้นอยู่ได้มีความปรีวิตกแห่งจิตเกิดขึ้นอย่างนี้ว่า บรรดาพระสาวกของพระผู้มีพระภาค ที่ปรารภความเพียรอยู่ เราก็เป็นรูปหนึ่ง แต่ไฉน จิตของเราจึงยังไม่หลุดพ้นจากอาสวะทั้งหลาย เพราะไม่ถือมั่นเล่า สมบัติในตระกูลของเราก็ยังมีอยู่ เราอาจบริโภคสมบัติและบำเพ็ญกุศล ถ้ากระไร เราพึงสึกเป็นคฤหัสถ์ แล้วบริโภคสมบัติและบำเพ็ญกุศล ดังนี้ มิใช่หรือ?

ท่านพระโสณะทูลรับว่า อย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า

ภ. ดูกรโสณะ เธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน เมื่อครั้งเธอยังเป็นคฤหัสถ์ เธอฉลาดในเสียงสายพิณ มิใช่หรือ?

โส. อย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า.

ภ. ดูกรโสณะ เธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน คราวใดสายพิณของเธอตึงเกินไป คราวนั้นพิณของเธอมีเสียงหรือใช้การได้บ้างไหม?

โส. หาเป็นเช่นนั้นไม่ พระพุทธเจ้าข้า.

ภ. ดูกรโสณะ เธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน คราวใดสายพิณของเธอหย่อนเกินไป คราวนั้นพิณของเธอมีเสียงหรือใช้การได้บ้างไหม?

โส. หาเป็นเช่นนั้นไม่ พระพุทธเจ้าข้า.

ภ. ดูกรโสณะ เธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน คราวใดสายพิณของเธอไม่ตึงนัก ไม่หย่อนนัก ตั้งอยู่ในคุณภาพสม่ำเสมอ คราวนั้น พิณของเธอมีเสียงหรือใช้การได้บ้างไหม?

โส. เป็นอย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า.

ภ. ดูกรโสณะ เหมือนกันนั่นแล ความเพียรที่ปรารภเกินไปนัก ย่อมเป็นไปเพื่อความฟุ้งซ่าน ความเพียรที่ย่อหย่อนนัก ก็เป็นไปเพื่อเกียจคร้าน เพราะเหตุนั้นแล เธอจงตั้งความเพียรแต่พอเหมาะ จงทราบข้อที่อินทรีย์ทั้งหลายเสมอกัน (อินทรีย์ 5 = ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา : เสมอกัน คือมีความสมดุลกัน ทำงานเกื้อหนุนกันอย่างพอเหมาะ - ธัมมโชติ) และจงถือนิมิตในความสม่ำเสมอนั้น

โส. จะปฏิบัติตามพระพุทธโอวาทอย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า .....

พระโสณะสำเร็จพระอรหัตผล

ครั้นกาลต่อมา ท่านพระโสณะได้ตั้งความเพียรแต่พอเหมาะ ทราบข้อที่อินทรีย์ทั้งหลายเสมอกัน และได้ถือนิมิตในความสม่ำเสมอ ครั้นแล้วได้หลีกออกอยู่แต่ผู้เดียว ไม่ประมาท มีเพียร มีตนส่งไป ไม่นานเท่าไรนัก ได้ทำให้แจ้งซึ่งคุณพิเศษอันยอดเยี่ยม เป็นที่สุดพรหมจรรย์ ที่กุลบุตรทั้งหลายออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตโดยชอบต้องประสงค์ ด้วยปัญญาอันยิ่งด้วยตนเองในปัจจุบันนี้แหละ เข้าถึงอยู่แล้ว ได้รู้ชัดแล้วว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์เราได้อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำได้ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นอีกเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี ก็แลบรรดา พระอรหันต์ทั้งหลาย ท่านพระโสณะได้เป็นพระอรหันต์รูปหนึ่งแล้ว

พรรณนาคุณของพระขีณาสพ

[๓] ครั้งนั้น ท่านพระโสณะบรรลุพระอรหัตแล้ว ได้คิดว่า ถ้ากระไรเราพึงพยากรณ์อรหัตผลในสำนักพระผู้มีพระภาค แล้วจึงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถวายบังคมนั่งเฝ้าอยู่ ครั้นแล้ว ได้กราบทูลคำนี้แด่พระผู้มีพระภาค ว่าดังนี้:-

พระพุทธเจ้าข้า ภิกษุใดเป็นพระอรหันต์มีอาสวะสิ้นแล้ว อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว มีกิจที่ควรทำได้ทำเสร็จแล้ว ปลงภาระลงแล้ว มีประโยชน์ของตนได้ถึงแล้วโดยลำดับ มีกิเลสเครื่องประกอบสัตว์ไว้ในภพหมดสิ้นแล้ว หลุดพ้นแล้วเพราะรู้ชอบ ภิกษุนั้นย่อมน้อมใจไปสู่เหตุ ๖ สถาน คือ

๑. น้อมใจไปสู่บรรพชา
๒. น้อมใจไปสู่ความเงียบสงัด
๓. น้อมใจไปสู่ความไม่เบียดเบียน
๔. น้อมใจไปสู่ความสิ้นอุปาทาน (อุปาทาน = ความยึดมั่นถือมั่น - ธัมมโชติ)
๕. น้อมใจไปสู่ความสิ้นตัณหา
๖. น้อมใจไปสู่ความไม่หลงไหล

พระพุทธเจ้าข้า ก็บางทีจะมีบางท่านในพระธรรมวินัยนี้สำคัญเห็นเช่นนี้ว่า ท่านผู้นี้อาศัยคุณแต่เพียงศรัทธาอย่างเดียวเป็นแน่ จึงน้อมใจไปสู่บรรพชา ดังนี้พระพุทธเจ้าข้า ก็ข้อนี้ไม่พึงเห็นอย่างนั้นเลย ภิกษุขีณาสพผู้อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว มีกิจที่ควรทำได้ทำเสร็จแล้ว ไม่เห็นว่าตนยังมีกิจที่จำจะต้องทำ หรือจะต้องกลับสะสมทำกิจที่ได้ทำแล้ว จึงน้อมใจสู่บรรพชา โดยที่ตนปราศจากราคะ เพราะสิ้นราคะ จึงน้อมใจไปสู่บรรพชา โดยที่ตนปราศจากโทสะ เพราะสิ้นโทสะ จึงน้อมใจไปสู่บรรพชา โดยที่ตนปราศจากโมหะ เพราะสิ้นโมหะ

พระพุทธเจ้าข้า ก็บางทีจะมีบางท่านในพระธรรมวินัยนี้ สำคัญเห็นเช่นนี้ว่า ท่านผู้นี้ปรารถนาลาภสักการะและความสรรเสริญเป็นแน่ จึงน้อมใจไปในความเงียบสงัด ดังนี้ พระพุทธเจ้าข้า ข้อนี้ก็ไม่พึงเห็นอย่างนั้นเลย ภิกษุขีณาสพผู้อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว มีกิจที่ควรทำได้ทำเสร็จแล้ว ไม่เห็นว่าตนยังมีกิจที่จำจะต้องทำ หรือจะต้องกลับสะสมทำกิจที่ได้ทำแล้ว จึงน้อมใจไปสู่ความเงียบสงัด โดยที่ตนปราศจากราคะ เพราะสิ้นราคะ จึงน้อมใจไปสู่ความเงียบสงัด โดยที่ตนปราศจากโทสะ เพราะสิ้นโทสะ จึงน้อมใจไปสู่ความเงียบสงัด โดยที่ตนปราศจากโมหะ เพราะสิ้นโมหะ

พระพุทธเจ้าข้า ก็บางทีจะมีบางท่านในพระธรรมวินัยนี้ สำคัญเห็นเช่นนี้ว่า ท่านผู้นี้ เชื่อถือสีลัพพตปรามาส (ดูเรื่องสัญโยชน์ 10 ในหมวดวิปัสสนา (ปัญญา) ประกอบ - ธัมมโชติ) โดยความเป็นแก่นสารเป็นแน่ จึงน้อมใจไปสู่ความไม่เบียดเบียน ดังนี้ พระพุทธเจ้าข้า ข้อนี้ก็ไม่พึงเห็นอย่างนั้นเลย ภิกษุขีณาสพผู้อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว มีกิจที่ควรทำได้ทำเสร็จแล้ว ไม่เห็นว่าตนยังมีกิจที่จำจะต้องทำ หรือจะต้องกลับสะสมทำกิจที่ได้ทำแล้ว จึงน้อมใจไปสู่ความไม่เบียดเบียน โดยที่ตนปราศจากราคะ เพราะสิ้นราคะ จึงน้อมใจไปสู่ความไม่เบียดเบียน โดยที่ตนปราศจากโทสะ เพราะสิ้นโทสะ จึงน้อมใจไปสู่ความไม่เบียดเบียน โดยที่ตนปราศจากโมหะ เพราะสิ้นโมหะ

... จึงน้อมใจไปสู่ความสิ้นอุปาทาน โดยที่ตนปราศจากราคะ เพราะสิ้นราคะ จึงน้อมใจไปสู่ความสิ้นอุปาทาน โดยที่ตนปราศจากโทสะ เพราะสิ้นโทสะ จึงน้อมใจไปสู่ความสิ้นอุปาทาน โดยที่ตนปราศจากโมหะ เพราะสิ้นโมหะ ...

จึงน้อมใจไปสู่ความสิ้นตัณหา โดยที่ตนปราศจากราคะ เพราะสิ้นราคะ จึงน้อมใจไปสู่ความสิ้นตัณหา โดยที่ตนปราศจากโทสะ เพราะสิ้นโทสะ จึงน้อมใจไปสู่ความสิ้นตัณหา โดยที่ตนปราศจากโมหะ เพราะสิ้นโมหะ ...

จึงน้อมใจไปสู่ความไม่หลงใหล โดยที่ตนปราศจากราคะ เพราะสิ้นราคะ จึงน้อมใจไปสู่ความไม่หลงใหล โดยที่ตนปราศจากโทสะ เพราะสิ้นโทสะ จึงน้อมใจไปสู่ความไม่หลงใหล โดยที่ตนปราศจากโมหะ เพราะสิ้นโมหะ

พระพุทธเจ้าข้า แม้หากรูปารมณ์ที่หยาบ ซึ่งจะพึงทราบชัดด้วยจักษุ ผ่านมาสู่คลองจักษุ ของภิกษุผู้มีจิตหลุดพ้นแล้วโดยชอบอย่างนี้ ก็ไม่ครอบงำจิตของภิกษุนั้นได้เลย จิตของภิกษุนั้น อันอารมณ์ไม่ทำให้เจือติดอยู่ได้ เป็นธรรมชาติตั้งมั่นไม่หวั่นไหว และภิกษุนั้นย่อมพิจารณาเห็น ความเกิดและความดับของจิตนั้น

แม้หากสัททารมณ์ (เสียง - ธัมมโชติ) ที่หยาบ ซึ่งจะพึงทราบชัดด้วยโสต ....
แม้หากคันธารมณ์ (กลิ่น - ธัมมโชติ) ที่หยาบ ซึ่งจะพึงทราบชัดด้วยฆานะ ....
แม้หากรสารมณ์ (รส - ธัมมโชติ) ที่หยาบ ซึ่งจะพึงทราบชัดด้วยชิวหา ....
แม้หากโผฏฐัพพารมณ์ (สัมผัสทางกาย - ธัมมโชติ) ที่หยาบ ซึ่งจะพึงทราบชัดด้วยกาย ....

แม้หากธรรมารมณ์ที่หยาบ ซึ่งจะพึงทราบชัดด้วยมโน ผ่านมาสู่คลองใจ ของภิกษุผู้มีจิตหลุดพ้นแล้วโดยชอบอย่างนี้ ก็ไม่ครอบงำจิตของภิกษุนั้นได้เลย จิตของภิกษุนั้นอันอารมณ์ไม่ทำให้เจือติดอยู่ได้ เป็นธรรมชาติตั้งมั่นไม่หวั่นไหว และภิกษุนั้นย่อมพิจารณาเห็นความเกิด และความดับของจิตนั้น

พระพุทธเจ้าข้า ภูเขาล้วนแล้วด้วยศิลา ไม่มีช่อง ไม่มีโพรง เป็นแท่งทึบอันเดียวกัน แม้หากลมฝนอย่างแรง พัดมาแต่ทิศตะวันออก ก็ยังภูเขานั้นให้หวั่นไหวสะเทือนสะท้านไม่ได้เลย

แม้หากลมฝนอย่างแรง พัดมาแต่ทิศตะวันตก ....
แม้หากลมฝนอย่างแรง พัดมาแต่ทิศเหนือ ....
แม้หากลมฝนอย่างแรง พัดมาแต่ทิศใต้ ก็ยังภูเขานั้นให้หวั่นไหว สะเทือนสะท้าน ไม่ได้เลย แม้ฉันใด. พระพุทธเจ้าข้า แม้หากรูปารมณ์ที่หยาบ ซึ่งจะพึงทราบชัดด้วยจักษุ ผ่านมาสู่คลองจักษุ ของภิกษุผู้มีจิตหลุดพ้นแล้วโดยชอบอย่างนี้ ก็ย่อมไม่ครอบงำจิตของภิกษุนั้นได้เลย จิตของภิกษุนั้นอันอารมณ์ไม่ทำให้เจือติดอยู่ได้ เป็นธรรมชาติตั้งมั่นไม่หวั่นไหว และภิกษุนั้นย่อม พิจารณาเห็นความเกิดและความดับของจิตนั้น.

แม้หากสัททารมณ์ที่หยาบ ซึ่งจะพึงทราบชัดด้วยโสต ....
แม้หากคันธารมณ์ที่หยาบ ซึ่งจะพึงทราบด้วยฆานะ ....
แม้หากรสารมณ์ที่หยาบ ซึ่งจะพึงทราบด้วยชิวหา ....
แม้หากโผฏฐัพพารมณ์ที่หยาบ ซึ่งจะพึงทราบชัดด้วยกาย ....
แม้หากธรรมารมณ์ที่หยาบ ซึ่งจะพึงทราบชัดด้วยมโน ... ฉันนั้นเหมือนกันแล.

นิคมคาถา

[๔] ภิกษุน้อมไปสู่บรรพชา ๑ ผู้น้อมไปสู่ความเงียบสงัดแห่งใจ ๑ ผู้น้อมไปสู่ความไม่เบียดเบียน ๑ ผู้น้อมไปสู่ความสิ้นอุปาทาน ๑ ผู้น้อมไปสู่ความสิ้นตัณหา ๑ ผู้น้อมไปสู่ความไม่หลงไหลแห่งใจ ๑ ย่อมมีจิตหลุดพ้นโดยชอบ เพราะเห็นความเกิด และความดับแห่งอายตนะ (ดูเรื่องอายตนะ 12 ในหมวดธรรมทั่วไป ประกอบ - ธัมมโชติ) ภิกษุมีจิตหลุดพ้นแล้วโดยชอบ มีจิตสงบนั้น ไม่ต้องกลับสะสมทำกิจที่ได้ทำแล้ว กิจที่จำจะต้องทำก็ไม่มี เปรียบเหมือนภูเขาที่ล้วนแล้วด้วยศิลาเป็นแท่งทึบอันเดียวกัน ย่อมไม่สะเทือนด้วยลม ฉันใด รูป เสียง กลิ่น รส ผัสสะ และธรรมารมณ์ ทั้งที่น่าปรารถนา และไม่น่าปรารถนาทั้งสิ้น ย่อมทำท่านผู้คงที่ให้หวั่นไหวไม่ได้ ฉันนั้น จิตของท่านตั้งมั่น หลุดพ้นแล้ว ท่านย่อมพิจารณาเห็นความเกิด และความดับของจิตนั้นด้วย.

ทรงอนุญาตรองเท้า

[๕] ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ด้วยวิธีอย่างนี้แล ภิกษุทั้งหลาย ที่พวกกุลบุตรพยากรณ์อรหัตกล่าวแต่เนื้อความ และไม่น้อมเข้าไปหาตน ก็แต่ว่า โมฆบุรุษบางจำพวกในธรรมวินัยนี้พยากรณ์อรหัต ทำทีเหมือนเป็นของสนุก ภายหลังต้องทุกข์ เดือดร้อน ดังนี้.

ต่อแต่นั้นพระองค์รับสั่งกะท่านพระโสณะว่า ดูกรโสณะ เธอเป็นสุขุมาลชาติ เราอนุญาตรองเท้าชั้นเดียวแก่เธอ. ท่านพระโสณะกราบทูลว่า ข้าพระพุทธเจ้าละเงินประมาณ ๘๐ เล่มเกวียน และละกองพล กอปรด้วยช้าง ๗ เชือก ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตแล้ว จักมีผู้กล่าวแก่พระพุทธเจ้าว่า โสณโกฬิวิสะละเงินประมาณ ๘๐ เล่มเกวียน และละกองพลกอปรด้วยช้าง ๗ เชือก ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตแล้ว เดี๋ยวนี้ยังข้องอยู่ในเรื่องรองเท้าชั้นเดียว ถ้าพระผู้มีพระภาคจักได้ทรงอนุญาตแก่พระภิกษุสงฆ์ แม้ข้าพระพุทธเจ้าจักใช้สอย ถ้าจักไม่ทรงอนุญาตแก่พระภิกษุสงฆ์ แม้ข้าพระพุทธเจ้าก็จักไม่ใช้สอย พระพุทธเจ้าข้า.

ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทำธรรมีกถา ในเพราะเหตุเป็นเค้ามูลนั้น ในเพราะเหตุแรกเกิดนั้น แล้วรับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตรองเท้าชั้นเดียว ภิกษุไม่พึงสวมรองเท้า ๒ ชั้น ไม่พึงสวมรองเท้า ๓ ชั้น ไม่พึงสวมรองเท้าหลายชั้น รูปใดสวม ต้องอาบัติทุกกฏ.

วิเคราะห์

ความเพียร (วิริยะ) กับสมาธินั้นเป็นปฏิปักษ์กัน คือถ้าความเพียรมากเกินไปสมาธิจะไม่เกิดขึ้น เพราะความเพียรที่มากเกินไปจะทำให้เคร่งเครียด จิตจะหยาบกระด้าง และจิตจะไม่อยู่กับปัจจุบัน เพราะมัวแต่ไปจดจ่ออยู่กับผลสำเร็จซึ่งยังไม่เกิดขึ้น จิตจะพุ่งไปที่อนาคต เมื่อจิตไม่อยู่ที่ปัจจุบันสมาธิก็ไม่เกิดขึ้น จิตจึงมีแต่ความฟุ้งซ่าน วิปัสสนาปัญญาจึงเกิดได้ยากตามไปด้วย

แต่ถ้าความเพียรย่อหย่อนเกินไป ก็จะทำให้เกียจคร้าน ซึ่งก็ไม่ดีเช่นกัน

สำหรับสมาธินั้นถ้ามากเกินไป ก็อาจทำให้เพลิดเพลินอยู่กับความสุขของสมาธิ จนไม่ทำวิปัสสนาต่อไป

ส่วนศรัทธานั้นถ้ามากเกินไป ปัญญาก็จะไม่เกิด เพราะน้อมใจเชื่อไปเสียทุกเรื่อง จึงไม่มีอะไรที่รู้เห็นด้วยปัญญาที่แท้จริงของตนเองเลย

แต่ถ้าปัญญามากเกินไป ก็จะไม่เชื่ออะไรง่ายๆ ทำให้ต้องเสียเวลามาก เพราะต้องให้รู้ให้เห็นด้วยตนเองไปทุกเรื่อง

ในการทำกรรมฐาน จึงต้องคอยปรับอินทรีย์ทั้ง 5 คือ ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา ให้สมดุลกันอยู่เสมอ ถ้าตัวใดน้อยเกินไปก็พยายามยกขึ้นมา ถ้ามากเกินไปก็พยายามข่มลงไป ตัวใดเหมาะสมดีแล้วก็พยายามประคองเอาไว้ คือ ยกจิตเมื่อควรยก ข่มจิตเมื่อควรข่ม ประคองจิตเมื่อควรประคอง กรรมฐานก็จะก้าวหน้าต่อไป

ผู้รวบรวม
ธัมมโชติ
6 สิงหาคม 2544