Giotto, though a master, was not a wholly Renaissance painter, in that he did not experiment with perspective as the Florentine artists of the fifteenth century did (the quattrocento, as Italian say). The discovery of the possibilities of perspective helped to produce works of art that are decided more familliar to us than those of Giotto, and more "Renaissance-looking." Perspective provided the painters of the century after the death of Giotto and Dante with expanded opportunities to emphasize realism and to bring the viewer into the picture. (from: A History of Knowledge by Charles van Doren)

ผลงานจิตรกรรมของ Giotto ชื่อภาพ Lamentation (ความโศกเศร้าเกี่ยวกับการสูญเสียองค์พระเยซูคริสต์) เทคนิค จิตรกรรมปูนเปียก / ค.ศ.1305 / Arena Chapel, Padua

 

คำนำ

จุดเปลี่ยนแห่งศตวรรษ จาก มุมมองของพระเจ้า มาสู่ มุมมองของมนุษย์

บทความในสัปดาห์นี้ เป็นงานเรียบเรียง(ร่างแรก)ของ สมเกียรติ ตั้งนโม (คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่) [มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน] จากหนังสือเรื่อง A History of Knowledge ในบท "What was reborn in the Renaissance" ซึ่งเกี่ยวพันกับความเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย ที่สำคัญในประวัติศาสตร์ความรู้ของมนุษย์ โดยเฉพาะ เรื่องที่เกี่ยวกับสาระทางศิลปะเป็นประเด็นสำคัญ

แต่อย่างไรก็ตาม โดยไม่จำกัดที่จะต้องเป็นคนที่มีความรู้ทางด้านศิลปะเท่านั้น ที่จะได้รับประโยชน์จากบทความชิ้นนี้ เพราะเนื้อหาที่เป็นแก่นของหนังสือเล่มดังกล่าว ซึ่งนำมาเป็นต้นฉบับในการเรียบเรียง เป็นเรื่องของพัฒนาการทางด้านความรู้ที่มีเนื้อหากว้างและเข้าใจได้ง่าย ดังนั้น แม้จะเป็นการนำเสนอเนื้อหาในส่วนของพัฒนาการทางศิลปะก็จริง แต่ก็สอดล้องไปกับความเปลี่ยนแปลงกับความรู้อื่นๆในสังคมยุคสมัยเดียวกันอย่างเป็นระบบ ทำให้เห็นถึงบริบททางสังคมที่มีความสัมพันธ์และเป็นปัจจัยต่อกันและกันอย่างแยกไม่ออก

เนื้อหาสำคัญของบทความชิ้นนี้ หากสรุปเอาไว้อย่างสั้นๆ อาจกล่าวได้ว่า เป็นการเสนอให้เห็นถึงพัฒนาการทางศิลปะทั้งทางด้านจิตรกรรมและวรรณกรรมที่เกิดขึ้นในยุคเรอเนสซองค์ ซึ่งยุคดังกล่าว ถือว่าเป็นจุดเปลี่ยนทางความรู้และความเข้าใจของมนุษย์ที่สำคัญ จากการที่เคยได้รับอิทธิพลจากคริสตศาสนาอย่างเต็มที่ มาสู่การคลายตัวและพัฒนาไปสู่แนวคิดมนุษยนิยมอย่างสมบูรณ์ในเวลาต่อมา

ในด้านการพัฒนาทางจิตรกรรมนั้น ได้มีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบผลงานศิลปะ จากมุมมองของสายตาแบบพระเจ้า มาสู่มุมมองสายตาของมนุษย์. จากภาพเขียนในสไตล์อุดมคติ มาสู่สไตล์ในแบบเหมือนจริง โดยนำเอาหลักทัศนียวิทยาเข้ามาใช้. ส่วนเนื้อหาในงานจิตรกรรมก็เช่นกัน ได้มีการแปรเปลี่ยนจากเรื่องราวที่มีศาสนาและพระผู้เป็นเจ้าเป็นหัวใจ มาสู่เรื่องราวของความเป็นมนุษย์

พัฒนาการทางด้านวรรณกรรมของยุคเรอเนสซองค์ก็เช่นกัน ได้มีการกลับไปค้นหาตำรับตำราของกรีกคลาสสิคและโรมันโบราณ มีการฟื้นฟูวรรรกรรมเหล่านั้นขึ้นมา และเผยแพร่ออกไปสู่สังคมในวงกว้าง มีการพูดถึงเรื่องอื่นๆของชีวิต เช่นความรัก และผู้คนธรรมดา นอกเหนือไปจากสาระที่ถูกครอบงำโดยเรื่องของพระผู้เป็นเจ้าเป็นพันปีมาก่อนหน้านั้น

ความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวทางด้านศิลปะในยุคสมัยเรอเนสซองค์ เป็นสิ่งที่สำคัญมากในสมัยนั้น มันเป็นเรื่องที่ยิ่งใหญ่เทียบเท่ากับการเปลี่ยนแปลงของวิทยาศาสตร์ในปัจจุบันเลยทีเดียว จากฟิสิกส์ของนิวตัน มาสู่ฟิสิกส์ควอนตัม แม้ว่าสาระจะต่างกันก็ตามในรายละเอียด แต่ความสำคัญอันยิ่งใหญ่นั้นเทียบเท่ากันได้อย่างไม่ขัดเขิน แล้วสาระเช่นนี้, นักศึกษา และสมาชิกมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน จะละเลยไม่อ่านบทความชิ้นนี้ไปได้

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

นักศึกษา สมาชิกและผู้สนใจทุกท่าน ที่ต้องการบทความนี้ไปเผยแพร่ กรุณาแจ้งให้มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนทราบด้วย
E-mail : midnightuniv@yahoo.com

ยุคเรอเนสซองค์เป็นยุคแห่งการเกิดขึ้นมาใหม่ของหลายสิ่งหลายอย่าง และคุณค่าต่างๆเหล่านี้ได้วางอยู่ ณ กึ่งกลางหัวใจของยุคสมัยทีเดียว. ในบทที่ 10 ของโคลงขนาดยาวเรื่อง the Purgatorio (การชำระบาปหลังความตาย), Dante, ได้รับการนำทางโดยพระแม่พรหมจารี ให้เข้าไปยังหุบเขาอันวกวนแห่งความภาคภูมิ, ที่นั่น บรรดาเหล่าผู้ประพฤติบาปในยามมีชีวิตอยู่ด้วยความหยิ่งทะนงของพวกเขา จะได้รับการชำระล้างโดยการทำให้เห็นถึงตัวอย่างของความถ่อมตัวที่อยู่รายรอบพวกเขา.

ขณะที่คนเหล่านี้กำลังสาละวนอยู่กับการป่ายปีนไปบนภูเขาด้วยความอดทน, พวกเขาต้องผ่านภาพแกะสลักที่เป็นคำสอนบนผนังหินซ้ำแล้วซ้ำเล่า ภาพแกะสลัก 4 ภาพที่นูนเด่นขึ้นมาในจำนวนทั้งหมด ได้รับการอธิบายเอาไว้โดย Dante ดังนี้. ภาพแรก, เป็นภาพของเทพ Gabriel (ประมุขแห่งฑูตสวรรค์), ผู้ซึ่งเชื่อฟังคำบัญชาของพระผู้เป็นเจ้า และมีความเคารพบูชาเป็นหัวใจของท่าน ได้กล่าวต้อนรับองค์พระแม่พรหมจาร ีด้วยคำทักทายอันมีชื่อเสียงดังนี้ : "คารวะต่อพระแม่ Mary, ผู้เปี่ยมล้นไปด้วยความงดงาม". ส่วนภาพที่สอง, องค์อิตถีพรหมจารีเอง, ได้ขานรับต่อคำกล่าวทักทายนั้น อันเป็นสัญลักษณ์แห่งความนอบน้อมถ่อมตน: "Ecce ancilla dei! ดูซิ ข้าผู้รับใช้พระผู้เป็นเจ้า!". ภาพที่สาม, เป็นภาพกษัตริย์ David ร่ายรำต่อหน้าเรือลำใหญ่ของ Noah ด้วยความต่ำต้อย, พระบาทของพระองค์เปลือยเปล่า, ขณะที่พระเหสีอันหยิ่งทะนงของพระองค์, Michal, มองต่ำลงมาด้วยการดูถูกจากหน้าต่างเบื้องบน. ภาพที่สี่, จักรพรรดิ์โรมัน Trajan ยอมรับต่อคำแก้ตัวของหญิงหม้ายที่ยากจนนางหนึ่งอย่างถ่อมตน, ผู้ซึ่งได้กุมบังเหียนของพระองค์และขอร้องให้พระองค์รับใช้ความต้องการของนาง ก่อนที่พระองค์จะทรงรับใช้ตัวของพระองค์เอง.

สัญลักษณ์เหล่านี้เป็นที่ชัดเจนพอ. แต่ Dante ก็ได้เพิ่มเติมคำวิจารณ์ในทางศิลปะบางประการ เข้าไปในบทเรียนทางศีลธรรมของเขา. ภาพแกะสลักเหล่านั้น, เขากล่าว, "มันไม่ใช่เพียงแค่ผลงานของ Polyclitus เท่านั้น แม้แต่ธรรมชาติก็ยังรู้สึกละอายใจ ณ ที่นั้น". (เป็นคำชมถึงภาพแกะสลัก ที่ได้สลักเสลาขึ้นมาอย่างสมจริง).

Polyclitus เป็นประติมากรกรีก เขาเป็นบุคคลที่ Dante รู้จัก(เพียงแค่ชื่อเสียง) ในฐานะที่เป็นศิลปินคลาสสิคที่ยิ่งใหญ่. ผลงานหลักๆที่จำหลักอยู่บนผนังหินซึ่งเขาได้พบเห็นนั้น มันมีความงดงามอย่างวิเศษยิ่งกว่างานประติมากรรมของ Polyclitus เสียอีก. ภาพเหล่านั้นยิ่งใหญ่เกินกว่าสิ่งซึ่งธรรมชาติสามารถสร้างสรรค์ขึ้นมาได้. มันคือความจริงที่ยิ่งกว่าจริงเสียอีก.

Dante มีชีวิตอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านของศตวรรษที่ 14. ในห้วงเวลานั้น อิทธิพลของประติมากรรม Gothic ได้ถ่ายทอดเข้าไปสู่อิตาลี จากทางตอนเหนือของยุโรป และได้ให้ชีวิตใหม่แก่ศิลปกรรมทั้งหมด. ประติมากรสมัย Gothic ได้เน้นในลัทธิเหมือนจริงในงานจำหลักหินของพวกเขาเกี่ยวกับเรื่องราวทางศาสนา, และทิศทางที่โน้มไปสู่ความเหมือนจริงนี้ ในไม่ช้าก็พิชิตความเป็นนามธรรม, สไตล์สัญลักษณ์ของ Byzantine ซึ่งได้มีอิทธิพลส่วนใหญ่ในอิตาลีมาก่อน.

บรรดาประติมากรแห่ง Pisan และ Florentine เริ่มลอกเลียนแบบสไตล์ของ Gothic.
เพื่อนและผู้ร่วมงานชาว Florentine ของ Dante, Giotto (c.1270-1317), ได้เขียนภาพจิตรกรรมปูนเปียกหรือภาพ frescoes ซึ่งเป็นไปตามลัทธิเหมือนจริง และมีชีวิตชีวาแบบใหม่อันนี้. ส่วนตัว Dante เองนั้น, กระทำในสิ่งที่เหนือยิ่งไปกว่านั้นในด้าน dole stil nuovo, (the sweet new style) หรือสไตล์ใหม่อันมีความอ่อนหวานและไพเราะ เกี่ยวกับการเขียนโคลง เขาได้โฟกัสเรื่องราวลงไปบนประสบการณ์เกี่ยวกับความจริง, แม้แต่เรื่องราวของผู้คนธรรมดาๆ. (ใน Purgatorio นั้น Dante กล่าวถึง Giotto ว่า, "ในงานจิตรกรรมของ Cimanbue (Giovanni) คิดที่จะยึดครองในขอบเขตความรู้อันนั้น และตอนนี้ Giotto ได้กระทำขึ้นมาแล้ว, ดังนั้นมันจึงทำให้ชื่อเสียงของศิลปินคนอื่นๆ ได้ถูกทำให้ริบหรี่ลงไปเลยทีเดียว").

สไตล์ใหม่ในงานจิตรกรรม : หลักทัศนียวิทยา (The New Style in Painting: Perspective)
การเขียนภาพแบบเหมือนจริงเกี่ยวกับชีวิตความเป็นอยู่ และการกระทำของผู้คนธรรมดาไม่ใช่เพียงสิ่งเดียวที่ศิลปะสามารถทำได้ และมันก็ไม่ใช่สิ่งที่ศิลปะตามขนบประเพณีประสบความสำเร็จมาโดยตลอดหลายศตวรรษ จวบจนกระทั่งถึงยุคสมัยของ Dante.

ในศตวรรษที่ 14 แม้ว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงข้างต้นเกี่ยวกับการเขียนรูปแบบเหมือนจริงขึ้นมา แต่บรรดาศิลปินทั้งหลายจำนวนหนึ่ง ซึ่งเป็นผู้ที่ไม่ยอมลดลาวาศอกที่จะต่อต้านกับสไตล์ใหม่อันนี้. โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บรรดาจิตรกรสกุลช่าง Sienese แห่ง Siena ก็ยังคงผลิตผลงานต่างๆที่เป็นสไตล์ในแบบ Byzantine อย่างเด่นชัด พวกเขาคงกระทำเช่นนั้นไปอย่างเงียบเชียบ, ทั้งรูปร่างและหน้าตาตามสไตล์ ในแบบสัญลักษณ์นิยมทางศาสนาอย่างชัดเจน. โดยเหตุผลนี้ ปกติแล้วเราจึงไม่ได้คิดถึงพวกจิตรกร Sienese ในศตวรรษที่ 14 เท่าใดนัก ว่ามีความยิ่งใหญ่อย่างที่พวกเขาเป็น อันถือเป็นส่วนหนึ่งของอิตาเลี่ยนเรอเนสซองค์. พวกเขาเป็นจิตรกรที่ยิ่งใหญ่, แต่พวกเขาก็ไม่ใช่ศิลปินเรอเนสซองค์.

ขณะที่เรอเนสซองค์ได้แผ่ขยายไปจนทั่วทั้งทวีปยุโรป ทุกหนทุกแห่งได้ผลิตผลงานในสไตล์งานศิลปะแบบใหม่ขึ้นมาที่เน้นในเรื่องของความเหมือนจริง, ความเป็นธรรมชาติ, และสิ่งที่ดูเหมือนของจริง(verisimilitude). ส่วนเรื่องราวที่นำมาเขียนนั้น ยังคงเป็นอย่างเดียวกันกับสไตล์ที่เป็นสัญลักษณ์ในสมัย Byzantine อันเก่าแก่นั่นเอง: อย่างเช่นเรื่อง Annunciation (ฑูตสวรรค์ Gabriel มาประกาศข่าวต่อพระแม่มารีผู้บริสุทธิ์ถึงการจุติลงมาเกิด), หรือเรื่อง Crucifixtion (การถูกตรึงกางเขนขององค์พระเยซูคริสต์), Deposition (การปลดองค์พระเยซูลงมาจากกางเขน), the Marriage at Canna (การอภิเษกที่เมือง Canna), และเรื่องราวต่างๆในทำนองนี้. แต่สิ่งที่เปลี่ยนไปในทางรูปแบบก็คือ พอมาถึงยุคดังกล่าว ผู้คนได้ถูกวาดขึ้นมาเพื่อสะท้อนถึงโลกของผู้ดู, แสดงออกซึ่งความรู้สึกเหมือนกับตัวของพวกเขา และน่าเร้าใจ, ในวิธีการใหม่ทั้งหมด.

Giotto แม้ว่าจะเป็นปรมาจารย์คนหนึ่ง แต่เขาก็ไม่ใช่จิตรกรเรอเนสซองค์อย่างเต็มตัว ด้วยเหตุนั้น เขาจึงไม่ได้ทำการทดลองนำหลักทัศนียวิทยา(perspective)มาใช้เช่นเดียวกันกับศิลปิน Florentine ทั้งหลายในศตวรรษที่ 15 ทำ (หรือตามรูปศัพท์อิตาเลี่ยนเรียกว่า quattrocento). การค้นพบเกี่ยวกับความเป็นไปได้ของหลักทัศนียวิทยาดังกล่าว ช่วยทำให้การสร้างผลงานศิลปะเป็นที่คุ้นเคยกับเราอย่างไม่มีปัญหายิ่งกว่าวิธีการที่ Giotto ใช้ (ซึ่ง Cimabue หรือ Giovanni ก็ไม่ได้นำหลักทัศนียวิทยามาใช้เช่นเดียวกัน), และดูเป็นเรอเนสซองค์มากกว่า. หลักทัศนียวิทยา ได้ทำให้บรรดาจิตรกรในศตวรรษนั้น (หลังการตายของ Giotto และ Dante) ขยายโอกาสความเป็นไปได้ที่จะเน้นความเหมือนจริงขึ้นมา และนำผู้ดูเข้าไปอยู่ในภาพ.

บรรดาศิลปิน Sienese ต่างต่อต้านและปฏิเสธที่จะใช้หลักทัศนียวิทยาดังกล่าว นับเป็นศตวรรษเลยทีเดียว. แต่แล้วในท้ายที่สุด พวกเขาก็ต้องยอมจำนนต่ออิตาล ี(ถ้าจะถูกต้องมากกว่า, หมายถึง Florentine) สไตล์เรอเนสซองค์ก็ได้เข้ามามีอิทธิพลครอบงำทั่วไปหมด และอันที่จริงมันได้เข้าครองงานจิตรกรรมของชาวยุโรปในอีกสามร้อยปีต่อมา, จนกระทั่งปลายศตวรรษที่ 19 ในฝรั่งเศส บรรดาจิตรกรเริ่มทำการทดลองกับสไตล์ใหม่ๆ ซึ่งเป็นนวัตกรรมใหม่เช่นเดียวกันกับสไตล์เรอเนสซองค์เคยเป็น.

ขอให้เรามาทำความเข้าใจกันสักเล็กน้อย เพื่อให้เข้าถึงความหมายของหลักการทางด้านทัศนียวิทยา. หลักการดังกล่าว เริ่มต้นขึ้นจากการกำหนดจุดลับสายตาขึ้นมาบนภาพ แล้วใช้จุดดังกล่าวเป็นจุดของการรวมเส้นตรงในงานจิตรกรรมด้วย(บ่อยครั้งเป็นเส้นจินตนาการ). เส้นตรงที่พูดถึงนี้จะลากจากวัตถุเบนเข้าสู่สิ่งที่เรียกว่าจุดลับสายตา หรือตามศัพท์เรียกว่า vanishing point ซึ่งอยู่ ณ ที่ใดที่หนึ่งของฉากหลัง (บ่อยมากมันจะอยู่ที่ตรงกลางของเส้นแนวนอนข้างหลัง). การลากเส้นตรงเข้าหาจุดดังกล่าวนี้จะสร้างความประทับใจเกี่ยวกับฉากที่เป็นจริงขึ้นมา เพราะมันได้ช่วยสร้างให้เกิดมิติของระยะที่ดูสมจริงขึ้น ซึ่งมองเห็นได้โดยผู้ดู.

วิธีการเช่นนี้ไม่เคยถูกใช้มาก่อน ไม่ว่าจะในงานศิลปะประเภทใดก็ตาม และมันไม่เคยได้รับการปฏิบัติกันมาเลย ไม่ว่าจะงานศิลปกรรมของชนชาติใด เว้นแต่ในงานศิลปกรรมตะวันตก(หรืองานศิลปะที่ได้รับอิทธิพลอย่างลึกซึ้งโดยศิลปกรรมตะวันตก ที่มันได้สูญเสียอัตลักษณ์ที่พิเศษของมันไปแล้ว). กระนั้นก็ตาม ในศิลปะตะวันตก บ่อยทีเดียว มันก็ไม่ได้ถูกนำมาใช้หรือปฏิบัติกันอีกต่อไป เมื่อความนิยมดังกล่าวได้ค่อยๆจางหายไป. จิตรกรในแนว Fauvist ฝรั่งเศสได้ทำลายแบบแผนหลักทัศนียวิทยาลงในช่วงปี 1900, ส่วนศิลปิน Cubists นั้น ได้ทุบทำลายหลักการนี้จนแตกละเอียดเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย, และก็ไม่ได้จับมันมารวมเข้าด้วยกันอีกครั้ง เว้นแต่ในการเลียนแบบเกี่ยวกับสไตล์ขนบประเพณีที่แตกกิ่งก้านสาขาออกไป.

ผลงานศิลปะสมัยใหม่ได้ทักท้วงและตั้งคำถามผลงานในสมัยเรอเนสซองค์ ซึ่งได้นำเอาหลักทัศนียวิยามาใช้ว่า มันได้ผลิตความรู้สึกที่เหมือนจริงขึ้นมาจริงๆล่ะหรือ, โดยไม่คำนึงถึงสิ่งที่ Dante พูด. อย่างไรก็ตาม กล้องถ่ายรูป ก็ได้กระทำในสิ่งนี้ได้ดีกว่าบรรดาศิลปินทั้งหลาย ที่ได้รับการฝึกฝนมาด้วยหลักการทางด้านทัศนียวิทยาทำ. แต่แม้ว่ากล้องถ่ายรูป จะสร้างสรรค์ความเหมือนจริงบางอย่างขึ้นมาได้ก็ตาม แต่มันก็ไม่สามารถทำในสิ่งที่งานจิตรกรรมสามารถบรรลุผลได้ (และงานจิตรกรรมในสมัยเรอเนสซองค์สามารถบรรลุผลสำเร็จ).

มนุษย์ในจักรวาล(Man in the Cosmos)
ศิลปะใหม่ ด้วยหลักแห่งทัศนียวิทยา ได้กล่าวถึงบางสิ่งบางอย่างที่แตกต่างออกไปอย่างถึงราก และมีความใหม่สดเกี่ยวกับตำแหน่งและบทบาทของมนุษย์ในจักรวาล, หรือในโลกของภาพเขียน ดังที่เราอาจกล่าวได้เช่นนั้น. ในงานศิลปกรรมก่อนมาถึงยุคเรอเนสซองค์ ภาพที่ถูกเขียนขึ้นมาจะได้รับการมอง มิใช่จากจุดยืนหรือมุมมองของผู้ดู ที่เป็นของมนุษย์ธรรมดาคนหนึ่ง, แต่มันมาจากมุมมองของพระผู้เป็นเจ้า หรือจากจุดที่ไร้ขอบเขต, หรือพอจะกล่าวได้ว่า มันได้รับการมองมาจากมุมมองของกาลและอวกาศ ซึ่งได้ถูกลดทอนลงมาสู่ความว่างเปล่าดังเปรียบเทียบกับภาพที่เกี่ยวกับศาสนา, รูปลักษณ์ หรือไอเดีย ซึ่งเป็นภาพภายในมากกว่าที่จะเป็นภาพภายนอก.

ศิลปิน Sienese ไม่เลือกที่จะรับเอาหลักทัศนียวิทยามาใช้ ทั้งนี้เพราะ พวกเขาต้องการธำรงรักษาภาพภายในอันนี้เอาไว้ หรืออาจเป็นเพราะพวกเขาไม่ปรารถนาที่จะสูญเสียมันไปก็ได้ ดังที่พวกเขาคิดว่าศิลปิน Florentine กำลังทำอยู่. จิตรกร Florentine ต่างมีเจตจำนงที่จะละทิ้งภาพภายใน เพราะพวกเขาต้องการงานศิลปะ เพื่อให้มันพูดบางสิ่งบางอย่างเกี่ยวกับบทบาทของมนุษย์ในโลกนี้ และด้วยเหตุผลดังกล่าว จึงเป็นสิ่งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ที่จะหมายไปยัง การกล่าวถึงเรื่องบางอย่าง เกี่ยวกับบทบาทของศาสนาในโลกนี้.

หนึ่งในงานจิตรกรรมที่ยิ่งใหญ่แบบ quattrocento หรือภาพที่ใช้หลักทัศนียวิทยาดังกล่าว, โดยจิตรกรซึ่งยิ่งใหญ่สุดคนหนึ่งคือ Piero della Francesca (1420-1492) ถือว่าเป็นตัวอย่างรูปแบบใหม่อันนี้. แม้ว่าเขาจะเกิดที่ Borgo Sansepolcro, แต่ Piero ก็ได้รับการฝึกฝนฝีมือช่างขึ้นมาจาก Florence ในช่วงทศวรรษที่ 1440s และถือว่าเป็นศิลปินที่มีจิตวิญญานแบบ Florentine เต็มตัว. ในชุมชน Urbino ภายใต้การอุปภัมภ์ของ Federico da Montefelto, เขาได้สร้างผลงานบางชิ้นที่อยู่ในจุดที่สุกงอมเต็มที่ของเขาขึ้นมา ท่ามกลางศิลปินทั้งหลายเหล่านั้น มีบรรดานักวิจารณ์ทั้งหลายที่วิพากษ์วิจารณ์ไปในเชิงเหน็บแนมอย่างเจ็บแสบอยู่ร่วมๆ 500 ปีร่วมอยู่กับวงการศิลปะ

ในท่ามกลางสิ่งต่างๆ งานจิตรกรรมเป็นการศึกษาอย่างหนึ่งในเรื่องของหลักทัศนียวิทยา เช่นดั่งผลงานทุกชิ้นของ Piero. (Piero เอง เป็นปรมาจารย์ทางเรขาคณิต และได้เขียนตำราเกี่ยวกับเรื่องนี้). มันได้ถูกแยกออกเป็นสองส่วน. ส่วนด้านซ้าย ซึ่งเป็นเรื่องของฉากหลัง ซึ่งใกล้ๆกันกับจุดลับสายตา, พระเยซูคริสต์, เป็นภาพที่ปรากฎเล็กๆเพียงลำพังซึ่งถูกผูกตรึงอยู่กับเสาในท่ายืน ขณะที่ทหารโรมันได้หวดแส้กระหน่ำลงไปเพื่อทรมานพระองค์. ส่วนทางขวาซึ่งเป็นด้านหน้าของภาพนั้นได้เขียนสีในลักษณะที่สั่นไหว เป็นภาพของบุรุษสำอางค์ท่าทางสำรวยแบบเรอเนสซองค์ 3 คน, ซึ่งกำลังพูดคุยกัน(ไม่รู้ว่าพูดเรื่องอะไร อาจเป็นเรื่องเงินๆ เรื่องผู้หญิง หรืออื่นๆ). พวกเขาไม่ได้ให้ความสนใจต่อเรื่องราวที่เร้าใจซึ่งเกิดขึ้นอยู่เบื้องหลังพวกเขาเลย. สายตาของพวกเขาเบนออกจากเรื่องราวอันทุกข์ทรมานของบุตรแห่งพระเจ้า และพวกเขาไม่ได้ยินเสียงร้องอันโหยหวนและเสียงเฟี้ยวฟ้าวของแส้ที่แหวกอากาศอย่างแน่นอน ขณะที่มันถูกหวดเข้าใส่ร่างอันเปลือยเปล่าขององค์พระเยซูคริสต์.

Piero ไม่ใช่คนที่ขี้สงสัยหรือคนที่ขาดศรัทธาในความเชื่อ ดูเหมือนเขาจะเป็นคริสเตียนที่ดีจนกระทั่งวาะที่เขาถึงแก่กรรม. ผลงาน Resurrection (ภาพการฟื้นคืนชีพของพระเยซู) ใน Borgo Sansepolcro เป็นหนึ่งในการพรรณาที่เร้าอารมณ์ได้อย่างรุนแรงที่สุดชิ้นหนึ่ง เกี่ยวกับเรื่องราวอันนี้ในงานจิตรกรรมทั้งหมด. ด้วยเหตุนี้ เขาจึงไม่อาจได้รับการตีความในการเขียนภาพนี้ขึ้นมาโดยความบังเอิญ จากการวิจารณ์ของนักวิจารณ์ปากเจ็บแห่ง Urbino ทั้งหลายในทำนองนั้น แม้ว่าภาพของสิ่งต่างๆที่เขาเชื่อในเรื่องศาสนาควรได้รับการนำมาวางไว้ข้างหน้า แต่กลับถูกผลักให้ไปอยู่ด้านหลัง ส่วนเรื่องราวที่เกี่ยวกับทางโลกกลับมาอยู่ด้านหน้า.

งานจิตรกรรมชิ้นนี้ได้เผยให้เห็นถึงโลก ซึ่งสาระต่างๆอย่างโลกๆ ได้รับการให้คุณค่าอย่างสูงขึ้นมามากกว่าแต่ก่อน. ความทุกข์ทรมานขององค์พระคริสต์ แม้ว่ามิได้ถูกลืมเลือนไป แต่ก็ได้กลายเป็นสิ่งซึ่งเกือบไม่มีความสำคัญและเป็นเรื่องที่เหลวไหล. นัยะสำคัญตอนนี้คือความเยาว์วัย, การดูดี, เสื้อผ้าที่ประณีต, เงินทอง, และความสำเร็จทางโลก (ซึ่งเป็นไปตามความนึกคิดของผู้ดู). และความเชื่อนี้ มันมากกว่าลัทธิเหมือนจริง, ลัทธิธรรมชาตินิยม, หรือการจำลองสิ่งที่เหมือนจริง, มันวางอยู่ที่ตรงกึ่งกลางมากของสไตล์ในทางศิลปะแบบเรอเนสซองค์. โรมัน และโดยเฉพาะกรีกก่อนหน้าพวกเขา ได้มองโลกเป็นไปในทำนองนี้. พวกเขา รักชอบความเป็นหนุ่มสาวและการมีภาพพจน์ที่ดี มีสุขภาพที่สมบูรณ์และมีเงิน. ส่วนสมัยกลางได้มีการเปลี่ยนจุดโฟกัสจากแง่มุมดังกล่าวไป. ตอนนี้มันกำลังเปลี่ยนกลับไปสู่ความเอาใจใส่อันเก่าแก่แบบนั้นอีกครั้ง.

จุดเปลี่ยนของยุคสมัยทางด้านวรรณกรรม
ยุคเรอเนสซองค์เป็นยุคแห่งการเกิดขึ้นมาใหม่ของหลายสิ่งหลายอย่าง และคุณค่าต่างๆเหล่านี้ได้วางอยู่ ณ กึ่งกลางหัวใจของยุคสมัยทีเดียว. การฟื้นฟูการเรียนรู้แบบคลาสสิค (The Revival of Classical Learning)[ทางวรรณกรรม] ถ้าหากว่าเรา ต้องการทราบวันเวลาที่แน่นอน สำหรับการเริ่มต้นขึ้นของยุคเรอเนสซองค์ คำตอบอาจจะเป็นวันที่ 20 กรกฎาคม 1304 หรือคือวันเกิดของ Francesco Petrarch, ซึ่งถือว่าเป็นบุคคลที่ถือกำเนิดชึ้นมาใน Arezzo (ชื่อชุมชนที่อยู่ตอนกลางของอิตาลี) แต่เขาชอบที่จะคิดถึงตัวของเขาเอง ในฐานะที่เป็นชาว Florentine, ชาวอิตาเลียนคนหนึ่ง และเป็นมนุษย์คนหนึ่งของโลก.

เขาได้รับการศึกษาที่ Avignon สถานที่ซึ่ง พ่อของเขาได้ย้ายเข้าไปอยู่ใกล้กับ ราชสำนักของสันตะปาปา นอกจากนี้ Petrarch ยังเป็นผู้ศึกษาด้วยตนเอง(autodidact) เขาไม่เคยที่จะหยุดเรียนจนกระทั่งวาระสุดท้ายมาถึง. ในช่วงที่เขาได้ถึงแก่กรรมลงนั้น เมื่อตอนเช้าตรู่ของวันที่ 19 เดือนกรกฎาคม 1374 ศีรษะของเขาพับลงบนหนังสือเล่มหนึ่ง ที่เป็นเรื่องเกี่ยวกับพระแม่พรหมจารี ซึ่งเขากำลังเขียนคำวิจารณ์และแสดงข้อคิดเห็นอยู่.

ตามเรื่องราวเกี่ยวกับ Petrarch, สิ่งซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่สำคัญที่สุดในชีวิตของเขา เกิดขึ้นเมื่อตอนที่เขาได้พบกับผู้หญิงคนหนึ่ง ซึ่งเธอได้ถูกรู้จักกันเพียงว่าชื่อ Laura ในโบสถ์แห่งหนึ่งที่ Avignon ในวันที่ 6 เดือนเมษายน 1327. ขณะนั้น เขามีอายุได้ 22 ปี. ความรักของเขาที่มีต่อ Laura นั้น ปรากฎชัดว่าไม่ได้มีเรื่องรักๆใคร่ๆ หรือมีความสัมพันธ์ทางเพศกันแต่อย่างใด ซึ่งอันนี้ยืนหยัดมาจนกระทั่งเขาตาย. เขาได้เขียนบทกวีอันไพเราะและยอดเยี่ยมที่สุดของเขาเกี่ยวกับความงามและความน่ารักของเธอ; เกี่ยวกับความรักของเขาที่มีต่อเธอ ซึ่งเธอได้ให้แรงบันดาลใจแก่เขา และเป็นที่ยอมรับต่อมาภายหลังว่า เขาได้หลงรักเธออย่างผิดๆ กล่าวคือ Petrarch ได้ยอมให้เรือนร่างของเธอให้อยู่เหนือจิตวิญญานของเธอ.

คาดกันว่า Laura เสียชีวิตลงด้วยโรคระบาดในวันที่ 6 เมษายน 1348 นั่นคือวันเฉลิมฉลองครบรอบปีที่ 21 ของการพบปะกันเป็นครั้งแรก. มีความพยายามมากมายที่จะชี้ตัวผู้หญิงคนหนึ่งจริงๆที่มีเลือดเนื้อ (ผู้ซึ่งอาจจะ หรืออาจจะไม่ใช่ตัวของ Laura, สำหรับคำๆนี้ในภาษาละติน อาจแปลว่า"คำเล่าลือ") ผู้ซึ่ง Petrarch ให้ความหลงรัก, แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ และได้มีข้อสงสัยคลางแคลงใจว่า จริงๆแล้ว ผู้หญิงคนดังกล่าวมีอยู่จริงหรือ ?

Petrarch ทราบดีถึงพลังความรักของ Dante ที่มีต่อ Beatrice (ผู้ซึ่งเป็นผู้หญิงที่มีอยู่จริง) และรู้ว่าเธอได้ให้แรงบันดาลใจแก่เขาอย่างไรในการเขียนโคลงอมตะขึ้นมา. Petrarch อาจจะสร้าง Laura ขึ้นมาจากเสื้อคลุมทั้งหมด และตกหลุมรักเธอ (อย่างน้อยที่สุด, ดังเทพธิดา muse[เทพแห่งศิลปะ]) ทั้งหมดอาจเกิดขึ้นมาจากการสร้างสรรค์ของเขาเองขึ้นมา.

บางทีอาจจะไม่ยุติธรรมนักกับการจะไปกล่าวหา Petrarch, หลังจากศตวรรษดังกล่าวล่วงไปแล้ว เกี่ยวกับการที่เขาได้สร้าง Laura ขึ้นมาในฐานะที่เป็นไปอย่างโลดโผนและเผยแสดงออกมาเช่นนั้น และต่อมา กับการใช้ชีวิตที่เหลือของเขาไปกับความทนทุกข์ทรมาน ด้วยความเสน่หาและคิดถึงเธอในวิธีการทางวรรณกรรม. และไม่ต้องมีใครไปว่าเขาถึงการกระทำนั้น. อันนี้เป็นเรื่องที่สำคัญที่จะต้องตระหนักและยอมรับว่า เขาสามารถที่จะสร้างสรรค์ภาพดังกล่าวขึ้นมา เพราะเขาเป็นนักสร้างที่มีความชำนาญมาก เกี่ยวกับตัวของเขาเองและเกี่ยวกับสิ่งต่างๆยิ่งไปกว่านั้น และถ้าหากว่า Petrarch ปรารถนาที่จะทำให้ตัวเองเป็นผู้สืบทอดต่อมาจาก Dante, การสร้าง Laura ขึ้นมาก็นับว่าเป็นวิธีการที่ดีอันหนึ่งที่จะกระทำเช่นนั้น.

Petrarch ยังต้องการได้รับการมอง ในฐานะที่เป็นทายาทแห่งความเบ่งบานอย่างเต็มที่ ที่มีความสง่าของความเป็นมนุษย์ด้วย. ในขณะที่เขาเป็นเด็ก เขาได้หลงใหลต่องานคลาสสิค, และอายธรรมของกรีกและโรมันโบราณ ซึ่งในช่วงชีวิตของเขาขณะนั้น มันได้เสื่อมสลายแตกออกเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยมานับพันปีก่อนหน้านั้น. เท่าที่เขาสามารถทำได้ เขาได้อุทิศชีวิตไปเพื่อพยายามที่จะฟื้นฟูและสร้างสรรค์อารยธรรมนั้นขึ้นมาใหม่. ด้วยเหตุนี้ เขาจึงชอบที่จะรับรู้เกี่ยวกับตัวเองในฐานะที่เป็นชาวโรมันโบราณ ที่กลับชาติมาเกิดใหม่อีกครั้ง.

ความปรารถนาที่ยิ่งใหญ่ของเขาคือ ต้องการที่จะสร้างให้กรีกและโรมันกลับฟื้นคืนชีพขึ้นมาใหม่อีกครั้ง. ในช่วงที่เขามีอายุ 35 ปีนั้น Petrarch เป็นนักวิชาการซึ่งมีชื่อเสียงมากที่สุดคนหนึ่งแล้วในยุโรป ส่วนใหญ่เนื่องมาจาก การเรียนรู้อันยิ่งใหญ่ของเขา และบางส่วนเนื่องมาจากความสามารถที่น่าอัศจรรย์ของเขา ที่ทำให้พรสวรรค์และความสำเร็จของเขา ไปสู่ความสนใจเกี่ยวกับสิทธิและความชอบธรรมของผู้คน.

ในปี 1340 เขาได้สร้างตัวของเขาเองขึ้นมาในตำแหน่งที่สามารถจะเลือกได้ ระหว่างการได้รับเชิญอย่างสมเกียรติให้ได้รับรางวัลอันสูงค่าถึงสองแห่ง: นั่นคือ การได้รับเกียรติให้เข้ารับรางวัลในฐานะนักกวีที่ยอดเยี่ยมระดับที่สามารถประดับมงกุฎในปารีส(ฝรั่งเศส), หรือในโรม(อิตาลี)ได้. แต่ในที่สุด เขาก็เลือกที่จะสวมมงกุฎแห่งความทรงเกียรตินั้นให้กับตัวเขาเอง ที่โรม. Petrarch ได้รับการสวมมงกุฎ ณ รัฐสภาในวันที่ 8 เมษายน 1341. (แต่ความจริงเขาอยากจะให้มันเป็นวันที่ 6 เมษายน มากกว่า, ทั้งนี้เพราะเป็นวันครบรอบของการได้พบปะกับ Laura, แต่เหตุการณ์ต่างๆทำให้พิธีกรรมดังกล่าวต้องล่าช้าออกไป). หลังจากนั้น เขาได้นำเอามงกุฎ laurel (เป็นพืชชนิดหนึ่งที่ใช้ประดับเป็นสัญลักษณ์แห่งเกียรติยศ) วางลงบนหลุมฝังศพของพระสาวกแห่งพระเยซุคริสต์ใน St. Peter's Basilica, เพื่อทำให้โอกาสอันนั้นอยู่ในความทรงจำอันยาวนานและเป็นการเน้นว่า เป็นโอกาสแห่งการมาถึงของอารยธรรมโรมันโบราณที่กลับฟื้นคืนขึ้นมาใหม่ และเขาไม่ใช่ไม่ได้เป็นคริสเตียน.

การสร้างตัวของยุคเรอเนสซองค์: Boccaccio (Inventing the Renaissance: Boccaccio)
Giovanni Boccaccio เกิดในกรุงปารีส ในปี 1313, แม้ว่าตามข้อเท็จจริงนั้น พ่อของเขาจะเป็นชาว Florentine แต่ต่อมาภายหลังถึงจะยินยอมให้เขาเรียกตัวเองว่าเป็นชาว Florentine คนหนึ่งเช่นกัน. ก็คล้ายๆกันกับ Petrarch, เขาได้ถูกกำหนดโดยครอบครัวของเขา ให้ประกอบอาชีพทางด้านธุรกิจหรือทางกฎหมาย. และก็เหมือนกับ Petrarch อีกคือ, เขาเป็นคนที่ศึกษาด้วยตัวเอง และได้กลายเป็นนักประพันธ์ที่ประสบความสำเร็จ.

Boccaccio ได้ใช้เวลาหลายปีในเนเปิล ซึ่งถือว่าเป็นหนึ่งในศูนย์กลางของกวีนิพนธ์. เขาเป็นอีกคนหนึ่งซึ่งสิ้นหวังในเรื่องความรัก ซึ่งในช่วงนั้น เขาได้หลงรักกับหญิงสาวคนหนึ่งซึ่งได้เรียกเธอว่า Fiammetta (Little Flame เปลวไฟน้อยๆ), ซึ่งอันนี้เกือบมั่นใจได้เลยว่า เธอมิได้มีตัวตนอยู่จริง. ในปี 1348 เขาได้ออกมาจากเมือง Florence ซึ่งเกิดโรคระบาดขึ้น และได้มาพำนักอยู่ในชนบท ช่วงดังกล่าวเขาได้เริ่มเขียนเรื่อง Decameron ที่เป็นเรื่องราวอันแปลกประหลาด.

สำหรับเหตุการณ์อันยิ่งใหญ่ในชีวิตของ Boccaccio นั้น ในทำนองเดียวกันก็เป็นก็เป็นเหตุการณ์อันยิ่งใหญ่เหตุการณ์หนึ่งของ Petrarch ด้วยเช่นกัน - นั่นคือ การพบปะกันของคนทั้งสองในเมือง Florence ในปี 1350. Petrarch ตอนนั้นมีอายุ 46 ปี, ในขณะที่ Boccaccio มีอายุได้ 37 ปี. ในช่วงที่คนทั้งสองได้พบปะกันนั้น Boccaccio ได้เขียนหนังสือซึ่งเป็นการชมเชยต่อตัวของ Petrarch ไปแล้ว. มันเป็นความคล้ายๆกันของจิตวิญญานของคนทั้งสองที่ได้ดูดดึงเอาคนทั้งคู่มาพบกัน และทำให้พวกเขาเป็นเพื่อนกันอย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ยังทำให้พวกเขาผูกพันกันในการร่วมงาน เกี่ยวกับการสร้างสรรค์ยุคเรอเนสซองค์ขึ้นมา. ซึ่งได้เป็นเช่นนั้นมาจวบจนกระทั่งวาระสุดท้ายของ Petrarch มาถึง ในอีก 24 ปีต่อมา

เพื่อที่จะฟูมฟักการเกิดขึ้นมาใหม่อีกครั้งของยุคคลาสสิค(หมายถึงฟื้นฟูกรีกคลาสสิค), ทั้ง Petrarch และ Boccaccio สำนึกว่า พวกเขาจะต้องสามารถอ่านมันให้ได้. พวกเขาประสบกับความยุ่งยากเพียงเล็กน้อยเท่านั้นในการทำความเข้าใจภาษาละตินคลาสสิค; ปัญหาก็คือการค้นหาตำรับตำราดังกล่าวมาอ่านนั่นเอง, จำนวนมากของตำรับตำรานั้น เหลืออยู่เพียงกิตติศัพท์หรือชื่อเท่านั้น. Petrarch มีความแน่ใจ และเขาทำให้ Boccaccio เชื่อมั่นว่า ตำรับตำราต่างๆดังกล่าวอันเป็นผลงานที่มีชื่อเสียงเป็นจำนวนมาก จะต้องนอนฝังตัวแอบซ่อนอยู่, ซึ่งบางทีอาจหลงลืมกันไปแล้ว, ในห้องสมุดต่างของวัดวาอารามต่างๆ.

พวกเขาได้ท่องเที่ยวไปทางใต้ของยุโรป เพื่อค้นหาสถานที่ที่เก็บเอกสารสำคัญไปจนทั่ว เพื่อพลิกหน้าหนังสือโบราณเหล่านั้นขึ้นมาอ่าน. และด้วยการกระทำเช่นนี้ Petrarch ได้เจอะเจองานเขียนของ Cicero เป็นจำนวนมาก. ซึ่งในช่วงวันเวลาดังล่าวเชื่อกันโดยทั่วไปว่า งานเขียนเหล่านั้นได้สาบสูญไปแล้ว.

การอ่านภาษากรีกคลาสสิค คือสาระสำคัญอีกอันหนึ่ง, Petrarch รู้ว่าไม่มีใครสามารถอ่านมันได้ และความพยายามทุ่มเทของเขาในการเรียนรู้มันด้วยตัวเองนั้นไร้ความหมาย. เขาได้ยอมให้ความเจ็บปวดนี้ผ่านไปยัง Boccaccio. ซึ่งต่อมาได้นำพา Boccaccio ไปสู่การศึกษากรีกคลาสสิคด้วยการช่วยเหลือของชายผู้หนึ่ง นามว่า Leonzio Pilato, ซึ่ง Boccaccio ได้ให้ฉายาชายคนนี้ว่า นักอ่านภาษากรีก(Reader in Greek)แห่งมหาวิทยาลัยฟลอเรนส์.

Pilato ได้ใช้เวลาบางช่วงที่ Byzantium หรือ Istanbul, ที่ซึ่งยังคงมีผู้คนจำนวนมาก ที่ยังสามารถอ่านงานคลาสสิคของกรีกได้ และเป็นที่ที่มีการคัดสำเนาผลงานต่างๆของ Homer และ นักประพันธ์กรีกโบราณคนอื่นๆ ที่ยังค้นพบกัน. Pilato รู้ภาษากรีกพอที่จะแปลและถ่ายทอดเรื่อง Iliad และ Odysey ไปเป็นภาษาละตินได้อย่างหยาบๆ. มันเป็นงานแปลสองเล่มแรกที่เป็นเรื่องเกี่ยวกับมหากาพย์, ซึ่งได้รับการรู้จักกันเป็นอย่างด ี(และจากบทสรุปต่างๆในภาษาละตินโบราณ)ในฐานะที่เป็นงานวรรณกรรมที่ยิ่งใหญ่ที่สุด.

Boccaccio เองนั้นเรียนรู้ภาษากรีกเพียงเล็กน้อย และเมื่อเขานำตัว Pilato และงานแปลเรื่อง Iliad มาให้ Petrarch, Petrarch ถึงกับคุกเข่าลงต่อหน้าคนทั้งสอง เพราะรู้สึกว่าตัวเองนั้นต่ำต้อยมาก กับชื่อเสียงที่ตนมีอยู่ และเขารู้สึกขอบคุณคนทั้งสองสำหรับพรสวรรค์อันยิ่งใหญ่. ดังนั้น ในปี 1361 จึงถือเป็นปีแห่งการเริ่มต้นเกี่ยวกับการศึกษาเรื่องกรีกโบราณโดยบรรดานักมนุษยนิยม ซึ่งได้ดำเนินต่อมาอีกมากกว่า 300 ปีให้หลัง

Petrarch ในฐานะที่เป็นผู้เหมาะกับเรื่องของโรมันโบราณ ได้เขียนงานของตนขึ้นมาหลายชิ้นในภาษาละติน. ซึ่งถือว่าเป็นงานภาษาละตินที่มีความประณีตมาก แม้ว่ามันจะไม่ถึงกับสละสลวยเช่นดังงานที่ได้รับการเขียนขึ้นมาภายหลังโดยนักมนุษยนิยมคนอื่นๆก็ตาม ผู้ซึ่งได้มีโอกาสมากกว่าในการศึกษางานของนักเขียนละตินคลาสสิคอื่นๆ. แต่ในงานกวีที่มีเสียงสัมผัส หรือบทเพลงบรรยายความรู้สึกของ Petrarch นั้น เรื่องราวส่วนใหญ่เป็นไปในด้านความรักของเขาที่มีต่อ Laura ล้วนเป็นภาษาอิตาเลี่ยน.

มีเหตุผลอยู่สองประการสำหรับทางเลือกของเขาเกี่ยวกับเรื่องที่ใช้ภาษาธรรมดา หรือพื้นๆ ที่เป็นภาษาถิ่น. ประการแรก, Dante ได้เขียนเรื่อง Vita Nuova ของตัวเอง, งานรวบรวมเกี่ยวกับบทเพลงบรรยายความรู้สึกเกี่ยวกับ Beatrice (ซึ่งเป็นหญิงคนรัก) ในภาษาอิตาเลี่ยน. Dante ยังได้ประพันธ์เรื่อง Divine Comedy ในภาษาอิตลาเลี่ยนด้วย.

ประการที่สอง, เป็นความปรารถนาของ Petrarch เองที่ต้องการฟื้นคืนการเรียนรู้แบบคลาสสิค โดยที่เขาคิดว่า ไม่มีความจำเป็นใดๆที่จะต้องไปพัวพัน หรือถ่ายทอดงานเขียนในภาษาคลาสสิคแต่อย่างใด. การอ่านเป็นเรื่องหนึ่ง, ส่วนการเขียนก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง, และ Petrach ทราบว่า เพื่อที่จะดึงดูดจิตใจผู้อ่านอย่างกว้างขวางนั้น เขาจะต้องเขียนมันออกมาในภาษาพื้นเมือง. เขายังมีความต้องการที่จะยกระดับภาษาในชีวิตประจำวัน(นั่นคือภาษาอิตาเลี่ยน) ขึ้นมาสู่ระดับของความเยี่ยมยอด ซึ่งสามารถนำไปเปรียบเทียบได้กับมาตรฐานของภาษาละตินของยุคทอง. ด้วยเหตุผลเดียวกันนี้, Boccaccio จึงได้เขียนงานชิ้นสำคัญๆหลักๆของเขาด้วยภาษาอิตาเลี่ยนเช่นเดียวกัน ซึ่งรวมทั้งเรื่อง Il Filostrato (ซึ่งเป็นต้นตอที่มาของเรื่อง Troilus and Criseyde ของ Chaucer) และเรื่อง Decameron; งานชิ้นหลังนี้ได้รับการบรรยายในบทร้อยแก้วอันมีชีวิตชีวา และรักษารสชาติเอาไว้ได้ในภาษาอิตาเลี่ยน.

ในการพบปะกันของ Petrarch กับ Boccaccio ได้มีการพูดคุยกันถึงเรื่องเกี่ยวกับการถือกำเนิดขึ้นมาใหม่ของการเรียนรู้ และได้มีการวางแผนเพื่อนำไปสู่ความสำเร็จอันนั้น. พวกเขาได้กระตุ้นไอเดียของตัวเองต่อผู้คนทั้งหมดที่ต้องการจะฟังเขาพูด ซึ่งอันนี้รวมไปถึงองค์สันตะปาปาทั้งหลายด้วย, ผู้ซึ่ง เป็นไปตามโอกาสครั้งคราว ได้ใช้คนทั้งสองในภารกิจของฑูตสันทวไมตรี และด้วยเหตุผลดังกล่าว จึงได้ทำให้เขาทั้งสองมีรายได้เป็นจำนวนมาก. และพวกเขายังจัดการหลายสิ่งหลายอย่างให้ได้มาซึ่งความสนใจของผู้คนเป็นจำนวนมากด้วย.

แต่อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ว่าทุกคนที่ได้ทุ่มเทหยาดเหงื่อ และแรงกายลงไปมากที่จะฟื้นฟูการเรียนรู้ในเรื่องโบราณมากเช่นนี้จะได้ผลตามที่พวกเขาตั้งใจ. ในเดือนตุลาคม 1373, Boccaccio เริ่มต้นกระบวนวิชาอันหนึ่งขึ้นมา เกี่ยวกับการอ่านงานเขียนเรื่อง Divine Comedy โดยเปิดให้มีกิจกรรมดังกล่าวอย่างเป็นสาธารณะในโบสถ์ของ Santo Stefano ในเมือง Florence. เขาได้อ่านงานดังกล่าวโดยคลอไปกับการแสดงข้อคิดเห็น และอธิบายความต่างๆให้กับผู้ฟังที่เป็นคนธรรมดาที่อ่านหนังสือไม่ออกส่วนใหญ่ฟัง ทั้งนี้เพื่อให้ผู้คนได้รู้ถึงความหมายและประเด็นของสิ่งที่ Dante ได้เขียนขึ้นมา.

ตำรับตำราที่ได้มีการปรับปรุงแก้ไขเกี่ยวกับคำวิจารณ์และข้อคิดเห็นต่างๆยังคงเหลือรอดต่อมา. แต่มันได้สะดุดหยุดลง หลังจากโคลงบทที่ 17 ที่เกี่ยวกับเรื่อง inferno ทั้งนี้เนื่องมาจากสาเหตุเกี่ยวกับปัญหาทางด้านสุขภาพของ Boccaccio นั่นเองที่เขาต้องยุติงานสอนดังกล่าวลง ทั้งนี้เพราะ Boccaccio ได้ล้มเจ็บลงในต้นปี 1374. แต่อันนี้ก็ไม่ใช่สาเหตุเพียงประการเดียวเกี่ยวกับสุขภาพที่อ่อนแอของเขาซึ่งทำให้ต้องยุติกิจกรรมดังกล่าว. Boccaccio ถูกทำให้รู้สึกท้อถอยโดยการโจมตีอย่างเดือดดาลเกี่ยวกับการเรียนรู้อันนั้น ซึ่งมีต่อกิจกรรมที่เขาวางไว้ในการนำเอา Dante มาสู่ความสนใจและความเข้าใจของผู้คนธรรมดา.

นอกจากนี้ หัวใจของเขาต้องแตกสลายลงอีกครั้ง เพียงไม่กี่เดือนต่อมา เมื่อ Petrarch ต้องถึงแก่กรรมลง. Boccaccio ตัวเขาเองนั้นก็ถึงแก่กรรมลงเพียงอีก 18 เดือนหลังจากนั้นที่บ้านของเขาใน Certaldo. ผู้คนทั้งหลายต่างรักใน Boccaccio และ Petrarch, และพวกเขาต่างเข้าใจดีถึงสิ่งที่ผู้คงแก่เรียนทั้งสองปรารถนาที่จะทำ และมันเป็นสิ่งที่สร้างให้เกิดความรู้สึกที่น่าตะลึงพึงเพริดมากเมื่อผู้คนต่างกล่าวกันเป็นเสียงเดียวกันว่า มาถึงตอนนี้ บทกวีทั้งหมดได้มาถึงวาระแห่งกาลสิ้นสุดลงแล้ว.

บทความนี้ ยังมีต่อ ซึ่งจะนำมาเผยแพร่ในสัปดาห์ต่อไป

continue back to midnight's home member