กลับหน้าหลัก | ไปหน้าสารบัญธรรมะ


ธรรมเปรียบเหมือนแพ

พระไตรปิฎก : พระสุตตันตปิฎก เล่ม 4 มัชฌิมนิกาย
มูลปัณณาสก์ อลคัททูปมสูตร

[๒๘๐] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนบุรุษผู้เดินทางไกล พบห้วงน้ำใหญ่ ฝั่งข้างนี้น่ารังเกียจ มีภัยตั้งอยู่เฉพาะหน้า ฝั่งข้างโน้มเกษม ไม่มีภัย ก็แหละเรือ หรือสะพานสำหรับข้าม เพื่อจะไปสู่ฝั่งโน้น ไม่พึงมี บุรุษนั้นพึงดำริอย่างนี้ว่า ห้วงน้ำนี้ใหญ่ แลฝั่งข้างนี้น่ารังเกียจ มีภัยตั้งอยู่เฉพาะหน้า ฝั่งข้างโน้นเกษม ไม่มีภัย ก็แหละเรือ หรือสะพานสำหรับข้าม เพื่อจะไปสู่ฝั่งโน้น ย่อมไม่มี ถ้ากระไร เราพึงรวบรวมหญ้า ไม้ กิ่งไม้ และใบไม้มาผูกเป็นแพ แล้วอาศัยแพนั้น พยายามด้วยมือและเท้า พึงข้ามถึงฝั่งได้โดยความสวัสดี.

ทีนี้แล บุรุษนั้นรวบรวมหญ้า ไม้ กิ่งไม้ และใบไม้มาผูกเป็นแพ อาศัยแพนั้น พยายามด้วยมือ และเท้า พึงข้ามถึงฝั่งโดยความสวัสดี บุรุษนั้นข้ามไปสู่ฝั่งได้แล้ว พึงดำริอย่างนี้ว่า แพนี้มีอุปการะแก่เรามากแล เราอาศัยแพนี้พยายามอยู่ด้วยมือและเท้า ข้ามถึงฝั่งได้โดยความสวัสดี ถ้ากระไร เรายกแพนี้ขึ้นบนศีรษะ หรือแบกที่บ่า แล้วพึงหลีกไปตามความปรารถนา. (โดยแบกแพนั้นไปตลอด - ธัมมโชติ)

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน บุรุษนั้นผู้กระทำอย่างนี้ จะชื่อว่ากระทำถูกหน้าที่ในแพนั้นบ้างหรือหนอ?

ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า ข้อนั้นชื่อว่าทำไม่ถูก พระเจ้าข้า.

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็บุรุษนั้นกระทำอย่างไร จึงจะชื่อว่าทำถูกหน้าที่ในแพนั้น? ในข้อนี้ บุรุษนั้นข้ามไปสู่ฝั่งแล้ว พึงดำริอย่างนี้ว่า แพนี้มีอุปการะแก่เรามากแล เราอาศัยแพนี้ พยายามอยู่ด้วยมือและเท้า จึงข้ามถึงฝั่งได้โดยสวัสดี ถ้ากระไร เราพึงยกแพนี้ขึ้นวางบนบก หรือให้ลอยอยู่ในน้ำ แล้วพึงหลีกไปตามความปรารถนา.

ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุรุษนั้นกระทำอย่างนี้แล จึงจะชื่อว่ากระทำถูกหน้าที่ในแพนั้น แม้ฉันใด. ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราแสดงธรรม มีอุปมาด้วยแพ เพื่อต้องการสลัดออก ไม่ใช่เพื่อต้องการยึดถือ ฉันนั้นแล เธอทั้งหลายรู้ถึงธรรมมีอุปมาด้วยแพที่เราแสดงแล้วแก่ท่านทั้งหลาย พึงละแม้ซึ่งธรรมทั้งหลาย จะป่วยกล่าวไปไยถึงอธรรมเล่า.

วิเคราะห์


คำสั่งสอนทั้งหลายที่พระพุทธเจ้าทรงแสดง รวมทั้งข้อวัตรปฏิบัติทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นทาน ศีล สมาธิ วิปัสสนา หรือสิ่งอื่นใดก็ตาม ล้วนเป็นเครื่องมือสำหรับพัฒนาจิต พัฒนาสติปัญญา เพื่อให้จิตประณีตขึ้นโดยลำดับ จนถึงขั้นสูงที่สุดคือพระนิพพาน ซึ่งเป็นสภาวะจิตที่ปราศจากความยึดมั่นถือมั่นในสิ่งทั้งปวง

เปรียบเหมือนเป็นพาหนะสำหรับใช้ข้ามฝั่ง จากฝั่งแห่งโลก (ฝั่งแห่งความยึดมั่นถือมั่น) ไปสู่ฝั่งแห่งพระนิพพาน (ฝั่งที่พ้นจากความยึดมั่นถือมั่น)

*** คำว่าฝั่งในที่นี้ใช้เพียงเพื่อแสดงให้เห็นถึงความแตกต่างกันของสภาวะจิตเท่านั้น ผู้เขียนมิได้มีเจตนาจะบอกว่ามีดินแดนแห่งพระนิพพานที่เป็นภพภูมิทางวัตถุ เพื่อให้พระพุทธเจ้า หรือพระอรหันต์ทั้งหลายที่ปรินิพพานแล้วไปเกิดแต่อย่างใด ***

ซึ่งเมื่อไปถึงฝั่งอย่างปลอดภัยแล้ว ก็สมควรที่จะสลัดความยึดมั่นในสิ่งทั้งปวงลงไป (ถ้าไม่สลัดก็ไม่สามารถถึงพระนิพพานได้อยู่แล้ว) แต่ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าให้กลายเป็นคนทุศีล แต่เป็นผู้ที่มีศีล ไม่ทำผิดศีลแต่ไม่ยึดมั่นถือมั่นในศีลนั้น คือทำเพราะคิดว่าสมควรจะทำ ไม่ใช่ทำเพราะความยึดมั่นถือมั่น มีสมาธิแต่ไม่ยึดมั่นถือมั่นในสมาธิ มีวิปัสสนาปัญญาแต่ไม่ยึดมั่นถือมั่นในปัญญานั้น

สำหรับผู้ที่ยังไปไม่ถึงฝั่งนั้น ก็ต้องยึดเกาะเอาเครื่องมือ หรือพาหนะเอาไว้ให้มั่นคงอย่างเพียงพอ ไม่เช่นนั้น ก็ย่อมจะพลัดหล่นลงไปลอยคออยู่ในน้ำซึ่งเต็มไปด้วยสัตว์ร้ายนานาชนิด (คือกิเลสชนิดต่างๆ) ได้ง่ายๆ ถ้าโชคยังดีก็อาจจะกลับขึ้นพาหนะได้ทัน แต่ถ้าโชคร้ายก็อาจเจอภัยจากสัตว์ร้ายเหล่านั้นทำเอาสะบักสะบอม หรืออาจถึงขั้นเสียชีวิตจมน้ำตายไปเลยก็ได้

ผู้รวบรวม
ธัมมโชติ
19 สิงหาคม 2544