ปฏิวัติ หรือ ปฏิรูป การศึกษา ?

พินิจ พันธ์ชื่น

“ ... ความรู้นั้นสำคัญยิ่งใหญ่ เพราะเป็นปัจจัยให้เกิดความฉลาดสามารถ และความเจริญก้าวหน้า มนุษย์จึงใฝ่ศึกษากันอย่างไม่รู้จบสิ้น แต่เมื่อพิเคราะห์ดูแล้ว การเรียนความรู้แม้มากมายเพียงใด บางทีก็ไม่ช่วยให้ฉลาดหรือเจริญได้เท่าไรนัก ถ้าหากเรียนไม่ถูกถ้วน ไม่รู้จริงแท้ การศึกษาหาความรู้จึงสำคัญตรงที่ว่า ต้องศึกษาเพื่อให้เกิด “ความฉลาดรู้” คือ รู้แล้วสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้จริงๆ โดยไม่เป็นพิษเป็นโทษ การศึกษาเพื่อความฉลาดรู้ มีข้อปฏิบัติที่น่าจะยึดเป็นหลักอย่างน้อยสองประการ ประการแรก เมื่อจะศึกษาสิ่งใด เรื่องใดให้รู้จริง ควรจะได้ศึกษาให้ตลอด ครบถ้วนทุกแง่ทุกมุม ไม่ใช่เรียนรู้แต่เพียงบางส่วนบางตอน หรือเพ่งเล็งเฉพาะแต่เพียงบางแง่บางมุม ………. ”

       ( พระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตร มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ 22 มิถุนายน 2524 )

พราะชาติมีปัญหามาก และมีแนวโน้มจะหนัก มากขึ้น ผลอันเป็นความทุกข์ ความเดือดร้อนในแผ่นดิน ล้วนเกิดจากความบกพร่อง ความผิดพลาดของการศึกษา ความหลงผิด ความไร้ความคิด ความด้อยคุณลักษณะอีก หลายๆด้านของคนในชาติ คือต้นเหตุให้ความหายนะคืบใกล้เข้ามา คนของชาติขาด “ ความคิด ” และยังไม่ได้ติด “ เครื่องกรอง ” รับเละทุกเรื่อง หลงให้เขา ลากจูง ไล่มาตั้งแต่นักการศึกษาบางคนที่มีอำนาจอยู่ในระบบบริหารระดับต่างๆ ตลอดจนถึงลูก เด็กเล็กแดง ไปคว้าไปจับเอาอะไรแปลกๆใหม่ๆด้วยความตื่นเต้น ขนมาเผยแพร่ ส่ง เสริมให้เล่นกันเรื่องแล้วเรื่องเล่า หาความต่อเนื่องยั่งยืนไม่ค่อยได้ เพราะขาดการกลั่น กรองให้ถ่องแท้ หยิบมาใช้กันโดยไม่ได้ปรับแต่ง ให้เหมาะสมกับวิถีชีวิต และพื้นฐาน ความคิด ความเชื่อ ของคนไทย ระบบอะไรก็ตามมักจะมีอาการ เกิดที่ไหน โตที่ไหน ท้ายสุดจะมา ตายที่ไทยเสมอ คล้ายๆกับจะเป็นแดนพิสูจน์ว่า ระบบหรือวิธีการใดๆก็ล้วนใช้ไม่ได้ผล ณ ดินแดนแห่งนี้ กับคนชาตินี้ ซึ่งก็มีเหตุผลอันสมควรอยู่ ก็คนไทยมี วิถีชีวิต วัฒนธรรม ประเพณี ความคิด ความเชื่อ แบบไทย อยู่ ในสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ และทางสังคมแบบไทย สิ่งที่นักการศึกษาหรือผู้รู้ ไปคว้ามา จากต่างแดน เพื่อใช้เป็นเครื่องมือแก้ปัญหาของสังคมไทยจึงเป็นเรื่องไร้เหตุผลอยู่ในตัวแล้วอย่างชัดเจน เว้นเสียแต่ว่าจะนำมา เพื่อพิจารณาอย่างแยบคายแล้วค่อยปรับเปลี่ยน ให้สอดคล้องกับทุกเหตุปัจจัยที่มีอยู่เดิม ในความเป็นไทย เท่านั้น

เมื่อ “ ต่อมความคิด ” บกพร่อง คนก็มักทำอะไรผิดพลาดได้เสมอ บางทีก็ร้าย ถึงขั้นมองไม่เห็นความจริงอันเป็นเรื่องพื้นๆ และผิวเผินก็มี เรื่องราวของการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ในทางการศึกษาในปัจจุบันนั้น มีอะไรขัดแย้งกันอยู่ในตัว และก่อให้เกิดความสับสนกระสับกระส่ายขึ้นในชีวิตจิตใจ ของคนในระบบ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ครู-อาจารย์ และผู้บริหารสถานศึกษา “ จะเอายังไงกัน แน่ ? ” คือคำถามที่ดังก้องอยู่ทั่วไป ต่อหลายประเด็นปัญหา ในขณะที่พูดกันว่า ออก พรบ. การศึกษาแห่งชาติมาเพื่อการปฏิรูปการศึกษา แต่สาระที่ปรากฏใน พรบ. ควรเรียกได้ว่า “ การปฏิวัติ ” มากกว่า เพราะสิ่งที่เขียนไว้ กับสิ่งที่มีอยู่ เป็นอยู่ในปัจจุบันนั้น เกือบจะตรงกันข้ามไปเสียทุกเรื่อง เข้าลักษณะพลิกหน้ามือเป็นหลังมือเกือบทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการบริหารจัดการ กระบวนการเรียนรู้ บทบาท ของครู-นักเรียน ตลอดจนเรื่องทรัพยากรการเรียนรู้ ฯลฯ เมื่อเขียนไว้ชัดและค่อนข้างละเอียด เป็นธรรมดาว่าเมื่อผู้ปฏิบัติคือครูผู้สอนได้อ่าน ก็ย่อมเกิดทุกข์ขึ้นได้โดยง่าย เกิดความ ท้อแท้ เบื่อหน่าย หวาดกลัว ขาดความเชื่อมั่นกันไปมาก สรุปว่าเขากลัวการเปลี่ยนแปลง ที่รุนแรงและรวดเร็ว คือการ “ ปฏิวัติ ” การศึกษาไทย ในคราบของคำว่า “ ปฏิรูป ” นั่นเอง

โดยข้อเท็จจริงแล้ว กระบวนการในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ หรือการ ศึกษานั้น ไม่ใช่สิ่งที่จะพลิกผัน เปลี่ยนแปลงให้เห็นผลได้รวดเร็ว เหมือนวัตถุ หรือ ผลิตภัณฑ์ในทางอุตสาหกรรมได้ ใครๆ ก็รู้ยกเว้นคนที่เลือดร้อน ใจร้อน อยากได้เห็นการ เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ให้ทันช่วงเวลาที่ตนอยู่ในตำแหน่ง และมีอำนาจ นั่นเป็นแรงขับของ “ กิเลสส่วนบุคคล ” ที่ไม่น่าจะนำมาเป็นบรรทัดฐานในการคิดอ่านใดๆได้ หลายอย่าง อันเป็นผลจาก “ ความคิดอันเมามัน และความฝันในห้องแอร์ ” ควรได้รับการทบทวน เพื่อให้ การเปลี่ยนแปลงทางการศึกษา เกิดขึ้นและเป็นไปอย่างธรรมชาติ เป็นความเจริญงอกงามอย่างมั่นคง ยั่งยืน และที่สำคัญคือ ปลอดภัย ไม่เป็นพิษ

ทางออกที่ใคร่เสนอแนะก็ คือ การทบทวนความเชื่อ ความคิดกันใหม่ ทำความชัดเจนให้ปรากฏ และสื่อสารให้ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย ทุกส่วนได้รับรู้ เข้าใจ และ เห็นพ้องต้องกันให้มากที่สุดโดยเร็ว อย่าทิ้งให้ต่างคนต่างคิด ต่างคนต่างตีความอีกต่อไป ความทุกข์และความวุ่นวายก็จะลดน้อยลงได้ ย้ำให้ชัดเจนได้ไหม ว่าที่เขียนเอาไว้ใน พรบ. การศึกษาแห่งชาตินั้น “ คือสิ่งที่เป็นอุดมการณ์ หรือ อุดมคติ ” ของการเปลี่ยนแปลง เป็น การกำหนดสิ่งสูงสุด ที่เป็นเป้าหมายอันจะต้องพยายามไปให้ถึงเอาไว้ ส่วนจะไปถึงได้อย่างไร เมื่อไรนั้น ขอให้พิจารณาตามเหตุปัจจัยรอบด้าน ทำดีที่สุดแต่อย่าฝืนธรรมชาติมากนัก ผลที่ออกมาแม้จะช้า แต่จะหอมหวานและมีรสชาติกว่าที่พยายามทำกันอยู่เป็นแน่ ค่อยๆปรับเปลี่ยน เรียนรู้ผลและพอใจ กับผลการเปลี่ยนแปลงไปทีละน้อย อย่างต่อเนื่อง น่าจะดีกว่า เหมือนพุทธศาสนามี “ การบรรลุนิพพาน ” เป็นเป้าหมาย สูงสุด แต่ใช่ว่าจะต้องเร่งรัดให้ พุทธศาสนิกชน ทุกคน บรรลุนิพพาน ในวันนี้พรุ่งนี้ ผลจาก การปฏิบัติธรรมในระดับต่างๆให้คุณได้ฉันใด การเปลี่ยนแปลงอย่างฉลาดและสร้างสรรค์ในทางการศึกษา ก็ย่อมให้ผลอันเป็นคุณค่าได้ เป็นลำดับไปเช่นกัน

สรุปก็คือด้าน อุดมการณ์-อุดมคติทางการศึกษานั้น กำหนดเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจนไว้ได้ แต่ในขั้นของ การปฏิบัติ ควรต้องยอมให้มีการเปลี่ยนแปลงแบบค่อยๆเป็นค่อยๆไป อาจพูดให้เป็นหลักคิด และจำง่ายๆก็ได้ว่า… เรื่องของการศึกษานั้นต้อง “ ปฏิรูปในภาคปฏิบัติ และ ปฏิวัติด้านอุดมการณ์ ”