มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ทางเลือกของอุดมศึกษา
จินตนาการสำคัญกว่าความรู้
การเลือกตั้งเป็นกระบวนการหนึ่ง
ในระบอบประชาธิปไตย แต่รัฐธรรมนูญฉบับใหม่
ยังได้เปิดโอกาสให้ประชาชน ตรวจสอบ ถอดถอน
และเสนอกฎหมายได้
นอกจากนี้ยังให้สิทธิประชาชน
ที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม สามารถจัดให้มีการชุมนุม
เรียกร้องได้ อย่างไรก็ตาม แม้แต่การเลือกตั้งเอง
ประชาชนมีทางเลือกมากแค่ไหน
กับพรรคการเมืองที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ทั้งนี้เพราะฐานคิดของนักการเมือง
เกือบทุกพรรคได้รับการครอบงำโดยความคิด
เศรษฐกิจ อุตสาหกรรม พัฒนา
เรายังไม่มีพรรคการเมืองที่มาจากฐานคิดอื่นๆ
หรือกลุ่มบุคคลที่หลายหลายพอ ถ้าเช่นนั้น
เราควรทำอย่างไร ? ...พบกับคำตอบเหล่านี้ได้ใน
ทีทรรศน์ท้องถิ่น ตอน เลือกตั้ง กับ การเมืองภาคประชาชน
Midnight's Political discussion

ประมวล เพ็งจันทร์ : อ.นัทมนครับ, ในฐานะเป็นสุภาพสตรีท่านเดียวที่นั่งอยู่กับเราในที่นี้, อาจารย์มองพรรคการเมืองไทยซึ่งเป็นอยู่ในตอนนี้ อาจารย์คิดว่ามันมีความต่างอะไรกันไหมครับ ? นโยบายของพรรคการเมืองที่มีอยู่ตอนนี้เกี่ยวกับปัญหาด้านสิทธิสตรี หรือปัญหาที่โยงใยไปสู่ความเป็นผู้หญิงในสังคมไทย

นัทมน คงเจริญ : คือถ้าต่อประเด็นจาก อ.สมเกียรติ, อย่างเช่น ความแตกต่างของนโยบายที่แต่ละพรรคเสนอ มันไม่ได้ต่างกันเลย. บางครั้งนโยบายใหม่ๆที่พรรคการเมืองเสนอขึ้นมา อาจจะฟังดูหวือหวา แล้วก็ดูจูงใจคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง โดยเฉพาะคนเล็กคนน้อยที่ไม่ค่อยมีใครฟังเสียงมาโดยตลอด, แต่ว่าในประเด็นนี้ ในส่วนของการพูด สามารถเอามาเชื่อมโยงได้ว่า นโยบายที่วางเอาไว้ คุณทำจริงได้หรือเปล่า ? มันสามารถแปลนโยบายออกมาในเชิงปฏิบัติได้จริงไหม ?

อยากจะยกตัวอย่างว่า ในกลุ่มต่างๆ มันก็จะมีหลากหลาย อย่างเช่นกลุ่มเกษตรกร กลุ่มผู้ใช้แรงงาน… และอยากจะยกตัวอย่างในกลุ่มของผู้หญิงว่า กลุ่มของผู้หญิงก็เป็นกลุ่มหนึ่งที่มีบทบาทในทางการเมือ งอย่างไม่เป็นทางการมานานแล้ว ในการเมืองภาคประชาชน. แต่ว่า พอเอาเข้าจริงๆในปัจจุบัน ผู้หญิงเริ่มผลักดันตัวแทนของตนเองให้เข้ามามีส่วนร่วม โดยการเข้ามามีบทบาทการเมืองในระบบมากขึ้น. จากเดิมมานี่ ผู้หญิงซึ่งเข้ามามีบทบาททางการเมืองมักจะเป็นตัวแทนจากชนชั้น หรือเครือญาติมากกว่าที่จะเป็นตัวแทนบทบาทหญิงชาย.

ถ้าเราสังเกตุดูการผลักดันรัฐธรรมนูญที่ผ่านมา เช่นการรณงค์เรื่องธงเขียวนะคะ จะพบว่าบทบาทของผู้หญิงได้เข้ามามีส่วนร่วมในทางการเมืองในระบบมากขึ้น จนในปัจจุบันเริ่มมีการส่งตัวแทนของผู้หญิงเข้ามา เพราะฉะนั้นในส่วนนี้ ถ้าจะถามว่าเราจะเลือกพรรคไหน ? ที่จะเสนอนโยบายที่แตกต่างกัน เราคงจะต้องดูว่า จุดยืนของผู้ลงสมัครเป็นอย่างไร ซึ่งสะท้อนตัวพรรคการเมืองของเขาเอง. แล้วเข้ามาในประเด็นของผู้หญิงว่า ไม่เพียงแต่คุณเป็นผู้หญิงหรือเป็นตัวแทนจากกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเท่านั้น แต่คงจะต้องดูที่ประเด็นข้อเท็จจริงที่คุณนำเสนอว่า มันสามารถผลักดันให้เป็นรูปธรรมขึ้นมาได้มากน้อยแค่ไหน ?

ประมวล เพ็งจันทร์ : แล้วถ้าอาจารย์จะไปเลือกตั้งทั่วไป อาจารย์คิดว่า อาจารย์จะเลือกพรรคนี้เพราะพรรคนี้มีนโยบายเกี่ยวกับสตรีเด่นชัด หรืออาจารย์เลือกโดยนโยบายซึ่งไม่เกี่ยวกับเรื่องสตรี

นัทมน คงเจริญ : คิดว่าคงจะดูที่นโยบายโดยรวมมากกว่า

บทสนทนา เรื่อง "การเลือกตั้ง กับ การเมืองภาคประชาชน (ต่อ)
ทีทรรศน์ท้องถิ่น
Midnight University
MNU

 

บทบาทของผู้หญิงกับการเมือง
นโยบายของพรรคการเมือง เกี่ยวกับเรื่องของผู้หญิง

ในทุกวันนี้ พรรคการเมืองทั่วโลก
มีนโยบายเกี่ยวกับเรื่อง
ผู้หญิงอย่างไรบ้าง ?

นิธิ เอียวศรีวงศ์ : ผมคิดว่าไม่ใช่เพียง อ.นัทมน เท่านั้นที่จะมองเรื่องเกี่ยวกับผู้หญิง อันนี้น่าที่จะ... กลุ่มผู้หญิงก็ตาม กลุ่มแม่บ้านในหมู่บ้านก็ตามแต่ น่าจะรวมตัวกัน แล้วก็จัดการหรือจัดองค์กรขึ้นมา เพื่อที่จะใช้เป็นเครื่องมือต่อรองเชิงนโยบายเกี่ยวกับผู้หญิงได้ด้วย. กาหัวพวก สส.ทั้งหลายที่ต่อต้านตัว พรบ.นามสกุล, ถ้าคุณเห็นด้วยกับเขา คุณเลือกเขาไปเลย, แต่ถ้าคุณคิดว่านั่นเป็นการดูถูกผู้หญิง ก็อย่าไปเลือกมัน.

ผมคิดว่านี่เป็นประเด็นสำคัญครับว่า ถ้าเรา... การเมืองภาคประชาชนจะมีพลังได้ เราจะต้องมีการจัดองค์กร เพื่อที่จะมีความสามารถที่จะมีพลังในการต่อรองในการเลือกตั้งได้ด้วย. ไม่ควรจะเป็นเพียงแต่ว่า ไปเลือกตั้งให้ถูกต้องตามกฎหมาย… อันนั้นก็จำเป็น แต่ที่สำคัญกว่านั้นก็คือว่า, คุณรวมกลุ่มกัน แล้วพยายามที่จะจัดองค์กรขึ้นมาให้สามารถที่จะต่อรองเชิงนโยบายกับคนที่มาสมัครเป็น สส.

ประมวล เพ็งจันทร์ : ผมฟัง อ.นิธิ ทำให้นึกถึง อ.สมชายว่า เป็นไปได้ไหมครับที่ พรบ.ป่าชุมชนที่ร่างโดยประชาชน ยกขึ้นมาเสนอเสียเลยนะครับว่า มีพรรคการเมืองไหนที่จะรับร่างฉบับนี้ โดยไม่มีการเล่นแร่แปรธาตุ แล้วเราจะเลือก

สมชาย ปรีชาศิลปกุล : ผมเห็นด้วยนะครับ… ไม่รู้ว่าเห็นด้วยกับใคร คือสิ่งที่เรากำลังพูดกันอยู่ก็คือว่า เรากำลังสะท้อนการเลือกตั้งที่ทำให้คนไปลงคะแนนกลายเป็นปัจเจกที่เป็นคนๆ. มันเป็นการเลือกตั้งที่ไม่สามารถสะท้อนความต้องการของคนออกไปได้.

การที่ทำให้แต่ละคนกลายเป็นคน แล้วไปหย่อนบัตรผมคิดว่า… มันจะมีการโฆษณาตามโทรทัศน์ต่างๆที่บอกกับเราว่า "เสียงของท่านกำหนดอนาคตของประเทศชาติได้" ซึ่งส่วนตัวผมแล้ว ผมคิดว่าเสียงของผมไม่เคยกำหนดประเทศชาติเลย. คนที่ผมเลือกนี่ ถ้าจะเป็น สส. ก็จะมาอันดับท้ายๆ อันนี้ถ้าบังเอิญโชคดี หรือไม่งั้นก็ไม่ได้เลย. แล้วบ่อยครั้งเสียงของผมจะตกไป. เพราะฉะนั้นจะบอกว่าเสียงของผมกำหนดอนาคตของประเทศชาติไหม ? ผมว่ามันกำหนดไม่ได้หรอก เสียงของคนที่ถูกทำให้เป็นคนๆเดียวแล้วไปหย่อนบัตรเลือกตั้ง ผมจึงเห็นควรให้มีการรวมกลุ่ม ในแง่ของการเสนอนโยบาย.

แต่ตอนนี้นี่ สิ่งที่ผมค้นพบที่เป็นปัญหาตามมาก็คือ หลายครั้งในเกือบทศวรรษที่ผ่านมา มีความพยายามที่จะเสนอนโยบายจากภาคประชาชนขึ้นไป เช่น กลุ่มของผู้ใช้แรงงานเสนอว่า ถ้าพรรคการเมืองใดเห็นด้วยกับนโยบายการส่งเสริมแรงงาน เราจะเทคะแนนให้. ผมเคยเห็นเรื่องการรณรงค์ทางด้านนี้มา แต่สิ่งที่เกิดขึ้นซึ่งเป็นปัญหาตามมาก็คือว่า สมมุติว่าพรรคการเมืองเขารับ แล้วไปเบี้ยวทีหลัง. สิ่งที่เห็นก็คือ พรรคการเมืองนั้นอาจได้รับการเลือกตั้งเข้าไป…

เพราะผมคิดว่าปัญหาในสังคมมันมีความสำคัญที่ซ้อนกันอยู่หลายเรื่อง เช่นกลุ่มผู้หญิง เห็นว่าพรรคนี้ไม่สนับสนุน พรบ. นามสกุล, แต่พอไปเลือกตั้ง เขาอาจจะไปเลือกตั้งด้วยเหตุผลอื่น ซึ่งผมเห็นว่าการพยายามรณรงค์ให้นโยบายจากภาคประชาชนขึ้นไป ที่เคยเกิดขึ้น มันยังไม่เห็นถึงการกำกับที่ตามมาภายหลัง… ที่ว่าถ้าเผื่อพรรคการเมืองรับไปแล้วเบี้ยว จะทำอย่างไร ?

ผมคิดว่านโยบายที่ชัดเจน อย่างการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ บางพรรคการเมืองเสนอมาเป็นเอกสาร อันนี้เป็นเอกสารด้วยซ้ำนะครับ ชัดเจนว่า พรรคนี้มีการสนับสนุนให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าฯ แต่พอหลังจากการเลือกตั้งผ่านไป พรรคการเมืองนั้นก็ไปปรับใหม่… ถ้ามันจะสะท้อนอะไรได้ ในส่วนตัวคิดว่า พรรคการเมืองไทยในสังคมปัจจุบัน มาตรฐานมันต่ำขนาดไหน ? แต่ผมคิดว่า สิ่งที่ผมสะท้อนอีกอย่างหนึ่งก็คือ มันสะท้อนให้เห็นได้หรือเปล่าว่า ในสังคมของเรา ในแง่ของการเมืองภาคประชาชน เอาเข้าจริง,มันก็ยังไม่ถึงระดับเข้าไปควบคุมการเมืองภาคที่เป็นทางการได้

นิธิ เอียวศรีวงศ์ : คือผมว่าใช่นะครับ หมายความว่าการเมืองภาคประชาชนนี่ ในด้านการจัดองค์กรทางการเมืองเพื่อการต่อรองในทางการเมืองนี่อ่อนแอ แต่ภาคอื่นๆผมเห็นว่าไม่อ่อนแอ. แต่ที่นี้ ผมไม่อยากให้พวกเราสิ้นหวังกันจนเกินไป เพราะว่ามันมีอะไรบางอย่างที่เกิดขึ้นมาในสังคมไทย อย่างน้อย 2 อย่างคือ

อย่างที่หนึ่งคือ, อบต. และองค์กรปกครองท้องถิ่นกำลังได้งบประมาณเพิ่มขึ้น ซึ่งจะทำให้เขาเป็นผู้ตอบสนองการสร้างถนน การหาน้ำปะปา และอื่นๆที่ประชาชนต้องการ. และครั้งหนึ่งเคยได้โดยการไปสร้างสายสัมพันธ์พิเศษในเชิงอุปถัมภ์กับ สส. คราวนี้คุณหันมาที่ อบต.ของคุณแล้ว. และประชาชนก็มองเห็นแล้วว่า สส.จะต้องมาทำอะไรบางอย่างที่ไม่ใช่แค่การสร้างถนน หรือต่อน้ำปะปาอย่างเก่า

อันที่สองต่อมาก็คือ, รัฐธรรมนูญฉบับประชาชนได้กำหนดให้เขตเลือกตั้งเล็กลง ซึ่งทำให้การจัดองค์กรและการสร้างเครือข่ายองค์กรในเขตเลือกตั้งที่เล็กลงนั้น มีหวังว่าจะเป็นไปได้. แต่ผมไม่ได้บอกว่าจะต้องเกิดขึ้นนะครับ แต่ว่ามันง่ายขึ้นกว่าแต่ก่อนเยอะในการที่คุณจะคุม สส.ของคุณ และผมคิดว่าโอกาสที่เราจะคุม สส.ของเรา คุมนักการเมืองท้องถิ่นของเรา ผู้สมัครรับเลือกตั้งของเรา มันเกิดขึ้นแล้วในตอนนี้. และน่าจะคิดกันให้หนักในเรื่องการจัดองค์กรที่จะต่อรองในทางการเมืองในระบบนี่ให้มากขึ้น

ประมวล เพ็งจันทร์ : เท่าที่ฟัง อ.นิธิ และ อ.สมชายนี่ เป็นไปได้ไหมครับที่ต่อแต่นี้ เราไม่ให้นักการเมืองมาหาเสียง, แต่ อบต.หรือชุมชนอะไรก็แล้วแต่ กำหนดมาเลยนะครับว่าเขาต้องการอย่างนี้ ในกรณีนี้ มีนักการเมืองคนไหนที่จะไปผลักดันให้เรื่องนี้เป็นจริงในเชิงปฏิบัติในระบบรัฐสภา หรือระบบราชการก็แล้วแต่ ถ้าคนไหนสามารถทำได้ เราจะเลือกคนนั้น… คือไม่ใช่ให้เขามากำหนดว่า เขาจะเอาอย่างไร ? แต่ชุมชนเป็นผู้กำหนดเองว่าเราจะเอาอย่างนี้

ไพสิฐ พาณิชย์กุล : คือถ้ามองจากฐานการเมืองภาคประชาชนไป การที่ประชาชนรุกขึ้นมาอย่างนี้ คิดว่าเป็นการจุดประกายของประชาชนขึ้นมา แม้ว่าจะยังไม่สามารถติดต่อพรรคการเมืองได้ก็ตาม แต่ถ้าคนมานั่งรวมกลุ่มพูดคุยปัญหาของตัวเองว่าคืออะไร ? แค่นี้ก็ถือว่า การเมืองภาคประชาชนได้เกิดขึ้นมาแล้ว

แต่ถ้าหากมองการเมืองภาคประชาชนไปเชื่อมต่อกับเรื่องของการเลือกตั้ง ตัวของพรรคการเมืองเองในปัจจุบัน พยายามที่จะใช้นโยบาย ทำตัวเหมือนกับขายสินค้าล่วงหน้าว่า ถ้าเผื่อได้รับเลือกตั้งเข้าไปแล้ว จะเข้าไปทำอย่างนั้นอย่างนี้ อันนี้ก็เกิดปัญหาอย่างที่ อ.สมชายพูด ที่ว่าไม่มีขบวนการหรือเครือข่ายที่จะไปกำกับให้มันเกิดขึ้นมา

ผมคิดว่าในส่วนที่การเมืองภาคประชาชนต้องทำ นอกจากจะทำอย่างที่อาจารย์พูดแล้ว แต่ปัญหาจะเกิดขึ้นคือว่า จะไม่มีพรรคการเมืองมา. เพราะพรรคการเมืองเขาไม่ได้คิดถึงสิ่งที่ชาวบ้านต้องการอะไร ? แต่เขาคิดว่า เขาไปที่ไหน เขาจะได้... เพื่อให้ตัวเองเข้าไปนั่งในตำแหน่งนั้น แล้วก็ไปหาทางออกที่จะไม่ทำตามนโยบาย.

ผมจึงอยากจะเสนอในที่นี้ว่า ความต้องการของประชาชน อย่างเช่น พรบ.ป่าชุมชน นอกจากพรรคการเมืองจะหยิบขึ้นไปหาเสียง แล้วไปดำเนินการต่างๆก็ดี ผมคิดว่าจะต้องรุกคืบไปอีกขั้นก็คือว่า จะต้องเอาเครือข่ายหรือขบวนการของตัวเอง เข้าไปสู่ขบวนการทางการเมืองอย่างเป็นทางการด้วย.

อันนี้สำคัญในแง่ที่ว่า การที่ได้เข้าไปมีส่วนร่วมในขบวนการการเขียนกฎหมายระดับชาติ นอกจากตัวเองได้ประโยชน์แล้ว ตรงนี้คือประโยชน์ที่ตัวเองจะได้จากการเมืองในระบอบประชาธิปไตยอย่างมีส่วนร่วม โดยไม่ต้องไปผ่านกลไก หรือคนปิดเปิดประตูทำนบพรรคการเมือง ซึ่งแทบจะไม่มีประโยชน์เลย... และยิ่งเจอพรรคการเมืองแบบโบราณๆ ก็ยิ่งทำให้โอกาสในการถูกคอรัปชั่นก็ดี ถูกบิดเบือนไปก็ดี ยิ่งทำให้เกิดปัญหาขึ้นไปอีก.

เพราะการเมืองภาคประชาชน คือการเมืองซึ่งประชาชนได้เข้าไปมีส่วนในการกำหนดอนาคต ชะตาชีวิตของตัวเองได้โดยตรงมากกว่า. และในอนาคตต่อไป สังคมมันซับซ้อนมากขึ้น นโยบายรวมๆบางทีมันทำให้เกิดปัญหาขึ้นมาเหมือนกันว่า พื้นที่ตรงนี้ไม่จำเป็นต้องไปสนใจกับนโยบาย เพราะเรื่องตัวเองเผชิญอยู่มันเป็นเรื่องเฉพาะอีกด้านหนึ่ง เพราะฉะนั้นการแตกประเด็น... การพูดถึงนโยบายจึงต้องมาลงรายละเอียดเหมือนกันว่า เรื่องไหนประเด็นไหนซึ่งเป็นเรื่องที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตชุมชนของตนเอง แล้วเรื่องนั้นเป็นเรื่องที่ไปเชื่อมโยงกับพื้นที่อื่น แล้วจัดเป็นกลุ่มนโยบายขึ้นมา. แต่พวกนักการเมืองที่ใช้นโยบายทางด้านการเงินเป็นอย่างนั้น นโยบายการพัฒนาเป็นอย่างนี้กว้างๆ ผมคิดว่านโยบายอย่างนี้เป็นนโยบายหลอก

ประมวล เพ็งจันทร์ : ผมคิดถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในสังคมไทยเมื่อไม่นานมานี้ กรณีจะมีการแก้ไข พรบ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง สส. และ สว. โดยที่จะให้มีการปรับหรือเรียกเงินจากผู้ซึ่งเป็น สส.ในเขตเลือกตั้งแล้วจะไปเป็นรัฐมนตรี. ฟังเสียงของพรรคการเมืองทุกพรรคแล้ว ส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วย โดยยกเอาเหตุผลขึ้นมาสารพัด. แต่พอถึงวันที่จะลงมติแล้วมีเสียงบีบจากประชาชนว่า ทุกคนต้องการให้ สส. จ่ายเงิน ก็ปรากฏว่าได้มีการยอมผ่านกฎหมายฉบับนี้ไปได้ ทั้งที่ความจริงดูแล้วก็ฝืนใจพรรคการเมืองทุกพรรคเลย นั่นแสดงว่า แรงบีบคั้นจากความรู้สึกของประชาชน ถ้ามีกระแสที่เชี่ยวกรากพอ ก็สามารถบังคับได้. กรณีนี้ อาจารย์คิดว่ามันจะเกิดขึ้นมาได้ไหมครับ ในกรณีเกี่ยวกับ พรบ.ฉบับต่างๆ เช่น พรบ.ป่าชุมชนอะไรอย่างนี้ ?

สมชาย ปรีชาศิลปกุล : คิดว่าในสังคมไทยตอนนี้ สิ่งที่มันเป็นประเด็นซึ่งผลักให้เป็นญัตติสาธารณะนี่ ผมเห็นด้วย เช่น เราไม่ค่อยพอใจกับ สส. ซึ่งถ้าได้รับเลือกตั้งมาจากการแบ่งเขตเลือกตั้งแล้วลาออกไปเป็นรัฐมนตรี คนรู้สึกรับไม่ได้. แต่พอหลายๆเรื่อง มันเป็นเรื่องซึ่งผมคิดว่ามันไม่สามารถตัดสินได้ในฉับพลัน ซึ่งมันจะทำให้ประเด็นบางประเด็นที่ละเอียดลงมาหน่อย ผมคิดว่ามันจะไม่สามารถสร้างญัตติสาธารณะให้เกิดขึ้นมาได้ ซึ่งอันนี้เป็นปัญหา

ผมขอยกตัวอย่าง กรณีเรื่องปัญหาเขื่อนปากมูล หรือปัญหาเกี่ยวกับเรื่ององค์กรจัดสรรคลื่นความถี่. ทั้งหมดนี้ คิดว่ามันเป็นเรื่องที่จะไม่สามารถทำให้สังคมรับรู้หรือเห็นประโยชน์โดยตรงได้ เนื่องจากมันมีความละเอียดและซับซ้อน... ไม่เหมือนกับเผด็จการประชาธิปไตยที่เราสามารถเลือกได้. ผมคิดว่าสิ่งนี้จะเป็นปัญหา ถ้าเผื่อเราพยายามจะสร้างนโยบายพื้นฐานจากลุ่มต่างๆ ในปัญหาที่มันเป็นนโยบายย่อยๆที่ไม่ได้ผนวกคนทั้งประเทศเข้าด้วยกัน หรือสังคมมีความรู้สึกร่วมกัน. อันนี้คิดว่าเป็นปัญหาที่ทำให้คนบางกลุ่มอาจจะ... เมื่อไม่สามารถผลักให้เป็นญัตติสาธารณะได้ ผมคิดว่าจะถูกกระทำ...

นิธิ เอียวศรีวงศ์ : ผมเห็นด้วยกับ อ.สมชายว่า เวลานี้ญัตติสาธารณะมันสามารถเกิดขึ้นได้จากประชาชน. สมัยก่อนจะมีแต่ข้าราชการ นักการเมือง นักธุรกิจ ทหาร เป็นผู้สร้างญัตติสาธารณะ แต่พอตอนนี้ประชาชนสร้างได้.

คราวนี้ ประชาชนกลุ่มไหนล่ะที่เป็นผู้สร้างญัตติสาธารณะขึ้นมา อันนี้คือปัญหาข้อที่หนึ่ง... ผมคิดว่า 90% เป็นคนชั้นกลาง, คนชั้นกลางสามารถสร้างญัตติสาธารณะได้ แต่ไม่ใช่ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ ไม่ใช่คนจนๆ ไม่ใช่คนในชนบทที่เป็นผู้สร้างญัตติสาธารณะ อันนี้คือปัญหาข้อที่หนึ่ง.

ข้อที่สองต่อมา, คือเอาละ ยอมให้คนชั้นกลางเป็นคนสร้าง คนชั้นกลางมีความรักความเป็นธรรมอะไรก็แล้วแต่เถอะ แต่ถามว่าชนชั้นกลางไทยมีความรู้ไหม ? ผมว่าไม่มี แล้วก็ไม่สนใจที่จะหาความรู้ด้วย เพราะฉะนั้นญัตติสาธารณะที่คุณสร้างมาจำนวนไม่น้อย มันควรจะเป็นญัตติก็ไม่เป็น เพราะว่าคุณสตึไง.

พูดกันตรงไปตรงมาเลย... เช่น คุณมีความรู้เรื่องปากมูลแค่ไหน ? ไม่มีเลย ฉะนั้น ปากมูลที่ชาวบ้านเดินขบวนมาเป็นสิบๆปี จึงไม่เป็นญัตติสาธารณะ เพราะคนชั้นกลางไม่รู้เรื่องเลย นี่เป็นกรณีที่ผมว่าน่าวิตก. คือเรามีคนชั้นกลางซึ่งมีอำนาจมากขึ้น แต่ในขณะเดียวกันเราก็พบว่าชนชั้นกลางของเรา ไม่ได้มีคุณภาพเพิ่มขึ้น

 


ชนชั้นกลางสามารถสร้าง
ญัตติสาธารณะได้ ไม่ใช่ประชาชนส่วนใหญ่
ของประเทศที่สามารถทำได้

แต่ถามว่าชนชั้นกลางไทย
มีความรู้ไหม ?
ผมว่าไม่มี แล้วก็ไม่สนใจที่จะ
หาความรู้ด้วย

ชนชั้นกลางสตึ

สมชาย ปรีชาศิลปกุล : ผมขอเสริมต่อจากอาจารย์เพื่อให้มันเลวร้ายขึ้น คือชนชั้นกลางนอกจากไม่รู้เรื่องคนจนแล้ว ผมคิดว่าในเรื่องใกล้ตัวเขาๆก็ไม่รู้ เช่นเรื่องเศรษฐกิจ แนวทางการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ ซึ่งค้นพบว่า... และหลายๆแห่งก็ยอมรับว่า รัฐบาลปัจจุบันทำผิดพลาด แต่ผมคิดว่าชนชั้นกลางไทยในปัจจุบันยังแฮปปี้ ยังรับได้กับแนวทางการแก้ปัญหาแบบนี้.

หรือแม้กระทั่งในหลายๆเรื่องซึ่งผมคิดว่าชนชั้นกลางน่าจะผลักดันออกมาเป็นญัตติสาธารณะที่จะเป็นประโยชน์ต่อตัวเขาเอง เช่น ตัวอย่างของการปฏิรูปที่ดิน ไม่เคยถูกพูดถึง ไม่เคยถูกผลักออกมา ผมคิดว่า ชนชั้นกลางเรา ชนชั้นกลางในสังคมไทยเป็นจำนวนมาก ถูกกดขี่จากราคาที่ดินซึ่งมันถูกปรับโดยนายทุนระดับชาติ... ผมคิดว่าคนเป็นจำนวนมากที่ไปผ่อน town house ไปผ่อนที่ดินเนื้อที่ 20-30 ตารางวา ราคาที่ดินผมคิดว่าส่วนหนึ่งมันเป็นกำไรที่ไปเข้ากับใครต่อใครไม่รู้... ชนชั้นกลางไทย. นอกจากไม่รู้จักเรื่องของคนจนแล้ว เรื่องของตัวเองยังไม่ค่อยรู้ซะด้วย ว่ากำลังถูกกดขี่อยู่.

นัทมน คงเจริญ : อยากจะย้อนมาถึงเรื่องที่พูดเกี่ยวกับประเด็นการที่พรรคการเมืองรับกฎหมายเลือกตั้ง. อันนี้คิดว่ามันเป็นข้อได้เปรียบและเสียเปรียบทางการเมืองด้วยว่า พรรคการเมืองต่างได้ประเมินแล้ว, ฟังเสียงของชนชั้นกลางแล้ว, คิดว่าตัวเองอาจจะได้เปรียบพรรคอื่นก็ได้ในการที่จะเลื่อนตัวผู้สมัคร. เพราะฉะนั้นจึงนอกจากจะทำให้ถูกใจของชนชั้นกลางแล้ว ยังเป็นเรื่องที่ว่าตัวเองไม่เสียเท่าไหร่. ในขณะที่ คือคู่ต่อสู้หรือพรรคการเมืองอื่นๆ โดยเฉพาะพรรคเล็กๆอาจจะเลื่อนตัวผู้สมัครได้ลำบาก เพราะมีสายป่านไม่ยาวพอที่จะให้ตัวแทนจากเขตละคนนี่ มาเป็นรัฐมนตรี. เพราะฉะนั้น คิดว่าส่วนหนึ่งพรรคการเมืองก็เป็นเกมส์ของเขาที่จะเอาชนะคู่ต่อสู้

แต่ที่นี้กลับมาสู่ประเด็นของเราในเรื่องนโยบายสาธารณะ ทำอย่างไรถึงจะไม่ให้เป็นไปตาม… อย่างที่ปากมูล เหมือนกับว่ารัฐก็ฟังเสียงชนชั้นกลางนิดหน่อย พอประนีประนอม, แต่ก็ไม่ได้ยอมเสียทั้งหมด. ในขณะที่ก็เป็นการประเมินว่า ทำอย่างไรถึงจะถูกใจคนจำนวนมาก ซึ่งมองว่าฐานเสียงที่มีอำนาจจริงส่วนใหญ่นี่ อยู่ที่ชนชั้นกลาง. ในขณะที่ไม่มีนโยบายอะไรซึ่งยั่งยืน หรือเป็นระบบมากพอที่จะช่วยเหลือคนเกือบ 70% ของประเทศที่เป็นเกษตรกร ผู้ใช้แรงงาน หรือคนระดับล่าง. แต่ว่าถ้าเราจะเห็นนโยบายสาธารณะ อย่างที่ อ.สมเกียรติว่าก็คือ มีพวกเทคโนแครทในเรื่องของนโยบายพัฒนาเศรษฐกิจในเชิงทุนนิยมมากกว่า

ประมวล เพ็งจันทร์ : เมื่อสักครู่นี้ อ.สมเกียรติบอกว่ามีผู้สร้างวาทกรรม ประชาชนไม่ได้สร้างเอง อาจารย์คิดว่าใครเป็นผู้สร้างวาทกรรม หรือเป็นคนที่เสนอญัตติสาธารณะให้กับสังคมไทย อาจารย์มองเห็นไหมครับว่าใครเป็นผู้นำเสนอวาทกรรมที่ครอบงำคนไทยอยู่ในปัจจุบัน

สมเกียรติ ตั้งนโม : ผมว่าถ้าจะพูดกันถึงที่สุดเลย คนที่เสนอวาทกรรมระดับชาติและระดับโลกเลยคือสหรัฐอเมริกา

ประมวล เพ็งจันทร์ : เราไม่ได้เสนอเอง เป็นวาทกรรมที่สั่งเข้ามาหรือครับ...

สมเกียรติ ตั้งนโม : ไม่ครับ เราไม่เคยมีโอกาสที่จะเสนอวาทกรรมของตนเองเลย นอกจากเรารับวาทกรรมจากแนวคิดเศรษฐกิจ อุตสาหกรรม พัฒนา จากทุนนิยมอเมริกันมาเป็นสรณะของเราในปัจจุบันนี้

แต่สิ่งที่ผมอยากจะพูดต่อมา ผมอยากจะพูดถึงความสตึของชนชั้นกลางต่อจากที่ท่าน อ.นิธิพูดไปบ้างแล้ว. คิดว่าการที่ชนชั้นกลางเป็นคนสตึแบบนี้ เป็นเพราะว่าสื่อมวลชนในประเทศไทย ถูกครอบครองมาโดยระบบราชการมากี่สิบปี ปัจจุบันเปลี่ยนไปอยู่ในมือของนายทุนและนักการเมือง. ไม่มีสถานีโทรทัศน์หรือวิทยุที่เป็นของภาคประชาชนเลย สิ่งเหล่านี้ล่ะครับที่มันรับวาทกรรมมาจากต่างประเทศ มากับเศรษฐกิจแบบทุนนิยมสมัยใหม่ แล้วก็ครอบครองเวลาในสื่อของเราทั้งหมด หรือยัดเยียดความรู้ให้กับพวกเราทั้งหมดไปในทิศทางนั้นแต่เพียงทิศทางเดียว. ผมคิดว่าหยุดได้แล้วครับ วิธีการแบบนี้.

อีกอย่างหนึ่งก็คือ เวลาที่พวกเราเลือกนักการเมืองเข้าไปแล้ว, ผมสงสัยมากเลยว่า ทำไมคนที่บริหารประเทศของเรานี่ จึงเต็มไปด้วยคนที่ไม่มีความสามารถ แต่ได้รับการแบ่งปัน หรือการไกล่เกลี่ยผลประโยชน์อย่างเท่าเทียมกันทุกๆพรรคตามสัดส่วน ให้ไปกินตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงนั้น, รัฐมนตรีกระทรวงนี้. ผมคิดว่าเด็ก ป.4 ทุกคนมีความสามารถบริหารประเทศชาติได้เท่ารัฐมนตรีเมืองไทยได้หมด... ไม่เห็นมีใครที่มีความสามารถเลย. เพราะไอ้ระบบไกล่เกลี่ยผลประโยชน์แบบนี้แหละครับ ซึ่งมันมากับระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม… เลิกเสียทีเถอะครับ... ถ้าผมคิดจะเป็นนักการเมือง ผมก็จะเป็นนักการเมืองของประชาชน ไม่ใช่เป็นนักการเมืองแบบพวกนั้น… ผมว่าพอแล้ว น่าเบื่อหน่าย…


นโยบายของพรรคการเมืองไทย
เป็นการโคลนนิ่งมาจากสหรัฐอเมริกา
เรายังไม่มีวาทกรรมของตนเอง
เพียงแต่นำเข้าความคิดของคนอื่นเท่านั้น
การเมืองแบบนี้หยุดได้แล้ว

 

รัฐมนตรีในประเทศไทย มีความสามารถ
บริหารประเทศได้เท่าเก็บเด็ก ป.4 เท่านั้น
ทั้งนี้เนื่องมาจากระบบการไกล่เกลี่ย
ผลประโยชน์ของนักการเมือง

เราจึงได้รัฐมนตรีตามสัดส่วน แต่ไม่ใช่
ตามความสามารถ

ประมวล เพ็งจันทร์ : ตอนนี้ปัญหาพรรคการเมืองทุกพรรคที่มีชื่ออยู่ในใจเราตอนนี้ ที่คิดว่าจะเสนอตัวแทนเข้ามาในเขตเลือกตั้ง หรือในระบบบัญชีรายชื่อพรรคก็ดี ยังไม่มีพรรคใดสักพรรคหนึ่งเลยที่จะบอกว่า ถ้าได้เป็นรัฐบาลหรือมีโอกาสในการบริหารราชการแผ่นดิน แล้วเขาจะใช้นโยบายที่ต่างไปจากนโยบายที่มีอยู่ในปัจจุบัน อันนี้ในหลักการนะครับ ส่วนเรื่องหนี้สินนั้น เป็นเรื่องของรายละเอียดปลีกย่อย. แล้วอาจารย์จะให้พวกผมหรือคนที่มีโอกาสเลือกตั้งกันเร็วๆนี้จะไปเลือกใครล่ะครับ

นิธิ เอียวศรีวงศ์ : คือตอนนี้เรามีกลุ่มประชาชนหลายองค์กรด้วยกัน ยอมสารภาพว่าส่วนใหญ่เป็นชนชั้นกลาง ซึ่งกำลังเสนอทางเลือกในการแก้วิกฤต ถูกผิดเอาไว้ก่อนครับ. เสนอแนวทางในการแก้วิกฤตค่อนข้างไปในทางเดียวกัน หลายอย่างด้วยกัน. เช่นเป็นต้นว่า เว้นวรรค WTO เสีย เริ่มที่จะค่อยๆถอนตัวออกมาจาก WTO แล้วค่อยหวนกลับไปใหม่ใน 3 ปี, 5 ปี, 10 ปี แล้วแต่ที่จะตกลงกัน. ผมคิดว่าทางเลือกเชิงนโยบายนี่มันเกิดมาพอสมควร แต่ว่าพลังมันไม่มี เพราะจริงๆมันจำกัดตัวเองอยู่ในหมู่ชนชั้นกลางเท่านั้น. ทำอย่างไรชนชั้นกลางจึงจะเชื่อมต่อกับคนส่วนใหญ่ของประเทศได้ เพื่อที่จะได้จัดให้มันเกิดองค์กรเพื่อที่จะไปต่อรองเชิงนโยบายได้ด้วย ว่า ฉันต้องการทางเลือกของการแก้วิกฤตอีกอย่างหนึ่ง ไม่ใช่แบบนี้เป็นต้น.

ประมวล เพ็งจันทร์ : ขออนุญาตเอ่ยชื่อ ตอนนี้มีอาจารย์ท่านหนึ่ง อ.ณรงค์ เพชรประเสริฐ ที่ออกมาประกาศว่าจะมีการชุมนุมกัน เพื่อที่จะประกาศญัตติที่จะขอให้ประชาชนคนไทยทั้งหมด ช่วยกันใส่ใจ แล้วก็นำไปพิจารณาในการตัดสินใจเลือกตั้ง. พูดไปพูดมาก็มีเสียงกระซิบบอกว่า อย่างนี้ก็เข้าทางพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่ง ที่ตั้งชื่อพรรคขึ้นมาพอมีความหมายว่าเป็นท้องถิ่น หรือเป็นอะไรของไทยนี่นะครับ… ก็แล้วแต่ แต่ประเด็นก็คือ หมายความว่า ในขณะปัจจุบันนี้ที่จะมีการเลือกตั้งนี่ ผมคิดว่ามีคนซึ่งคิดอย่าง อ.สมเกียรติ หรือมีคนคิดตามที่เรากำลังพูดนี้เยอะมาก. แต่พอไปถึงจุดที่เราต้องตัดสินใจเลือก เราก็ไม่มีโอกาสที่จะเลือก.

อ.ไพสิฐ ในฐานะที่สนใจการเลือกตั้งด้วย สนใจกฎหมายด้วย คงไม่ใช่ไปแสดงสิทธิ์ว่าเราจะไม่เลือก เพราะในสุดท้ายก็ได้จำนวนมาว่า มีคนไปใช้สิทธิจำนวนหนึ่ง. จริงๆแล้วเราควรมีวิธีการอะไรมากไปกว่านี้ไหมครับ ?

หลายองค์กร มีการเสนอให้เว้นวรรค
WTO ค่อยถอนตัวออกมา แล้ว
ค่อยหวนกลับเข้าไปใหม่

ทางเลือกเชิงนโยบาย
มันเกิดขึ้นมาพอสมควร แต่
ว่ามันยังไม่มีพลังพอ

ไพสิฐ พาณิชย์กุล : คือถ้ามองจากจุดยืนภาคประชาชนนะครับว่า ทางออกของวิกฤตสังคมปัจจุบัน… อันนี้เป็นการเมืองของภาคประชาชน ไม่ใช่การเมืองของนักการเมือง. ถ้าเกิดมองจากจุดนี้ไป ผมคิดว่าดูตัวเลือกพรรคการเมืองซึ่งไม่แตกต่างกันนั้น เงื่อนไขสำคัญเวลาเราจะไปเลือกตั้ง "ให้ดูว่าเราสามารถที่จะคุมพรรคไหนได้มากที่สุด… อ.นิธิ เคยตั้งขอสังเกตุว่า ดูพรรคการเมืองที่อ่อนแอที่สุด ซึ่งมีโอกาสได้รับเลือกตั้งเข้าไป เราจะคุมได้ง่าย". ผมคิดว่าเลือกตามแนวคิดนี้จะดีกว่า

ประมวล เพ็งจันทร์ : ผมสงสัยว่า คำว่า"อ่อนแอ" มันหมายความว่าอะไรครับ

ไพสิฐ พาณิชย์กุล : คือมีแผลมาก อะไรต่างเหล่านี้ จะเป็นพรรคซึ่งเราสามารถคุมได้ง่าย. แต่ในขณะเดียวกัน การเลือกตั้งเป็นเพียงแค่… ผมไม่อยากให้มองการเลือกตั้งว่าจะเป็นสิ่งที่ให้คำตอบทั้งหมด. แต่อยากให้มองการเลือกตั้ง เป็นในแง่ของขบวนการหรือเป็นโอกาสในทางการเมือง โอกาสที่เราจะมาเจอกัน มาพูดคุยกัน เป็นกิจกรรมทางการเมืองซึ่งจะสร้างเครือข่ายขึ้นมา. ผมคิดว่าประเด็นตรงนี้นะครับ จะสามารถยกระดับในแง่ที่ทำให้นโยบายของพรรคการเมืองที่คุยๆไว้ สามารถถูกติดตามได้

อยากจะยกตัวอย่างว่า เช่นเรื่องของ ปัญหาเรื่องชุมชนแออัด เขาพยายามที่จะสร้างเครือข่ายขึ้นมา แต่ว่าใจปัจจุบันก็ยังไม่สำเร็จ. แต่ผมคิดว่าตรงนี้ยังมีโอกาสที่จะทำให้ปัญหาซึ่งเป็นประเด็น แม้ว่าจะเป็นประเด็นเล็กๆที่ไม่ได้รับการยอมรับหรือสนใจของสังคม แต่อาจจะมีการรวมกับปัญหาอื่นๆ. ตัวอย่างเช่น เรื่องความต้องการที่จะแก้ปัญหาชุมชนแออัด, ถ้าไปพูดอย่างนี้โดยตรง อาจจะไปกระทบกับชนชั้นกลางหรือผลประโยชน์ของคนที่ไม่ยอมให้มีการปฏิรูปที่ดินขึ้นมา แต่ว่าในชุมชนแออัดไม่ได้มีปัญหาในเรื่องที่ดินแต่เพียงอย่างเดียว ยังมีปัญหาเรื่องยาเสพติด มีปัญหาเรื่องเด็ก มีปัญหาเรื่องการศึกษา. ถ้าหากว่าเราเลือกเอาปัญหาบางปัญหาที่คนเห็นร่วมกันได้ เช่น ปัญหาเรื่องเด็ก ปัญหาเรื่องการศึกษา เรื่องสาธารณสุขขึ้นมาพูดนำ แล้วพูดประเด็นนี้เข้าไป สร้างเป็นเครือข่ายขึ้นมา. ผมคิดว่าโอกาสที่จะผลักดันให้ปัญหาของชนระดับล่างได้รับการแก้ไข …จะมีโอกาสมากขึ้น

แต่อย่างไรก็ตาม ผมขอโยงกลับมาที่ อ.สมเกียรติได้พูดเมื่อสักครู่นี้ว่า การเชื่อมโยงเครือข่ายแบบนี้ มันจะมีอัตราเร่งที่เร็วขึ้น ถ้าหากว่าสื่อสารมวลชนที่มีหัวใจ เห็นด้วยกับปัญหาของสังคม ปัญหาของคนจน ได้ให้ความสำคัญกับการเชื่อมโยงกลุ่มต่างๆเหล่านี้เข้าหากัน. คือการทำให้เกิดความเข้าใจข้ามไปอีกชนชั้นหนึ่ง จากคนระดับล่างไปสู่คนระดับกลาง ก็จะทำให้ญัตติตรงนี้มีแรงกดดันมากขึ้น อันนี้น่าจะเป็นทางเลือกอีกทางหนึ่งของการเมือง ไม่ใช่มาจบที่พรรคการเมืองหรือจบที่การเมืองแบบรัฐสภาที่ยกมือกัน มันจะต้องเป็นการเมืองที่มีคุณภาพมากกว่านี้ ในแง่ที่ว่าขบวนการภาคประชาชนได้เข้ามาจัดการเรื่องของเราเองทั้งหลาย มากกว่าที่จะไปพึ่งพานักการเมือง

แต่อย่างไรก็ตาม บนโครงสร้างของรัฐธรรมนูญที่กำหนดเอาไว้อย่างนี้ เราต้องใช้โอกาสทำให้องค์กรอะไรต่างๆ ซึ่งรัฐธรรมนูญได้สร้างขึ้นมา, ไม่ว่าสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจก็ดี, กลไกในการควบคุมตรวจสอบ หรืออะไรต่างๆเหล่านี้ ไปผูกโยงกับการไปใช้สิทธิเลือกตั้งด้วย…


การเลือกตั้ง ควรที่จะเลือก
พรรคการเมืองที่เราคุมได้ นั่นคือพรรคการเมือง
ที่อ่อนแอที่สุด หรือมีแผล
มากที่สุด

ปัญหาชุมชนแออัด
ปัญหาเด็ก ปัญหาผู้หญิง
ยาเสพติด รวมถึงการศึกษา
เหล่านี้คือปัญหาที่เรา
ต้องเผชิญอยู่ในทุกวันนี้

 

สื่อสารมวลชนที่มีหัวใจ
จะช่วยแพร่ข่าว และทำให้
ชนชั้นล่างและชนชั้นกลาง
สามารถประสานกันได้

นิธิ เอียวศรีวงศ์ : ผมไม่แน่ใจว่าผมถูก ผมคิดว่าพรรคการเมืองเวลานี้ พรรคการเมืองที่ไม่มีแผลนี่น่ะ มันเหลือน้อยแล้ว. นอกจากนั้นแล้ว ไอ้ความกะล่อนมันก็มากเท่าๆกัน ความต่างก็อยู่ที่ ใครกะล่อนเก่งหรือกะล่อนไม่เก่ง ไม่รู้ว่าจะวัดอย่างไรแล้วตอนนี้

ไพสิฐ พาณิชย์กุล : คิดว่า เราในฐานะคนเลือกตั้ง คนที่อยู่ข้างนอก เราคิดไม่เหมือนเขา ถ้าเราจะคิดได้เหมือนเขาเราก็ต้องชั่วเท่าๆเขา ผมคิดว่าตรงนี้เป็นเรื่องที่ยากมากนะครับ. คืออย่างนี้ครับ อย่าไปเข้าอยู่ในวงการของเขาเลย แต่ว่ามาสร้างเวทีในการกดดันข้างนอกดีกว่า

สมชาย ปรีชาศิลปกุล : ส่วนตัวคิดว่า เวลานี้เป็นเวลาที่สุกงอมมากที่สุด ที่การเมืองภาคประชาชนจะต่อรองกับพรรคการเมือง. อันนี้เพราะอะไร เพราะผมคิดว่าในการเลือกตั้งหลายๆครั้งที่ผ่านมา ครั้งนี้เป็นครั้งที่เรารู้สึกว่า นักการเมืองนอกจากเหมือนกันแล้ว ยังตกต่ำอย่างสุดๆ ทุกพรรคมีแผลเหมือนกันหมด เป็นแผลขนาดที่ว่า ครั้งนี้ใครหย่อนบัตรเลือกตั้ง เราจะรู้สึกว่า ไปหย่อนบัตรแล้วเราอาจจะเสียดาย อยากจะดึงกลับมา. เพราะถ้าจะถามว่ามันเป็นจังหวะหนึ่งหรือเปล่า ผมคิดว่า ขั้นตอนนี้การเมืองภาคประชาชนพยายามเสนอนโยบาย ผนวกกับการเปิดช่องของรัฐธรรมนูญ บวกกับวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจที่ถูกกำกับโดยชาวตะวันตก รวมกระทั่งมาถึงความตกต่ำของพรรคการเมือง อันนี้คิดว่ามันมาถึงช่องทางที่จะทำให้ การเคลื่อนไหวหรือการเสนอนโยบายจากภาคประชาชนในการเลือกตั้งครั้งที่จะถึงนี้ อาจจะเป็นจังหวะที่การเสนอนโยบายได้เป็นรูปธรรมได้มากที่สุด.

โดยอายุที่ไม่มากของผม ผมคิดว่าช่วงเวลานี้เป็นช่วงเวลาของความตกต่ำของพรรคการเมืองอย่างพร้อมเพรียงกันมากที่สุด ซึ่งนานๆมันจะเจอทีนะครับ.

สมเกียรติ ตั้งนโม : อยากจะเสนออย่างนี้นะครับ… ท่าทีของผมเวลาพูดนี่อาจจะดูรุนแรงนะครับ แต่ความจริงผมเป็นคนที่สุภาพมากเลย คืออย่างนี้ครับ. ถ้าคุณเป็นนักการเมืองอยู่นี่ คุณจะหวั่นใจไหมครับว่า คนที่คุณซื้อเสียงไม่ได้นี่ ประมาณ 60-70% ไปกาบัตรเลือกตั้งว่าไม่เลือกพรรคการเมืองไหนเลย แล้วไอ้ที่เหลือนี่น่ะซึ่งเลือกคุณเข้าไป เป็นคนพวกที่คุณสามารถที่จะไปให้ผลประโยชน์เขาได้เท่านั้น ซึ่งมีเพียงแค่ 30% เลือกพรรคโน้นพรรคนี้กระจายกันไป. ในรัฐธรรมนูญเขาเปิดโอกาสให้คุณไปกาบัตรได้ว่า คุณไม่เลือกใคร. คนจำนวนมากถึง 60-70% ของประเทศไปกาแบบนี้ พรรคการเมืองจะหันกลับมาทบทวนนโยบายของตนเอง ว่าคุณกำลังทำอะไรอยู่ในทุกวันนี้

คิดว่า นี่เป็นโอกาสหนึ่งที่พวกเราเชิญชวนกันไป"กาบัตรว่าไม่เลือกใครหรือพรรคการเมืองใด" นี่อาจจะเป็นมิติใหม่ ซึ่งจะเกิดความเปลี่ยนแปลงเพียงแค่ชั่วข้ามคืน ที่จะทำให้คนคิดหนักเลยนะครับ

นิธิ เอียวศรีวงศ์ : คิดว่าประเด็นที่ อ.สมเกียรติพูดนี่มีความสำคัญนะครับ คือการกาไม่เลือกนี่เป็นการเลือกแบบหนึ่ง อย่าสับสนว่าไม่เลือกคือว่าไม่เลือก. ไม่เลือกคือการเลือกแบบหนึ่ง. อาจจะไม่ต้องถึง 70%, ผมว่าเพียงแค่ 5% หรือ 10% แต่ทำให้พรรคการเมืองเห็นว่า 5% หรือ 10% นี่ถ้าเขาเลือก, มันจะเปลี่ยนผู้แพ้ผู้ชนะได้. แค่นั้นก็พอแล้วที่จะทำให้เขาหันกลับมาคิดว่า พรรคการเมืองกำลังตกต่ำอย่างถึงที่สุด ถ้าไม่มีการปรับตัวเขาเลยนี่ เขาจะอยู่ไม่รอด.

ประมวล เพ็งจันทร : ผมคงมีประเด็นสุดท้ายนะครับ. เราคงไปเลือกตั้งกันแน่นอน ประเด็นของเราไม่ได้อยู่ที่ว่าให้นาย ก. หรือนาย ข. ชนะการเลือกตั้ง. แต่คิดว่าภาคประชาชน การเมืองภาคประชาชน และการเมืองครั้งนี้จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง จะก่อให้เกิดพลังของภาคประชาชนขึ้นมา. การไปเลือกตั้งไม่ใช่อยู่ที่จะให้นาย ก. ชนะนาย ข.

สุดท้ายนี้ขอ อ.นิธินะครับ อาจารย์จะให้ขอเสนอ หรือข้อคิดเห็นอะไรที่ ทำอย่างไรเมื่อประชาชนต้องเดินเข้าไปในคูหาเลือกตั้ง กาทั้งบัญชีรายชื่อพรรค กาทั้งชื่อ สส. ตามเขตเลือกตั้ง ประชาชนควรมีหลักอะไรในใจไหมครับ

นิธิ เอียวศรีวงศ : ผมเห็นด้วยนะครับว่า อย่างที่ อ.สมชายพูดเมื่อสักครู่นี้ เป็นประเด็นที่สำคัญมาก คือถ้าคุณเดินไปสู่คูหาเลือกตั้ง ในฐานะปัจเจกบุคคล อยู่ๆก็ฟังวิทยุ, ดูทีวีที่เขามาหาเสียง แล้วคุณคิดเองคนเดียว และเดินเข้าไปในคูหาเลือกตั้ง กาบัตรเลือกตั้ง. คุณเป็นไอ้เบี้ยสับปะรังเคตัวหนึ่งที่ให้นักการเมืองจับคุณเล่น… ตรงกันข้าม ถ้าคุณสามารถรวมกลุ่มกันได้ จัดองค์กรให้สามารถจะต่อรองเชิงนโยบายกับพรรคการเมืองและนักการเมืองได้ พรรคการเมืองและนักการเมืองจะกลายเป็นเบื้ยให้คุณเดินแทน.

เพราะฉะนั้นถ้าคุณไม่ทำอะไรเลย เพียงแค่ฟังวิทยุ ฟังรัฐมนตรีแล้วบอกให้เราไปเลือกตั้ง แล้วเราเดินเข้าสู่คูหาในฐานะที่เป็นตัวคนเดียวแบบนี้ คุณจะเป็นเพียงแค่เบี้ยที่ไม่มีความหมาย. และผมเห็นด้วยกับ อ.สมเกียรติว่า ถ้าเป็นเช่นนั้น คุณไปลงว่า"ไม่เลือก"ดีกว่า.

สายใจ ไชยพรหม : ท่านผู้ชมค่ะ การเมืองทั้งในภาคประชาชน และการเมืองในระบบรัฐสภา ต้องประสานสัมพันธ์กัน ภาคประชาชนจะเป็นไปได้และจะมีพลังขับเคลื่อนในสังคมไทยได้มากน้อยเพียงใด ก็ขึ้นอยู่กับการประสานของการเมืองทั้งระบบ

การเมืองไทยที่จะมีขึ้นในเร็วๆนี้ ท่านผู้ชมคงต้องไปใช้สิทธิ์ และใช้วิจารณญานของเราเองนะคะ ว่าจะเลือกใครเป็นตัวแทนในการบริหารประเทศ พลังของทุกๆคนนั้นมีค่า และมีความหมาย

ขอขอบพระคุณวิทยากรทุกๆท่านที่ร่วมวงสนทนาในรายการ ขอขอบพระคุณ"มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน" ที่ร่วมผิตรายการ และขอขอบพระคุณ"หอนิทรรศการ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่" ที่เอื้อเฟื้อสถานที่. พบกับรายการทีทรรศน์ท้องถิ่นได้ใหม่ ทุกๆวันอาทิตย์สัปดาห์แรกของเดือนนะคะ เวลา 12.05-13.00 น. สำหรับวันนี้สวัสดีค่ะ

back to midnight's home email : midnightuniv@yahoo.com