กลับหน้าหลัก | ไปหน้าสารบัญธรรมะ


ระวังการยึดที่จะไม่ยึด

การหลุดพ้นหรือความไม่ยึดมั่นในสิ่งทั้งปวงนั้น เป็นจุดมุ่งหมายที่สำคัญของพระพุทธศาสนา แต่ความไม่ยึดมั่นนั้น เป็นความรู้สึกที่ลึกซึ้งละเอียดอ่อนเป็นอย่างยิ่ง ยากที่คนทั่วไปจะรู้ซึ้งถึงความรู้สึกของความไม่ยึดมั่นถือมั่นได้อย่างแท้จริง จนทำให้บางคนเกิดอาการยึดที่จะไม่ยึดขึ้นมา แล้วเข้าใจผิดคิดว่านั่นคือการไม่ยึดมั่น

จะขอเล่าเรื่องประกอบเรื่องหนึ่งเพื่อเป็นอุทาหรณ์ และเพื่อให้เข้าใจเรื่องการยึดมั่นหรือไม่ยึดมั่น ได้ชัดเจนยิ่งขึ้น ดังนี้

เรื่องนี้เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริง ณ สำนักสงฆ์แห่งหนึ่ง (รายละเอียดบางส่วนอาจคลาดเคลื่อนไปบ้าง เพราะเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นตั้งแต่ พ.ศ. 2538) ที่สำนักฯ แห่งนี้จะเน้นมากในเรื่อง การไม่ยึดมั่นถือมั่น มีผู้เกี่ยวข้องในเรื่องนี้ 3 คน ขอใช้นามสมมติดังนี้คือ

1.) ภิกษุ ก. เป็นผู้ที่บวช ณ สำนักฯ แห่งนี้ ได้รับการยอมรับนับถือให้เป็นผู้สอนธรรม เป็นอันดับที่สอง รองจากเจ้าสำนักฯ
2.) ภิกษุ ข. พึ่งมาจากที่อื่นได้ไม่นาน
3.) อุบาสก มาทำกรรมฐานที่สำนักฯ แห่งนี้เป็นวันแรก

เย็นวันนั้นภิกษุ ก. เป็นผู้ทำหน้าที่ปูอาสนะสำหรับนั่งทำวัตรเย็น และภิกษุ ก. ได้ปูอาสนะสีเหลือง (เช่นเดียวกับที่ปูให้ภิกษุ) ไว้ให้อุบาสกนั่งด้วย ครั้นถึงเวลาทำวัตรเย็น

ภิกษุ ข. พูดกับอุบาสก : อุบาสก ! หยิบอาสนะสีเทามาปูนั่งด้วย
ภิกษุ ก. : ไม่ต้องหยิบมาหรอก ปูอาสนะเหลืองไว้ให้แล้ว
ภิกษุ ข. : สีเหลืองเป็นสีของพระ อุบาสกนั่งไม่ได้
ภิกษุ ก. : จะมายึดอะไรกับสี สีก็เป็นเพียงสี ใช้สีเหลืองดีแล้ว ถ้าใช้สีเทาก็เป็นการยึดในสีน่ะสิ

ภิกษุทั้งสองรูปจึงโต้เถียงกันพักใหญ่ โดยภิกษุ ข. พยายามยืนยันว่าสีเหลืองเป็นสีของพระ อุบาสกใช้อาสนะสีเหลืองไม่ได้ ในขณะที่ภิกษุ ก. พยายามใช้เหตุผลว่าถ้าใช้สีอื่นก็แสดงว่า ยึดมั่นถือมั่นในสี เพราะฉะนั้น ต้องใช้สีเหลืองจึงจะแสดงว่าไม่ยึดมั่น แต่เนื่องจากในสำนักฯ แห่งนี้ สถานภาพของภิกษุ ก. เป็นที่ยอมรับมากกว่า ในที่สุดภิกษุ ข. ก็ต้องเป็นฝ่ายยอมแพ้

วิเคราะห์

จะเห็นได้ว่าภิกษุ ข. นั้น มีความยึดมั่นถือมั่นในสีอย่างชัดเจน ส่วนภิกษุ ก. นั้น ดูคล้ายกับว่า ไม่มีความยึดมั่นถือมั่น แต่ความจริงแล้วภิกษุ ก. นั้น ก็มีความยึดมั่นเช่นเดียวกัน แต่เป็นความยึดมั่นถือมั่นในขั้นที่สอง คือยึดมั่นว่าจะต้องไม่ยึดมั่น จึงไม่ยอมให้ใช้สีอื่น นอกจากสีเหลือง

ผู้ที่ไม่มีความยึดมั่นถือมั่นอย่างแท้จริงนั้น จะต้องมีใจที่เสมอเหมือนกันหมดไม่ว่าจะใช้สีใดๆ ก็ตาม จะต้องไม่มีความรู้สึกที่แตกต่างกันเลย จะต้องมีใจที่เป็นอิสระอย่างแท้จริง ไม่ยึดมั่นแม้กระทั่งในความไม่ยึดมั่น และไม่มีแม้กระทั่งความคิดว่าจะไม่ยึดมั่นถือมั่น เพราะในที่สุดแล้วจะทำให้เกิดความยึดมั่นถือมั่นในความคิดอันนั้นขึ้นมาอีก ซึ่งจะเป็นความยึดมั่นที่ละเอียดอ่อนมาก ยากที่จะรู้สึกถึงความยึดมั่นอันนี้ได้ จนกว่าจะพ้นจากความยึดมั่นถือมั่นในระดับนี้ไปแล้วจริงๆ

ท่านเว่ยหลาง หรือท่านฮุ่ยเน้ง (สังฆนายกองค์ที่ 6 แห่งนิกายเซ็น ในประเทศจีน) ได้กล่าวถึงสภาวะของจิต ที่พ้นจากความยึดมั่นถือมั่นเอาไว้ว่า
"เมื่อเราใช้มัน(จิต/ความคิด) มันแทรกเข้าไปได้ในทุกสิ่ง แต่ไม่ติดแจอยู่ในสิ่งใดเลย"

ธัมมโชติ
4 มิถุนายน 2544