กลับหน้าหลัก | ไปหน้าสารบัญธรรมะ


กิเลสดับได้อย่างไร

เนื่องจากกิเลสทั้งหลายเกิดจากการไม่รู้ธรรมชาติของสิ่งต่าง ๆ ตามที่เป็นจริง อันเป็นผลให้เกิดความยึดมั่นถือมั่น ดังนั้น กิเลสทั้งหลายจะหมดไปได้ก็ด้วยการรู้ธรรมชาติของสิ่งต่าง ๆ ตามที่เป็นจริง อันเป็นผลให้คลายความยึดมั่นถือมั่นนั่นเอง การรู้นี้ไม่ใช่การจำได้หมายรู้ ( สัญญา) แต่เป็นความรู้ที่เกิดจากความรู้สึกที่เกิดจากส่วนลึกที่สุดของจิตใจ เป็นความรู้ที่หยั่งลึกลงไปถึงจิตใต้สำนึกที่อยู่ลึกที่สุด โดยไม่มีความเคลือบแคลงสงสัยใด ๆ ขึ้นมาขัดแย้งเลยแม้แต่น้อย ไม่มีแม้ความขัดแย้งในความรู้สึก เป็นความรู้อย่างชัดแจ้งด้วยปัญญาของตนเอง หรือไม่ก็ต้องอาศัยศรัทธาอันแรงกล้าในพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ เป็นเครื่องประกอบ ( คือถ้าศรัทธาน้อยก็ต้องอาศัยปัญญามาก ดังเช่นพระสารีบุตร ถ้าศรัทธามากก็ใช้ปัญญาน้อยลงไป ดังเช่นพระวักกลิ และลูกศิษย์คนที่อายุมากที่สุดของพราหมณ์พาวรี ในเรื่องโสฬสปัญหา ในสมัยพุทธกาลโน้น ที่ชื่อว่า "ปิงคิยะ" ซึ่งมีอายุ 120 ปีในวันที่ฟังธรรม ( ดูพระไตรปิฎก ปารายนวรรค ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส เล่ม 6 ประกอบ ) )
ซึ่งความรู้ที่ว่านี้จะเกิดขึ้นมาได้ก็ด้วยการเจริญวิปัสสนาเท่านั้น .

หมายเหตุ ในตำราและในพระไตรปิฎกมีการกล่าวถึงคนที่ฟังธรรมแล้วบรรลุมรรคผล โดยไม่ได้กล่าวถึงการเจริญวิปัสสนาของคนเหล่านั้นเลยนั้น ความจริงแล้วไม่ได้ขัดแย้งกับคำกล่าวนี้เลย เพราะการที่คนเหล่านั้นบรรลุมรรคผลได้ก็เนื่องมาจากว่า เมื่อบุคคลเหล่านั้นฟังธรรมแล้วก็ตรองตาม แล้วน้อมธรรมนั้นเข้ามาใส่ตน คือพิจารณาเปรียบเทียบกับตน แล้วจึงเกิดความรู้สึกขึ้นมาว่าร่างกาย จิตใจของเราก็เป็นอย่างที่แสดงไว้ในธรรมนั้นด้วยเช่นกัน แล้วจึงเกิดความรู้สึกเบื่อหน่ายร่างกายและจิตใจ ทั้งภายในและภายนอกขึ้นมาอย่างแรงกล้า ความรู้สึกนั้นรุนแรงไปถึงจิตใต้สำนึกแล้วแผ่ซ่านไปทั่วตัว เมื่อเบื่อหน่ายก็คลายกำหนัด ( ความยึดมั่นถือมั่น ยินดีพอใจในรูปนามทั้งหลาย ) เมื่อคลายกำหนัดก็ถึงความหลุดพ้น ( จากความยึดมั่นถือมั่น รวมทั้งกิเลสทั้งหลาย ) นั่นก็คือคนเหล่านั้นเจริญวิปัสสนาไปพร้อมกับการฟังธรรมนั่นเอง .

ธัมมโชติ
10 พฤศจิกายน 2543