ฉบับสัมมาทิฏฐิ : สัมมาปฏิปทา

ฉะนั้นจิตใจเรานั้นจะต้องถูกฝึกอีกครั้งหนึ่งก่อน ถ้าไม่ฝึกมันก็ไม่ได้ มันเป็นธรรมชาติ ฝึกให้รู้ว่า มันเป็นธรรมชาติ เราก็มาปรับปรุงธรรมชาตินั้น ให้ถูกต้องตามความต้องการของมนุษย์ คือ ธรรมะ ธรรมะจึงเป็นของที่พวกเราทั้งหลายจงปฏิบัติ เอาเข้ามาในใจ เอาไว้ในใจเรา ถ้าไม่ปฏิบัติก็ไม่รู้ พูดกันตรงๆ ง่ายๆ อ่านหนังสือเฉยๆ ก็ไม่รู้ เรียนเฉยๆ ก็ไม่รู้ มันรู้อยู่แต่ไม่รู้ตามที่เป็นจริงคือมันรู้ไม่ถึง อย่างกระโถนใบนี้ ใครๆก็รู้ว่ามันเป็นกระโถน แต่ไม่รู้ถึงกระโถน ทำไมไม่รู้ถึงกระโถน ถ้าผมจะเรียกกระโถนว่าหม้อ ท่านจะว่าอย่างไร ทุกที่ที่ผมใช้ ท่านว่า “เอาหม้อมาให้ผมด้วย” มันก็ต้องขัดใจท่าน ทุกทีทำไมล่ะ ก็เพราะท่านไม่รู้ กระโถนถึงกระโถน ผมจะใช้ให้ท่านเอากระโถนมาแต่บอกให้เอาหม้อมาให้ผมหน่อย ท่านก็ไม่พบ “หม้ออยู่ที่ไหนหลวงพ่อ” ก็ชี้ไปที่กระโถนนั่นแหล่ะ มันก็ไม่เข้าใจ ขัดใจกันเท่านั้นปัญหามันก็เกิดขึ้นมา ทำไมมันจึงเป็นอย่างนั้น เพราะท่านไม่รู้กระโถนถึงกระโถน ถ้าท่านรู้กระโถนถึงกระโถนแล้ว มันก็ไม่มีปัญหาอะไร ท่านจะหยิบวัตถุอันนั้นมาให้ผมเลย ทำไมถึงเป็นอย่างนั้น กระโถนใบนี้นะมันไม่มี มันมีขึ้นมาก็เพราะเราสมมุติ ขึ้นว่านี้คือ กระโถน มันก็เลยเป็นกระโถน สมมุติอันนี้มันรู้กันทั่วประเทศ แล้วว่ามันเป็นกระโถนอย่างนี้ แต่กระโถนจริงนะมันไม่มี หรือใครจะเรียกให้มันเป็นหม้อ มันก็เป็นให้เราอย่างนั้น จะเรียกให้เป็นอะไร มันก็เป็นอย่างนั้น นี่เรียกว่า “สิ่งสมมุติ” ถ้าเรารู้ถึงกระโถนแล้ว เพราะเรารู้ไม่มีอะไรปิดบังไว้ นั่นคือคนรู้จัก ธรรมะ

ทีนี้ย้อนเข้ามาถึงตัวเรา เช่นเขาจะพูดว่า “ท่านนี้เหมือนคนบ้านะ” “ท่านนี้ก็เหมือนคนไม่พอคนนะ” อย่างนี้เป็นต้น ก็ไม่สบายใจเหมือนกัน ทั้งๆ ที่ตัวเราไม่เป็นจริง อะไรมันก็ยากอยู่นะ อยากได้อยากเป็น เพราะความอยากได้อยากเป็น มันไม่รู้จักพอ เพราะไม่รู้ตามความเป็นจริงนั่นเอง ฉะนั้นธรรมะถ้าเรารู้จักตรัสรู้ตามความเป็นจริงแล้ว โลภ โกรธ หลง มันจึงหมดไป เพราะมันไม่มีอะไรทั้งนั้น อันนี้ควรปฏิบัติ

ปฏิบัติทำไมมันจึงยาก มันถึงลำบาก เพราะว่ามันยาก พอไปนั่งสมาธิปุ๊บก็ตั้งใจว่าอยากจะให้มันสงบ ถ้าไม่มีความอยากให้มันสงบ ก็ไม่นั่ง ไม่ทำอะไร พอเราไปนั่งก็อยากให้มันสงบ เมื่ออยากให้มันสงบ ตัววุ่นวายก็เกิดขึ้นมาอีก ก็เห็นสิ่งที่ไม่ต้องการ เกิดขึ้นมาอีก มันก็ไม่สบายใจอีกแล้ว นี่มันเป็นอย่างนี้ ฉะนั้นพระพุทธเจ้าท่านสอนว่า อย่าพูดให้เป็นตัณหา อย่ายืนให้เป็นตัณหา อย่านั่งให้เป็นตัณหา อย่านอนให้เป็นตัณหา อย่าเดินให้เป็นตัณหา ทุกประการนั้นอย่าให้เป็นตัณหา ตัณหาก็แปลว่าความอยาก ถ้าไม่อยากทำอะไร เราก็ไม่ได้ทำ อันนั้นปัญญาของเรา ไปถึงที่นี้มันก็เลยอู้เสีย ปฏิบัติไปไม่รู้จะทำอย่างไร พอไปนั่งสมาธิปุ๊บ ก็ตั้งความอยากไว้แล้ว อย่างพวกเราที่มาปฏิบัติอยู่ในป่านี้ ทุกคนต้องอยากมาใช่ไหม นี่จึงได้มา อยากมาปฏิบัติที่นี้ ก็ปฏิบัตินี่ก็อยากให้มันสงบ อยากให้มันสงบ ก็เรียกว่า ปฏิบัติ เพราะความอยาก มาก็มาด้วยความอยาก ปฏิบัติก็ปฏิบัติด้วยความอยาก เมื่อมาปฏิบัติ แล้วมันจึงขวางกัน ถ้าไม่อยากก็ไม่ได้ทำ จึงเป็นอยู่อย่างนี้ จะทำอย่างไรกับมันล่ะ

รูปนามหรือสกลกายเรานี้มันจึงดูได้ยาก ถ้าหากว่าไม่ใช่แล้ว ไม่ใช่ตน ไม่ใช่ของตนแล้ว มันเป็นตัวของใคร อันนี้มันจึงแยกยาก มันถึงลำบาก เราจะต้องอาศัยปัญญา ดังนั้นพระผู้มีพระภาคเจ้า ท่านจึงสอนว่า การกระทำก็กระทำด้วยความปล่อยวาง การกระทำด้วยการปล่อยวางอันนี้ ก็ฟังยากเหมือนกัน ถ้าจะปล่อยวางก็ไม่ทำเท่านั้น เพราะทำด้วยความปล่อยวาง เปรียบง่ายๆ ให้ฟัง เราไปซื้อกล้วยหรือมะพร้าวใบหนึ่ง จากตลาดแล้วก็เดินหิ้วมา อีกคนหนึ่งก็ถาม

“ท่านซื้อกล้วยมาทำไม”

“ซื้อไปรับประทาน”

“เปลือกมันต้องรับประทานด้วยหรือ”

“เปล่า”

“ไม่เชื่อหรอก ไม่รับประทานแล้วเอาไปทำไมเปลือกมัน”

หรือเอามะพร้าวมาใบหนึ่งก็เหมือนกัน

“เอามะพร้าวไปทำไม”

“จะเอาไปแกง”

“เปลือกมันแกงด้วยหรือ”

“เปล่า”

“เอาไปทำไมล่ะ” เอ้า จะว่าอย่างไรล่ะ เราจะตอบปัญหาเขา อย่างไร ทำด้วยความอยาก ถ้าไม่อยากเราก็ไม่ได้ทำ ทำด้วยความอยากมันก็เป็นตัณหา นี่ถึงให้มันมีปัญญานะ อย่างกล้วยใบนั้น หวีนั้น เปลือกมันจะเอาทานด้วยหรือ เปล่า ไม่ ท่านเอาไปทำไม เปลือกมัน ก็เพราะว่ายังไม่ถึงเวลาเอามันทิ้ง มันก็ห่อเนื้อในมันไปอยู่อย่างนั้น ถ้าหากว่าเราเอากล้วย ข้างในมันทานแล้ว เอาเปลือกมันโยนทิ้งไปก็ไม่มีปัญหาอะไร นี่ก็เหมือนกัน

การกระทำด้วยความเพียร ก็เป็นอย่างนั้น พระพุทธเจ้าว่า อย่าทำให้เป็นตัณหา อย่าพูดให้เป็นตัณหา อย่าฉันให้เป็นตัณหา ยืนอยู่ เดินอยู่ นั่งอยู่ นอนอยู่ ทุกประการท่านไม่ให้เป็นตัณหา คือทำด้วยความปล่อยวาง เหมือนกับซื้อมะพร้าว ซื้อกล้วยมาจากตลาดนั่นแหล่ะ เราไม่ได้เอาเปลือกมันมาทานหรอก แต่เวลานั้นยังไม่ถึงเวลาจะทิ้งมัน เราก็ถือมันไว้ก่อน การประพฤติปฏิบัตินี้ก็เหมือนกันฉันนั้น สมมุติวิมุตติ มันก็ต้องปนอยู่อย่างนั้น เหมือนกับมะพร้าว มันจะปนอยู่กับเปลือก ทั้งกะลาทั้งเนื้อมัน เมื่อเราเอามาก็เอามาทั้งนั่นแหล่ะ เขาจะว่าเราทานเปลือกมะพร้าว อย่างไรก็ช่างเขาปะไร เรารู้จักของเราอยู่อย่างนี้ เป็นต้น อันความรู้ในใจของตัวเองอย่างนี้ เป็นปัญหาที่เราจะต้องตัดสินเอาเอง นี้เรียกว่าตัวปัญญา ดังนั้นการปฏิบัติ เพื่อจะเห็นสิ่งทั้งหลายเหล่านี้ ไม่เอาเร็วและไม่เอาช้า ช้าก็ไม่ได้ เร็วก็ไม่ได้ จะทำอย่างไรดี ไม่มีช้าไม่มีเร็ว เร็วก็ไม่ได้ มันไม่ใช่ทาง ช้าก็ไม่ได้ มันไม่ใช่ทาง มันก็เป็นไปในแบบเดียวกันนี้