ประวัติกักกันพืช
     
ประวัติการกักกันพืชไทย

ประวัติการกักกันพืชของไทย

                การกักกันพืชของประเทศไทยตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการเมื่อปี พ.ศ. 2495 พร้อมกับการประกาศใช้กฎหมายว่าด้วยการกักกันพืชฉบับแรก เรียกว่า "พระราชบัญญัติป้องกันโรคและศัตรูพืช พ.ศ. 2495" ด้วยเหตุที่ประเทศไทยได้ติดต่อกับต่างประเทศทั้งด้านการทูตและการค้ามาตั้งแต่โบราณกาล จึงเชื่อว่าการนำพืชเข้ามาหรือส่งออกไปต่างประเทศคงมีมานานแล้วแต่ไม่มีการบันทึกเป็นหลังฐาน จากเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์พอจะนำมาเป็นข้อสัญนิษฐานยืนยันและข้ออ้างอิงดังกล่าวข้างต้นได้ดังนี้

สมัยสุโขทัยเป็นราชธานี (พ.ศ. 800-1893)

พ่อขุนรามคำแหงมหาราชได้เสด็จไปเมืองจีน 2 ครั้ง ในปี พ.ศ. 1834 และ 1843 ซึ่งนอกจากได้นำช่างปั้นชามสังคโลกมาด้วยแล้วอาจจะนำพันธุ์พืชที่มีคุณค่ามาด้วยก็ได้

สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี (พ.ศ. 1893-2310)

               ประวัติศาสตร์กล่าวว่าในปี พ.ศ. 2035 โปรตุเกสได้มายึดเมืองมะละกาซึ่งขณะนั้นอยู่ภายใต้การปกครองของไทย จนกระทั่งถึงปี พ.ศ. 2059 ไทยต้องส่งทูตไปเจรจาที่เมืองกัว (ตั้งอยู่ประเทศอินเดีย) ซึ่งเป็นอาณานิคมของโปรตุเกส เชื่อกันว่าในช่วงนั้นคงมีการแลกเปลี่ยนสินค้าและพืชผลบางอย่างเช่น ข้าวโพด ซึ่งเป็นพืชที่สันนิษฐานว่านำเข้ามาในประเทศไทยหลังจากปีนั้น ในปี พ.ศ. 214 ไทยยกทัพไปตีเขมร บริษัทอินเดียตะวันออกในเขมรได้ติดต่อเจรจาขอเข้ามาทำการค้าขายในกรุงศรีอยุธยาด้วย ในสมัยพระนารายณ์มหาราช พระองค์ส่งราชทูตไปเจริญไมตรีกับฝรั่งเศสถึง 3 ครั้ง ในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนกลางและตอนปลายนั้น กรุงศรีอยุธยาเป็นเมืองที่เจริญรุ่งเรืองมากมีชาติต่างๆ เช่นโปรตุเกส ฮอลันดา อังกฤษ ฝรั่งเศส จีน อินเดีย เป็นต้น เข้ามาทำการค้าขายกันอย่างกว้างขวาง

สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ (พ.ศ. 2325-ปัจจุบัน)

              ประเทศไทยได้ติดต่อกับต่างประเทศทั้งด้านการทูตและการค้ามากยิ่งขึ้น มีฝรั่งและชาติต่างๆ มาพำนักในประเทศไทยมากมาย ในระยะนี้การคมนาคมทางเรือเจริญมากแล้ว ประจวบเป็นช่วงที่ชาติในยุโรปกำลังแสวงหาอาณานิคมทางทวีปเอเชียด้วย ดังนั้นคงต้องมีการลำเลียงพืชพรรณธัญญาหารและเสบียงอาหารต่างๆ ผ่านเมืองไทยด้วย ในสมัยรัชกาลที่ 5 พระองค์นอกจากจะส่งราชโอรส และคนไทยไปศึกษาต่อยังต่างประเทศเกือบทุกสาขาวิชา รวมทั้งด้านเกษตรด้วย พระองค์ท่านเองยังเคยเสด็จพระพาสประเทศต่างๆ ทั้งในทวีปยุโรปและทวีปเอเชีย ในโอกาสอย่างนี้อาจจะนำพันธุ์ไม้ชนิดต่างๆ ที่มีประโยชน์และสวยงามเข้ามาด้วยก็เป็นได้ ดังที่ทราบจากบทก่อนแล้วว่าผักตบชวาวัชพืชที่คนไทยรู้จักกันเป็นอย่างดีได้นำเข้ามาจากประเทศอินโดนีเชีย โดยพระราชวงศ์ชั้นผู้ใหญ่ในรัชกาลที่ 5 การนำพืชเข้า-ออก นอกประเทศในช่วงกรุงรัตนโกสินทร์มีหลักฐาน และข้อมูลน้อยมากแต่จาการสอบถาม (เมื่อปี พ.ศ. 2512) ข้าราชการบำนาญบางท่าน และบุคคลภายนอกบางคนที่เกี่ยวข้องกับงานนี้ จึงขอเล่าเรื่องราวบางตอนดังนี้

                นายหว่าง สุขะกุล เจ้าของบางกระบือเนิสเซอรี่ได้เล่าให้ฟังว่าเมื่อประมาณ 20 ปีก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง เคยส่งกล้วยไม้ไปสิงคโปร์ โดยเริ่มแรกส่งกล้วยไม้ไปให้พี่สาวซึ่งเป็นครูอยู่ที่สิงคโปร์ ส่งไปบ่อยๆ เข้าคนบ้านใกล้เรือนเคียงต้องการขึ้นมาบ้าง จึงกลายเป็นการแลกเปลี่ยนและในที่สุดซื้อขายกัน หลังจากซื้อขายกับชาวสิงคโปร์ประมาณ 10 ปี ต่อมาได้ส่งกล้วยไม้ไปขายที่ประเทศอินโดนีเซียด้วย ท่านเล่าว่าในสมัยนั้นสิงคโปร์และอินโดนีเซียไม่ต้องการใบรับรองปลอดศัตรูพืช ต่อมาประมาณปี พ.ศ. 2475-2476 ได้ส่งกล้วยไม้ไปประเทศศรีลังกา ปรากฏว่าประเทศศรีลังกาต้องการให้ทางประเทศไทยออกหนังสือรับรองว่าปลอดโรคพืชกำกับไปด้วย ท่านอธิบายให้ฟังว่าต้องไปขอรับหนังสือรับรองปลอดโรคพืชที่กรมเกษตร ที่วังแดงและหนังสือรับรองปลอดโรคในสมัยนั้นเป็นเพียงหนังสือราชการธรรมดาไม่เป็นแบบฟอร์มอย่างเช่นปัจจุบัน จากคำบอกเล่านี้แสดงให้เห็นว่าต่างประเทศเริ่มต้องการหนังสือรับรองปลอดศัตรูพืชตั้งแต่ราวปี พ.ศ. 2475-2476 เป็นต้นมา

               อาจารย์อารียัน มันยีกุล (อดีตผู้เชี่ยวชาญกีฏวิทยา กรมกสิกรรมเดิม) ได้เล่าให้ฟังตอนหนึ่งว่าในราวปี พ.ศ. 2472 มีเรือฝรั่งเศสลำหนึ่งได้เดินทางมายังประเทศอินโดจีน อินโดจีนในขณะนั้นเป็นเมืองขึ้นของฝรั่งเศส ในเรือลำนี้บรรทุกผลไม้มาด้วยจำนวนหนึ่งราคาประมาณ 1,000-2,000 ปอนด์ เจ้าหน้าที่ฝ่ายการเกษตรอินโดจีนปฏิเสธไม่ยอมให้นำผลไม้ขึ้นจากเรือ โดยอ้างว่าได้ตรวจพบผลไม้มีแมลงศัตรูพืช คือ Mediterranean fruit fly ติดมาด้วย เพื่อไม่ให้เป็นการเสียประโยชน์ เพราะเป็นเงินจำนวนมาก เจ้าหน้าที่ที่นั่นได้แนะนำให้นำผลไม้มาขนถ่ายที่กรุงเทพฯ ซึ่งเรือลำนั้นก็ได้นำผลไม้ทั้งหมดมากรุงเทพฯ พอดีฝ่ายไทยทราบเรื่องเข้า อธิบดีกรมเพาะปลูกจึงสั่งให้ W.R.S. Ladell และนายอารียัน มันยีกุล ซึ่งเป็นนักกีฏวิทยาทั้ง 2 คน ไปทำการตรวจผลไม้ที่ท่าเรือกรุงเทพฯ ผลการตรวจปรากฏว่า พบแมลง Mediterranean fruit fly บ้างแต่ไม่มากนัก และอนุญาตให้นำเข้าได้ การที่อนุญาตให้ขนผลไม้เหล่านั้นเข้ากรุงเทพฯได้ อาจารย์อรียัน มันยีกุล ให้เหตุผลว่า แมลงเหล่านั้นเป็นตัวหนอนที่ตายแล้วหรือเกือบตายอยู่แล้วทั้งนั้นและแมลง Mediterranean fruit fly ไม่สามารถเจริญเติบโตได้ในแหล่งที่มีอากาศร้อน เช่นประเทศไทยและยิ่งตัวหนอนซึ่งกำลังจะตายอยู่แล้ว ก็ยิ่งไม่มีทางเจริญเติบโตหรือมีชีวิตรอด แมลงชนิดนี้จะเจริญเติบโตและขยายพันธุ์ได้ดีก็เฉพาะในแถบอบอุ่นเท่านั้น จากการบอกเล่าแสดงให้เห็นว่าประเทศไทยตระหนักถึงภัยของศัตรูพืชจากต่างประเทศมานานแล้ว คือ ตั้งแต่ราวปี พ.ศ. 2472 เป็นต้นมา

เหตุการณ์ระหว่างปี พ.ศ. 2475-2495

              ตั้งแต่ปี 2475-76 ประเทศยุโรปและเอเชียบางประเทศได้เข้มงวดในการกักกันพืชมากขึ้น และต้องการหนังสือรับรองเพื่อยืนยันว่าพืชที่ส่งไปจากประเทศไทยปราศจากโรคและศัตรูพืช กิจการแขนงนี้รับผิดชอบโดยแผนกโรควิทยาและแผนกกีฏวิทยา ในหนังสือรายงานประจำปี พ.ศ. 2478 ของกรมเกษตรและการประมงไว้ว่าได้ออกหนังสือรับรองให้พืชที่จะส่งไปต่างประเทศ จำนวน 10 ราย คือ ส่งไปประเทศอินโดนีเชีย 4 ราย มีต้นมะม่วง ต้นชมพู่ ต้นกล้วยไม้ ต้นไม้เลื้อย ส่งไปประเทศฟิลิปปินส์ 1 ราย ได้แก่ กล้วยไม้พันธุ์ต่างๆ ส่งไปออสเตรเลีย 1 ราย ได้แก่ กล้วยไม้พันธุ์ต่างๆ ส่งไปอิตาลี 2 ราย ได้แก่ ผลมะม่วงและผลมังคุด ส่งไปประเทศฝรั่งเศส 1 รายได้แก่ ผลสัปรด และส่งไปประเทศอินโดจีน 1 ราย ได้แก่ผลส้มโอ

               สำหรับการกำจัดศัตรูพืชที่ติดมากับพืชพืชที่จะส่งไปต่างประเทศ ในระยะแรกๆ ที่เริ่มให้บริการออกหนังสือรับรองการปลอดโรคและศัตรูพืช ตามรายงานไม่ได้กล่าวไว้ว่าใช้ยาอะไร แต่ในช่วงนั้นมีตู้รมยาทำด้วยไม้ขนาด 1 ลูกบาศก์เมตรอยู่ตู้หนึ่งใช้รมพืชด้วย hydrocyanic acid gas และตู้นี้ได้ใช้เรื่อยมาจนกระทั่งถึงปี พ.ศ. 2500 อาจารย์ผล ผลบุญ กล่าวว่าตู้รมยาใบนี้สร้างขึ้นก่อนปี พ.ศ. 2480 ตั้งแต่แผนกกีฏวิทยาตั้งอยู่ที่สามเสน ต่อมาย้ายมาอยู่ที่วังแดง และตึกพืชพรรณในเกษตรกลางบางเขน ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง แผนกกีฏย้ายไปอยู่ที่ตึกกรมกสิกรรม ที่ถนนจักรเพชร และสร้างโรงเลี้ยงแมลงที่สถานีกสิกรรมบางกอกน้อย การตรวจพืชที่ส่งไปต่างประเทศจึงได้กระทำที่สถานีกสิกรรมบางกอกน้อย ส่วนพืชที่นำเข้ามาในราชอาณาจักรยังไม่มีการตรวจและควบคุมเพราะยังไม่มีกฎหมายบังคับ

               ราวปี พ.ศ. 2480 ต่างประเทศได้ตระหนักถึงความจำเป็นในการป้องกันกำจัดการระบาดของโรคและศัตรูพืชระหว่างประเทศมากยิ่งขึ้น แต่ละประเทศจึงหาทางป้องกันไม่ให้โรคและศัตรูพืชจากต่างประเทศแพร่ระบาดเข้าไปทำลายพืชผลในประเทศของเขา สินค้าทางการเกษตรกรรมจากเมืองไทยจึงขายลำบากขึ้นการออกหนังสือของทางราชการรับรองว่าปลอดโรคและศัตรูพืช ให้กับพืชที่จะส่งไปยังต่างประเทศมีจำนวนมากยิ่งขึ้น ประกอบกับในช่วงนั้นรัฐบาลไทย มีนโยบายส่งเสริมการเกษตรกรรมมากขึ้นด้วย เช่น "แต่งตั้งกรรมการพิจารณาการ บำรุงรักษาและส่งเสริมการปลูกฝ้าย" เป็นต้น จึงทำให้การสั่งซื้อพืชจากต่างประเทศเข้ามา หลายอย่างเช่น ฝ้าย ยางพารา ฯลฯ และปรากฏวาการนำเข้าพันธุ์พืชบางชนิดจากต่างประเทศ มีศัตรูพืชติดมาด้วย

(ขณะนั้นประเทศไทยมีผู้ทรงคุณวุฒิทางด้านเกษตรหลายคนแล้ว ในรายงานประจำปี พ.ศ. 2478 ของกรมวิชาการเกษตรและการประมง และหนังสือโครงการ 10 ปีของกรมเกษตรและการประมง เขียนเมื่อปี พ.ศ. 2479 ได้กล่าวถึงผู้มีคุณวุฒิด้านเกษตรและด้านอารักขาพืชไว้หลายท่าน และขอกล่าวชื่อบางท่าน ดังนี้
- หลวงสุวรรณวาจกกสิกิจ เป็นอธิบดีกรมเกษตรและการประมง
- หลวงอิงคศรีกสิการ ย้ายจากกระทรวงธรรมการมาเป็นหัวหน้ากองเกษตรศาสตร์
- ม.จ.ลักษณากร เกษมสันต์ เป็นหัวหน้าแผนกพฤกษศาสตร์
- ม.ร.ว.จักทอง ทองใหญ่ เป็นหัวหน้าแผนกกีฏวิทยา
- นายซามูเอง เบลเลอร์ เป็นนักกีฏวิทยาผู้ช่วย
- นายอารียัน มันยีกุล ย้ายจากแผนกกีฏวิทยามาเป็นหัวหน้าแผนกโรควิทยา
-ม.ล.ชิดเชื้อ กำภู เป็นนักโรควิทยาผู้ช่วย )

เมื่อปรากฏว่าพันธุ์พืชที่นำเข้ามาในประเทศมีศัตรูพืชติดเข้ามาด้วย ผู้ทรงคุณวุฒิด้านเกษตร บางท่านแนะนำให้ยึดและเผาทำลาย แต่มีผู้แย้งว่าเจ้าหน้าที่ไม่มีอำนาจในการยึดและทำลาย ต้องออกเป็นกฎหมายเสียก่อนราษฎรจึงจะยินยอม ด้วยเหตุผลดังกล่าว นายทัน พรหมิธิกุล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จ.บุรีรัมย์ จึงเสนอ พระราชบัญญัติเกี่ยวกับการป้องกันและ กำจัดศัตรูพืชขึ้นฉบับหนึ่งต่อสภาผู้แทนราษฎร เรียกว่า

"พระราชบัญญัติควบคุมป้องกันการนำศัตรูพืชเข้าหรือออกนอกประเทศสยาม พ.ศ. 2480"

เนื้อหาของกฎหมายมี 7 มาตรา มีบทลงโทษ 1 มาตรา นอกนั้นเป็นวิธีการปฏิบัติ แต่ผลที่สุด ปรากฏว่าพระราชบัญญัติฉบับนี้ไม่ผ่านการรับรองจากสภา แต่อย่างไรก็ดีทางรัฐบาลเองเห็นว่า ถึงเวลาแล้วที่ประเทศไทยควรมีกฎหมายเพื่อป้องกันโรคและศัตรูพืชเหมือนอย่างในต่างประเทศ มิฉะนั้นแล้วจะขายผลิตผลทางการเกษตรไม่สะดวก จึงสั่งการให้กระทรวงเกษตราธิการ พิจารณาดำเนินการในเรื่องนี้ และแม้จะยังไม่มีกฎหมายออกมาก็ขอให้ดำเนินงาน อย่างเดิมไปพลางก่อน การเมืองของเมืองไทยในช่วงนี้อยู่ในภาวะที่ไม่ราบรื่นนัก สงครามโลกครั้งที่สอง เริ่มขึ้นแล้วทางประเทศในทวีปยุโรปเมื่อปี พ.ศ.2482 และสงครามได้แพร่ขยายมาทางทวีปเอเชียในปี พ.ศ. 2484 รัฐบาลต้องแก้ไขปัญหาอื่นๆ ที่สำคัญเสียก่อน

                ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ สอง (สงครามโลกครั้งที่สองยุติ พ.ศ. 2488) ทั้งผู้ชนะและผู้แพ้สงคราม ต่างก็ประสบกับการขาดแคลนอาหาร เพราะในระหว่างสงครามปลูกพืชพันธุ์ธัญญาหารไม่ได้เต็มที่ อาหารถูกทำลายไปเพราะสงครามเป็นจำนวนมาก เนื่องจากการขนส่งเสบียงอาหารในระหว่าง สงครามต้องกระทำโดยรีบเร่งไม่ได้กำจัดศัตรูพืช และเมื่อสงครามได้ยุติลงแล้ว FAO ได้ถูกจัดตั้งขึ้นเพื่อทำหน้าที่ช่วยเหลือส่งอาหารไปให้ประเทศที่อดอยากอย่างรีบด้วย เป็นสาเหตุทำให้โรคและศัตรูพืชแพร่ระบาดไปทุกหนทุกแห่ง การกสิกรรมเกือบทุกประเทศ ประสบปัญหาเพราะโรคระบาดไปทุกหนทุกแห่ง โรคและศัตรูพืชเข้าทำลายพืชในประเทศ ต้องใช้จ่ายเงินอย่างมากมายในการปราบศัตรูพืช

ประเทศไทยประสบปัญหาเช่นนี้เหมือนกัน ด้วยเหตุนี้พระราชบัญญัติเกี่ยวกับการป้องกันโรค และศัตรูพืชซึ่งได้เงียบหายไปเกือบ 10 ปี เพราะความผันผวนของเหตุการณ์บ้านเมือง จึงถูกนำมาพิจารณากันใหม่อีก และในที่สุดรัฐบาลได้ประกฎหมายเกี่ยวกับการกักกันพืช เป็นครั้งแรกออกมาใช้บังคับเมื่อวันที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2495 เรียกว่า "พระราชบัญญัติป้องกันโรคและศัตรูพืช พ.ศ. 2495"

เหตุการณ์ระหว่างปี 2495-2507

               พระราชบัญญัติเกี่ยวกับงานกักกันพืชฉบับแรกของประเทศไทยได้ประกาศใช้เมื่อ 18 สิงหาคม 2495 เรียกว่า "พระราชบัญญัติป้องกันโรคและศัตรูพืช พ.ศ. 2495" (The Plant Diseases and Plant Pests Prevention Act.B.E.2495)

                ในเดือนกันยายน 2495 ได้ตั้ง "แผนกตรวจและกักกันโรคพืช" ขึ้นมาเพื่อรับพนักงานเจ้าหน้าที่ ให้ปฏิบัติงานตามพระราชบัญญัตินี้ ในระยะแรกๆ ของการดำเนินงานจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับ การตระเตรียมเครื่องมือเครื่องใช้และจัดหาคนเข้าทำงาน พิจารณาหาตัวบุคคลที่เหมาะสม ให้มาดำเนินงาน ในที่สุดได้เลือก นายศักด์ศิริ เกิดปรีดี ผู้ซึ่งเคยคลุกคลีกับงานตรวจพืช กำจัดศัตรูพืชและออกใบรับรองปลอดศัตรูพืชมาก่อนแล้ว และได้ส่งนาย ศักดิ์ศิริ เกิดปรีดี ไปฝึกอบรมดูงานด้านกักกันพืชในประเทศสหรัฐอเมริกา ระหว่างปี 2495-2496 เป็นเวลา 8 เดือน นับเป็นบุคคลแรกที่ได้ไปฝึกอบรมงานกักกันพืช เมื่อท่านผู้นี้กลังมาเมืองไทยแล้ว ได้โอนตำแหน่งจากหน่วยงานเดิม คือ จากตำแหน่งหัวหน้าสถานีกสิกรรม 2 (จันทบุรี) กองการข้าวและการทดลอง มาดำรงตำแหน่งหัวหน้าแผนกตรวจและกักกันโรคพืช ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2496 แผนกตรวจและกักกันโรคพืชรับเอางานตรวจพืช และออกใบรับรอง ปลอดศัตรูพืชจากแผนกกีฏวิทยามาดำเนินงานเองตั้งแต่ปี พ.ศ. 2496 เป็นต้นมา

บุคคลที่ได้สร้างสรรให้งานกักกันพืชเจริญขึ้น ตั้งแต่ระยะแรกที่ตั้งแผนกตรวจและกักกันโรคพืช ได้แก่
    ดร.ก่าน ชลวิจารย์ ขณะนั้นเป็นผู้อำนวยการกองพืชพรรณ กรมกสิกรรม
    นายศักดิ์ศิริ เกิดปรีดี หัวหน้าแผนกตรวจและกักกันโรคพืช และ
    นายอนุวรรตน์ วัฒนพงศ์ศิริ นักกสิกรรมโท (ขั้นในขณะนั้น) แผนกตรวจและกักกันโรคพืช

               พระราชบัญญัติป้องกันโรคและศัตรูพืช พ.ศ. 2495 ประกาศกำหนดพืชที่ต้องตรวจสอบและ ควบคุมในครั้งแรกมีเพียง 4 ชนิดเท่านั้น คือ ข้าว ยางพารา อ้อย และกาแฟ และประกาศตั้งด่านตรวจพืช 2 ด่าน คือ ด่านตรวจพืชกรุงเทพฯ และด่านตรวจพืชสงขลา แต่ต่อมาพิจารณาเห็นว่าพืชเศรษฐกิจของประเทศไทยมีอีกมากมาย และเพื่อให้การป้องกันโรคและศัตรูพืชรัดกุมยิ่งขึ้นจึงประกาศกำหนดพืชที่ต้องควบคุมตามกฎหมายเพิ่มขึ้นเป็น 18 ชนิด คือ ข้าว ยางพารา อ้อย กาแฟ ส้ม มะพร้าว มันเทศ กล้วย โกโก้ มันสำปะหลัง ฝ้าย ข้าวโพด ปาล์มน้ำมัน มะละกอ มันฝรั่ง ยาสูบ มะเขือเทศ และมะเยา และประกาศตั้งด่านตรวจพืชเพิ่มขึ้นเป็น 16 ด่าน และ 1 สถานกักพืช คือ ด่านตรวจพืชท่าเรือกรุงเทพฯ ด่านฯท่าอากาศยานกรุงเทพฯ ด่านฯไปรษณีย์กลางกรุงเทพฯ ด่านฯสงขลา ด่านฯท่าอากาศยานสงขลา ด่านฯสะเดา ด่านฯปาดังเบซาร์ ด่านฯภูเก็ต ด่านฯท่าอากาศยานภูเก็ต ด่านฯเบตง ด่านฯปัตตานี ด่านฯนราธิวาส ด่านฯสุไหงโกลก ด่านฯหนองคาย ด่านฯอรัญประเทศ ด่านฯระนอง และสถานกักพืชบางเขน


www.oocities.org/thaipqs
HOME