พระอารามหลวงและวัดในประเทศไทย
คำว่าพระอารามหลวงนั้น หมายถึง วัดที่พระมหากษัตริย์ทรงสร้างขึ้นโดยตรงก็มี วัดที่พระมหากษัตริย์พระราชทานทุนช่วยให้ผู้อื่นสร้างขึ้นก็มี วัดที่ผู้อื่นสร้างขึ้นเองแล้วถวายเป็นของพระมหากษัตริย์หรือของรัฐบาล เพื่อให้ช่วยบำรุงรักษาต่อไปในอนาคตก็มี
ความมุ่งหมายของพระพุทธศาสนาก็คือการกำจัดทุกข์ให้สิ้นไป วิถีทางที่จะให้สำเร็จความมุ่งหมายอันนี้ก็คือ การกำจัดเหตุแห่งทุกข์ ได้แก่ความโลภ ความโกรธ และความหลง บรรดาพุทธศาสนิกชนควรที่จะขัดเกลาความโลภ ความโกรธ และความหลงได้โดยตรง ไม่ว่าเขาจะเป็นคนมั่งมีหรือยากจนก็ตาม เขาก็สามารถที่จะทำตามความประสงค์นี้ได้โดยการ เว้นความชั่วและมีเมตตากรุณารักษาศิล ดำเนินชีวิตโดยสุจริต และทำตนให้เป็นตัวอย่างแก่ผู้อื่น แต่มันไม่ได้อยู่ในอำนาจของคนทุกคนที่จะกำจัดอวิชชาด้วยตนเองโดยตรงได้เสมอไป มันค่อนข้างจะเป็นกิจโดยเฉพาะของพระภิกษุสงฆ์
ฉะนั้น ในกาลก่อนจึงเป็นประเพณีของเด็ก ๆ ผู้ชายทุกคนในประเทศนี้ ที่จะไปอยู่วัดชั่วระยะเวลาอันหนึ่ง ขั้นแรกก็เป็นเด็กวัดช่วยทำกิจเล็ก ๆ น้อย ๆ ให้แก่พระ ต่อมาก็บรรพชาเป็นสามเณร และที่สุดเมื่ออายุได้ ๒๐ ปีแล้วก็อุปสมบทเป็นพระภิกษุตามธรรมเนียมก็ ๓ เดือน (แต่บางคนอยู่มากกว่านั้นหรือไม่สึกเอาเลยก็มี)
เป็นประเพณีของพระมหากษัตริย์ซึ่งแต่ก่อนนี้เข้าใจกันว่าเป็นผู้มั่งคั่งกว่าใคร ๆ ที่จะช่วยอุปถัมภ์ภารกิจอันใหญ่ยิ่งนี้ พระมหากษัตริย์ของเราเป็นผู้อุปถัมภกแก่พระพุทธศาสนาเสมอ และเป็นผู้ที่สร้างวัดมากมาย ในการกระทำเช่นนี้พระองค์ก็ทรงประพฤติปฏิบัติตามประเพณีที่บังเกิดขึ้นในอินเดียในพุทธกาลนั่นเอง
ในพระไตรปิฎกที่เราได้อ่านพบกล่าวถึงพระมหากษัตริย์หลายพระองค์ ซึ่งเป็นผู้สร้างวัดถวายพระพุทธเจ้าและพระสาวกของพระองค์ เช่น พระเจ้าพิมพิสาร แห่งเมืองราชคฤห์ ผู้ถวายพระเวฬุวัน และเจ้าศากยแห่งเมืองกบิลพัสดุ์ ผู้ถวายนิโครธาราม เป็นต้น แม้ภายหลังพุทธกาลแล้ว ประเพณีอันนี้พุทธศาสนิกชนก็ยังประพฤติปฏิบัติกันต่อมา และในขณะเดียวกันก็เกิดประเพณีนิยมบูชาพระสรีรธาตุของพระพุทธเจ้า เช่นพระอัฐิและพระทนต์ซึ่งเหลืออยู่ภายหลังเมื่อถวายพระเพลิงแล้ว พระสรีรธาตุเหล่านี้เขาสร้างเป็นสถูปหรือพระปรางค์บรรจุไว้ ซึ่งได้กลายเป็นพระเจดีย์ที่ระลึกถึงคำสั่งสอนของพระองค์
พระสถูปไม่ใช่เป็นของบรรจุพระสรีรธาตุเสมอไป บางทีสร้างขึ้นเป็นบริโภคเจดีย์ คือบรรจุสิ่งของที่พระองค์ทรงใช้สรอย เช่นบาตร และจีวรเป็นต้น บางทีก็เป็นที่หมายสังเวชนียสถานอื่น ๆ เช่น ทีประสูติ ที่ตรัสรู้ ที่แสดงธรรมจักร และที่ปรินิพพาน บางทีสร้างสำหรับบรรจุอัฐิของพระสาวกและพระอรหันต์อื่น ๆ ก็มี
ต่อมาไม่ช้าการสร้างพระสถูปในวัดเพิ่มเติมจากกุฎิอันเป็นที่อยู่ของพระภิกษุสงฆ์ และโรงพระอุโบสถซึ่งเป็นที่ทำพิธีอุปสมบทและสังฆกรรมอื่น ๆ ก็เป็นของปฏิบัติกันเป็นธรรมดาสามัญ พระเจ้าอโศกราชาธิราชแห่งอินเดียผู้ได้ครองราชสมบัติภายหลังแต่ปรินิพพานแห่งพระพทธเจ้าล่วงแล้วได้ ๒๕๐ ปี ได้เป็นผู้ทรงสร้างพระสถูป และวัดวาอารามเป็นอันมาก ยิ่งกว่านั้นภายหลังต่อมาได้มีการสร้างสิ่งซึ่งทำให้ระลึกถึงคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าอีกชนิดหนึ่ง สิ่งนั้นคือพระรูปของพระพุทธเจ้าเอง สิ่งที่ระลึกอันนี้ เรียกว่าอุทเทสิกเจดีย์ พระพุทธรูปมักทำประดิษฐานไว้ในคูหาต่าง ๆ รอบฐานพระสถูป เป็นรูปเอกเทศสำหรับบูชาโดยเฉพาะก็มี เป็นส่วนหนึ่งของเรื่องในพุทธประวัติก็มี (เมื่อการบูชาพระพุทธรูปเกิดนิยมกันแพร่หลายเช่นในเมืองลังกา บางที่ในวัดเขามีอาคารเป็นที่เก็บพระพุทธรูปโดยเฉพาะ เรียกว่า " ปฏิครรภ ")
เราไม่ทราบว่าศาสนาเริ่มแรกของไทยนั้นคือศาสนาอะไร แต่ในปลายพุทธศตวรรษที่ ๑๘ มีปรากฎในศิลาจาลึกไทยหลักที่ ๑ อย่างแจ่มแจ้งว่า ไทยเราได้เป็นพุทธศาสนิกแห่งพุทธศาสนานิกายเถระวาทอย่างมั่นคง ในชั้นต้นครูทางศาสนาของพวกไทยเป็นมอญต่อมาเป็นพวกสิงหล และในขณะเดียวกันพวกไทยได้เรียนศิลปกรรมต่าง ๆ จากพวกเขมรด้วย เพราะฉะนั้นสถาปัตยกรรมไทยของสมัยสุโขทัย จึงเป็นความคิดของมอญ ของสิงหล และของเขมรผสมกัน
ในประเทศไทย เวลานี้มีวัดอยู่รวม ทั้งสิ้น ๒๖,๔๖๓ วัด ในจำนวนนี้เป็นวัดหลวง ๑๖๗ วัด วัดราษฎร์ ๒๖,๒๕๖ วัด ทั้งนี้เป็นวัด มหานิกาย ๒๕,๑๕๒ วัด วัดธรรมยุตินิกาย ๑,๓๑๑ วัด วัดหลวงหมายถึง วัดที่พระเจ้าแผ่นดิน สมเด็จพระบรม ราชินี สมเด็จพระยุพราชทรงสร้างหรือปฏิสังขรณ์ เป็นส่วนพระองค์ หรือทรงในนามของผู้อื่น หรือวัด ที่พระบรมวงศานุวงศ์ และข้าทูลละออง ธุลีพระบาทสร้างหรือปฏิสังขรณ์ขึ้น และทรง รับไว้ในอุปถัมภ์บำรุงของแผ่นดิน ส่วนวัดราษฎร์เป็นวัดที่ประชาชนสร้าง ขึ้นตามกำลังศรัทธาและทุนทรัพย์ของตน
ในแต่ละวัดจะมีองค์ประกอบที่ สำคัญ ๆ คือ
  • กุฏิ สำหรับเป็นที่อยู่อาศัยของภิกษุและสามเณร
  • โบสถ์ สำหรับเป็นที่ทำสังฆกรรม เช่น การบวชนาค เป็นต้น
  • บางวัดก็มี วิหาร ซึ่งสร้างในลักษณะเดียวกับโบสถ์
  • พระเจดีย์ หรือ พระปรางค์ สำหรับบรรจุพระบรมธาตุหรือพระธาตุอย่างอื่น ๆ
  • บางวัดก็มี ศาลาการเปรียญ สำหรับเป็นที่ประกอบการกุศลอื่น ๆ และเป็นที่สำหรับพระสงฆ์มาเทศนาสั่งสอนประชาชนตามวาระที่ จะกำหนดขึ้น
  • บางวัดก็มี หอระฆัง และ โรงเรียนพระปริยัติธรรม สำหรับเป็นที่ที่ภิกษุสามเณรจะศึกษาธรรมวินัยด้วย
    แต่ทั้งนี้ก็มิได้ถือว่าจำเป็นจะต้องมี ที่นับว่าจำเป็นจริง ๆ ก็คือ กุฏิ กับ โบสถ์
    การที่จะได้ชื่อว่าเป็นวัดที่ สมบูรณ์ได้นั้น มิใช่เพียงมีกุฏิ โบสถ์ วิหาร และ ศาลาการเปรียญเท่านั้น เพราะถ้ามี เพียงแค่นั้นก็จะไม่มีความหมาย อะไร ดังนั้น จึงจำเป็นต้องมีองค์ประกอบ ทางด้านบุคคลด้วย นั่นคือ จะต้องมี ภิกษุ สามเณร ซึ่งเป็นองค์ ประกอบที่สำคัญซึ่งจะขาดเสียมิได้


    ประเพณีการสร้างพระอารามหลวงในประเทศไทย โดยหลวงบริบาลบุรีภัณฑ์ และ นาย Alexander B. Griswold
    เรื่องโบราณคดี จากลายพระหัตถ์ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ กับ รองศาสตราจารย์หลวงบริบาลบุรีภัณฑ์, ศิลปาบรรณาคาร, ๒๕๐๓, หน้า ๓๐๖-๓๑๙.