เครื่องผสมเสียงไร้สาย ( Wireless Audio Mixer )

         * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *            พินิจ พันธ์ชื่น

          เครื่องผสมเสียงไร้สาย เป็นชื่อที่ผู้เขียนตั้งเอง บางครั้งก็เรียก เครื่องส่ง เอฟ.เอ็ม เอนกประสงค์ ซึ่งหมายถึง สิ่งเดียวกันนั่นเอง กำเนิดครั้งแรกในปี พ.ศ. 2522 โดยใช้ชื่อรุ่นว่า PFX-01 สามารถใช้ไมโครโฟนได้พร้อมกัน 3 ตัว และผสมสัญญาณเสียงจากแหล่งอื่น เช่นเครื่องบันทึกเสียง เครื่องเล่นซีดี เครื่องคอมพิวเตอร์ เครื่องอิเล็กทรอนิกออร์แกน เป็นต้น ได้อีกหนึ่งช่องสัญญาณ สัญญาณแต่ละช่องมีปุ่มปรับระดับความดัง(VOLUME)แยกอิสระจากกันมีปุ่มมาสเตอร์(Master VOLUME) สำหรับควบคุมสัญญาณเสียงที่ผสมแล้ว สัญญาณรวมจะแพร่กระจายออกไปเป็นคลื่นวิทยุ เอฟ.เอ็ม ความถี่ปรับเปลี่ยนได้ตามต้องการ ในย่าน 88-108 MHz. ซึ่งใช้เครื่องเสียงทั่วไปที่มีภาครับ เอฟ.เอ็มรับฟัง เพื่อการขยายเสียง หรือบันทึกเสียงเหล่านั้นได้

เครื่องผสมเสียงไร้สาย(Wireless Audio Mixer) รุ่นดังกล่าว มีปุ่มควบคุม 4 ปุ่ม สวิตช์ 2 ตัว และช่องต่อสัญญาณเข้า – ออก รวม 5 ช่อง แผงวงจรประกอบด้วยทรานซิสเตอร์ 4 ตัวและอุปกรณ์ประกอบอีกจำนวนหนึ่ง ใช้พลังงานจากแบตเตอรี่ 9 โวลต์ ก้อนเดียว ทั้งหมดบรรจุอยู่ในกล่องอลูมิเนียมที่ตัด-ต่อ ประกอบขึ้นเอง ขนาด 10x20x4 เซนติเมตร สามารถใช้เป็นเครื่องผสมเสียงธรรมดา โดยต่อสายนำสัญญาณออกไปเข้าเครื่องขยายเสียงทั่วไปได้ ทั้งระบบใช้สายและระบบไร้สาย สามารถเลือกใช้อย่างหนึ่งอย่างใด หรือทั้งสองระบบพร้อมกันไปก็ได้ นอกจากนี้ได้ออกแบบให้ระบบไร้สายเป็นอิสระจากการควบคุมของปุ่ม MASTER เพื่อป้องกันไม่ให้การปรับเสียง ดัง - ค่อยของระบบใช้สายไปกระทบกระเทือนต่อผู้ที่รับสัญญาณด้วยเครื่องรับวิทยุ หลังจากได้ทดลองสร้าง และเผยแพร่เครื่องผสมเสียงไร้สายรุ่นต่าง ๆ มาหลายปี จนกระทั่งประมาณปี พ.ศ. 2525 จึงได้รูปแบบและวงจรที่พอใจและเหมาะแก่การเผยแพร่ ให้นำไปใช้ประโยชน์กันได้ในวงกว้าง โดยผู้เขียนตั้งชื่อรุ่นนี้ว่า รุ่น PFM-02 เครื่องรุ่นนี้ได้พัฒนาและมุ่งจะให้เป็นอุปกรณ์ที่มีประโยชน์เข้าลักษณะราคาประหยัด ใช้สะดวก เสียยาก ซ่อมง่าย อะไหล่ดี

เครื่องผสมเสียงไร้สายรุ่น PFM-02

เครื่องผสมเสียงไร้สายรุ่น PFM-02 มีคุณสมบัติเด่นดังนี้

1. สามารถใช้เป็นไมโครโฟนไร้สายได้

2. สามารถส่งเสียงไปขยายในเครื่องที่ไม่มีช่องเสียบไมโครโฟนได้

3. ใช้ง่าย เพราะมีปุ่มควบคุมปุ่มเดียวและช่องสัญญาณเข้า เพียง 2 ช่อง แต่ป้อนสัญญาณไฟฟ้าความถี่เสียงจากแหล่งต่าง ๆ ได้กว้างขวาง

4. เมื่อใช้เป็นไมโครโฟนไร้สาย สามารถเพิ่ม–ลดความไวในการรับเสียงเพื่อให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อม ตัดเสียงรบกวนได้ดี หรือจะปรับให้ไวต่อการรับเสียงมากๆก็ได้

5. ถ้าใช้ทำสำเนาเทป สามารถทำได้โดยไม่จำกัดจำนวนม้วนในแต่ละครั้ง ขึ้นอยู่กับจำนวนเครื่องวิทยุเทปที่นำมาใช้

วิธีการใช้

  • ใช้ขยายเสียงพูด ให้เสียบต่อไมโครโฟนเข้าที่จุดรับสัญญาณของเครื่องส่งเปิดเครื่องให้ทำงาน โดยหมุนปุ่มควบคุม (Volume) ตามเข็มนาฬิกาจนได้ยินเสียง "คลิก" เปิดวิทยุ FM อาจเป็นวิทยุกระเป๋าหิ้ว หรือเครื่องเสียงสเตอรีโอในบ้านก็ได้ ปรับหาความถี่คลื่น บริเวณย่าน 107 – 108 MHz. จนรับสัญญาณได้คมชัดที่สุด เสร็จแล้วปรับเสียงดัง-ค่อยตามที่ต้องการ แต่ไม่ควรเปิดให้ดังมากเกินไป เพราะจะทำให้เกิดเสียงหวีดหอนได้
  • ใช้ขยายเสียงจากเครื่องเล่นอื่น ให้ต่อสายนำสัญญาณเข้าที่ช่อง EAR PHONES AUDIO OUT หรือ LINE OUT ของเครื่องเล่น เช่น ซาวด์อเบาท์ วิทยุเทป หรือคอมพิวเตอร์ ปลายอีกด้านหนึ่งต่อเข้ากับเครื่อง PFM-02 ทางช่อง MIC. ปรับ VOLUME ให้มีความดังตามความต้องการ
  • ใช้ในการผสมเสียง (Audio Mixer) ให้เสียบต่อไมโครโฟนเข้าช่อง MIC. ของ PFM-02 เสียบต่อสัญญาณเข้าจากซาวด์อเบาท์ที่ช่อง PHONES หรือ EAR ส่วนปลายอีกข้างหนึ่งต่อเข้าที่ช่อง AUX. ของเครื่อง PFM-02 ใช้ปุ่ม VOLUME ของเครื่องเล่นปรับแต่งเสียง โดยผสมเสียงพูดกับเสียงดนตรีหรือเสียงประกอบอื่น ๆ ตามต้องการ
  • ใช้บันทึกเสียงลงเทป การส่งสัญญาณตามข้อ 1 2 และ 3 สามารถบันทึกเสียงลงในเทปได้ โดยใส่เทปเปล่าเข้าเครื่องวิทยุเทปที่ใช้รับสัญญาณจาก PFM-02 และกดปุ่ม REC+PLAY การบันทึกจะทำพร้อมกันที่ม้วนก็ได้ไม่จำกัดจำนวน ขึ้นอยู่ที่จำนวนเครื่องรับวิทยุเทปที่นำมาใช้ เหมาะสมอย่างยิ่งที่จะทำสำเนาเทปต้นฉบับสู่ม้วนอื่นๆ ได้อย่างรวดเร็วและปราศจากเสียงรบกวนจากภายนอก

    ข้อควรปฏิบัติและการแก้ปัญหาเบื้องต้น

    1. การจับเครื่องควรหลีกเลี่ยงการจับบริเวณขดลวดส่งคลื่น (Coil) ซึ่งอยู่ใกล้ช่อง FREQUENCY ADJ. เพราะจะทำให้การส่งไม่ดี คลื่นจางหายได้

    2. ช่อง FREQUENCY ADJ. มีไว้ปรับคลื่นเครื่องส่ง โดยใช้ไม้เล็ก ๆ กดเพื่อยืดหรือหดขดลวดเข้าออกแต่เพียงเล็กน้อย ก็จะเปลี่ยนความถี่คลื่นส่งได้ ขดลวดชิดกันความถี่จะต่ำลงมา ยิ่งยืดออกความถี่จะยิ่งสูงขึ้น

    3. การเปลี่ยนแบตเตอรี่ ให้ใช้ไขควงแบบหัว 4 แฉก คลายสกรู 2 ตัวออก เสียบแบตเตอรี่ใหม่แทนก้อนเก่า ใส่ให้ถูกขั้ว จัดวางให้เรียบร้อยจึงปิดฝา ขันสกรูยึดให้แน่นหนาตามเดิม

    4. ระวัง เมื่อเลิกใช้เครื่องต้องปิดสวิตช์ทุกครั้ง โดยหมุนปุ่ม VOLUME ทวนเข็มนาฬิกาจนได้ยินเสียง “คลิก” ไม่ควรวางเครื่องใกล้มือเด็ก เพราะถ้าเปิดทิ้งไว้จะทำให้แบตเตอรี่หมดได้

    5. พึงจำจดว่าช่อง MIC. ต่อสัญญาณเข้าได้ทุกอย่าง และสามารถควบคุมเสียงได้ด้วยปุ่ม VOLUME ของ PFM - 02 ส่วนช่อง AUX. จะปรับเสียงด้วย VOLUME ของเครื่องส่งไม่ได้ ความดังมาก – น้อยจึงต้องปรับที่ VOLUME ของเครื่องเล่นนั้น ๆ เท่านั้น

    6. เครื่องรับวิทยุที่นำมาเป็นตัวรับคลื่น และขยายเสียง ให้เปิด VOLUME เร่งเสียงไว้พอประมาณ อาจจะหมุนปรับไว้ครึ่งหนึ่ง หรือมากน้อย ตามความดังสูงสุดที่ต้องการสำหรับปุ่ม VOLUME ของเครื่องส่ง ถ้าเร่งมากและพูดอยู่ใกล้ลำโพงจะเกิดเสียงหวีดหอนได้