กลับหน้าหลัก | ไปหน้าสารบัญธรรมะ


เวลาที่เป็นฤกษ์ดี

คนจำนวนไม่น้อย ที่เสียเวลาจำนวนมากไปกับการดูฤกษ์ดูยาม ว่าจะทำอะไรเมื่อไหร่ถึงจะดี และเมื่อได้ฤกษ์ที่คิดว่าดีมาแล้ว ก็ต้องเสียเวลาเพื่อรอให้ฤกษ์ที่ว่านั้นมาถึง จึงจะเริ่มทำในสิ่งนั้นๆ ได้ การเสียเวลาเหล่านี้ บางครั้งทำให้ต้องเสียโอกาสที่ดีๆ ไป ทั้งโดยรู้ตัวและไม่รู้ตัว ลองมาดูกันว่าพระพุทธเจ้าตรัสเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้อย่างไรบ้าง

สุปุพพัณหสูตร (พระไตรปิฎก สุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต มังคลวรรคที่ ๕) :

[๕๙๕] ดูกรภิกษุทั้งหลาย สัตว์เหล่าใดประพฤติสุจริตด้วยกาย ประพฤติสุจริตด้วยวาจา ประพฤติสุจริตด้วยใจ ในเวลาเช้า เวลาเช้าก็เป็นเวลาเช้าที่ดีของสัตว์เหล่านั้น
สัตว์เหล่าใดประพฤติสุจริตด้วยกาย ประพฤติสุจริตด้วยวาจา ประพฤติสุจริตด้วยใจ ในเวลาเที่ยง เวลาเที่ยงก็เป็นเวลาเที่ยงที่ดีของสัตว์เหล่านั้น
สัตว์เหล่าใดประพฤติสุจริตด้วยกาย ประพฤติสุจริตด้วยวาจา ประพฤติสุจริตด้วยใจ ในเวลาเย็น เวลาเย็นก็เป็นเวลาเย็นที่ดีของสัตว์เหล่านั้น

สัตว์ทั้งหลายประพฤติชอบในเวลาใด
เวลานั้นชื่อว่าเป็นฤกษ์ดี มงคลดี สว่างดี
รุ่งดี ขณะดี ยามดี และบูชาดี

ในพรหมจารีบุคคลทั้งหลาย กายกรรมเป็นส่วนเบื้องขวา
วจีกรรมเป็นส่วนเบื้องขวา มโนกรรมเป็นส่วนเบื้องขวา
ความปรารถนาของท่านเป็นส่วนเบื้องขวา
สัตว์ทั้งหลายทำกรรมอันเป็นส่วนเบื้องขวาแล้ว
ย่อมได้ผลประโยชน์อันเป็นส่วนเบื้องขวา
ท่านเหล่านั้นได้ประโยชน์แล้ว จงได้รับความสุข
จงงอกงามในพระพุทธศาสนา จงไม่มีโรค
ถึงความสุข พร้อมด้วยญาติทั้งมวล ฯ

จบสุปุพพัณหสูตร

ลองดูที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ในอีกสูตรนะครับ

นักขัตตชาดก ว่าด้วยประโยชน์คือฤกษ์ (พระไตรปิฎก สุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก ภาค ๑) :

[๔๙] ประโยชน์ได้ล่วงเลยคนโง่เขลาผู้มัวคอยฤกษ์อยู่
ประโยชน์เป็นฤกษ์ของประโยชน์ ดวงดาวจักทำอะไรได้.

จบนักขัตตชาดกที่ ๙.

คนเราถ้าจะทำความดีแล้วมัวคอยฤกษ์อยู่ ก็ไม่รู้จะว่ายังไงแล้วนะครับ กว่าฤกษ์นั้นจะมาถึง ก็อาจถูกคนอื่นตัดหน้าไปก่อนแล้วก็ได้ หรืออาจมีอุปสรรค์อะไรมาขัดขวางการกระทำนั้นก็ได้ ใครจะไปรู้

ผู้รวบรวม
ธัมมโชติ
14 พฤษภาคม 2544