ฉบับสัมมาทิฏฐิ : ดวงตาเห็นธรรม

ผู้สงบแล้วก็เห็นทางที่ไม่สงบ จึงเป็นผู้สงบอยู่ได้ ทางที่เป็นสุขหรือทางที่เสียใจ ทางที่ดีใจ ล้วนแต่เป็นทางที่ผิดทั้งนั้น ท่านผู้รู้ทั้งหลายท่านก็รู้จัก รู้อยู่ มันเกิดกับท่านอยู่เหมือนกัน แต่ท่านไม่เอาจริง เอาจังกับมัน ปล่อยมันไป วางมันไป ละมันไป

ท่านผู้สงบแล้ว คือสงบจากอะไร สงบจากความดี สงบจากความเสียใจ สงบจากความสุข สงบจากความทุกข์ สุขทุกข์นั้นไม่มี หรือมีอยู่แต่ไม่มีในใจ ก่อนจะมีในใจนั้น ใจก็เป็นผู้รู้เสียแล้ว รู้ดีเสียแล้ว อาการสุขก็เกิดขึ้นได้ แต่ก็ไม่ได้หมายถึงสุข อาการทุกข์ก็เกิดขึ้นที่นั่น แต่ก็ไม่ได้หมายถึงทุกข์ นั่นถ้ารู้อย่างนี้ เรียกว่ามีความเห็นชอบ

นี่ถ้าท่านไม่ยึดไม่หมาย ท่านก็ปล่อย ความสุขความทุกข์เป็นธรรมชาติ ธรรมชาติหรือธรรมดามันเป็นเช่นนั้น ถ้าเรารู้เท่าแล้ว สุขหรือทุกข์มันก็เป็นโมฆะ ไม่มีความหมายกับใคร ไม่มีความหมายกับจิต ของพระอริยเจ้าทั้งหลาย ผู้เข้าไปถึงแล้ว มันมีอยู่ แต่ไม่มีความหมาย ท่านรับทราบไว้เฉยๆ รับทราบไว้ว่าสุขหรือทุกข์ ร้อนหรือเย็น ท่านรับทราบอยู่

เมื่อท่านตรัสรู้ตามความเป็นจริงแล้ว คือรู้โลกนี้ โลกธรรม ธรรมอันครอบงำสัตว์โลกอยู่ สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามธรรม ครอบหัวใจสัตว์ ครอบหัวใจคน มีลาภเสื่อมลาภ มียศ เสื่อมยศ สรรเสริญ สุข ทุกข์ นินทา เป็นของโลก ต้นเหตุที่โลกจะเกิดขึ้นมาก็เกิดจากความอยาก ถ้าดับความอยากก็คือดับโลก ความอยากเป็นบ่อเกิดของโลกทั้งหลาย

ฉะนั้นสมเด็จพระบรมศาสดา จึงตรัสว่า “สูทั้งหลาย จงมาดูโลก นี้มันน่า ตระการดุจราชรถ อันพวกคนเขลาทั้งหลาย ขลุกอยู่ หมกอยู่ แต่ผู้รู้หาข้องอยู่ไม่” ไม่ใช่ว่าท่านให้ไปดูโลกทั้งโลก หรือทั้งประเทศ ไม่ใช่อย่างนั้น ให้ดูจิตที่มันอาศัยโลกเป็นอยู่ ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน ทำอะไรก็ให้ดูโลกอยู่เสมอ

ให้ดูจิตพิจารณาถึงโลก เพราะโลกมันเกิดขึ้นอยู่ที่ใจ ความอยากเกิดขึ้นที่ไหน โลกก็เกิดขึ้นที่นั่น เมื่อบุคคลถือเนื้อถือตัว ก็จะเห็นแก่ตัว เห็นว่าเราสุข เห็นว่าเราทุกข์ เห็นว่าเราดี เห็นว่าเราชั่ว เห็นว่าเราต่างๆ นาๆ ความจริงสิ่งเหล่านี้ ธรรมชาติจะเป็นอย่างนั้น แต่เรากลับไปเอาธรรมชาติ มาเป็นเรา เอาเรามาเป็นธรรมชาติ เลยไม่รู้ว่าธรรมชาติคืออะไร ธรรมชาติมันดีก็หัวเราะกับมัน ธรรมชาติมันร้ายก็ร้องไห้กับมัน

ความจริงธรรมชาติก็คือ สังขาร อย่างเราว่า “เตสํ วูปสโม สุโข” ความสงบของสังขารนั้นเป็นสุข สงบอะไรล่ะ ก็คือถอนอุปทานออกมา เห็นธรรมชาติ ตามเป็นจริงของมัน เดี๋ยวนี้ ความจริงของมันมีอยู่ มันเป็นจริงอยู่ ต้นหญ้า ภูเขา เถาวัลย์ มันเป็นของมันอย่างนั้น

มันเกิด มันก็ดับ มันดับมันก็เกิด มันเลื่อนไหลไปมา ธรรมชาติมันเป็นจริงอยู่ แต่เราผู้ไม่จริง เมื่อไปเห็นแล้วก็ตื่นเต้น ธรรมชาติไม่ตื่นเต้น มันเป็นอยู่อย่างนั้น ไม่ว่าใครจะร้องไห้ ใครจะหัวเราะ มันก็เป็นของมันอยู่อย่างนั้น อันนั้นเป็นความจริง เราไม่รู้จักของจริง เมื่อไปเห็นของจริงแล้ว กระตือรือร้น ร้องไห้หัวเราะ ต่างๆ นาๆ เสียอก เสียใจ ดีอก ดีใจ

ถึงเราจะดีใจเสียใจ อย่างไรก็ตาม สภาวะร่างกายรูปนี้ของเรา ก็เป็นอยู่ของมันเช่นนี้ มันเกิดมาแล้วมันก็แปรตามธรรมชาติ แปรไป เจ็บไป ตายไป พลัดพรากจากกันไป เป็นธรรมดา ธรรมชาติมันเป็นอย่างนี้ หากว่าบุคคลผู้ใด จะเอาธรรมชาติ ทั้งหลายทั้งปวงเหล่านี้ให้มันเป็นตัวเรา เป็นของเราอย่างนี้ มันก็เป็นการแบกทุกข์ไว้

ฉะนั้นพระนิพพาน ท่านจึงว่าไม่มีสีสันวรรณะ สีเขียว สีแดง สีดำ อะไรไม่มี เรื่องสีเขียวสีดำ อะไรต่างๆ มันเป็นเรื่องสมมุติ เป็นเรื่องบัญญัติในโลกีย์ เมื่อพ้นจากสิ่งเหล่านี้ไปแล้ว ไม่มีเรื่องเหล่านี้ตามไปถึง ดังนั้นจึงกล่าว่าสิ่งนั้นเป็นโลกุตตระ ธรรมะอันนั้นท่านจึงว่าเป็นปัจจัตตัง อันผู้รู้ก็รู้ได้เฉพาะเจ้าของ ประกาศไม่ได้ มีแต่ให้อุบาย ผู้ที่เข้าไปถึง จะเอาสมมุติบัญญัติมาพูดไม่ได้ มันหมด มันหมดสิ้น