กลับหน้าหลัก | ไปหน้าสารบัญธรรมะ


ความไม่ประมาทที่พระพุทธเจ้าทรงสอน

ทุกวันนี้ เราท่านทั้งหลายคงเคยได้ยินได้ฟังคำว่าประมาท หรือไม่ประมาท กันมาแล้ว คนละนับครั้งไม่ถ้วน กันทั้งนั้น คราวนี้ลองมาดูกันว่า คำว่าไม่ประมาทที่พระพุทธเจ้าทรงสอนนั้น ทรงมุ่งเน้นในเรื่องอะไรกันแน่

ผู้ที่เคยอ่านพระไตรปิฎกมามากพอ (ไม่ใช่อ่านเพียงแค่ไม่กี่สูตร) ก็จะมองเห็นภาพรวมของเนื้อหา และจุดประสงค์ในการแสดงธรรมของพระพุทธเจ้าได้ว่า พระองค์ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณ ที่จะชี้ให้ผู้คนทั้งหลาย ได้มองเห็นความจริงของชีวิตที่ว่า ชีวิตนี้เต็มไปด้วยกับดัก ขวากหนาม หลุมพราง ในแทบจะทุกย่างก้าวของชีวิต

คำว่ากับดัก ขวากหนาม หลุมพราง ในที่นี้ไม่ได้หมายถึงสิ่งที่เป็นรูปธรรม แต่หมายถึงว่า ความทุกข์ ความเดือดร้อน ความยากลำบากทั้งหลายนั้น พร้อมที่จะเข้ามาห้ำหั่น บีบคั้น ย่ำยีบีฑา เราได้ตลอดเวลา

ไม่ว่าจะเป็นทุกข์ทางใจ เช่น ทุกข์จากความโกรธ ความเครียด ความกังวลใจ ความกลัว ความพลัดพราก ความผิดหวัง ความหดหู่ท้อถอย ฯลฯ
เรียกว่า ถ้าเผลอขาดสติ หรือตั้งจิตไว้ผิดเมื่อไหร่ ก็ต้องเป็นทุกข์เมื่อนั้น

หรือจะเป็นทุกข์ทางกาย เช่น ทุกข์จากความหิว ความอิ่มจนเกินไป ความร้อน ความหนาว ความเหน็ดเหนื่อย ความเจ็บปวด โรคภัยไข้เจ็บนานาชนิด ความแก่ ความตาย ฯลฯ
ซึ่งความทุกข์เหล่านี้ ล้วนผลัดเปลี่ยน หมุนเวียนเข้ามาเล่นงานเราอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าจะมีทรัพย์สินเงินทองมากมายสักเพียงใดก็ตาม ตราบใดที่ยังมีชีวิตอยู่ ก็ไม่มีใครสามารถหนีพ้นไปได้เลย

เมื่อชีวิตเต็มไปด้วยอันตรายนานัปการอย่างนี้ ผู้ที่ยังเพลิดเพลินในชีวิต เพลิดเพลินในภพ เพลิดเพลินในการเกิดอยู่ จึงได้ชื่อว่าเป็นผู้ประมาทด้วยกันทั้งนั้น
ผู้ที่จะได้ชื่อว่าเป็นผู้ไม่ประมาทก็คือ ผู้ที่มีความเพียรในการทำวิปัสสนากรรมฐาน เพื่อจะได้พ้นทุกข์ที่จะตามมาจากการเกิดตลอดไปนั่นเอง เพราะไม่มีใครเลยที่จะรู้ว่า ตนเองจะมีชีวิตอยู่เพื่อจะทำความเพียรได้อีกนานเท่าใด ดังที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ว่า ไม่มีใครรู้ความตาย แม้ในวันพรุ่งนี้ นั่นเอง (คือถึงแม้พรุ่งนี้บางคนจะต้องตาย แต่วันนี้เขาก็ยังไม่รู้เลยว่า เขาเหลือเวลาดูโลกอีกเพียงวันเดียวเท่านั้นเอง)

ผู้ที่พระพุทธเจ้าทรงยอมรับอย่างแท้จริง ว่าเป็นผู้ที่ไม่มีความประมาทอย่างสมบูรณ์แล้ว ก็มีแต่พระอรหันต์ทั้งหลายเท่านั้นเอง เพราะเป็นผู้ที่พ้นจากความทุกข์ทางใจอย่างสิ้นเชิงแล้ว และกำลังจะพ้นจากความทุกข์ทางกายในเวลาอีกไม่นานนัก คือเมื่อปรินิพพาน

ในปัจฉิมพุทโธวาท ที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ก่อนจะปรินิพพานว่า " ดูกรภิกษุทั้งหลาย บัดนี้ เราขอเตือนพวกเธอว่า สังขารทั้งหลายมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา พวกเธอจงยังความไม่ประมาทให้ถึงพร้อมเถิดฯ "
จึงหมายถึงให้ทุกคนมีความเพียรในการเจริญวิปัสสนากรรมฐาน นั่นเอง ทั้งนี้ก็เพื่อประโยชน์ของตัวผู้ปฏิบัตินั้น นั่นเอง ซึ่งแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า พระองค์ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณต่อผู้คนทั้งหลายมากเพียงใด ที่ถึงแม้ในวาระสุดท้ายของชีวิต ก็ยังไม่ได้ทรงเรียกร้องสิ่งใดเพื่อประโยชน์ของพระองค์เองเลย ทรงหวังแต่ประโยชน์เกื้อกูลผู้อื่นทั้งสิ้น.

ธัมมโชติ
4 มีนาคม 2544