Bcartoon1.jpg (28554 bytes)

 

 

Beconomy1.jpg (21166 bytes)

รายการสนทนามหาวิทยาลัยเที่ยงคืน : นำการสนทนาโดยนักเศรษฐศาสตร์ชาวบ้าน

กลุ่มสัจจะออมทรัพย์ - ธนาคารบ้านนอก

วันที่ ๑๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๓ เวลา ๑๐.๓๐-๑๒.๐๐น. สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมมหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ครูชบ ยอดแก้ว อาศัยอยู่ที่ต.น้ำขาว อ.จะนะ จ.สงขลา เป็นผู้ริเริ่มแนวความคิดเรื่อง "กลุ่มสัจจะออมทรัพย์" อดีตเคยเป็นข้าราชการครู อยู่ที่ ต.บ้านน้ำขาว ได้มีแนวคิดและรวมกลุ่มชาวบ้าน และ กลุ่มครูเป็นเครือข่าย ขณะนี้มีเครือข่าย ๑๐๐ กว่ากลุ่ม มีเงินทุนหมุนเวียนกว่า ๒๕๐ กว่าล้านบาท มีสมาชิกมากกว่า ๑๓,๐๐๐ คน ดอกเบี้ยที่ได้รับคือ ๒๔ ล้านบาทเป็นทุนสำหรับการพัฒนาชีวิตในชุมชน เรื่องสาธารณสุข กองทุนการศึกษา การรักษาพยาบาล

ครูชบ แนวความคิดเรื่องการจัดมหาวิทยาลัยที่มีอยู่ในทุกวันนี้คือ คนที่มีโอกาสเข้ามหาวิทยาลัยคือคนที่มีฐานะดี ถ้าจนก็ต้องเป็นคนที่เรียนดีจริงๆ จึงมีโอกาสได้เรียน ซึ่งไม่เป็นธรรมกับสังคม ผมกับพวกเพื่อนๆจึงรวมตัวกันตั้ง"มหาวิทยาลัยชาวบ้าน"ขึ้น ที่ ต.หนองเปียก อ.จะนะ จ.สงขลา ให้ประธานกลุ่มสัจจะออมทรัพย์ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยเป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัย. ส่วน อ.ภาณุ ได้ก่อตั้ง"มหาวิทยาลัยวันศุกร์"ขึ้นมา ที่ มอ.หาดใหญ่ มีความคิดใกล้เคียงกับมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ผมคิดว่า ถ้าทุกภาคมาจับมือกัน ร่วมกันทำงานกลุ่มออมทรัพย์ทำให้เป็นกระแสที่จะเป็นที่สนใจและจับตาดูของสังคมและรัฐบาล จะเป็นตัวอย่างให้กับสังคม.   นอกจากนี้ กระทรวงสาธารณะได้เชิญผมขึ้นมา(หมายถึงขึ้นมาจากภาคใต้)ร่วมคิดปฏิรูประบบสาธารณสุข ร่าง พ.ร.บ. ประกันสุขภาพแห่งชาติที่กรุงเทพฯ เราคิดตรงกันอยู่ แม้จะอยู่คนละภาค อันนี้น่าจะเป็นเครือข่ายกันได้แม้ว่าวัฒนธรรมจะต่างกันอยู่บ้างก็สามารถติดต่อประสานงานกันได้

แรงบันดาลใจในการทำกลุ่มสัจจะออมทรัพย์ ผม(ครูชบ) เกิดในครอบครัวที่ยากจนจึงไม่มีโอกาสได้เรียนหนังสือในกทม. และไม่มีโอกาสได้เข้ามหาวิทยาลัย จึงต้องเรียนและศึกษาด้วยตัวเอง และสุดท้ายเรียนจบปริญญาตรี ขณะที่รับราชการเป็นครูใหญ่ ผมได้สังเกตุว่า ในสังคมไทยจะมีกลุ่มคนในประเทศไทยแบ่งออกเป็นสามกลุ่ม

หนึ่งกลุ่มข้าราชการ   กลุ่มนี้จะมีประกันทางด้านสวัสดิการดีมากทุกอย่าง ทั้งตัวเอง ลูกเมีย และพ่อแม่ มีโอกาสมากกว่าคนอื่น

สองคนซึ่งทำงานบริษัท   กลุ่มนี้ก็มีสวัสดิการประกันสังคมค่อนข้างดี แต่เมื่อออกจากบริษัท ทางบริษัทก็ไม่รับผิดชอบ ดีในช่วงทำงานอยู่ แต่ออกแล้วไม่ดี แต่ก็ยังนับว่ากลุ่มนี้มีโอกาสดีอยู่

สามกลุ่มชาวไร่ ชาวนา ชาวสวน แม่ค้าปลีกย่อย กลุ่มนี้ไม่มีสวัสดิการอะไรเลย นอกจากที่รัฐบาลได้จัดให้เล็กๆน้อยๆเท่านั้น เช่น บัตรคนชรา แต่เวลาใช้รักษาพยาบาลจริง มันก็คือต้องอยู่หลัง ต้องไปต่อท้ายคนอื่น ต้องทน เพราะรักษาไม่เสียเงิน พบแพทย์ช้า. ผมจึงรู้สึกว่า ทำไมกลุ่มที่สามนี้ ซึ่งมีคนเป็นจำนวนมากแต่ได้บริการเพียงเล็กน้อย ถ้าจะช่วยให้คนกลุ่มนี้มีโอกาสเหมือนคนที่มีโอกาสดี ทำได้ไหม ผมถามตัวเอง น่าจะลองทำดู โดยมีเพื่อนหลายคนบอกว่าครูชบคิดสิ่งที่เป็นไปไม่ได้

ผมเริ่มต้นโดยเริ่มจากการออกไปพบชาวบ้านเวลากลางคืน อันนี้ออกไปกลางวันไม่ได้เพราะตัวเองยังเป็นครูในโรงเรียน ต้องทำงานในโรงเรียนในเวลากลางวัน เป็นเพราะมีความคิดกันว่าครูต้องอยู่ในโรงเรียนโดยไม่ได้คิดว่าการศึกษามันต้องอยู่ทั่วๆ ไป ตรงไหนก็ได้ การศึกษามีได้ทุกที่ การอยู่ในห้องเรียนเป็นการบังคับให้สมองคนคิดในกรอบของห้องสี่เหลี่ยมแคบๆ ในรั้วโรงเรียน การศึกษาเป็นคือการพัฒนาคน เมื่อระบบยังเป็นเช่นนี้ ผมเลยต้องใช้เวลากลางคืนออกประชุมชาวบ้านใน ต.น้ำขาว ทั้ง ๑๑ หมู่บ้าน. ผมต้องเดินไป, และตอนที่ออกไปพูดคุยกับชาวบ้าน ผมคิดว่าถ้าออกคนเดียวจะไม่สะดวกสบาย จึงหาแนวร่วมคือเชิญพัฒนากรตำบล เจ้าหน้าที่อนามัยตำบล ตำรวจตำบล เกษตรตำบลมาคุยที่โรงเรียนก่อนว่า ท่านทั้งหลายที่มาอยู่ใน ต.น้ำขาวนี่มาทำอะไร ทำเพื่อใคร และผมขออย่างขออย่าตอบเพื่อเงินเดือน เพราะอันนี้เด็กๆก็รู้ เด็กๆก็เห็นอยู่

ทุกคนตอบเหมือนกันคือ เพื่อพัฒนา ต.น้ำขาว เพื่อช่วยคน ต.น้ำขาว ผมสรุปว่าถ้าอย่างนั้นทุกคนก็ทำเรื่องเดียวกัน ผมก็คือคน ต.น้ำขาว เด็กก็เหมือนกัน ทำร่วมกันได้ไหม ทุกคนเห็นด้วยและบอกว่าดี ตอนนั้นรัฐบาลยังไม่ได้คิดเรื่องสี่กระทรวงหลัก เราจึงตั้งทีมรณรงค์พัฒนา ต.น้ำขาว และให้เลือกหัวหน้าชุด ทั้งหมดก็เลือกผมโดยเห็นว่าผมอายุมากกว่า คนอื่นอายุน้อยกว่า ทุกคนก็เลยเชื่อและฟังผม

สำหรับหน่วยงานที่มาช่วยเหลือ, ที่รัฐจัดเข้ามาช่วย โดยจัดให้มีการตั้งคณะกรรมการต่างๆ ซึ่งคณะกรรมการเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นคนที่อยู่นอกตำบล เป็นคนนอกพื้นที่ ไม่รู้เรื่องภายใน และปกติเวลาจัดประชุมชาวบ้านของหน่วยงานรัฐ ก็มักจะประชุมกลางวัน ซึ่งเป็นเวลาที่ชาวบ้านทำมาหากิน การตั้งกลุ่มเกษตร หรือ กลุ่มต่างๆ นั้นไม่เป็นจริง. ดังนั้นผมจึงคิดว่าเราน่าจะทำวิธีใหม่ คือ เดินกลางคืน ต้องเสียสละ เพราะเราไปหาชาวบ้านให้เสียสละ แต่เราราชการเลิกแล้วกลับบ้านไม่เสียสละเป็นตัวอย่างที่ไม่ดี ทุกคนก็เห็นด้วย มีกำหนดการออกมาว่าในวันที่ ๕ ของทุกเดือนเราต้องไปประชุมกับกำนันผู้ใหญ่บ้านในตำบลนี้ แล้วทุกคนก็พูดเรื่องของตัว เช่น อนามัยก็พูดเรื่องอนามัย ตำรวจพูดเรื่องความสงบเรียบร้อย เรื่องการศึกษาไม่ต้องพูดเพราะเขายอมรับเรื่องโรงเรียนแล้ว ผมจะพูดเรื่อง เศรษฐศาสตร์ชุมชน หรือ กลุ่มสัจจะออมทรัพย์เป็นพัฒนาครบวงจรชีวิตที่ผมคิดขึ้นเอง และของกรมพัฒนาเรียกกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต คือให้ออมและให้กู้ หรือให้ออมแล้วฝากธนาคาร

ผมคิดทวนกระแสในระบบธนาคารเดิม เพราะธนาคารเดิมนั้น นำเอาเงินคนจน สิบบาท ยี่สิบบาท ที่ฝากในธนาคาร แล้วนำไปให้คนรวยกู ้ไปลงทุน แล้วมาขายเราแพง. เราลงทุนให้แล้ว มันเอาของๆเรามาขายเราอีก อย่างนี้ไม่ถูก. แต่ ถ้าเราออมกันแล้ว เรากู้กันเอง อันนี้จะได้หรือไม่ ผมก็ให้ความรู้ ๑๑ หมู่บ้าน

ตารางการทำงานของพวกเรา. ในวันที่ ๕ ของทุกเดือนจะมีการประชุมกรรมการที่สภาตำบลตอนกลางคืน. ไปหมู่บ้านที่ ๒ วันที่ ๖ เราไปที่ ม.๑ วันที่ ๗ ไป ม.๓ วันที่ ๘ ไป ม.๙ วันที่ ๙ ไป ม.๕ วันที่ ๑๐...ตามลำดับ. ช่วงบ่ายๆเย็นๆไปสองหมู่บ้านหลังเลิกเรียน ตอนกลางคือก็ไปที่ ม.๖ ที่โรงเรียนตั้งอยู่ คืนวันที่ ๑๑ พัก คืนวันที่ ๑๒ ไป ม.๔ วันที่ ๑๓ ไป ม.๘ วันที่ ๑๔ ไป ม.๑๐ ครบ ๑๑ หมู่บ้าน ผมทำอย่างนี้ ประชุมอย่างนี้อยู่สี่ปี จนชาวบ้านเห็นใจมาร่วมเพราะว่ามีข้าราชการเสียสละอย่างนี้ เราเป็นตัวอย่างของการรวมกันอย่างมีสามัคคี ขอให้ท่านมีความสามัคคีกัน ผมจะเน้นเรื่องสัจจะออมทรัพย์ ผมให้ความรู้ว่าเราถ้าอยากจะได้สวัสดิการข้าราชการ ประชาชนน่าจะสร้างสวัสดิการกันเอง โดยการพูดกับหมู่บ้านต่าง ๆ แรก ๆ ผู้คนยังเชื่อน้อยคือ มีคนเชื่ออยู่ ๒๕ คน ครูชบก็แนะนำให้ทำกลุ่มออมทรัพย์ที่ว่าคือ ให้พี่น้องประหยัดเดือนละ ๑๐ บาท ได้ไหม จนที่สุดออม ๑๐ บาท. ชาวบ้านว่าได้ ก็เอามารวมกัน เสร็จแล้วเลือกคณะกรรมการ รูปแบบกลุ่มเพื่อให้รู้จักการบริหารกลุ่มและดูแลกันเอง ครูเป็นที่ปรึกษาให้ รวมกันเสร็จ แล้วก็ให้มีการยืมเงินเลยคืนนั้น ทำบัญชีแบบชาวบ้าน และเป็นการทดลอง.

ผมได้ ถามไปว่าพี่น้อง ถ้าเรายืมเงินชาวบ้านในหมู่บ้านเดียวกัน เขาให้กู้ร้อยละเท่าไร ? ชาวบ้านก็บอกว่าร้อยละ ๒๐ ร้อยละ ๑๐ ถ้าญาติกันจริงๆ ร้อยละ ๘ ต่อเดือน อันนี้เป็นการเปิดโอกาสกับคนมีเงิน คนจนยิ่งจนลง. แต่ว่ามีความจำเป็นต้องกู้ก็ต้องจำยอม. ส่วนของเรานี้ควรจะกู้อย่างไม่มีดอกเบี้ย เพราะคำว่าดอกเบี้ยนั้น มันบาดใจ เลยให้ใช้คำว่า "ค่าบำรุงกลุ่ม" เสียงของกลุ่มคุยกันเรื่องนี้ ๒๐, ๑๕, ๑๐, ๘ ถ้าไม่แพงเอาตรงไหน ชาวบ้านว่าเอากลางๆ มีคนเสนอ ๕ บาทได้ไหม ผมถามสมาชิกว่าทำได้หรือไม่ได้ สมาชิกส่วนใหญ่ว่าได้ เพราะว่าถูกกว่าของชุมชนและโอกาสที่จะไปยืมจากธนาคารไม่ได้อยู่แล้วสำหรับคนจน ผมอธิบายว่า ๕ บาทถูกมากเพราะเงินนี้ยังไม่ให้ใคร ไม่ให้นายทุน เอามาไว้กองกลางไว้

Pcountry1.jpg (20399 bytes)

ชื่อภาพ"ดาวตก" ศิลปิน ประสงค์ ลือเมือง เทคนิค สี Gouche บนกระดาษ / 1996

ตอนแรกยังไม่มั่นใจว่าชาวบ้านจะซื่อสัตย์ จึงไม่รู้ว่าจะให้เท่าไรดี จึงเริ่มให้ ๕๐๐ - ๑๐๐๐ บาท ปรากฏว่าคนปฏิบัติดีกันหมด ทุกวันที่กำหนดก็จะมาส่งเงินต้นบวกค่าบำรุงกลุ่ม เดือนที่ ๒ ส่ง ๑๐๐ กับ ๕๐ บาท, ๑๐๐ กับ ๔๕ บาท เรื่อยไปจน ๑๐๐ กับ ๕ บาท ชาวบ้านได้เรียนรู้ตรงนี้ พอสิ้นปีมาดูค่าบำรุงกลุ่ม ปรากฎว่าค่าบำรุงกลุ่มเพิ่มพูนขึ้นมามาก. เห็นไหมครับว่าเพียง ๕ บาท เราไปเสียให้นายทุนปีหนึ่งมันมากเท่าไร. แต่ว่า ๕ บาทนี้ซึ่งแทนที่เราจะไปเสียให้พวกนายทุน กลับกลายเป็นผลประโยชน์ที่จะย้อนกลับมาไว้ให้อยู่กับพวกเรา. ผมเสนอว่าที่ได้มาตรงนี้เท่าไรน่าจะแบ่งครึ่ง ครั้งที่ ๑ ให้เป็นผลตามหลักสหกรณ์ และจ่ายได้เลย สิทธิใครให้จ่ายเรื่องอะไร แต่อีกครึ่งหนึ่งมาตั้งกองทุนใหม่เรียกว่า "กองทุนสวัสดิการชุมชน".

จะเห็นว่าตอนนี้"กลุ่มออมทรัพย์"นั้นมีคณะกรรมการชุดหนึ่ง, พอมาถึงปีที่ ๒ ได้เกิด"กองทุนสวัสดิการชุมชน"มีคณะกรรมการบริหารอีกชุดเลือกใหม่เป็นชุดที่ ๒ ดูแลเรื่องสุขภาพ เพราะว่าการเจ็บไข้ได้ป่วยเป็นทุกข์กันทุกคน และกองทุนนี้ให้สมาชิกยืมเหมือนกัน เสียค่าบำรุงเหมือนกัน แต่ค่าบำรุงตรงนี้จะไม่เป็นผลประโยชน์ให้ใครทั้งหมด. แล้วสิ้นปีออมทรัพย์ต้องให้ ๕๐ % ไปเรื่อยๆ กองทุนจะโตขึ้นๆ กองทุนนี้ได้อะไรบ้าง ให้สมาชิกที่เจ็บป่วยได้นอนโรงพยาบาล ตอนแรกมีเงินน้อยค่าบำรุงไม่มาก เราบอกให้สมาชิกคนที่นอนโรงพยาบาลคืนละ ๓๐ บาท ไม่เกิน ๖๐๐ บาท ต่อปี ต่อคน ถ้าเป็นคนไข้นอกเอาใบเสร็จมาเบิก ปีที่ ๑ ให้ ๑๐ % จากใบเสร็จที่ชาวบ้านต้องไปจ่ายมา แต่ขอให้เป็นใบเสร็จโรงพยาบาลรัฐหรือสถานีอนามัย และ ขึ้น ๑๐ % มาเรื่อยๆ ถ้าตาย แรกๆ เราบอกเรามีเงินน้อยเราก็ให้ศพละ ๕๐๐ บาท และขึ้นมาเรื่อยๆ ศพละ ๕-๖-๗ พันบาท. บางแห่งก็ให้ศพละเป็นหมื่นแล้ว

นอกจากนั้นเราก็ให้กันเงินไว้เผื่อสมาชิกตายมายืมเงินไปจัดงานศพไม่ต้องเสียค่าจัดงานศพ เสร็จ เอาไปคืนเหมือนเดิม เพราะฉะนั้นเราประกันตรงนี้ให้ชาวบ้าน. ชาวบ้านก็พอใจ สวัสดิการอื่นๆ นั้นแล้วแต่แต่ละหมู่บ้านว่าจะเพิ่มนอกเหนือจากนี้เช่น ทุนการศึกษา วาตภัย อุทกภัย ก็จ่ายได้ทันที ไม่เหมือนกับรัฐช่วย เช่น ถ้าวาตภัยมาถ่ายภาพส่งนายอำเภอ ผู้ว่าฯ กว่าจะได้มาก็นาน พอเราถูกวาตภัยวันนี้ พรุ่งนี้จ่ายได้เลย กรรมการมาดู เพราะว่าเราอยู่ในชุมชน อันนี้ชี้ให้เห็นเลย พอตอนหลังคนจะเข้ามากขึ้นเพราะกลุ่มออมทรัพย์แบบพัฒนาครบวงจรชีวิต

ผมคิดจะรับสมาชิก ๔ รุ่นแล้วหยุด รุ่นละครั้ง ปีละครั้ง รุ่นแรกครั้งที่ ๑ จะมีน้อยมาก ทีนี้พอปีที่ ๒ คนจะเข้ามามากเพราะเห็นว่าใช้ประโยชน์ได้จริง ปีที่ ๓ จะเข้ามามากขึ้น และปีที่ ๔ จะน้อยอีก เพราะหมดคนในพื้นที่ในชุมชน เพราะฉะนั้นการใช้สวัสดิการก็มีอยู่ เพราะว่าคนรุ่นที่ ๑ สมมติว่า ๖๐ บาท คนรุ่นที่ ๒ จะได้คืนคนละ ๓๐ บาท รุ่นที่ ๓ ได้คืนคนละ ๑๕ บาท คนรุ่นที่ ๔ ได้คืนคนละ ๗.๕๐ บาท สมน้ำหน้าที่ไม่เชื่อตอนแรก ลงโทษในระบบสังคม

ทีนี้หลักการนี้เอามาจากไหน ผมอาศัยหลักพระพุทธเจ้าบอกว่า คนเราในชุมชนเหมือนกับดอกบัว ๔ เหล่า เหล่าที่จะบานพอฟังรู้เรื่องเลยก็จะเข้าเลย, พวกนี้จะมีอยู่น้อย. แล้วดอกบัวถัดมาก็นั่งดูทั้งปีเข้าทีหลัง และดอกบัวถัดมาก็เข้าทีหลัง แล้วดอกบัวในโคลนในตมหลังสุด ใครที่ไม่เข้าตอนนี้ไม่เอาแล้ว ให้มันตายไปเลยไม่ต้องช่วยพระพุทธเจ้าสอนว่าเป็นเหยื่อเต่าเหยื่ออะไรไป ถ้าแบบนี้ใช้หลักการ ๔ รุ่นแล้วปิด เราบอกใน ๔ รุ่นนี้ตอนแรกเข้านี่ ต้อนวันที่กำหนดเท่านั้น เวลาที่กำหนดเท่านั้น แล้วเวลาก็ไม่ทำมาก ทำประมาณ ๓ ชั่วโมงเท่านั้นให้จบ ไม่ใช่เป็นวัน เพราจะทำให้คนมีวินัยและถ้าออกๆ ได้ทุกเดือน จ่ายทันทีเลยไม่จ่ายเงินปันผล ให้เงินต้น พอเราบอกให้ออกได้ชาวบ้านไม่ออก พอบอกไม่ให้เข้าจะเข้า นิสัยหรือสันดานคนก็เป็นแบบนี้ แล้วถ้ามันเข้าไม่ได้ก็ต้องรอไปอีกปีหนึ่ง ผมก็อธิบายให้ฟังว่าเหมือนกับในห้องๆ หนึ่งเป็นห้องว่างเจาะไว้สักรูและเขียนว่าห้ามใครมาดูในรูนี้ คนอยากจะเข้ามาดูในรูนี้มีอะไร จริงๆ รูนี้ไม่มีอะไร เหมือนกับหลักการวิทยาศาสตร์ ไม่ให้เข้าก็อยากจะเข้า เราไม่ให้เข้าไว้เผื่อความอยากมันจะมากขึ้น ๆ พอผมทำอย่างนี้ได้ ผมก็นั่งดู นักวิชาการหลายคนว่าพอครูชบตาย โครงการก็ต้องล้มอย่างที่เราเห็นทั่วไป ผมก็ท้าอีก ผมคิดว่าวิธีที่ผมคิด ผมตายคงไม่ล้มนะ ผมเป็นพี่เลี้ยง ๔ ปีที่ว่า พอครบ ๔ ปี ผมบอกว่าตั้งแต่นี้ไปครูชบตายนะ มีปัญหาอะไรคุณว่าเองหมดแก้กันเอง ผมเป็นพี่เลี้ยงให้แค่นี้ แล้วผมไม่เข้าไปยุ่งเลย นั่งดู ผมดูอยู่ ๕ ปี เอมันไปได้ ๕ ปีมันดีแน่แล้ว มันใช้เวลา ๙ ปี แล้วผมก็เห็นว่าถ้าอย่างนั้นผมก็น่าจะช่วยไม่ใช่แค่ตำบลน้ำขาว ต้องช่วยคนทั่วไปด้วย ก็เลยตัดสินใจลาออกจาราชการปี ๒๕๓๕ แล้วมาหาเพื่อนรอบนอกระดับจังหวัด เพื่อนที่มีความคิดด้วยกันมาจดทะเบียนเป็นสมาคมฟื้นฟูหมู่บ้านชนบทได้รับความช่วยเหลือจากมูลนิธิหมู่บ้านที่กรุงเทพฯ ให้ช่วยจดทะเบียน แล้วเราก็มาประชุมกันทุกเดือน ในขณะที่เราประชุมเราก็ตั้งกลุ่มสัจจุออมทรัพย์เหมือนกัน เพราะว่าพอพวกเราทางใต้รวมกันแล้วตั้งกลุ่มออมทรัพย์แล้วมันจะตามกติกามาเลย เพราะเราเชื่อว่าใน ๗ - ๙ ปี กลุ่มสัจจะออมทรัพย์ ถ้าใครเอาไปทำจะเกิดลักษณะของคนที่มารวมกิจกรรม ๗ ประการคือ

    • จะทำให้คนพึ่งตนเองได้ มีความเสียสละ เห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวม
    • จะสร้างให้คนมีวินัยในตนเอง มุ่งมั่นในการทำงานให้สำเร็จ
    • จะสร้างให้คนขยัน หมั่นเพียร ซื่อสัตย์ ประหยัด และอดทน
    • จะสร้างให้คนมีขันติธรรมต่อคำวิจารณ์ ความแตกต่างระหว่างบุคคล
    • จะสร้างให้คนมีน้ำใจเป็นนักกีฬา รู้จักยกย่องคนอื่น
    • ทำให้การทำงานกับคนอื่นได้ โดยรู้จักเป็นผู้ให้ ผู้รับ และเป็นผู้ตามที่ดี

อย่างน้อยเรื่องเหล่านี้เกิดขึ้นในคนเหล่านี้ แต่จริงๆ แล้วกันเกิดมากกว่านี้ เกิดคุณสมบัติที่เราต้องการมากกว่านี้พอผมออกมาก็คิดว่าจะทำในจ.สงขลา พอออกมาแล้วก็เลยต้องเดินสายไปทั่วประเทศ ไมมีเวลา่ว่างเลย. ผมยินดีที่จะต้องเดินเพราะตั้งใจที่จะทำเรื่องนี้ให้คนได้รู้ ในขณะที่ผมทดลองอยู่ ๙ ปี มีพระสุบิน ปริโต เป็นพระธุดงค์ ท่านได้ฟังผมเล่าเรื่องนี้ ท่านสนใจมากก็ไปหาผมที่บ้านว่าจะมาศึกษาเรื่องกลุ่มออมทรัพย์ ผมบอกว่าพระศึกษาเรื่องกลุ่มออมทรัพย์ไม่ได้ สะสมมันผิดวินัย ท่านบอกว่า ไมใช่   ท่านอยากจะรู้แล้วไปบอกคนอื่น ถ้าอย่างนี้ผมก็ว่าได้ เรียนได้ แต่ถ้าเรียนไปสะสมไปผมบาปด้วยนะ   ถ้าพระสะสม ท่านตัดสินใจไปปักกลดอยู่บ้านผม ไปเรียนกับผม ไปดูกลุ่มต่างๆ ผมพาดู คุยกันอยู่ ๔ เดือน ท่านก็ธุดงค์จากสตูลจนถึงเชียงราย แล้วตั้งกลุ่มออมทรัพย์ทุกที่เลย ไปตรงไหนก็ตั้งกลุ่มออมทรัพย์แล้วก็ผ่านไป แล้วก็บอกกลุ่มตรงนั้นบอกว่า ถ้าเกิดมีปัญหาแล้วให้จดหมายไปถามครูชบ ยอดแก้ว บอกหมดได้ ๑๗ กลุ่มถึงเชียงราย. ที่นี้ชาวบ้านในที่ต่างๆก็เลยเขียนจดหมายมาถามผมเวลาที่มีปัญหา ปัญหามันเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา เป็นปัญหาใหม่ๆ ของใหม่ มันไม่รู้จะทำยังไง นี่ขนาด ๑๗ กลุ่ม ถ้าเป็น ๑๐๐ กลุ่ม ผมไม่ต้องทำอะไรเลย นอกจากตอบจดหมาย. อันนี้ตายเลย   ผมก็เลยอาศัยหลักพระพุทธเจ้าอีก มาตอบในจดหมายว่าพระพุทธเจ้าสอนไว้ว่า ปัญหาเกิดที่ใครคนนั้นแก้ เพราะฉะนั้น ปัญหาที่กลุ่มของคุณ ไม่ใช่ปัญหาของครูชบ. ร้อยครูชบก็แก้ให้ไม่ได้ เพราะฉะนั้นปัญหานี้คุณต้องแก้เอง ฉบับเดียวจบหมดไม่ต้องถามผม หลังจากนั้นไม่มีใครเขียนจดหมายมาถามอีกเลย.

มาว่าถึงท่านสุบินต่อ. หลังจากนั้นท่านสุบินก็ได้กลับไปตั้งกลุ่มสัจจะออมทรัพย์ที่จ..ตราด ตั้งได้ ๑๒๐ กลุ่ม ทำให้รัฐบาลหรือสภาพัฒน์ฯ ลงไปดูจนเป็นที่ยอมรับ ถามท่านสุบินว่าไปเรียนมาจากไหน ท่านสรุปว่าไปเรียนมาจากสงขลา ไปเรียนมาจากครูชบ ทางคณะก็เลยตั้งให้ผมมาเป็นที่ปรึกษาคณะกรรมการนโยบายแห่งชาติ แล้วผมก็ได้รับการคัดเลือกมาเป็นคณะกรรมการนโยบายแห่งชาติร่วมกับ อ.นิธิด้วย. ผมได้เข้าประชุมทุกครั้ง ผมก็เสนอนโยบายนี้ให้การประหยัดเกิดเป็นจริงขึ้นได้ในประเทศไทย ให้ชุมชนช่วยเหลือตนเองแล้วให้รัฐบาลช่วยตอนหลัง ผมก็เลยทำเรื่องนี้มาจนถึงบัดนี้

และผมมีความใฝ่ฝันว่า ถ้าชุมชนสร้างกองทุนสวัสดิการได้ พึ่งตนเองได้ รัฐน่าจะช่วยด้วย ต้องยุติธรรม เพราะรัฐเก็บภาษีเราอยู่ เราซื้อเสื้อเราก็ต้องเสียภาษี เรากินก๋วยเตี๋ยว เราก็ต้องเสียภาษี รัฐต้องมีส่วนร่วมเพราะเมื่อก่อนผมเสนอกฎหมายบอกรัฐจะทำอะไร รัฐบอกขอความร่วมมือจากประชาชน ผมว่าต่อไปนี้เปลี่ยน, ประชาชนทำอะไร ขอความร่วมมือจากรัฐจากราชการให้เปลี่ยนอย่างนี้ได้ไหม ? ผมพูดในที่ครม.ผมว่าขอเปลี่ยนวิธีคิดเสียใหม่ว่า ขอให้รัฐได้ไปสนับสนุนประชาชนโดยในความคิดว่ามีกองทุนของชุมชนแล้ว รัฐน่าจะให้ครึ่งๆ ผมมีความใฝ่ฝันตั้งแต่เริ่ม คิดว่าต่อไปต้องเสนอให้รัฐช่วย. จนมาถึงปี ๔๒ ก็มีกองทุนเพื่อสังคม เขาเรียกว่ากองทุนซิป ผมก็ถือโอกาสตรงนี้ เขียนขอสมทบเลย ผมส่งในเมนู ๕. พอส่งไปคณะกรรมการก็พิจารณาว่าของครูชบไม่เข้ากับหลักเกณฑ์. หลักเกณฑ์ ต้องไม่เหมือนที่ครูชบทำ ผมก็มาชี้แจงกับคณะกรรมการฯ บอกผมจะทำอย่างนี้ แล้วบอกกรรมการเลย เห็นโครงการไหนไม่อนุมัตก็บอกให้ไปปรับแก้ตามที่คณะกรรมการเสนอ.

อันนี้ผมก็มาคิดว่า ถ้าอย่างนั้นเราไม่เก่งจริง ถ้าเราตามเขาแสดงว่าเราอยากได้เงิน แล้วเราก็อ่อนตามเขาก็ต้องอ่อนอยู่ตลอด ผมไปยืนยันกับกรรมการ ว่า ของผมนั้นเป็นอย่างนี้ จะให้หรือไม่ให้ผมไม่แก.้ ให้ก็เอาไม่ให้ก็ไม่แก้ เราตามยืนกรานนี้ ผมคิดว่าวิธีคิดนี้ก็น่าสนใจ เพราะว่าเป็นครึ่งๆ ซิปให้มาผมขอ ๑๒ ล้าน เพราะของชุมชน ๑๒ ล้าน ซิปให้ ๑๒ ล้าน เราบวก ๑๒ ล้าน เป็น ๒๔ ล้าน แล้ว ๒๔ ล้าน ผมอธิบายว่า ๒๔ ล้านนี่เรามีกติการ่วมกันว่าเราจะไม่จ่ายทุน ๒๔ ล้านนี้ เราจะจ่ายดอกผลที่บริหารออกมา ๑๐๐ บาท จ่าย ๙๐ บาท จ่ายเรื่องอะไรก็ได้ที่ชุมชนต้องการจ่าย ช่วยเหลือคนยากไร้ จะให้เป็นสงเคราะห์ก็ได้ อีก ๑๐% ให้ทบกลับกองทุนมีรายได้ ผมอธิบายแนวความคิดตรงนี้ เขาว่าน่าสนใจแต่ว่าเขาไม่อนุมัติ ผมก็กลับ ผมก็ไม่ถามอีกกลับ ถ้าเราไปติดตามมากจะหาว่าเราอยากได้ เราก็เฉย เพราะถือว่าความคิดเราเป็นความคิดที่เหนือกว่าที่เขาทำอยู่. วิธีของเราๆ ยืนยันว่าไม่หมด เขาไม่ช่วยเราก็ทำอยู่แล้ว กรรมการเขาก็อยากให้เพราะเรายืนกราน ไม่แก้ก็เลยบอกให้ขึ้นมาชี้แจงใหม่ ผมก็ขึ้นมาอีก และบอกพรรคพวกเขาให้ไปชี้แจงอีกแล้ว. เพื่อนๆผมมาถามว่าเมื่อไรจะได้ครูชบ.   ผมบอกขอเงินคนอื่นมันลำบากอย่างนี้ล่ะ สู้ทำของเราเองดีกว่า ของคนอื่นกว่าจะให้มันคิดมาก เพราะเราขอเขา เขาให้ก็ดี.   ผมได้ขึ้นมาชี้แจงกับคณะกรรมการ ผมก็ชึ้แจงเหมือนเดิม บอกว่ากองทุนอันนี้ถ้าลงไปแล้วจะช่วยคนที่หากินไม่ได้ ตาบอดหูหนวก เราจะจ่ายให้คนละ ๓๐๐ บาท ให้ฟรี แต่๓๐๐ บาทให้หัก ๑๐% เข้ากองทุน เท่ากับเราจ่าย ๒๗๐ ในจำนวนนี้บังคับให้ต้องเข้ามาเป็นสมาชิกกลุ่มออมทรัพย์เพื่อจะได้มีสิทธิเบิกค่ารักษาพยาบาลเหมือนคนอื่น เราก็ฝากให้ ๑๐๐ เหลือ ๑๗๐ บาทเบิกให้เลย เราอธิบายอย่างนี้ช่วยคนยากไร้ แล้วคนเหล่านี้ยังได้สวัสดิการอยู่ เบิกค่ารักษาพยาบาลได้ ๘๐% หรืออาจจะได้ ๑๐๐% ผมอธิบายอย่างนี้และบอกขอคำตอบวันนี้เลย เดี๋ยวนี้เลยว่ากรรมการจะอนุมัติผมหรือไม่ ผมจะได้บอกกรรมการของผม ๒๑ กลุ่มนี้ว่าได้หรือไม่ได้ ผมให้เขาพิจารณาตรงนั้นเลย คุยกันและตกลงกันได้ว่าอนุมัติในรูปแบบของการศึกษาเพื่อนำร่องทดลอง ผมว่าจะอนุมัติในเงื่อนไขอะไรไม่เกี่ยว แต่ขอให้ได้ก็ใช้ได้แล้ว จะบอกว่าอย่างไรก็แล้วแต่ เขาก็เลยอนุมัติศึกษาเพื่อนำร่อง เป็นแบบอย่างให้กับที่อื่น แล้วผมก็มั่นใจว่าโครงการของผมสำเร็จ คนทำอยู่แล้วเพียงแต่เพิ่มพลังให้เท่านั้น พอเขาให้ผมก็บอกพรรคพวกว่าได้แล้ว แต่อย่าเพิ่งเชื่อเขายังไม่โอนเงินให้.   แล้วได้เซ็นสัญญา ก็โอนเงินไปให้ ประชาชนก็ดีใจในความคิดของครูชบ ไม่ใช่ได้เพราะผม แต่ได้เพราะคุณ ถ้าคุณไม่ทำตามนี้ผมก็เสนอไม่ได้หรอก

เพราะฉะนั้นทุกคนมีส่วนที่ทำตรงนี้ออกมาได้เป็นรูปแบบใหม่ ผมเสนอว่า งบประมาณแผ่นดิน เวลาออกมันผ่านหลายขั้นตอน เหมือนกับน้ำ ถ้ามันตกหลายขั้นตอน น้ำแก้วหนึ่งเททีแรกแล้วมันสู่ข้างล่าง รองรับข้างล่างจะไม่เต็มเหมือนเดิม มันระเหย งบประมาณก็เหมือนกัน มันจะระเหยเหมือนกัน เพราะฉะนั้นงบประมาณอีกวิธีหนึ่ง (ผมไม่อยากให้ทำอย่างนี้ทั้งหมด) ต่อสายตรงจากงบประมาณแผ่นดินลงชุมชนเลย นี่ร้อยบาทถึงร้อยบาท ผมไม่ได้พูดเป็นทฤษฎี แต่ผมดูจากโครงการที่ผมทำมาแล้ว จากร้อยบาทถึงประชาชนร้อยบาท และ ZIP ก็อนุมัติค่าบริหารจัดการให้อีก ๕% สำหรับค่าใช้จ่าย เราก็จ่ายเท่าที่จำเป็นไม่ต้องไม่กินเปอร์เซ็นของประชาชน แต่ถ้าไม่พอเราคงไปเอาได้ ประชาชนคงให้แน่ เพราะได้ฟรีๆ อยู่แล้วแต่เราไม่ทำ เพราะเราอยากจะสร้างรูปแบบที่น่าจะเป็นแบบอย่างที่ดีของสังคม ก็เป็นการทดลองใน ๑๒ เดือนนี้ หลายกลุ่มมาหาผม พอผมไปพูดที่กรรมการกลุ่มระดับจังหวัด ผมก็ไปเล่าประสบการณ์นี้ให้ฟัง ทุกคนอยากจะเข้าโครงการ แต่ผมบอกยังเข้าไม่ได้ตอนนี้ ต้องให้ผ่าน ๑๒ เดือนให้ครบประเมินว่า ๑๒ เดือนเป็นอย่างไรในกลุ่มนี้ ผมกำลังติดต่อคุณหญิงสุพรัตราลงไปวันที่ ๗ นี้แล้วเปิดรายการเวทีทางโทรทัศน์ด้วย ว่าลงมาดูแล้วให้ถามกลุ่มว่าดีไม่ดี และกลุ่มที่ยังไม่ได้ก็อยากจะเอาด้วย ก็มาพูดกันในทีวีวันนั้น มาคุยกันจากแนวความคิดตรงนี้ แนวความคิดผมว่าครั้งแรกกองทุนนี้ขอหนึ่งก่อน ร้อยต่อร้อย แล้วปีที่สองถ้ามีงบประมาณออกมาอีก เราขอ ๘๐% จากรัฐเราขอลด และครั้งที่สามเราขอ ๖๐% ครั้งที่สี่ขอ ๔๐ % ครั้งที่ห้าขอ ๒๐ % ครั้งที่หกขอ ๑๐ % จากรัฐ เรามาจัดการเอง แล้วชุมชนได้ตามหลักการนี้แล้วเพราะว่าเด็ก ๐ -๑๒ ปีไปโรงพยาบาลรักษาฟรี เราจ่ายเงินสดแล้วมาเบิก คน ๖๐ ปีก็รักษาฟรี   ไม่ต้องไปยืนเข้าคิวให้เหนื่อย ให้จ่ายเงินสดแล้วกลับมาเบิก เงินรัฐบาลจะลงไปที่ตรงนี้. ถ้าเราให้เงินไว้ที่โรงพยาบาล ๆ ไม่รักษาคนไข้จะทำอย่างไรได้ แต่ทีนี้เงินอยู่ที่เรา ถ้าโรงพยาบาลทำไม่ดีเราไม่ไป เราไปโรงพยาบาลที่ดีเพราะมีเงินหลวง เราไปเข้าโรงพยาบาลดีๆ เป็นการสอนให้โรงพยาบาลปรับปรุงตัวเองด้วย มันเป็นกระบวนการที่ทำให้โรงพยาบาลปรับปรุงตัวเอง การโอนเงินงบประมาณไปไว้ในโรงพยาบาลๆ ว่ายังไงก็ได้อยู่แล้ว ถ้าโรงพยาบาลแบบนี้ไม่ดีไม่ได้งบประมาณเพิ่ม ถ้าดีจะได้เพิ่มจากกองทุนชุมชน นี่คือแนวความคิดผมซึ่งใช้เวลา ๑๗ ปี แต่เวลามาเล่าให้ฟังนั้น ผมใช้เวลาเล่าไม่นาน รายละเอียดมีมากมายที่ปลีกย่อยไม่สามารถจะมาเล่าตรงนี้ได้

ผมว่าที่ไหนๆ ก็ทำได้นะเพราะกลุ่มออมทรัพย์ไม่ขัดกับวัฒนธรรม เพราะโบราณก็สอน มีสลึงพึงบรรจบให้ครบบาท อย่าให้ขาดสิ่งของต้องประสงค์ มีน้อยจ่ายน้อยค่อยบรรจง อย่าจ่ายลงให้มากจะยากนาน. คนไทยเขาสอนมานานแล้ว การประหยัดทำได้ทุกภาค ขอขอบคุณครับที่ให้โอกาสผมมาพูดกับชาวมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน. ต่อไปนี้ขอเชิญครับ ใครจะมีข้อแลกเปลี่ยน

อ.สมเกรียติ ผมขอถามครับ เป็นคำถามรายละเอียดปลีกย่อยนิดหน่อย เรื่องที่เกี่ยวกับการรักษาพยาบาล ที่ผมเคยได้ยินมา คือ การที่ข้าราชการเมื่อไปรักษาพยาบาล สามารถจะเบิกได้เฉพาะโรงพยาบาลของรัฐเท่านั้น จากเงินสวัสดิการข้าราชการต่างๆ ที่มุ่งไปสู่การแพทย์แบบแผนตะวันตกโดยมีเงินสนับสนุนทางด้านสวัสดิการอยู่ตลอดเวลา   แต่หากข้าราชการคนเดียวกันนั้นรักษาโรคด้วยยาสมุนไพรพื้นบ้าน กับหมดชาวบ้านที่ไม่มีใบปริญญา อันนี้จะเบิกไม่ได้ ทำให้แพทย์แผนไทยหรือแผนท้องถิ่นไม่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐ ทำให้ค่อยๆ หายไปเพราะไม่ได้รับการสนับสนุนจากสวัสดิการต่างๆ เหล่านี้ ไม่ทราบว่าครูชบได้คิดถึงประเด็นนี้ไว้อย่างไรบ้างครับ

ครูชบ จะเล่ากลุ่มที่ผมเป็นประธาน เมื่อผมลาออกจากเป็นที่ปรึกษาของกลุ่มต่างๆ ผมก็คิดมาตั้งกลุ่มเอง เรียกกลุ่มเครือญาติ ต.น้ำขาว รับพี่น้องมาทำกลุ่มออมทรัพย์ ในกลุ่มเครือญาติจะให้สวัสดิการมาก นอนโรงพยาบาลให้คนละ ๒๐๐ ตายให้ ๗๕๐๐ แล้วขึ้นปีละ๑๐ %. อีก ๕๐๐ บาทเป็นค่าพวงหรีด แต่ห้ามซื้อพวงหรีดที่ทำจากโฟม มันจะสร้างมลภาวะ.  ค่าอื่นๆ เบิกค่าไฟฟ้า ให้หัวละ ๑๐ บาท แพทย์แผนไทยเราเบิกได้เหมือนกัน เพื่อให้แพทย์แผนไทยที่หายไปเพราะไม่มีรายได้ เราก็บอกหมอในหมู่บ้าน หมอนี้เบิกได้ ให้เขาเซ็นชื่อมา ออกใบเสร็จมา เบิกได้ ตรงนี้รัฐยังทำไม่ได้เราทำได้ ถึงแม้เราเงินน้อยกว่า แต่เรามีวิธีคิดเหนือกว่า เราให้เพื่อจะฟื้นฟูหมอชุมชน หมอชุมชนแทนที่จะหายายากกว่าแต่ก่อนก็บอกให้ปลูกสมุนไพร จะได้ทันกับหมอสมัยใหม่ ไปปั๊บได้ยาปั๊บ ถ้าเขาได้ต้มยาวันนี้ก็ต้องได้ต้มยาวันนี้ เตรียมเครื่องยาให้เสร็จ อย่าเหมือนโบราณเราเที่ยวตามหาตามป่าตามเขากว่าจะได้นาน เราแพ้ตรงนี้ จุดนี้เราให้เบิกค่าหมอด้วย ตอนผมไปพูดที่เกาะยอ สถาบันทักษิณ เล่าเรื่องสวัสดิการของกลุ่ม ให้มากให้ถึงภาษีที่ดินด้วย คนละ ๑๒๐ บาท. มีครูเขายกมือถามว่า ฟังแล้วรู้สึกว่าสวัสดิการของครูชบจัดได้มาก อยากจะถามว่า (ทางใต้มีไม่รู้ทางนี้มีไหม) ถ้าคนถูกอุบาทว์ เช่น ฟ้ามันผ่าต้นไม้แล้วถูกคน คนป่วยแล้วหาหมอมาประน้ำมนต์หายอย่างนี้เขาถามว่าเบิกได้ไหม ผมก็งง ไม่เคยถูกคำถามอย่างนี้ หนู ประดิษฐ์ซึ่งนั่งอยู่กับผม แกหัวไว แกบอกครูชบผมตอบเอง แกก็ตอบว่า ครูชบว่าเบิกได้เหมือนกัน แต่ขอให้ตัวอุบาทว์นั้นได้เซ็นชื่อในใบเสร็จมาก็แล้วกัน คนก็โฮ ตัวอุบาทว์ที่ไหนมันจะมาเซ็นชื่อได้ ตกลงก็เบิกไม่ได้เหมือนเดิม แต่พอเขาถามผมก็กลับมาคิด มันจริงนะถ้าเกิดคนป่วย ทำบุญหายนี่ผมว่าน่าจะมีสิทธิเบิกได้เหมือนกัน เพราะวัตถุประสงค์การรักษาความเจ็บป่วย จะรักษายังไงก็ได้ให้หาย ผมว่าน่าจะได้ ทีนี้คณะกรรมการต้องทบทวนว่าน่าจะต้องให้ถ้าเขาหายจริงๆ ให้กลุ่มคนที่ทำยืนยันว่าหาย เบิกค่าใช้จ่ายได้ ผมว่าน่าจะให้ ผมคิดว่าถ้าให้ผีฟ้ามารำหาย ก็น่าจะใช้ได้ ไม่ต้องกินยา ดีสิไม่ต้องลงทุนซื้อยาด้วย ผมว่าเป็นเรื่องที่จะต้องช่วยด้วย ผมคิดว่าจะให้สิ่งที่ชุมชนทำ

อ.นิธิ ผมอยากให้ครูช่วยเล่าประสบการณ์ที่ไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร เพื่อที่ครูจะได้ช่วยวิเคราะห์ว่า อะไรเป็นเหตุของความสำเร็จ อะไร เป็นเหตุของความไม่สำเร็จ

ครูชบ ผมมีตัวอย่างที่ตำบลผม มีอยู่กลุ่มหนึ่ง กลุ่มนี้มีฐานะดีไม่ยอมรับแนวความคิดนี้ ถ้าได้ค่าบำรุงมาแบ่งครึ่งเขาไม่ยอมรับ ปันผลควรจะได้เยอะ มันขึ้นอยู่กับกลุ่มที่ออมเงินมากๆ คนออม ๕๐ กับคนออม ๑๐. คนออม ๕๐ พูด คนออม ๑๐ บาทเฉยไม่กล้าพูด ไม่ยอมให้ตั้งกองทุนนี้ ผมบอกไม่ยอมก็ดีแล้ว เพื่อจะได้เป็นบทเรียน เพื่อจะได้เป็นที่เปรียบเทียบ เสร็จแล้วก็ตั้งมาได้ ๑๕ ปี พอตอนหลังคนมาบอกว่าทำไมไม่ทำเหมือนกลุ่มนั้น....ผลสุดท้ายเที่ยววิจารณ์กันไปวิจารณ์กันปรากฏว่าเลิก เพราะว่าผมว่าอันหนึ่งขาดกองทุนค้ำประกันตรงกลาง มีแต่ปันผลทุกปี พอเห็นปันผล ทำไมคนนั้นได้มาก คนนั้นได้น้อย มันก็ไม่เท่าอยู่แล้วเพราะออมน้อยก็ได้น้อย ออมมากก็ได้มาก ผมไปชี้แจงผมไปพูดสองครั้งให้เขาตั้งอันนี้เขาไม่เชื่อ ไม่เชื่อผมก็ไม่ไปแล้ว มันเป็นไปตามธรรมชาติสุดท้ายเลิก อีกกลุ่มหนึ่ง พอผมถอยออกมา เขาบอกว่าพอถอยออกมา ผมว่าค่าบำรุงที่ ๕ บาทน่าจะเปลี่ยนได้ ถ้าว่ามีกองทุนมากขึ้น ตกลงเขาลดลงมาเหลือ ๒ บาทเหมาะสมคือปันผล ๑ บาทและกองทุน ๑ บาทเหมาะสมแล้วคิดถูก ทีนี้อีกกลุ่มหนึ่ง ให้กู้ร้อยละ ๒ บาท เกิดไปถามในที่ประชุมใหญ่ ถ้าเราปันผล ๒ บาท ถามว่าจะได้ค่าบำรุง ๒ บาทปีนี้ปันผลเท่าไร สมาชิกส่วนใหญ่ไม่ได้คิด บางคนบอกปีนี้ให้ปันผล ๓ บาท พอว่ากู้ ๒ บาท ปันผล ๓ บาทถามสมาชิก ส่วนใหญ่ก็ยกมือพรึบเลย เอา ๓ บาท กรรมการแพ้ เพราะกรรมการลืมคิดไปว่า ตรงนี้ให้ถามคนส่วนใหญ่ไม่ได้ ต้องดูขบวนการตรงนี้ด้วย แต่คนไปยึดหลักว่าประชาธิปไตย พอถามแล้วเขาก็แบ่งอย่างนั้นแบ่ง ๓ บาท อยู่มาได้ ๙ ปี ผมไม่เข้าไปดูผมรู้แล้วแบ่งอย่างนั้น ปล่อยให้เป็นความคิดของเขาเอง ให้เขาแก้ของเขาเอง พอปีที่ ๙ เงินหมด เพราะเอาเงินออมมาปันผลด้วย พอเก้าปีเงินหมดมาหาผม ถามทำไมเงินหมดครู แล้วคุณทำยังไง เข้าไปดูบัญชีให้ ไปดูปีสุดท้ายถามว่าปีนี้ที่ดูแล้วได้กำไรมาค่าบำรุง หรือดอกเบี้ย ได้มา ๒๐๐๐๐ แล้วทำไมคุณแบ่งปันผล ๓๐๐๐๐ เงินที่มันเหลือจากการบริหารจัดการ ๑๐๐๐๐ เอามาจากไหน เขาบอกเอามาจากในนั้นที่รวมอยู่ ผมก็บอกถ้างั้นก็เอาเงินออมมาแบ่งกันหมดแล้ว ผมเปิดดู คุณแบ่งมาเก้าปีแล้วเพราะฉะนั้นไม่ต้องโทษ คุณแบ่งกันกลับไปหมดแล้ว ก็เลิกเอง ผมว่าเงินตรงนี้หมด ไม่แปลกเพราะคุณออมคุณก็แบ่งกลับ บัญชีมีหมด ถ้าจะเอาตามแนวความคิดผมต้องเสียกลับ คุณเอาเกิน ตกลงก็ยุบไป เลิกแล้ว วิธีมันดีไม่น่าจะเลิก ผมว่าไม่ได้นะคณะกรรมการต้องดูตัวเลขนี้ด้วย ตอนนี้เลิกไปสองหมู่บ้านแล้ว แต่ใน ต.น้ำขาวมี ๑๑ หมู่บ้าน ตอนนี้มีกลุ่มออมทรัพย์ใน ต.น้ำขาว ๑๙ กลุ่มเกิดซ้อนกันมากมาย กลุ่ม อสม. มาประชุม มาบ้างไม่มาบ้าง เขาก็เอากลุ่มออมทรัพย์เข้าไปจับ พอจับก็มาหมดไม่มาก็ถูกปรับ ถ้าใครไม่มาส่งตามกติกานี้ถูกปรับ เข้ากองทุนสวัสดิการ ตกลงคนมาประชุมดีปกติ มีกลุ่มที่เกิดใหม่ที่น่าสนใจสองกลุ่ม หนึ่งเรียกว่ากลุ่มคนพิทักษ์ถิ่น เหมือนกับเกิดสภาประชาชนกลุ่มนี้เป็นกลุ่มครู คนที่มีความรู้ร่วมกับผู้มีความคิดไกลๆ มองว่าการบริหาร อบต.ไม่ค่อยถูก กลุ่มนี้จะเป็นพวกมีปากมีเสียง ยื่นหนังสือกับ อบต.ว่าไอ้นี่ไม่ถูก แต่เขาตามหรือไม่ตามไม่ว่า แต่เขามีวิธียื่น คล้ายๆ ให้เขารู้ว่าอันนี้ไม่ถูก เพราะเขารวมกลุ่มก็ต้องรวมเงินกัน เอาเงินนี้ไว้เป็นกองกลางเผื่อว่าเวลาเขาจะทำอะไรไม่ต้องขอกันอีก เอาเงินนี้ไปใช้ ตั้งกองทุนสวัสดิการนี้เพื่อใช้ในเรื่องฟื้นฟูประเพณีบ้าง ไม่ใช่เฉพาะเรื่องข้อเสนอแนะกับ อบต.อย่างเดียว อีกกลุ่มหนึ่งซึ่งได้ไปดูงานที่ จ.จันทบุรี ๑๒๐ กว่าคน เขาสนใจกลุ่มนี้มา

อีกกลุ่มหนึ่งเรียกกลุ่มนารีพิทักษ์วัย เกิดจากกลุ่มสาวโสดที่ไม่แต่งงานรวมกลุ่ม ๔๐-๕๐ คนและแม่หม้ายที่แต่งงานแล้ว ต้องเป็นแม่หม้ายมา ๓ ปี จึงจะเข้าสุ่สมาชิกได้ ถ้าแต่งงานวันไหนต้องออกจากสมาชิกและกลุ่มนี้มีความคิดว่า คนที่เป็นโสดเวลาป่วยแล้วใครจะไปเฝ้า ถ้าเราไม่มีอะไรอยู่ เขาก็เลยตั้งกองทุนโดยแนวความคิดผมไปใช้ในการตั้งกองทุนสวัสดิการ ตอนนี้คนป่วยถ้าเป็นสาวโสดนอนโรงพยาบาลจะได้คืนละ ๑๐๐ แล้วให้กับคนเฝ้าอีก ๑๐๐ แต่คนเฝ้าจะเฝ้าติดต่อกัน ๒-๓ คืนไม่ได้ต้องเปลี่ยนให้คนอื่นได้เฝ้าบ้าง เพราะจะได้กระจายรายได้ เพราะฉะนั้น เขาจะไม่ว้าเหว่โดดเดี่ยวว่าเมื่อป่วยจะไม่มีคนดูแล ในกลุ่มจะเป็นคนดูแลกันเอง นี่เป็นความคิดหนึ่งที่แตกออกไป ผมคิดว่าพอคนรวมกันจะค่อยแตกหลากหลายออกไป ซึ่งเมื่อก่อนผมยังไม่ได้คิด เขาก็คิดได้ ผมยกตัวอย่างให้ดู

อ.สุชาดา ครูคะ ฟังดูแล้วคนชั้นกลางในชุมชนอยากทำบ้างอยากได้สวัสดิการ อยากตั้งกองทุน เพราะตอนนี้ เอาเงินไปฝากแบงก์ ดอกเบี้ยต่ำเหลือเกิน ครูว่าชุมชนเมืองของชนชั้นกลางจะทำได้ไหมคะ

ครูชบ ผมไม่สามารถตอบแทนคนชั้นกลางได้ แต่ผมเล่าประสบการณ์ได้ ประสบการณ์ ๒ ประสบการณ์ เวลาที่มีคนถามว่าทำได้ ทำไม่ได้ ผมตอบไม่ได้ เพราะไม่ใช่คนทำ คนที่ตอบว่าได้ไม่ได้ คือ คนที่ทำ ผมจะเล่าประสบการณ์อันหนึ่งว่า ชุมชนสลัมในเมือง คนในเมืองมีมาจากหลายที่ที่เข้ามารวมอยู่ในเมืองเป็นสลัม ทีนี้เขาฟังผมที่สงขลานานมาแล้ว เขาทำ ครูชบทำในชนบท เพราะในชนบทมีวัฒนธรรมเครือญาติรู้จักกันหมด บทการลงโทษๆ ในเชิงสังคมได้หมด แต่เขาบอกคนในสลัมมาจากหลายที่มาอยู่ มันคงทำไม่ได้เหมือนที่ครูขบว่า ทีนี้พวก NGO's ที่อยู่ในสลัมกลุ่มหนึ่ง คิดว่าทำไม่ได้จริงหรือ แต่ออีกกลุ่มว่าน่าจะลองดู ให้ครูชบมาพูดที่สลัมที่สงขลา ผมก็พูดว่า ผมไม่ใช่คนสลัม คนชนบท แต่ผมมีความคิดว่า คนในสลัมก็มาจากชนบท ทีนี้ถ้าหากว่าคนในสลัม ๑๐๐๐ คนและจะตั้งกลุ่มออมทรัพย์ ๑๐๐๐ คน ผมตอบคุณได้เลยว่า คุณล้มตั้งแต่ความคิดเลย ทำไม่ได้ แต่ถ้าคิดว่าคนในสลัมนี้ เราอยู่ในสลัมนี้มีเพื่อนซัก ๑๐ คน ถ้ามีเพื่อนดีๆ ซักสิบคนสนิสนมไว้เนื้อเชื่อใจกัน ไปมาหาสู่กัน ๑๐ คนก่อนอย่างนี้ตั้งได้ แล้วเมื่อคนที่ ๑๑ จะเข้ามาคนทั้ง ๑๐ คนต้องรับรองหรืออาจจะรับรองซัก ๕ หรือ ๓ คน แล้วแต่ คือ ถ้าคนนี้เข้ามาเป็นสมาชิกเกิดอะไรใครรับรอง ๓ คนนี้ บอกรับรองถ้าเกิดอะไรขึ้น อันนี้ก็ได้รับได้เพิ่มได้ ตั้งได้ ถ้าใช้วิธีคิดอย่างนี้ตั้งได้ ปรากฏผลออกมาคือ ที่จ.สงขลา มีสลัม ๘ สลัมตั้งได้หมด แต่ว่าไม่ได้ครอบคลุม ๑๐๐ % ตั้งได้ในสลัม แล้วทางสลัมจากกรุงเทพก็ลงไปดู รู้สึกเดี๋ยวนี้ตามสลัมต่างๆ มีกลุ่มสัจจะออมทรัพย์

อันที่สอง ผมมาพูดที่มหิดลปี ๓๒. มีทั้ง NGO นักพัฒนาภาคอีสานมาฟัง ผมพูดว่าที่ครูชบทำที่ภาคใต้ เพราะคนภาคใต้รวย คนอีสานจนทำไม่ได้ ผมบอก ผมก็ไม่ได้อยู่ภาคอีสานนะผมอยู่ภาคใต้ แต่ผมบอกได้ว่าที่ผมทำที่ภาคใต้ ผมไม่ได้ทำกับคนรวย ผมทำกับคนจน เพราะคนรวย ๑๐ บาท เขามองไม่เห็น เขาไม่ทำหรอก เพราะคนจน ๑๐ บาทนี่มันมาก มันทำได้เขาพอใจ แล้วที่ทำเสร็จเพราะทำกับคนจน ในภาคอีสานผมไม่แน่ใจ แต่ผมขอถามท่านบ้างว่า คนอีสานชอบดื่มเหล้าจริงไม่จริง เกือบทุกครัวเรือน เขาบอกว่าจริง ถ้าจริงผมถามต่อว่าแล้วที่ดื่มกันทุกครัวเรือน กลุ่มผลิตเองหรือว่าซื้อ เขาบอกว่าซื้อ ผมบอกว่าซื้อแน่นอนเลย มีรายได้ ต้องมีรายได้ถ้าซื้อ เพราะคนอีสานคนใต้พิมพ์ธนบัตรไม่ได้เองเหมือนกัน ใช้ธนบัตรส่วนกลางอยู่เหมือนกัน หมายความว่ามีรายได้แล้ว เพราะฉะนั้นกลับไปพูดชี้แจงกับคนที่เราจะชี้แจงว่า สมมติว่าครัวเรือนนี้ดื่มเหล้า ๒ ขวดตีซะว่าขวดละ ๑๐ บาท คุณลองเลิกขวดหนึ่ง ๑๐ บาท แล้วเอาเงินมาออม เลิกสุราขวดหนึ่งแล้วมาออมทุกเดือนๆ ละสิบบาทครบ ๑๒ เดือน ถ้าไม่ได้ ๑๒๐ บาทมาตัดคอครูชบเลย ถ้าไปทำในอีสานได้สองต่อ หนึ่ง ลดอบายมุข สองมีเงินกองทุนแล้วมีสวัสดิการ หลังจากพ่อบัวศรี ศรีสูง ซึ่งเป็นคนดีของสังคมรุ่นเดียวกับผม นำผู้นำอีสาน ๖๐ คน ทั้งครูบาอาจารย์ด้วยล่องใต้เลยดูไปจนถึง ต.น้ำขาว สุดท้าย ลองอธิบายไปเรื่อย พาไปดูเสร็จแล้ว กลับมาตั้งที่อีสานได้ เขียนจดหมายมาบอกผมว่าตั้งได้แล้วครู ตั้งได้เยอะแล้วทั้งอีสาน แต่ว่าข้าราชการบอกว่าคนที่ไปดูงานจากภาคใต้กลับมาหัวหมอหมด ไม่เชื่อราชการ ผมว่าไม่ใช่หัวหมอ เขาไม่เชื่อราชการ หาว่าเราหัวหมอ อยากให้เราทำอย่างนี้ เราอยากทำอย่างนี้หาว่าหัวหมอ ผมว่าไม่ต้องฟังเราตามเราดีกว่า เดี๋ยวนี้ภาคอีสานเยอะแล้ว ผมตอบอย่างนี้ไม่ตอบแทนคนชั้นกลาง ถ้าเขาอยากทำก็ทำ

ครูชบทำไมไม่เชื่อสหกรณ์ ผมว่าสหกรณ์มีอยู่แล้ว ทีนี้เราคิดว่าของใหม่ของชาวบ้านเรียกว่า กลุ่มสัจจะออมทรัพย์ๆ นี้ จดทะเบียนอะไรก็ไม่ได้ มีคนแนะนำว่าน่าจะจดทะเบียนเป็นสหกรณ์ ถ้าจะเป็นสหกรณ์ ผมว่าไม่น่าจะมาคิดเรื่องออมทรัพย์ ไปสมัครซะเลยเขามีอยู่แล้ว ของเราแปลก มันบอกชัดว่า กลุ่มสัจจะออมทรัพย์ คำว่ากลุ่มสัจจะมันบอกชัดว่า มันต้อมีสัจจะต้องฝึกคนให้มีสัจจะ คนเราถ้ามีสัจจะเรื่องอื่นไม่มีปัญหา แต่เนื่องจากคนตอนนี้ไม่มีสัจจะ มันมีปัญหา ไม่มีสัจจะกับตัวเองแล้วไม่มีสัจจะกับสังคม จึงมีปัญหามากมาย เราไม่ยอมเปลี่ยน เป็นธนาคารชาวบ้าน ถ้าเปลี่ยนเป็นธนาคารแสดงว่าเราอยากเอาร่มธนาคาร เราไม่ยอมเราอยู่กับเรา เรากลุ่มสัจจะของชุมชนของประชาชน เพราะเราไม่เปลี่ยน ของอาจารย์จำนง เรียก ธนาคารหมู่บ้าน อ.จำนง ยังเอาชื่อเพื่อนอยู่ ชื่อของเราเองสิทำไมต้องเอาชื่อเพื่อน กลุ่มสัจจะออมทรัพย์ นี่ดีแล้ว นี่คือเหตุผลที่ไม่เอาชื่อเพื่อน เราบอกชุมชนเข้มแข็ง ถ้าเราเที่ยวพลอยเพื่อนอยู่ เราไม่เข้มแข็ง ชื่อเราก็ไม่พลอย เราเข้มแข็ง เพราะฉะนั้นต่อไปใครจะร่างอะไร เรียกอะไร ก็ร่างให้เข้ากับเราไม่ใช่ร่างให้เข้ากับเขา

ตอนนี้เราถือว่า เรามี ศักยภาพเหนือสหกรณ์เหมือนกัน เพราะผมเห็นว่าสหกรณ์ที่อื่นจะต้องเลียนแบบเรา เช่น สหกรณ์ อ.จะนะ ก็มีพวกประธานกลุ่มออมทรัพย์ กรรมการกลุ่มเป็นสมาชิก ก็เสนอว่าในเมื่อสหกรณ์มีกำไร ปันผลให้แล้วแต่ทำไมสหกรณ์ไม่จัดสวัสดิการให้ด้วย ให้เบิกค่ารักษาพยาบาล ค่าเล่าเรียนบุตร ปรากฏว่าสมาชิกส่วนใหญ่ก็เป็นสมาชิกกลุ่มออมทรัพย์ สหกรณ์ก็ยอมอ่อนตาม สหกรณ์ อ.จะนะ สหกรณ์ อ.หาดใหญ่ ให้เบิกค่ารักษาพยาบาลได้เหมือนของเราแสดงว่าสิ่งเหล่านี้เราซึมเข้าไปได้ เพราะเป็นของประชาชน ประชาชนเสนอ ผมเชื่อว่าสหกรณ์อื่นๆ จะให้ มันลามไปด้วย เพราะเป็นผลประโยชน์ของประชาชน

อ.ชัชวาลย์ ผมเคยได้ยินข่าวมาว่ามีกรณีเกิดอุทกภัยของกลุ่มสัจจะออมทรัพย์ แต่ผมไม่ทราบว่าเกิดที่ไหนเมื่อไร แต่ว่าผมอยากทราบว่าเอกสารเกี่ยวกับบัญชีก็หายไปทางฝ่ายราชการก็นึกว่าเสร็จแน่ๆ ขาดทุนแน่ๆ แต่ก็ปรากฏว่าชาวบ้านมาบอกว่าแต่ละคนกู้ไปเท่าไรๆ แล้วพร้อมใช้คืนอย่างถูกต้อง เพราะฉะนั้นจึงได้เงินครบ ผมอยากทราบเหตุการณ์ตรงนี้

ครูชบ ผมจำ พ.ศ.ไม่แม่นนะ ตอนนั้นกลุ่มออมทรัพย์ที่คิรีวงศ์ดังกว่าเพื่อน รวบรวมเงินได้ ๑๐ ล้านแล้วๆเกิดวาตภัยภูเขาพังทลายท่วมบ้านเรือน บัญชีกลุ่มออมทรัพย์หายไปกับน้ำ สังคมทั่วไปก็มองกลุ่มออมทรัพย์จะทำอย่างไร ทั้งธนาคาร สหกรณ์ รัฐ และชาวบ้านก็มองอยู่ว่าจะทำอย่างไร บัญชีหายหมด เงินเป็นสิบๆ ล้าน แต่เขาบอกว่าพระเจ้าย่อมเข้าด้วยกับคนที่ทำดีๆ ช่วย น้ำมันพาพัดบัญชีไปโผล่ที่ข้างล่าง กรรมการก็ได้บัญชีนั้นมา แต่บัญชีที่จมน้ำที่เขียนมันก็เลอะจำอะไรไม่ได้ แล้วกรรมการก็ได้บัญชีนั้นกลับมา นึกภาพออกว่ามันเปื่อยขนาดไหน กรรมการบอกบัญชีที่หายไปบัดนี้ได้กลับมาแล้ว แต่กรรมการขอสงวนสิทธิ์ไม่ให้ใครดู เพราะฉะนั้นใครที่เป็นหนี้อยู่เท่าไร ขอให้รีบมาแจ้งกับคณะกรรมการ ตกลงสมาชิกก็ไปแจ้ง ถ้าแจ้งพลาดไม่ตรงกับบัญชีโน้น เพื่อนจับได้แน่ๆ ก็เลยไปแจ้ง เพราะตัวเองเป็นหนี้เท่าไรจำได้หมด ปรากฏว่าตรงหมด แต่บัญชีมันดูไม่ออกแล้ว ปรากฏว่าไม่มีเลยที่หนี้สูญ กลับตามปกติ แล้วที่ตรวจสอบว่าถูกหรือตรงไม่ตรง บังเอิญว่ามีอยู่ชุดหนึ่งอยู่ที่สถาบันมูลนิธิหมู่บ้าน พอ อ.เสรี พงศ์พิศ เอาไปตรวจสอบ บอกว่าตรงหมดเลย แสดงว่าชาวบ้านมีความซื่อสัตย์โดยพื้นฐานแล้ว ไม่คิดฉ้อ คิดโกงหรอก ชาวบ้านที่ไปเรียนมากไปผมไม่แน่ใจเหมือนกัน ผมว่านี่เราชี้ให้เห็นได้ว่า กลุ่มสัจจะออมทรัพย์ ดีเหมาะกับเรา กับชาวบ้านๆ แต่อาจจะไม่เหมาะกับคนเรียนมากๆ ก็ได้ อันนี้แต่ละหมู่บ้านเขาคุมกันเอง ผมมั่นใจและประสบการณ์คือ ไม่กล้า เพราะในชุมชนรู้ว่าใครป่วย แล้วก็ไปเยี่ยมไปดูกันอยู่ เพราะว่ากลุ่มออมทรัพย์จะโตได้ไม่เกิดตำบล ถ้าเกินตำบลจะคุมกันไม่ได้ แต่ในตำบลเดียวกันถึงแม้ว่ามันก็โตต้องแยกเป็นกลุ่มสาขาย่อย จะได้คุมกันดูได้หมด เช่นคลองเปี่ยม ๕๐๐๐ คนจริง แต่ตัวเลขขึ้นไปอยู่ที่กองกลาง นอกนั้นก็คุมกันเป็นหมู่บ้าน เพราะคนในหมู่บ้านรู้กันหมดว่าใครเป็นอะไร เพราะฉะนั้นการยืมเงินกู้เงินจากกลุ่มสัจจะออมทรัพย์ไปทำอะไรมันจะตรงวัตถุประสงค์ เพราะว่ามันติดตามได้ ถ้าเรากู้จากแหล่งการเงิน ไม่คำนึงว่าตรงหรือไม่ตรงวัตถุประสงค์ แต่ขอให้คืนเงินได้ก็ใช้ได้ เขาเน้นที่คืนเงิน เราเน้นที่ความเป็นจริง เพราะฉะนั้นผมว่ากลุ่มนี้สมควรหลายเรื่อง จุดอ่อนอาจจะมี แต่ผมคิดว่าอันนี้สมบูรณ์พอสมควร เหมาะกับเราที่จะต้องช่วยตัวเอง ต้องช่วยชุมชน ที่มีลักษณะนิสัยไทยๆ ตอนนี้กำลังขยายแนวความคิดไปภาคอื่นๆ มากๆ ด้วย อย่ามากแต่ภาคใต้ เพราะเดี๋ยวกระแสมันน้อยแรง ถ้าทั้งสี่ภาคลุกขึ้นมาอย่างนี้ก็ช่วยชาติได้ แล้วต่อไปในอนาคตผมก็ดูแนวโน้ม เงินในชุมชนจะเหลือแน่ จะมีปัญหาว่าเงินเหลือจะทำอย่างไร ทีนี้ต่อไปหน้าที่พวกผมก็คือ ทำอย่างไรจะต่อรองกับรัฐบาล ให้รัฐบาลรับฝากเงินเรา โดยที่ไม่เหมือนทั่วไป โดยผมเสนอว่าถ้าอยากให้รัฐบาลช่วย อยากให้รัฐบาลช่วย ถือดอกเบี้ยเงินกู้ ออมสินก็ได้ ถ้าออมสินปล่อยกู้ร้อยละ ๙ เราขอร้อยละ ๗ ขอส่วนต่าง ๒ บาท ขอให้รับฝากตรงนี้ แล้วเราจะฝากอย่างน้อย ๕-๒๐ ปีฝากยาวเลย ให้รัฐบาลเอาเงินนี้ไปปลดหนี้ IMF แล้วมาเป็นหนี้ตรงนี้ แล้วต่อไปถึงจุดนั้น ประชาธิปไตยเกิดเต็มใบ ไม่ต้องไปนั่งท่องกันว่า ทำอย่างนี้เกิดเต็มใบ ถ้าถึงจุดว่ารัฐบาลมาเป็นหนี้ตรงนี้ เราเจ้าของเงินก็บังคับรัฐบาลได้เหมือนของ IMF เพราะฉะนั้นต้องใช้เวลาหน่อยตรงนี้ รณรงค์คิดเรื่องนี้ แล้วทางนี้ทางใต้เราบอกแล้ว ถ้ารัฐบาลจะเอาเดือนละล้าน เราจะให้ยืม เพราะเราเห็นใจ เห็นใจรัฐบาลเหมือนกัน ให้รัฐบาลช่วยอย่างนี้แล้วก็วนกลับไปให้รัฐบาล วิธีนี้ที่ผมเสนออย่างนี้รัฐบาลสนับสนุนกองทุนชุมชน ชุมชนมีเงินเหลือก็ฝากรัฐบาล ๆ ก็ไม่ต้องไปเดือดร้อน ไม่ต้องใครมาบีบเราก็ว่ากันเองได้ นั่นคือความคิดของใครๆ ว่าถ้าชุมชนทั่วประเทศมีเงินเหลือให้รัฐบาลกู้ได้ ประชาธิปไตยไม่ต้องไปร้องขอ แล้วเรื่องซื้อเสียงหมด เพราะชุมชนที่มีกองทุนที่เข้มแข็ง ไปซื้อไม่ได้ เอาเงินไปล่อไม่ได้เขาไม่ต้องการ เราต้องการทำอย่างที่อยากจะทำ เพราะคนที่ซื้อได้คืออย่างที่ว่า เขาเอาเงินมาล่อเราก็อยากได้ เขาว่าไงเราก็ทำตาม แต่เรายืนหยัดของเรา เราเอาอย่างนี้ คุณจะให้ก็ให้ไม่ให้ก็ไม่ให้ เราเลือกผู้แทน เราเลือกอย่างนี้ ใครมาให้ไม่ให้เราก็เลือกอย่างนี้ ผมว่านั่นคือการต่อสู้ของประชาชน แต่ว่าต้องใช้เวลายาวนานกว่าจะเกิดสิ่งเหล่านี้ แต่ผมว่าไม่ต้องท้อถอย ถ้าเราทำคงจะได้เห็นในชาตินี้ไม่ต้องรอชาติหน้า ขอบคุณครับ

อ.สมเกียรติ ผมมีคำถามต่อมาเกี่ยวกับสวัสดิการว่าสำหรับสัจจะออมทรัพย์ ได้มีกิจกรรมต่างๆ เกี่ยวกับเรื่องสวัสดิการอย่างกว้างขวาง ในส่วนของเด็ก ผู้หญิง และคนชรา ได้มีกิจกรรมอะไรที่เกี่ยวกับ คุณภาพชีวิต หรือ การดึงเอาค่าต่างๆ ของคนชราซึ่งเป็นผู้อาวุโสในชุมชน ได้กลับมาเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมหรือชุมชนอย่างไรบ้าง ไม่ทราบว่าประเด็นเหล่านี้มีอยู่ในกลุ่มออมทรัพย์หรือไม่

ครูชบ ประเด็นเรื่องคนชรา ถ้าเราคิดถึงวัฒนธรรมของเราในชนบท เราไม่ทิ้งคนชรา ยกตัวอย่างว่า เช่น กลุ่มออมทรัพย์เครือญาติ เราจะเน้นเรื่องคนชรา เห็นชัด แต่ละปี สมมติว่าผมอยู่กรุงเทพฯ อยู่ต่างจังหวัด พอสิ้นปีเดือนเมษายน เราจะมีจัดงาน เรียกว่า วันกตัญญู ภาษากลาง บ้านผมบ้านนอกเขาเรียกว่า อาบน้ำคนเฒ่าคนแก่ เราก็เอาคนเฒ่าคนแก่ที่เคารพนับถือมาอาบน้ำให้ พระมาสวดมนต์ เราก็เอาผ้าใหม่ ชุดใหม่ไปให้คนเฒ่าคนแก่ แล้วฟังโอวาทคนเฒ่าคนแก่ คือให้ตามวัฒนธรรมเราทั้งภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคใต้ เรายังเคารพอยู่ ที่ตะวันตกเขาอาจจะไม่คิดเรื่องนี้แต่เรายังมีความคิดเรื่องนี้ กลุ่มสัจจะออมทรัพย์ยังยึดมั่นอยู่ว่า ผู้มีบุญคุณต้องตอบแทน ต้องเลี้ยงดู   

Back to home Go to member page www.oocities.org/univmidnight