กลับหน้าหลัก | ไปหน้าสารบัญธรรมะ


ทางสายกลางที่พระพุทธเจ้าทรงสอน

ในสมัยโบราณ ก่อนที่เจ้าชายสิทธัตถะจะทรงตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้านั้น มีเจ้าลัทธิต่างๆ อยู่เป็นจำนวนมาก เจ้าลัทธิเหล่านั้น ต่างก็สอนแนวทางปฏิบัติเพื่อการพ้นทุกข์แตกต่างกันไป ตามความเชื่อของตน ซึ่งสามารถสรุปได้เป็น 2 แนวทางคือ

1.) อัตตกิลมถานุโยค คือใช้วิธีการทรมานร่างกายของตนเองด้วยวิธีการต่างๆ โดยมีความเชื่อว่า เมื่อได้รับความทุกข์จนถึงที่สุดแล้ว ก็จะสามารถพ้นจากความทุกข์ทั้งปวงไปได้เอง หรือจะเข้าถึงความบริสุทธิ์ไปได้เอง การปฏิบัติแนวนี้มีหลายรูปแบบ เช่น การอดอาหาร การไว้เล็บยาว การยืนขาเดียว การไม่นุ่งผ้า ที่เรียกว่าอเจลกะ การใช้ชีวิตและท่าทางต่างๆ เหมือนวัว ที่เรียกว่าโควัตร การใช้ชีวิตและท่าทางต่างๆ เหมือนสุนัข ที่เรียกว่าสุนัขวัตร การสมาทานบริโภคเฉพาะลูกเดือย ฯลฯ

2.) กามสุขัลลิกานุโยค คือการส้องเสพ บำรุงบำเรอตนเองด้วยกามคุณทั้ง 5 อย่างเต็มที่ (การสัมผัสกับสิ่งที่น่ารื่นรมย์ ต่างๆ ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย) เพราะมีความเชื่อว่าตายแล้วสูญ การใช้วิธีตามแนวทางที่ 1. ก็มีแต่จะเป็นทุกข์ไปโดยเปล่าประโยชน์ เพราะฉะนั้น จึงพยายามหาความสุขให้ได้มากที่สุด ตลอดช่วงเวลาที่มีชีวิตอยู่ โดยเรียกว่านิพพานปัจจุบัน

เจ้าชายสิทธัตถะนั้น เมื่อก่อนจะออกบวช ก็ทรงได้รับการบำรุงบำเรอด้วยกามคุณทั้ง 5 อย่างเต็มที่มาแล้ว ก็ได้ทรงทราบอย่างชัดเจนด้วยพระองค์เองมาแล้วว่า วิธีการเช่นนั้น ทำให้มีความสุขได้เพียงชั่วครั้งชั่วคราวเท่านั้น เมื่อนานวันเข้าก็รู้สึกจืดชืด และเบื่อได้ในที่สุด ไม่สามารถทำให้พ้นจากความทุกข์ต่างๆ ไปได้จริง ไม่ว่าจะเป็นทุกข์จากความแก่ ความเจ็บ ความตาย ความพลัดพรากจากของรัก ความโกรธ เร่าร้อนใจ ความกังวลใจ ความเครียด ความกลัว ความร้อน ความหนาว และทุกข์อื่นๆ อีกสารพัดอย่าง

เมื่อออกบวชแล้ว ก็ได้ทรงทดลองใช้วิธีการทรมานร่างกายในรูปแบบต่างๆ อยู่เป็นเวลานาน ที่เรียกกันทั่วไปว่าทุกรกิริยา จนกระทั่งทรงแน่พระทัยว่า วิธีนี้ไม่สามารถทำให้พ้นจากความทุกข์ ไปได้เช่นกัน

จึงได้ทรงพิจารณาว่า การใช้วิธีทรมานร่างกายนั้น เป็นทางที่ตึงเกินไป ทำแล้วก็มีแต่จะได้รับทุกข์ ไม่มีประโยชน์อะไร ส่วนการบำเรอตนด้วยกามนั้นก็เป็นทางที่หย่อนเกินไป ไม่ใช่ทางที่จะทำให้พ้นทุกข์ได้จริง จึงทรงหันมาพิจารณาถึงทางสายกลาง

ทางสายกลางที่พระพุทธเจ้าทรงเล็งเห็นก็คือ การบำรุงรักษาร่างกายตามที่จำเป็นจริงๆ ทั้งในเรื่องของอาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย และยารักษาโรค เพื่อให้สามารถมีชีวิตอยู่ได้อย่างปรกติสุข ไม่ต้องเป็นทุกข์เพราะร่างกายเป็นเหตุ แต่ก็ไม่ต้องไปเสียเวลากับร่างกายจนเกินจำเป็น และไม่ต้องเป็นทุกข์เพราะการแสวงหา ในสิ่งที่เกินจำเป็น แล้วหันมาทำความเพียรทางจิตแทน

การทำความเพียรทางจิตก็คือ การปฏิบัติตามทางที่เรียกว่าอริยมรรคมีองค์ 8 นั่นเอง อันได้แก่

1.) สัมมาทิฏฐิ - ความเห็นชอบ คือมีความเห็นที่ถูกต้องว่าอะไรคือทุกข์ อะไรคือสมุทัย (เหตุแห่งทุกข์) อะไรคือนิโรธ (ความดับไปแห่งทุกข์ = นิพพาน) อะไรคือมรรค (ทางปฏิบัติเพื่อความดับไปแห่งทุกข์)

2.) สัมมาสังกัปปะ - ความดำริชอบ คือดำริที่จะออกจากกาม ออกจากความโกรธความพยาบาท ออกจากความเบียดเบียน ดำริที่จะปฏิบัติตามมรรคมีองค์ 8

3.) สัมมาวาจา - วาจาชอบ คือมีวาจาที่ไม่เป็นไปเพื่อความยินดีในกาม ไม่เป็นไปเพื่อความโกรธ ไม่เป็นไปเพื่อความพยาบาท ไม่เป็นไปเพื่อความเบียดเบียน ไม่พูดปด ไม่พูดส่อเสียด (ยุยงให้เขาแตกแยกกัน) ไม่พูดคำหยาบ (พูดเพื่อให้เขาเจ็บใจ) ไม่พูดเพ้อเจ้อไร้สาระ พูดแต่สิ่งที่มีสาระ เป็นไปเพื่อความเพียร เพื่อความหลุดพ้น

4.) สัมมากัมมันตะ - การงานชอบ คือการแสดงออกทางกายที่เหมาะสม ดีงาม ไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักทรัพย์ ไม่ประพฤติผิดในกาม (ล่วงเกินผู้ที่มีเจ้าของ ผู้ปกครองหวงอยู่) ไม่เสพของมึนเมา อันจะทำให้ขาดสติ

5.) สัมมาอาชีวะ - เลี้ยงชีพชอบ คือการประกอบอาชีพสุจริต ถูกทำนองคลองธรรม ไม่คดโกง ไม่เป็นเหตุให้ผู้อื่นเดือดร้อน ไม่ขายสุรา ไม่ขายอาวุธ ไม่ขายยาพิษ ไม่ขายมนุษย์ ไม่เลี้ยงสัตว์เพื่อฆ่าเอง หรือเพื่อให้เขาเอาไปฆ่า ถ้าเป็นนักบวชก็ยินดีเฉพาะของที่ได้มา โดยถูกต้องตามพระธรรมวินัย

6.) สัมมาวายามะ - ความเพียรชอบ คือมีความเพียรในการปฏิบัติเพื่อความพ้นทุกข์อันชอบ มีความเพียรในการประคองจิตไว้ ตั้งจิตไว้ เพื่อมิให้อกุศลธรรมอันลามกที่ยังไม่เกิด บังเกิดขึ้น เพื่อละอกุศลธรรมอันลามกที่บังเกิดขึ้นแล้ว เพื่อให้กุศลธรรมที่ยังไม่เกิด บังเกิดขึ้น พยายาม ปรารภความเพียร ประคองจิตไว้ ตั้งจิตไว้ เพื่อความตั้งมั่น ไม่ฟั่นเฟือน เพิ่มพูน ไพบูลย์ เจริญ บริบูรณ์ แห่งกุศลธรรมที่บังเกิดขึ้นแล้ว

7.) สัมมาสติ - ระลึกชอบ คือมีสติ (ความระลึกได้) ในฐานทั้ง 4 หรือสติปัฏฐาน 4 นั่นเอง (ดูรายละเอียดในเรื่องต่างๆ ในหมวดวิปัสสนา (ปัญญา) ประกอบ โดยเฉพาะเรื่องฐานสำหรับเจริญวิปัสสนา)

8.) สัมมาสมาธิ - ความตั้งใจมั่นชอบ คือสมาธิที่เป็นไปเพื่อความสงบ เพื่อความรู้ยิ่ง (ในสภาวะที่แท้จริงของสิ่งทั้งหลาย ได้แก่ ความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ไม่อยู่ในอำนาจ) เพื่อความตรัสรู้ เพื่อความหลุดพ้นจากกองทุกข์ทั้งปวง เพื่อนิพพาน อันได้แก่ สมาธิอันเป็นฐานสำหรับการเจริญวิปัสสนา นั่นเอง

ข้อพึงสังเกต

1.) ก่อนที่เจ้าชายสิทธัตถะจะทรงตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้านั้น ก็ได้มีการทำสมาธิกันอยู่ก่อนแล้ว ดังเช่น ที่เจ้าชายสิทธัตถะได้เสด็จไปเรียนที่สำนักของอาฬารดาบส กาลามโคตร และที่สำนักของอุทกดาบส รามบุตร เป็นต้น แต่สมาธิเหล่านั้น ติดอยู่เพียงแค่ความสงบเท่านั้น ไม่ได้ใช้เป็นฐานสำหรับการเจริญวิปัสสนา เมื่อเจ้าชายสิทธัตถะฝึกถึงขั้นสูงสุดแล้ว จึงทรงเห็นว่า ไม่สามารถทำให้หลุดพ้นจากทุกข์ทั้งปวงได้อย่างแท้จริง จึงได้เสด็จออกมาจากสำนักเหล่านั้น

2.) คนส่วนใหญ่นั้น มักจะชอบคิดอะไรโดยเอาตนเองเป็นหลักอยู่เสมอ เมื่อตนเองประพฤติ ปฏิบัติตัวในเรื่องไหนอยู่ในระดับใด ก็มักจะคิดว่า นั่นแหละคือทางสายกลาง แล้วมองว่า คนที่ปฏิบัติเคร่งครัดกว่าตนนั้น ปฏิบัติตึงเกินไป และมองว่า คนที่ย่อหย่อนกว่าตนนั้น ปฏิบัติหย่อนเกินไป คือเอาตนเองเป็นมาตรฐาน แทนที่จะเอาหลักธรรมเป็นมาตรฐาน ท่านผู้อ่านคิดว่าจริงหรือไม่

ธัมมโชติ
1 มีนาคม 2544