จาก    SICAR   ถึง     RICASE

พินิจ พันธ์ชื่น

         จากการที่ได้ร่วมเป็นกรรมการ ในคณะทำงานของสำนักงานสภาสภาบันราชภัฏ ว่าด้วยโครงการสร้างรูปแบบการเรียนรู้ที่ดี โดยยึดแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และได้ร่วมประชุมกับคณะทำงานเรื่อง นี้หลายครั้ง ทำให้มองเห็นแง่มุมบางอย่างเพิ่มขึ้น เป็นเรื่องของการมุ่งหวังปรับปรุง พัฒนา ผสมผสาน ความรู้ ความจริง และข้อค้นพบ อันหลากหลาย เพื่อให้รูปแบบการเรียนรู้ที่กำหนดขึ้น เป็นรูปแบบสำหรับการเรียนรู้ที่ดีและสมบูรณ์จริงๆ

       ถ้าจะทบทวนขั้นตอนของการดำเนินงานที่ผ่านมาโดยสรุป ก็จะเป็นดังนี้

  • ขั้นการวิเคราะห์รวบรวมแนวพระราชดำริ และพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่เกี่ยวข้อง กับการเรียนรู้ และ การจัดการศึกษา ทำให้ได้ข้อมูลที่กว้างขวาง หลากหลายและเพียงพอ สำหรับการทำงานขั้นต่อไป
  • ขั้นการสังเคราะห์ครั้งที่ 1 ทำให้ได้ยุทธศาสตร์ที่เรียกว่า “ RAJABHATCIP” น่าพอใจเพราะเป็นการกลั่นสาระความจริงจากแนวพระราชดำริและ พระราชดำรัส มาลงกับคำที่เกี่ยวข้องกับชื่อองค์กรของคณะผู้ทำงานได้พอดี คือ “ราชภัฏ” ดีทั้งความหมาย ได้สาระและมีเอกลักษณ์
  • ขั้นตรวจสอบทบทวน เมื่อใคร่ครวญโดยละเอียดพบว่า RAJABHATCIP ไม่อาจเรียกว่าเป็นยุทธศาสตร์ หรือรูปแบบการเรียนรู้ได้ เพราะวิเคราะห์แล้วบางตัวเป็นคุณลักษณะ บางตัวเป็นกระบวนการ บางตัวเป็นเงื่อนไข ฯลฯ จึงต้องค้นหาทางออก ที่เหมาะสมต่อไป
  • ขั้นการสังเคราะห์ครั้งที่ 2 จากการเสนอรูปแบบการเรียนรู้ SICAR ของ ดร.ไสว ฟักขาว ทำให้งานมีความ ชัดเจน และดูจะใกล้สำเร็จมากยิ่งขึ้น มีการพิจารณาทบทวน ปรับแต่งรายละเอียดปลีกย่อยเล็กน้อย SICAR Model คือภาพสะท้อนความจริง ของกระบวนการเรียนรู้แบบธรรมชาติ และเป็นการเรียนรู้ที่ดี เรียนอย่างมีความสุขและมีความหมาย ฯลฯ
  • “SICAR” ดีแล้วทำไมต้อง “ RICASE”

           ผู้เขียนพอใจ SICAR มากเพราะตรวจสอบเท่าไรก็พบความจริงว่า กระบวนการเรียนรู้ทั้งที่เกิดเองในตัวบุคคล และที่ระบบการศึกษา จงใจจัดทำส่งเสริมให้เกิดขึ้นกับผู้เรียน ถ้าขาดองค์ประกอบของ SICAR ก็จะไม่สมบูรณ์ทันที เทียบเคียงกับประสบการณ์ของผู้เขียน ซึ่งคลุกคลีกับการสอนมาพอสมควรและหลากหลายวิชา ก็ยิ่งเห็นชัด (เคยสอนวิชาภาษาอังกฤษ ปัจจุบันสอนวิชาไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ กลุ่มวิชาทางเทคโนโลยีการศึกษา และวิชา ความจริงของชีวิต )

    และในฐานะนักประดิษฐ์คิดค้นสื่อและนวัตกรรมทางการศึกษาซึ่งอาศัยกระบวนการเรียนรู้ด้วยตัวเองเป็นสำคัญ ขอแสดงเหตุผลสนับสนุนความคิด ความเชื่อมั่นใน SICAR รวมทั้งส่วนที่ปรับเปลี่ยนเพิ่มเติมดังนี้

    S (Stimulation) หรือการกระตุ้นนั้น เป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่ง แต่ที่สำคัญคืออย่าไปยึดถือที่ ตัวการกระทำจากภายนอกหรือติดรูปแบบวิธีการใดๆ แต่ให้เล็งลึกถึงจิตใจของผู้เรียนเป็นสำคัญ ให้เขาเกิดแรงกระตุ้นภายในตัวเอง เกิดความอยากรู้อยากเรียน เพราะตระหนักในคุณค่าและความหมายอย่างแท้จริง ของสิ่งที่จะเรียนรู้ จะทำอย่างไร หรือจัดสภาพการณ์แบบไหน เป็นเรื่องที่ต้องช่วยกันขบคิดอีกมาก และที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งก็คือ ระวังอย่าให้พลังความอยากรู้อยากเรียนนั้น ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเห็นแก่ตัวก็แล้วกัน เดี๋ยวจะกลายเป็นการส่งเสริมให้มีการพัฒนาความรู้และสติปัญญา แต่เป็นไปเพื่อสร้างปัญหาให้กับทั้งตัวเองและสังคม        ในความคิดเห็นส่วนตัว ผู้เขียนชอบตัว R (Realization) มากกว่าตัว S คืออยากให้เป็นขั้นตอนของการกระทำให้ผู้เรียนตระหนักใน ตน ตระหนักใน ปัญหา และตระหนักใน เป้าหมาย ของการเรียนรู้ อันจะนำไปสู่การเห็นคุณค่าของสิ่งที่จะเรียน เป็นแรงกระตุ้นภายในที่ก่อให้เกิดความสุข ความหวังในจุดเริ่มต้นของการเรียนรู้

    I (Investigation) คือขั้นการสืบเสาะ แสวงหาความรู้ด้วยตนเอง กิจกรรมในขั้นนี้เกิดได้ไม่ยาก ถ้าแรงขับจากขั้น S หรือ R สูงพอ สิ่งที่ผู้สอนควรตระหนักก็คือ การอำนวยความสะดวกให้ ด้วยการจัดสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม มีปัจจัยที่เอื้อต่อการแสวงหาความรู้อย่างเพียงพอ และจะต้องลดบทบาท “นักสอน” ให้น้อยลง อาจถือคติว่า “ ครูดี ต้องสอนน้อยๆ” ก็ได้ ลดความเป็น Teacher เพิ่มความเป็น Facilitator ให้มากขึ้นเรื่อย ๆ

    C (Construction) คือ การสร้างองค์ความรู้ใหม่ด้วยตนเอง เมื่อผู้เรียนมีแรงขับในขั้น S สูงพอ จนไปแสวงหาความรู้มาได้แล้ว ก่อนลงมือปฏิบัติคือ นำความรู้ไปใช้แก้ปัญหา ก็จะต้องมีการผสมผสานข้อมูลความรู้ที่สืบค้นมาให้เหมาะแก่การปฏิบัติ ในสถานการณ์ที่ตนประสบอยู่ ซึ่งย่อมมีปัจจัยและเงื่อนไขต่างออกไปจากที่เคยพบเห็นมา การเชื่อมโยง ปรับเปลี่ยน ข้อมูลและความรู้ ก็จะส่งผลให้เกิด องค์ความรู้ใหม่ขึ้น ซึ่งจะมีผล เป็นความสุข ความพอใจ เป็นแรงกระตุ้น ที่เกิดซ้ำเข้ามาอีกตัวหนึ่ง สิ่งสำคัญ ผู้สอนจะต้องใจเย็น รอคอยได้กับกระบวนการในขั้นนี้ ไม่ใช่ขัดอกขัดใจไม่ทันการก็เลยเข้าไปเป็นผู้ชี้นำหรือรีบวินิจฉัย สรุปเสียเองด้วยประสบการณ์ของตน

    A (Application) คือ การนำความรู้ไปใช้ปฏิบัติ หรือ แก้ปัญหาจริง ๆ จนเกิดผลงานขึ้น การกระตุ้นในขั้นแรกสุดคือ S ตัวแรกนั้นถ้าจะให้มีพลังก็จะต้องแสดงความมุ่งหวังหรือเป้าหมายมาถึงขั้นนี้อย่างเด่นชัด คือ รู้ว่า เรียนรู้แล้วจะไปทำอะไรได้ แก้ปัญหาอะไรได้ ถ้าเป็นดังที่กล่าวแล้ว การเรียนรู้ด้วยการปฏิบัติจริงในขั้นนี้จะเกิดขึ้นอย่างง่ายดาย และเป็นไปอย่างต่อเนื่อง เป็นกิจกรรมที่มีความหมาย มีความหวังและมีความสุขอยู่ในตัว ผลที่ได้รับในขั้นนี้ น่าสนใจมาก คือ จะมีคน ประสบความสำเร็จ มากน้อยต่างกัน จำแนกคนในกลุ่มออกเป็น 3 พวก

  • คนที่มีผลงานดีเยี่ยม จะเกิดความสุขความพอใจ และความเชื่อมั่นในตัวเองเป็นอันมาก และอาจจะถึงกับหลงผิดคิดว่าตนเองเหนือกว่าคนอื่นเสมอ มองเพื่อนที่ด้อยกว่า เป็นอีกกลุ่มคนหนึ่งที่แปลกแยก แตกต่างจากพวกตน
  • คนที่มีความสำเร็จแต่ไม่ดีนัก อาจมีกำลังใจที่จะเรียนรู้ต่อไป ถ้าได้รับเงื่อนไขที่เหมาะสมเช่นการให้กำลังใจจากครู และ เพื่อนๆ แต่จะหมดความศรัทธาในตัวเอง ขาดความเชื่อมั่น หรือ เปลี่ยนแปลงทัศนคติไปเลยก็ได้ ถ้าไม่ได้รับการเอาใจใส่ ให้กำลังใจ ถูกตำหนิติเตียน ดูถูกดูแคลน จากครูและเพื่อนๆ ในกลุ่มแรก
  • คนที่ล้มเหลว ไม่ประสบผลสำเร็จ ในการนำความรู้ไปใช้ปฏิบัติ เป็นกลุ่มที่น่าใส่ใจมาก เพราะปกติจะเป็นพวกที่เสียขวัญ ขาดความเชื่อมั่นในตัวเอง และพลอยคิดว่าตนเองด้อยกว่าคนอื่น ไม่มีทางจะทำอะไรสำเร็จเหมือนเขาได้ ทั้งๆที่แท้จริงยังมีศักยภาพด้านอื่น ๆ ที่แฝงอยู่ในคนกลุ่มนี้ เพียงแต่ยังไม่มีโอกาสแสดงออกมาให้เห็นได้ คนกลุ่มนี้หากได้รับการปฏิบัติที่ดีเช่น ให้ความห่วงใย ให้ข้อชี้แนะช่วยเหลือ และให้กำลังใจทั้งจากครูผู้สอนและเพื่อน ๆ ก็อาจพัฒนาความรู้ความสามารถให้สูงขึ้นจนประสบความสำเร็จ ได้เช่นกัน เพราะข้อเท็จจริงก็คือทุกคนล้วนมีศักยภาพในตนทั้งสิ้น จะเป็นด้านใด ถูกปิดบังซ่อนเร้นอยู่หรือไม่เท่านั้นเอง
  •        ที่กล่าวมาทั้งหมด จะเห็นได้ว่าจาก S ถึง I ถึง C และ A นั้นเป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นได้ต่อเนื่อง อัตโนมัติ ถ้าหากพลังในขั้น S สูงพอ และจะทำให้เกิดคน 3 กลุ่ม คือ เก่งมาก เก่งปานกลาง และ อ่อน ซึ่งในสภาพสังคมปัจจุบันที่มากไปด้วยการแก่งแย่ง แข่งขัน ชิงดีชิงเด่น นับว่าน่าเป็นห่วง ถ้าปล่อยให้เป็นไปแบบไม่ได้วางแผน กำกับควบคุมให้ดี พวกเก่งก็อาจหลงลืมตัว เชื่อมั่นในตนเองเกินไป ดูถูกเหยียดหยามผู้ด้อยกว่า พวกอ่อนก็จะหมดกำลังใจและ เกิดความรู้สึก แปลกแยก ขาดความเชื่อมั่นในตัวเอง สังคมเล็ก ๆ ที่เรียกว่าชั้นเรียนก็คงจะไม่น่าอยู่ ขาดความรัก ความอบอุ่น ขาดความเป็นกัลยาณมิตร โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าผู้สอนไปหลงชื่นชมเฉพาะคนเก่งด้วยแล้วก็จะยิ่งไปกันใหญ่ การที่กระบวนการเรียนรู้จะก้าว ไปถึงขั้นการทบทวนความรู้ คือ R หรือ Revision จึงดูจะเป็นไปได้ยาก ด้วยเหตุผลที่ว่า คนเก่งจะหลงปลื้ม ลืมตัว ชื่นชมตัวเอง คนอ่อนก็จะหมดกำลังใจ เดินถอยหลังไปเสียแล้ว

    ข้อเสนอแนะ ของผู้เขียนก็คือ การสอดแทรกขั้นตอนที่เป็นตัว S (Self Satisfaction) เข้าไป หลังตัว A โดยที่เมื่อผู้เรียน ประกอบกิจกรรมขั้นนำความรู้ไปใช้ จนเกิดผลงานออกมาแล้ว จะไม่ปล่อยให้เหตุการณ์เป็นไปในลักษณะดังที่ กล่าวมาแล้วข้างต้น แต่ครูจะต้องวางแผนให้เกิดการปฏิบัติต่อกันอย่างสร้างสรรค์ ในหมู่สมาชิกของห้องเรียนนั้น กล่าวคือ ให้คนเก่ง ได้รับการยกย่องตามสมควร ให้คนที่อ่อนหรือมีปัญหาได้รับความเห็นใจ และ การเอาใจใส่ มีการแนะนำแลกเปลี่ยนความรู้ ความคิดเห็น ด้วยความรัก ความเมตตา อย่างที่กัลยาณมิตรพึงกระทำต่อกัน เป็นขั้นตอนที่อาจเรียกโดยสรุปได้ว่า การสร้างความสุข ความพึงพอใจ (Self-Satisfaction) ให้กับทุกคนที่เป็นสมาชิกของกลุ่มนั้น

    สุดท้ายก็ถึงขั้น E (Evaluation) หรือการประเมินความรู้ ในที่นี้หมายถึงการรับรู้ รับฟัง ทางเลือกอื่น ๆ จากครูและสมาชิกของกลุ่ม เป็นการฝึกการยอมรับในตัวผู้อื่น ฝึกให้มีใจกว้าง ไม่พอใจตัวเอง หรือ ผลงานของตัวเอง มากเกินไปจนกลายเป็นความหลงตัวเอง

    ถ้าครูมีความรู้หรือทางเลือกอื่นที่ดีกว่า มีประสิทธิภาพกว่า ก็ให้นำเสนอในขั้นนี้ ชนิดทำให้สะดุ้ง หรือ ตกตะลึงได้ ก็จะเป็นการดี อาการสะดุ้งนี้เองจะทำให้ผู้เรียนได้ฝึกสิ่งสำคัญคือ ไม่หลงตัวเอง ไม่ประมาท แต่จะคุ้นเคยกับการยอมรับ ความรู้ ความคิดอ่านของผู้อื่น เพื่อนำมาเทียบเคียงกับความรู้และประสบการณ์ของตน เมื่อพบว่ามีทางเลือกที่ดีกว่า มีประสิทธิภาพกว่า ก็จะกลายเป็น S ตัวใหม่ให้เขาทบทวน และ ย้อนกลับไปสู่ขั้นตอนของการเรียนรู้ ต่าง ๆ ที่ผ่านมา จะเรียกว่า เป็น Feedback หรือ กระบวนการทบทวน ความรู้ (Revision) ก็ย่อมได้

    " SICAR " จึงแปรสภาพเป็น " RICASE " ด้วยประการฉะนี้.

    …………………………….