| กลับหน้าแรก | ประวัติ | คณะผู้บริหาร | บุคลากร | ข้อมูลพื้นฐาน| นโยบาย 7 ปีทอง |

         การพัฒนากิจกรรมการเรียนรู้อย่างเป็นระบบโดยใช้กระบวนการวิจัย
                                                                                                           *ดร.สมหวัง บุญสิทธิ์ ศน.สปจ.ขอนแก่น


             บนถนนของการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ในระบบโรงเรียน ครูจึงเปรียบเสมือนกุญแจสำคัญที่จะนำไปสู่ความสำเร็จ เป็นทั้งผู้วางแผนออกแบบการเรียนรู้ ผู้อำนวยความสะดวก ผู้ให้คำปรึกษา และอื่นๆอีกมากมาย แต่ทั้งนี้จะต้องอยู่บนพื้นฐานความเชื่อที่ว่า"ผู้เรียนทุกคนมีความสามารถเรียนรู้และพัฒนาตนเองได้" ครูหลายคนอาจตั้งคำถามในใจว่า นี่เป็นครูในอุดมคติหรือเปล่า? แล้วมีใครทำได้หรือยัง ? ในฐานะที่ผู้เขียนเป็นศึกษานิเทศก์ขอยืนยันว่าพฤติกรรมเหล่านี้มีครูจำนวนไม่น้อยที่ปฏิบัติอยู่แล้วจนเป็นกิจนิสัย ตัวอย่างเช่นครูวิทยาศาสตร์ที่ปฏิรูปกระบวนการเรียนรู้โดยวิธีโครงงาน หรือครูที่จัดการเรียนรู้ควบคู่กับปฏิบัติการวิจัยในชั้นเรียนอย่างไรก็ตาม โดยธรรมชาติของผู้ที่เป็นครู เราเชื่อว่าท่านมีความปรารถนาดีต่อศิษย์ อยากให้ศิษย์ทุกคนเป็นคนดี คนเก่ง และสามารถอยู่ในสังคมอย่างเป็นสุข และเราก็มั่นใจว่าครูทุกคนมีศักยภาพที่จะทำสิ่งเหล่านี้ได้ ดังนั้นเพื่อพัฒนางานของเราให้สมกับคำว่าครูเป็นวิชาชีพชั้นสูง (Professional) จึงนำแนวทางที่คนทั่วไปยอมรับว่าเป็นสากล และครูปฏิบัติอยู่แล้ว มาย้ำเตือนใจให้ได้หยุดคิดและนำไปปฏิบัติอย่างเป็นกิจนิสัย


             ปัจจุบันการวิจัยเป็นวิธีหนึ่งที่ครูนิยมนำมาใช้ในการพัฒนากระบวนการเรียนรู้และสร้างองค์ความรู้สำหรับตนเองและผู้เรียน เพียงแต่ไม่กล้าบอกว่าสิ่งที่ทำนั่นคือการทำวิจัยในชั้นเรียน เพื่อให้ท่านมั่นใจว่าสิ่งที่ทำไปแล้วถูกต้อง เหมาะสมและน่าเชื่อถือ ขณะเดียวกันสำหรับผู้ที่ไม่เคยทำวิจัยมาก่อนก็จะได้พัฒนาไปพร้อมๆ กัน การวิจัยเพื่อพัฒนาการเรียนรู้ เป็นการวิจัยที่ครูทำในขณะจัดกิจกรรมการเรียนรู้แก่ผู้เรียนซึ่งอาจเป็นการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นกับผู้เรียนหรือพัฒนาผู้เรียนให้มีคุณภาพยิ่งขึ้น ด้วยเหตุนี้จึงมุ่งหวังให้ครูทำวิจัยควบคู่ไปกับจัดกิจกรรมการเรียนรู้ตามปกติมากกว่าการทำวิจัยในลักษณะวิทยานิพนธ์ของนักศึกษาปริญญาโท หรืออาจารย์ในมหาวิทยาลัย

           การรู้จักผู้เรียน: จุดเริ่มต้นการพัฒนา
            การแก้ไข ปรับปรุงหรือพัฒนางานใดๆ ก็ตาม ต้องเริ่มต้นด้วยการเข้าใจและมองเห็นปัญหาของงานอย่างชัดเจน ในกระบวนการจัดการศึกษาเราถือว่าผู้เรียนสำคัญที่สุด ดังนั้นการปฏิบัติงานของครูจึงต้องเริ่มจากการรู้จักผู้เรียนการรู้จักผู้เรียนหรือการวิเคราะห์ผู้เรียน เป็นสิ่งแรกที่ครูต้องทำเช่นเดียวกับแพทย์ก่อนจะรักษาคนไข้ต้องศึกษาข้อมูลภูมิหลัง สอบถามอาการเจ็บป่วยแล้วจึงวินิจฉัยและให้การรักษาตามลำดับในทำนองเดียวกันเราคงไม่สบายใจถ้าแพทย์คนใดเพียงแต่เห็นหน้าคนไข้แล้วจัดยาให้โดยไม่สอบถามอาการ สำหรับครูแล้วการวิเคราะห์ผู้เรียนยิ่งสำคัญเพราะนักเรียนมีจำนวนมากและแตกต่างกัน แต่หลายคนอาจแย้งว่า "ครูรู้จักศิษย์อยู่แล้ว ทำไมต้องวิเคราะห์ให้ยุ่งยาก เสียเวลา" แน่นอนคงไม่มีใครโต้เถียง แต่อย่าลืมว่านั่นเป็นการรู้จักผู้เรียนในภาพรวมๆ เท่านั้น ซึ่งในสภาพการจัดกิจกรรมแก่ผู้เรียนนั้น มีประเด็นแยกย่อยมากมาย ดังนั้นเมื่อครูขาดรายละเอียดข้อมูลเกี่ยวกับนักเรียน ทำให้วางแผนออกแบบกิจกรรมไม่เหมาะสมกับสภาพผู้เรียน หรือที่เรียกว่า "การจัดกิจกรรมการเรียนรู้แบบรวมมิตร มาม่า ยำยำ หรือไวไว" ปรากฏการณ์ลักษณะนี้มีให้เห็นทั่วไปในวงการศึกษาบ้านเรา เช่น ในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ เรื่องท้องถิ่นของเรา ก็จะเหมือนกันเกือบทั่วประเทศโดยอาศัยแบบฝึกจากสำนักพิมพ์ เป็นต้น

           การรู้จักผู้เรียน โดยปกติจะวิเคราะห์ผู้เรียนแต่ละคนใน 3 ด้าน คือ
            ด้านการรู้คิด (Cognitive) ได้แก่ ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน ฯลฯ
            ด้านคุณลักษณะที่พึงประสงค์(Affective) ได้แก่ ความมีวินัย ควบคุมอารมณ์ ฯลฯ
            ด้านทักษะการปฏิบัติ(Psychomotor) ได้แก่ ทักษะการใช้อุปกรณ์/เครื่องมือ ฯลฯ
            การจะวิเคราะห์พฤติกรรมใดบ้างในแต่ละครั้งนั้นขึ้นกับจุดประสงค์การเรียนรู้ เนื้อหาสาระที่กำหนดในหลักสูตร          ทั้งนี้โดยใช้เครื่องมือง่ายๆ น่าเชื่อถือ และมีหลักฐานร่องรอยสามารถตรวจสอบได้ เช่น ข้อมูลจากการวิเคราะห์เอกสารประจำชั้น ป.02 รบ3 รบ4 ระเบียนสะสม การตรวจแบบฝึกหัด/ผลงานนักเรียน การใช้แบบสังเกต แฟ้มพัฒนางาน แบบทดสอบ ฯลฯ
เมื่อทราบพฤติกรรมที่เป็นปัญหาของนักเรียนแล้ว(รายบุคคล กลุ่ม ทั้งชั้น) ขั้นตอนต่อเนื่องคือการวิเคราะห์หาสาเหตุของปัญหาที่แท้จริง ซึ่งส่วนใหญ่นิยมใช้วิธีวิเคราะห์เชิงระบบ ยกตัวอย่าง ปัญหา "นักเรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนด้านอ่านจับใจความต่ำ"
วิเคราะห์สาเหตุเชิงระบบ ดังนี้ ปัจจัย : ขาดสื่อ นักเรียนเจคติไม่ดี ครูไม่จบวิชาเอกภาษาไทย ฯลฯ กระบวนการ : ครูขาดเทคนิคการสอน สอนไม่ใช้สื่อ นักเรียนไม่ได้ปฏิบัติจริง ฯลฯ

                                        การออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้
        เมื่อรู้ปัญหานักเรียนและสาเหตุของปัญหาที่แท้จริงแล้ว หน้าที่หลักของครูคือการคิดค้น แสวงหานวัตกรรมมาแก้ไข ปรับปรุงหรือพัฒนา เพื่อให้ปัญหาเหล่านั้นทุเลา หมดสิ้นไป คำถามที่ครูถามเสมอคือ จะหานวัตกรรมได้ที่ไหน รู้ได้อย่างไรว่านวัตกรรมนั้นดี
คำตอบก็คือ นวัตกรรมที่ดี สำเร็จรูปเหมือนบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปคงไม่มีดังที่กล่าวมาแล้ว แต่ก็พอจะปรับปรุง พัฒนาและคิดค้นจากสิ่งที่มีคนเคยทำหรือแหล่งการเรียนรู้ต่างๆ เช่น เอกสารทางวิชาการที่หน่วยงานจัดส่งให้ ผลงานทางวิชาการของเพื่อนครู เอกสารตำราในห้องสมุด สอบถามผู้รู้ หรือภูมิปัญญาไทย เป็นต้น ซึ่งคิดว่าคงมีนวัตกรรมที่สามารถนำมาแก้ไขปัญหาหนึ่งๆ อย่างมากมาย แต่การจะเลือกใช้นวัตกรรมใดนั้นมีเกณฑ์ที่ควรนำมาพิจารณา คือ
            1.มีความน่าเชื่อถือ สามารถแก้ปัญหาได้และควรมีทฤษฎีหรือหลักการรองรับ
            2.นำไปใช้ได้ในสถานการณ์จริง
            3.มีการสร้างและพัฒนาตามหลักการอย่างเป็นระบบ
            4.มีคุณลักษณะตรงกับข้อจำกัดและปัจจัยเอื้อของครู หรือโรงเรียน
            5.สอดคล้องกับแนวปฏิรูปกระบวนการเรียนรู้ที่ยึดผู้เรียนเป็นสำคัญ
            เมื่อเลือกนวัตกรรมแล้ว ครูต้องศึกษา วิเคราะห์หลักสูตรจากนั้นจึงสร้างและพัฒนานวัตกรรมให้สอดคล้องกับจุดประสงค์การเรียนรู้และสาระที่กำหนดในหลักสูตรสำหรับขั้นตอนการพัฒนานวัตกรรมนั้น มีวิธีการที่หลากหลายตามลักษณะและประเภทของนวัตกรรม แต่โดยส่วนใหญ่มักจะดำเนินงานเป็นขั้นตอน ดังนี้
            1.ศึกษาทฤษฎี แนวคิดหรือหลักการเกี่ยวกับนวัตกรรมนั้นๆ เพื่อจะได้มั่นใจว่านวัตกรรมที่เราเลือกใช้เหมาะสมกับการแก้ปัญหา รวมทั้งสามารถพัฒนานวัตกรรมได้อย่างมีคุณภาพ
            2.ออกแบบนวัตกรรม เป็นการวางโครงสร้างเชิงกายภาพและเชิงเทคนิควิธีว่า นวัตกรรมที่สร้างขึ้นนั้น โดยภาพรวมมีลักษณะอย่างไร จะนำไปใช้ช่วงเวลาใดของการจัดกิจกรรม
            3.สร้างนวัตกรรมและตรวจสอบคุณภาพ ซึ่งมีหลายขั้นตอน แต่อย่างน้อยที่สุดควรตรวจสอบความตรงเชิงเนื้อหาของนวัตกรรมโดยผู้เชี่ยวชาญประมาณ 3-7 คน
            อย่างไรก็ตาม ในกรณีเป็นนวัตกรรมประเภทอุปกรณ์ วัสดุ ครูต้องพัฒนาแผนการใช้นวัตกรรมหรือแผนการสอนควบคู่กันไป ตลอดจนเครื่องมือที่ใช้ตรวจสอบประสิทธิภาพของนวัตกรรม เช่น แบบทดสอบ แบบสังเกต แบบสอบถาม แบบวัดความคิดเห็น ฯลฯ ซึ่งเครื่องมือวัดผลเหล่านี้ครูต้องเลือกใช้ให้เหมาะสม โดยยึดหลักการที่ว่า "วัดหลายๆ ครั้งและหลากหลายเครื่องมือ(ที่มีคุณภาพ)"

                                        การจัดกระบวนการเรียนรู้
             การเตรียมการที่ดีงานย่อมสำเร็จไปแล้วกว่าครึ่งหนึ่ง การพัฒนาผู้เรียนก็เช่นเดียวกัน ก่อนจะดำเนินการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ ครูต้องรู้จักผู้เรียน พัฒนานวัตกรรม พัฒนาเครื่องมือตรวจสอบประสิทธิภาพนวัตกรรม และวางแผนนำนวัตกรรมไปใช้ ดังนั้นในขั้นตอนนี้จึงเป็นการจัดกิจกรรมตามแผนการสอนที่วางไว้ซึ่งอาจมีการปรับเปลี่ยนกิจกรรมบ้างในบางครั้งเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดแก่ผู้เรียนขณะเดียวกันครูควรทำหน้าที่เก็บรวบรวมข้อมูลวิเคราะห์ข้อมูลควบคู่กันไปในระหว่างการจัดกระบวนการเรียนรู้โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเป็นข้อมูลเชิงคุณภาพที่ได้จากการสังเกต สนทนา และตรวจสอบร่องรอยหลักฐานจากบุคคลหลายฝ่าย

                                         การตรวจสอบผลการเรียนรู้
             เป้าหมายของการพัฒนากระบวนการเรียนรู้ คือ ผู้เรียนมีความรู้ความสามารถ มีทักษะ มีคุณลักษณะที่พึงประสงค์ และดำรงชีวิตอยู่ในสังคมอย่างมีความสุข ด้วยเหตุนี้เมื่อมีการนำนวัตกรรมที่พัฒนาขึ้นมาใช้ ต้องตรวจสอบว่าผู้เรียนบรรลุตามเป้าหมายหรือเปล่า ซึ่งมีวิธีการตรวจสอบหลายวิธี เช่น
            -เปรียบเทียบผลต่างที่เกิดกับผู้เรียนระหว่างก่อน-หลังใช้นวัตกรรม
            -พิจารณาผลที่เกิดกับผู้เรียนเมื่อเทียบกับเกณฑ์
            แต่การจะเลือกใช้วิธีใดนั้น ควรวิเคราะห์และแปลผลข้อมูลอย่างง่ายๆ ให้สาระและ สื่อความหมายในสิ่งที่ต้องการศึกษาค้นคว้าได้ดี เช่น ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ความถี่ ฯลฯ

                                        การนำเสนอ เผยแพร่ผลการพัฒนา   
            การจัดกระบวนการเรียนรู้ดังที่กล่าวมาข้างต้น เป็นกิจกรรมที่ครูดำเนินการตามปกติระหว่างการปฏิบัติงานในหน้าที่ ด้วยเหตุนี้สิ่งที่คิดพัฒนาและนำไปปฏิบัติในห้องเรียนย่อมเกิดผลกับผู้เรียนโดยตรง นำมาซึ่งความภาคภูมิใจของครู ผู้บริหาร และความศรัทธาของผู้ปกครองและสังคม
            ดังนั้นครูในฐานะผู้ประสบผลสำเร็จในการพัฒนากระบวนการเรียนรู้ สมควรเผยแพร่ข้อค้นพบหรือนวัตกรรมที่มีคุณค่าเหล่านี้สู่สาธารณชนและเพื่อนครู สิ่งสำคัญเอกสาร หลักฐานที่จัดกระทำอย่างเป็นระบบเช่นนี้ ยังสามารถนำไปใช้อ้างอิงเพื่อประโยชน์ในการกำหนดมาตรฐานตำแหน่งที่สูงขึ้น สำหรับรูปแบบการนำเสนอผลการพัฒนามีหลายรูปแบบ เช่น การนำเสนอในลักษณะงานวิจัยของนักศึกษา ระดับบัณฑิตศึกษา นำเสนอในลักษณะแฟ้มพัฒนางาน หรือนำเสนอในลักษณะสรุปประเด็นย่อๆเพียง 1-2 หน้า ทั้งนี้ขึ้นกับข้อจำกัดของครูแต่ละคน

             จากที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ คงจะเห็นแนวทางพัฒนาการจัดกระบวนการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับผู้เรียนโดยใช้กระบวนการวิจัย ซึ่งสอดคล้องกับแนวปฏิรูปการเรียนรู้ตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 และที่สำคัญการพัฒนาอย่างเป็นระบบเช่นนี้ย่อมนำมาซึ่งความสำเร็จและความภาคภูมิใจในวิชาชีพของตนเอง


                                                              เอกสารอ้างอิง
             กรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ. การพัฒนาการเรียนรู้ด้วยการวิจัย. กรกฎาคม, 2543 .สมหวัง บุญสิทธิ์. "การวิจัยในชั้นเรียน vs แฟ้มพัฒนางานสู่มาตรฐานวิชาชีพครู". ชมครูวิทยาศาสตร์. 1(2) : 31-33, เมษายน - มิถุนายน, 2543.

                                                               กลับเมนู