กำไรไร้ขีดจำกัดทำลายการสร้างสรรค์

โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์           


        ข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์บอกว่า ยังไม่ทันที่หนังแฮรี่ พอตเตอร์จะเข้าฉายในเอเชียเลย ใครๆก็อาจหาซื้อซีดีเถื่อน เรื่องนี้ในปักกิ่งได้แล้ว ราคาเพียงประมาณ 55 บาทเท่านั้น  โชคดีหรือโชคร้ายสำหรับคนจีนกันแน่?   อย่างน้อยใน ระยะสั้น คนจีนก็น่าจะโชคดีที่สามารถดูหนังยอดฮิตซึ่งกะจะทำเงินกันเป็นหลายพันล้านบาทเรื่องนี้ได้ในราคาย่อมเยา กำไรจากการโจรกรรมนั้นทำได้ง่ายๆ เพราะผู้กระทำไม่ได้ลงทุนอะไรมากนัก แต่ดูเหมือนคนอื่นที่ไม่ใช่โจร เพียงแต่รับ ซื้อของโจรก็ได้กำไรไปด้วย

        แต่นักเศรษฐศาสตร์กลุ่มหนึ่งบอกว่า ในระยะยาวคนจีนจะโชคร้าย ไม่แต่เฉพาะคนจีนเท่านั้น หากรวมคนทั้งโลก ด้วย จะโชคร้ายไปตามคนจีน เพราะเมื่อตลาดใหญ่ขนาดจีนได้สินค้าไปโดยการขโมย นานวันเข้าก็จะไม่มีใคร กล้าลงทุนผลิตของดีๆ ออกมาขาย เพราะผลิตมาก็ไม่ได้กำไร หรือได้น้อยเกินไปจนไม่คุ้มเหนื่อย เนื่องจากถูกขโมย ไปหมด ฉะนั้นทุกคนจึงจะอดดูหรืออดได้ของดีไปพร้อมหน้ากัน

        อย่างไรเสียก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าการขโมย ไม่ว่าขโมยสินค้าที่เป็นวัตถุหรือขโมยสินค้าที่เป็นอากาศธาตุ เช่น ลิขสิทธิ์ ย่อมไม่ใช่การกระทำที่น่าสนับสนุน   แต่จริงหรือที่ว่าการขโมยลิขสิทธิ์จะทำให้การสร้างสรรค์ยุติลงหรือเสื่อมโทรมลง ไม่ว่าจะเป็นการสร้างสรรค์ทางศิลปะ, การสร้างสรรค์ทางเทคโนโลยี หรือการสร้างสรรค์ทางความคิดอ่านผมออกจะ สงสัยว่า ถึงจะจริงก็จริงอยู่บ้าง แต่ไม่ทั้งหมด เพราะรางวัลของการสร้างสรรค์สำหรับมนุษย์นั้นมีความหลากหลาย กว่ากำไรเป็นตัวเงินเพียงอย่างเดียวแน่ ผมขอยกเอากรณีศิลปะขึ้นก่อน เพราะเห็นได้ชัดดี

        ในยุคเสรีนิยมทางเศรษฐกิจเช่นปัจจุบัน ปฏิกิริยาของมนุษย์ในฐานะชีวภาพอันซับซ้อนถูกลดลงให้เหลือเพียง การตอบสนองต่อปัจจัยทางเศรษฐกิจ คือกำไร-ขาดทุน และด้วยเหตุดังนั้นเราจึงมักมองการสร้างสรรค์ว่าถูกขับ และดำรงอยู่ได้ด้วยกำไรทางเศรษฐกิจเท่านั้น  ผมสงสัยอย่างยิ่งว่าข้อนี้จริงแก่ศิลปินและกวีแน่หรือ?

        ใครก็ตามที่ถูกเรียกว่าศรีปราชญ์ และเป็นผู้แต่งกำสรวลสมุทร ไม่น่าจะได้กำไรทางเศรษฐกิจที่อุตส่าห์แต่ง กวีนิพนธ์เรื่องนี้ขึ้นมา ผู้แต่งน่าจะเป็นพระเจ้าแผ่นดินอยุธยาองค์หนึ่ง แต่แต่งแล้วก็ไม่ได้ลงชื่อเอาไว้ เพราะสมัยนั้นเขา ไม่นิยมลงชื่องานสร้างสรรค์กัน แถมยังคงไม่รู้แพร่หลายว่าใครแต่ง จึงเลือนมาเป็น "ศรีปราชญ์" ในสมัยหลังแทนที่จะ เรียกมาเสียแต่ต้นว่าเป็นพระราชนิพนธ์ เพื่อไม่ให้สับสน  และใครที่เคยอ่านกำสรวลสมุทรคงเห็นพ้องกับผมว่า ถ้าคนแต่งหมายมุ่งจะเอาค่าเรื่อง หรือเอาความเด่นความดังเป็นที่ตั้งในการแต่ง คงแต่งให้ดีขนาดนั้นไม่ได้ และหมอนี่ ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม ลงแต่งกวีนิพนธ์ได้ขนาดนี้ คงทำอย่างอื่นให้ดีเท่านี้ได้ยาก ก็คนเราจะเก่งไปทุกเรื่องหมด ได้อย่างไร

        คีตกวีดังๆ ในสมัย "คลาสสิค" ของยุโรป ไม่ได้หากินทางการแต่งเพลงโดยตรง ส่วนใหญ่อยู่ภายใต้ การอุปถัมภ์ ของเจ้านายซึ่งหูหนวกทางคีตศิลป์ จะแต่งเพลงอะไรที่เฉิ่มๆ อย่างง่ายๆ ให้ตรงกับดนตรีร่วมสมัยก็ไม่กระเทือน ต่อรายได้ของตัว บางครั้งเจ้านายอาจชอบเสียอีก ที่ฟังดูเหมือนดนตรีของราชสำนักอื่นๆ ที่เป็นคู่แข่ง แต่คีตกวี จำนวนมากก็ไม่ยักจะทำอย่างนั้น กลับพยายามแต่งให้ดีให้แปลกให้ซับซ้อนเกินหูของคนจ่ายค่าเลี้ยงดู จนในที่สุด ก็ต้องเที่ยวเร่ร่อนฝากตัวที่ราชสำนักนี้พักหนึ่ง ราชสำนักโน้น พักหนึ่ง จนกว่าจะไปเจอพระกรรณที่ไม่หนวกสักคู่หนึ่ง จึงได้รายได้พอเลี้ยงลูกเมียไปอย่างมั่นคง

        ถ้าการสร้างสรรค์เกิดจากกำไรทางเศรษฐกิจอย่างเดียวเสียอีก ป่านนี้เราคงไม่มีดนตรีดีเลิศจากยุค"คลาสสิค" ไว้ฟังเลย  แรงผลักดันให้คนสร้างสรรค์สิ่งอันดีเลิศจึงมีความซับซ้อน และหลากหลายกว่ากำไรทางเศรษฐกิจ อย่างแน่นอน  ตรงกันข้ามกับที่เชื่อกัน กรณีตัวอย่างในโลกปัจจุบันกลับชี้ให้เห็นว่า กำไรทางเศรษฐกิจนั่นแหละคือตัว ทำลายการสร้างสรรค์ทางศิลปะ

        หนังฮอลลีวู้ดตกต่ำลงอย่างรวดเร็ว เพราะผู้สร้างหนังทุกคนเก็งแต่จะสร้างกำไรกันอย่างมโหฬาร จึงพร้อมจะสร้าง อะไรก็ได้ที่เรียกคนดูได้เต็มโรง ไม่ว่าจะเป็นไดโนเสาร์ โลกถล่ม น้ำท่วม อัคคีภัย ฯลฯ เพื่อป้อนความตื่นเต้นให้แก่ ชีวิตที่ซ้ำซากจำเจของคนชั้นกลาง   แล้วลองคิดย้อนไปในสมัยก่อนหน้านี้ว่า ฮอลลีวู้ดนี่แหละที่เคยสร้างหนังคลาสสิค ที่เยี่ยมยอดมาหลายต่อหลายเรื่องแล้วในอดีต โดยการลงทุนแต่พอสัณฐานประมาณ ไม่ใช่การทุ่มทุนเพื่อต่อทุนอย่าง ที่ทำกันในทุกวันนี้

        ผู้สร้างละครทีวีของไทยไม่กล้าเสนองานที่มีศิลปะ เพราะเก็งว่าตลาดจะไม่รับและทำให้ไม่สามารถขายโฆษณาได้ แล้วเราดูการแสดงระดับไหนเป็นอาหารจิตใจทุกเย็นกันในทุกวัน นี้คงไม่ต้องพูดถึงนักแต่งเพลงไทยเชื้อเชิญให้ตลาด เป็นผู้กำกับควบคุมบทเพลงของตัว ไม่ว่าจะเฉิ่มจะเชยอย่างไรก็ได้ ขอให้มีคุณสมบัติเพียงอย่างเดียวคือ "ขายได้" เท่านั้น ในขณะที่เพลงก็ "ขายได้" เพราะบริษัทยอมจ่ายค่า "คิว" เพลงหรือเข้าไปช้อนซื้อรายการไว้ในครอบครอง สำหรับโฆษณาอย่างบ้าเลือด เราจะเรียกการกระทำอย่างนี้ว่าเป็นการสร้างสรรค์ทางศิลปะได้หรือ

        มีที่ไหนหรือครับที่กำไรทางเศรษฐกิจล้วนๆ ผลักดันให้เกิดการสร้างสรรค์ขึ้นจริง แม้แต่ในด้านเทคโนโลยี กำไร ทางเศรษฐกิจก็มักทำลายการสร้างสรรค์เสียมากกว่า  ระบบปฏิบัติการคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลที่ขายดีที่สุดในโลก เป็นระบบปฏิบัติการที่ไม่ "ก้าวหน้า" ทันกับความก้าวหน้าของวิทยาศาสตร์ด้านคอมพิวเตอร์ทั้งไม่ได้เป็นผู้นำด้วยเพราะ ลอกคนอื่นเขามาเกือบทั้งดุ้น รักษาความเป็นเจ้าตลาดได้ด้วยเล่ห์เหลี่ยมทางการค้า เช่น ทำให้เกิดการผูกขาด application ในลักษณะต่างๆ ขึ้น  อภิมหาเศรษฐีเจ้าของบริษัททำเงินจากเล่ห์เหลี่ยมทางการค้า ไม่ใช่การสร้างสรรค์ ทางเทคโนโลยี

        นับตั้งแต่เราโยนการสร้างสรรค์เข้าไปในตลาดเต็มที่ ผมยังไม่เห็นว่าได้เกิดการสร้างสรรค์อะไรที่เป็นคุณประโยชน์ ต่อมนุษยชาติขึ้นมาสักอย่างเดียว(สิ่งใหม่สิ่งเดียวที่เกิดขึ้นคือศาสตร์และศิลป์ของการโฆษณา ซึ่งหาได้มี คุณประโยชน์ต่อมนุษย์แต่อย่างหนึ่งอย่างใดไม่)

        ยาปฏิชีวนะเกิดขึ้นก่อนที่ตลาดจะเข้ามารุมแทะการสร้างสรรค์ แต่ตลาดก็ไม่ได้พัฒนายาปฏิชีวนะให้มีประสิทธิ ภาพมากขึ้นไปกว่าเดิม ร้ายไปกว่านั้นกลับทำให้มีการใช้ยาโดยไม่จำเป็นและเกิดการต้านทานยาแพร่หลาย ในหมู่ประชากรโลก ตลาดกลับทำให้ยาใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นมีอันตรายมากขึ้น เพราะศึกษาผลข้างเคียงไม่กระจ่างพอ ก็เร่งทำเงินกันแล้ว ในทุกวันนี้ยาถูกสั่งถอนจากตลาดมากกว่าเมื่อ 3-40 ปีที่แล้วอย่างมาก แต่ก็ได้ผลิตเหยื่อ ทิ้งไว้ในตลาดอีกอักโข

        ตรงกันข้ามกับการปล่อยให้กำไรทางเศรษฐกิจเป็นแรงผลักดันการสร้างสรรค์เพียงอย่างเดียว ผมคิดว่าจำเป็น จะต้องจำกัดกำไรที่พึงได้จากการสร้างสรรค์ด้วยซ้ำการจำกัดกำไร จะทำให้ผู้สร้างหนังหันกลับไปสู่หนังเล็กๆ ที่มี คุณภาพทางศิลปะ

        เพลงที่แต่งขึ้นอย่างประณีตเพื่อหูที่ประณีตซึ่งมีจำนวนน้อยเป็นธรรมดา การเสนอขายระบบปฏิบัติการที่เสถียร สะดวกในการใช้ และพอเหมาะพอดีสำหรับการใช้งานของแต่ละคน ด้วยราคาที่สมประโยชน์กับความต้องการของผู้ใช้ โดยไม่ต้องซื้อขยะมาแบกไว้ในฮาร์ดดิสก์

        การโจรกรรมก็เป็นการจำกัดกำไรอย่างหนึ่ง แต่การโจรกรรมผิดศีลธรรม ถึงไม่ให้ผลร้ายแก่การสร้างสรรค์ ก็ให้ผลร้ายแก่จิตใจของมนุษย์ ฉะนั้น การโจรกรรมจึงเป็นการจำกัดกำไรที่ไม่ดี เพราะกลับทำความเสียหายให้แก่ มนุษยชาติได้ไม่น้อยไปกว่ากำไรไม่อั้นซึ่งบูชากันอยู่เวลานี้

        จะจำกัดกำไรกันด้วยวิธีไหน ระบบภาษี การจำกัดตลาด การลดสิทธิในลิขสิทธิ์ลง ฯลฯ เกินสติปัญญาของผม จะคิดได้ว่า แต่ละอย่างจะเกิดผลดีผลเสียอย่างไร แต่ผมแน่ใจว่า กำไรที่ไม่มีขีดจำกัดนั้น นอกจากไม่มีคุณแล้ว ยังเป็นอันตรายแก่ส่วนรวมอย่างแน่นอน