All animals all the time
home
Dog
Fish
Cat
Bird
SmallPets
Insects
Shopping


SEARCH

 PET SHOP
 FARM
 โรงเรียนสุนัข
 โรงพยาบาลสัตว์
 ราคากลางสัตว์เลี้ยง
 สินค้าผลิตภัณฑ์
 FOOD

งูพิษในประเทศไทย


จากสภาพภูมิศาสตร์ที่แตกต่างกันมาก ทำให้มีงูอาศัยอยู่ชุกชุมถึง 160 กว่าชนิด ทั้งงูพิษ และงูไม่มีพิษ ซึ่งงูก็ถือได้ว่าเป็นสัตว์ที่มีประโยชน์ทางนิเวศน์วิทยา ช่วยรักษาสมดุลธรรมชาติ ในจำนวนงูที่มีอยู่มากมายนั้นมีงูพิษอันตรายอยู่ 46 ชนิด เป็นงูบก 24 ชนิด งูทะเล 22 ชนิด ซึ่งงูพิษที่สำคัญและน่าสนใจมีดังนี้

งูเห่า (Naja kaouthia)
งูเห่าเป็นงูพิษที่มีอำนาจพิษรุนแรง เป็นอันตรายถึงชีวิต และมีอยู่ชุกชุมทั่วทุกภาค เมื่อถูกรบกวนหรือตกใจจะแผ่แม่เบี้ย และพ่นลมออกมาดังฟู่ฟู่ งูเห่ามีอยู่หลายชนิดด้วยกัน บางชนิดสามารถพ่นพิษได้ไกลถึง 1-2เมตร งูเห่ามีสีสันแตกต่างกัน ตั้งแต่เหลืองนวล น้ำตาล จนกระทั่งดำ

งูจงอาง (Ophiophagus hannah)
งูจงอางเป็นงูพิษที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกที่เคยพบยาวเกือบ 6 เมตร ลักษณะคล้ายงูเห่าแต่หัวโต และยาวกว่ามาก แต่สามารถแผ่แม่เบี้ยได้เช่นกันแต่แม่เบี้ยจะแคบ และยาวกว่า

งูสามเหลี่ยม (Bungarus fasciatus)
เป็นงูที่มีแนวกระดูกสันหลังยกเป็นสันสูง ทำให้ลำตัวคล้ายสามเหลี่ยม สีลำตัวเป็นปล้องดำสลับเหลืองปลายหางกุดทู่ทุกตัว ชอบอาศัยอยู่ในบริเวณที่มีความชื้นสูงเป็นที่ลุ่มใกล้แหล่งน้ำ งูนี้ค่อนข้างจะเฉื่อยชาในเวลากลางวัน แต่จะปราดเปรียวในเวลากลางคืน พบได้ทุกภาคแต่พบมากทางภาคตะวันออก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคใต้ งูสามเหลี่ยมเป็นงูที่มีพิษรุนแรง เป้นอันตรายถึงชีวิต

งูทับสมิงคลา (Bungarus candidus)
งูทับสมิงคลาเป็นงูที่มีรูปร่างคล้ายงูสามเหลี่ยม แต่ตัวเล็กกว่า สีลำตัวเป็นปล้องดำสลับขาวหางยาวเรียวชอบอยู่ในที่ชื้นแฉะ งูทับสมิงคลามีอำนาจพิษรุนแรงมาก พบได้ทางภาคตะวันออก, ภาคอีสานและใต้

งูแมวเซา (Daboia russelli siamensis)
งูแมวเซาเป็นงูพิษรุนแรง กัดแล้วทำให้เลือดออกในอวัยวะภายในต่างๆ ลักษณะตัวอ้วนสั้น หัวเป็นรูปสามเหลี่ยม เมื่อถูกรบกวนจะสูดลมเข้าจนตัวพองแล้วพ่นลมออกมาทางจมูกเป็นเสียงขู่น่ากลัว งูชนิดนี้ฉกกัดได้ว่องไวพบชุกชุมทางภาคกลาง

งูกะปะ (Calloselasma rhodostoma)
งูกะปะเป็นงูขนาดเล็ก หัวเป็นรูปสามเหลี่ยม คอคอดเล็กตัวสีน้ำตาลแดง มีลายรูปสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน สีน้ำตาลเข้ม ตามสองข้างลำตัวกระดูกสันหลังนูนเป็นสัน ชอบขดตัวนอนนิ่งๆ อยู่ใต้กองใบไม้ร่วง หรือพงหญ้ารกตามก้อนหิน ขอนไม้ ไม่ชอบเคลื่อนไหว เวลาตกใตลำตัวจะแผ่แบนราบกับพื้น แต่สามารถฉกกัดได้รวดเร็ว พบได้ทั่วทุกภาคแต่ชุกชุมทางภาคใต้

งูเขียวหางไหม้ (Trimeresurus sp.)
งูเขียวหางไหม้ส่วนใหญ่มักจะมีลำตัวสีเขียวและหางแดง แต่ก็มีงูบางชนิด ที่มีตัวสีเขียวหางแดงแต่เป็นงูไม่มีพิษ เช่น งูเขียวกาบหมาก การตัดสินว่าตัวใดเป็นงูเขียวหางไหม้นั้น ต้องดูที่ส่วนหัว โดยปกติแล้วงูเขียวหางไหม้จะมีหัวค่อนข้างโต คอเล็ก ถ้าสังเกตุจะพบว่าที่ระหว่างรูจมูกกับลูกตาของมัน จะมีร่องลึกๆขนาดใหญ่อยู่ข้างลๆ1ร่อง งูเขียวหางไหม้ชนิดที่มีชุกชุมได้แก่
1.งูเขียวหางไหม้ท้องเหลือง (Trimeresurus albolabris)
ตัวเป็นสีเขียวอ่อน ท้องสีเหลืองหรือสีขาวริมฝีปากเหลือง หางมีสีแดง มักหากินตามต้นไม้หรือตามพื้นดินพบมากทางภาคกลาง มีพิษค่อนข้างรุนแรงเมื่อเทียบกับงูเขียวหางไหม้ด้วยกัน เมื่อกัดแล้ว จะมีอาการปวดอย่างรุนแรง
2.งูเขียวหางไหม้ตาโต (Trimeresurus macrops)
ตัวเป็นสีเขียวแก่ ตาโตสีเหลือง ท้องสีฟ้าหรือสีเขียวคราม หางสีแดงคล้ำ มักพบหากินตามพื้นดิน พบมากทางภาคกลางเช่นเดียวกัน

งูพิษทะเล
งูพิษทะเลมีอยู่ถึง 22 ชนิด ในน่านน้ำไทยพบได้ทั้งด้านอ่าวไทย และทะเลอันดามัน ทุกชนิดจะมีหางแบนเป็นรูปใบพาย เพื่อใช้ในการว่ายน้ำ งูทะเลพบได้ทั้งในทะเลโคลน ทะเลน้ำใส หรือในแนวปะการัง ส่วนใหญ่มักจะหากินอยู่ไม่ไกลฝั่งมากนัก