นามปากกาของจิตร   ภูมิศักดิ์    

          จิตร   ภูมิศักดิ์  ใช้ชื่อและนามสกุลจริง  ในงานเขียนวิชาการด้านภาษาศาสตร์   เช่น  หนังสือ "ภาษาและนิรุกติศาสตร์"  หนังสือ "ความเป็นมาของคำสยาม  ไทย  ลาวและขอมฯ"  และใช้ในงานเขียนที่ไม่แสดงความคิดเห็นทางการเมืองเด่นชัดนัก  เช่น  ฉันท์ "วจีจากน้อง"  และจดหมายที่เขียนไปถาม  ม.ร.ว.คึกฤทธิ์  ปราโมช เป็นต้น

          นาคราช   นามปากกานี้  จิตรใช้เพียงครั้งเดียว  เมื่อเขียนวิจารณ์ศาสนาในบทความที่ชื่อว่า   "พุทธปรัชญาแก้สภาพสังคมตรงกิเลสวัตถุนิยมไดอะเล็กติกแก้สภาพ สังคม ที่ตัวสังคมเอง และแก้ได้ด้วยการปฏิวัติ ไม่ใช่ปฏิรูปตามแบบสิทธารถ  ปรัชญาวัตถุนิยมไดอะเล็กติกกับปรัชญาของสิทธารถผิดกันอย่าง ฉกรรจ์ที่ตรงนี้"  หรือที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันในชื่อ "ผีตองเหลือง"   ซึ่งบทความชิ้นนี้  แต่เดิมจิตรตั้งใจจะลงใน หนังสือมหาวิทยาลัย  ฉบับ  23  ตุลาคม  ประจำปี พ.ศ.2496   ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย   แต่ขณะที่ลงพิมพ์บทความชิ้นนี้ได้ถูกส่งต่อ ไปให้ตำรวจ  ตำรวจได้เรียกปรึกษาอาจารย์บางท่านของจุฬาในสมัยนั้น   จึงได้มีการเรียกนิสิตประชุมชี้แจง สาเหตุที่ยับยั้งการออกหนังสือ "23  ตุลาฯ"   ประจำปีนั้น  เพราะมีบทความที่ไม่พึงประสงค์ตามทัศนะของอาจารย์   แต่พอจิตรจะขึ้นชี้แจงบ้าง  พูดไปยังไม่ได้เท่าไรก็ถูกนิสิตกลุ่มหนึ่งจับ "โยนบก"  ลงมาจากเวทีหอประชุม   กลายเป็นเหตุการณ์ที่เรียกว่า "โยนบก"  เป็นข่าวพาดหัวทางหน้าหนังสือพิมพ์เกือบทุกฉบับ ในสมัยนั้น

          ศูลภูวดล   นามปากกานี้  พบเพียงครั้งเดียวใน บทกวีชื่อ  "เธอคือหญิงรับจ้างแท้ใช่แม่คน"

          ศรีนาคร   นามปากกานี้  จิตรใช้ไปในการเขียนบทกวี  เช่น  "ศิลป์ทั้งผองต้องเกื้อเพื่อชีวิต"  "สู้อย่างไร?นักปรัชญาบอกข้าที"  "สร้างสวรรค์ขึ้นที่ในโลกด้วยสองมือ" และ "เพื่อลบรอยคราบน้ำตาประชาราษฎร์"

            ทีปกร   นามปากกานี้  จิตรใช้ในการเขียนบทความทางศิลปวรรณคดี และวิเคราะห์ทางวรรณคดี  เช่น  บทความเรื่อง  "โมราวียาและนวนิยายต้องห้าม"  "เปรมจันทร์  วิศกร ผู้สร้างวิญญาณมนุษย์แห่งอินเดีย"  "บทบาททางวรรณคดีของพระมหามนตรี(ทรัพย์)"  และหนังสือ "ศิลปเพื่อชีวิต ศิลปเพื่อประชาชน"

          สมสมัย   ศรีศูทรพรรณ   นามปากกานี้ จิตรใช้เพียงครั้งเดียวในการเขียนหนังสือ "โฉมหน้าศักดินาไทย"

         ศิลป์  พิทักษ์ชน  นามปากกานี้  โดยมากจิตรใช้เขียนลงในหนังสือพิมพ์ "ปิตุภูมิ"  ในคอลัมน์ "ศิลปวิจารณ์"  ซึ่งมีบทความ   บทกวีที่เด่นๆ    เช่น    "ชัยชนะของศิลปเพื่อชีวิต ของประชาชน"  "กวีประชาชน"  "กวีไร้สมองและกวีกิ้งก่า"  และ "โองการแช่งน้ำ"    ส่วนบทกวีแปลที่เด่นๆ ก็มีที่แปลมาจากของหลู่ชิ่น  เช่น  "แม้คนพันบัญชาชี้หน้าเย้ย"

          สมชาย   ปรีชาเจริญ นามปากกานี้  โดยมากจิตรใช้เขียนในคอลัมน์  "ชีวิตและศิลป"  ของหนังสือพิมพ์ "สารคดี"   และใช้นามปากกานี้วิจารณ์งานศิลปวัฒนธรรมกับใช้เขียน บทกวี "เรียนใช่เพื่อตนเองโหน่งเหน่งไป"  นอกจากนั้นยังใช้นามปากกานี้ เขียนบทความเกี่ยวกับการศึกษา เช่น  "กุญแจแห่งมหาทวาร"  ด้วย

          สุธรรม   บุญรุ่ง  นามปากกานี้จิตร ใช้ในการเขียนเพลงเช่น เพลง "แสงดาวแห่งศรัทธา"  "เสียงเพรียกจากมาตุภูมิ"  "ฟ้าใหม่"  "รำวงวันเมย์เดย์"  และ "มาร์ชเยาวชนไทย" เป็นต้น

          ขวัญนรา  นามปากกานี้  โดยมากจิตรใช้เขียนบทกวี  เช่น  "การทำบุญเพื่อตัวกูดูชอบกล"  และ "จึงหมู่เขาเอ่ยอ้า  โอษฐ์พร้องพธูไทย"

          สิทธิ   ศรีสยาม นามปากกานี้  พบใช้เพียงครั้งเดียวในหนังสือ "นิราศหนองคาย   วรรณคดีที่ถูกสั่งเผา"

         กวีการเมือง/กวี  ศรีสยาม   นามปากกาทั้งสองนามนี้  จิตรใช้เขียนลงในหนังสือพิมพ์ "ประชาธิปไตย"   ในยุคจอมพลสฤษดิ์ มีทั้งที่เป็นบทความและเป็นบทกวี  เช่น บทความที่เด่นๆ  คือ  "โคลงห้า มรดกทางวรรณคดีไทย"  "โคลงสรรเสริญเกียรติกรุงเทพมหานครยุคไทยพัฒนา"  "จิ้งเหลนกรุง"  "วิญญาณหนังสือพิมพ์"  และ "วิญญาณสยาม"

          บุ๊คแมน นามปากกานี้ จิตร  ใช้ในการวิจารณ์หนังสือ  เคยปรากฎในหนังสือพิมพ์ "ไทยใหม่"  ที่ดุเดือดที่สุดก็เมื่อวิจารณ์  "แสงทอง"  และถูก "แสงทอง" วิจารณ์กลับมา (นิตยสารโลกหนังสือ  ปีที่ 1  ฉบับที่ 7)

          มูวี่แมน นามปากกานี้ จิตรใช้ในการวิจารณ์ภาพยนต์

          ศิริศิลป์   อุดมทรรศน์ นามปากกาน  จิตรใช้ในการเขียนเรื่องสั้นชื่อ "ณ   ที่ซึ่งไม่มีความรัก"  ตีพิมพ์ในนิตยสาร "กะดึงทอง"  ในยุคที่สาทิศ  อินทรกำแหง เป็นบรรณาธิการคนแรกและคนเดียว  เรื่องสั้นเรื่องนี้ ตีพิมพ์ในฉบับเดือนสิงหาคม  พ.ศ.2497   อันเป็นปีที่จิตร  ถูกพักการเรียน  และเริ่มมีความฝักใฝ่ในแนวทาง สังคมนิยม