กลับหน้าหลัก | ไปหน้าสารบัญธรรมะ


อย่าคิดว่าตนเองเป็นนักปฏิบัติ

การปฏิบัติธรรม ไม่ว่าจะเป็นสมถกรรมฐานหรือวิปัสสนากรรมฐาน ถ้าปฏิบัติอย่างถูกทาง ก็ล้วนเป็นสิ่งที่ดี มีประโยชน์ด้วยกันทั้งนั้น

แต่ถ้าผู้ปฏิบัติมีความคิดหรือความรู้สึกว่าตนเองเป็นนักปฏิบัติ ก็อาจจะไม่เป็นผลดีต่อตัวผู้ปฏิบัติเอง (เฉพาะผู้ที่ยังมีกิเลสอยู่) เท่าใดนัก ทั้งนี้เพราะถ้ามีความคิดหรือความรู้สึกดังกล่าวขึ้นมา ก็เป็นการเสี่ยงที่จะทำให้เกิดสิ่งเหล่านี้ตามมา คือ

1.) เกิดอติมานะ คือความรู้สึกว่าเราเหนือกว่าคนอื่น ซึ่งเป็นกิเลสชนิดหนึ่ง จะทำให้จิตใจแข็งกระด้าง ถือดี ทำให้กรรมฐานก้าวหน้าได้ยากขึ้น

2.) เกิดความยึดมั่นถือมั่นในการปฏิบัติ การทำกรรมฐานที่จะได้ผลดีนั้นจะต้องทำใจให้สบาย ไม่มีความมุ่งหวังจะให้ได้รับความสำเร็จ ควรคิดเพียงว่าเราจะทำในสิ่งที่ดี ส่วนผลสำเร็จนั้นจะได้แค่ไหนก็แค่นั้น การคิดเช่นนี้จะทำให้จิตใจละเอียด ประณีต โล่งสบาย จิตใจจะอยู่กับสิ่งที่เป็นปัจจุบัน ไม่ฟุ้งไปหาความสำเร็จที่ยังมาไม่ถึง กรรมฐานก็จะก้าวหน้าไปได้ ตามเหตุปัจจัยที่เกิดขึ้น

แต่ถ้าเกิดความยึดมั่นถือมั่นในการปฏิบัติขึ้นมาแล้ว ผลจะเป็นในทางตรงกันข้าม คือจะเกิดความเครียด จิตใจแข็งกระด้าง ฟุ้งซ่านไปหาความสำเร็จซึ่งยังมาไม่ถึง เพราะมัวแต่คิดว่า เมื่อไหร่จะสำเร็จขั้นนั้นขั้นนี้สักที ยิ่งเครียดยิ่งฟุ้งกรรมฐานก็ยิ่งไม่ก้าวหน้า ในที่สุดก็อาจถึงขั้นหมดหวัง ท้อแท้ แล้วเลิกทำกรรมฐานไปได้

ผู้ปฏิบัติควรคิดอย่างมากที่สุดก็เพียงว่าตนเองกำลังศึกษาอยู่ คือศึกษาธรรมชาติของจิต หรือศึกษาธรรมชาติของรูปนาม ที่กำลังปรากฏอยู่ในขณะนั้น เพื่อให้รู้ ให้เข้าใจธรรมชาติของสิ่งต่างๆ ตามความเป็นจริง แล้วทำกรรมฐานรวมทั้งใช้ชีวิตประจำวัน ไปอย่างที่สมควรจะให้เป็น ไม่เคร่งเครียดโดยไม่จำเป็น ถ้าทำได้อย่างนี้แล้ว ความเจริญในธรรมก็จะตามมาเอง (คำว่ากำลังศึกษาอยู่นี้ ขอให้มีความหมายตามตัวอักษรเช่นนั้นจริงๆ ไม่ได้หมายถึงว่าเป็นเสกขบุคคล อันหมายถึงอริยบุคคลที่ยังไม่เป็นพระอรหันต์)

ธัมมโชติ
10 มิถุนายน 2544