ประวัติองค์พระประโทนเจดีย์

พระประโทนเจดีย์ เป็นเจดีย์ที่มีความสำคัญและมีชื่อเสียงเลื่องลือ เป็นที่ปรากฏตั้งแต่สมัยโบราณ จากอมตะวรรณกรรมของสุนทรภู่ ได้บรรยายตำนานเกี่ยวกับพระประโทนเจดีย์ ไว้ในนิราศ พระประธม-พระประโทน ตอนหนึ่งว่า

เอาพานทองรองประสูติพระบุตรา
กระทบหน้าแต่น้อยน้อยเป็นรอยพาน
พอโหรทายร้ายกาจไม่พลาดเพลี่ยง
ผู้ใดเลี้ยงลูกน้องจะพลอยผลาญ
พญากงส่งไปให้นายพราน
ทิ้งที่ธารน้ำใหญ่ยังไม่ตาย
ยายหอมรู้จู่ไปเอาไปเลี้ยง
แกรักเพียงลูกรักไม่หักหาย
ใครถามไถ่ไม่แจ้งให้แพร่งพราย
ลูกผู้ชายชื่นชิดสู้ปิดบัง
ครั้นเติบใหญ่ได้วิชาตะปะขาว
แกเป็นชาวเชิงพนมอาคมขลัง
รู้ผูกหญ้าพยนต์มนต์จังงัง
มีกำลังลือฤทธิ์พิสดาร
พญากงลงมาจับก็รับรบ
ติดกระทบทัพย่นถึงชนสาร

ฝ่ายท้าวพ่อมรณาพญาพาน
จึงได้ผ่านพบผดุงกรุงสุพรรณ
เข้าหาพระมเหสีเห็นมีแผล
จึงเล่าแต่ความจริงทุกสิ่งสรรพ์
เธอรู้ความถามไถ่ได้สำคัญ
ด้วยคราวนั้นคนเขารู้ทุกผู้คน
ครั้นถามไถ่ยายหอมก็ยอมผิด
ด้วยปกปิดปฏิเสธด้วยเหตุผล
เธอโกรธฆ่ายายนั้นวายชนม์
จึงให้คนก่อสร้างพระปรางค์ประโทน

ตามนิยายปรัมปรากล่าวถึงมูลเหตุการสร้างพระประโทนเจดีย์นี้ว่า พญาพาน ได้สร้างขึ้นโดยมีเรื่องว่า เมื่อพญากงได้ครองเมืองศรีวิชัย คือ เมืองนครปฐมในปัจจุบันนี้ สืบต่อจากพระเจ้าสิการาชผู้เป็นพระราชบิดาแล้ว ต่อมาได้พระราชบุตรประสูตแต่พระมเหสีองค์หนึ่ง โหรได้ถวายคำพยากรณ์ พระราชกุมาร ว่าจะเป็นผู้มีบุญญาธิการมาก จะได้ครองราชสมบัติ เป็นกษัตริย์ต่อไปในภายหน้า แต่ว่าพระราชกุมารนี้จะกระทำปิตุฆาต คือ ฆ่าพ่อ เมื่อพญากงได้ทราบดังนั้น จึงรับสั่งให้ราชบุรุษ พา พระราชกุมารไปฆ่าทิ้งเสียในป่า ราชบุรุษจึงนำไปทิ้งไว้ที่ป่าไผ่ ที่ไร่ของยายหอม ยายพรมไปพบพระราชกุมาร จึงเก็บมาเลี้ยงไว้ แต่ยายพรมมีลูกหลานมาก จึงยกพระราชกุมารให้ยายหอมไปเลี้ยงไว้ ยายหอมได้เลี้ยงพระราชกุมาร แล้วนำไปให้เจ้าเมืองราชบุรีเลี้ยงเป็นบุตรบุญธรรม แต่เมืองราชบุรีเป็นเมืองขึ้นของเมืองศรีวิชัย อยู่ภายหลังพระราชกุมารเติบโตขึ้น ได้แข็งเมืองไม่ยอมส่งบรรณาการ และได้ท้ารบกับพระยากง จนได้ชนช้างกัน เมื่อฆ่าพญากงสำเร็จแล้วได้เข้าเมืองศรีวิชัย เวลานั้นพระมเหสีของพญากงซึ่งเป็นพระชนนีของพญาพาน ยังมีพระชนม์อยู่ กล่าวกันว่ารูปโฉมสวยงาม พญาพานคิดอยากได้เป็นมเหสี ได้เสด็จเข้าไปที่ตำหนัก เทพยดาได้แปลงเป็นแพะบ้าง บ้างก็แปลงเป็นแมวแม่ลูกอ่อน นอนขวางบันไดปราสาทอยู่ เมื่อพญาพานข้ามสัตว์ทั้งสองนั้นไป สัตว์จึงพูดกับแม่ว่าท่านเห็นเป็นเดรัจฉานจึงข้ามไป แม่ตอบลูกว่า นับประสาอะไรกับเราเป็นสัตว์เดรัจฉาน แต่มารดาของท่าน ท่านยังจะเอาเป็นเมีย พญาพานได้ฟังดังนั้นก็ประหลาดพระทัยนัก จึงทรงตั้งอธิษฐานว่า ถ้าพระมเหสีของพระยากงเป็นพระมารดาของเราจริงแล้ว ขอให้น้ำนมหลั่งออกจากถันทั้งสองข้างให้ปรากฏ ถ้าไม่ใช่พระมารดาของเราก็ขออย่าให้น้ำนมไหลออกมาเลย พญาพานตั้งอธิษฐานแล้ว น้ำนมได้หลั่งออกมาจากถันเป็นที่ประจักษ์แก่สายตา พญาพานจึงได้ไต่ถาม ได้ความว่าเป็นพระมารดาจริงแล้ว ก็ทรงดื่มกินน้ำนม และทรงทราบว่าพญากงเป็นพระราชบิดา จึงโกรธยายหอมว่า มิได้บอกให้ตนทราบว่าเป็นบุตรใคร จนได้ทำบาปถึงฆ่าพ่อ แล้วได้ไปเรียกยายหอมมา แล้วจับยายหอมฆ่าเสีย คนทั้งปวงจึงเรียกพระราชกุมารว่า พญาพาน เพราะไม่รู้จักคุณคนก็มี เรียกพญาพานเพราะเมื่อเวลาเกิดนั้น พระพักตร์กระทบพานทองเป็นแผลก็มี เมื่อพญาพานฆ่ายายหอมแล้ว รู้สึกเสียพระทัย ว่าฆ่าผู้มีพระคุณเสียแล้วอีกคนหนึ่ง จึงได้ถามสมณพราหมณาจารย์ว่าจะทำอย่างไร จึงจะล้างบาปในการฆ่าพระราชบิดาและฆ่ายายหอม ผู้ที่ได้เลี้ยงตนมาแต่เยาว์วัย พระสงฆ์ก็ได้ถวายพระพรว่า ให้สร้างเจดีย์สูงแค่นกเขาเหิน จึงได้สร้างพระปฐมเจดีย์ขึ้นเพื่อล้างบาปที่ฆ่าพ่อ และสร้างพระประโทณเจดีย์ขึ้นเพื่อล้างบาปที่ฆ่ายายหอม ตั้งแต่นั้นมา


ตามตำนานที่กล่าวมารู้สึกเป็นนิยายพื้นเมืองที่ได้เล่าลือกันมาเพื่อเป็นเครื่องเชื่อมโยงเรื่องราวให้ปะติดปะต่อกัน นับว่าเป็นประโยชน์ดีอยู่ ในตำนานพระอารามหลวง ยังได้เขียนบอกชื่อผู้ที่สร้างวัดประโทณเจดีย์ และวัดพระปฐมเจดีย์ว่า พญาพานเป็นผู้สร้าง แต่จะเป็นผู้ใดสร้างนั้น เมื่อไม่ปรากฏหลักฐานทางจดหมายเหตุ นักโบราณคดีจึงสันนิษฐานว่าผู้สร้างต้องเป็นกษัตริย์ ที่ทรงศักดานุภาพ และมีศรัทธาแก่กล้าในพระพุทธศาสนาเป็นอย่างมาก จึงได้สามารถสละทรัพย์มหาศาลถึงเพียงนี้ได้

 

< กลับเมนูหลัก >