แพ่งและพาณิชย์

http:www.oocities.org/thailegal ศูนย์รวมความรู้ทางด้านกฎหมายไทย Update everyweek

<Home> <Webboard> <Guestbook> <Condition> <About Me>

 <Education> <Legal Word> <Cooffee Break> <The Rule of Law

 <แพ่งและพาณิชย์> <วิธีพิจารณาความแพ่ง> <วิธีพิจารณาความอาญา> <อาญา> <คำคม>

 

สัญญาบัญชีเดินสะพัดสิ้นสุด

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 859 บัญญัติว่า

"คู่สัญญาฝ่ายใดจะบอกเลิกสัญญาบัญชีเดินสะพัดและให้หักทอนบัญชีกันเสียในเวลาใด ๆ ก็ได้ ถ้าไม่มีอะไรปรากฏเป็น ข้อขัดกับที่กล่าวมานี้"

สัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีที่ไม่ได้กำหนดระยะเวลาการชำระหนี้ไว้ สัญญาจะสิ้นสุดลงเมื่อบอกเลิกหรือจะถือว่าเลิกสัญญากัน โดยปริยายเมื่อไม่ถอนเงินและนำเงินเข้าฝากในบัญชี ศาลฎีกาได้วินิจฉัยไว้เป็นสองแนว คือ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 373/2543

สัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีที่ไม่ได้กำหนดระยะเวลาการชำระหนี้ จะสิ้นสุดลงเมื่อคู่สัญญาบอกเลิกสัญญาบัญชีเดินสะพัดและ เรียกร้องให้หักทอนบัญชีรวมทั้งชำระหนี้ที่มีต่อกัน โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นได้จนกว่าสัญญาเลิกกัน การที่จำเลยที่ 1 ไม่นำเงินเข้าและไม่ถอนเงินจากบัญชีกระแสรายวัน ถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 บอกเลิกสัญญาแล้ว สัญญาบัญชีเดินสะพัดยัง มีผลผูกพันจนถึงวันสุดท้ายที่โจทก์กำหนดในหนังสือทวงถามให้จำเลยชำระหนี้แก่โจทก์

(คำพิพากษาศาลฎีกาของสำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ ปี 2543 เล่ม 4 หน้า 9)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 964/2543

สัญญาบัญชีเดินสะพัดสิ้นสุดลงในวันใด โจทก์ย่อมไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นอีกต่อไป เป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบ เรียบร้อยของประชาชน

หนังสือทวงถามมีข้อความชัดเจนว่า ภายในกำหนด 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือ หากจำเลยไม่ชำระหนี้ก็ให้สัญญา บัญชีเดินสะพัดเป็นอันเลิกกัน จำเลยได้รับหนังสือวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2536 กำหนดเวลาชำระหนี้วันสุดท้ายเป็นวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2536 เมื่อจำเลยไม่ชำระหนี้ให้โจทก์ภายในวันดังกล่าว สัญญาบัญชีเดินสะพัดจึงเลิกกันตั้งแต่วันพ้นกำหนด

(คำพิพากษาศาลฎีกาของสำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ ปี 2543 เล่ม 4 หน้า 35)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2294/2543

แม้สัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีระบุว่า กำหนดชำระดอกเบี้ยเป็นรายเดือนและหักทอนบัญชีทุกวันสิ้นสุดของเดือน หากจำเลย
ที่ 1ผิดนัดงวดใดยอมให้โจทก์นำดอกเบี้ยที่ค้างชำระมาทบเป็นต้นเงินได้ และสัญญาไม่มีกำหนดเวลาสิ้นสุด ใช้บังคับ จนกว่า จะมีการบอกเลิกสัญญาหรือมีการหักทอนบัญชีและเรียกให้ชำระหนี้คงเหลือ แต่เมื่อจำเลยที่ 1 ถอนเงินจากบัญชีเมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2536 แล้วไม่มีการเดินสะพัดทางบัญชีอีกเลย คงมีแต่การหักทอนบัญชีคิดดอกเบี้ยค้างชำระในแต่ละเดือนเท่านั้น
แสดงว่าโจทก์และจำเลยที่ 1 ไม่ประสงค์ให้มีการสะพัดทางบัญชีระหว่างกันอีกต่อไป สัญญาจึงเลิกกันในวันที่ 31 กรกฎาคม 2536 หาได้สิ้นสุดในวันที่ 31 ตุลาคม 2539 อันเป็นวันสิ้นสุดระยะเวลาที่โจทก์บอกกล่าวให้จำเลยชำระหนี้ไม่

(คำพิพากษาศาลฎีกาของสำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ ปี 2543 เล่ม 4 หน้า 110)

หมายเหตุ กำหนดเวลาสิ้นสุดของสัญญาบัญชีเดินสะพัดมีความสำคัญต่อความรับผิดในดอกเบี้ย หากสัญญายังไม่เลิกกัน ธนาคารมีสิทธิที่จะคิดดอกเบี้ยทบต้นได้ตลอดเวลา 

คดีส่วนใหญ่มักจะมีปัญหาในเรื่องสัญญาบัญชีเดินสะพัดประเภทไม่มีกำหนดระยะเวลา  

คำพิพากษาฎีกาสองเรื่องเรื่องแรก ศาลฎีกาวินิจฉัยโดยยึดหลักการบอกเลิกสัญญา แต่คำพิพากษาฎีกาเรื่องหลังยึดถือ การไม่เดินสะพัดทางบัญชี กล่าวคือ ไม่ถอนเงินและไม่นำเงินเข้าบัญชี เป็นการเลิกสัญญากันโดยปริยาย 

คำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าวขัดกันหรือไม่ และจะยึดถือคำพิพากษาศาลฎีกาฉบับใดเป็นบรรทัดฐาน Thailegal เห็นว่า ไม่น่าจะขัดกัน เพราะต้องขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นว่า มีการบอกเลิกสัญญาห่างจากระยะเวลาการนำเงินเข้าฝากและ ถอนเงินจากบัญชีครั้งสุดท้ายมากน้อยเพียงใด หากห่างกันมาก ศาลมักจะยึดถือหลักการเลิกสัญญากันโดยปริยายมาวินิจฉัย ทั้งนี้ ก็เพื่อความเป็นธรรมแก่คู่ความนั่นเอง

Thailegal 05/02/44

Webmaster : Thailegal
more information,contact : thailegal@yahoo.com
Copyright(c)2000,Thailegal,All Right Reserved