กลับหน้าหลัก | ไปหน้าสารบัญธรรมะ


เขตแดนระหว่างโลกกับธรรม

เราจะมาวิเคราะห์กันว่า ขอบเขตหรือเขตแดนระหว่างโลก(โลกียะ) กับธรรม(โลกุตระ - เหนือโลก) นั้นอยู่ที่ตรงไหน หรืออะไรคือโลกอะไรคือธรรม ใครอยู่ในโลกใครอยู่ในธรรม

ก่อนอื่นต้องขอยกพุทธพจน์ขึ้นแสดงก่อน ดังนี้

@ ภิกษุทั้งหลาย เราไม่เรียกผู้เรียนมากหรือพูดมากว่าเป็นผู้ทรงธรรม
ส่วนผู้ใด เรียนคาถาแม้คาถาเดียว (ศึกษาธรรมแม้เพียงเล็กน้อย - ธัมมโชติ)
แล้วแทงตลอดสัจจะทั้งหลาย (เห็นแจ้งแทงตลอดในธรรม = บรรลุมรรคผล - ธัมมโชติ)
ผู้นั้นชื่อว่าผู้ทรงธรรม.

(จาก : อรรถกถา ที่ 3 ธัมมัฏฐวรรค ที่ 19 ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท)

ในความเห็นของผู้เขียน เห็นว่าเขตแดนระหว่างโลกกับธรรมนั้น ไม่ได้อยู่ที่กำแพงวัด ไม่ได้อยู่ที่ผนังโบสถ์ และผู้ที่จะได้ชื่อว่าอยู่ในโลกหรืออยู่ในธรรมนั้น ก็ไม่ได้ขึ้นกับเสื้อผ้า เครื่องแต่งตัว ทรงผม กิจวัตรประจำวัน วิธีการหาเลี้ยงชีพ การบริโภคอาหาร การทำวัตรสวดมนต์ หรือแม้แต่การศึกษาเล่าเรียน รวมถึงไม่ได้ขึ้นกับว่าผู้นั้นได้ผ่านพิธีกรรมอะไรมาแล้วบ้าง

แต่เขตแดนระหว่างโลกกับธรรมนั้นขึ้นอยู่กับความยึดมั่นถือมั่น คือเมื่อไหร่ที่จิตใจประกอบไปด้วยความยึดมั่นถือมั่น เมื่อนั้นก็คือโลก แต่เมื่อไหร่ที่จิตใจไม่มีความยึดมั่นถือมั่น เมื่อนั้นก็คือธรรม

ถึงแม้ว่าคนผู้นั้นจะอยู่ในวัด หรืออยู่ในโบสถ์ นุ่งห่มจีวรย้อมด้วยน้ำฝาด โกนผมโกนหนวดจนเกลี้ยงเกลา อ่านหนังสือธรรม ท่องธรรม หรือสอนธรรมผู้อื่นทั้งวัน หาเลี้ยงชีวิตด้วยการบิณฑบาตทุกวัน บริโภคอาหารเพียงวันละหนึ่งมื้อ ทำวัตรสวดมนต์ทุกเช้าเย็น เรียนธรรมจนจบนักธรรมชั้นเอก เป็นมหาเปรียญ ๙ ประโยค เป็นอภิธรรมบัณฑิต ผ่านพิธีบรรพชา อุปสมบทมาแล้วอย่างสมบูรณ์ ไม่ขาดตกบกพร่อง แต่ถ้าเมื่อใดที่จิตใจของเขาประกอบไปด้วยความยึดมั่นถือมั่น เมื่อนั้นเขาก็ได้ชื่อว่าตกอยู่ในกระแสแห่งโลก ถูกโลกครอบงำไว้ อยู่ภายใต้อิทธิพลของกิเลส ไม่อาจพ้นจากเขตแดนของโลกไปได้ เป็นโลกียะ

ในทางกลับกัน ถึงแม้ว่าคนผู้นั้นจะเป็นผู้ครองเรือน มีครอบครัว ไม่ได้อยู่ในวัด แต่งกายอย่างชาวบ้านทั่วๆ ไป ไว้ผมยาวรุงรัง ชีวิตยุ่งอยู่กับการทำมาหากินทั้งวัน มีอาชีพเหมือนคนทั่วไปในสังคม บริโภคอาหารวันละ 4-5 มื้อ ไม่เคยสวดมนต์ไหว้พระ ไม่เคยศึกษาธรรมหรือศึกษามาเพียงเล็กน้อย ไม่เคยบรรพชาหรืออุปสมบทใดๆ ทั้งสิ้น แต่ถ้าเมื่อใดจิตใจของเขาไม่ประกอบไปด้วยความยึดมั่นถือมั่น พ้นจากอำนาจของกิเลสทั้งปวง เมื่อนั้นเขาก็ได้ชื่อว่าอยู่ในเขตแดนแห่งธรรม อยู่เหนือกระแสแห่งโลก ไม่ถูกโลกครอบงำไว้ เป็นโลกุตระ อยู่นอกขอบเขตของโลก.

แต่ก็เป็นที่แน่นอนว่า ผู้ที่บวชอยู่ย่อมมีโอกาสที่จะได้รับเหตุปัจจัยที่เอื้ออำนวยให้เข้าถึงธรรม ที่มากกว่าผู้ครองเรือนอยู่แล้ว เพียงแต่ใครจะใช้โอกาสที่มีอยู่นั้นให้เป็นประโยชน์ ได้มากน้อยเพียงใดเท่านั้นเอง ถ้าใครปล่อยให้โอกาสอันดีนั้นผ่านเลยไปโดยเปล่าประโยชน์ ก็คงน่าเสียดายไม่น้อยเลย

แล้วท่านผู้อ่านมีความเห็นในเรื่องนี้เหล่านี้อย่างไรกันบ้างครับ ???

ธัมมโชติ
28 พฤษภาคม 2544