พระพุทธชินราช

          พระพุทธชินราช    เป็นพระพุทธรูปองค์ประธานปางมารวิชัยขนาดใหญ่  หล่อด้วยทองสัมฤทธิ์ ขนาดตักกว้าง 5 ศอก 1 คืบ 5 นิ้ว สูง 7 ศอก   พระพุทธลักษณะงดงามที่สุดในประเทศ   เส้นรอบนอกพระวรกายอ่อนช้อย พระพักตร์ค่อนข้างกลม พระขนงโก่ง พระเกตุมาลาเป็นรูปเปลวเพลิงมีลักษณะพิเศษที่เรียกว่าทีฒงคุลี คือ ที่ปลายนิ้วทั้งสี่ยาวเสมอกัน ซุ้มเรือนแก้วทำด้วยไม้แกะสลักสร้างในสมัยอยุธยา แกะสลักเป็นรูปตัวมกร  (ลำตัวคล้ายมังกรและมีงวงคล้ายช้าง) อยู่ตรงปลายซุ้มและตัวเหรา (คล้ายจระเข้) อยู่ตรงกลางซุ้ม และมีเทพอสุราคอยปกป้ององค์พระอยู่ 2 องค์ คือ ท้าวเวสสุวัณ และอารวกยักษ์   ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ (รัชกาลที่ 5 )  ทรงสนพระทัยในความวิจิตรตระการตาแห่งองค์พระพุทธชินราช จึงทรงให้จำลองพระพุทธรูปแทนพระพุทธชินราชขึ้นองค์หนึ่งเมื่อปี พ.ศ. 2444   แล้วอัญเชิญพระพุทธรูปจำลองลงไปกรุงเทพฯ  เป็นพระประธานในพระวิหารวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม

           ตำนานพระพุทธชินราช
              การสร้างพระพุทธชินราช ตามตำนานที่มีไว้แล้วแย้งกันเป็น ๒ นัย   นัยหนึ่งว่าสร้างเมื่อราวจุลศักราช ๓๑๙ (พ.ศ. ๑๕๐๐)  แต่อีกนัยหนึ่งกล่าวว่าสร้างเมื่อราวจุลศักราช ๗๑๙ (พ.ศ. ๑๙๐๐)   ตำนานที่อ้างถึงพระพุทธชินราชหล่อขึ้นในจุลศักราช ๓๑๙ (พ.ศ. ๑๕๐๐) นั้น เป็นตำนานที่กล่าวไว้ในพงศาวดารเหนือ  ปรากฏอยู่ในพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๔) ว่าด้วยเรื่องพระพุทธชินราช พระพุทธชินสีห์ และพระศรีศาสดา    และพระราชปรารภของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่๕) เรื่องพระพุทธชินราช ความว่า  "เมื่อพระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎกผู้ครองนครเชียงแสนได้ยกกองทัพลงมาตีเมืองศรีสัชนาลัย ซึ่งมีพระเจ้าพสุจราชปกครองอยู่  ทหารทั้งสองฝ่ายรบราฆ่าฟันกันตายลงเป็นอันมาก มิได้แพ้ชนะกัน     พระพุทธโฆษาจารย์ซึ่งเป็นพระราชาคณะผู้ใหญ่ มีความเศร้าสลดใจในศึกครั้งนี้  จึงเข้าทำการไกล่เกลี่ยให้พระราชาทั้งสองนี้เป็นสัมพันธไมตรีกัน   พระราชาทั้งสองก็ยอมปฏิบัติตาม    พระเจ้าพสุจราชได้ทรงยกพระนางปทุมราชเทวีราชธิดา อภิเษกให้เป็นมเหสีแห่งพระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎก   พระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎกมีพระราชโอรสด้วยพระนางปทุมราชเทวี ๒ พระองค์ ทรงพระนามว่า เจ้าไกรสรราชกับเจ้าชาติสาคร   พระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎกมีพระประสงค์จะป้องกันการรุกรานของชาติขอม ซึ่งขณะนั้นมีอำนาจอยู่ทางละโว้หรืออีกนัยหนึ่งเป็นการแผ่ราชอาณาจักรให้ไฟศาลออกไป   จึงได้สร้างเมืองพิษณุโลกเพื่อให้ราชโอรสขึ้นครองเมือง   ตามพงศาวดารกล่าวว่าได้สร้างเมืองพิษณุโลกเมื่อจุลศักราช ๓๑๕ (พ.ศ. ๑๔๙๖) เมื่อสร้างเสร็จแล้ว พระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎก ได้เสด็จลงมาอภิเษกเจ้าไกรสรราชขึ้นครองเมือง    พระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎกนี้ทรงพระปรีชาสามารถรอบรู้แตกฉานพระไตรปิฎกมาก  จึงได้รับเฉลิมพระนามาภิไธย    ดังนั้น ขณะที่เสด็จประทับอยู่ ณ เมืองพิษณุโลกที่ได้สร้างขึ้นใหม่ ก็มีพระประสงค์จะบำเพ็ญบุญกุศลทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาและให้พระเกียรติศัพท์พระนามปรากฏในภายหน้า จึงตรัสสั่งให้สร้างวัดพระศรีรัตนมหาธาตุขึ้นเป็นวัดคู่กับเมือง   สร้างพระมหาธาตุเป็นรูปปรางค์สูงราว ๘ วา ตั้งกลาง   แล้วสร้างพระวิหารรอบปรางค์ทั้งสี่ทิศ  มีระเบียง ๒ ชั้น   พระองค์ต้องการจะสร้างพระพุทธรูปขึ้น ๓ องค์ เพื่อเป็นพระประธานในพระวิหาร  ในเวลานั้นที่เมืองศรีสัชนาลัย ทั้งสวรรคโลกและสุโขทัย เป็นที่เลื่องลือปรากฏในการฝีมือช่างต่างๆ ทั้งการทำพระพุทธรูปว่าฝีมือดียิ่งขึ้น  จึงมีพระราชสาส์นไปยังกรุงศรีสัชนาลัยเพื่อขอช่างมาช่วยปั้นหุ่นพระพุทธรูป   สมเด็จพระเจ้ากรุงศรีสัชนาลัยจึงส่งช่างพราหมณ์ที่ฝีมือดี ๕ นาย ชื่อบาอินทร์  บาพราหมณ์  บาพิษณุ  บาราชสิงห์ และบาราชกุศล   พระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎกโปรดให้ช่างสวรรคโลกสมทบกับช่างชาวเชียงแสนและช่างหริภุญชัย ช่วยกันหล่อพระพุทธรูปขนาดใหญ่ทั้ง ๓ องค์ มีทรวดทรงสัณฐานคล้ายกัน แต่ประมาณนั้นเป็น ๓ ขนาด คือ
               
พระองค์ที่ ๑   ตั้งพระนามเริ่มไว้ว่า "พระพุทธชินราช" มีขนาดหน้าตักกว้าง ๕ ศอก ๑ คืบ ๕นิ้วเศษ  สูง ๗ ศอก  พระเกศสูง ๑๕ นิ้ว เป็นปางมารวิชัย
               
พระองค์ที่ ๒   ตั้งพระนามเริ่มไว้ว่า "พระพุทธชินสีห์" มีขนาดหน้าตักกว้าง ๕ ศอก ๑ คืบ ๔ นิ้ว เป็นปางมารวิชัย
               
พระองค์ที่ ๓   ตั้งพระนามเริ่มไว้ว่า "พระศรีศาสดา" มีขนาดหน้าตักกว้าง ๔ ศอก ๑ คืบ ๖ นิ้ว เป็นปางมารวิชัย

                  พระศรีธรรมไตรปิฎกทรงเลือกลักษณะอาการตามชอบพระทัยให้ช่างทำคือ สัณฐานอาการนั้นอย่างพระพุทธรูปเชียงแสน ไม่เอาอย่างพระพุทธรูปในเมืองศรีสัชนาลัย สวรรคโลก และเมืองสุโขทัยที่ทำนิ้วสั้นยาวไม่เสมอกันอย่างมือคน ทรงรับสั่งให้ทำนิ้วให้เสมอกันตามที่พระองค์ทราบว่าเป็นพุทธลักษณะ พระลักษณะอื่นๆ ก็ปนอย่างเชียงแสนบ้าง อย่างศรีสัชนาลัยและสวรรคโลก สุโขทัยบ้าง     จวบจนวันพฤหัสบดี ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๔ ปีเถาะ สัปตศก จุลศักราช ๓๑๗ ได้มงคลฤกษ์    กระทำพิธีเททองหล่อพระพุทธรูปทั้ง ๓ องค์ และเมื่อเททองหล่อเสร็จแล้ว กระทำการแกะพิมพ์ออกมา  ปรากฏว่าพระองค์ที่ ๒ คือพระพุทธชินสีห์ และพระองค์ที่ ๓ คือพระศรีศาสดา องค์พระบริบูรณ์ดีมีน้ำทองแล่นติดตลอดเสมอกันสวยงาม ๒ องค์เท่านั้น  ส่วนรูปพระพุทธชินราชนั้น ทองแล่นติดไม่เต็มองค์ ไม่บริบูรณ์   นับว่าเป็นอัศจรรย์ของช่างและผู้มาร่วมพิธีเป็นอันมาก   ช่างได้ช่วยกันทำหุ่นและเททองหล่ออีกถึง ๓ ครั้งก็ไม่สำเร็จเป็นองค์พระได้ คือทองแล่นไม่ติดเต็มองค์  พระจ้าศรีธรรมไตรปิฎกทรงรู้สึกประหลาดพระทัยยิ่งนัก   พระองค์จึงตั้งสัตยาธิษฐานเสี่ยงเอาบุญบารมีของพระองค์เป็นที่ตั้ง อีกทั้งขอให้ทวยเทพเทวดาช่วยดลใจให้สร้างพระพุทธรูปสำเร็จตามพระประสงค์เถิด  แล้วให้ช่างปั้นหุ่นใหม่อีกครั้งหนึ่ง ในครั้งหลังนี้ปรากฏว่ามีตาปะขาวคนหนึ่ง ไม่มีผู้ใดทราบว่าชื่อไรมาจากไหนเข้ามาช่วยปั้นหุ้นและช่วยเททอง ทำการงานอย่างแข็งแรงทั้งกลางวันและกลางคืนจนเสร็จโดยไม่พูดจากับผู้ใด  
             ครั้นได้มหามงคลฤกษ์ ณ วันพฤหัสบดี ขึ้น ๘ ค่ำ เดือน ๖ ปีมะเส็ง นพศกจุลศักราช ๓๑๙ (พุทธศาสนากาลล่วงแล้ว ๑๕๐๐ หย่อนอยู่ ๗ วัน) ก็ประกอบพิธีเททองหล่อพระพุทธชินราช   คราวนี้น้ำทองที่เทก็แล่นเต็มบริบูรณ์ตลอดทั่วองค์พระ  เมื่อแกะพิมพ์ออกหรือกระเทาะหุ่นออกมาก็เป็นที่ประหลาดใจ และตื่นเต้นของชาวพุทธบริษัทเป็นอย่างยิ่ง คือ เมื่อกระเทาะหุ่นออกคราวนี้ ทองแล่นติดเต็มองค์พระงดงามสมบูรณ์ดั่งสวรรค์เนรมิต เนื้อทองสำริดสุกสกาวสดใส งามจนหาที่ติไม่ได้   พระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎกทรงปิติโสมนัสเป็นอย่างยิ่ง จึงตรัสสั่งให้ตาปะขาวผู้มาช่วยปั้นหุ่นและช่วยเททองนั้นมาพบแต่มิได้พบ ปรากฏว่าเมื่อหล่อพระเสร็จแล้วก็เดินทางออกประตูเมืองด้านทิศเหนือ พอถึงหมู่บ้านแห่งหนึ่งก็หายไปไม่มีใครพบเห็นอีก  จึงพากันเข้าใจว่า ตาปะขาวผู้นั้นคือเทพยดาแปลงกายมาหล่อพระพุทธชินราช อันเป็นเหตุทำให้เลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธรูปองค์นี้ยิ่งขึ้น    ตำบลบ้านที่ตาปะขาวหายไปนั้นได้ชื่อว่า "บ้านตาปะขาวหาย" ต่อมาจนถึงทุกวันนี้    ประชาชนส่วนใหญ่จึงพากันเชื่อว่าพระพุทธชินราชองค์นี้น่าจะเป็นเทวดามาสร้างให้เป็นแน่แท้ ถึงได้มีพุทธลักษณะสวยงามที่สุดในแดนสยาม    พระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎก โปรดฯ ให้อัญเชิญเข้าประดิษฐานไว้ในสถานที่ทั้ง ๓ คือ พระพุทธชินราช อยู่ในพระวิหารใหญ่ผันพระพักตร์ไปทางทิศตะวันตก   พระพุทธชินสีห์อยู่ทิศเหนือ และพระศาสดาอยู่ทิศใต้   สำหรับพระวิหารใหญ่ทิศตะวันออกนั้นเป็นที่ฟังธรรมสักการะ  ที่ถวายนมัสการพระมหาธาตุและเป็นที่ชุมนุมสงฆ์  
             อนึ่ง เมื่อเวลาหล่อพระพุทธชินสีห์และพระศรีศาสดาเสร็จแล้วนั้น ทองชลาบและชนวนของพระพุทธรูปทั้ง ๒ องค์ที่เหลืออยู่ พระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎกรับสั่งให้รวมลงในทองซึ่งจะหล่อพระพุทธชินราช หล่อองค์พระใหม่เรียกว่า "พระเหลือ" ส่วนชนวนและชลาบของพระที่เรียกว่าพระเหลือนั้นก็หล่อรูปพระสาวก ๒ องค์ สำหรับพระเหลือนั่นเอง ครั้นเมื่อการหล่อพระเสร็จแล้ว จึงรับสั่งให้เก็บอิฐซึ่งก่อเป็นเตาหลอมและเตาสุม หุ้มหล่อพระทั้งปวงนั้นมาก่อเป็นชุกชี สูง ๓ ศอก และให้ขุดดพินที่อื่นมาผสมกับดินพิมพ์ที่ต่อยจากพระพุทธรูปถมในชุกชีนั้น แล้วทรงปลูกต้นมหาโพธิ์ ๓ ต้น หันตหน้าต่อทิศอุดรแล้วเชิญพระเหลือกับสาวกอีก ๒ องค์เข้าไว้ในที่นั้น ให้เป็นหลักฐานแสดงที่ซึ่งหล่อพระพุทธรูปทั้ง ๓ องค์
              ที่กล่าวมาแล้วนี้เป็นความในพงศาวดารเหนือ ที่ปรากฏอยู่ในพระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระราชปรารภของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ส่วนอีกนัยหนึ่งมีกล่าวว่า สร้างเมื่อประมาณ จุลศักราช ๗๑๙ นั้น เป็นพระวิจารณ์แห่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชนิพนธ์ไว้ในหนังสือ "เที่ยวเมืองพระร่วง" มีความดังต่อไปนี้
              เรื่องตำนานการสร้างเมืองพิษณุโลกและการสร้างพระพุทธชินราช พระพุทธชินสีห์นั้น สอบสวนหลักฐานจะเห็นว่ารูปเรื่องจะเป็นดังกล่าวในพงศาวดารเหนือ แต่พงศาวดารเหนือลงนามเป็นของพระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎกนั้น มิใช่ผู้อื่น คือ พระมหาธรรมราชาลิไท รัชกาลที่ ๔ ในราชวงศ์พระร่วงนั่นเอง    มีเรื่องในศิลาจารึกว่า เมื่อเป็นพระมหาราชครองเมืองศรีสัชนาลัย ก่อนจะได้รับราชสมบัติมีศัตรูยกกองทัพลงมาติดเมืองสุโขทัย ในเวลาที่พระบิดาประชวรหนัก จึงได้ครองราชอาณาจักร ตรงกับที่ว่าพระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎกยกทัพมาติดเมืองสวรรคโลกได้ราชสมบัติในเมืองนั้น และพระมหาธรรมราชาลิไท ทรงรอบรู้พระไตรปิฎกจึงสามารถแต่ง เรื่อง "พระไตรปิฎก" หรือไตรภูมิ ตรงกับที่เรียกว่าพระเจ้าศีธรรมไตรปิฎกมีแต่พระองค์เดียวเท่านั้น
              อีกประการหนึ่งโบราณวัตถุที่สร้างไว้ ณ เมืองพิษณุโลก  เป็นแบบอย่างครั้งกรุงสุโขทัยเมื่อรับลัทธิพระพุทธศาสนาลังกาวงศ์มาแล้ว  ยกตัวอย่างดังเช่น พระพุทธรูป พระชินราช พระชินสีห์ คงจะเชื่อได้ดังกล่าวในพงศาวดารเหนือว่า เป็นประชุมช่างอย่างวิเศษ ทั้งที่มณฑลพายัพและในอาณาเขตสุโขทัยมาให้ช่วยกันถอดแบบอย่าง  แต่พึงสังเกตได้ที่ทำปลายนิ้วพระหัตถ์เท่ากันทั้ง ๔ นั้น  เป็นความคิดที่เกิดขึ้นด้วยวินิจฉัยคัมภีร์มหาปุริสลักขณะกันอย่างถ้วนถี่ในชั้นหลัง  พระพุทธรูปชั้นก่อนหาทำนิ้วพระหัตถ์เช่นนั้นไม่
              ในที่สุดยังมีหลักฐานอีกอย่างหนึ่ง ด้วยในพงศาวดารเมืองเชียงแสนมิได้ปรากฏว่าพระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎก หรือพระเจ้าเชียงแสนองค์ใดได้ลงมาตีเมืองสวรรคโลกเหมือนอย่างกล่าวในพงศาวดารเหนือด้วยมีหลักฐานต่างๆ ดังกล่าวมา จึงสันนิษฐานว่า พระมหาธรรมราชาลิไทเป็นผู้สร้างเมืองสองแควขึ้นเป็นเมืองลูกหลวง และหล่อพระพุทธชินราช พระพุทธชินสีห์เมื่อราว พ.ศ. ๑๙๐๐
 

http://web.school.net.th/bpr44/