ฉบับสัมมาสมาธิ : ธุดงค์-ทุกข์ดง

ท่านบอกว่า จะระงับความสงสัย ให้พิจารณากายกับใจของตัวเองเท่านั้นแหล่ะ อดีตก็ให้ทิ้ง อนาคตก็ให้ทิ้ง ให้รู้ทิ้ง ให้รู้ รู้แล้วทิ้ง ไม่ใช่ไม่รู้ รู้ทิ้ง อดีตทำดีมาแล้ว ชั่วมาแล้ว อะไรๆ มาแล้ว อดีตที่ผ่านมาแล้วก็ทิ้ง เพราะว่าไม่เกิดประโยชน์อะไร ที่ดีก็ดีแล้ว ผิดก็ผิดแล้ว ถูกก็ถูกแล้ว ปล่อยทิ้งไป อนาคตก็ยังไม่มาถึง อะไรจะเกิดก็ในอนาคต จะดับก็ในอนาคต อันนั้นก็อย่าไปยึดมั่นถือมั่น รู้แล้วก็ทิ้ง ทิ้งอดีต สิ่งที่เกิดในอดีตก็ดับไปแล้ว เอามาคิดมากทำไม คิดแล้วก็ปล่อยไป ธรรมนั้นเกิดในอดีต เกิดแล้วก็ดับไปแล้วในอดีต ปัจจุบันจะเอามาคิดทำไม รู้แล้วก็ปล่อย ให้รู้ปล่อย ไม่ใช่ไม่ให้คิดเห็น คิดเห็นแล้วก็ปล่อย เพราะมันเสร็จแล้ว อนาคตที่ยังไม่มาถึง ธรรมในอนาคตเกิดในอนาคต อะไรที่เกิดในอนาคต ก็จะดับในอนาคตนั้น ให้รู้แล้วปล่อยเสีย อดีตก็เรื่องของไม่เที่ยงเหมือนกัน อนาคตก็ไม่แน่นอนเหมือนกัน ให้รู้แล้วก็ปล่อย เพราะเป็นของไม่แน่นอน ดูปัจจุบันเดี๋ยวนี้ ดูปัจจุบันเราทำอยู่นี่ ท่านอย่าไปดูอื่นไกล

 

ฉบับเหนือเวทนา : การเข้าสู่หลักธรรม

แต่ใจของเรานั้นมันเร็ว เร็วที่สุด เร็วกว่าสิ่งทั้งหลายทั้งนั้น เมื่อเรามาทำกรรมฐาน มันจึงไม่ค่อยสงบ ความสงบมันจะเกิดขึ้นตรงไหน? ความสงบนี้มันจะเกิดขึ้นระยะที่เราปล่อยวาง ถ้าเราตึงเครียดเมื่อไร มันจะมีแต่เรื่องวุ่นวาย ไม่มีความสงบภายในจิต ดูอย่างพระอานนท์ ท่านเป็นผู้รู้ธรรมะมากที่สุด เมื่อจะเอาจริงๆ ก็เลยไม่รู้ว่าจะเอาตรงไหน อันนั้นมันก็ดี อันนี้มันก็ดี เลยดีกันทั้งคืน ยิ่งตอนเช้าพรุ่งนี้เขาจะเรียกพระอรหันต์ทำการสังคายนา รวมทั้งพระอานนท์ด้วย ก็ยิ่งร้อนใจ ยังมีเวลาอีกคืนเดียวเท่านั้น ก็เลยเร่งเต็มที่อยากเป็นพระอรหันต์ แต่ก็ยิ่งทำก็ยิ่งไปกันใหญ่ จวนจะสว่างอยู่แล้ว ก็ว่า “เอ เรานี้มันตึงเครียดไปละมั้งนี่?” เหนื่อยก็เหนื่อย ง่วงก็ง่วง ก็เลยจะพักผ่อนสักระยะหนึ่ง พอท่านทอดอาลัยเอนกายนอน มันตัวรู้อันเดียวพอจิตมันวางปุ๊บเท่านั้นแหละ มันเร็วที่สุด พระอานนท์ท่านตรัสรู้เวลานั้น ในเวลาที่วาง พวกเราลองดูซิ ไปนั่งกรรมฐานกัดฟันเข้า! ขัดสมาธิยันเลย ตายเป็นตาย เหงื่อมันไหลแหมๆๆ ความสงบไม่ใช่มันอยู่ตรงนั้น ความสงบนั้นมันอยู่ที่พอดีๆ มันจะดีขนาดไหนก็ไม่สงบ ถ้ามันดีเกินดี มันไม่ดีพอดี มันเกินไป มันดีไม่พอ ดีขนาดไหน ก็ให้พอดี มันถึงดี ดีเกินดีมันไม่ดีหรอก

ท่านพบว่า ความเกิดก็คือความที่มีอุปาทาน ยึดมั่นถือมั่นขึ้นมาเป็นภพ เป็นชาติ ติดต่อกัน ไปเป็นปฎิจจสมุปบันธรรม เช่น ต้นลำใยต้นหนึ่งอยู่ที่หน้าบ้านเรา เราก็ว่าเป็นของเรา ไปดูอยู่ทุกวัน เดินไปเดินมาก็ว่านี่ต้นลำใยเรา ทีนี้อีกต้นหนึ่งอยู่หน้าบ้านคนอื่น เราก็ไม่ได้นึกว่าเป็นของเรา มาวันหนึ่งมีคนมาตัดต้นลำใย ที่หน้าบ้านเรา เราก็เป็นทุกข์หลาย เพราะมันตัดของเรา อีกวันหนึ่งเขามาตัดต้นลำใยต้นอื่นหน้าบ้านคนอื่น เราก็ไม่เป็นทุกข์ แค่นี้แหล่ะมันทำให้สุขทุกข์เกิดขึ้น อุปทานเป็นตัวทำให้เป็นทุกข์ เป็นความเกิดขึ้นมาตรงนี้ เพราะฉะนั้นท่านจึงให้พิจารณาว่าอุปาทานทำให้เกิดภพ ภพทำให้เกิดชาติ ชาติแล้วก็ชรา พยาธิ มรณะ นี่พระพุทธองค์ท่านก็เห็นเท่านี้แหละ เห็นชัดเจนอย่างนี้แล้วก็หายสงสัย