เครื่องแยกเนื้อและเปลือกหอยเชอรี่

                (Meat and Shell Golden Apple Snail Separating Machine) 

 วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีสุพรรณบุรี

สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ

สิทธิบัตรเลขที่คำขอ 066001

ทุนอุดหนุนการวิจัย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช)

 เครื่องแยกเนื้อและเปลือกหอยเชอรี่ 

หอยเชอรี่ เป็นสัตว์ศัตรูที่กัดกินทำลายต้นข้าวและพืชน้ำเศรษฐกิจก่อให้เกิดความเสียหายคิดเป็นมูลค่ามหาศาลต่อปี  การกำจัดหอยเชอรี่ด้วยสารเคมีนอกจากจะเสียเงินซื้อสารเคมีแล้วยังมีผลทำให้สิ่งมีชีวิตในน้ำตายอีกด้วย นอกจากนี้ยังเกิดผลกระทบต่อระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อม  ปัจจุบันมีผู้นำหอยเชอรี่มาใช้ประโยชน์มากขึ้น โดยนำมาใช้เป็นอาหารสัตว์และผลิตปุ๋ยอินทรีย์สกัดจากหอยเชอรี่ แต่การใช้หอยเชอรี่ทั้งเนื้อและเปลือกมาทำนั้นมีผลทำให้ผลิตภัณฑ์ข้างต้นมีคุณภาพต่ำกว่าการใช้เนื้อหอย
เพียงอย่างเดียว จากการประดิษฐ์คิดค้นเครื่องแยกเนื้อและเปลือกหอยเชอรี่เมื่อหลายปีที่ผ่านมา คณะผู้ประดิษฐ์คิดค้นได้ปรับปรุงและพัฒนาตลอดเวลาจนได้เครื่องจักรที่มีความสามารถในการทำงานได้อย่างเต็มที่เป็น
ที่น่าพอใจ (ดูข้อมูลจำเพาะของเครื่อง) โดยได้รับความร่วมมือจากสมาคมครูอาชีวเกษตรแห่งประเทศไทย วิทยาลัยเทคนิคปราจีนบุรี  วิทยาลัยเทคนิคธัญญบุรี โดยมีวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีสุพรรณบุรี เป็นผู้ประสานงาน

หลักการทำงานของเครื่องแยกเนื้อและเปลือกหอยเชอรี่ เมื่อใส่หอยเชอรี่สดลงกระบะรองรับที่ติดตั้งอยู่ด้านบน ตัวหอยจะถูกลำเลียงด้วยเกลียวสว่านที่ติดตั้งอยู่ก้นถังลงสู่แป้นเหล็กทุบเปลือกหอยให้แตกก่อนร่วงลงสู่ลูกกลิ้งหนีบเปลือกหอยให้แตกอีกครั้ง ส่วนของเนื้อและเปลือกจะถูกแยกออกจากกันด้วยตะแกรงเหล็ก โดยเปลือกที่มีลักษณะเป็นแผ่นแบน และมีขนาดเล็กจะลอดผ่านรูตะแกรงลงสู่ภาชนะรองรับ ส่วนเนื้อที่มีลักษณะเป็นก้อนค่อนข้างกลมจะกลิ้งลงสู่เครื่องบดเนื้อหอยให้ละเอียดก่อนลงสู่ภาชนะรองรับ เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ต่อไป โดยในกระบวนการแยกเนื้อและเปลือกจะมีระบบหมุนน้ำหมุนเวียนช่วยทำให้การแยกของเนื้อและเปลือกหอยเชอรี่
ได้สะดวกและเนื้อหอยมีความสะอาดมากขึ้น

 

ข้อมูลจำเพาะ : เครื่องแยกเนื้อและเปลือกหอยเชอรี

อัตราการผลิต  :  ชั่วโมงละ  223.88   กิโลกรัม หรือประมาณ 2.0 ตันต่อวัน 
สัดส่วนการแยก :  หอยเชอรี่สด : เนื้อ : เปลือก  =  100 : 40 : 40
การปนของเปลือกในเนื้อหอย  : 16.4  เปอร์เซ็นต์
ความสูญเสียเนื้อหอย :  5.28  เปอร์เซ็นต์
ขนาดของมอเตอร์  : 2.0  แรงม้า
ขนาดมิเตอร์ไฟฟ้า :  ขั้นต่ำ  15  แอมป์
ขนาดเครื่องจักร :  580 x 1,210 x 1,210  มิลลิเมตร
น้ำหนักรวม :  300  กิโลกรัม
หมายเหตุ :  ข้อมูลอาจเปลี่ยนแปลง โดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า

ติดต่อสอบถามรายละเอียดได้ที่

สมาคมครูอาชีวเกษตรแห่งประเทศไทย 
ที่อยู่ ศูนย์ฝึกอบรมวิศวกรรมเกษตร  ต.บางพูน  อ.เมือง  จ.ปทุมธานี  12000 
โทรศัพท์  0 – 2567 – 6523  โทรสาร  0 – 2567 – 5622
หรือ   โทรศัพท์/โทรสาร  035 – 595 - 056 มือถือ 08 – 9818 - 7299

ชื่อผู้ประดิษฐ์   นิติชัย สุขวิลัย เทพนม เกษมณี  ฤทัยวรรณ สุขเสริม  อนุชิต  แสนชา  ภาณุพงศ์ เพ็ชรปานกัน  นันทศักดิ์  ชินนุรัตน์  สมเกียรติ  แตงวงษ์  กมล  อินสว่าง   สุรศักดิ์  จันทร์รวม จุฑารัตน์  ค้อหล้า วรรณา  เดชวารี  และอุดมศักดิ์  กู้ฉิมชัย        

ครูที่ปรึกษา   สมศักดิ์  เพ็ชรปานกัน  มนูญ  ชำนาญเกษกรณ์  และวนิดา  แอนนัส            

 

 

เครื่องกระจายฟางข้าว

(เครื่องเติมปุ๋ยน้ำในแปลงเกษตรจากฟางข้าว)

 

 วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีสุพรรณบุรี

สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ

สิทธิบัตรเลขที่คำขอ   0403000096

ทุนอุดหนุนการวิจัย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช)

ความสำคัญของปัญหา

          ข้าวเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญทั้งการบริโภคภายในประเทศและส่งออกในตลาดโลก ในปี พ.ศ. 2543 ประเทศไทยผลิตข้าวได้รวม 24.2 ล้านตันข้าวเปลือก ใช้เพื่อการบริโภค ทำพันธุ์ และอื่นๆ ในประเทศรวม 13.6 ล้านตันข้าวเปลือก ส่งออกไปขายในตลาดโลก 9.2 ล้านตันข้าวเปลือก หรือ 6.1 ล้านตันข้าวสาร มีมูลค่า 67,914 ล้านบาท และในปี พ.ศ. 2544 ประเทศไทยผลิตข้าวได้รวม 27 ล้านตันข้าวเปลือก ใช้เพื่อการบริโภค ทำพันธุ์ และอื่นๆ ในประเทศรวม 15 ล้านตันข้าวเปลือก ส่งออกไปขายในตลาดโลก 12 ล้านตันข้าวเปลือก หรือ 7 ล้านตันข้าวสาร มีส่วนแบ่งในตลาดโลกมากที่สุดคิดเป็นร้อยละ 30  หลังจากเก็บเกี่ยวผลผลิตข้าวด้วยรถนวดข้าวแล้ว ส่วนที่เหลือตกค้างอยู่ในแปลงนา คือ ฟางและตอซังข้าวที่มีอยู่ประมาณ 300 - 1,000 กิโลกรัมต่อไร่ เมื่อเน่าเปื่อยสลายตัวแล้วจะให้ธาตุไนโตรเจนประมาณ 6.0 กิโลกรัม ธาตุฟอสฟอรัสประมาณ 1.4 กิโลกรัม ธาตุโปแทสเซี่ยมประมาณ 17.0 กิโลกรัม ธาตุกำมะถันประมาณ 4.0 กิโลกรัม ธาตุแมกนีเซียมประมาณ 1.0  กิโลกรัม และธาตุซิลิกอนประมาณ 50.0 กิโลกรัม ซึ่งธาตุซิลิกอนจะมีส่วนช่วยทำให้ต้นข้าวแข็งแกร่งมีผลทำให้แมลงศัตรูข้าวไม่สามารถเข้าทำลายได้ ดังนั้น จึงมีคำกล่าวที่ว่าฟางและตอซังข้าวที่สลายแล้วช่วยลดการใช้ปุ๋ยเคมีได้ แต่เนื่องจากการทำนาครั้งต่อไปเกษตรกรส่วนใหญ่จะเผาฟางข้าวก่อนที่จะไถนาเตรียมดินเพื่อการปลูกข้าว ด้วยเหตุผลที่ว่าสะดวกในการไถย่ำโดยไม่มีฟางติดผาลไถที่จะทำให้เสียเวลาในขณะปฏิบัติงาน (เสน่ห์,2546)หรือถ้าปล่อยหมักทิ้งไว้ให้เปื่อยยุ่ยต้องใช้เวลานานทำให้เสียเวลามากขึ้นการเผาฟางข้าวนอกจาก
จะทำให้เกิดการสูญเสียฟางและตอซังข้าวซึ่งเป็นอินทรีย์วัตถุที่จะสามารถย่อยสลายกลายเป็นปุ๋ยบำรุงดินให้แก่
ต้นข้าวโดยตรงแล้วความร้อนจากไฟที่ลุกไหม้ยังเป็นอันตรายที่ทำลายจุลินทรีย์ที่เป็นประโยชน์และสิ่งมีชีวิตอื่นๆ
ที่อยู่ในดินอีกด้วยนอกจากนี้กลุ่มควันไฟที่เกิดขึ้นนอกจากจะทำให้เกิดผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมโดยตรงแล้ว (ดวงเดือน, 2542) ยังเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนหลวงดังกรณีตัวอย่างล่าสุดเมื่อวันที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2545 บนถนนหลวงสายเอเชียท้องที่อำเภอวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ได้เกิดอุบัติเหตุรถชนกัน 19 คัน เนื่องมาจากการเผาฟางข้าวและเกิดกลุ่มควันหนาทึบครอบคลุมพื้นที่ และถนนสายดังกล่าวเป็นระยะทางยาวมากกว่า 10 กิโลเมตร ทำให้เกิดความสูญเสียทั้งทรัพย์สิน เวลา

         เครื่องกระจายฟางข้าวได้ออกแบบสร้างและพัฒนา ประกอบด้วย ชุดก้านเหล็กกระจายฟางข้าวที่มีมุมเอียง 45 องศา ชุดล้อยางบดย่ำ  และชุดปั้มน้ำฉีดพ่นปุ๋ยน้ำหมักชีวภาพ   มีส่วนประกอบการทำงาน คือ ต้นกำลังเป็นเครื่องยนต์ดีเซลชนิดสูบเดียวขนาด 11.5 แรงม้า โดยการต่อพูเลย์สายพานจากเครื่องยนต์ต้นกำลังเพื่อขับเพลาพูเลย์สายพานชุดกระจายฟางข้าว และขับชุดปั้มน้ำฉีดพ่นปุ๋ยน้ำหมักอินทรีย์สกัดจากหอยเชอรี่ และการฉุดลากชุดล้อยางเพื่อบดทับให้ตอซังและฟางข้าวล้มระนาบไปในทิศทางเดียวกันทั่วทั้งแปลงนา การทดสอบใช้แปลงนาข้าวที่เก็บเกี่ยวด้วยรถนวดข้าวแล้วเป็นระยะเวลา 1 – 3 วัน ด้วยความเร็วรอบของก้านเหล็กกระจายฟางข้าวที่ระดับ 200, 250, 300, 350 และ 400 รอบต่อนาที   จากการทดสอบ พบว่า    พื้นที่การทำงานของเครื่องจักรในแต่ละความเร็วรอบมีปริมาณพื้นที่กระจายฟาง  ความสม่ำเสมอของฟางข้าว ความสูญเสียของตอซังข้าว และต้นทุนค่าน้ำมันเชื้อเพลิงเหมาะสม คือ ความเร็วที่ 350 รอบต่อนาที จะเห็นได้ว่ามีความสามารถในการกระจายฟางข้าวเฉลี่ย  6.25  ไร่ต่อชั่วโมง ฟางข้าวกระจายได้ทั่วแปลงเฉลี่ยร้อยละ 84.44  ความสูญเสียของตอซังข้าวเฉลี่ยร้อยละ 3.24   มีต้นทุนค่าน้ำมันเชื้อเพลิงเฉลี่ย 5.0 บาทต่อไร่ เมื่อทำงานปีละ 2,400 ชั่วโมง มีเวลาคืนทุน 0.12 ปี   นอกจากนี้ยังช่วยให้เกษตรกรลดต้นทุนค่าใช้จ่ายในการบดย่ำตอซังข้าว และฉีดพ่นปุ๋ยน้ำหมักอินทรีย์สกัดจากหอยเชอรี่อีก 30 – 60 บาทต่อไร่

 

ข้อมูลจำเพาะ : เครื่องกระจายฟางข้าว (Spreader)

อัตราการผลิต  :  ชั่วโมงละ  6.25  ไร่ 
ความเร็วรอบ :  350  รอบต่อนาที
ฟางกระจายทั่วแปลง  : 84.4  เปอร์เซ็นต์
ความสูญเสียตอซังข้าว :  3.24  เปอร์เซ็นต์
ขนาดของเครื่องยนต์  : 11.0  แรงม้า
ขนาดเครื่องจักร : 1,500 x 3,210 x 810  มิลลิเมตร
น้ำหนักรวม :  400  กิโลกรัม
หมายเหตุ :  ข้อมูลอาจเปลี่ยนแปลง โดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า

ติดต่อสอบถามรายละเอียดได้ที่

วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีสุพรรณบุรี 
ที่อยู่ 288 หมู่ 1 ต.ด่านช้าง  อ.ด่านช้าง  จ.สุพรรณบุรี  72180 
โทรศัพท์/โทรสาร 035 – 595 – 055 - 6  มือถือ 08 – 9818 - 7299

ชื่อผู้ประดิษฐ์   นิติชัย สุขวิลัย เทพนม เกษมณี  ฤทัยวรรณ สุขเสริม  อนุชิต  แสนชา 
                         ภาณุพงศ์ เพ็ชรปานกัน  นันทศักดิ์  ชินนุรัตน์  สมเกียรติ  แตงวงษ์   
                         กมล  อินสว่าง   สุรศักดิ์  จันทร์รวม และอุดมศักดิ์  กู้ฉิมชัย        

ครูที่ปรึกษา   สมศักดิ์  เพ็ชรปานกัน  ทองคำ  เพ็ชรปานกัน  มนูญ  ชำนาญเกษกรณ์ 
                       บรรเทิง  เกิดปรางค์  และวนิดา  แอนนัส            

 

 

มีด - วงดาว

(Knife of Round Star)

 

 วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีสุพรรณบุรี

สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ

สิทธิบัตรเลขที่คำขอ  0703000299

ทุนอุดหนุนการวิจัย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช)

ผลการศึกษาวิจัย

การจัดทำงานวิจัยครั้งนี้  มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาประสิทธิภาพและเปรียบเทียบระยะเวลาการทำงานของมีด-วงดาว ชนิดมุมของใบมีดเอียงกับระดับพื้นดิน 0, 15, 30 และ  45 องศา
                โดยกลุ่มตัวอย่างเป็นนักศึกษาวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีสุพรรณบุรี ปีการศึกษา 2550  จำนวน  10 คน ได้มาจากการสุ่มตัวอย่างง่าย (Simple random sampling)  เครื่องมือใช้ในการศึกษา ได้แก่ มีด-วงดาว  ชนิดมุมของใบมีดเอียงระดับพื้นดิน 0, 15, 30 และ  45 องศา กำหนดให้กลุ่มตัวอย่างผ่ากระบอกไม้ไผ่แห้ง คนละ  4  ท่อน  โดยใช้มีด-วงดาว ชนิดมุมของใบมีดเอียงกับระดับพื้นดิน  0, 15, และ  45  องศา อย่างละ 1 ท่อน หลังจากนั้นให้กลุ่มตัวอย่างผ่ากระบอกไม้ไผ่สด คนละ  4 ท่อน โดยใช้มีด-วงดาว ชนิดมุมของใบมีดเอียงกับระดับพื้นดิน  0, 15, 30 และ  45 องศา อย่างละ 1ท่อน เช่นเดียวกัน ตามลำดับ เพื่อให้ได้ไม้ปักชำกิ่งทาบมะม่วงที่มีขนาดความกว้าง  2.0 เซนติเมตร จำนวน  12 อัน พร้อมกับบันทึกเวลาในการทำงานของอุปกรณ์ที่ใช้แต่ละชนิด  เพื่อนำมาวิเคราะห์ข้อมูลโดยการทดสอบค่า ที (t – test)  และวิเคราะห์ความแปรปรวน (ANOVA)
                ผลการศึกษาพบว่า
1. ระยะเวลาในการทำงานของมีด-วงดาว ชนิดมุมของใบมีดเอียงกับระดับพื้นดิน  0, 15, 30 และ  45  องศา  ระหว่าง ไม้ไผ่แห้ง กับไม้ไผ่สด  มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่  .05

             2. ระยะเวลาในการทำงานของมีด-วงดาว  ชนิดมุมของใบมีดเอียงกับระดับพื้นดิน 0, 15, 30 และ  45  องศา  ระหว่างไม้ไผ่แห้ง กับไม้ไผ่สด ไม่มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ .05
            

3. เวลาในการผ่าไม้ไผ่แห้งระหว่าง มีด-วงดาว ชนิดมุมของใบมีดเอียงกับกระดับพื้นดิน  0, 15, 30 และ  45  องศา มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญยิ่งทางสถิติที่ .01
             4. เวลาในการผ่าไม้ไผ่สด ระหว่าง มีด-วงดาว  ชนิดมุมของใบมีดเอียงกับระดับพื้นดิน 0, 15, 30 และ  45  องศา มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญยิ่งทางสถิติที่ .01            
จากการศึกษา พบว่า มีความเป็นไปได้ในการใช้มีด-วงดาวเพื่อผลิตไม้ปักชำกิ่งทาบมะม่วงจากกระบอกไม้ไผ่ชนิดมุมของใบมีดเอียงกับระดับพื้นดิน  45  องศา จะมีประสิทธิภาพในการทำงานสูงสุดโดยสามารถผลิตไม้ปักชำกิ่งทาบมะม่วงที่ได้มีความสม่ำเสมอ ทำให้มีรายได้มากกว่า และใช้ระยะเวลาคืนทุนที่เร็วกว่า เมื่อเปรียบเทียบกับมีด-วงดาว ชนิดมุมของใบมีดเอียงกับระดับพื้นดิน 0, 15  และ  30  องศา
วิธีการใช้งานของมีด-วงดาว
          ตัดไม้ไผ่เป็นท่อนๆ มีขนาดความยาวประมาณ  100  เซนติเมตร วางท่อนไม้ไผ่บนแผ่นเขียงไม้ แล้ววางคมของมีด-วงดาว  ลงบนกระบอกไม้ แล้วกระแทกลงบนแผ่นเขียงไม้รองรับการกระแทก  กระแทกประมาณ  10  ครั้งต่อท่อน จนสุดแล้วค่อยๆ ปล่อยออกจากกัน โดยระมัดระวังอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นได้  เมื่อได้ชิ้นงานแล้วนำมาเก็บรายละเอียดให้เรียบร้อย  เมื่อทำงานเสร็จแล้วให้สะอาดอุปกรณ์ให้เรียบร้อย
การบำรุงรักษามีด-วงดาว
        เมื่อใช้อุปกรณ์เสร็จแล้วควรทำความสะอาดให้เรียบร้อย เก็บใส่กล่องให้เรียบร้อย  ควรเช็คความแข็งแรงและความสะอาดอยู่เสมอ
การประกันคุณภาพ ประกันความเสียหายหรือข้อบกพร่องจากการประดิษฐ์นาน 1 ปี

            
ราคาจำหน่าย : ราคา  850  บาท (ขนาดใบมีดชุดต่างๆ ชุดละ 500 บาท)

สนใจติดต่อสอบถาม :    วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีสุพรรณบุรี
288 หมู่ที่ 1 ตำบลด่านช้าง อำเภอด่านช้าง จังหวัดสุพรรณบุรี 72180

                         โทร. 0-3559-5056, 08-9818-7299
            

ข้อมูลจำเพาะ : มีด-วงดาว

อัตราการกระแทก  :  กระแทกเพื่อผ่าไม้ไผ่เฉลี่ย  9 ครั้งต่อท่อน
ความเร็วการผ่าไม้ไผ่ :  การผ่ากระบอกไม้ไผ่เฉลี่ย  9.08  วินาทีต่อท่อน
จำนวนชิ้นไม้ที่ได้  : ชิ้นไม้ที่ผ่าได้เฉลี่ย  112.78  ชิ้นต่อนาที 
คุณภาพของไม้ที่ผลิตได้ :  คุณภาพไม้ที่ได้อยู่ในระดับดี 
ราคา  : ราคาอุปกรณ์ชิ้นละ  850  บาท 
ขนาด : 200 x 910 x 140  มิลลิเมตร
น้ำหนักรวม :  2 - 4  กิโลกรัม
หมายเหตุ :  ข้อมูลอาจเปลี่ยนแปลง โดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า

ติดต่อสอบถามรายละเอียดได้ที่

วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีสุพรรณบุรี 
ที่อยู่ 288 หมู่ 1 ต.ด่านช้าง  อ.ด่านช้าง  จ.สุพรรณบุรี  72180 
โทรศัพท์/โทรสาร 035 – 595 – 055 - 6  มือถือ 08 – 9818 - 7299

ชื่อผู้ประดิษฐ์   นิติชัย  สุขวิลัย  เทพนม เกษมณี  วรรณา  เดชวารี  จุฑารัตน์  ค้อหล้า 
                     ภาณุพงศ์  เพ็ชรปานกัน ไพรินทร์ เพ็ชรปานกัน  และกิตติ  จ้อยทองมูล        
ครูที่ปรึกษา      สมศักดิ์  เพ็ชรปานกัน  ทองคำ  เพ็ชรปานกัน  บรรเทิง  เกิดปรางค์                     
                         ศศิยา  ยุบรัมย์  จารุวรรณ  วงเวียน  มนูญ  ชำนาญเกษกรณ์ สมชาย 
                         มัจฉา  จิราภรณ์  อ่ำแจ้ง  และวนิดา  แอนนัส