ความรู้เบื้องต้นทั่วไป

 


ชื่อ
ชื่อวิทยาศาสตร์
ชื่อพ้อง
ชื่อเรียกแต่ละท้องถิ่น

พฤกษศาสตร์ทั่วไป
ลำต้น
ใบ
ดอก
ผล
เมล็ด


ชื่อ

Family SAPINDACEAE
โครโมโซม 2n = 30
ชื่อวิทยาศาสตร์:Dimocarpus longan Lour.
ชื่อสามัญ: longan

ชื่อพ้อง:Synonyms

-ssp. longan var. longan: Dimocarpus longan Lour. (1790), Euphoria longana Lamk (1792)nom.illeg., Nephelium longana Cambess. (1829).
-ssp. longan var. longepetiolulatus Leenh.: Euphoria morigera Gagnep. (1950)nom.inval.
-ssp. longan var. obtusus (Pierre) Leenh.: Euphoria scandens Winit & Kerr.
-ssp. malesianus Leenh. var. malesianus: Nephelium malaiense Griff.(1854), Euphoria cinerea Radlk. (1878)nom. illeg., Euphoria gracilis Radlk. (1913)nom. illeg.
-ssp. malesianus Leenh. var. echinatus Leenh.: Euphoria nephelioides Radlk. (1914) nom. illeg.

 

ชื่อเรียกแต่ละท้องถิ่น:Vernacular names

-ssp. longan var. longan: longan (En). Longanier, oeil de dragon (Fr). Indonesia, Malaysia: lengkeng. Burma: kyet mouk. Cambodia: mien. Laos: lam nhai,nam nhai. Thailand: lamyai pa. vietnam: nhan.
-ssp. longan var. obtusus: Thailand: lamyai khruer,lamyai tao.
-ssp. malesianus var. malesianus: Malaysia: mata kucing (Peninsular Malaysia and Sabah), isau, sau, kakus (Sarawak). Indonesia: buku, ihau (Kalimantan), medaru (Sumatra).

ที่มา: Choo and Ketsa , 1992


ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ของลำไย


ลำต้น
เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางไม่ผลัดใบ ลำไยป่าเมื่อเติบโตเต็มที่จะมีความสูงถึง 30-40 ฟุต (9-12 เมตร) หรืออาจสูงกว่า 100 ฟุต (30 เมตร) ดังเช่นลำไยป่าในอเมริกา (Crane et al., 2001) สำหรับประเทศไทยลำไยที่พบอาจมีความสูงถึง 25 เมตร (Gardner et al., 2000) ความสูงใหญ่ของต้นลำไยจะขึ้นอยู่กับสภาพภูมิอากาศและชนิดของดิน (Crane et al., 2001) ลำไยมีกิ่งก้านสาขาที่ค่อนข้างเปราะ เนื้อไม้ค่อนข้างอ่อน มีสีแดง เปลือกแตกเป็นสะเก็ด มีสีเทาหรือเทาปนน้ำตาล (ฉันทนา, 2513; บุญเลิศ และคณะ, 2526; ตระกูล, 2527; กลุ่มเกษตรสัญจร, 2530 )

ใบ
เป็นใบรวมมีความยาวประมาณ 26.0-50.0 เซนติเมตร (Gardner et al., 2000) และมีใบย่อยส่วนใหญ่เรียงตัวแบบสลับ (pinnate) ใบย่อยที่อยู่ส่วนปลายมีการเรียงตัว 3 แบบ คือ เป็นคี่ (odd-pinnate) เป็นคู่ (even-pinnate) หรือเป็นคู่แบบเยื้องกัน เป็นที่สังเกตว่าถ้าใบย่อยส่วนปลายอยู่เป็นคู่ ใบย่อยส่วนอื่น ๆ มักจะอยู่เป็นคู่ด้วย แต่ถ้าปลายใบย่อยอยู่เยื้องกัน ใบย่อยส่วนที่เหลือก็จะอยู่เยื้องกันด้วย ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ผู้สังเกตการณ์หลายท่านเข้าใจผิดว่า ใบย่อยของลำไยอยู่เป็นคู่ (opposite) ตัวอย่าง Ramingwong et al.(1998) มีใบย่อย 3-4 คู่ ส่วนใหญ่มักจะมี 3 คู่ และ Choo and Ketsa (1992) รายงานว่า พบใบย่อยของลำไยมากถึง 12 ใบ ขณะเดียวกันใบย่อยก็มีรูปร่างต่างๆ กัน ตั้งแต่รูปไข่ รูปรีจนถึงรูปรียาว มีความยาว 2.8-7.1 เซนติเมตร กว้าง 9.5-23.4 เซนติเมตร และหนา 0.2-0.4 เซนติเมตร (Ramingwong et al., 1998) มีสีตั้งแต่เขียวอ่อนไปจนถึงเขียวเข้ม ด้านบนของใบมีลักษณะเรียบเป็นมัน ส่วนด้านล่างมีลักษณะหยาบสากเล็กน้อย ขอบใบเรียบจนถึงเป็นคลื่น มีเส้น vein แตกออกจากเส้นกลางใบเป็นจำนวนมาก (ฉันทนา, 2513; Ramingwong et al., 1998)


ดอก
ช่อดอกของลำไยเป็นแบบ compound raceame หรือ panicle ซึ่งอาจมีชั้นซ้อนกันมากถึง 3 ชั้นหรือมากกว่า แต่ละช่อย่อยของดอกลำไยเป็นแบบ raceme ชนิด dichasia คือ ดอกที่อยู่ส่วนปลายสุดจะบานก่อน ฉันทนา (2513) กล่าวว่า ลำไยมีดอกเป็นช่อแบบ compound dichasia ที่มีการจัดเรียงแบบ panicle ซึ่งพบที่ปลายกิ่งทั้งตายอดและตาข้างที่อยู่ใกล้ยอด สมศักดิ์ (2527) รายงานว่า ช่อดอกของลำไยมีลักษณะของช่อดอกแตกต่างกันได้ 3 แบบ คือ แบบที่ 1 ช่อดอกมีแกนกลางยาวแล้วมีแขนงแตกย่อยออกทางด้านข้างรอบแกน ส่วนแบบที่ 2 ช่อดอกไม่มีแกนกลางแต่จะเป็นแกนสั้นๆ มากกว่าหนึ่งแกน และมีการเจริญของกิ่งแขนงยาวออกมาใกล้เคียงกัน หรือยาวกว่าแกนกลาง และแบบที่ 3 ช่อดอกมีใบเล็กๆ ออกมาแซมสลับกับแขนงย่อยของช่อดอก Ramingwong et al. (1998)รายงานว่า ช่อดอกของลำไยมีความยาว 8.0-44.0 เซนติเมตร กว้าง 12.0-50.0 เซนติเมตร ฉันทนา (2513) รายงานว่า ภายในหนึ่งช่อดอกมีดอกแยกตามเพศได้ 3 ชนิด คือ ดอกเพศผู้ ดอกเพศเมีย และดอกกระเทยหรือดอกสมบูรณ์เพศโดยจะอยู่รวมกันบนช่อเดียวกัน สำหรับดอกสมบูรณ์เพศ จะมีรังไข่พองเป็นกระเปราะค่อนข้างกลม ขนาดเล็กกว่ารังไข่ดอกเพศเมีย และยอดเกสรตัวเมียจะสั้น Choo and Ketsa (1992) พบว่า ดอกของลำไยมีขนาดเล็ก สีเหลืองปนน้ำตาลหรือเหลืองปนเขียว กลีบเลี้ยง มี 5 กลีบ (ฉันทนา, 2513; Choo and Ketsa, 1992 ) มีขนาด 2.0-5.0 x 1.0-3.0 มิลลิเมตร (Choo and Ketsa, 1992) กลีบดอก มี 5 กลีบ (ฉันทนา, 2513; Gardner et al., 2000) Choo and Ketsa (1992) รายงานว่ากลีบดอกมีขนาดความยาว 1.5-6.0 มิลลิเมตร กว้าง 0.6-2 มิลลิเมตร ส่วนเกสรเพศผู้ Gardner et al. (2000)พบว่า ปกติเกสรเพศผู้มีจำนวน 8-10 อัน ฉันทนา (2513) รายงานว่าอาจจะมีน้อยกว่า 8 อันก็ได้ Choo and Ketsa (1992)รายงานว่า ก้านเกสรมีความยาวประมาณ 1.0-6.0 มิลลิเมตร เรืองยศ (2531) รายงานว่า ละอองเกสรเพศผู้พบในดอกทั้ง 3 ชนิด แต่ละอองเกสรในดอกเพศเมียไม่ทำงาน และในดอกสมบูรณ์เพศจะทำงานได้ต่ำกว่าดอกเพศผู้ สำหรับเกสรตัวเมียมักจะมีรังไข่ 2 carpel ในบางครั้งอาจจะพบรังไข่ที่มี 3 carpel แต่ก็พบได้น้อย แต่ละ carpel มี 1 locule และแต่ละ locule จะมี 1 ovule ที่ปลายของ stigma แยกออกเป็น 2 หรือ 3 แฉก แล้วแต่จำนวน carpel (ฉันทนา, 2513)


ผล
รูปร่างผลรีจนถึงรูปไข่ มีขนาดแตกต่างกันตามพันธุ์และตามความสมบูรณ์ของต้น มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 1.0-3.4 เซนติเมตร เปลือกมีสีน้ำตาล น้ำตาลปนเหลือง หรือน้ำตาลปนเขียว (ฉันทนา, 2512; Choo and Ketsa, 1992; Ramingwong et al., 1998; Gardner et al., 2000) ผิวเปลือกเรียบกว่าลิ้นจี่ เนื้อรับประทานที่อยู่ระหว่างเปลือกและเมล็ด เป็นส่วนที่เจริญมาจากเนื้อเยื่อตรงบริเวณฐานหรือก้านของเมล็ดที่เจริญขึ้นมาโอบเมล็ดเอาไว้ เนื้อของลำไยมีลักษณะเป็นวุ้นสีขาว มีรสหอมหวาน และกรอบ (ฉันทนา, 2512 )


เมล็ด
แต่ละผลลำไยมี 1 เมล็ด มีลักษณะกลม รี หรือรูปไข่และแบน มีขนาดใหญ่จนถึงขนาดเล็กมากหรือลีบเป็นหมัน ความยาว 5.8-15.5 มิลลิเมตร กว้าง 5.4-17.7 มิลลิเมตร ขนาดของเมล็ดจะขึ้นอยู่กับชนิดพันธุ์ มีสีน้ำตาลหรือน้ำตาลดำเข้ม ผิวเป็นมันเงา (บุญเลิศ และคณะ, 2526; Choo and Ketsa, 1992; Ramingwong et al., 1998; Gardner et al., 2000)