กลับหน้าหลัก | ไปหน้าสารบัญธรรมะ


พระวักกลิ (อีกรูปหนึ่ง)

ย่อความจากพระไตรปิฎก : พระสุตตันตปิฎก เล่ม 9 สังยุตตนิกาย
ขันธวารวรรค วักกลิสูตร

ว่าด้วยการเห็นธรรมชื่อว่าเห็นพระพุทธเจ้า

[๒๑๕] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเวฬุวัน กลันทกนิวาปสถาน ใกล้พระนครราชคฤห์. สมัยนั้นแล ท่านพระวักกลิอาพาธ มีทุกข์ เป็นไข้หนัก ได้รับทุกขเวทนา พักอยู่ที่นิเวศน์ของนายช่างหม้อ.

ครั้งนั้น ท่านพระวักกลิ เรียกภิกษุผู้อุปัฏฐากทั้งหลายมา แล้วกล่าวว่า มาเถิดอาวุโส ท่านทั้งหลาย จงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ จงถวายบังคมพระยุคลบาทด้วยเศียรเกล้า ตามคำของเราแล้ว ทูลว่า พระเจ้าข้า วักกลิภิกษุอาพาธ เป็นไข้หนัก ได้รับทุกขเวทนา ท่านถวายบังคมพระยุคลบาทของพระองค์ด้วยเศียรเกล้า และพวกท่านจงทูลอย่างนี้ว่า พระเจ้าข้า ได้ยินว่า ท่านขอประทานวโรกาส ขอทูลเชิญพระผู้มีพระภาค ทรงอาศัยความอนุเคราะห์ เสด็จเข้าไปหาท่านวักกลิถึงที่อยู่เถิด.

ภิกษุเหล่านั้น รับคำท่านวักกลิ แล้วเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ฯลฯ ครั้นแล้ว ได้กราบทูลว่า พระเจ้าข้า วักกลิภิกษุอาพาธ เป็นไข้หนัก ... ฯลฯ ... พระผู้มีพระภาคทรงรับนิมนต์ด้วยดุษณีภาพ. (รับโดยอาการนิ่ง ไม่คัดค้าน - ธัมมโชติ)

[๒๑๖] ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคทรงครองผ้าแล้ว ทรงถือบาตรและจีวร เสด็จเข้าไปหาท่านพระวักกลิถึงที่อยู่ ท่านพระวักกลิได้เห็นพระผู้มีพระภาคเสด็จมาแต่ไกล ครั้นเห็นแล้ว ก็ลุกขึ้นจากเตียง. ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกะท่านพระวักกลิว่า อย่าเลยวักกลิ เธออย่าลุกจากเตียงเลย อาสนะเหล่านี้ ที่เขาปูลาดไว้มีอยู่ เราจะนั่งที่อาสนะนั้น. พระผู้มีพระภาคประทับนั่งบนอาสนะที่เขาปูลาดไว้.

ครั้นแล้ว ได้ตรัสถามท่านพระวักกลิว่า ดูกรวักกลิ เธอพอทนได้หรือ พอยังอัตภาพให้เป็นไปได้หรือ ทุกขเวทนานั้น ปรากฏว่าทุเลาลง ไม่กำเริบขึ้นหรือ.

ท่านพระวักกลิกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ทนไม่ไหว ไม่สามารถยังอัตภาพให้เป็นไปได้ ทุกขเวทนาของข้าพระองค์แรงกล้า มีแต่กำเริบขึ้น ไม่ทุเลาลงเลย ทุกขเวทนาปรากฏว่ากำเริบขึ้น ไม่ทุเลาลงเลย.

พ. ดูกรวักกลิ เธอไม่มีความรำคาญ ไม่มีความเดือดร้อนอะไรบ้างหรือ?

ว. พระเจ้าข้า ที่แท้จริง ข้าพระองค์มีความรำคาญไม่น้อย มีความเดือดร้อนอยู่ไม่น้อยเลย.

พ. ดูกรวักกลิ ก็ตัวเธอเอง ไม่ติเตียนตนเองได้โดยศีลบ้างหรือ?

ว. พระเจ้าข้า ตัวข้าพระองค์เอง จะติเตียนได้โดยศีลก็หาไม่. (คือมีศีลบริสุทธิ์ - ธัมมโชติ)

พ. ดูกรวักกลิ ถ้าหากว่า ตัวเธอเองติเตียนตนเองโดยศีลไม่ได้ เมื่อเป็นเช่นนั้น เธอจะมีความรำคาญและมีความเดือดร้อนอะไร?

ว. พระเจ้าข้า จำเดิมแต่กาลนานมาแล้ว ข้าพระองค์ประสงค์จะเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค แต่ว่าในร่างกายของข้าพระองค์ ไม่มีกำลังพอที่จะเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคได้.

พ. อย่าเลย วักกลิ ร่างกายอันเปื่อยเน่าที่เธอเห็นนี้ จะมีประโยชน์อะไร? ดูกรวักกลิ ผู้ใดแล เห็นธรรม ผู้นั้นชื่อว่าย่อมเห็นเรา ผู้ใดเห็นเรา ผู้นั้นชื่อว่าย่อมเห็นธรรม. วักกลิ เป็นความจริง บุคคลเห็นธรรม ก็ย่อมเห็นเรา บุคคลเห็นเราก็ย่อมเห็นธรรม. วักกลิ เธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน รูปเที่ยงหรือไม่เที่ยง?

ว. ไม่เที่ยง พระเจ้าข้า.

พ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุขเล่า?

ว. เป็นทุกข์ พระเจ้าข้า.

พ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ควรหรือหนอ ที่จะตามเห็นสิ่งนั้นว่า นั่นของเรา นั่นเป็นเรา นั่นเป็นตัวตนของเรา?

ว. ไม่ควรเห็นอย่างนั้น พระเจ้าข้า.

พ. เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เที่ยงหรือไม่เที่ยง?

ว. ไม่เที่ยง พระเจ้าข้า.

พ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุขเล่า?

ว. เป็นทุกข์ พระเจ้าข้า.

พ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ควรหรือหนอ ที่จะตามเห็นสิ่งนั้นว่า นั่นของเรา นั่นเป็นเรา นั่นเป็นตัวตนของเรา?

ว. ไม่ควรเห็นอย่างนั้น พระเจ้าข้า.

พ. เพราะเหตุนั้นแล ฯลฯ อริยสาวกเห็นอยู่อย่างนี้ ฯลฯ ย่อมทราบชัดว่า ฯลฯ กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี.

ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัสสอนท่านพระวักกลิ ด้วยพระโอวาทนี้แล้ว ทรงลุกจากอาสนะ เสด็จไปยังภูเขาคิชฌกูฏ.

[๒๑๗] ครั้งนั้นแล พระวักกลิ เมื่อพระผู้มีพระภาคเสด็จหลีกไปแล้วไม่นาน ได้เรียกภิกษุอุปัฏฐากทั้งหลายมาแล้ว กล่าวว่า มาเถิด อาวุโส ท่านจงช่วยอุ้มเราขึ้นเตียง แล้วหามไปยังวิหารกาฬสิลาข้างภูเขาอิสิคิลิ ก็ภิกษุผู้เช่นกับเรา ไฉนเล่า จะพึงสำคัญว่าตนพึงทำกาละ (มรณภาพ - ธัมมโชติ) ในละแวกบ้านเล่า? ภิกษุอุปัฏฐากเหล่านั้นรับคำท่านวักกลิ แล้วอุ้มท่านพระวักกลิขึ้นเตียง หามไปยังวิหารกาฬสิลา ข้างภูเขาอิสิคิลิ.

[๒๑๘] ครั้นพอราตรีนั้นผ่านไป พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายมารับสั่งว่า มาเถิด ภิกษุทั้งหลาย จงพากันเข้าไปหาวักกลิภิกษุถึงที่อยู่ ครั้นแล้วจงบอกวักกลิภิกษุอย่างนี้ว่า อาวุโสวักกลิ ท่านจงฟังพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคและคำของเทวดา ๒ องค์ อาวุโส ณ ราตรีนี้ เมื่อปฐมยามผ่านไปแล้ว เทวดา ๒ องค์ ผู้มีฉวีวรรณงดงาม ทำภูเขาคิชฌกูฏให้สว่างทั่วไปทั้งหมด เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้ว ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้ว เทวดาองค์หนึ่ง ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า พระเจ้าข้า วักกลิภิกษุ คิดเพื่อความหลุดพ้น เทวดาอีกองค์หนึ่ง ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า พระเจ้าข้า ก็วักกลิภิกษุนั้น หลุดพ้นดีแล้ว จักหลุดพ้นได้แน่แท้. อาวุโสวักกลิ แต่ว่าพระผู้มีพระภาค ตรัสกะท่านอย่างนี้ว่า อย่ากลัวเลย วักกลิ อย่ากลัวเลย วักกลิ จักมีความตายอันไม่ต่ำช้าแก่เธอ จักมีกาลกิริยาอันไม่เลวทรามแก่เธอ.

ภิกษุเหล่านั้น รับพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคแล้ว เข้าไปหาท่านพระวักกลิถึงที่อยู่ ครั้นแล้ว ได้กล่าวกะท่านวักกลิว่า อาวุโสวักกลิ ท่านจงฟังพระดำรัสของพระผู้มีพระภาค และคำของเทวดา ๒ องค์.

[๒๑๙] ครั้งนั้นแล ท่านพระวักกลิเรียกภิกษุอุปัฏฐากทั้งหลายมาแล้วกล่าวว่า มาเถิด อาวุโส ท่านจงช่วยกันอุ้มเราลงจากเตียง เพราะว่าภิกษุผู้เช่นกับเรานั่งบนอาสนะสูงแล้ว จะพึงสำคัญว่า ตนควรฟังคำสั่งสอนของพระผู้มีพระภาคนั้นอย่างไรเล่า?

ภิกษุเหล่านั้นรับคำของท่านพระวักกลิแล้ว ก็ช่วยกันอุ้มท่านพระวักกลิลงจากเตียง แล้วกล่าวว่า ณ ราตรีนี้ เมื่อปฐมยามล่วงไปแล้ว เทวดา ๒ องค์ ฯลฯ ได้ยืนอยู่ ณ ที่สมควรส่วนข้างหนึ่ง. ครั้นแล้ว เทวดาองค์หนึ่งได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า พระเจ้าข้า วักกลิภิกษุ คิดเพื่อความหลุดพ้น เทวดาอีกองค์หนึ่ง ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า พระเจ้าข้า ก็วักกลิภิกษุนั้น หลุดพ้นแล้ว จักหลุดพ้นได้แน่แท้. อาวุโสวักกลิ แต่ว่าพระผู้มีพระภาคได้ตรัสถึงท่านอย่างนี้ว่า อย่ากลัวเลย วักกลิ อย่ากลัวเลย วักกลิ จักมีความตายอันไม่ต่ำช้าแก่เธอ จักมีกาลกิริยาไม่เลวทรามแก่เธอ.

พระวักกลิกล่าวว่า อาวุโส ถ้าเช่นนั้น ท่านจงช่วยถวายบังคมพระยุคลบาทของพระผู้มีพระภาค ด้วยเศียรเกล้า ตามคำของผมด้วยว่า พระเจ้าข้า วักกลิภิกษุอาพาธ เป็นไข้หนักได้รับทุกขเวทนา เธอถวายบังคมพระยุคลบาทของพระผู้มีพระภาคด้วยเศียรเกล้า และยังได้สั่งมากราบทูลอย่างนี้ว่า พระเจ้าข้า ข้าพระองค์ไม่เคลือบแคลงว่ารูปไม่เที่ยง ไม่สงสัยว่าสิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์ ไม่สงสัยว่าสิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ความพอใจก็ดี ความกำหนัดก็ดี ความรักใคร่ก็ดี ในสิ่งนั้น มิได้มีแก่ข้าพระองค์. ข้าพระองค์ ไม่เคลือบแคลงว่า เวทนา ... สัญญา ... สังขาร ... วิญญาณไม่เที่ยง ไม่สงสัยว่าสิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์ ไม่สงสัยว่าสิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ความพอใจก็ดี กำหนัดก็ดี ความรักใคร่ก็ดี ในสิ่งนั้น มิได้มีแก่ข้าพระองค์ ดังนี้.

ภิกษุเหล่านั้น รับคำท่านพระวักกลิแล้วหลีกไป ครั้งนั้น เมื่อภิกษุเหล่านั้นหลีกไปไม่นาน ท่านพระวักกลิก็นำเอาศาตรามา.

[๒๒๐] ครั้งนั้นแล ภิกษุเหล่านั้น เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ นั่ง ณ ที่ควร ส่วนข้างหนึ่ง. ครั้นแล้ว ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ วักกลิภิกษุอาพาธ เป็นไข้หนัก ได้รับทุกขเวทนา ท่านขอถวายบังคมพระยุคลบาทของพระผู้มีพระภาคด้วยเศียรเกล้า และยังได้สั่งมากราบทูลอย่างนี้ว่า ... ฯลฯ ...

[๒๒๑] ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายมา รับสั่งว่า มาไปกันเถิด ภิกษุทั้งหลาย เราจะพากันไปยังวิหารกาฬสิลา ข้างภูเขาอิสิคิลิ ซึ่งเป็นที่ที่วักกลิกุลบุตรนำเอาศาตรามา. ภิกษุเหล่านั้น รับพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคแล้ว. ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเสด็จไปยัง วิหารกาฬสิลา ข้างภูเขาอิสิคิลิ พร้อมด้วยภิกษุเป็นจำนวนมาก. ได้ทอดพระเนตรเห็นท่าน พระวักกลินอนคอบิดอยู่บนเตียงแต่ไกลเทียว.

ก็สมัยนั้นแล ปรากฏเป็นกลุ่มควัน กลุ่มหมอก ลอยไปทางทิศบูรพา ทิศปัจจิม ทิศอุดร ทิศทักษิณ ทิศเบื้องบน ทิศเบื้องต่ำ และอนุทิศ. ลำดับนั้นเอง พระผู้มีพระภาคก็ตรัสกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายมองเห็นกลุ่มควัน กลุ่มหมอก ลอยไปทางทิศบูรพา ฯลฯ และอนุทิศหรือไม่?

ภิกษุเหล่านั้นกราบทูลว่า เห็น พระเจ้าข้า.

พ. ดูกรภิกษุทั้งหลาย นั่นแหละคือมารใจหยาบช้า ค้นหาวิญญาณของวักกลิกุลบุตร ด้วยคิดว่าวิญญาณของวักกลิกุลบุตร ตั้งอยู่ ณ ที่แห่งไหนหนอ? ดูกรภิกษุทั้งหลาย วักกลิกุลบุตรมีวิญญาณไม่ได้ตั้งอยู่ ปรินิพพานแล้ว.

จบวักกลิสูตร.

วิเคราะห์

  1. "ผู้ใดแล เห็นธรรม ผู้นั้นชื่อว่าย่อมเห็นเรา ผู้ใดเห็นเรา ผู้นั้นชื่อว่าย่อมเห็นธรรม."
    ทั้งนี้เพราะ พระพุทธเจ้าที่แท้จริงแล้วไม่ใช่เป็นที่พระวรกายของพระองค์ แต่เป็นที่พระปัญญาธิคุณที่ทรงเห็นสิ่งต่างๆ ตามสภาวะที่แท้จริง (คือความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา) ด้วยตัวพระองค์เอง อันเป็นผลให้พ้นจากความยึดมั่นถือมั่น ในสิ่งทั้งปวง ต่างหาก

    ดังนั้น ผู้ที่เกิดปัญญาเช่นนั้นขึ้นมาแล้ว ได้ดวงตาเห็นธรรม เช่นเดียวกับที่ทำให้พระองค์เป็นพระพุทธเจ้าแล้ว ได้เห็นสภาวะที่แท้จริงของพระองค์แล้ว จึงจะได้ชื่อว่าเห็นพระองค์

    ส่วนผู้ที่ได้เห็นเพียงพระวรกายของพระองค์ โดยไม่เคยเกิดปัญญาเห็นธรรมเลย (ยังเป็นปุถุชน คือผู้ที่หนาด้วยกิเลสอยู่) ย่อมได้ชื่อว่าเห็นพระพุทธเจ้า เพียงอาการสมมติเท่านั้น และเขาย่อมไม่อาจคาดเดาได้อย่างชัดเจน ว่าพระพุทธเจ้าที่แท้ นั้นเป็นอย่างไร

  2. การฆ่าตัวตายโดยทั่วไปแล้ว เป็นสิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงตำหนิ เพราะเป็นสิ่งที่มีโทษมาก เนื่องจากการที่คนทั่วไปจะฆ่าตัวตายได้นั้น ในขณะนั้นจิตจะต้องอยู่ในสภาวะของโทสะ (ความโกรธ ความขัดเคืองใจ ความผิดหวัง ความเสียใจ ฯลฯ) อย่างแรงกล้า จึงจะสามารถทำลายชีวิตอันเป็นที่รักยิ่งของตนเองได้ เมื่อใกล้จะตายเมื่อจิตอยู่ในสภาวะเช่นนั้น เมื่อตายไปแล้วก็ย่อมจะต้องไปเกิดในภพภูมิที่เร่าร้อน เช่นนรกภูมิอย่างแน่นอน ทั้งนี้เพราะ เมื่อตายแล้วจะไปเกิดในภูมิใดนั้น ขึ้นกับสภาพจิตตอนใกล้ตายที่เรียกว่ามรณาสันนวิถีเป็นสำคัญ คือถ้าขณะนั้นจิตมีสภาพเป็นอย่างไร ก็จะส่งผลให้ไปเกิดใหม่ ในภูมิที่มีสภาพใกล้เคียง กับสภาพจิตนั้นมากที่สุด (ดูเรื่องปฏิจจสมุปบาท ในหมวดธรรมทั่วไป ประกอบ)

    แต่มีการฆ่าตัวตายชนิดหนึ่งที่พระพุทธเจ้าไม่ทรงตำหนิ คือการฆ่าตัวตายที่ไม่ต้องเกิดใหม่อีก ซึ่งมีภิกษุหลายรูปได้ทำเช่นนี้ โดยที่ส่วนใหญ่จะอาศัยการพิจารณาทุกขเวทนาที่เกิดขึ้นก่อนตาย เพื่อละความยินดีพอใจในการเกิดใหม่ รวมถึงความยินดีพอใจและความยึดมั่นถือมั่น ในรูปนามทั้งหลายลงไป เพราะเห็นความทุกข์ที่เกิดขึ้นจากรูปนามนั้น

ผู้รวบรวม
ธัมมโชติ
25 กรกฎาคม 2544